การชุมนุมที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์

อัปเดตล่าสุด: 06/09/2565

ผู้ต้องหา

สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2563

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ราษฎร นัดชุมนุมที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐในการสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 และแสดงความไม่พอใจต่อการลงมติไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน” ในวันเดียวกัน
 
ในวันเกิดเหตุผู้ชุมนุมรวมตัวกันที่สี่แยกราชประสงค์ จากนั้นจึงเคลื่อนตัวมาที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ชุมนุมประกาศว่าจะมี “บิ๊กเซอร์ไพรซ์” ซึ่งได้แก่การยิงน้ำจากปืนฉีดน้ำและสาดสีเข้าไปในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในวันเกิดเหตุการชุมนุมยุติลงด้วยความเรียบร้อย
 
ต่อมาในวันที่ 18 ธันวาคม 2563 ตำรวจตั้งข้อกล่าวหาชูเกียรติและสิรภพด้วยข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ความผิดตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558, ความผิดตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีที่จำเลยทั้งสองขึ้นปราศรัยในการชุมนุมในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ชูเกียรติและสิรภพเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามนัดของพนักงานสอบสวนโดยให้การปฏิเสธและไม่ลงชื่อในบันทึกรับทราบข้อกล่าวหา หลังทั้งสองเข้ารายงานตัวตำรวจปล่อยตัวกลับโดยไม่นำตัวไปฝากขังที่ศาล 
 
ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 อัยการยื่นฟ้อง ชูเกียรติและสิรภพต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ สิรภพมาพบอัยการตามนัดแต่ชูเกียรติไม่ได้มาเนื่องจากเขาถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีอื่นตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2564 ในวันเดียวกันศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้สิรภพประกันตัว   
 
จากนั้นในวันที่ 9 พฤษภาคม 2564 ศาลอนุญาตให้สิรภพประกันตัว โดยที่เขาต้องยอมรับเงื่อนไขที่เป็นการจำกัดการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขา เช่น ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดคตวามเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะที่ชูเกียรติมาได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 2 มิถุนายน 2564 หลังถูกคุมขังเป็นเวลา 72 วัน โดยเขาต้องยอมรับเงื่อนไขในลักษณะเดียวกัน 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือ “ขนุน” ขณะเกิดเหตุเป็นนิสิตชั้นปีที่ 2 ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม “มศว คนรุ่นเปลี่ยน” 
 
ขนุนมีส่วนร่วมจัดกิจกรรมทางการเมืองหลายกิจกรรม เช่น กิจกรรม “สวนสวยจริง ๆ” ที่บริเวณรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และกิจกรรม “ชูกระดาษเปล่า” ที่สกายวอร์ค
 
ชูเกียรติ แสงวงศ์ มีชื่อเล่นว่านุ๊ก แต่เป็นที่รู้จักในการชุมนุมว่า "จัสติน" จากการที่เขามักแต่งตัวเลียนแบบนักร้องดัง "จัสติน บีเบอร์" เวลาไปร่วมการชุมนุมโดยสวมเสื้อครอปเอวลอย และกางเกงวอร์ม ชูเกียรติเป็นชาวจังหวัดสมุทรปราการ ประกอบอาชีพเป็นช่างสัก เขาเป็นหนึ่งในคนที่นัดหมายจัดการชุมนุมในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา, พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาพอสรุปได้ว่า วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 เวลาประมาณ 15.53 น. ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี เข้าชี้แจงให้ผู้ชุมนนุมทราบว่าสถานที่จัดการชุมนุมเป็นสถานที่สาธารณะ ผู้ชุมนุมไม่ได้แจ้งการชุมนุมล่วงหน้าเป็นเวลา 24 ชั่วโมง จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 2 (1) ของของพ.ร.บ.ชุมนุมฯสั่งให้ยุติการชุมนุม
 
จากนั้นเวลาประมาณ 16.19 น. สิรภพ ขึ้นปราศรัยบริเวณแยกราชประสงค์ เนื้อหาการปราศรัยพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ทำนองเป็นเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย สิ่งที่ตัวสิรภพและผู้ชุมนุมเรียกร้องเป็นเพียงการขอให้พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต่้รัฐธรรมนูญ แต่กลับมีการดำเนินคดีประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งกล่าวหาทำนองว่าพระมหากษัตริย์จะทำประเทศกลับไปปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 
 
จากนั้นเวลาประมาณ 16.25 น. ชูเกียรติ ขึ้นปราศรัยบริเวณแยกราชประสงค์ต่อจากสิรภพ โดยสรุปได้ว่าตัวเขาไม่เห็นด้วยกับพระราชดำรัสว่าประเทศไทยเป็นประเทศแห่งการประนีประนอม และกล่าวหาว่าพระมหากษัตริย์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด ชูเกียรติยังยืนยันถึงการรูปแบบการแต่งตัวเสื้อครอปเอวลอยของตนเองว่าจะมีใครมาฟ้องร้องไม่ได้ ชูเกียรติยังปราศรัยโจมตีทำนองว่าพระมหากษัตริย์ทรงประพฤติไม่เหมาะสม และกล่าวว่าให้เปลี่ยนมาใช้คำว่า “ทรงพระจัสติน” แทนคำว่า ทรงพระเจริญ
 
การกระทำของทั้งสองเข้าข่ายความผิดฐาน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนประองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ฐานจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ฐานไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคอันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
 

พฤติการณ์การจับกุม

ชูเกียรติและสิรภพ เข้ารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก พนักงานสอบสวนปล่อยตัวทั้งสองกลับหลังเข้ารับทราบข้อกล่าวหา

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.841/2564

ศาล

ศาลอาญากรุงเทพใต้

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
17 พฤศจิกายน 2563
 
บีบีซีไทย รายงานว่า ราษฎร นัดชุมนุม "ล้อมสภา ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ" ที่หน้าบริเวณรัฐสภา เพื่อติดตามการลงมติรับหรือไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของรัฐสภา ในวันนั้นตำรวจใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 55 คน ในจำนวนดังกล่าวมีหกคนที่มีบาดแผลจากการถูกยิง 
 
18 พฤศจิกายน 2563
 
บีบีซีไทย  รายงานว่า ราษฎร นัดชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการใช้กำลังสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 และแสดงความไม่พอใจต่อกรณีที่รัฐสภามีมติไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

เวลา 19.05 น. กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากนั้นเวลาประมาณ 20.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมประกาศว่าจะมี “บิ๊กเซอร์ไพรซ์” จากนั้นผู้ชุมนุมบางส่วนฉีดนำและสาดสีเข้าไปในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ระหว่างการชุมนุมสิรภพและชูเกียรติขึ้นกล่าวปราศรัยโดยคำปราศรัยบางตอนของทั้งสองมีการพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย
 
18 ธันวาคม 2563
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  รายงานว่า  สิรภพและชูเกียรติ เข้ารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวนสน.ลุมพินี ผู้ต้องหาทั้งสองให้การปฏิเสธ หลังเสร็จขั้นจากการรับทราบข้อกล่าวหาพนักงานสอบสวนปล่อยตัวทั้งสองกลับโดยไม่ได้นำตัวไปฝากขัง
 
สิรภพและชูเกียรติปฏิเสธที่จะลงชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาโดยสิรภพเขียนข้อความว่า “112 ก็แค่เลขที่ศักดินาใช้ปิดปากประชาชน” ลงไปในช่องลงลายมือชื่อบนเอกสาร
 
22 มีนาคม 2564
 
ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่าชูเกียรติถูกจับกุมตัวด้วยหมายจับศาลอาญาในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีที่เขานำกระดาษเขียนข้อความ"ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล" ไปติดที่พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบบริเวณสนามหลวง ชูเกียรติถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลอาญาในวันรุ่งขึ้นโดยที่ศาลไม่อนุญาตให้เขาประกันตัว
 
1 เมษายน 2564
 
นัดฟังคำสั่งอัยการ 
 
สิรภพพร้อมทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางไปที่สำนักงานอัยการสูงสุดอาคารกรุงเทพใต้เพื่อฟังคำสั่งคดีโดยมีประชาชนหกคนมารอให้กำลังใจขณะที่ชูเกียรติไม่ได้เดินทางมารายงานตัวกับอัยการเนื่องจากเขาถูกฝากขังในคดีมาตรา 112 คดีอื่น 
 
ในนัดนี้อัยการเลื่อนนัดสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 6 พฤษภาคม 2564
 
24 เมษายน 2564
 
ไทยพีบีเอสออนไลน์  รายงานว่า ชูเกียรติ ติดเชื้อไวรัสโควิด19 ระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำและถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์
 
6 พฤษภาคม 2564

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า อัยการยื่นฟ้องคดีชูเกียรติและสิรภพต่อศาลอาญากรุงเทพใต้แล้ว  โดยคำฟ้องของอัยการระบุว่า จำเลยทั้งสองร่วมชุมนุมที่บริเวณแยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 และร่วมกันปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงโดยที่เนื้อหาการปราศรัยเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ มีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย และอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพพระมหากษัตริย์
 
ในนัดนี้สิรภพมารายงานตัวต่ออัยการเพียงคนเดียวส่วนชูเกเกียรติ ถูกฝากขังอยู่ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2564 จากกรณีแปะกระดาษบนรูปกษัตริย์รัชกาลที่ 10 หน้าศาลฎีกาในการชุมนุมวันที่ 20 มีนาคม 2564

หลังอัยการฟ้องคดีสิรภพถูกออกหมายขัง ทนายของสิรภพยื่นคำร้องขอประกันตัวแต่ศาลไม่อนุญาต โดยให้เหตุผลว่า คดีนี้เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เป็นความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของประเทศ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ และคดีมีอัตราโทษจำคุกสูง กรณีจึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า หากปล่อยชั่วคราว จำเลยอาจก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ซ้ำอีก 
 
หลังศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว สิรภพถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ 
 
9 พฤษภาคม 2564
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดไต่สวนคำร้องประกันตัวของสิรภพ ก่อนเริ่มกระบวนพิจารณา เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งกับพยานและผู้ที่มาให้กำลังใจ สิรภพ ว่าอนุญาตให้เฉพาะทนายความในคดีเท่านั้นที่สามารถเข้าห้องพิจารณาคดีได้ ส่วนพยานที่รอขึ้นเบิกความในการไต่สวนทั้งหมดสี่คน ศาลจะอนุญาตให้ทยอยเข้าไปทีละคน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ โควิด-19
 
การไต่สวนคำร้องขอประกันของสิรภพมีพยานเข้าเบิกความรวมห้าปาก ได้แก่ สิรภพ ซึ่งเป็นจำเลย, บิดา, มารดา และอาจารย์จากภาควิชารัฐศาสตร์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อีกสองคน

สิรภพเบิกความว่าเขาเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อาศัยอยู่กับบิดาและมารดา ตัวเขามาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกและตามกำหนดนัดของพนักงานอัยการทุกนัด สำหรับข้อกล่าวหาในคดีนี้ เขาพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ขอให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและขอต่อสู้คดี  
 
สิรภพแถลงด้วยว่าดขายอมรับเงื่อนไขของศาล ที่ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลโดยเคร่งครัด 
 
สิรภพเบิกความด้วยว่า เขามีภาระทางการศึกษา ในช่วงที่ขึ้นเบิกดความเขาอยู่ในระหว่างการสอบปลายภาคตามกำหนดการของมหาวิทยาลัย โดยเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 มหาวิทยาลัยดำเนินการสอบไปแล้วทั้งหมดสามวิชา แต่เนื่องจากเขาไม่ได้รับการประกันตัว ทำให้ไม่สามารถเข้าสอบตามกำหนดการของทางมหาวิทยาลัยได้ สำหรับอีกสี่ รายวิชา มหาวิทยาลัยประกาศให้สอบในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 7-15 พฤษภาคม 64
 
อัยการแถลงไม่คัดค้านการขอประกันตัวของสิรภพ
 
พยานปากที่สองและสามได้แก่มารดาและบิดาของสิรภพขึ้นเบิกความตามลำดับในทำนองเดียวกันว่า สิรภพมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งโดยอาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้าน หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะสามารถควบคุมให้สิรภพปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลได้
 
พยานปากที่สี่คืออาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เบิกความว่า สิรภพเป็นคนตั้งใจเรียน มีความสุภาพนอบน้อม ในการดำเนินกิจกรรมในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ สิรภพมีการปรึกษาและหารือร่วมกันตลอด ไม่ได้มีความก้าวร้าว และไม่มีพฤติกรรมที่จะก่อให้เกิดความรุนแรง
 
ที่สำคัญ สิรภพมีภาระทางการศึกษาซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการสอบปลายภาคตามกำหนดการของมหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 7-21 พฤษภาคม 64
 
เนื่องจากสิรภพถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 64 ทำให้ไม่สามารถไปสอบแล้ว สามรายวิชา หากสิรภพได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะสามารถสอบย้อนหลังได้ เพื่อประโยชน์ต่อนิสิตในการเรียนการสอบ ซึ่งหลังจากที่พ้นกำหนดสอบไปแล้ว สิรภพต้องติดต่ออาจารย์ประจำวิชาให้สอบใหม่ และส่งเกรดประจำวิชาภายใน 30 วัน หากไม่ทำจะถูกปรับตก และต้องลงทะเบียนเรียนใหม่ จึงกระทบต่อสิทธิในการศึกษา
 
พยานปากที่ห้าเป็นอาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อีกคนหนึ่ง เบิกความว่า สิรภพเป็นนิสิตที่มีความประพฤติตัวดี ไม่มีพฤติการณ์รุนแรง มีภาระทางการศึกษาซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการสอบปลายภาคตามกำหนดการของมหาวิทยาลัย

หากสิรภพได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะสามารถสอบย้อนหลังได้ รวมถึงพยานจะคอยดูแล ควบคุม และตักเตือน ไม่ให้สิรภพร่วมกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันกษัตริย์ฯ
 
หลังการไต่สวน ศาลอาญากรุงเทพใต้อ่านคำสั่งอนุญาตให้สิรภพประกันตัว โดยกำหนดเงื่อนไข ห้ามจำเลยเข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล และให้มาศาลตามกำหนดนัดทุกนัด
 
2 มิถุนายน 2564

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  รายงานว่า เวลา 10.00 น. ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวชูเกียรติ ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้

คำร้องระบุเหตุผลว่า ชูเกียรติ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หากได้รับการปล่อยตัว จะไม่หลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน อีกทั้ง ชูเกียรติ ยังถือว่าเป็นผู้ถูกกล่าวหา และยังไม่ถูกพิพากษาว่ามีความผิด
 
อีกทั้งศาลอาญารัชดาได้มีคำสั่งไต่สวนคำร้องขอประกันในคดีมาตรา 112 และมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวชูเกียรติพร้อมกำหนดเงื่อนไข และแต่งตั้งให้ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ ให้เป็นผู้กำกับดูแล หากศาลจะกำหนดเงื่อนไข ขอให้ถือเอาคำให้การของชูเกียรติในคดีนี้เป็นการยืนยันว่า จะยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งศาลนี้เช่นกัน
 
นอกจากนี้ คำร้องยังยกเหตุผลขอปล่อยชั่วคราวเพื่อลดความเสี่ยงในการกลับมาติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของชูเกียรติ และเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ เนื่องจากก่อนหน้านี้ ชูเกียรติ เคยติดเชื้อไวรัสโคโรนาจนต้องเข้าทำการรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์มาแล้ว
 
ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ชูเกียรติ โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงินสด จํานวน 200,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขในลักษณะเดียวกันกับที่ศาลอาญาเคยกำหนดเงื่อนไขให้ชูเกียรติ  ได้แก่ ห้ามกระทำการหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่มีลักษณะเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือกระทำลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้องร้อง ไม่เข้าร่วมชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร และต้องมาศาลตามนัดที่กำหนดโดยเคร่งครัด ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้ ผศ.ดร. ชลิตา บัณฑุวงศ์ เป็นผู้กำกับดูแล โดยให้มีหน้าที่สอดส่องดูแลให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด หากพบพฤติกรรมอันควรสงสัยว่าเป็นการผิดเงื่อนไขให้รายงานศาลโดยเร็ว
 
5 กรกฎาคม 2564
 
นัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน
 
ทนายเยาวลักษณ์ อนุพันธ์ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลว่า ในนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐบานวันนี้ จำเลยทั้งสองยืนยันให้การปฏิเสธต่อศาล จากนั้นอัยการแถลงว่าสโจทก์ติดใจนำพยานเข้าสืบรวม 12 ปาก ส่วนฝ่ายจำเลยติดใจนำสืบพยานรวมห้าปาก ได้แก่ตัวจำเลยทั้งสองและพยานผู้เชี่ยวชาญสามปาก  
 
จากนั้นคู่ความกำหนดวันนัดสืบพยานร่วมกันเป็นวันที่ 18 – 21 และ 25 มกราคม 2565 ทนายเยาวลักษณ์ระบุด้วยว่าในวันนี้ศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่ได้มีการวางมาตรการใดๆเป็นพิเศษ ขณะที่พี่สาวของชูเกียรติและพ่อกับแม่ของสิรภพก็สามารถเข้าห้องพิจารณาคดีได้ 

18 มกราคม 2565
 
นัดสืบพยาน
 
ทนายของชูเกียรติแจ้งต่อศาลก่อนวันนัดสืบพยานว่ามีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด19 จึงต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัวและไม่สามารถมาศาลเพื่อสืบพยานตามที่กำหนดนัดไว้ได้จึงต้องขอให้ศาลยกเลิกวันนั้นสืบพยานที่กำหนดไว้เดิมและกำหนดวันนัดสืบพยานใหม่
 
เนื่องจากศาล อัยการ และทนายจำเลยไม่มีวันว่างต่อเนื่องตรงกัน สุดท้ายคู่ความจึงต้องกำหนดวันนัดพิจารณาคดีแบบไม่ต่อเนื่องกัน เป็นวันที่  6 และ 30 กันยายน และ 27 ธันวาคม 2565 และ
วันที่ 7 – 8 มีนาคม 2566 ในนัดนี้อัยการขอแก้ฟ้องในส่วนของการนับโทษจำเลยต่อจากคดีอื่นในกรณีที่ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดในคดีนี้ ทั้งชูเกียรติและสิรภพต่างยอมรับว่าตัวเองเป็นจำเลยในคดีอื่นตามที่ศาลอ่านให้ฟังจริง ศาลจึงอนุญาตให้อัยการแก้ฟ้องเพราะเห็นว่าการแก้ฟ้องของอัยการไม่ได้กระทบต่อสาระแห่งคดี
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา