สมบัติ: โพสต์ข้อความพระราชดำรัส

อัปเดตล่าสุด: 03/04/2566

ผู้ต้องหา

สมบัติ ทองย้อย

สถานะคดี

ชั้นศาลอุทธรณ์

คดีเริ่มในปี

2563

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ศรายุทธ สังวาลย์ทอง

สารบัญ

สมบัติ ทองย้อย อดีตการ์ดคนเสื้อแดงถูกกล่าวหาว่าในช่วงระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน 2563  เขาโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กในลักษณะที่อาจเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์รวมสามข้อความ โดยมีทั้งข้อความที่ยกพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวมาโพสต์โดยน่าจะมีเจตนาเสียดสี มีข้อความที่เป็นลักษณะวิจารณ์เรื่องงบประมาณพระมหากษัตริย์และโพสต์เรื่องการพระราชทานพระราชทานลายพระอภิไธยให้กับประชาชนที่มีเข้าเฝ้า
 
คดีนี้มีประชาชนทั่วไปชื่อ ศรายุทธ์ สังวาลย์ทอง เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับสมบัติ โดยได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ สมบัติถูกเรียกตัวไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 15 ธันวาคม 2563 เขาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หลังเข้ารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนปล่อยตัวสมบัติ
 
อัยการนัดสมบัติฟังคำสั่งคดีในวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ซึ่งในวันดังกล่าวอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีสมบัติ ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวสมบัติ โดยตีราคาประกัน 200,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามสมบัติเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจก่อความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต และให้มาสศาลตามนัด
 
ศาลสืบพยานคดีของสมบัติในเดือนมีนาคม 2565 นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 28 มีนาคม 2565 โดยศาลมีคำสั่งลงโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี จาก 3 ข้อความ รวมเป็นจำคุก 6 ปี และไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างยื่นอุทธรณ์คดี กระทั่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 รวมระยะเวลาถูกคุมขังนาน 319 วัน

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

สมบัติ ทองย้อย เป็นอดีตการ์ดคนเสื้อแดงและปฏิบัติหน้าที่เป็นการ์ดในการชุมนุมของนักศึกษาและราษฎรในปี 2563 ด้วย นอกจากคดีนี้สมบัติยังเคยถูกดำเนินคดีจากการโพสต์ข้อความดูหมิ่นนายกรัฐมนตรี และถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการร่วมชุมนุมในวันที่ 15 ตุลาคม 2563 และ 18 ตุลาคม 2563 ด้วย

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 สมบัติเคยโพสต์ข้อความวิ
พากษ์วิจารณ์ทิศทางการชุมนุม ก่อนที่จะโพสต์ข้อความทำนองว่าเขาถูกแกนนำผู้ชุมนุมบางคนคอย "ล่าแม่มด" บนโลกออนไลน์ จึงขอยุติการไปร่วมการชุมนุม

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สน.ทุ่งมหาเมฆ พอสรุปได้ว่า ใน

วันที่ 1 ธันวาคม 2564 ศรายุทธ สังวาลย์ทอง เข้ามาร้องทุกข์กล่าวโทษสมบัติต่อพนักงานสอบสวน หลังเปิดเฟซบุ๊กแล้วพบว่ามีข้อความบนบัญชีเฟซบุ๊ก สมบัติ ทองย้อย สามข้อความที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ และตั้งค่าเป็นสาธารณะให้บุคคลทั่วไปอ่านข้อความได้
 
ข้อความที่หนึ่งโพสต์ในวันที่ 30 ตุลาคม 2563 ว่า #กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่พระมหากษัตริย์ตรัสกับประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จ การกระทำของสมบัติจึงเป็นการจงใจล้อเลียนพระมหากษัตริย์
 
ข้อความที่สองโพสต์ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 วิพากษ์วิจารณ์การเสด็จออกเยี่ยมเยียนพสกนิกรที่มาเฝ้ารับเสด็จอย่างใกล้ชิด ระหว่างพระมหากษัตริย์ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชกรณียกิจ โดยเชื่อมโยงประเด็นดังกล่าวเข้ากับประเด็นการจัดสรรงบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์  
 
ข้อความที่สามโพสต์ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 วิพากษ์วิจารณ์กรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานพระราชทานลายพระอภิไธยให้กับประชาชนที่มารอรับเสด็จทำนองว่าเป็นการสร้างภาพลักษณ์
 
ศรายุทธเห็นข้อความทั้งสามแล้วมีความรู้สึกว่าเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและเป็นการใส่ร้ายพระมหากษัตริย์ ศรายุทธเป็นประชาชนผู้เทิดทูนและเคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงไม่สามารถทนต่อการกระทำของสมบัติได้ ทั้งคิดว่าเป็นหน้าที่ของประชาชนผู้จงรักภักดีที่จะต้องเทิดทูนสถาบัน จึงได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับสมบัติ
 
การกระทำของสมบัติเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)

พฤติการณ์การจับกุม

สมบัติเข้ารายงานตัวตามหมายเรียก ไม่มีการจับกุม

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลอาญากรุงเทพใต้

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
30 ตุลาคม 2563
 
สมบัติโพสต์ข้อความตามที่ถูกกล่าวหาข้อความแรก #กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่พระมหากษัตริย์ตรัสกับประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จ 
 
2 พฤศจิกายน 2563 
 
สมบัติโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์การเสด็จออกเยี่ยมเยียนพสกนิกรที่มาเฝ้ารับเสด็จอย่างใกล้ชิด ระหว่างพระมหากษัตริย์ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชกรณียกิจ โดยเชื่อมโยงประเด็นดังกล่าวเข้ากับประเด็นการจัดสรรงบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์  

ในวันเดียวกันแต่ต่างเวลา สมบัติโพสต์ข้อความอีกข้อความหนึ่ง 
วิพากษ์วิจารณ์กรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานพระราชทานลายพระอภิไธยให้กับประชาชนที่มารอรับเสด็จทำนองว่าเป็นการสร้างภาพลักษณ์
 
1 ธันวาคม 2563
 
ศรายุทธเห็นข้อความของสมบัติระหว่างใช้งานเฟซบุ๊กส่วนตัว จึงเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อสมบัติต่อพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ เนื่องจากศรายุทธเห็นข้อความระหว่างที่รับประทานอาหารในร้านอาหารแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ในท้องที่รับผิดชอบของ สน.ดังกล่าว
 
14 ธันวาคม 2563
 
สมบัติโพสต์ภาพหมายเรียก สน.ยานนาวาบนเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมเขียนข้อความว่า "พิซซ่ามาส่งถึงบ้าน ไม่รอด พับไมค์" ตามภาพหมายเรียกดังกล่าวออกในวันที่ 8 ธันวาคม 2564 และกำหนดให้สมบัติเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 15 ธันวาคม 2564 โดยชื่อผู้กล่าวหาบนหมายเรียก คือ ศรายุทธ สังวาลย์ทอง
 
15 ธันวาคม 2563
 
ประชาไทรายงานว่า สมบัติเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ ตามหมายเรียกแล้ว 

สำหรับกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา สมบัติให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่าจะยื่นคำให้การเป็นเอกสารเพิ่มเติม ภายใน 30 วัน 

สมบัติยังปฏิเสธที่จะลงลายมือชื่อในเอกสารแจ้งข้อกล่าวหาด้วย

หลังเสร็จกระบวนการ สมบัติได้รับการปล่อยตัวและพนักงานสอบสวนนัดสมบัติรายงานตัวเพื่อส่งตัวให้อัยการในวันที่ 22 มกราคม 2564
 ในเวลา 10.00 น.

หลังสมบัติถูกส่งตัวให้อัยการ อัยการนัดฟังคำสั่งคดีในเดือนมีนาคมแต่เมื่อถึงวันนัดก็เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 22 เมษายน 2564 และในวันที่ 22 เมษายน 2564 อัยการก็เลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีออกไปอีกครั้งเป็นวันที่ 19 พฤษภาคม 2564
 
19 พฤษภาคม 2564 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานผ่านทวิตเตอร์ว่า อัยการสั่งฟ้องสมบัติต่อศาลอาญากรุงเทพใต้แล้ว จากนั้นศาลอนุญาตให้สมบัติปล่อยตัวชั่วคราว ตีราคาประกัน 200,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไข ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่ก่อความเสื่อมเสียต่อสถาบัน ห้ามออกนอกประเทศ และให้มาศาลตามกำหนดนัด
 
8 มีนาคม 2565
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
สมบัติเดินทางมาถึงห้องพิจารณาคดี 502 ศาลอาญากรุงเทพใต้ตั้งแต่ก่อนเวลา 9.00 น. ภายในห้องพิจารณาคดีมีผู้รับมอบอำนาจจากทนายจำเลยกับเจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางมาที่ห้องพิจารณาคดีด้วยรวมสองคน

เมื่อศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลา 9.30 น. ผู้รับมอบอำนาจจากทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนนัดสืบพยานต่อศาลพร้อมผลตรวจเอทีเคของทนายจำเลย โดยคำร้องของทนายความสรุปได้ว่า ทนายความมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด19 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 โดยทราบว่า บุคคลดังกล่าวติดเชื้อโควิด19 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 ทนายจำเลยจึงต้องกักตัวเพื่อสังเกตอาการเพราะถือเป็นกลุ่มเสี่ยง แม้ในวันที่ 7 มีนาคม 2565 ทนายจำเลยจะตรวจเอทีเคและพบว่าผลเป็นลบ แต่ก็มีอาการไอและปวดศีรษะทำให้ไม่สามารถมาศาลในวันนี้ได้ จึงขอให้ศาลเลื่อนนัดพิจารณาคดีอออกไปก่อน

หลังผู้รับมอบอำนาจทนายจำเลยแถลงต่อศาล อัยการแถลงต่อศาลว่า ได้เตรียมพยานโจทก์มาสืบในช่วงเช้าจำนวนหนึ่งปากแล้ว และขอให้ทนายจำเลยนำหลักฐานมาแสดงเกี่ยวกับอาการป่วยที่ทำให้มาศาลไม่ได้มาแสดง

เบื้องต้นผู้พิพากษาหารือกับผู้รับมอบอำนาจจากทนายจำเลยว่า ปัจจุบันการกักตัวบุคคลกลุ่มเสี่ยงลดลงจาก 14 วันเหลือเจ็ดวันแล้ว เมื่อทนายจำเลยสัมผัสผู้ติดเชื้อก็จะเริ่มนับวันเก็บตัวดูอาการวันแรกในวันที่ 2 มีนาคม 2565 และจะครบวันที่เจ็ดในวันนี้ และตัวทนายจำเลยเองก็มีผลตรวจเป็นลบ หากจะเลื่อนนัดศาลก็อาจจะให้เลื่อนนัดในวันนี้ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการกักตัวและทนายจำเลยมีอาการป่วยแต่ในวันถัดไปให้ดำเนินการสืบพยานตามที่นัดไว้เดิม
 
หลังการหารือผู้รับมอบอำนาจจากทนายจำเลยออกไปโทรศัพท์ครู่ใหญ่ ขณะที่ศาลเองก็ออกจากห้องพิจารณาไปครู่หนึ่ง ระหว่างที่รอความชัดเจนจากทุกฝ่าย นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความซึ่งรับผิดชอบคดีอื่นๆ ให้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้ามาในห้องพิจารณาคดีและพูดคุยกับผู้รับมอบอำนาจจากทนายความครู่หนึ่งก่อนจะกลับออกไป

ต่อมาเมื่อศาลกลับขึ้นบัลลังก์ผู้รับมอบอำนาจจากทนายจำเลยจึงได้ไปหารือกับศาลอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนจะออกไปโทรศัพท์อีกครั้งและกลับเข้ามาพร้อมกับทนายนรเศรษฐ์และได้ไปพูดคุยกับศาลอีกครั้ง สรุปได้ว่า เบื้องต้นทนายนรเศรษฐ์จะขอเข้ามาเป็นทนายความในคดีนี้ให้กับจำเลยและจะว่าความให้สมบัติแทนทนายความคนเดิมระหว่างที่ทนายของสมบัติกักตัวให้ครบ 14 วัน เพื่อความปลอดภัยกับทุกฝ่าย

แต่เนื่องจากในวันนี้ทนายนรเศรษฐ์ติดว่าความคดีอื่นที่มีนัดไว้ก่อนแล้ว จึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และทนายนรเศรษฐ์เองก็อยากจะขอเวลาศึกษาสำนวนคดีก่อนเพราะเพิ่งจะมาตกลงกับสมบัติเรื่องที่จะว่าความให้ในวันนี้ จึงขอให้ศาลเลื่อนไปสืบพยานนัดแรกในวันที่ 10 มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นวันนัดเดิมอยู่แล้ว

ศาลไม่อนุญาตเพราะเห็นว่าคดีนี้โจทก์เตรียมพยานมาแล้ว ทั้งข้อจำกัดของทนายจำเลยในคดีนี้ก็เป็นข้อจำกัดที่ทนายจำเลยทราบล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2565 แต่ไม่ได้มีการแจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันให้ทันภายในวันสืบพยาน และในคดีนี้ก็ได้มีการออกหมายเรียกพยานไปหลายปากแล้ว  เพื่อไม่ให้คดีความล่าช้าศาลจึงเห็นควรให้ดำเนินการสืบพยานในส่วนของการถามพยานโดยฝ่ายโจทก์ไปก่อน ซึ่งแม้ในวันนี้จำเลยจะไม่มีทนายความอยู่ในห้องพิจารณาด้วยแต่การสืบพยานก็ดำเนินไปต่อหน้าจำเลย และจำเลยสามารถคัดถ่ายเอกสารคำเบิกความพยานโจทก์ไปมอบให้ทนายจำเลยเพื่อเตรียมมาถามค้านได้ และทนายจำเลยก็น่าจะมีเวลามากขึ้นในอ่านคำเบิกความพยานและเตรียมมาถามค้านพยานในวันถัดไป

แม้ทนายนรเศรษฐ์ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นทนายความของสมบัติอย่างเป็นทางการจะชี้แจงกับศาลว่าการถามความพยานโดยอ่านเอกสารคำเบิกความและไม่ได้นั่งร่วมกระบวนการจะทำให้ไม่สามารถสังเกตอากัปกิริยาของพยานได้ แต่สุดท้ายศาลยังยืนยันคำสั่งเดิมว่าให้สืบพยานโจทก์ไปตามที่นัดไว้เดิม แล้วให้ทนายจำเลยมาถามค้านในนัดถัดไป

ในนัดนี้จำเลยจึงไม่มีทนายความอยู่ในห้องพิจารณาคดีด้วยในการสืบพยานทั้งภาคเช้าและภาคบ่าย มีเพียงผู้รับมอบอำนาจจากทนายจำเลยและเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความอีกคนหนึ่งคอยจดประเด็นแทน

สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง ศรายุทธ สังวาลย์ทอง ผู้กล่าวหา
 
ศรายุทธ์เบิกความโดยสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 หลังจากนั้นจะเบิกความแก้ไขเป็นปี 2563 ในเวลาประมาณ 15.30 – 16.00 น. เขารับประทานอาหารอยู่ที่ซอยสวนพลู ระหว่างนั้นก็ใช้โทรศัพท์มือถือของตัวเองเปิดดูเฟซบุ๊กของสมบัติจากบัญชีเฟซบุ๊กของตัวเอง 
 
ศรายุทธเบิกความว่าเขาไม่ได้เป็นเพื่อนกับสมบัติบนเฟซบุ๊ก จึงสามารถดูได้เฉพาะโพสต์ที่สมบัติตั้งค่าเป็นสาธารณะเท่านั้น ส่วนที่เขาติดตามเฟซบุ๊กของสมบัติเป็นเพราะเขาต้องการทราบความเคลื่อนไหวผู้ชุมนุมราษฎร เขาทราบว่าสมบัติเป็นผู้ดูแลความเรียบร้อยเวลามีการชุมนุม โดยจะมีทีมการ์ดและวิทยุสื่อสาร นอกจากนั้นสมบัติยังมักถ่ายไลฟ์หรือถ่ายภาพการชุมนุมโพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมแจ้งวันเวลาสถานที่ชุมนุมและความเห็นเกี่ยวกับการชุมนุมด้วย
 
จากการดูข้อมูลบนเฟซบุ๊กของสมบัติเขาพบว่าในวันที่ 30 ตุลาคม 2563 สมบัติโพสต์ข้อความ กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ จากนั้นวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 สมบัติโพสต์ข้อความทำนองว่า มีแจกลายเซ็นด้วย เซเลปชัดๆ และข้อความทำนองว่า เขาให้ลดงบประมาณ ไม่ใช่ให้ลดตัวลงมาใกล้ชิดกับประชาชน ซึ่งเป็นข้อความตามฟ้อง ศรายุทธเบิกความด้วยว่าข้อความทั้งสามโพสต์ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน
 
ข้อความทั้งสามเขาเชื่อว่าผู้เขียนน่าจะหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินี เพราะข้อความ "กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ" เป็นข้อความที่ในหลวงตรัสกับฐิติวัฒน์ที่ชูพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่เก้า ระหว่างการชุมนุมของคณะราษฎร ศรายุทธเบิกความว่าเขาจำวันที่ฐิติวัฒน์ไปชูภาพไม่ได้ ทราบเพียงว่าวันดังกล่าวคณะราษฎรไปชุมนุมกันที่ใกล้ๆห้างเซ็นทรัลปิ่นเกล้า
 
ศรายุทธเบิกความว่า ในวันที่ 23 ตุลาคมซึ่งเป็นวันปิยะมหาราช ในหลวงทรงเสด็จไปประกอบพระราชกรณียกิจที่พระบรมมหาราชวังและลานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งก็มีประชาชนมาคอยเฝ้ารับเสด็จ ในวันดังกล่าวในหลวงทรงมีพระราชปฏิสันฐานกับประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จอย่างใกล้ชิด และในวันดังกล่าวได้ทรงพระราชทานพระราชทานลายพระอภิไธย(ลายเซ็น)บนภาพให้กับประชาชนที่นำภาพนำมาถือระหว่างเฝ้ารับเสด็จด้วย
 
เมื่อเขาได้เห็นข้อความที่จำเลยโพสต์ทั้งสามข้อความก็รู้สึกไม่สบายใจและเห็นว่าเป็นการดูหมิ่นสถาบัน จึงไปร้องทุกข์กล่าวโทษสมบัติที่สน.ทุ่งมหาเมฆซึ่งอยู่ใกล้กับร้านอาหารที่เขาไปรับประทาน โดยเขาได้บันทึกภาพหน้าจอข้อความทั้งสามและมอบให้พนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐาน 
 
ศรายุทธเบิกความว่าเขาไม่รู้จักสมบัติเป็นการส่วนตัวและไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับสมบัติมาก่อน เขาทราบเพียงว่า สมบัติเป็นคนดูแลความเรียบร้อยของผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 ตัวเขาซึ่งเขาไปสังเกตการณ์การชุมนุมของคณะราษฎรเพราะอยากทราบว่าการชุมนุมเป็นอย่างไรได้ถ่ายภาพและวิดีโอการชุมนุม เขายังถ่ายภาพตัวเองในที่ชุมนุมซึ่งในภาพถ่ายดังกล่าวยังมีสมบัติอยู่ในภาพด้วย
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง เจษฎ์ โทณวณิก 
 
เจษฏ์เบิกความโดยสรุปได้ว่า เขาเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายที่วิทยาลัยบัณฑิตเอเชียจังหวัดขอนแก่น สอนวิชากฎหมายมาเป็นเวลาประมาณ 23 ปี มีรายวิชาคือ กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายการค้าระหว่าง กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญาทั่วไป
 
เจษฎ์เบิกความว่าในคดีนี้พนักงานสอบสวนสน.ทุ่งมหาเมฆออกหมายเรียกให้เขามาเป็นพยานและให้ความเห็นทางวิชาการ โดยพนักงานสอบสวนได้นำข้อความตามฟ้องคดีนี้มาให้ดู ถ้าจำไม่ผิดพนักงานสอบสวนบอกเขาว่าข้อความทั้งสามข้อความถูกเขียนอยู่บนเฟซบุ๊ก 
 
เจษฎ์เบิกความว่า ข้อความที่พนักงานสอบสวนนำมาให้เขาดูมีสามข้อความ ข้อความแรก #กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ ข้อความที่สองเป็นข้อความยาว มีใจความเกี่ยวกับการปรับลดงบประมาณและเรื่องการลงมาใกล้ชิดกับประชาชน ให้ลดงบประมาณ ส่วนข้อความที่สามเจษฎ์จำรายละเอียดไม่ได้ แต่เมื่ออัยการขออนุญาตศาลนำเอกศาลให้เจษฎ์ดู เจษฎ์ก็เบิกความรับรองว่าเป็นข้อความที่เขียนทำนองว่า มีแจกลายเซ็นด้วย ครั้งนั้นพนักงานสอบสวนขอให้เขาให้ความเห็นทางวิชาการว่าข้อความทั้งสามเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายความมั่นคงโดยเฉพาะประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่
 
เจษฏ์เบิกความว่าเมื่ออ่านข้อความทั้งหมดเขาเข้าใจว่าผู้เขียนน่าจะหมายถึงพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เข้าใจเช่นนั้นเป็นเพราะช่วงเวลาที่ข้อความดังกล่าวถูกโพสต์ สอดคล้องกับช่วงเวลาที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปในพระราชพิธีวันปิยะมหาราช โดยครั้งนั้นพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปฏิสันถาร และได้พระราชทานลายพระอภิไธยให้กับประชาชนที่นำพระบรมฉายาลักษณ์มาเฝ้ารับเสด็จด้วย นอกจากนั้นก็ยังมีกรณีที่พระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสชมบุคคลที่ชูพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่เก้า ด้วยข้อความว่ากล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ ซึ่งเป็นข้อเดียวกับที่มีบุคคลนำไปใส่แฮชแท็ค และเผยแพร่ต่อสาธารณะ
 
เจษฏ์เบิกความว่า ในความเห็นของเขาข้อความทั้งสามข้อความเป็นข้อความที่ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ โดยผู้เขียนมีเจตนาสื่อว่าพระมหากษัตริย์ทรงเสแสร้งลงมาพบปะประชาชน การเขียนข้อความทำนองว่าประชาชนไม่ต้องการพระมหากษัตรย์แล้วก็เข้าข่ายเป็นการเหยียดหยาม ดูหมิ่น ดูถูก จึงมีความเห็นว่าทั้งสามข้อความเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ และเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
 
ส่วนตัวเขาไม่เคยพบ ไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน หลังจบการสืบพยานปากนี้ ศาลสั่งให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่งและปากที่สองในส่วนของการถามค้านต่อในวันถัดไป 

9 มีนาคม 2565
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
เวลา 9.00 น.จำเลย ทนายจำเลย อัยการเดินทางมาพร้อมกันที่ห้องพิจารณาคดี 502 การสืบพยานในนัดนี้ศาลจะให้ทนายจำเลยถามคำถามค้านพยานโจทก์ปากที่หนึ่งและที่สองซึ่งในการสืบพยานวันแรกทนายจำเลยที่สมบัติแต่งตั้งไว้มีประวัติใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด19 ไม่สามารถมาศาลได้

การสืบพยานในวันที่ 8 มีนาคม 2565 ศาลจึงให้อัยการถามคำถามพยานทั้งสองไปก่อนแล้วนัดให้พยานมาในวันนี้อีกครั้งเพื่อให้ทนายจำเลยได้ถามค้าน
 
ในนัดนี้สมบัติแต่งตั้งทนายความคนใหม่คือทนายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม และยื่นคำร้องต่อศาลขอถอนการแต่งตั้งทนายคนเดิมที่อยู่ระหว่างการกักตัวเพราะสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด19 
 
ศาลเริ่มกระบวนพิจารณาในเวลาประมาณ 9.45 น. ก่อนเริ่มกระบวนพิจารณา ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่ามี เพื่อนร่วมงานที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแจ้งข่าวในแอพลิเคชันที่ใช้สื่อสารกันเป็นการภายในว่า
 
เพิ่งทราบในเวลา 9.00 น. ว่าทนายคนดังกล่าวตรวจเอทีเคและมีผลเป็นบวกทั้งสองครั้ง ส่วนตัวทนายนรเศรษฐ์มีประวัติใกล้ชิดทนายคนดังกล่าวในวันที่ 8 มีนาคม 2565 อย่างไรก็ตามศาลเห็นว่าด้วยสถานการณ์ในขณะนี้ยากที่จะทราบว่าใครไปสัมผัสบุคคลกลุ่มเสี่ยงมาบ้าง และหากจะให้จำเลยแต่งตั้งทนายความคนใหม่ก็อาจประสบปัญหาในลักษณะเดียวกันอีก ทนายจำเลยจึงแถลงว่าหากศาลวินิจฉัยแล้วก็ไม่ติดขัดที่จะดำเนินการสืบพยาน
 
ในนัดนี้ทนายจำเลยยังยื่นคำร้องขอคัดค้านกระบวนพิจารณาที่เกิดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม ซึ่งจำเลยไม่มีทนายความอยู่ร่วมในกระบวนพิจารณาด้วย ข้อนี้ศาลแจ้งทนายจำเลยว่าหากประสงค์จะยื่นคัดค้านกระบวนพิจารณาต่อศาลสูงก็สามารถทำได้ แต่ศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่ากระบวนพิจารณาที่เกิดขึ้นชอบแล้วเพราะไม่ใช่ว่าจำเลยไม่มีทนายความ แต่ทนายความมาปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ทั้งศาลก็ไม่ได้ตัดสิทธิในการซักค้านของฝ่ายจำเลย 
  
จากนั้นศาลพูดกับทนายจำเลยประเด็นการจดบันทึกและการเผยแพร่ข้อมูลว่า ในนัดสืบพยานเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 ศาลไม่ได้ห้ามเรื่องการจดบันทึก ก็ไม่ทราบว่ามีการจดบันทึกอะไรบ้างโดยเฉพาะการจดบันทึกโดยผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดี พร้อมทั้งแสดงความกังวลว่าการเผยแพร่ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนอาจส่งผลเสียต่อการพิจารณาคดีได้ 
 
ศาลแจ้งด้วยว่าการจดบันทึกการพิจารณาคดีจะต้องขออนุญาตศาลเท่านั้น เบื้องต้นทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่าจะขออนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจดบันทึกคำเบิกความพยานเพื่อใช้เตรียมคดี แต่ศาลแจ้งว่าทนายจำเลยสามารถขอคัดถ่ายเอกสารบันทึกคำเบิกความของศาลได้ อย่างไรก็ตามทนายชี้แจงว่าอาจมีบางกรณีที่ไม่เจ้าหน้าที่ศาลไม่สามารถคัดถ่ายเอกสารได้ทันภายในวันที่มีการสืบพยานซึ่งจะส่งผลต่อการเตรียมการต่อสู้คดีของทนาย สุดท้ายศาลจึงอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายความฯดำเนินการได้
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง เจษฎ์ โทณวณิก 
 
เจษฏ์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยและคำถามติงของอัยการโดยสรุปได้ว่า
 
ในการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เขาทำวิทยานิพนธ์ในประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ได้ทำประเด็นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมทั้งไม่เคยเขียนบทความวิชาการเกี่ยวกับมาตรา 112 เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับชาติ

แต่เขาเคยไปร่วมเวทีวิชาการนานาชาติที่ฮ่องกงโดยเขานำเสนอในประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ของไทย นอกจากนั้นเขายังเขียนบทความเรื่องนี้เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์รายวันตามโอกาสด้วย
 
เกี่ยวกับการถูกเชิญไปเป็นพยานในคดีมาตรา 112 เจษฏ์เบิกความว่าเขาเคยไปให้การหรือเบิกความเป็นพยานอยู่หลายสิบคดี แม้ตัวเขาเองจะไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญาโดยตรง
 
เจษฏ์เคยแจ้งกับพนักงานสอบสวนว่าน่าจะมีนักวิชาการคนอื่นรวมทั้งอาจารย์ที่สอนวิชากฎหมายอาญาของเขาซึ่งยังมีชีวิตอยู่ ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับกฎหมายอาญามากกว่าเขาแต่เขาก็ยังคงถูกเชิญไปเป็นพยานอยู่ซึ่งเขาไม่อาจทราบได้ว่าเพราะเหตุใด ซึ่งข้อนี้หากทนายอยากรู้ก็ต้องไปถามจากพนักงานสอบสวน
 
ในประเด็นเกี่ยวกับข้อความตามฟ้อง เจษฏ์เบิกความว่าเฉพาะคำว่ากล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ เพียงลำพังไม่ถือว่าเป็นความผิด แต่ที่จำเลยโพสต์เรื่องการแจกลายเซ็น ข้อนี้มีลักษณะเป็นการด้อยค่า ดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เป็นการเสียดสีทำนองว่าพระมหากษัตริย์ทรงแสดงพระองค์เหมือนเป็นดาราหรือคนดัง 
 
สำหรับการโพสต์ข้อความของจำเลย แม้จะไม่ได้เป็นการโพสต์ข้อความต่อเนื่องกันเสียทีเดียว แต่ข้อความทั้งสามข้อความมีเนื้อหาที่เชื่อมโยงกัน 
 
เมื่อทนายถามเจษฏ์เกี่ยวกับสามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมคณะราษฎรว่าเจษฏ์มีความคิดเห็นอย่างไร เจษฏ์ตอบว่าข้อที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออกหรือยุบสภาเขาไม่ได้มีความเห็นคัดค้านอะไร ข้อที่ให้แก้รัฐธรรมนูญเขาเห็นด้วย แต่ข้อที่ให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เขาไม่เห็นด้วย
 
ทนายจำเลยให้เจษฏ์ดูเอกสารคดีมาตรา 116 ของธเนตร และคดีมาตรา 112 ของเสาร์ ซึ่งเจษฏ์เคยขึ้นให้การเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญด้วย เจษฏ์รับว่าเขาเคยเป็นพยานคดีเหล่านั้นจริงแต่ผลของคดีจะเป็นอย่างไรเขาไม่ทราบ เจษฏ์เบิกความตอบทนายจำเลยด้วยว่าเขาไม่ได้เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญประจำศาลยุติธรรม ทั้งนี้ศาลให้เจษฎ์ซึ่งเป็นพยานปากที่สองขึ้นเบิกความก่อนพยานปากที่หนึ่งเนื่องจากเขามีภารกิจต้องรีบเดินทางกลับจังหวัดขอนแก่น 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง ศรายุทธ สังวาลย์ทอง ผู้กล่าวหา 
 
ศรายุทธเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยและคำถามติงอัยการโดยสรุปได้ว่า ตัวเขาเองเคยไปร่วมการชุมนุมกับกลุ่มกปปส. และทราบว่าสมบัติเคยเป็นการ์ดของคนเสื้อแดงมาก่อน ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน
 
สำหรับเฟซบุ๊กของสมบัติ ศรายุทธเบิกความว่าเขาไม่ได้เป็นเพื่อนกับสมบัติบนเฟซบุ๊ก เขาจึงเห็นเฉพาะโพสต์ที่สมบัติตั้งค่าเป็นสาธารณะเท่านั้น
 
ตามภาพถ่ายที่อัยการให้ดู มีภาพตัวเขาสวมเสื้อสีเหลืองอยู่ที่ถนนราชดำเนินในวันที่ 13 ตุลาคม 2563 ซึ่งในวันดังกล่าวเขาไปที่ถนนราชดำเนินซึ่งอยู่ใกล้กับที่ชุมนุมของคณะราษฎร เป็นเพราะเขาไปรับเสด็จ แต่ไม่ได้ไปรวมตัวหรือชุมนุม และจุดที่ไปก็เป็นที่สาธารณะ 
 
สำหรับข้อเรียกร้องคณะราษฎรสามข้อ ศรายุทธเบิกความว่าเขาไม่เห็นด้วยกับข้อสามที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบัน  
 
ทนายจำเลยถามศรายุทธด้วยว่าเขาเคยไปขึ้นให้การที่ศาลทหารในคดีของพัฒน์นรี แม่ของสิรวิชญ์หนือจ่านิวซึ่งเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองใช่หรือไม่ ศรายุทธตอบว่าเขาเคยไปแต่เขาไม่ทราบว่าสุดท้ายแล้วคดีดังกล่าวมีคำตัดสินออกมาอย่างไร
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สาม ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ 
 
ฐิติวัฒน์เบิกความโดยสรุปได้ว่า วันที่ 20 ตุลาคม 2563 ระหว่างที่เขาทำงานอยู่ที่ร้านอาหารใกล้ห้างเซ็นทรัลปิ่นเกล้า มีผู้ชุมนุมเป็นเยาวชนผูกโบว์ขาวมารวมตัวบริเวณใกล้ห้างเซ็นทรัลปิ่นเกล้าโดยเขาทราบว่าผู้ชุมนุมกลุ่มดังกล่าวมีข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 

ฐิติวัฒน์เบิกความต่อว่าเขาออกมาสังเกตการณ์อยู่ครู่หนึ่งก่อนจะเดินกลับไปทำงานต่อเพราะเห็นว่าผู้ชุมนุมยังมาไม่มากนัก แต่ต่อมาได้ยินแม่ค้าบริเวณใกล้เคียงพูดทำนองว่า มากันเต็มเลย เขารู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ถูกต้อง รู้สึกว่าอยากทำอะไรบางอย่าง จึงนำภาพพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่เก้า และสมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลที่เก้าไปยืนถือท่ามกลางผู้ชุมนุมเพื่อแสดงออกว่าในประเทศนี้ยังมีคนอีกมากที่มีความจงรักภักดี 
 
เกี่ยวกับเหตุการณ์ระหว่างการชูภาพ ฐิติวัฒน์เบิกความว่าไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆ ระหว่างที่เขาชูพระบรมฉายาลักษณ์ก็ได้พยักหน้าให้น้องๆที่มาชุมนุมด้วยความเมตา เขาชูพระบรมฉายาลักษณ์ได้ครู่หนึ่งก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาขอความร่วมมือให้ออกจากพื้นที่และเดินมาส่งเขาที่หน้าร้านอาหารที่เขาทำงานอยู่ เขาเห็นว่าตัวเองก็ได้แสดงออกให้กลุ่มผู้ชุมนุมเห็นว่าประเทศนี้ยังมีคนที่จงรักภักดีอยู๋แล้ว จึงให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เดินออกมาจากพื้นที่การชุมนุม
 
จากการกระทำของฐิติวัฒน์ในวันที่ 20 ตุลาคม 2563 เป็นเหตุให้เฟซบุ๊กของร้านที่เขาทำงานอยู่ถูกกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบางส่วนเข้าไปโจมตี ภรรยาของเขาจึงเขาให้เขาหยุดทำงานไปสักเจ็ดวันเพื่อให้กระแสต่อต้านลดความรุนแรงลง ในวันที่ 23 ตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นวันปิยะมหาราชฐิติวัฒน์จึงว่างและได้ใช้เวลาไปสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ห้าที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ในวันดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินมายังลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อประกอบพระราชกรณียกิจด้วย เขาจึงอยู่รอเฝ้ารับเสด็จด้วย 
 
ต่อมาเมื่อทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีเสด็จมาใกล้บริเวณที่เขาเฝ้ารับเสด็จอยู่ เขาก็ตะโกนสุดเสียงว่าทรงพระเจริญหลายครั้ง สมเด็จพระราชินิเห็นเขาก็ทรงจำได้และได้กราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ จึงได้ทรงใช้พระหัตถ์แตะที่บ่าเขาสองครั้งพร้อมตรัสว่า "กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ" ระหว่างเบิกความถึงเหตุการณ์นี้ฐิติวัฒน์เบิกความถึงอารมณ์ความรู้สึกของเขาด้วยว่าขณะที่พระเจ้าอยู่หัวใช้พระหัตถ์แตะที่บ่าเขาซึ่งยังความปลื้มปิติต่อตัวเขายิ่งนัก
 
ในเวลาต่อมาเขาจึงมาให้การกับพนักงานสอบสวนในคดีนี้ซึ่งเมื่อเห็นข้อความทั้งสามก็ทราบทันทีว่าสมบัติซึ่งเป็นผู้โพสต์ข้อความหมายถึงพระเจ้าอยู่หัว เพราะเวลานั้นผู้ชุมนุมคณะราษฎรเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์และให้ลดงบประมาณของสถาบันฯ

ส่วนข้อความที่พูดถึงการแจกลายเซ็น เขาทราบมาว่าขณะที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกที่หน้าพระบรมมหาราชวังและทรงมีพระราชปฏิสันถารกับผู้มารอรับเสด็จ พระองค์ได้พระราชทานพระราชทานลายพระอภิไธยบนพระบรมฉายาลักษณ์ที่มีประชาชนนนำมาถือระหว่างรอรับเสด็จด้วย
 
ฐิติวัฒน์เบิกความเพิ่มเติมด้วยว่า ข้อความ "กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ" น่าจะเป็นข้อความที่เป็นที่รับทราบโดยทั่วไป เพราะมีการนำไปทำเป็นเสื้อยืด สกรีนเป็นข้อความบนกระเป๋า และเคยมีคนจะนำไปทำเป็นสติกเกอร์ไลน์ แต่ไลน์เจแปนไม่อนุญาต และเขาเชื่อว่าสการนำทั้งสามคำมาพูดเรียงกัน พระเจ้าอยู่หัวน่าจะตรัสเป็นคนแรก สำหรับการนำถ้อยคำดังกล่าวไปพูด ฐิติวัฒน์เห็นว่าประชาชนมีสิทธินำคำดังกล่าวไปพูดได้ แต่ต้องดูเจตนาด้วยว่านำไปพูดด้วยวัตถุประสงค์หรือเจตนาใด
 
ฐิติวัฒน์เบิกความด้วยว่าตัวเขาเองไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันของคณะราษฎร เมื่อถูกถามโดยทนายจำเลยว่าการปฏิรูปหมายถึงการทำให้ดีขึ้นหรือไม่ ฐิติวัฒน์ตอบว่าในความเห็นของเขา การปฏิรูปในความหมายของผู้ชุมนุมคณะราษฎรหมายถึงการล้มล้างสถาบัน

ส่วนการปฏิรูปการศึกษา กับปฏิรูปกองทัพจะหมายถึงอะไร เขาไม่ขอตอบ ในส่วนของการโพสต์ข้อความของสมบัติโดยเฉพาะประเด็นการพบปะประชาชน เขาทราบว่าพล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตรลงพื้นที่เยี่ยมเยียนประชาชนในช่วงไล่เลี่ยกับที่สมบัติโพสต์ข้อความดังกล่าว แต่เขาเชื่อว่าสมบัติหมายถึงพระเจ้าอยู่หัว
 
ฐิติวัฒน์ยังเบิกความตอบทนายจำเลยตอนหนึ่งด้วยว่าตัวเขาเองเคยเป็นผู้กล่าวโทษให้มีการดำเนินคดีบุคคลด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมสามคดี
 
ระหว่างที่ฐิติวัฒน์ตอบคำถามทนายว่า ปฏิรูปหมายถึงล้มล้าง คนที่นั่งสังเกตการณ์อยู่ด้วยซึ่งคาดว่าเดินทางมากับฐิติวัฒน์ส่งเสียงและทำลักษณะคล้ายปรบมือด้วยความพอใจแต่ไม่ได้เป็นเสียงที่ดังจนเกินไป ขณะที่สมบัติก็ส่งเสียงหัวเราะเบาะๆออกมา แต่เนื่องจากการแสดงอากัปกิริยาทั้งหมดเป็นเพียงการส่งเสียงเบาๆ ไม่ได้มีการโห่ร้อง ศาลจึงไม่ได้กล่าวอะไรถึงกรณีดังกล่าวและดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามปกติ
 
หลังเสร็จการสืบพยานปากฐิติวัฒน์ศาลพักการพิจารณาคดีไปสืบพยานต่อในช่วงบ่าย ซึ่งเริ่มในเวลาประมาณ 14.00 น. ที่เริ่มช้าเนื่องจากหลังสืบพยานปากฐิติวัฒน์เสร็จก็เลยเวลาเที่ยงแล้ว แต่ฐิติวัฒน์แจ้งศาลว่าเขามีภารกิจช่วงบ่าย ไม่สามารถรอลงชื่อในคำเบิกความหลังพักเที่ยงได้ ศาลจึงดำเนินการอ่านคำเบิกความให้ฐิติวัฒน์ฟังและให้ฐิติวัฒน์ลงลายมือชื่อในเอกสารให้แล้วเสร็จก่อนพักเที่ยง ทำให้กระบวนการศาลในภาคเช้าไปแล้วเสร็จใกล้เวลา 13.00 น.
 
สืบพยานปากที่สี่ ภูกาญจน์ บุญชูกาญจน์ 
 
ภูกาญจน์เบิกความโดยสรุปได้ว่า ตัวเขาเคยเป็นผู้สื่อข่าว จึงพอทราบว่าสมบัติเป็นการ์ดของผู้ชุมนุมและเคยเห็นใบหน้ารูปพรรณสัณฐานของสมบัติมาก่อน เขาเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้เพราะถูกเรียกให้มาเป็นพยาน 
 
ภูกาญจน์เบิกความว่าเขาเห็นว่าข้อความทั้งสามที่สมบัติโพสต์น่าจะหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะข้อความกล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ ที่สมบัติโพสต์โดยพิมพ์ตัวก. ตกไปจากคำว่ากล้ามาก มีการแนบลิงค์ข่าวนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คณะหนึ่งที่จะไม่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรมาด้วยซึ่งคนทั่วไปทราบดีว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้พระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ข้อความที่ใช้คำว่าลดตัวลงมาใกล้ชิดกับประชาชน ภูกาญจน์เห็นว่าคำว่าลดตัวน่าจะเป็นคนที่ใช้กับบุคคลที่มีสถานะสูง ซึ่งไม่น่าหมายถึงนายกรัฐมนตรี ส่วนข้อความเรื่องการแจกลายเซ็น ภูกาญจน์ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานลายพระหัตถ์ในวันที่ 1 พฤจิกายน ขณะที่สมบัติโพสต์ข้อความในวันที่ 2 พฤศจิกายน จึงน่าจะมีความเชื่อมโยงกัน     
 
เกี่ยวกับการติดตามเฟซบุ๊กของสมบัติ ภูกาญจน์เบิกความว่าเขากับเพื่อนๆและรุ่นน้องจะมีกลุ่มไลน์อยู่กลุ่มหนึ่งที่ใช้สื่อสารกัน เมื่อมีใครเห็นการโพสต์ข้อความในลักษณะที่หมิ่นเหม่ ก่อความเสียหายต่อพระมหากษัตริย์ก็จะนำโพสต์ดังกล่าวมาแชร์กันในไลน์ ตัวเขาเมื่อเห็นโพสต์ของสมบัติจากกลุ่มไลน์ก็กดเข้าไปดูที่เฟซบุ๊กของสมบัติเฉพาะโพสต์ที่มีเนื้อหาหมิ่นเหม่ แต่โพสต์อื่นๆที่สมบัติพูดถึงรัฐบาลหรือไม่เกี่ยวกับสถาบันเขาจะปล่อยผ่านไปไม่ได้สนใจ

เมื่อทนายจำเลยนำข้อความที่บันทึกมาจากหน้าเฟซบุ๊กของสมบัติ ซึ่งเป็นโพสต์ที่มีเนื้อหาทำนองว่าให้ไล่รัฐบาล ไล่ประยุทธ์ก่อน ส่วนข้อเรียกร้องของคณะราษฎรข้ออื่นๆให้เอาไว้ทีหลัง ภูกาญจน์ระบุว่าเขาไม่ทราบว่ามีการโพสต์เรื่องดังกล่าวเพราะเขาไม่ได้ดูข้อความที่สมบัติโพสต์ทั้งหมด ส่วนสมบัติจะเคยถูกดำเนินมาตรา 112 เพียงคดีเดียวคือคดีนี้หรือไม่ เขาไม่ทราบ 
 
ภูกาญจน์เบิกความด้วยว่าเขาเคยพบกับสมบัติเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 หลังจากเขาไปที่พระบรมมหาราชวังเพื่อรำลึกถึงรัชกาลที่เก้าเนื่องในวันครบรอบวันสวรรคต ระหว่างเดินทางกลับมาทางถนนราชดำเนินบริเวณใกล้ร้านแม็คโดนัลด์เขาเห็นว่ารถติด เนื่องจากเขาเคยเป็นนักข่าวมาก่อนจึงลงไปดูก็พบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีการชุมนุมของกลุ่มราษฎร เขาจึงเดินเข้าไปถ่ายภาพในพื้นที่ดังกล่าว จึงเห็นสมบัติกำลังปฐมพยาบาลการ์ดผู้ชุมนุมคนอื่นที่ได้รับบาดเจ็บอยู่ 
 
ก่อนเริ่มการถามค้านพยานปากนี้ ทนายจำเลยยังสอบถามภูกาญจน์ด้วยว่า รู้จักชายสูงอายุสวมเสื้อเชิ้ตสีม่วงที่ในห้องพิจารณาคดีด้วยหรือไม่ พร้อมกล่าวว่าระหว่างช่วงพักเที่ยงทนายเห็นชายคนดังกล่าวนั่งอยู่ใกล้และพูดคุยกับภูกาญจน์ในห้องพักอัยการ และชายคนดังกล่าวอยู่ในห้องพิจารณาคดีมาตั้งแต่ช่วงเช้า

ทนายจึงแถลงเชิงตั้งคำถามว่าชายคนดังกล่าวมีพฤติการณ์ซักซ้อมพยานหรือไม่พร้อมระบุว่าพยานจะเบิกความอย่างไรก็ได้แต่ในห้องดังกล่าวน่าจะมีกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ภูกาญจน์เบิกความว่าเขาไม่รู้จักกับชายคนดังกล่าว และเขาไปนั่งรอในห้องพักอัยการเพียงเพราะขณะนั้นห้องพิจารณาคดียังไม่เปิด ระหว่างที่นั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดีด้วยกันเขาคุยกับชายคนที่สวมเสื้อเชิ้ตสีม่วงเล็กน้อยแต่เป็นการคุยเรื่องทั่วไปว่ากินข้าวหรือยังไม่ได้คุยกันเรื่องคดี

ทนายจำเลยยังถามด้วยว่าตอนที่เข้ามาในห้องพิจารณาคดีเขาไปนั่งใกล้กับชายดังกล่าวอีกใช่หรือไม่ ภูกาญจน์ตอบทนายว่าเมื่อเข้ามาในห้องพิจารณาคดีเขาไม่ทราบว่านั่งตรงไหนได้ จึงถามชายคนดังกล่าว ซึ่งได้ชี้ที่นั่งว่างใกล้ๆตัวเขา ขณะที่ชายที่สวมเสื้อสีม่วงยืนขึ้นแถลงต่อศาลว่าเขาเป็นเพียงประชาชนที่สนใจคดีนี้จึงมาร่วมฟังการพิจารณาและไม่ได้รู้จักกับภูกาญจน์มาก่อน 
 
ทั้งนี้มีข้อน่าสังเกตว่าภูกาญจน์สามารถเบิกความได้ค่อนข้างละเอียดโดยเบิกความว่าข้อความที่สมบัติโพสต์มีการพิมพ์ผิดพิมพ์ตกสองจุดโดยเฉพาะข้อความ "กล้ามา เก่งมาก ขอบใจนะ" ซึ่งพยานคนอื่นๆจะพูดคำว่ากล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ มีเพียงภูกาญจน์ที่เบิกความว่าข้อความดังกล่าวพิมพ์ตัวก.ไก่ตกไป

สำหรับกรณีที่ทนายจำเลยสอบถามชายสูงอายุที่เข้ามานั่งในห้องพิจารณาคดีตั้งแต่ช่วงเช้า ศาลได้บันทึกไว้นำรายงานกระบวนพิจารณาคดีด้วย
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ห้า พ.ต.ท. เกรียงไกร ใจสุทธิ์ อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลหนึ่งผู้สืบหาข่าวผู้ชุมนุม
 
พ.ต.ท.เกรียงไกร เบิกความว่าขณะเกิดเหตุเขาปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล 1 ซึ่งมีเขตอำนาจครอบคลุมสถานีตำรวจนครบาลดุสิต นางเลิ้ง ชนะสงคราม และสถานีตำรวจอื่นๆในบริเวณใกล้เคียงรวมเก้าสถานี โดยพื้นที่รับผิดชอบของตำรวจนครบาลหนึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการชุมนุมเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่สน.ทุ่งมหาเมฆไม่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจนครบาล 1
 
เกี่ยวกับคดีนี้พ.ต.ท.เกรียงไกรเบิกความว่าช่วงต้นปี 2563 ที่มีการชุมนุม เจ้าหน้าที่ยังสามารถเข้าไปทำงานหาข่าวในที่ชุมนุมได้ โดยการหาข่าวที่ว่าคือทำประวัติว่ามีบุคคลใดเข้ามาชุมนุมในพื้นที่ของนครบาลหนึ่ง มาชุมนุมกี่ครั้ง และมีบทบาทอะไรในที่ชุมนุม

แต่ภายหลังกลุ่มผู้ชุมนุมมีการจัดตั้งทีมการ์ดรักษาความปลอดภัย ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานหาข่าวได้ลำบากมากขึ้น ผู้บังคับบัญชาจึงสั่งการให้เขาหาข่าวว่ามีบุคคลใดเป็นการ์ดของผู้ชุมนุมบ้าง ซึ่งจากการหาข่าวทำให้ทราบว่าสมบัติเป็นหนึ่งในกลุ่มการ์ดของผู้ชุมนุม โดยเคยโพสต์ข้อความชักชวนให้ประชาชนมาสมัครเป็นการ์ดอาสาก่อนการชุมนุมวันที่ 19 กันยายน 2563
 
เท่าที่หาข่าวได้ เขาทราบว่าสมบัติทำหน้าที่การ์ดแต่ไม่เคยขึ้นปราศรัยเรื่องการเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันฯ
 
หลังสืบพยานปากนี้จบ อัยการแถลงว่าพยานที่เตรียมมาสืบในวันนี้หมดแล้ว ศาลจึงสั่งให้เลื่อนไปสืบพยานต่อในวันที่ 10 มีนาคม 2565 
 
16 มีนาคม 2565
 
นัดสืบพยานจำเลย
 
สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่ง สมบัติ ทองย้อย

สมบัติเบิกความโดยสรุปได้ว่า ตัวเขาเคยเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มเรียกร้องสิทธิความหลากหลายทางเพศ และกลุ่มนักเรียนเลว  
 
ในส่วนของเรียกร้องของผู้ชุมนุมราษฎร สมบัติเบิกความตอบทนายจำเลยว่าเขาเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องเรื่องการขับไล่นายกรัฐมนตรีและการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ
 
สมบัติเบิกความว่า การโพสต์ข้อความกล้ามา เก่งมาก ขอบใจนะ ตามฟ้อง เขาเป็นคนโพสต์ด้วยตัวเอง เพราะเห็นคนแชร์กันแพร่หลายบนอินเทอร์เน็ตแต่ไม่ทราบว่าหมายถึงใคร มาทราบเรื่องที่มาของข้อความดังกล่าวในภายหลัง
 
ส่วนภาพข่าวหมายกำหนดการพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ปรากฎบนสถานะเฟซบุ๊กที่เป็นปัญหาในคดี สมบัติเบิกความว่าไม่ได้เป็นการแชร์ลิงค์ข่าวที่กดเข้าไปดูได้ แต่เป็นการโพสต์ภาพที่บันทึกหน้าจอมา ไม่สามารถกดเข้าไปดูได้ ส่วนภาพดังกล่าวเขานำมาโพสต์ไว้เฉยๆ โดยที่ไม่ได้ตั้งใจจะสื่อความหมายอะไรเป็นพิเศษ 
 
เกี่ยวกับข้อความตามฟ้องที่เป็นเขาโพสต์เรื่องการปรับลดงบประมาณ สมบัติเบิกความว่าเขาตั้งใจจะตำหนิรัฐบาลว่าเอางบประมาณมาใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย ไม่มีความจริงใจช่วยเหลือประชาชน ส่วนที่โพสต์ข้อความเรื่องความนิยมเขาตั้งใจจะสื่อถึงรัฐบาลที่ความนิยมตกต่ำจนต้องส่งส.ส.และรัฐมนตรีลงพื้นที่เพื่อเรียกความนิยม 
 
สมบัติเบิกความด้วยว่าแม้เรื่องงบประมาณของรัฐบาลจะไม่ใช่ประเด็นที่อยู่ในข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม แต่ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาล
 
เกี่ยวกับพยานโจทก์ที่เป็นประชาชนสามคนซึ่งเบิกความว่าไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองหรือขัดแย้งกับเขามาก่อน สมบัติเบิกความว่า พยานปาก ศรายุทธ สังวาลย์ทอง ผู้กล่าวหา เบิกความรับว่าตัวเองเคยร่วมชุมนุมกับกลุ่มกปปส. นอกจากนั้นในบรรดาหลักฐานโจทก์ก็มีภาพถ่ายที่ตัวสมบัติถูกศรายุทธถ่ายในที่ชุมนุมโดยที่เขาไม่รู้ตัว
 
สำหรับข้อความที่เขาโพสต์ทำนองว่าสายตาแบบนี้สินะเป็นสายตาล้มล้าง เขาจำไม่ได้ว่าขณะที่โพสต์มีข่าวหรือกระแสอะไรในโลกออนไลน์
 
สมบัติเบิกความต่อว่าในช่วงระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม ถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 นอกจากข้อความตามฟ้องทั้งสามข้อความแล้ว ตัวเขายังใช้เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นในเรื่องอื่นๆด้วย เช่น ข่าวแกนนำนักกิจกรรมถูกจับกุมโดยตัวเขาไม่ทราบว่าเป็นการจับกุมด้วยข้อหาใด   
 
เกี่ยวกับที่สมบัติเบิกความว่าไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ สมบัติเบิกความว่าเขาเห็นว่าควรต้องขับไล่พล.อ.ประยุทธ์เสียก่อนและเขาก็เคยโพสต์ข้อความขับไล่พล.อ.ประยุทธ์บนเฟซบุ๊กด้วย ส่วนเรื่องอื่นค่อยทำในภายหลัง สมบัติเบิกความด้วยว่าเขามีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
 
สมบัติเบิกความว่าตำรวจเคยยึดโทรศัพท์ไป แม้ว่าในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนจะบันทึกว่าเขาไม่ยินยอมให้พนักงานสอบสวนนำโทรศัพท์ไปตรวจก็ตาม สมบัติเบิกความขยายความเรื่องนี้ด้วยว่าที่สุดท้ายเขายอมให้ตำรวจนำโทรศัพท์ไปทำการตรวจสอบก็เพื่อแสดงความบริสุทธิใจ 
 
สมบัติเบิกความว่าตัวเขาเองไม่เคยถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มาก่อน 
 
สืบพยานจำเลยปากที่สอง ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)
 
ยิ่งชีพเบิกความโดยสรุปได้ว่าเขาทำงาน iLaw มาตั้งแต่ปี 2552 โดยไอลอว์ทำงานสังเกตการณ์ ติดตามและบันทึกข้อมูลคดีที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งรวมถึงคดีมาตรา 112 ด้วย
 
ยิ่งชีพเบิกความว่า การใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นไปตามบรรยากาศทางการเมือง โดยเห็นได้ชัดว่าช่วงปี 2557 – 2558 หลังรัฐประหารและช่วงการชุมนุมปี 2563 เป็นต้นมา จะมีจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีมากกว่าช่วงอื่นๆ 

ยิ่งชีพเบิกความต่อว่า เมื่อเทียบกับช่วงปี 2561 จนถึงต้นปี 2563 ไม่พบว่าผู้มีถูกดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกแถลงการณ์ความตอนหนึ่งระบุว่าจะนำกฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตรามาใช้ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทางการเมือง หลังจากนั้นจึงมีการนำมาตรา 112 มาใช้ดำเนินคดีกับประชาชน ทั้งที่ก่อนหน้านั้นช่วงเดือนมิถุนายน 2563 ได้แถลงข่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ช่วง2-3ปีที่ผ่านมาในหลวงรัชกาลที่ 10 มีพระเมตตาไม่ให้นำมาตรา 112 มาใช้

ยิ่งชีพเบิกความต่อว่า หลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์แถลงว่าจะนำกฎหมายทุกหมวด ทุกมาตรามาดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม ก็มีการทยอยนำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในช่วงปี 2563 ทำให้สถิติผู้ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 มีจำนวนเพิ่มขึ้น และเป็นจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา
 
เกี่ยวกับข้อความตามฟ้องคดีนี้ ยิ่งชีพเบิกความว่าข้อความหนึ่งที่จำเลยโพสต์ว่า #กล้ามา#เก่งมาก#ขอบใจ ซึ่งเป็นพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่ถือเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาดมาดร้าย 
 
เกี่ยวกับความเห็นต่อประมวลอาญามาตรา 112 ยิ่งชีพเบิกความว่าเป็นกฎหมายที่มีปัญหาทั้งในแง่ตัวบทซึ่งมีอัตราโทษสูงเกินไป ไม่ชัดเจนว่า ขอบเขตครอบคลุมเพียงใด ในแง่การบังคับใช้มีปัญหา เรื่องการใช้กลั่นแกล้งทางการเมือง และใครจะริเริ่มคดีก็ได้ 

ยิ่งชีพความว่า เขาทราบว่าในปี 2563 ในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นผู้พระราชทานปริญญาบัตรให้บัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนที่จำเลยโพสต์ข้อความ #กล้ามา#เก่งมาก#ขอบใจ ประกอบภาพจากสำนักข่าวมติชนที่มีเนื้อหาข่าวเกี่ยวกับการไม่เข้ารับปริญญาของบัณฑิตคณะหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาไม่ทราบว่าข้อความที่จำเลยโพสต์หมายถึงบุคคลใด อาจหมายถึงฝ่ายความมั่นคง นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือบัณฑิตคณะที่จะไม่เข้าปริญญาก็ได้

ยิ่งชีพเบิกความด้วยว่า การวิพากษ์วิจารณ์บุคคลโดยสุจริต สามารถทำได้ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดก็ตาม ส่วนการล้อเลียนต้องแยกเป็นสองระดับ ถ้าเป็นการล้อเลียนเพื่อความสนุกสนาน เห็นว่าทำได้ แต่หากตั้งใจทำให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสีย ไม่ควรทำ และควรมีบทลงโทษที่เหมาะสม
 
สืบพยานจำเลยปากที่สาม พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ องค์กร Article 19 
 
พิมพ์สิริ เบิกความโดยสรุปได้ว่า ว่าทำงานเป็นที่ปรึกษาประจำประเทศไทยขององค์กรชื่อ Article19 ซึ่งทำงานติดตาม บันทึกข้อมูลคดีเสรีภาพในการแสดงออกมาตั้งแต่ 2529 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

พิมพ์สิริเบิกความว่า การบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นไปตามบรรยากาศทางการเมือง ช่วงที่มีการชุมนุมแสดงออกทางการเมือง เช่น การชุมนุมของนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519  รวมถึงการชุมนุมในปี 2563 ซึ่งจะเห็นได้ว่าจำนวนของผู้ถูกดำเนินคดีในข่วงดังกล่าวมีจำนวนสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 
 
หลังการสืบพยานปากนี้ทนายจำเลยแถลงหมดพยาน ศาลอนุญาตให้ทนายจำเลยส่งคำแถลงปิดคดีภายในหนึ่งเดือนนับจากวันที่ 16 มีนาคม 2565 และนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 28 เมษายน 2565
 
28 เมษายน 2565
นัดฟังคำพิพากษา
 
สมบัติเดินทางมาถึงที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ในเวลาประมาณ 9.20 น. โดยในนัดนี้มีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตลักเซมเบิร์กมาร่วมฟังคำพิพากษาด้วย ก่อนเริ่มการพิจารณาเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์แจ้งว่าเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของของโควิด19 ขอให้ผู้ที่ไม่ใช่คู่ความแสดงผลตรวจเอทีเคที่ตรวจภายในสามวันก่อนเข้าห้องพิจารณาคดี พร้อมแนะนำว่าหากไม่มีผลตรวจและประสงค์จะเข้าห้องพิจารณาคดีสามารถติดต่อขอซื้อชุดตรวจเอทีเคที่ทางศาลมีไว้บริการในราคา 49 บาทได้ 
 
โดยมาตรการดังกล่าวน่าจะบังคับใช้เป็นการทั่วไป เพราะระหว่างผู้ที่มาสังเกตการณ์คดีของสมบัติทั้งผู้สังเกตการณ์ไอลอว์ ตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและตัวแทนสถานทูตลักเซมเบิร์กมาติดต่อขอซื้อชุดตรวจก็มีคนที่มาติดต่อราชการคดีอื่นมาติดต่อซื้อชุดตรวจด้วยเช่นกันและเมื่อผู้สังเกตการณ์ทั้งหมดแสดงผลตรวจกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่หน้าห้องพิจารณาคดีก็สามารถเข้าห้องได้
 
ในเวลาประมาณ 10.20 น. หลังศาลอ่านคำพิพากษาคดีอื่นแล้วเสร็จก็เริ่มอ่านคำพิพากษาคดีของสมบัติ 
 
หลังศาลมีคำพิพากษา สมบัติยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว แต่ศาลมีคำสั่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้สั่งว่าจะให้ปล่อยตัวชั่วคราวสมบัติหรือไม่ 
 
ภายหลังสมบัติถูกคุมขังนาน 319 วัน ศาลก็มีคำสั่งให้ปล่อยตัวเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 

 

 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลพิพากษาว่า สมบัติมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวมสองกรรม ลงโทษจำคุกสมบัติเป็นเวลาหกปี โดยคำพิพากษามีเนื้อหาโดยสรุปได้ว่า
 
ข้อความ กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจมากที่จำเลยนำมาโพสต์ เป็นพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสในวันที่ 23 ตุลาคม 2563 เพื่อชื่นชม ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ ซึ่งยืนถือพระบรมฉายาลักษ์ในหลวงรัชกาลที่เก้าและสมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่เก้า ระหว่างที่มีการชุมนุมของคณะราษฎร แม้โดยเนื้อแท้ข้อความดังกล่าวจะเป็นการกล่าวชื่นชม ไม่ได้หมิ่นประมาท
 
แต่เมื่อพิจารณาการโพสต์ของจำเลยที่นำข้อความพระราชดำรัสไปประกอบกับข่าวเรื่องที่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่เข้ารับปริญญาทั้งคณะ จำเลยจึงมีเจตนาชื่นชมบัณทิตที่ไม่เข้ารับปริญญา โดยเอามาพระราชดำรัสมาโพสต์ ซึ่งในสังคมไทยการรับปริญญาถือว่าเป็นเกียรติและศิริมงคล การกระทำของจำเลยจึงถือเป็นการล้อเลียนเสียดสีพระมหากษัตริย์ เป็นการกระทำที่ไม่บังควร จางจ้วง เข้าข่ายเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ 
 
ส่วนที่จำเลยอ้างว่า ไม่ทราบว่าข้อความดังกล่าวเป็นพระราชดำรัสรัชกาลที่สิบนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะทั้งพยานโจทก์และพยานจำเลยต่างเบิกความสอดคล้องกันว่า ข่าวที่พระองค์ตรัสข้อความดังกล่าวกับฐิติวัฒน์มีการรายงานอย่างแพร่หลายและเป็นที่ทราบโดยทั่วกัน
 
ส่วนข้อความที่จำเลยเขียนทำนองว่าเขาให้ปรับลดงบประมาณ ไม่ใช่ให้ลดตัวมาใกล้ชิดกับประชาชน และข้อความที่จำเลยเขียนว่ามีแจกลายเซ็น แม้จำเลยจะอ้างว่าเป็นการโพสต์ตำหนิรัฐบาลเรื่องการใช้งบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ และตำหนิรัฐบาลว่ารู้ตัวว่าคะแนนนิยมของตัวเองตกต่ำจึงต้องส่ง ส.ส.และรัฐมนตรีไปลงพื้นที่หาคะแนนเสียง แต่ไม่ปรากฎว่าระหว่างที่จำเลยโพสต์ข้อความทั้งสอง จำเลยได้มีการโพสต์ข้อความอื่นๆ 
 
นอกจากนั้นก็ไม่มีหลักฐานว่าในช่วงเวลาที่จำเลยโพสต์ข้อความ มีรัฐมนตรีหรือ ส.ส.คนใดไปลงพื้นที่พบปะประชาชน ส่วนข้อความเรื่องแจกลายเซ็นจำเลยก็อ้างลอยๆ ว่าจำไม่ได้ว่าขณะที่โพสต์หมายถึงใคร นอกจากนั้นทั้งพยานโจทก์และพยานจำเลยก็เบิกความว่า ผู้ชุมนุมปราศรัยโจมตีเรื่องการใช้งบประมาณของรัฐบาลเวลาที่มีการชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ แต่มีการปราศรัยเรื่องให้ปรับลดงบสถาบันฯ 
 
นอกจากนั้นข้อความทั้งสองที่จำเลยโพสต์ก็ห่างจากการเสร็จพระราชดำเนินไปในพระราชพิธีวันปิยะมหาราชและการเสด็จไปเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตไม่นาน โดยในการเสด็จพระราชดำเนินพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานลายพระอภิไธยให้กับประชาชนที่มารอรับเสด็จบางส่วนด้วย จึงเชื่อว่าจำเลยน่าจะโพสต์ข้อความเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ทรงใช้งบประมาณไม่เหมาะสมและการเสด็จพระราชดำเนินพบปะประชาชนก็เป็นการเสแสร้ง เป็นการหมิ่นประมาทและดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ โดยศาลยังนำคำว่า "ลดตัว" ที่สมบัติโพสต์มาวินิจฉัยด้วยว่าคำดังกล่าวไม่ได้ใช้กับคนทั่วไปและไม่ได้ใช้กับ ส.ส. หรือนายกรัฐมนตรี

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา