เบนจา:ปาอาหารสุนัขใส่พระบรมฉายาลักษณ์

อัปเดตล่าสุด: 27/09/2565

ผู้ต้องหา

เบนจา อะปัน

สถานะคดี

ชั้นสืบสวนสอบสวน

คดีเริ่มในปี

2564

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

ช่วงกลางดึกวันที่ 13 มีนาคม 2564 ตำรวจสภ.คลองหลวงนำหมายจับออกโดยศาลจังหวัดธัญบุรีเข้าทำการจับกุมสิริชัย นาถึง หรือนิว นักกิจกรรมแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

จากนั้นตำรวจควบคุมตัวสิริชัยไปที่สภ.คลองหลวง, กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และหอพักเพื่อทำการตรวจค้น โดยไม่ให้ติดต่อผู้ไว้วางใจหรือทนายความอยู่ร่วมในกระบวนการ รวมทั้งยังมีช่วงเวลาที่สิริชัยขาดการติดต่อกับเพื่อนๆ ทำให้พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิ้นพร้อมเพื่อนนักกิจกรรมต้องออกไปติดตามจนพบตัวสิริชัยที่หอพักของเขา 
 
ต่อมาเมื่อมีการยืนยันว่าตำรวจนำตัวสิริชัยมาที่สภ.คลองหลวง พริษฐ์กับนักกิจกรรมคนอื่นๆได้ติดตามไปด้วยและทำการปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของตำรวจ

ระหว่างการปราศรัยพริษฐ์กับนักกิจกรรมที่เป็นจำเลยคดีนี้ได้ปาอาหารสุนัขไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นเหตุให้ในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่สภ.คลองหลวงได้ทำการระบุตัวตนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและออกหมายเรียกผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหา
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ปนัสยา หรือรุ้ง แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม หัวหน้าพรรคโดมปฏิวัติ กลุ่มกิจกรรมทางการเมืองในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
พริษฐ์หรือเพนกวิ้นเป็นชาวกรุงเทพโดยกำเนิดแต่ไปใช้ชีวิตสมัยเด็กอยู่ที่จังหวัดลำปาง พริษฐ์เป็นอดีตเลขาธิการของกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำงานรณรงค์เพื่อการปฏิรูปการศึกษาไทยให้มีความก้าวหน้า ขณะเกิดเหตุคดีนี้พริษฐ์ศึกษาระดับอุดมศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และยังคงทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เช่น ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 พริษฐ์ไปทำกิจกรรมกินมาม่าซ้อมยากจนที่บริเวณสกายวอล์ก เพื่อประท้วงกรณีที่คสช.ยังไม่ยอมประกาศวันเลือกตั้งให้ัชัดเจนขณะที่เศรษฐกิจก็ไม่ดีขึ้น นอกจากนั้นพริษฐ์ยังเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนกลุ่มที่จะจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ด้วย แต่ขณะนั้นพริษฐ์ไม่ได้ร่วมจดจัดตั้งหรือเป็นสมาชิกพรรคเพราะขณะนั้นเขายังอายุไม่ถึง
 
ภาณุพงศ์ เป็นชาวจังหวัดระยอง ถูกดำเนินคดีครั้งแรกจากกรณีที่เขาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ชูป้ายในจังหวัดระยองเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ระหว่างที่พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่จังหวัดระยองหลังเกิดกรณีทหารเรืออียิปต์ที่ติดเชื้อโควิด19 เข้าไปเที่ยวในพื้นที่ ภาณุพงศ์เป็นนักกิจกรรมคนแรกๆที่ถูกคุมขังในเรือนจำจากการเคลื่อนไหวในปี 2563 โดยเขาถูกตุมขังครั้งแรกจากการถูกถอนประกันในคดีการชุมนุม Free Youth เยาวชนปลดแอก ร่วมกับอานนท์ นำภา ก่อนที่จะมาถูกคุมขังยาวเมื่อถูกฝากขังในคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร
 
ชลธิศ เป็นสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
 
เบนจา สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เบนจามีบทบาทในแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมมากขึ้นหลังพริษฐ์และปนัสยาถูกคุมขัง โดยเธอเป็นเป็นนำในการจัดกิจกรรมที่หน้าศาลอาญาเพื่อทวงสิทธิในการประกันตัวให้เพื่อนในวันที่ 29 เมษายน 2564

 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาระบุว่า เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 ระหว่างเวลา 02.00-03.50 น. เบนจาพร้อมพวกรวม 12 คนมาชุมนุมที่หน้าสภ.คลองหลวง โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองและมีการทำกิจกรรมการปราศรัยโจมตีการทำงานของตำรวจ สภ.คลองหลวง กรณีการจับกุมสิริชัย นาถึง

จากจำนวน 12 คนมี 9 คนถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พนักงานสอบสวนบรรยายว่าผู้ต้องหาทั้งเก้า “ร่วมกันกระทําผิดโดยการขว้างปาอาหารสุนัขชนิดเม็ด ไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเชิงสัญลักษณ์เพื่อเปรียบเทียบ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ดังเช่นเจ้าหน้าที่ตํารวจ เป็นเหมือนสุนัข และพระมหากษัตริย์ เป็นเจ้าของสุนัข”
 

พฤติการณ์การจับกุม

ผู้ต้องหาทั้งหมดเข้ารายงานตัวตามหมายเรียกจึงไม่มีการจับกุม

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลจังหวัดธัญบุรี

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
13 มกราคม 2564
 
เวลาประมาณ 23.40 น. พริษฐ์และปนัสยาพร้อมด้วยนักกิจกรรมแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมรวมตัวที่หน้าสภ.คลองหลวงเพื่อติดตามตัวสิริชัย นาถึงหนึ่งในสมาชิกกลุ่มที่ถูกตำรวจควบคุมตัวไปในช่วงกลางดึก พริษฐ์ตะโกนถามว่า "จับเพื่อนเราไปทำไม ประชาชนมาเรียกร้องหาความเป็นธรรม ผู้กำกับจับเพื่อนเราไปทำไม ตำรวจมีไว้ทำไม" แต่ไม่ได้รับคำตอบ จากนั้นนักกิจกรรมบางส่วนนำโดยพริษฐ์ไปติดตามตัวสิริชัยที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาคที่ 1 (ตชด.) แต่ไม่พบตัว
 
14 มกราคม 2564
 
เวลาประมาณ 01.31 น. เพื่อนของสิริชัยกลุ่มหนึ่งไปติดตามสิริชัยที่หอพักและพบว่าเขาอยู่บนรถตำรวจ โดยก่อนหน้านั้นได้มีการตรวจค้นห้องพักของสิริชัย เพื่อนของสิริชัยจึงเข้าไปถามว่า การตรวจค้นที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้างและพยายามขอขึ้นรถไปที่สถานีตำรวจด้วยเนื่องจากไม่ไว้ใจว่า ตำรวจจะพาตัวสิริชัยไปที่ใด

เพื่อนของสิริชัยยังขอดูหมายค้น หมายจับจากตำรวจ แต่ตำรวจไม่แสดงหมายและบอกให้เจอกันที่สภ.คลองหลวง
 
เพื่อนของสิริชัยต่อว่าตำรวจว่า เหตุใดถึงพาตัวสิริชัยไปที่ตชด.และการควบคุมตัวสิริชัยไปแต่ละที่เหตุใดจึงไม่แจ้งผู้ไว้วางใจให้ทราบว่าสิริชัยไปที่ใดและหากตำรวจไม่ยอมให้ผู้ที่สิริชัยไว้วางใจติดตามไปด้วยจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสิริชัยถูกนำตัวไปสถานีตำรวจด้วยความปลอดภัย

ท้ายที่สุดตำรวจยอมให้เพื่อนของสิริชัยนั่งกระบะไปด้วย เพื่อนของสิริชัยพยายามขอให้ตำรวจแสดงบันทึกการตรวจค้นเนื่องจากไม่ไว้วางใจตำรวจเพื่อนๆของสิริชัยยังขวางรถตำรวจไม่ให้ออกจากหน้าหอพักของสิริชัยจนกว่าทนายความจะมาถึงด้วย
 
01.38 น. พริษฐ์เดินทางมาสมทบที่หน้าหอพักของสิริชัยและสอบถามหมายค้น แต่ตำรวจนิ่งเฉย ต่อมาทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางมาถึง

สิริชัยเล่าว่า ก่อนหน้านี้ตำรวจพาตัวเขาไปที่สภ.คลองหลวงและตชด. ก่อนมาค้นที่หอพัก เพื่อนๆถามว่า ตอนจับกุมตำรวจแสดงหมายจับไหม สิริชัยตอบว่า แสดง ตำรวจให้ทนายความขึ้นรถไปด้วย แต่ทนายขอให้ตำรวจแสดงหมายจับก่อน เมื่อเห็นหมายทนายความจึงยินยอมให้ตำรวจพาตัวสิริชัยไปที่สภ.คลองหลวง
 
เวลาประมาณ 02.00 น. เพื่อนๆของสิริชัยทยอยไปปักหลักที่หน้าสภ.คลองหลวง โดยมีการผลัดเปลี่ยนกัยปราศรัยจนกระทั่งเวลาประมาณ 02.40 น. นักกิจกรรมและผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งปาอาหารสุนัขขึ้นไปบริเวณป้ายสภ.คลองหลวง ซึ่งเหนือป้ายจะมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวติดตั้งไว้

จากนั้นมีนักกิจกรรมส่วนหนึ่งที่พยายามปาอาหารสุนัขเข้าไปที่แนวตำรวจที่ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าอาคารสถานีตำรวจระหว่างนั้นมีตำรวจนอกเครื่องแบบคอยถ่ายภาพเหตุการณ์ มีผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งกรูเข้าไปขอให้ตำรวจลบภาพ ตำรวจถามว่า ทำไมต้องลบ พริษฐ์พยายามถามว่า ชื่ออะไรและเป็นตำรวจใช่ไหม บุคคลนอกเครื่องแบบรับว่าเขาเป็นตำรวจ ขณะที่ตำรวจในเครื่องแบบส่วนหนึ่งพยายามเข้ามาช่วยตำรวจนอกเครื่องแบบคนดังกล่าว แต่มีผู้ชุมนุมล้อมไว้ เกิดการผลักดันระหว่างตำรวจและผู้ชุมนุม
 
การปราศรัยและกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าสภ.คลองหลวงดำเนินต่อไปกระทั่งเวลาประมาณ 03.37 น. สิริชัยเขียนจดหมายออกมาถึงผู้ชุมนุมโดยมีพริษฐ์เป็นผู้อ่าน โดยเนื้อความสรุปได้ว่าเขาถูกดำเนินคดีเพราะไปพ่นสีเป็นข้อความที่ใต้ภาพบุคคลบุคคลหนึ่งและเขายังมีกำลังใจดี ขอให้ทุกคนสู้ต่อไปหลังจากนั้นสถานการณ์ที่หน้าสภ.คลองหลวงก็คลายความตึงเครียด
 
5 กุมภาพันธ์ 2564 
 
เวลา 10.00 น. พนักงานสอบสวนสภ.คลองหลวงนัดผู้ถูกกล่าวหา 12 คนรายงานตัวจากกรณีชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวสิริชัย ที่หน้าสภ.คลองหลวงช่วงกลางดึกวันที่ 13 มกราคม 2564 
 
ตามบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาระบุว่า ในวันที่ 14 มกราคม 2564 เวลา 02.00-03.50 น. เบนจาพร้อมพวกรวม 12 คนมาชุมนุมที่หน้าสภ.คลองหลวง โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองและมีการทำกิจกรรมการปราศรัยโจมตีการทำงานของตำรวจ สภ.คลองหลวง กรณีการจับกุมสิริชัย นาถึง โดยมีเหตุที่นำไปสู่การกล่าวหาต่างกรรมต่างวาระ ดังนี้
 
หนึ่ง ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 12 คนได้ชุมนุม ซึงเป็นการรวมตัวกันจำนวนมากเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
 
สอง ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 12 คนทำการโปรยอาหารสุนัขใส่ตำรวจและจัดงานศพในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ เริ่มจากแอมมี่-ไชยอมร แก้ววิบูลพันธ์เดินขึ้นไปลั่นระฆังด้านหน้าทางเข้าสภ.คลองหลวง จากนั้นมีการเปิดเพลงมาร์ชตำรวจ เมื่อจบแล้วเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์กล่าาว่า ฟังเพลงเสร็จแล้วก็กินอาหาร ต่อมาผู้ถูกกล่าวหา 11 คนยกเว้นแอมมี่-ไชยอมรได้นำอาหารสัตว์มาโปรยใส่ตำรวจที่ตั้งแถวอยู่ด้านหน้าประตูทางเข้าสภ.คลองหลวง หลังจากนั้นได้มีการเปิดเพลงธรณีกันแสง แสดงออกเหมือนเช่นงานศพเพื่อไว้อาลัยการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ
 
สาม มีผู้ต้องหา 9 คน ร่วมกันปาอาหารสุนัขไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเชิงเปรียบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นสุนัขและพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของสุนัข ซึ่งอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 
 
สี่ การพ่นสเปรย์ที่อาคารสภ.คลองหลวง ผู้ถูกกล่าวหา 5 คนได้แก่ เบนจา, รุ้ง-ปนัสยา, ณวรรษ, ไมค์-ภาณุพงศ์และฟ้า-พรหมศรได้นำสเปรย์สีขาวมาพ่นที่กำแพง, พื้นและกระจกบานเลื่อนของสภ.คลองหลวง
 
การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นละเมิดประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136 และ 215 ส่วนผู้ถูกกล่าวหา 5 คนที่พ่นสเปรย์ถูกกล่าวหาร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 โดยยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 
 
บรรยากาศในการรายงานตัว เจ้าหน้าที่ตำรวจปิดกั้นเส้นทางที่จะผ่านเข้าสภ.คลองหลวงด้วยแบริเออร์ปูนและเตรียมรถฉีดน้ำแรงดันสูง พร้อมกำลังตำรวจควบคุมฝูงชน ผู้ที่มารายงานตัวจะต้องต่อรองกับตำรวจเป็นกรณีไปเรื่องการพาผู้ไว้ใจเข้าไปภายในสภ.คลองหลวง สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ละแวกใกล้เคียงกับสถานีตำรวจก็จะต้องแสดงหลักฐานว่าพักอาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงจริงเจ้าหน้าที่จึงจะยินยอมให้ผ่านทางเข้าไปหลังแนวกั้น

ระหว่างที่กระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินไปมีกระแสข่าวว่า พนักงานสอบสวนจะขออำนาจฝากขังผู้ต้องหาที่มารายงานตัวในวันเดียวกันเลย อย่างไรก็ตามในเวลา 14.21 น. พนักงานสอบสวนแจ้งว่า จะปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหาแบบไม่มีเงื่อนไข
 
ระหว่างที่กระบวนการสอบสวนดำเนินไปตำรวจเจรจากับผู้ที่มาให้กำลังใจผู้ต้องหา ขอให้งดใช้เครื่องเสียงและงดปราศรัย จากนั้นในเวลาประมาณ 15.30 น. ผู้ต้องหาทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวหลังกระบวนการสอบสวนแล้วเสร็จโดยทนายของผู้ต้องหาแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่าจะส่งคำให้การเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วัน
 
12 มีนาคม 2564
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เบนจา, ณัฐชนน, ชลธิศและพรหมศรถูกเรียกไปรายงานตัวกับพนักงานสอบสวนสภ.คลองหลวงเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มเติม โดยผู้ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมมีทั้งหมดเก้าคน พนักงานสอบสวนบรรยายพฤติการณ์ว่า “ร่วมกันกระทําผิดโดยการขว้างปาอาหารสุนัขชนิดเม็ด ไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเชิงสัญลักษณ์เพื่อเปรียบเทียบ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ดังเช่นเจ้าหน้าที่ตํารวจ เป็นเหมือนสุนัข และพระมหากษัตริย์ เป็นเจ้าของสุนัข” 
 
ข้อกล่าวหายังระบุว่า พรหมศรได้กล่าวโดยชัดเจนที่วิญญูชนสามารถเข้าใจได้ทันทีว่า ผู้กระทําผิดประสงค์ที่จะขว้างปาไปยังพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ และเป็นสิ่งซึ่งประชาชนชาวไทยทั่วไปเคารพ สักการะบูชา เสมือนหนึ่งแทนพระองค์ โดยการกล่าวถ้อยคํา จวบจ้วง เสียดสีด้วยวาจา อันอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
 
ข้อกล่าวหาได้บรรยายข้อความที่ผู้ต้องหาแต่ละคนปราศรัยที่ด้านหน้าสภ.คลองหลวง โดยมีผู้ที่ไม่ได้กล่าวถ้อยคำใดใดแต่พนักงานสอบสวนได้บรรยายพฤติการณ์ที่เข้าข่ายกระทำความผิดไว้ว่า “แม้หากว่าจะไม่ได้มีการพูดข้อความ หรือถ้อยคําใดๆ แต่การดูหมิ่น หรือการหมิ่นประมาทนั้น ไม่จําเป็นที่จะต้องเป็นการใช้ถ้อยคํา เพราะการใช้สัญลักษณ์ การสื่อด้วยอวัยวะของร่างกาย หรือสิ่งอื่นใด รวมถึงการกระทําที่สื่อถึงการดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาทก็ถือว่าเป็นการดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาทได้”
 
26 มีนาคม 2564
 
พนักงานสอบสวนสภ.คลองหลวงแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อปนัสยา ระหว่างถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงกลาง
 
1 เมษายน 2564
 
พนักงานสอบสวนสภ.คลองหลวงแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อภาณุพงศ์ ระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา