การชุมนุม 24 มีนาคม 2564 #เพราะประเทศนึ้เป็นของราษฎร

ผู้ต้องหา

ภัสราวลี

สถานะคดี

ชั้นสืบสวนสอบสวน

คดีเริ่มในปี

2564

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

วราวุธ มากมารศรี และ แทนคุณ ปิตุภูมิ เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษภัสราวลีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

สารบัญ

24 มีนาคม 2564 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดการชุมนุมใหญ่ #ม็อบ24มีนา #เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร ที่สี่แยกราชประสงค์ โดยการชุมนุมครั้งดังกล่าวเกิดขึ้น 4 วันให้หลังการชุมนุมของกลุ่ม #REDEM ที่สนามหลวงในวันที่ 20 มีนาคม 2564 ผู้จัดงานประกาศว่า การชุมนุมครั้งนี้จะมีเวทีปราศรัย และมีการ์ดดูแลความปลอดภัย
 
ในวันนัดหมาย การชุมนุมเริ่มต้นในเวลาประมาณ 17.00 ผู้ชุมนุมปิดถนนสี่แยกราชประสงค์ มีผู้ปราศรัยหลัก เช่น มายด์ ภัสราวลี ครูใหญ่อรรถพล ไบรท์ ชินวัตร ไฮไลท์ของการชุมนุมอยู่ที่การปราศรัยของมายด์ ภัสราวลี ที่พูดถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ควรแยกจากกัน 
 
การชุมนุมยุติลงด้วยความเรียบร้อยในเวลาประมาณ 20.50 น เจ้าหน้าที่เปิดเผยในเวลาต่อมา;jk จะพิจารณาดำเนินคดีกับคนที่ขึ้นปราศรัยจนมีการออกหมายเรียกผู้ที่ขึ้นปราศรัยในการชุมนุมครั้งนี้มารับทราบข้อกล่าวหาในความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯรวม 11 คน ขณะที่ภัสราวลี ถูกตั้งข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 เพิ่มเติม

ในวันที่ 30 กันยายน 2564 อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องภัสราวลีต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยโดยต้องวางหลักทรัพย์ 200000 บาทเป็นหลักประกัน

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ภัสราวลี  ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ เป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีมหานคร และนักกิจกรรมเคลื่อนไหวในนาม "มหานครเพื่อประชาธิปไตย" 
 
เบนจา อะปัน เป็นสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สถาบันเทคโนโลนีนานาชาติสิรินทร (SIIT) นอกจากคดีนี้เธอยังถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการชุมนุมที่สถานทูตเยอรมัน ด้วย
 
อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ "ครูใหญ่ ขอนแก่นพอกันที" เป็นติวเตอร์สอนวิชาสังคมและภาษาไทยให้นักเรียนมัธยมในจังหวัดขอนแก่นและเป็นสมาชิกกลุ่มขอนแก่นพอกันที

ชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือไบรท์ แกนนำเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี ที่จัดกิจกรรม “รวมพลคนนนทบุรีไล่เผด็จการ” อยู่หลายครั้ง ปี 2554-2556 ชินวัตร เริ่มจัดรายการวิทยุชุมชนคนเสื้อแดง และเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาชน (กวป.) ที่จัดการชุมนุมคู่ขนานกับกลุ่ม กปปส.
 
ธนพร วิจันทร์ หรือไหม เป็นสมาชิกเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน,
 
ชุมาพร แต่งเกลี้ยง หรือวาดดาว เป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ,
 
ธัชพงศ์ แกดํา หรือบอย เป็นนักกิจกรรมทางสังคมที่ร่วมเคลื่อนไหว #saveบางกลอย ,
 
ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือแหวน พยาบาลอาสาระหว่างเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 พยานปากสำคัญในคดีผู้เสียชีวิตหกศพภายในวัดปทุมวนารามจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553 ในช่วงที่ราษฎรกลับมาชุมนุมในปี 2563 ณัฏฐธิดา ทำหน้าที่เป็นพยาบาลสนามที่คอยปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ผู้ชุมนุมในพื้นที่การชุมนุมในนามกลุ่ม Fist Aid Volunteer 53 (FAV53)
 
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เป็นผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือ iLaw
 
"ภูมิ" นักกิจกรรมเยาวชน อายุไม่ถึง 18 ปี
 
ชายสวมชุดลายพรางไม่ทราบชื่อและนามสกุล (ยังไม่ได้ตัวมาดำเนินคดี)
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา, พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาของภัสราวลีพอสรุปได้ว่า ในวันที่ 24 มีนาคม 2564 จากการสืบสวนทราบว่าเพจเฟซบุ๊ก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โพสต์ข้อความเชิญชวนประชาชนมาร่วมชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ตั้งแต่เวลา 17.00 น. ของวันเดียวกัน

ในเวลา 16.55 น. ผู้ชุมนุมทยอยลงไปยืนบนผิวจราจรถนนราชดำริ บริเวณแยกราชประสงค์ ผู้กำกับสน.ลุมพินีได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมทราบว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวกับความมั่นคง แต่ผู้ชุมนุมก็ไม่ยุติการชุมนุม

จากนั้นผู้ต้องหาทั้งสิบเอ็ดคนในคดีนี้สลับกันขึ้นกล่าวปราศรัย และประกาศยุติการชุมนุมในเวลาประมาณ 21.05 น.ในวันเกิดเหตุไม่มีเหตุรุนแรงและไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ

หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้ทำการรวบรวมพยานหลักฐานและรองทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งหมดในข้อหาฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง
 
ต่อมามีวราวุธ มากมารศรี มาร้องทุกข์กล่าวโทษเพิ่มเติม ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับภัสราวลีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

โดยในวันเกิดเหตุวราวุธกับเพื่อนๆในกลุ่มส่งตัวแทนเข้าไปสังเกตการณ์เนื่องจากทราบว่าภัสราวลีจะขึ้นปราศรัยและอาจมีการพาดพึงสถาบันพระมหากษัตริย์ จากนั้นในเวลา 19.30 ถึง 21.00 น. ภัสราวลีได้กล่าวปราศรัยโดยได้พูดในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์สามประเด็น
 
หนึ่ง ประเทศหนึ่งมีกองทัพเดียว จะแยกกองทัพออกไปเป็นของตัวเองไม่ได้ เป็นการใส่ความว่า พระมหากษัตริย์ตั้งกองทัพส่วนพระองค์

สอง มีการแทรกแซงอยู่เบื้องหลังกลุ่มก้อนการเมือง ย่อมนำมาซึ่งความไม่พอใจของประชาชน เป็นการใส่ความว่าพระมหากษัตริย์ทรงแทรกแซงทางการเมือง
 
สาม ให้พระมหากษัตริย์โอนทรัพย์สินคืนมาเป็นของประชาชน เป็นการกล่าวหาว่า พระมหากษัตริย์ทรงนำทรัพย์สมบัติชาติไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์
 
จากนั้นก็มีแทนคุณ ปิตุภูมิ เข้ามาร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีกับภัสราวลี จากพฤติการณ์ที่ภัสราวลีกล่าวปราศรัยในลักษณะพาดพิง

กล่าวหาพระมหากษัตริย์ว่าทรงแทรกแซงการเมืองและนำสมบัติชาติไปเป็นสมบัติส่วนพระองคฺ์ ทำให้เกิดความเสียหายและอาจทำให้เกิดความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

คำฟ้องของภัสราวลีในส่วนของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สรุปได้ว่า

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 จำเลยได้ “บังอาจ” หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ในระหว่างการชุมนุมสาธารณะที่บริเวณแยกราชประสงค์ โดยขึ้นกล่าวปราศรัยให้หมู่ประชาชนที่ร่วมชุมนุมฟัง
 
คำปราศรัยของจำเลยเข้าข่ายเป็นการดูหมิ่นใส่ร้ายด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ เมื่อบุคคลที่สามได้ฟัง ย่อมเข้าใจได้ว่ารัชกาลที่ 10 ทรงต้องการขยายพระราชอํานาจตามอําเภอใจ ทรงกําลังสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทรงแยกกองทัพออกไปเป็นของพระองค์เอง ทรงใช้พระราชอํานาจเข้าไปแทรกแซงการเมืองและการปกครอง ทรงนําทรัพย์สมบัติของชาติไปเป็นของพระองค์เอง

อันเป็นการใส่ความ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลปัจจุบันเสื่อมเสียเกียรติยศ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังอย่างร้ายแรง

 

พฤติการณ์การจับกุม

ผู้ต้องหาสิบคนเข้ารายงานตัวที่ สน.ลุมพินี ตามหมายเรียกในวันที่ 8 เมษายน 2564 จึงไม่มีการจับกุม หลังการสอบสวนพนักงานสอบสวนปล่อยตัวทั้งหมดกลับบ้านโดยไม่นำตัวไปฝากขังที่ศาล และไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกันตัว

 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
23 มีนาคม 2564
 
แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ประกาศนัดชุมนุมผ่านเพจเฟซบุ๊กพร้อมแจ้งว่า การชุมนุมที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2564 จะมีเวที มีการปราศรัย และมีการดูแลความปลอดภัยให้ผู้ชุมนุมแต่ในภาพและข้อความประชาสัมพันธ์ข้างต้นยังไม่ได้แจ้งสถานที่หรือเวลาชุมนุม 
 
24 มีนาคม 2564
 
เพจเฟซบุ๊กแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมประกาศในเวลาประมาณ 12.30 น. ว่าจะจัดเวทีการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์โดยเวทีปราศรัยจะเริ่มในเวลา 17.00 น. ผู้ชุมนุมทยอยเข้ามาในพื้นที่จัดการชุมนุมตั้งแต่ก่อนเวลา 17.00 น. ส่วนรถเครื่องเสียงของผู้ชุมนุมเข้าพื้นที่ในเวลา16.48 น. และเริ่มมีการปิดถนนขาเข้าสี่แยกราชประสงค์ทุกฝั่งในเวลาประมาณ 17.19 น.

การปราศรัยเริ่มขึ้นหลังเวลา 17.00 น. และดำเนินเรื่อยไปจนยุติในเวลาประมาณ 20.50 น. เบญจาจากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมอ่านแถลงการณ์ก่อนประกาศยุติการชุมนุมด้วยความเรียบร้อย
 
ภัสราวลีซึ่งภายหลังถูกตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ปราศรัยระหว่างการชุมนุมตอนหนึ่งว่า
 
เธอไม่แน่ใจว่าในวันที่ 25 มีนาคม ซึ่งเธอต้องไปรายงานตัวกับอัยการในคดีมาตรา 112 เธอจะได้รับการประกันตัวหรือไม่ และกล่าวต่อว่า เมื่อมีเหตุต้องสงสัยในการกระทำต่างๆ ของกษัตริย์ ประชาชนในฐานะกัลยาณมิตรที่ดีมีหน้าที่ต้องตักเตือนและการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ “ในฐานะเราประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ การพูดถึงสถาบันกษัตริย์นั้น เราควรจะต้องพูดถึงได้ในแง่ของการสรรเสริญและวิพากษ์วิจารณ์ นี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไทยตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
 
เธอกล่าวถึงการขยายพระราชอำนาจจนล้นเกิน เช่น การโอนกำลังพลทหาร และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ในฐานะประชาชนคนธรรมดาขอยืนยันอย่างหนักแน่นว่า เราทุกคนคือเจ้าของประเทศตัวจริง  
 
25 มีนาคม 2564 
 
มติชนออนไลน์รายงานว่า พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ระบุว่า พนักงานสอบสวนสน.ลุมพินี ได้รับแจ้งคำร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 แล้ว โดยเฉพาะ 11 คน ที่ขึ้นปราศรัย ขณะนี้รู้ชื่อแล้วสิบคน

พนักงานสอบสวนได้ออกเลขคดีเรียบร้อยแล้ว และจะขยายผลไปยังกลุ่มบุคคลอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมในการชุมนุม เช่น รถเครื่องเสียง กลุ่มการ์ด กลุ่มผู้ร่วมชุมนุม นอกจากนี้ดำเนินคดีกลุ่มผู้กระทำผิดอื่น เช่น ผู้ที่ถือป้ายที่มีข้อความผิดกฎหมาย ตามความผิด ม.112 ส่วนสื่อที่มีการถ่ายทอดสดเผยแพร่ภาพและเสียง ต้องดูว่าถ้ามีเจตนาทำผิดกฎหมายจะต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมายเช่นกัน
 
26 มีนาคม 2564
 
มติชนออนไลน์รายงานว่า พ.ต.อ.จักรกริศน์ โฉสูงเนิน ผู้กำกับ.สน.ลุมพินี เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนกำลังรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเตรียมออกหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องมารับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้แก่

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ เบญจา อะปัญ และอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ กับกลุ่มคนที่ขึ้นปราศรัยอื่นๆร วมสิบคน ส่วนการแจ้งข้อหาอื่นต้องถอดเทปคำปราศรัยและวิเคราะห์เพิ่มเติมว่าจะเข้าข่ายความผิดใดบ้าง

โดยในวันที่ 25 มีนาคม 2564 มีผู้มาแจ้งความดำเนินคดี ภัสราวลี ในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามกฎหมายอาญา ม.112 ซึ่งพนักงานสอบสวนจะนำไปรวมกับสำนวนคดีการชุมนุมเพิ่มเติม
 
ทั้งนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ประชาชนสองคนคือ วรวุฒิ มากมารศรี และแทนคุณ ปิตุภูมิ เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษภัสราวลีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 
 
29 มีนาคม 2564 
 
ยิ่งชีพ ผู้จัดการไอลอว์ได้รับหมายเรียกคดีนี้ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 
 
8 เมษายน 2564
 
ผู้ต้องหาสิบคนเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนตามนัดโดยผู้ต้องหาเก้าคนยกเว้นอรรถพลเข้าพบพนักงานสอบสวนในช่วงเช้า ส่วนอรรถพลต้องตามมารายงานตัวในช่วงบ่ายเพราะช่วงเช้าต้องเป็นจำเลยไปร่วมฟังการพิจารณาคดีอื่นก่อน

ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธและแจ้งว่าจะให้การเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลัง พนักงานสอบสวนนัดให้ผู้ต้องหาส่งคำให้การภายในวันที่ 23 เมษายน 2564 และนัดให้ผู้ต้องหามารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 27 เมษายน 2564 แต่ผู้ต้องหาทุกคนไม่ได้ลงลายมือชื่อรับทราบวันนัด
 
จากนั้นจึงปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมดกลับไปรวมทั้งภัสราวลีซึ่งถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี พนักงานสอบสวนก็ไม่ได้นำตัวไปขอฝากขังกับศาล
 
23 เมษายน 2564 
 
ตามที่พนักงานสอบสวนกำหนดให้ผู้ต้องหาส่งคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 23 เมษายน 2564 ทนายความของผู้ต้องหาทั้งหมดยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรกับพนักงานสอบสวน โดยมีใจความสรุปได้ว่า

เจตนารมณ์ของการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมโรคระบาด ไม่ใช่ใช้ห้ามการชุมนุมทางการเมือง เสรีภาพการชุมนุมและเสรีภาพการแสดงออกได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) การชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นไปโดยสงบและแยกย้ายกันกลับตามเวลา ไม่ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวาย หรือความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง

การดำเนินคดีนี้เป็นการฟ้องคดีปิดปาก (SLAPP) เพื่อให้ผู้ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองมีภาระทางคดีความเท่านั้น
 
30 กันยายน 2564
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องภัสราวลีต่อศาลอาญากรุงเทพใต้แล้ว ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวภัสราวลีในวันเดียวกัน โดยต้องวางหลักทรัพย์ต่อศาล 200000 บาท เพื่อเป็นหลักประกัน และกำหนดนัดพร้อมประชุมคดีในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 เวลา 9.00 น.

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา