ไชยอมร: เผาพระบรมฉายาลักษณ์

อัปเดตล่าสุด: 03/03/2565

ผู้ต้องหา

ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2564

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

ไชยอมร หรือ แอมมี่ เดอะบอททอมบลูย์ นักร้องที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง ถูกตำรวจจับกุมที่จังหวัดอยุธยา เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564
 
หลังกรณ๊เผาพระบรมฉายาลักษณ์พระเจ้าอยู่หัวที่ป้ายเรือนจำกลางคลองเปรม มีภาพขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้เผยแพร่บนเฟซบุ๊กที่เจ้าหน้าที่เชื่อว่าอยู่ในความดูแลของไชยอมร 

หลังเกิดเหตุไชยอมรถูกออกหมายจับในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ และช้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

เบื้องต้นศาลไม่อนุญาตให้ไชยอมรประกันตัว เพราะเกรงว่าจะหลบหนี แต่ต่อมาหลังมีกิจกรรมรณรงค์ต่อเนื่อง ศาลอนุญาตให้เขาประกันตัวในวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 
 
ในวันที่ถูกจับกุม ไชยอมร โพสเฟซบุ๊กรับว่าเป็นผู้ลงมือกระทำจริง ขณะที่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาทั้งชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน และชั้นศาล

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่ เดอะ บ็อทท่อมบลู ขณะถูกจับอายุ 32 ปี เป็นนักร้องนำวง The Bottom Blues มีอาชีพเป็นนักร้อง นักแต่งเพลง
 
ไชยอมรจบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ระดับอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยเอแบค มีผลงานเพลงทั้งสิ้นสามอัลบั้ม กับอีกเจ็ดซิงเกิล นอกจากนั้นเขาก็ยังเป็นโปรดิวเซอร์ให้ศิลปินคนอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง
 
ไชยอมร ปรากฏตัวมีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงปี 2563 เคยนำวง The Bottom Blues ขึ้นร้องเพลงบนเวทีการชุมนุมหลายครั้ง โดยเฉพาะเพลง 12345 I LOVE YOU ซึ่งผู้ชุมนุมแปลงเนื้อหาและร้องต่อกันว่า 12345 'ไอ้เหี้ยตู่'
 
ไชยอมร มีชื่อเสียงจากกิจกรรม "สาดสี" คือการเอาสีน้ำเงินสาดใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่หน้าสถานีตำรวจ เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ 
 
ไชยอมรเคยเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มราษฎรอีสาน จัดชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 ถูกตำรวจเข้าสลายการชุมนุม และถูกส่งตัวฝากขังในเรือนจำรวม 6 วัน ก่อนที่จะได้ประกันตัว นอกจากคดีนี้ ไชยอมร ยังถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อีก ในคดีการจัดกิจกรรมหน้าศาลจังหวัดธัญญบุรี เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา, อื่นๆ
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ไชยอมร ถูกตั้งข้อหา ร่วมกันดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ตามาตรา 127, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) จากการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ที่ตั้งอยู่บนป้ายเรือนจำกลางคลองเปรม ริมถนนงามวงศ์วาน และโพสภาพพระบรมฉายาลักษณ์ขณะถูกเผา บนเฟซบุ๊กเพจ The Bottom Blues 
 
คมชัดลึก เผยแพร่รายละเอียดคำฟ้องในคดีนี้ซึ่งบรรยายพฤติการณ์แห่งคดีว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เวลากลางคืน จำเลยกับพวกอีก 2 คน ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องและหลบหนี บังอาจร่วมกันวางเพลิงโดยใช้น้ำมันก๊าดราดใส่และจุดไฟเผาพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 10 ที่บริเวณหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม ซึ่งเป็นทรัพย์สินของเรือนจำกลางคลองเปรม จนไฟลุกลามไหม้พระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมโครงไม้ เหล็ก และอุปกรณ์ที่ประดับ จนได้รับความเสียหาย รวมทั้งสิ้น 6 รายการ และค่าติดตั้ง 1 รายการ รวมเป็นความเสียหายทั้งหมดเป็นเงิน 60,000 บาท

พระบรมฉายาลักษณ์ที่ประดิษฐานอยู่นั้น เรือนจำกลางคลองเปรม ซึ่งเป็นหน่วยราชการได้จัดทำขึ้นไว้เพื่อแสดงความจงรักภักดีและเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ หรือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10
 
ขณะเกิดเหตุประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 2 บัญญัติว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมาตรา 6 บัญญัติว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ ดังนั้น

การกระทำของจำเลยกับพวกข้างต้น จึงเป็นการกระทำอันไม่สมควรล่วงละเมิด เป็นการแสดงออกด้วยประการใดว่าจะทำให้เสียหายในทางใดๆ ไม่ว่าจะเป็นพยานอันตรายแก่ร่างกายทรัพย์สินสิทธิเสรีภาพหรือชื่อเสียงเกียรติคุณอันไม่ใช่การใช้สิทธิ์ตามปกตินิยมนับเป็นการแสดงอาฆาตมาดร้ายดูหมิ่นพระมหากษัตริย์

ทำให้ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น หมิ่นพระเกียรติ ถูกลบหลู่ และมีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของปวงชนชาวไทย ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้
 
อีกทั้งจำเลยได้เผยแพร่ภาพที่ไฟกำลังลุกไหม้พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ที่ประดิษฐานติดตั้งอยู่บริเวณหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม และมีการพิมพ์ข้อความด้วย โดยจำเลยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเผยแพร่ที่ในบัญชีเฟซบุ๊ก ชื่อว่า The Bottom Blues ของจำเลย ซึ่งเปิดเป็นบัญชีสาธารณะประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้
 
พฤติกรรมของจำเลย จึงเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร 

พฤติการณ์การจับกุม

ในวันที่ 3 มีนาคม 2564 ไชยอมรถูกตำรวจเข้าจับกุม ขณะอยู่ที่บ้านเช่าในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 
 
บันทึกการจับกุมของตำรวจ ระบุว่า ตำรวจเข้าจับกุมในเวลาประมาณ 00.40 น. เป็นการจับกุมตัวตามหมายจับของศาลอาญาที่ 429/2564 ขณะถูกจับกุมไชยอมรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
 
ระหว่างทำการจับกุม ตำรวจยังยึดของกลางเป็น โทรศัพท์ไอโฟน 6 พลัส หนึ่งเครื่อง และสมุดบันทึกสีน้ำตาล หนึ่งเล่ม ด้วย
 
 

 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.1199/2564

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
28 กุมภาพันธ์ 2564
 
มีภาพไฟไหม้พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ที่ตั้งอยู่บนป้ายเรือนจำกลางคลองเปรมปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ ในช่วงกลางดึกของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ต่อเนื่องถึงเช้ามืดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 

ในช่วงเวลาเกิดเหตุผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์ อานนท์ นำภา สมยศ พฤกษาเกษมสุข และปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม กำลังถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี 112 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร อยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพซึ่งอยู่ในรั้วเดียวกับเรือนจำคลองเปรม
 
ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่ถูกเผาภาพหนึ่ง ถูกเผยแพร่ผ่านทวิตเตอร์ @ammythebottomblues เมื่อเวลา 12.04pm โดยเจ้าหน้าที่เชื่อว่าบัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าวเป็นของไชยอมร ผู้ต้องหาคดีนี้ 
 
1 มีนาคม 2564
 
โพสทูเดย์รายงานว่า  สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าในการติดตามตัวผู้ก่อเหตุวางเพลิงที่หน้าเรือนจำคลองเปรมว่า

จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดพบว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อเวลา 03.10 น.ของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 พบบุคคลต้องสงสัยสามคนเป็นชายสองคน และหญิงหนึ่งคน และหลักฐานที่ผู้ก่อเหตุน่าจะเตรียมมาใช้กระทำความผิดในที่เกิดเหตุด้วย


ซึ่งทางกรมราชทัณฑ์ได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดและติดตามความเคลื่อนไหวของรถยนต์ที่คาดว่าผู้ก่อเหตุน่าจะใช้เดินทางและหลบหนีไปจนถึงที่พักแล้ว

นอกจากนั้นกรมราชทัณฑ์ได้ไปร้องทุกข์กับสน.ประชาชื่นแล้วโดยมีการร้องทุกข์กล่าวโทษด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในคดีนี้ด้วยเป็นเพราะผู้ก่อเหตุมีพฤติการณ์เผาทำลายภาพพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งพนักงานสอบสวนจะได้ขอศาลอนุมัติหมายจับผู้ก่อเหตุต่อไป
 
2 มีนาคม 2564
 
เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานว่า ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน เลขานุการ รมว.ยุติธรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีการวางเพลิงเผาทรัพย์ หน้าเรือนจำกลางคลองเปรม ว่า
 
จากการสืบสวนของตำรวจร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ทราบว่ามีผู้ก่อเหตุสามคนเป็นชายสองคนหญิงหนึ่งคน ใช้รถยนต์ในการก่อเหตุ ตำรวจกำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อขอหมายศาลออกหมายจับ และจากการตรวจสอบเชิงลึกทำให้ทราบว่า
 
ผู้ก่อเหตุเกี่ยวกับกลุ่มการเมือง ซึ่งหากพบว่า มีบุคคลใดมีส่วนเกี่ยวข้องก็จะดำเนินคดีทั้งหมด เพราะเป็นการกระทำที่ถือว่า เป็นการทำลายความรู้สึกของคนไทย สิ่งที่ทำเป็นโทษที่ร้ายแรงมาก เพราะเป็นการวางเพลิงเผาทรัพย์ 
 
ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต กล่าวต่อว่า มีความเป็นไปได้ว่าการก่อเหตุจะเกี่ยวข้องกับการชุมนุม ซึ่งเจตนาเผาพระบรมฉายาลักษณ์เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน ตามมาตรา 112 มีโทษจำคุก 3-15 ปี รวมถึงการบุกรุกสถานที่ราชการ มีโทษจำคุก 5 ปี และยังมีเรื่องของความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เรื่องการแชร์ภาพอันมิบังควร มีโทษจำคุก 5 ปี รวมแล้วตอนนี้มี 4 ข้อหาหนักซึ่งโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต 
 
3 มีนาคม 2564
 
บีบีซีไทย รายงานว่า  เวลา 10.45 น. พล.ต.ท. ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) แถลงข่าวการจับกุมตัวไชยอมร โดยระบุว่าสามารถจับกุมตัวได้ที่ห้องเช่าไม่มีเลขที่ใน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อเวลา 01.00 น.

แต่เจ้าตัวบอกว่ามีอาการบาดเจ็บบริเวณหัวไหล่และกระดูกเชิงกราน จึงร้องขอเข้าไปรักษาตัวที่ รพ.ราชธานี จ.พระนครศรีอยุธยา หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะส่งตัวมารักษาที่ รพ.ตำรวจ กทม. และควบคุมตัวไว้สอบปากคำต่อไป
 
พล.ต.ท. ภัคพงศ์เชื่อว่า คนร้ายมีมากกว่าหนึ่งคน แต่ต้องรอให้เจ้าหน้าที่รวบรวมพยานหลักและขยายผลต่อไป ตอนนี้ติดตามจับกุมตัวไชยอมรได้เพียงคนเดียว หลังจากมีพยานหลักฐานพอสมควร
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า หลังทำการจับกุมเจ้าหน้าที่พาตัวไชยอมรไปส่งโรงพยาบาลราชธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้แพทย์รักษาอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นก่อนถูกจับกุมตัว จากนั้นในช่วงเช้าไชยอมรจะถูกควบคุมตัวไปที่โรงพยาบาลตำรวจเพื่อทำการรักษาต่อ 
 
ทนายความและครอบครัวของไชยอมรได้รับแจ้งจากตำรวจว่า ไชยอมรถูกพาตัวมาถึงโรงพยาบาลตำรวจในเวลาประมาณ 9.00 น.แต่เมื่อเดินทางไปติดตามตัวญาติและทนายความกลับได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลว่าไม่พบชื่อของไชยอมรในสารบบ

พนักงานสอบสวนสน.ประชาชื่นซึ่งรับผิดชอบท้องที่เกิดเหตุระบุว่าจะเข้าแจ้งข้อกล่าวหากับไชยอมรที่โรงพยาบาลตำรวจในเวลา 13.30 น. ทนายความและครอบครัวจึงรอพบไชยอมรที่โรงพยาบาลตำรวจและได้พบตัวไชยอมรพร้อมกับพนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่นในเวลาประมาณ 14.00 น. พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหากับไชยอมรและทำการสอบปากคำเขา

นอกจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เข้าพบไชยอมรเพื่อขอเข้าถึงเครื่องมือสื่อสารของเขาด้วย ไชยอมรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะขอให้การเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 20 วัน
 
ในเวลา 15.30 น. พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องฝากขังไชยอมรต่อศาลอาญา ไม่ได้ควบคุมตัวไชยอมรไปศาลเนื่องจากเขาอยู่ระหว่างการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ พนักงานสอบสวนระบุในคำร้องด้วยว่าหากผู้ต้องหาจะขอปล่อยตัวชั่วคราวจะขอคัดค้านโดยอ้างเหตุว่าเกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี 
 
หลังพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขัง มารดาของไชยอมรยื่นเงินสดจำนวน 90,000 บาทจากกองทุนราษฎรประสงค์ขอปล่อยตัวชั่วคราวไชยอมร 
 
ในเวลา 17.00 น. ศาลได้ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยให้เหตุผลว่า “พนักงานสอบสวนยืนยันว่าผู้ต้องหาหลบหนีจนถูกเจ้าพนักงานติดตามไปจับกุมได้ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หากปล่อยตัวชั่วคราว เกรงว่าจะหลบหนี ในชั้นนี้ให้ยกคำร้อง”
 
หลังศาลยกคำร้องปล่อยตัวชั่วคราว ไชยอมรยังคงรับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจอีกหนึ่งคืน จากนั้นในวันที่ 4 มีนาคม พนักงานสอบสวนจะนำความเห็นแพทย์ไปแจ้งต่อศาลเพื่อการออกหมายขังไชยอมรต่อไป  
 
เวลา 16.15 เฟซบุ๊กเพจ The Bottom Blues โพสภาพไชยอมรชูสามนิ้ว โดยมีโซ่ลามอยู่ที่ข้อเท้า พร้อมระบุข้อความทำนองว่าเขากระทำการตามที่ถูกกล่าวหาจริงโดยเป็นความรับผิดชอบของเขาเพียงผู้เดียว
 
4 มีนาคม 2564 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า  พนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น ยื่นคำร้องผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ต่อศาลอาญา ขอส่งตัวไชยอมรคืนต่อศาล เนื่องจากแพทย์ประจำโรงพยาบาลตำรวจได้ทำการตรวจรักษาแล้ว เห็นว่ามีอาการดีขึ้น จึงไม่ต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลอีก ซึ่งศาลมีคำสั่งอนุญาต
 
ในวันเดียวกันมารดาของไชยอมรและทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเขาอีกครั้งเป็นครั้งที่สอง โดยวางหลักประกันเป็นเงินสด 500,000 บาท จากนั้นในช่วงเย็นศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวโดยให้เหตุผลว่า
 
ศาลเคยยกคำร้องเพราะเกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี ไม่ใช่ยกคำร้องเพราะเหตุหลักทรัพย์ไม่เพียงพอ จึงไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม หลังศาลยกคำร้องไชยอมรถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรี
 
คำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวที่ทนายของไชยอมรยื่นต่อศาลพอสรุปได้ว่า  ผู้ต้องหาไม่ได้พยายามจะหลบหนี เนื่องจากไม่ทราบว่าจะถูกดำเนินคดีนี้มาก่อน และก่อนถูกจับตามหมายจับของศาล ผู้ต้องหาเดินทางโดยเปิดเผยในที่สาธารณะ และในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก

ผู้ต้องหาเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระรามเก้า เนื่องจากมีอาการปวดหลังตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จนเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 จึงออกมาพักรักษาตัว ผู้ต้องหาประกอบอาชีพเป็นศิลปินนักร้อง และมีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผู้ต้องหาไม่ได้ปกปิด อำพรางตน และผู้ที่เป็นเจ้าของห้องพักและผู้คนที่พักอาศัยในห้องพักข้างเคียงหรือในห้องพักอื่นก็พบเห็นผู้ต้องหา
 
ผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี
 
ผู้ต้องหายังขอเรียนว่า หากไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว จะทำให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ต้องหายังต้องประกอบอาชีพ เพื่อเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว นอกจากนี้ ผู้ต้องหายังต้องพักรักษาตัวจากอาการปวดหลัง และรักษาโรคกระจกตาโป่งพองหรือกระจกตาย้วย (Keeatoconus) อย่างต่อเนื่อง การไม่ได้รับการปล่อยตัวอาจให้มีผลกระทบกับกระจกตาและกระทบกับการมองเห็นในอนาคต 
 
11 มีนาคม 2564
 
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า  ในเวลา 10.30 น. พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลกล่าวว่า พนักงานสอบสวนสน.ประชาชื่น รวบรวมพยานหลักฐานไปขออำนาจศาลอาญาออกหมายจับ ผู้ร่วมก่อเหตุอีกหนึ่งคนเป็นหญิงสาวคนสนิทของไชยอมร ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายสถาบัน

นอกจากนั้นยังออกหมายเรียกผู้ร่วมก่อเหตุอีกหนึ่งคนมาให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนแล้ว เนื่องจากพบว่าผู้ต้องหาหญิงรายนี้มีพฤติการณ์หลบหนีเตรียมการเดินทางออกนอกประเทศ ขณะนี้ชุดสืบสวนอยู่ระหว่างการติดตามตัวมาดำเนินคดี
 
ขณะที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  รายงานว่าธนพัฒน์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อายุ 18 ปี เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  217 ตามหมายเรียกของสน.ประชาชื่น แล้ว ธนพัฒน์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และประสงค์ให้ดำเนินการพิจารณาในกระบวนการยุติธรรมแบบเยาวชน และดำเนินการพิจารณาคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัว เนื่องจากเขาเพิ่งอายุ 18 ปี 9 วันในวันที่เกิดเหตุ

เมื่อกระบวนการสอบสวนเสร็จสิ้น ธนพัฒน์ได้รับการปล่อยตัวในชั้นสอบสวน โดยไม่ต้องวางหลักประกัน เนื่องจากได้มาปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ไม่มีเหตุให้ควบคุมตัว
 
8 เมษายน 2564
 
ไชยอมร ถูกนำตัวไปศาลอาญา ในฐานะจำเลยคดีการชุมนุมวันที่ 19 กันยายน 2564 เป็นนัดตรวจพยานหลักฐาน ทนายความของไชยอมร ยื่นคำร้องต่อศาลว่า การนำตัวไชยอมรไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรี เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะคดีนี้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลอาญา ต้องคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพเช่นเดียวกับคดีอื่น การที่นำตัวไปไว้เรือนจำพิเศษธนบุรีซึ่งมีระยะทางไกล ส่งผลกระทบต่อการเดินทางไปเยี่ยมของครอบครัวและทนายคยวาม ศาลมีคำสั่งตามคำร้องให้นำตัวไชยอมรไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
 
1 พฤษภาคม 2564
 
ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวไชยอมรทั้งในคดีตามมาตรา 116 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และคดีนี้ ซึ่งเป็นการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวครั้งที่ห้าและครั้งที่แปดตามลำดับ โดยมีมารดาของไชยอมรเป็นนายประกัน เทวัญ รอดเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องในวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 
 
6 พฤษภาคม 2564 
 
ไชยอมรไม่ถูกเบิกตัวมาที่ศาลตามที่ศาลนัดไต่สวนประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีการแจ้งในภายหลังว่าผลการตรวจโควิด19 ของออกมาก่อนครบกำหนดกักตัว 14 วัน ไชยอมรจึงยังไม่ถูกเบิกตัวมาศาลเพื่อทำการไต่สวนในวันนี้ ศาลเลื่อนการไต่สวนออกไปเป็นวันที่ 11 พฤษภาคม 2564
 
11 พฤษภาคม 2564 
 
นัดไต่สวนประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว
 
เวลา 10.00 น. ศาลอาญานัดไต่สวนประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวสามนักกิจกรรม ได้แก่ไชยอมร ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีนี้และเป็นจำเลยคดีมาตรา 116 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร

นอกจากไชยอมรแล้วศาลยังนัดไต่สวน พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ ภาณุพงศ์ จาดนอก จำเลยคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎรด้วย
 
ไชยอมรถูกฝากขังชั้นสอบสวนในคดีนี้และถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาลในคดีการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 การไต่สวนประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในนัดนี้เป็นการดำเนินการพร้อมกันสองคดี  
 
ตั้งแต่เวลา 8.30 น. บริเวณศาลอาญามีการวางมาตรการรักษาวามปลอดภัยอย่างเข้มงวด มีการตั้งจุดคัดกรองที่ลานจอดรถใกล้ธนาคารกรุงไทยสาขาศาลอาญาลักษณะเดียวกับที่มีการตั้งจุดคัดกรองเวลาศาลอาญามีนัดพิจารณาคดีการเมืองสำคัญคดีอื่นๆ

ในนัดนี้เจ้าหน้าที่บริเวณจุดคัดกรองแจ้งให้ผู้สังเกตการณ์หันหน้าให้กล้องวงจรปิดเคลื่อนที่บริเวณจุดคัดกรองถ่ายรูปพร้อมกับถือบัตรประชาชนในมือด้วย
 
การไต่สวนเกิดขึ้นที่ห้องพิจารณาคดี 711 โดยมีตำรวจศาลยืนประจำการอยู่หน้าลิฟท์ชั้น 7 คอยบอกให้คนที่ไม่ใช่ทนายความและพยานที่มาไต่สวนเดินไปที่อื่น

ด้านหน้าห้องพิจารณาคดี 703 ซึ่งเป็นห้องที่ถ่ายทอดสัญญาณมาจากห้องพิจารณาหลัก เจ้าหน้าที่ยังเตรียมตระกร้าใส่อุปกรณ์สื่อสารมาเตรียมไว้พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ประสงค์เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีทราบว่าผู้ที่ประสงค์จะเข้าห้องพิจารณาคดีจะต้องฝากอุปกรณ์สื่อสารเสียก่อน

ตัวแทนจากสถานทูตออสเตรเลียได้เจรจากับเจ้าหน้าที่ศาลอาญาว่า ทางสถานทูตมีแนวปฏิบัติไม่ให้ฝากโทรศัพท์มือถือกับบุคคลอื่นจึงจะขอนำโทรศัพท์เข้าห้องพิจารณาแต่จะไม่หยิบขึ้นมาใช้ระหว่างการพิจารณา ท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่ไม่ได้เก็บโทรศัพท์ของบุคคลใด แต่กำชับผู้ประสงค์จะเข้าห้องพิจารณาคดีไม่ให้หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาใช้แทน
 
 
ในการไต่สวน ไชยอมรเบิกความว่า เขาจบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน จากนั้นจึงได้รับทุนการศึกษาจาก National Geographic เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยเอแบค โดยระหว่างที่เรียนมหาวิทยาลัยเขาก็เริ่มเป็นศิลปิน โดยมีผลงานเพลงทั้งสิ้นสามอัลบั้ม กับอีกเจ็ดซิงเกิล นอกจากนั้นเขาก็ยังเป็นโปรดิวเซอร์ให้ศิลปินคนอื่นๆหรือวงอื่นๆอีกจำนวนหนึ่ง
 
ไชยอมรเบิกความกี่ยวกับครอบครัวของเขาว่า เขามีลูกสาวหนึ่งคน เขาเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายและเลี้ยงดูลูกสาวของเขา ก่อนถูกคุมขังในคดีนี้เขาก็ได้ทำหน้าที่พ่อด้วยการสอนลูกว่ายน้ำและขี่จักรยาน พร้อมเบิกความว่าแม้จะมีภาพว่าเขามักไปร่วมชุมนุมทางการเมืองแต่จริงๆแล้วเขาเป็นคนรักลูกและสิ่งที่เขาห่วงที่สุดคือลูกสาว ตอนนี้ตัวเขาอาศัยอยู่กับพ่อและแม่ หลังจากพ่อของเขาเกษียณจากงาน เขาก็เป็นคนหารายได้มาจุนเจือครอบครัวเป็นหลัก
 
เกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพ ไชยอมรเบิกความว่าเขาเป็นโรคความดันโลหิตสูง และเป็นโรคกระจกตาโป่งพองและโรคกระจกตาย้อย ซึ่งโรคดังกล่าวไม่สามารถทำเลสิกได้ และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ค่าสายตาของเขาเปลี่ยนทุกวัน ดวงตาเขาจะรับแสงได้น้อย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็มีความเสี่ยงที่จะตาบอด ซึ่งโรงพยาบาลของราชทัณฑ์ไม่มีแพทย์เฉพาะทาง
 
เกี่ยวกับการเดินทางไปจังหวัดอยุธยาก่อนที่จะถูกจับกุม เขายืนยันว่า ไม่ได้หลบหนีแต่ไปพักผ่อน และเขาก็ไปที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอยู่เป็นประจำเพราะเขามีธุรกิจโฮสเทลและบาร์ชื่อสต็อกโฮล์มอยู่ที่นั่นโดยบางครั้งเขาก็ใช้เวลาเป็นเดือนที่อยุธยาเพื่อแต่งเพลง ซึ่งบ้านของเขาและจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไม่ได้อยู่ไกลกันมาก โดยในวันที่ถูกจับเขาเพียงแต่ไปพักผ่อน ไม่ได้มีเจตนาหลบหนี
 
ทนายจำเลยถามว่า ถ้าหากแอมมี่ได้รับการประกันตัวยินดีจะปฏิบัติตามข้อกำหนด ได้แก่ ไม่กระทำการใดให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เข้าร่วมการชุมนุมที่อาจเป็นการยุยงให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง จะมารายงานตัวตามนัดศาลทุกครั้ง

หากศาลจะกำหนดเงื่อนไขเรื่องการใส่กำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวหรือไม่ เขาตอบว่า ยินดี แต่เขามีความกังวลเรื่องที่เขาจะต้องเดินทางไปตามจังหวัดต่างๆ เพื่อแสดงคอนเสิร์ตและเกรงว่า สัญญาณของกำไลอิเล็กทรอนิกส์อาจส่งสัญญาณรบกวนเครื่องดนตรีของเขา อย่างไรก็ตาม หากศาลเห็นควรให้มีข้อกำหนดนี้ เขาก็ยินดีปฏิบัติตามเพื่อให้ความมั่นใจกับศาลว่าเขาจะไม่หลบหนี
 
พยานปากที่สอง คมชาญ แก้ววิบูลย์พันธุ์ บิดาของไชยอมรเบิกความว่า ลูกชายเป็นคนที่มีจิตใจดีและมีพฤติกรรมดี ตั้งแต่เด็กเป็นคนที่รักเพื่อน หลังตัวของเขาเกษียณลูกชายยังช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายกับที่บ้านบางส่วนด้วย นอกจากนั้นเขาก็รักลูกสาวมาก ช่วงวันหยุดไชยอมรจะพาลูกสาวมาอยู่ที่บ้านด้วยทุกครั้ง
 
ทนายจำเลยถามคมชาญว่า หากแอมมี่ได้รับการปล่อยตัว คมชาญจะช่วยดูแลให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลได้หรือไม่ คมชาญเบิกความว่าในฐานะพ่อเขาจะกำกับดูแลให้ไชยอมรปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลทุกประการ
 
พยานปากที่สาม อรวรรณ แก้ววิบูลย์พันธุ์ เบิกความว่าตั้งแต่สมัยเด็กๆ ไชยอมรเป็นเด็กร่าเริง รักเพื่อนฝูง สมัยเด็กๆเขายังเป็นนักฟุตบอลด้วย

อรวรรณเบิกความเกี่ยวกับธุรกิจของไชยอมรที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า เธอทราบว่า ลูกชายหุ้นกับเพื่อนสมัยเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญทำกิจการโฮสเทลและบาร์ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และก็ไปๆ มาๆ ระหว่างบ้านกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นระยะ หากไชยอมรได้รับการประกันตัวเธอจะดูแลให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลอย่างเคร่งครัด 
 
พนักงานสอบสวนที่มาอยู่ร่วมการไต่สวน แถลงต่อศาลว่า จัดทำสำนวนการสอบสวนเสร็จแล้ว จึงไม่มีเหตุให้คัดค้านหากไชยอมรได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
 
ในเวลาประมาณ 17.00 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวไชยอมรโดยระบุเหตุผลว่า

ไชยอมร มีคนในครอบครัวที่ต้องอุปการะเลี้ยงดู มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มีอาชีพเป็นเพียงศิลปินและนักแต่งเพลงไม่มีอิทธิพลที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และได้แถลงต่อศาลด้วยความสมัครใจว่าจะไม่กระทำการให้เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

บิดาและมารดาของผู้ต้องหาแถลงรับรองว่าผู้ต้องหาเป็นผู้มีความประพฤติดีและจะดูแลให้ผู้ต้องหามาตามนัดศาลทุกนัด ผู้ต้องหาได้แต่งตั้งทนายความเข้ามาแสดงให้เห็นว่ายอมรับกระบวนการพิจารณาคดีของศาล พนักงานสอบสวนไม่คัดค้าน 
 
สำหรับคดีนี้ศาลตีราคาประกันเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท
 
ไชยอมรได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ในเวลาประมาณ 19.00 น. ใกล้เคียงกับที่พริษฐ์ จำเลยคดีการเมืองอีกคนหนึ่งได้รับการปล่อยตัว ทั้งสองคนถูกเจ้าหน้าที่กันให้ขึ้นรถจากด้านในเรือนจำ และให้ขับรถออกไปด้านนอกเลย เพื่อไม่ให้พบปะทักทายผู้คนที่มารอให้กำลังใจ
 
25 พฤษภาคม 2564
 
คมชัดลึกรายงานว่า  อัยการยื่นฟ้องคดีไชยอมรในฐานความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินีรัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น

และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 83 ,91, 112, 217 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ต่อศาลอาญาแล้ว 
 
ศาลประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณา เป็นคดีหมายเลขดำ อ.1199/2564 และนัดสอบคำให้การจำเลยในวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 เวลา 09.00 น.
 
27 พฤษภาคม 2564
 
นัดสอบคำให้การ
 
ไชยอมรซึ่งได้รับการประกันตัวเดินทางมาศาลตามนัดพร้อมกับมารดา และทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
 
ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้ไชยอมรฟัง และสอบถามจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ ไชยอมร แถลงให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี และแถลงต่อศาลว่าได้จัดเตรียมทนายความไว้พร้อมแล้ว

ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 28 มิถุนายน 2564 เวลา 09.00 น.
 
 
28 มิถุนายน 2564
 
ศาลอาญา รัชดา นัดตรวจพยานหลักฐาน ฝ่ายอัยการโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้นำสำนวนคดีอาญาทั้งของไชยอมรและธนพัฒน์ มารวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว เนื่องจากเห็นว่ามีพยานหลักฐานเป็นบุคคล และพยานเอกสารชุดเดียวกัน 
 
ในคดีของธนพัฒน์ ศาลยังได้มีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องซึ่งทนายความได้ยื่นขอให้ศาลใช้ดุลยพินิจมีคำสั่งโอนคดีไปพิจารณายังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เนื่องจากขณะเกิดเหตุตามข้อกล่าวหา ธนพัฒน์มีอายุ 18 ปี 9 วัน 
 
ศาลได้กล่าวกับทนายความว่า การยื่นคำร้องขอให้มีการโอนย้ายคดีไปพิจารณาที่ศาลเยาวชนฯ นั้น จะต้องมีการไต่สวนเกี่ยวกับสภาพร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา ว่าเข้าเกณฑ์เป็นเยาวชนหรือไม่ ซึ่งศาลสามารถมีดุลยพินิจได้เลยว่า จำเลยมีสภาพเป็นเยาวชนหรือไม่ โดยศาลเห็นว่าทนายความสามารถไปนำผลตรวจสภาพร่างกายและจิตใจจากโรงพยาบาลมายื่นประกอบได้เลย  เพื่อไม่ให้การพิจารณาคดีล่าช้า 
 
ทนายความได้แถลงขอนำตัวจำเลยไปตรวจที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ขณะที่ศาลเห็นว่าควรส่งไปตรวจที่โรงพยาบาลตุลาการเฉลิมพระเกียรติ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เนื่องจากเห็นว่ามีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับคดีในลักษณะนี้ ท้ายที่สุดศาลจึงมีคำสั่งให้นำจำเลยไปตรวจกับโรงพยาบาลทั้งสองที่ และจะต้องมีการนำแพทย์เข้าไต่สวนด้วย เพื่อให้ทราบแน่ชัดถึงสภาพร่างกายและจิตใจร่างกายของจำเลย
 
ศาลยังสอบถามเกี่ยวกับการศึกษา ที่อยู่ และน้ำหนักส่วนสูงของธนพัฒน์เอาไว้ และยังสอบถามอีกหลายครั้งว่าจะส่งจำเลยไปตรวจจริงหรือไม่ เพราะจะทำให้คดีหลักต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากต้องรอผลการตรวจ 
 
หลังจากสอบถามความยินยอมของคู่ความ ศาลจึงอนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาในนัดนี้ออกไปก่อน พร้อมกับนัดไต่สวนอีกครั้งในวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เวลา 9.00 น. 
 
สำหรับในคดีของ “แอมมี่” ไชยอมร ศาลได้มีคำสั่งเกี่ยวกับการขอรวมคดีว่า เนื่องจากคดีของธนพัฒน์อยู่ระหว่างไต่สวนคำร้องว่าต้องส่งสำนวนคดีดังกล่าวไปพิจารณาพิพากษาที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางหรือไม่ และยังไม่แน่ชัดว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด ฉะนั้นการรวมพิจารณาจึงไม่สะดวกและไม่รวดเร็วแก่การพิจารณาพิพากษาชั้นนี้ จึงยังไม่อนุญาตให้รวมสำนวน
 
จากนั้น คู่ความได้ตรวจพยานหลักฐานในคดี อัยการโจทก์ได้แถลงจะนำพยานเข้าสืบ รวมทั้งสิ้น 28 ปาก จึงแถลงขอเวลาสืบพยานทั้งหมด 7 นัด ส่วนจำเลยและทนายจำเลยแถลงขอต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง มีนำพยานเข้าสืบทั้งหมด 5 ปาก ขอใช้ระยะเวลาสืบพยานทั้งหมด 1 นัด  
 
ศาลได้เห็นควรกำหนดจำนวนนัดวันนัดตามคำขอของคู่ความ รวมนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งหมด 8 นัด ระหว่างวันที่ 1-4 และ 8-11 มีนาคม 2565 
 
1 มีนาคม 2565

นัดสืบพยานจำเลย
 
ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่า ไชยอมรติดโควิดโดยมีผลตรวจ atk มายืนยัน ส่วนธนพัฒน์จำเลยอีกคนหนึ่งในคดีไม่ได้ป่วยโควิด แต่อยู่ใกล้ชิดกับประชากรกลุ่มเสี่ยง จึงเตรียมตัวรออยู่ที่บ้าน อย่างไรก็ตามศาลเห็นว่าผลตรวจ atk ไม่ใช่ผลการตรวจอย่างเป็นทางการ จึงให้เลื่อนการสืบพยานในนัดนี้ออกไปก่อน และให้ไชยอมรหรือทนายความนำผลการตรวจอย่างเป็นทางการของแพทย์มายืนยันต่อศาลในนัดพิจารณาวันที่ 2 มีนาคม 2565
 
2 มีนาคม 2565
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
การสืบพยานในวันที่ 2 มีนาคมถูกเลื่อนออกไปหลังไชยอมรแจ้งศาลผ่านทนายความว่าเขายังไม่สามารถประสานหารถไปตรวจโควิดที่โรงพยาบาลได้ ศาลสั่งให้เลื่อนการพิจารณาคดีในนัดนี้ออกไปก่อนพร้อมสั่งให้ไชยอมรนำผลตรวจโควิดที่เป็นทางการมาส่งศาลภายในเวลา 11.00 น. ของวันที่ 3 มีนาคม 2565
 
3 มีนาคม 2565

นัดสืบพยานโจทก์
 
ไชยอมรเข้ารับการตรวจโควิดแบบ RT-PCR และพบว่าติดเชื้อโควิด19 ทนายจึงนำผลการตรวจพร้อมทั้งใบเสร็จรับเงินของทางโรงพยาบาลมาส่งต่อศาลเพื่อเป็นหลักฐานพร้อมยื่นคำร้องขอเลื่อนนัดพิจารณาคดี ศาลอนุญาตให้ยกเลิกนัดสืบพยานที่นัดไว้เดิม และกำหนดวันพิจารณาคดีนัดต่อไป 28 มีนาคม 2565
 

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา