พริษฐ์: ปราศรัยเวทีม็อบเฟส

อัปเดตล่าสุด: 07/10/2565

ผู้ต้องหา

พริษฐ์ ชิวารักษ์

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2564

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

9 กุมภาพันธ์ 2564 พริษฐ์ หรือ เพนกวิน ถูกพนักงานอัยการฟ้องคดีด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 116, ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ข้อหาใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จากการปราศรัยในเวทีชุมนุมที่จัดโดยกลุ่มม็อบเฟส ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 
 
ในวันส่งฟ้องพริษฐ์ถูกฝากขังโดยศาลไม่ให้ประกันตัว โดยเขาถูกคุมขังเป็นเวลา 92 วันก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ภายใต้เงื่อนไขห้ามกระทำในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอันจะทำให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์, ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในราชอาณาจักร, ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

ภูมิหลังผู้ต้องหา

พริษฐ์ หรือเพนกวิน เป็นชาวกรุงเทพฯ โดยกำเนิด ใช้ชีวิตวัยเด็กที่จังหวัดลำปาง พริษฐ์เป็นอดีตเลขาธิการของกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ซึ่งทำงานรณรงค์เพื่อการปฏิรูปการศึกษาไทยให้มีความก้าวหน้า เป็นผู้ก่อตั้งสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) และเป็นแกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ขณะเกิดเหตุคดีนี้พริษฐ์ศึกษาระดับอุดมศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังคงทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา, มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา, พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

วรชัย ไชยวงศ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งฟ้องพริษฐ์ 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 116, ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต  โดยได้บรรยายฟ้องใจความสรุปว่า 
 
1. ตามที่รัฐบาลยังคงประกาศใช้ข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต่อมา ระหว่างวันที่ 13-14 พฤศจิกายน 2563 จําเลยซึ่งเป็นแกนนํา หรือเป็นผู้จัดหรือผู้ดูแลรับผิดชอบให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมทางการเมือง ได้นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางเฟซบุ๊ก ผ่านบัญชี “เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak” โพสต์รูปภาพซึ่งปรากฏข้อความว่า “14 พฤศจิกายน MOB FEST รวมพลบ่าย 2 โมงตรง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (หน้าแมคโดนัลด์)” และการ์ตูนภาพบุคคลจํานวนหลายคนหลากหลายอาชีพชูสามนิ้วหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมโพสต์ข้อความตัวอักษรว่า “พรุ่งนี้ไปลุย!!” อันเป็นการเชิญชวน หรือนัดให้ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นมาเข้าร่วมกิจกรรมการรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมทางการเมือง
 
ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 ตามเวลาและสถานที่ที่จำเลยนัดหมายข้างต้น  มีประชาชนทั่วไปประมาณ 5,000 คน เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว อันเป็นการชุมนุมการทํากิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ สถานที่ใดๆ ที่แออัด และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โดยจําเลยไม่ได้จํากัดทางเข้า – ออกในการเข้าร่วมกิจกรรม และไม่จัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และไม่จัดให้มีการเว้นระยะนั่งหรือยืนห่างทางสังคมระหว่างกันอย่างน้อยหนึ่งเมตร เพื่อป้องกันการติดต่อสัมผัสหรือแพร่เชื้อโรคทางฝอยละอองน้ำลาย อันเป็นการจัดกิจกรรมการรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมทางการเมืองที่โดยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคไวรัสโคโรนา (โรคโควิด – 19) ตามที่ทางราชการกําหนด
 
จำเลยยังใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโฆษณากล่าวปราศรัยบนเวทีแก่ประชาชนทั่วไปผู้เข้าร่วมการกิจกรรมการรวมกลุ่ม อันกระทำให้ปรากฎข้อความอันมิใช่การกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน และกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดก่อความไม่สงบในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน อันเป็นการกระทําการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
 
2. ในวันนั้นจำเลยได้ใช้เครื่องเสียงขึ้นปราศรัยบนเวทีในประเด็นเกี่ยวการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หลังออกจากเรือนจำ ให้กษัตริย์ธำรงตนภายใต้รัฐธรรมนูญ พร้อมขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อความดังกล่าวมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต โดยจําเลยมีเจตนาบิดเบือนใส่ร้ายกษัตริย์รัชกาลที่ 10 อันเป็นการปลุกปั่น ยุยง ส่งเสริมประชาชน เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน
 
เมื่อประชาชนได้รับฟังข้อความคําปราศรัยดังกล่าวก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถึงขนาดที่จะไปชุมนุม ประท้วง ขู่เข็ญ หรือบังคับ กดดันให้รัฐบาลและรัฐสภา และขู่เข็ญหรือบังคับให้กษัตริย์ให้อยู่ภายใต้ประชาชน อันจะก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร และทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพ สักการะอันเป็นความผิดต่อพระมหากษัตริย์
 
อีกทั้ง ประชาชนที่ได้ฟังคำปราศรัยดังกล่าวได้มีการแสดงความคิดเห็นกับจําเลย ด้วยการตะโกน ตอบโต้ โห่ร้อง ปรบมือ สนับสนุน อันเป็นการทําให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
 
3. ตามวันเวลาดังกล่าว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยมาตรา 5 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดไม่ได้”
 
แต่จำเลยได้บังอาจหมิ่นประมาทกษัตริย์ อ้างอิงจากข้อความคำปราศรัยขอให้กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อันถือว่าเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ ทำให้กษัตริย์เสื่อมเสีย มีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้
 
นอกจากนี้ พนักงานอัยการยังระบุว่าหากจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณา โจทก์ขอคัดค้าน เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี 

พฤติการณ์การจับกุม

9 กุมภาพันธ์ 2564 พนักงานอัยการนัดให้พริษฐ์ พร้อมด้วย อานนท์, สมยศ, ปดิวัฒน์ เพื่อฟังคำสั่งฟ้องในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร โดยในวันดังกล่าวพนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องพริษฐ์ในคดีนี้ด้วย โดยหลังจากมีคำสั่งฟ้องแล้ว ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวทำให้พริษฐ์ถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
11 พฤศจิกายน 2563 
 
เพจเฟซบุ๊ก Mobfest ได้โพสต์ข้อความนัดชุมนุมจากกลุ่มภาคีนักเรียน นักศึกษา และประชาชนกว่า 20 เครือข่ายอาทิ ศิลปะปลดแอก คณะจุฬาฯ นักเรียนเลว ผู้หญิงปลดแอก ในโพสต์ดังกล่าวมีข้อความระบุว่า “#แก้ได้ถ้าแก้รัฐธรรมนูญ 14 พ.ย.2563 รวมพลบ่าย 2 โมงตรง สถานที่รอติดตาม” 
 
14 พฤศจิกายน 2563 
 
กิจกรรมชุมนุม ‘Mobfest #แก้ได้ถ้าแก้รัฐธรรมนูญ’ ถูกจัดขึ้นบริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ ตั้งแต่เวลา 14.00-24.00 น.  มีกิจกรรมหลากหลาย หนึ่งในไฮไลต์ คือ กิจกรรม ‘เขียนอนาคตร่วมกัน’ โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้กางผ้าขาวขนาด 30×30 เมตร ที่บริเวณหน้าอนุสาวรีย์ฯ ให้ผู้ร่วมชุมนุมเขียนข้อความ พ่นสีเพื่อแสดงเจตจำนงและความปรารถนาในการกำหนดอนาคตของตัวเองต่อรัฐธรรมนูญของประเทศไทย และเรียกร้องประชาธิปไตยคืนสู่สังคม หลังจากเขียนเสร็จได้มีการนำผ้าขาวดังกล่าวขึ้นไปคลุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 
 
บนเวที A และเวที B ของงาน Mob Fest มีการปราศรัยสลับกับวงดนตรี ปราศรัยในประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ โดยในช่วงค่ำพริษฐ์ ได้ขึ้นเวทีปราศรัย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกหลังได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ โดยเนื้อหาในการปราศรัยเน้นไปที่การกล่าวย้ำถึงข้อเรียกร้อง 3 ข้อว่าไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะหาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงย่อมเกิดขึ้นไม่ได้
 
พริษฐ์ได้กล่าวถึงประโยค ‘Thailand is a Land of Compromise’ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานสัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ Channel 4 News ว่า “Thailand is a Land of Compromise” “No justice, No compromise” โดยกล่าวว่า จะไม่มีการประนีประนอมใดๆ ถ้าไม่มีความยุติธรรม จะไม่มีการประนีประนอมใดๆ ถ้าประยุทธ์ยังไม่ลาออก จะไม่มีการประนีประนอมใดๆ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนยังไม่ถูกร่าง และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหาษัตริย์ 
 
9 กุมภาพันธ์ 2564
 
เวลา 14.00 น. โฆษกสำนักงานอัยการแถลงต่อสื่อมวลชนว่า นอกจากสั่งฟ้องในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่มีพริษฐ์, อานนท์, สมยศ, ปดิวัฒน์เป็นผู้ต้องหาแล้ว อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องพริษฐ์ในคดีชุมนุม Mob Fest วันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 อีกคดีหนึ่ง โดยมีคำสั่งฟ้องทั้งสิ้น 4 ข้อหา ได้แก่  ข้อหาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 116, ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 
 
หลังศาลอาญารับฟ้องคดี ทั้งสี่คนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลได้นัดหมายคุ้มครองสิทธิในทั้งสองคดีต่อไปในวันที่ 15 มีนาคม 2564
 
ต่อมาเวลา 15.45 น. ทนายความและนายประกันได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสี่คนระหว่างพิจารณาคดีในชั้นศาล โดยยื่นหลักทรัพย์คนละ 200,000 บาท ส่วนในคดี Mob Fest ของพริษฐ์ ได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้ตำแหน่งอาจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นนายประกัน
 
จนเวลา 17.50 น. เทวัญ รอดเจริญ ผู้พิพากษาศาลอาญา ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวจำเลยทั้งสี่คน รวมทั้งไม่อนุญาตให้ประกันตัวพริษฐ์ในคดี Mob Fest โดยระบุในคำสั่งว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูงพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง อีกทั้งการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆ ต่างกรรมต่างวาระตามข้อกล่าวหาเดิมหลายครั้งหลายครา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวให้ยกคำร้องแจ้งคำสั่งให้ทราบ และคืนหลักประกัน”
 
การไม่ได้ประกันตัวดังกล่าว ทำให้ทั้งสี่คนถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ และการคุมขังในครั้งนี้เป็นการขังระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล ซึ่งไม่มีกำหนดระยะเวลา หากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างพิจารณา ทั้ง 4 คน จะถูกคุมขังจนกว่าจะมีคำพิพากษา 
 
15 มีนาคม 2564
 
เวลา 10.00 น. ศาลอาญา รัชดา นัดตรวจพยานหลักฐานในคดี #ม็อบ14พฤศจิกา หรือ MobFest ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 พร้อมกับนัดพร้อมเพื่อรวมสำนวนคดีและตรวจพยานหลักฐานในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร 
 
ศาลเริ่มการพิจารณาคดี #ม็อบ14พฤศจิกา หรือ MobFest ในข้อหามาตรา 112 ซึ่งมีพริษฐ์ เป็นจำเลยเพียงคนเดียว โดยอธิบายขั้นตอนว่าในวันนี้เป็นนัดพร้อมเพื่อตรวจพยานหลักฐานในคดี 
 
พริษฐ์ได้แถลงต่อศาลว่า ศาลจะนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีได้อย่างไร ในเมื่อศาลขังตนมาไว้กว่า 1 เดือนแล้ว ตนจะมีโอกาสรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อการสู้คดีได้อย่างไร ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่าอยากจะขอให้เลื่อนตรวจพยานหลักฐานในคดีนี้ออกไปก่อน เนื่องจากพยานหลักฐานของโจทก์มีจำนวนมากและทนายจำเลยอีกคนติดว่าความในคดีที่จังหวัดขอนแก่น 
 
ศาลได้กล่าวกับพริษฐ์ว่า ศาลไม่ขัดข้องในเรื่องนี้ หากแต่จำเลยถูกขังระหว่างพิจารณาอยู่ การเลื่อนนัดพิจารณาคดี อาจทำให้การสืบพยานล่าช้าออกไปอีก ขณะนั้นมีเสียงจำนวนหนึ่งของประชาชนในห้องพิจารณาดังขึ้นว่า “ควรให้สิทธิ์จำเลยในการประกันตัว จึงจะเป็นธรรม”
 
จากนั้นศาลจึงได้อนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาออกไป โดยได้อ่านรายงานกระบวนพิจารณาให้คู่ความทราบและกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานใหม่อีกครั้งในวันที่ 19 เมษายน 2564 เวลา 9.00 น. โดยระบุว่าคดีนี้มีพยานหลักฐานเป็นเอกสาร 53 รายการ และพยานวัตถุอีก 2 รายการ 
 
19 เมษายน 2564
 
ศาลอาญานัดพร้อมเพื่อตรวจพยานหลักฐาน โดยพริษฐ์ถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาที่ศาล ทั้งที่ยังมีอาการอ่อนเพลียและต้องนั่งรถเข็นตลอดเวลา เหตุจากการอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 35 วันแล้ว โดยในการนำตัวจำเลยมาที่ศาล เจ้าหน้าที่ยังมีการตั้งฉากกั้นเพื่อปิดบังผู้สื่อข่าวหรือช่างภาพไม่ให้ถ่ายภาพเพนกวินขณะถูกนำตัวมาศาลด้วย
 
ในการนัดสอบคําให้การ และตรวจพยานหลักฐานเพื่อกําหนดวันนัดสืบพยานวันนี้ มีโจทก์คือพนักงานอัยการจากสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 สำนักอัยการสูงสุด ศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยยืนยันให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ โจทก์ติดใจสืบพยานทั้งหมด 32 ปาก ส่วนจำเลยและทนายจำเลยแถลงไม่รับข้อเท็จจริงของพยานโจทก์ทุกปาก
 
หลังจากนั้นโจทก์ได้แถลงว่า เมื่อฝ่ายจำเลยไม่ยอมรับข้อเท็จจริง โจทก์ติดใจสืบพยานโจทก์ทั้งหมด 32 ปาก โดยจะแถลงเกี่ยวกับพยานที่โจทก์จะนำสืบเพื่อขอหมายเรียกมาในภายหลัง ขอใช้เวลาสืบพยานโจทก์จำนวน 9 นัด
 
พริษฐ์จึงแถลงขอให้การปฏิเสธ และปฏิเสธกระบวนการในชั้นศาลนี้ เนื่องจากไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ทําให้ไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ หากศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว พริษฐ์จะให้การยอมรับในกระบวนการยุติธรรมและจะขอต่อสู้คดี พริษฐ์ยังแถลงขอถอนทนายความที่มีอยู่ทั้งสามคน โดยได้เขียนคำร้องต่อศาลความว่า
 
“เนื่องด้วยข้าพเจ้ายังมิต้องคำพิพากษาให้มีความผิดสถานใดถือเป็นผู้บริสุทธิ์ตามกฎหมาย แต่ศาลกลับด่วนคุมขังข้าพเจ้าไว้ราวกับเป็นอาชญากรร้ายแรง เป็นผลให้ข้าพเจ้าไม่อาจสู้คดีได้อย่างเต็มที่ กระบวนการที่ดำเนินในกระบวนการนี้จึงไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม เป็นเพียงการกลั่นแกล้งทางการเมืองเหมือนกับศาลในระบอบนาซีเยอรมัน ข้าพเจ้าจึงขอถอนทนายและไม่ยอมรับกระบวนการในคดีนี้จนกว่าข้าพเจ้าจะได้รับสิทธิในการประกันตัวให้สู้คดีอย่างเต็มที่” 
 
“ข้าพเจ้ายืนยันว่าปฏิเสธกระบวนการครั้งนี้เป็นเพราะข้าพเจ้าไม่ได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ หากได้รับสิทธิการประกันตัวให้ได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ก็จะให้ความร่วมมือกับกระบวนการยุติธรรม”
 
ด้านทนายความจำเลยแถลงว่าเมื่อพริษฐ์ขอถอนทนายความ แต่เมื่อศาลยังไม่ได้อนุญาตให้ถอน จึงจะขอทําหน้าที่ทนายความต่อไป และได้เคยยื่นบัญชีระบุพยานไว้ฉบับลงวันที่ 5 มีนาคม 2564  มีพยานบุคคล 4 ปาก และในวันนี้ได้เตรียมบัญชีระบุพยานไว้เพื่อยื่นเพิ่มเติม โดยมีพยานบุคคล 11 ปาก รวมทั้งหมด 15 ปาก เพื่อเป็นการรักษาสิทธิในการต่อสู้คดีของจําเลยในขณะที่ยังทําหน้าที่ทนายความ จึงขอกําหนดวันนัดในส่วนของจําเลยไว้ตามที่ได้แถลง 
 
ส่วนจํานวนวันนัดของจําเลยขอให้อยู่ในดุลพินิจของศาล หากมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับพยานจะมีการแถลงให้ศาลทราบ 
 
ศาลพิเคราะห์ตามคําแถลงของโจทก์และข้อต่อสู้ของจําเลยแล้ว เห็นควรกําหนดนัดสืบพยานโจทก์ 9 นัด นัดสืบพยานจําเลย 5 นัด รวมทั้งหมด 14 นัด พร้อมทั้งอนุญาตให้ถอนทนายความทั้งสามออกได้
 
จากนั้นฝ่ายอัยการโจทก์ได้ไปนัดหมายการสืบพยานที่ศูนย์นัดความของศาลเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่มีตัวแทนของฝ่ายจำเลย และได้กำหนดนัดเริ่มสืบพยานโจทก์คดีนี้ในวันที่ 25 มิถุนายน 2564
 
การแถลงขอถอนทนายความของพริษฐ์ในวันนี้ นับเป็นการปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม ด้วยการร้องขอถอนทนายเป็นคดีที่ 2 ของเขา หลังแถลงครั้งแรกในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เนื่องจากยืนยันว่าตนไม่ได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม 
 
ขณะเดียวกันในช่วงบ่าย หลังการนัดพร้อมคดี สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของพริษฐ์ ได้ยื่นขอประกันตัวลูกชายอีกครั้งทั้งในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และคดีชุมนุม MobFest โดยได้ยืนยันในคำร้องว่าจากการได้พบลูกชายที่ศาลในวันนี้ พบว่าสุขภาพของพริษฐ์มีอาการทรุดโทรมลงอย่างมาก มีอาการหน้ามืด วิงเวียน อ่อนเพลีย ไม่อาจลุกยืนเดินได้ ในฐานะมารดา เชื่อว่าสุขภาพของจำเลยอยู่ในขั้นอันตรายถึงแก่ชีวิต เนื่องจากเพนกวินมีโรคประจำตัว คือโรคหอบหืด อันอาจทำให้หยุดหายใจได้ 
 
สุรีย์รัตน์ระบุว่า หากศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราว สามารถกำหนดให้ไปนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล โดยห้ามออกไปนอกเขตโรงพยาบาลได้ ภายในกำหนดเวลาที่เพียงพอที่จะฟื้นฟูร่างกาย และเมื่อฟื้นตัวแล้ว ให้มารายงานตัวต่อศาล เพื่อฟังคำสั่งที่จะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ต่อไป
 
ต่อมา ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์ในทั้งสองคดี โดยระบุว่า “พิเคราะห์แล้ว ศาลนี้และศาลอุทธรณ์เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณา โดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว” ลงนามคำสั่งโดยชนาธิป เหมือนพะวงศ์ 
 
ทั้งนี้การยื่นประกันตัวดังกล่าว นับเป็นครั้งที่ 8 แล้ว ทั้งในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และคดีชุมนุม MobFest โดยทุกครั้งศาลยังคงยืนยันไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว 
 
11 พฤษภาคม 2564
 
ศาลอาญานัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์ ชิวารักษ์ โดยเป็นการไต่สวนที่เลื่อนมาจากวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 สำหรับการยื่นประกันตัวในครั้งนี้พริษฐ์เป็นการยื่นประกันในคดี #ปราศรัยเวทีชุมนุมม็อบเฟส และคดี #19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร
 
ก่อนเริ่มการไต่สวน ผู้พิพากษาบนบัลลังก์คนหนึ่งได้ถามพริษฐ์ว่า จำเขาได้หรือไม่ ปีที่แล้วเขาเป็นผู้พิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์ พริษฐ์ตอบว่า จำได้ จากนั้นศาลถามต่อว่า ไหวหรือไม่ พริษฐ์ตอบศาลว่า ไหว จากนั้นผู้พิพากษาคนเดิมบอกพริษฐ์ด้วยว่ารู้หรือไม่ว่า แม่ของเขาเป็นห่วงเขา และตนก็รู้สึกสงสารแม่ของพริษฐ์เช่นกันพร้อมบอกว่า แม่ทำทุกอย่างเพื่อให้พริษฐ์ได้รับการประกันตัว ศาลกล่าวด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ว่า "อย่าดื้อกับแม่" จากนั้นให้สาบานตัวก่อนเบิกความพร้อมแสดงสัญลักษณ์สามนิ้วแต่ไม่ได้ชูแขนขึ้นระหว่างที่สาบานตัว
 
พริษฐ์เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้เขาเป็นนักศึกษาชั้นปีที่สี่ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง ก่อนหน้านี้ในชั้นมัธยมปลายเขาเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ระหว่างนั้นเขาเคยได้รับรางวัลเพชรยอดมงกุฎสาขาประวัติศาสตร์ รวมทั้งเคยชนะเลิศการตอบปัญหารัฐศาสตร์ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
ก่อนถูกคุมขังเขาพักอยู่กับคุณพ่อและคุณแม่ คือสุรีย์รัตน์และไพรัตน์ ชิวารักษ์ ตั้งแต่ถุกคุมขังเขาเคยยื่นคำร้องประกันตัวหลายครั้งแต่ก็ถูกปฏิเสธมาทุกครั้ง 
 
ทนายจำเลยถามว่า หากศาลจะมีเงื่อนไขการประกันตัวในกรณีของพริษฐ์ดังเช่นกรณีของสมยศและจตุภัทร์ อันได้แก่ การไม่กระทำการที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พริษฐ์ตอบทนายจำเลยทันทีว่า กิจกรรมที่เขาทำไม่ได้ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เขาจึงยินดีที่จะปฏิบัติตาม จากนั้นทนายจำเลยอ่านเงื่อนไขข้ออื่นๆ ได้แก่ ไม่ออกนอกประเทศหากศาลไม่อนุญาต และจะมาปรากฎตัวต่อศาลตามนัดทุกครั้ง พริษฐ์แถลงว่า เขายอมรับเงื่อนไขดังกล่าว จากนั้นพริษฐ์แถลงต่อศาลว่าหากเขาจะต้องสวมกำไลอิเล็กทรอนิกส์เขาเกรงว่าอาจจะกระทบต่อการเดินทางไปเรียนหนังสือ 
 
ทนายจำเลยถามว่า หากศาลจะกำหนดเงื่อนไขว่าไม่ให้ไปร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองจะยอมรับหรือไม่  ถึงตอนนี้พริษฐ์ยังไม่ตอบศาลแต่ปรึกษากับทนายความ ระหว่างนั้นศาลพูดขึ้นทำนองว่า การที่ประชาชนไปชุมนุมเรียกร้องก็ถือเป็นการใช้สิทธิตามปกติ แต่จำเลยก็น่าจะทราบว่าการรวมตัวลักษณะไหนที่เป็นการก่อความวุ่นวาย หลังปรึกษาทนายความพริษฐ์แถลงต่อศาลว่าตัวเขายืนยันว่า จะเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบสันติปราศจากอาวุธ และจะไม่เข้าร่วมกับการชุมนุมหรือกิจกรรมที่เป็นการก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง พร้อมทั้งยืนยันว่าที่ผ่านมาเขาก็ทำกิจกรรมที่สันติปราศจากอาวุธมาโดยตลอด
 
จากนั้นพริษฐ์แถลงว่า เขาจะไม่กระทำการที่เป็นการเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นการก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ไม่เดินทางออกนอกประเทศหากไม่ได้รับอนุญาต และจะมาศาลทุกนัด 
 
ทนายจำเลยถามต่อว่า เกี่ยวกับสุขภาพของเขามีปัญหาอะไรบ้าง พริษฐ์เบิกความว่าเขาเป็นโรคหอบหืด ต้องพบแพทย์เฉพาะทาง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ทนายจำเลยถามว่า เขารู้จัก ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข หรือไม่ เพริษฐ์ตอบว่า รู้จักเพราะ ผศ.ดร.อดิศร เป็นรองอธิการฝ่ายการนักศึกษา มีหน้าที่ดูแลการทำกิจกรรมของนักศึกษา และหาก ผศ.ดร.อดิศร จะมาช่วยศาลดูแลให้เขาปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล เขาก็ยินดีที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของทั้งอาจารย์และพ่อแม่ของเขา
 
อัยการถามค้านว่า เงื่อนไขไม่กระทำการใดที่อาจเป็นการเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หมายรวมถึงการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ด้วยใช่หรือไม่ เพนกวินตอบว่า เขาไม่เคยใช้สื่อสังคมออนไลน์สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
 
พยานปากที่สอง สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ แม่ของเพนกวินเบิกความว่า ปัจจุบันเธออายุ 50 ปี สมรสกับไพรัตน์ ชิวารักษ์ซึ่งเป็นพ่อของเพนกวิน สุรีย์รัตน์เบิกความว่า พริษฐ์เป็นเด็กดี เคยช่วยครูทำกิจกรรมที่สร้างชื่อเสียงให้กับสถาบันการศึกษา เธอเชื่อว่า หากพริษฐ์ไม่ถูกกักขังเขาน่าจะเรียนจบมหาวิทยาลัยโดยได้เกียรตินิยม ทนายจำเลยถามสุรีย์รัตน์ว่าพริษฐ์เคยต้องโทษจำคุกในคดีถึงที่สุดแล้วหรือไม่ สุรีย์รัตน์ตอบว่า ไม่เคย ทนายจำเลยถามว่า สุรีย์รัตน์จะช่วยดูแลให้พริษฐ์ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลได้หรือไม่ สุรีย์รัตน์ตอบว่า เธอจะพูดคุยกับลูกด้วยเหตุผลให้เขาปฏิบัติตามเงื่อนไข
 
พยานปากที่สาม ไพรัตน์ ชิวารักษ์ พ่อของเพนกวินเบิกความว่า เขาอายุ 51 ปี อยู่บ้านหลังเดียวกับสุรีย์รัตน์และพริษฐ์ เขาและภรรยาเป็นผู้ดูแลส่งเสียอบรมสั่งสอนพริษฐ์ ทนายจำเลยถามว่าไพรัตน์จะช่วยกำกับดูแลให้พริษฐ์ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลได้หรือไม่ ไพรัตน์ตอบว่าที่ผ่านมาพริษฐ์ก็น่าจะไม่เคยกระทำการในลักษณะที่เป็นการผิดเงื่อนไขของศาลมาอยู่แล้ว กล่าวทำนองว่า การชุมนุมที่เข้าร่วมก็เป็นการชุมนุมโดยสงบ อย่างไรก็ตามหากศาลเห็นว่า พริษฐ์กระทำการใดที่อาจเป็นการสุ่มเสี่ยง เขาก็จะช่วยศาลตักเตือน ซึ่งที่ผ่านมาลูกชายก็เชื่อฟังเขาตลอดจึงเชื่อและมั่นใจว่า จะปฏิบัติตามเงื่อนไขได้
 
พยานปากที่สี่ ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข เบิกความว่า ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มีหน้าที่ดูแลความประพฤติ วินัย และการจัดกิจกรรม เขาทราบว่า พริษฐ์เป็นนักศึกษาชั้นปีที่สี่ คณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง ที่ผ่านมาพริษฐ์เป็นผู้มีความประพฤติดี ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัย โดยเขาน่าจะสำเร็จการศึกษาภายในสองเทอม อดิศรเบิกความด้วยว่า เขาเชื่อว่า พริษฐ์จะปฏิบัติตามเงื่อนไข หากศาลแจ้งมาว่า พริษฐ์มีพฤติการณ์ที่อาจเป็นการขัดต่อเงื่อนไขการประกันตัวเขาก็พร้อมที่จะดูแลตักเตือนพริษฐ์เนื่องจากตำแหน่งของเขามีหน้าที่ดูแลพฤติกรรมของนักศึกษาอยู่แล้ว
 
 
ต่อมา ศาลอ่านคำสั่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของพริษฐ์ โดยระบุว่า มีประเด็นต้องวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่ามีเหตุตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่จะไม่ให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พริษฐ์ จำเลยที่หนึ่งเป็นนักศึกษาชั้นปีที่สี่ กำลังจะจบการศึกษาและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่น่าเชื่อว่าจะหลบหนี พยานหลักฐานคดีนี้อยู่ในความครอบครองของพนักงานสอบสวนทั้งหมดแล้ว จำเลยเป็นเพียงนักศึกษาไม่มีความสามารถที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่มาเบิกความรับรองว่าจำเลยที่หนึ่งมีความประพฤติดีอยู่ในกฎระเบียบ
 
จำเลยแถลงโดยความสมัครใจว่าจะไม่กระทำการให้เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และไม่ร่วมการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย จำเลยได้แต่งตั้งทนายความเข้ามาในคดีนี้แล้วแสดงให้เห็นว่ายอมรับในกระบวนการพิจารณาคดีของศาล อีกทั้งพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว มารดาของจำเลยที่เป็นผู้ยื่นขอประกันตัวไม่เคยผิดสัญญาประกันตัวและไม่เคยมีพฤติการณ์อื่น หลักทรัพย์ที่ยื่นขอประกันตัวจำนวน 200,000 บาทถือว่าเพียงพอกับข้อกล่าวหา แม้ศาลจะเคยสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวมาก่อนแต่พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่ามีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
 
ทั้งนี้ พริษฐ์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวออกจากเรือนจำในวันเดียวกันหลังจากถูกคุมขังมาเป็นเวลา 92 วัน (ตั้งแต่วันส่งฟ้อง 9 กุมภาพันธ์ 2564) และอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัว เป็นเวลา  58 วัน (ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2564)  ด้วยเงื่อนไขคือ ห้ามกระทำการเช่นเดียวกันกับที่เป็นเหตุในคดีนี้อันทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย, ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในราชอาณาจักร ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร และมาศาลตามกำหนดนัด
 
25 มิถุนายน 2564
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
พริษฐ์และน้องสาวพร้อมทั้งทีมทนายความเดินทางมาถึงศาลอาญาในเวลาประมาณ 9.20 น.และเดินขึ้นไปที่ห้องพิจารณาคดีทันที บรรยากาศที่ศาลในวันนี้ค่อนข้างผ่อนคลาย แม้มีจะมีการคัดกรองผู้คนเข้าศาล แต่ไม่ได้เคร่งครัดเท่ากับวันที่มีนัดพิจารณาคดีการเมืองคดีอื่น
 
ในวันนี้ตำรวจศาลแจ้งกับผู้สังเกตการณ์ไอลอว์ว่า ศาลจะอนุญาตให้เฉพาะคู่ความและญาติของจำเลยเข้าห้องพิจารณาคดีหลัก (ห้อง 703 ) ส่วนผู้สังเกตการณ์คนอื่นๆให้ไปสังเกตการณ์ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ที่ห้องพิจารณาคดี 711 แทน 
 
ศาลเริ่มการพิจารณาคดีในเวลา 09.46 น.ในช่วงที่เริ่มกระบวนการพริษฐ์ยังฟุบนอนอยู่บนโต๊ะ ศาลจึงพูดกับเพนกวิ้นว่า ที่นี่คือห้องพิจารณาคดี ไม่ใช่ห้องนอน ขอให้พริษฐ์นั่งให้เรียบร้อย จะนั่งหลับก็ได้แต่ขอให้นั่งในท่าสุภาพหลังเริ่มกระบวนพิจารณา ทนายจำเลยแถลงต่อศาล ขอเลื่อนการพิจารณาคดีในวันนี้ออกไปก่อน เนื่องจากคดีนี้จำเลยเคยแถลงถอนทนายทีมเก่าออกทั้งหมด ส่วนทนายความที่มาว่าความให้จำเลยในวันนี้เป็นทนายชุดใหม่ 
วันนัดที่อัยการเป็นฝ่ายนัดความก่อนหน้านี้หลายนัดตรงกับวันนัดของทนายและบางนัดตรงกับวันที่จำเลยมีนัดพิจารณาคดีอื่นก่อนแล้ว นอกจากนั้นก่อนหน้านี้จำเลยก็ถูกคุมขังในเรือนจำ ไม่มีโอกาสเตรียมตัวสู้คดีอย่างเต็มที่ 
 
ศาลหารือกับทนายจำเลยว่าเนื่องจากคดีนี้เคยกำหนดวันนัดไว้แล้ว หากยกเลิกนัดจะต้องหาวันนัดใหม่ ซึ่งอาจทำให้ได้วันนัดที่ล่าช้าออกไปมาก โชคยังดีที่พริษฐ์ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี อย่างไรก็ตามทนายจำเลยยืนยันจะยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาคดีออกไปซึ่งศาลรับฟัง และสอบถามอัยการว่าจะคัดค้านคำแถลงของฝ่ายจำเลยหรือไม่ ฝ่ายอัยการแถลงว่าไม่คัดค้านการขอเลื่อนนัดของฝ่ายจำเลยเพราะอัยการเป็นฝ่ายขอนัดวันพิจารณาคดีฝ่ายเดียวจริงจากนั้นศาลขอเวลาพิจารณาคดีคำร้องของจำเลย
 
เวลา 11.20 น. ศาลอ่านรายงานกระบวนพิจารณาคดีในวันนี้ โดยแจ้งว่าอนุญาตให้เลื่อนนัดตามที่ทนายร้องขอ เนื่องจากอัยการนัดความฝ่ายเดียวจึงทำให้วันนัดสืบพยานไปทับซ้อนกับคดีอื่นซึ่งไม่ใช่ความผิดของฝ่ายจำเลย จึงอนุญาตให้เลื่อนนัดและยกเลิกวันนัดเดิมทั้งหมด 
 
การสืบพยานคดีนี้อัยการแถลงจะนำพยานเข้าสืบรวม 32 ปาก ขอเวลา 9 นัด ฝ่ายจำเลยแถลงขอสืบพยาน  15 ปาก ใช้เวลาสืบ 5 นัด อนุญาตให้สืบพยานโจทก์ 9 นัด สืบพยานจำเลย 5 นัด รวม 14 นัด ให้คู่ความไปกำหนดวันนัดร่วมกันที่ศูนย์นัดความ และให้จำเลยตรวจสอบและนัดวันสืบพยานไม่ให้ทับซ้อนกับคดีอื่น หากจำเลยแถลงขอเลื่อนนักสืบพยานด้วยเหตุเดียวกันนี้อีกจะถือว่าประวิงเวลาและจะพิจารณาเรื่องสัญญาประกันของจำเลยต่อไป
 
สำหรับวันนัดสืบพยานที่คู่ความกำหนดร่วมกัน ได้แก่ วันที่ 23 – 25 พฤศจิกายน 2564 27 – 28 มกราคม 22 – 24 กุมภาพันธ์ 23 – 25 มีนาคม 22, 29 เมษายน และ 6 พฤษภาคม 2564

22 กุมภาพันธ์ 2565

นัดสืบพยานโจทก์

อัยการเจ้าของสำนวนมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด19 จึงยื่นคำร้องต่อศาล ขอเลื่อนนัดสืบพยานโจทก์ออกไปก่อนและไม่ได้เดินทางมาศาลในนัดนี้

ศาลอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานในวันที่ 23 – 25 มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่นัดไว้เดิม

ในนัดนี้ตำรวจศาลยังเชิญผู้สังเกตการณ์ไอลอว์ออกจากห้องพิจารณาคดีด้วยโดยอ้างว่าศาลอนุญาตให้เฉพาะคู่ความเข้าห้องพิจารณาคดีเท่านั้น หากเป็นผู้ที่ไม่ใช่คู่ความ จะต้องทำหนังสือแจ้งมาก่อน

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา