คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

อัปเดตล่าสุด: 14/12/2564

ผู้ต้องหา

เอกชัย

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2563

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2563 กลุ่มคณะราษฎร 2563 จัดการชุมนุม “เพราะเราทุกคนคือราษฎร และคณะราษฎรยังไม่ตาย” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนเคลื่อนขบวนไปหน้าทำเนียบรัฐบาล

ระหว่างการชุมนุมมีแกนนำหมุนเวียนกันขึ้นปราศรัย ยืนยันสามข้อเรียกร้องได้แก่ นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องออกจากตำแหน่ง รัฐสภาต้องเปิดประชุมวิสามัญเพื่อพิจารณารับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะต้องยกร่างใหม่ทั้งฉบับ และ ต้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้กลับมาอยู่ใต้ระบอบประชาธิปไตย
 
ระหว่างการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล มีขบวนเสด็จของสมเด็จพระราชินีขับเข้ามาในพื้นที่การชุมนุมโดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า มีเพียงแถวเจ้าหน้าที่ตำรวจที่วิ่งกระหนาบรถพระที่นั่งเพื่อถวายอารักขา แม้ระหว่างที่ขบวนรถพระที่นั่งเคลื่อนผ่านผู้ชุมนุมจะเคลื่อนไปได้อย่างช้าๆ และมีผู้ชุมนุมบางคนชูสัญลักษณ์สามนิ้ว แต่ไม่มีรายงานการขว้างปาสิ่งของ หรือมีบุคคลใดเข้าไปขัดขวางให้ขบวนต้องหยุด รถยนต์พระที่นั่งสามารถเดินทางต่อไปได้
 
แม้จะไม่มีเหตุร้ายใดๆแต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ก็อ้างกรณีขบวนเสด็จเป็นเหตุประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานครและมีการเคลื่อนกำลังบีบให้ผู็ชุมนุมยุติการชุมนุมช่วงเช้ามืดวันที่ 15 ตุลาคม 2563
 
ในเวลาต่อมาศาลอาญาออกหมายจับผู้ต้องหาสามคนได้แก่เอกชัย สุรนาถ และบุญเกื้อหนุน ในความผิดฐานประทุษร้ายต่อเสรีภาพของสมเด็จพระราชินี 

เช้าวันที่ 16 ตุลาคม 2563 เอกชัยถูกจับกุมบนถนนลาดพร้าวระหว่างที่เจ้าตัวกำลังเดินทางไปมอบตัวที่สน.ดุสิต ขณะที่บุญเกื้อหนุนเดินทางไปมอบตัวในเช้าวันเดียวกันด้วยตัวเอง ขณะที่สุรนาถถูกจับกุมตัวที่ที่พักช่วงเช้าวันที่ 21 ตุลาคม 2563 แม้เจ้าตัวจะประสานพนักงานสอบสวนสน.ดุสิตว่าจะเข้ามอบตัวแล้วก็ตาม 
 
ในชั้นสอบสวน บุญเกื้อหนุนได้รับการประกันตัวแต่สุรนาถและเอกชัยถูกฝากขังที่เรือนจำโดยไม่ได้รับการประกันตัว เอกชัยถูกฝากขังตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2563 ส่วนสุรนาถถูกฝากขังตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2563 ทั้งสองมาได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 หลังศาลอาญายกคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวน  
 
ในเวลาต่อมาพนักงานสอบสวนเรียกตัวบุคคลอีกสองคนมารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมโโยที่ทั้งสองไม่ถูกฝากขังหลังเข้ารายงานตัว

วันที่ 31 มีนาคม 2564 อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีต่อศาลอาญา ในชั้นพิจารณาคดีจำเลยทั้งหมดได้รับการประกันตัว
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

เอกชัย หงส์กังวาน เคยถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการจำหน่ายซีดีสารคดีข่าวของสำนักข่าวเอบีซีของออสเตรเลีย กับเอกสารวิกิลีกส์และถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 2 ปี 8เดือน เขาถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2556 ที่ศาลมีคำพิพากษา จนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2558 หลังรับโทษครบตามคำพิพากษาศาลฎีกา 

หลังพ้นโทษเอกชัยยังคงไปร่วมชุมนุมและแสดงความเห็นทางการเมืองบนโลกออนไลน์เป็นระยะ จนถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และถูกดำเนินคดีจากการไปทำกิจกรรมเปิดเพลงประเทศกูมีที่หน้ากองทัพบก

การแสดงออกทางการเมืองยังเป็นเหตุให้เขาถูกทำร้ายร่างกายอีกเจ็ดครั้งและรถยนต์ที่จอดไว้หน้าบ้านถูกเผาสองครั้งจนได้รับความเสียหายถึงขั้นใช้การไม่ได้ 

บุญเกื้อหนุน เป้าทอง หรือ ฟรานซิสเป็นนักศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหิดล และเคยเป็นนักกิจกรรมภาคีนักศึกษาศาลายา

สุรนาถ แป้นประเสริฐ หรือ ตัน ทำงานกับ Active Youth เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำงานรณรงค์ป้องกันเยาวชนจากยาเสพติด

สุรนาถผ่านการทำงานพัฒนาชุมชนหลายพื้นที่ ทำงานร่วมกับกลุ่ม ‘ดินสอสี’ ในการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมชุมชนที่มีความเสี่ยงให้กลายเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้

"หนึ่ง" และ "สอง" จำเลยร่วมอีกสองคนขอสงวนตัวตน

 

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

พฤติการณ์การจับกุม

กรณีเอกชัย

วันที่ 15 ตุลาคม 2563 ช่วงเย็น เอกชัยได้รับแจ้งจากคนรู้จักทางโทรศัพท์ว่าเขาถูกออกหมายจับในความผิดฐานประทุศร้ายต่อเสรีภาพของสมเด็จพระราชินี ในเวลาต่อมาเอกชัยประสานพนักงานสอบสวนสน.ดุสิตแจ้งว่าเขาจะเข้ามอบตัวในช่วงเช้าวันที่ 16 ตุลาคม 2564 

เช้าวันที่ 16 ตุลาคม 2564 เอกชัยโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าในเวลาประมาณ 7.56 น. ว่า 9 โมงขี้เกียจรอไปสน.ดุสิตตอนนี้เลย สมยศ พฤกษาเกษมสุขซึ่งเป็นเพื่อนของเอกชัยขับรถมารับเอกชัยที่บ้านเพื่อพาไปสน.ดุสิต แต่เมื่อรถขับมาถึงบริเวณห้างบิ๊กซีลาดพร้าวก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ลาดพร้าวนำรถมาจอดขวางรถของสมยศที่เอกชัยโดยสารมาพร้อมแสดงตัวจับกุมเขา จากนั้นเอกชัยถูกนำตัวไปที่สน.ลาดพร้าวเพื่อทำบันทึกการจับกุมโดยสมยศตามไป

สมยศโพสต์ภาพและข้อความเกี่ยวกับการจับกุมเอกชัยในเวลาต่อมาว่า

"มารับเอกชัย หงส์กังวานเพื่อส่งตัวไปสน.ดุสิตแต่เดินทางมาถึงช่วงอิมพีเรียล ตร. เข้าจับกุมตัวเอกชัยส่งสน.ลาดพร้าว 8.30 น.ข้อหาประทุษร้ายต่อเสรีภาพกษัตริย์หรือราชินีมีโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุก 16ปี-ตลอดชีวิต เหตุเกิดเมื่อ14 ตค.63 เวลาราวบ่ายสองโมงหน้าทำเนียบรัฐบาล ตร.จะส่งตัวไปที่ตชด.ภาค1 คลอง5 วันนี้"

Ekkachai and Somyot

 

ตัวสมยศเองระหว่างที่อยู่สน.ลาดพร้าวก็มีเจ้าหน้าที่นำหมายจับศาลอาญามาควบคุมตัวเขาในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 กรณีร่วมการชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎรด้วยเช่นกัน 

เอกชัยถูกพาตัวไปสอบสวนและควบคุมที่กองบังคับการตำรวจนครบาลภาค 1 เพื่อทำการสอบสวนจากนั้นวันรุ่งขึ้นเขาถูกนำตัวไปฝากขังกับศาลอาญา เนื่องจากวันที่ 17 ตุลาคม เอกชัยเตรียมหลักทรัพย์ไปไม่พอเขาจึงถูกคุมขังที่เรือนจำหลังศาลอนุญาตให้ฝากขัง ต่อมาวันที่ 19 ตุลาคม เอกชัยใช้สลากออมสินของตัวเองมูลค่า 1 ล้านบาทเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวแต่ศาลไม่อนุญาตให้เหตุผลว่าพฤติการณ์แห่งคดีร้ายแรง 

เอกชัยถูกคุมขังเรื่อยมาจนกระทั่งศาลอาญายกคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 รวมระยะเวลาถูกคุมขัง 17 วัน

กรณีบุญเกื้อหนุน

บุญเกื้อหนุนทราบว่าเขาเขาถูกออกหมายจับตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2563 หลังจากปรึกษากับครอบครัวและทนายความแล้วเขาตัดสินใจเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนสน.ดุสิตทันทีในวันรุ่งขึ้น หลังเข้าพบพนักงานสอบสวนบุญเกื้อหนุนถูกส่งไปควบคุมเพื่อทำการสอบสวนที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาคหนึ่งซึ่งเป็นสถานที่ควบคุมตัวผู้ถูกจับกุมจากการร่วมการชุมนุมทางการเมืองในช่วงเวลานั้นหนึ่งคืน

วันรุ่งขึ้นบุญเกื้อหนุนถูกพาตัวไปศาลอาญา พนักงานสอบสวนขออำนาจศาลฝากขังบุญเกื้อหนุนซึ่งศาลอนุญาตแต่ก็ให้เขาประกันตัวโดยต้องวางหลักทรัพย์ 200000 บาท

กรณีสุรนาถ

ศาลอาญาอนุมัติหมายจับสุรนาถในวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ในวันที่ 21 ตุลาคม 2563 เจ้าหน้าที่นำกำลังไปจับกุมสุรนาถตั้งแต่เช้าแม้เจ้าตัวจะระบุว่าได้ประสานพนักงานสอบสวนสน.ดุสิตเพื่อเข้ารายงานตัวแสดงความบริสุทธิใจแล้วก็ตาม

หลังการสอบสวนสุรนาถถูกนำตัวไปควบคุมที่กองบังคับการตำรวจตะเวนชายแดนภาค 1 ที่คลองหลวง ที่เดียวกับที่เอกชัยและบุญเกื้อหนุนเคยถูกควบคุมตัวมาก่อน จากนั้นในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 สุรนาถถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลอาญา ศาลอนุญาตให้ฝากขังและยกคำร้องประกันตัวของสุรนาถแม้เจ้าตัวจะวางเงินประกันเป็นเงิน 1.3 ล้านบาท สุรนาถมาได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 2 พฤศจิกายนพร้อมกับเอกชัยเมื่อศาลยกคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวน รวมแล้วสุรนาถถูกคุมขังเป็นเวลา 12 วัน

กรณี "หนึ่ง" กับ "สอง" ไม่ทราบข้อมูลแน่ชัดว่าทั้งสองได้รับหมายเรียกและเข้ารายงานตัววันใด ทราบเพียงเป็นช่วงระหว่างเดือนมกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 ซึ่วเป็นวันที่อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด  "หนึ่ง" และ "สอง" ไม่ถูกฝากขัง หลังทั้งสองเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกก็ได้รับการปล่อยตัวกลับทันที

 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
7 ตุลาคม 2563
 
บีบีซีไทยรายงานว่า "เยาวชนปลดแอก" และ "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ประกาศจัดการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม 25643 ให้เหตุผลที่ที่เลือกจัดการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคมว่า เพราะเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ขบวนการนักศึกษาและประชาชนต่อสู้กับอำนาจเผด็จการทรราช ประกอบกับเห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นไม่สามารถรอต่อไปได้แล้วเพราะอาจเกิดเหตุการณ์ที่ไม่อาจแก้ไขได้
 
8 ตุลาคม 2563
 
สยามรัฐออนไลน์รายงานว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีหนังสือด่วนแจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินทรงตั้งเปรียญธรรม 9 ประโยค และเปรียญธรรม 6 ประโยค แก่พระภิกษุสามเณรที่สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค และเปรียญธรรม 6 ประโยค ประจำปี 2563 ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 เวลา 17.00 น. ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยหนังสือด่วนดังกล่าวลงวันที่ 6 ตุลาคม 2563 โดยที่เดือนและพ.ศ.เป็นตัวพิมพ์ แต่ตัวเลขวันเขียนด้วยปากกา
 
14 ตุลาคม 2564

คณะราษฎรรวมตัวที่ถนนราชดำเนินตั้งแต่ช่วงเช้าและมีการชุมนุมต่อเนื่องทั้งวัน โดยในพื้นที่ใกล้เคียงมีประชาชนที่ประสงค์จะเฝ้ารับเสด็จสวมเสื้อสีเหลืองมารอรับเสด็จบนทางเท้าถนนราชดำเนินฝั่งอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาด้วย
 
ผู้ชุมนุมที่รวมตัวบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งแต่ช่วงเช้าเริ่มเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลในเวลาประมาณ 14.30 น. โดยผู้ชุมนุมใช้เส้นทางถนนราชดำเนินกลางมุ่งหน้าสะพานผ่านฟ้า จากนั้นเคลื่อนไปตามถนนนครสวรรค์ ก่อนไปเลีี้ยวซ้ายที่แยกนางเลิ้งเพื่อมุ่งหน้าไปทำเนียบรัฐบาล
 
ในช่วงเวลาเย็นสมเด็จพระราชินีมีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปทรงบำเพ็ญกุศุลถวายผ้าพระกฐินประจำปี 2563 ที่วัดราชโอสาราม โดยขบวนรถพระทีนั่งจะใช้เส้นทางจากพระที่นั่งอัมพรสถาน ผ่านลานพระราชวังดุสิต เลี้ยวซ้ายผ่านถนนพิษณุโลกเพื่อไปขึ้นทางด่วนยมราช 
 
ในเวลาประมาณ 16.30 น. ขณะที่ขบวนของผู้ชุมนุมยังเคลื่อนมาไม่ถึงแยกนางเลิ้ง มีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งแยกตัวจากขบวนมารวมตัวบนถนนพิษณุโลกใกล้ทำเนียบรัฐบาลและมีผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่งทยอยมาสมทบจนผู้ชุมนุมในบริเวณดังกล่าวมีจำนวนมากขึ้น
 
เมื่อขบวนรถยนต์พระที่นั่งของสมเด็จพระราชินีซึ่งมีสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติโดยเสด็จด้วย เคลื่อนมาถึงบริเวณถนนพิษณุโลก พบว่ามีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนกระจายตัวอยู่บนผิวจราจร รถในขบวนเสด็จจึงชะลอความเร็วลง และมีการประสานให้เปิดเส้นทางเพื่อให้ขบวนเสด็จพระราชดำเนินสามารถเคลื่อนตัวต่อไปได้ นอกจากนั้นก็มีการประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง ขอให้ขบวนเสด็จพระราชดำเนินได้ผ่านไป

จากนั้นขบวนรถจึงเคลื่อนผ่านหน้าทำเนียบรัฐบาล ระหว่างนั้นก็มีผู้ชุมนุมบางส่วนอยู่บนถนนพิษณุโลก เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจึงตั้งแถวขนาบขบวนรถยนต์พระที่นั่งทั้งสองข้างเพื่อถวายความปลอดภัย จำเลยทั้งห้าคนอยู่ในบริเวณใกล้เคียง 

 
 
28 มกราคม 2564

เวลา 10.00 น. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดุสิตนัดหมายให้ผู้ต้องหาทั้งห้าคนมาพบที่สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อส่งตัวฟ้อง หลังตำรวจมีความเห็นควรให้สั่งฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 โดยอัยการเจ้าของสำนวนนัดหมายให้ผู้ต้องหาทั้งห้าคนมารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564
 
31 มีนาคม 2564

เวลา 10.00 น. ผู้ต้องหาทั้งห้าคนทยอยเดินทางมาถึงสำนักงานอัยการสูงสุดโดยมีผู้มารอให้กำลังใจไม่น้อยกว่า 20 คน
 
ต่อมาในเวลา 11.07 น. อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีและเวลาจากนั้นจึงพาผู้ต้องหาทั้งห้าคนเดินเท้าไปที่ศาลอาญาเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟ้องคดี ตามรายงานของบีบีซีไทย สุรนาถและเอกชัยวางเงินสดเป็นหลักประกาคนคนละ 300,000 บาท ส่วนบุญเกื้อหนุนและจำเลยอีกสองคน วางเงินคนละ 200,000 บาท ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่าจำเลยทั้งห้าได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในช่วงเย็นวันเดียวกันโดยไม่มีการตั้งเงื่อนไขเพิ่มเติม

13 ธันวาคม 2564
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน​
 
ในวันนี้ศาลอาญาไม่ได้วางมาตรการรักษาความปลอดภัย​ใดๆเป็นพิเศษ ไม่มีการตั้งจุดคัดกรองที่หน้าธนาคารกรุงไทยสาขาศาลอาญาเหมือนเวลาที่ศาลมีนัดพิจารณาคดีการเมืองคดีอื่นๆ และที่หน้าห้องพิจารณาคดีก็ไม่มีการตั้งจุดคัดกรอง ผู้เข้าห้องพิจารณาไม่ต้องฝากอุปกรณ์​สื่อสารและไม่มีการจัดกำลังตำรวจศาลมารักษาความปลอดภัยเป็นกรณีพิเศษ
 
เอกชัย สุรนาถ และจำเลยผู้ขอสงวนนามอีกสองคนเดินทางมาถึงศาลตั้งแต่ก่อนเวลา 9.00 น. ส่วนบุญเกื้อหนุนเดินทางมาถึงในเวลาประมาณ 10.00 น.
 
ศาลเริ่มกระบวนพิจารณา​คดีนี้ในเวลาประมาณ 10.15 น. เนื่องจากก่อนหน้านั้นศาลพิจารณาสำนวนคดีอื่นประกอบกับจำเลยเพิ่งมาถึงศาลครบในเวลา 10.00 น.
 
อัยการนำแฟ้มคดีส่งต่อศาล ศาลเรียกให้ทนายจำเลยนำสำนวนคดีของฝ่ายอัยการไปตรวจดู จากนั้นศาลถามจำเลยทั้งห้าคนว่าได้รับสำเนาคำฟ้องแล้วและได้อ่านและเข้าใจข้อกล่าวหาที่ถูกฟ้องแล้วใช่หรือไม่ศาลจะได้ไม่ต้องอ่านฟ้องให้จำเลยฟังอีกครั้ง จำเลยทั้งห้าแถลงว่าได้รับคำฟ้อง ได้อ่านและทำความเข้าใจฟ้องแล้ว ทั้งหมดยืนยันให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำการประทุษร้ายต่ออิสรภาพของสมเด็จพระราชินี
 
จากนั้นอัยการแถลงว่ามีพยานประสงค์จะนำเข้าสืบรวม 51 ปาก จากการสอบถามทนายความเพิ่มเติมในภายหลังทราบว่าพยานของโจทก์ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่อยู่ในที่เกิดเหตุ พยานที่ตรวจพิสูจน์วิดีโอบันทึกเหตุการณ์ซึ่งอยู่ในแฟลชไดรฟ์และแผ่นซีดีบันทึกเหตุการณ์ 
 
อัยการแถลงว่าหากฝ่ายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงในพยานโจทก์ปากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่ตรวจพิสูจน์แผ่นซีดีและแฟลชไดรฟ์บันทึกเหตุการณ์ อัยการก็ไม่ติดใจจะสืบพยานปากดังกล่าว แต่เนื่องจากทนายจำเลยและจำเลยยังไม่มีโอกาสดูแผ่นซีดีและแฟลชไดร์ฟว่ามีข้อมูลใดบันทึกไว้บ้างทนายจำเลยจึงแถลงต่อศาลว่าไม่อาจรับข้อเท็จจริงใดๆได้
 
เนื่องจากพยานฝ่ายโจทก์มีจำนวนมากและโจทก์ประมาณการณ์ว่าหนึ่งนัดน่าจะสืบพยานได้สามปาก จึงขออนุญาตศาลใช้เวลาสืบพยาน 13 นัด ศาลอนุญาต จากนั้นฝ่ายจำเลยขออนุญาตศาลนำส่งพยานเอกสาร พร้อมแจ้งศาลว่า
 
ฝ่ายจำเลยประสงค์จะสืบพยานรวม 11 ปาก ได้แก่ตัวจำเลยทั้งห้าคน พยานผู้เห็นเหตุการณ์รวมสามคนเป็นผู้สื่อข่าวหนึ่งคนและเพื่อนของจำเลยอีกสองคน นอกจากนั้นก็มีชลธิชาหรือลูกเกดซึ่งเป็นแกนนำผู้ชุมนุมในวันเกิดเหตุที่ทำหน้าที่ประสานงานกับตำรวจ พยานอีกสองปากเป็นส.ส.พรรคก้าวไกล คนหนึ่งเป็นคนที่เคยอภิปรายกรณีขบวนเสด็จระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ส่วนอีกหนึ่งปากเป็นผู้ที่จะมาเบิกความเกี่ยวกับการจัดขบวนเสด็จ
 
ทนายจำเลยขอใช้เวลาสืบพยานสามนัด ศาลอนุญาตและสั่งให้คู่ความไปนัดวันสืบพยานกันเอง ได้เป็นวันที่ 16 – 18, 23 – 25 และ 30 พฤศจิกายน  1 – 2, ธันวาคม 2565 18 – 20, 25 – 27 และ 31 มกราคม 2566

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

นพวรรณ: เบนโตะ

ดา ตอร์ปิโด