สนท.ชุมนุม #saveวันเฉลิม

อัปเดตล่าสุด: 30/08/2564

ผู้ต้องหา

พริษฐ์ ชิวารักษ์

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2563

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) นัดหมายชุมนุม “ทวงความเป็นธรรมให้วันเฉลิมและผู้ลี้ภัยทุกคน #saveวันเฉลิม” ในวันที่ 5 มิถุนายน 2563 เวลา 17.00 น. ที่สกายวอล์กหอศิลป์กรุงเทพ

การชุมนุมครั้งนี้เกิดขึ้นหลังในวันที่ 4 มิถุนายน 2564 มีรายงานกรณีที่วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ นักเคลื่อนไหวชาวไทยที่ลี้ภัยในกัมพูชาถูกอุ้มตัวขึ้นรถตู้โดยบุคคลไม่ทราบฝ่าย
 
ในการจัดกิจกรรมทางผู้จัดเตรียมอุปกรณ์วัดไข้ น้ำยาล้างมือ พร้อมทั้งพยายามกำหนดการยืนให้มีการรักษาระยะห่าง

กิจกรรมช่วงแรก มีการอ่านรายชื่อผู้สูญหาย และสลับการปราศรัย กิจกรรมดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เศษ ผู้จัดจึงเชิญชวนผู้ร่วมงานวางดอกไม้เพื่อรำลึกถึงผู้ลี้ภัยและผู้สูญหาย ผู้ชุมนุมยังร่วมกันตะโกนข้อคตวาม “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” และ “เซฟวันเฉลิม”
 
ในวันเกิดเหตุ กิจกรรมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยแต่ในภายหลังมีนักกิจกรรมสามคนได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิ้น จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ หรืออั๋ว และ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ถูกออกหมายเรียกหมายจากสน.ปทุมวัน ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ก่อนที่อัยการจะมีความเห็นสั่งฟ้องคดีต่อศาลแขวงปทุมวันในวันที่ 17 มิถุนายน 2564 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

พริษฐ์ หรือเพนกวิน เป็นชาวกรุงเทพฯ โดยกำเนิด ใช้ชีวิตวัยเด็กที่จังหวัดลำปาง พริษฐ์เป็นอดีตเลขาธิการของกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ซึ่งทำงานรณรงค์เพื่อการปฏิรูปการศึกษาไทยให้มีความก้าวหน้า เป็นผู้ก่อตั้งสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) และเป็นแกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ขณะเกิดเหตุคดีนี้พริษฐ์ศึกษาระดับอุดมศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังคงทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 พริษฐ์ถูกส่งตัวไปคุมขังในเรือนจำพิเศษหลังอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องเขาในด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการปราศรัยในการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ระหว่างถูกคุมขังพริษฐ์เคยประกาศอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวโดยเขาอดอาหารเป็นเวลา 58 วัน กระทั่งได้รับการประกันตัวในวันที่ 11 พฤษภาคม 2564
 
ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง เป็นนักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโฆษกสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นหนึ่งในแกนนำการชุมนุม และแกนนำคณะราษฎร รวมถึงเป็นผู้ดันเพดานสูงสุดด้วยการอ่าน 10 ข้อเรียกร้อง ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ข้อหา / คำสั่ง

พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 จำเลยทั้งสองกับพวกที่ยังหลบหนีอยู่ร่วมกันโพสต์ข้อความและภาพบนเฟซบุ๊กเพจ สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษา แห่งประเทศไทย – Student Union Of Thailand ว่า

“ทวงความเป็นธรรมให้วันเฉลิมและผู้ลี้ภัยทุกคน #save วันเฉลิม, วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ คือผู้ลี้ภัยทางการเมืองคนล่าสุดที่ถูกอุ้มหายไปเมื่อวานนี้ เขาไม่ใช่ผู้ลี้ภัยคนแรกที่ตกเป็นเหยื่อการอุ้มหายและยังมีผู้ลี้ภัยอีกหลายคนที่ต้องใช้ชีวิตภายใต้ชะตากรรมที่ไม่แน่นอน

ผู้ลี้ภัยทุกคนเป็นคนไทยและมีสิทธิ์ได้รับความเป็นธรรมเหมือนทุกคน เราจึงขอเชิญชวนทุกคนออกมาทวงความเป็นธรรมให้วันเฉลิมและผู้ลี้ภัยทุกคน วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน 2563 เวลา 17.00-18.00 น. ณ skywalk หอศิลป์

โปรดเตรียมดอกไม้เพื่อร่วมทวงความเป็นธรรมให้ผู้ลี้ภัยทางการเมืองทุกคน (มีมาตรการความปลอดภัยรองรับภายใต้โรคระบาดโควิด 19) #SUT #สนท”
 
ต่อมา ในวันที่ 5 มิถุนายน 2563 เวลา 17.00 ถึง 18.00 น. จำเลยทั้งสองกับพวก ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมวางแผ่นป้ายและถ่ายภาพ และกล่าวปราศรัยเกี่ยวกับการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์และผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ โดยเป็นการเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้บุคคลตามภาพถ่ายที่ถูกวางไว้ดังกล่าว มีการชูป้ายข้อความและรูปนักกิจกรรม พร้อมตะโกน เซฟวันเฉลิม เชิญชวนผู้ร่วมชุมนุมวางดอกไม้แสดงความอาลัย

กิจกรรมที่จำเลยกับพวกร่วมกันจัดมีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมกิจกรรม รวมถึงมีนักข่าว สื่อมวลชน ร่วมสังเกตการณ์จำนวนมาก ในลักษณะมั่วสุมประชุมกันและมีโอกาสสัมผัสติดต่อกันได้ง่าย อันเป็นการจัดกิจกรรมไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
ทั้งจำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันหรือเจ้าพนักงานอื่นที่มีอำนาจอนุญาตตามกฎหมาย ไม่มีการเว้นระยะห่าง ระหว่างผู้ร่วมทำกิจกรรม นักข่าว และสื่อมวลชน อย่างน้อย 1 เมตร ไม่มีการจัดให้มีเจลแอลกอฮอล์ ทำความสะอาดและวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าร่วม เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรค และใช้ระยะเวลาทำกิจกรรมเป็นเวลานาน
 
เฉพาะกรณีจำเลยที่สอง เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ร.ต.อ.ปรีชา เข็มศิริ พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้ขอให้จำเลยที่ 2 พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติการต้องโทษคดีอาญา ซึ่งเป็นขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐานในการทำสำนวนการสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 132 แต่จำเลยที่ 2 กลับฝ่าฝืนคำสั่งของพนักงานสอบสวน และไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ”
 

พฤติการณ์การจับกุม

กรณีปนัสยา

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อ้างอิงรายงานจากทวิตเตอร์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า รายงานว่า ในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 พนักงานสอบสวนสน.ปทุมวัน เข้าพบปนัสยาที่เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระรามเก้าระหว่าง

กรณีจุฑาทิพย์ และพริษฐ์ ไม่มีการจับกุมจับ

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลแขวงปทุมวัน

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
5 มิถุนายน 2563 
 
เวลา 00.55 น. เฟซบุ๊กเพจ สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษา แห่งประเทศไทย – Student Union Of Thailand โพสต์ภาพพร้อมข้อความประกาศจัดชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ในวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ตั้งแต่ 17.00 น. เป็นต้นไป โดยมีรายละเอียดดังนี้

102717919_2020145691450412_4661026134572400640_n

“ทวงความเป็นธรรมให้วันเฉลิมและผู้ลี้ภัยทุกคน #save วันเฉลิม, วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ คือผู้ลี้ภัยทางการเมืองคนล่าสุดที่ถูกอุ้มหายไปเมื่อวานนี้ เขาไม่ใช่ผู้ลี้ภัยคนแรกที่ตกเป็นเหยื่อการอุ้มหายและยังมีผู้ลี้ภัยอีกหลายคนที่ต้องใช้ชีวิตภายใต้ชะตากรรมที่ไม่แน่นอน

ผู้ลี้ภัยทุกคนเป็นคนไทยและมีสิทธิ์ได้รับความเป็นธรรมเหมือนทุกคน เราจึงขอเชิญชวนทุกคนออกมาทวงความเป็นธรรมให้วันเฉลิมและผู้ลี้ภัยทุกคน

วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน 2563 เวลา 17.00-18.00 น. ณ skywalk หอศิลป์

โปรดเตรียมดอกไม้เพื่อร่วมทวงความเป็นธรรมให้ผู้ลี้ภัยทางการเมืองทุกคน (มีมาตรการความปลอดภัยรองรับภายใต้โรคระบาดโควิด 19) #SUT #สนท”
 
กิจกรรมดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยท่ามกลางการจับตาของเจ้าหน้าที่ ระหว่างการชุมนุมผู้จัดการชุมนุมบางส่วนนำเจลล้างมือเดินบีบให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมและมีผู้ร่วมชุมนุมบางส่วนขอวัดไข้เจ้าหน้าที่ที่จะเข้ามาอ่านข้อกำหนดห้ามการชุมนุมที่ออกตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯให้ผู้ชุมนุมฟังด้วย

นอกจากจะมีการปราศรัยและการอ่านชื่อผู้ที่ถูกอุ้มหายด้วยเหตุทางการเมืองแล้ว ผู้จัดการชุมนุมยังนำรูปภาพของคนที่เคยถูกอุอมหายมาถือและเชิญชวนคนร่วมชุมนุมให้วางดอกไม้ที่รูปของบุคคลเหล่านั้นด้วย รวมทั้งมีการนั่งชันเข่าแสดงสัญลักษณ์คล้ายการชุมนุม Black Live Matter ด้วย ในวันเกิดเหตุการชุมนุมยุติลงด้วยความเรียบร้อยโดยไม่มีบุคคลใดถูกจับกุมตัว
 
20 มิถุนายน 2563

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า จุฑาทิพย์ และพริษฐ์ ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาจาก สน.ปทุมวัน จากการร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 โดยหมายเรียกผู้ต้องหาซึ่งระบุชื่อของปนัสยาเป็นผู้ต้องหาคนที่หนึ่ง ระบุข้อกล่าวหาว่า

ผู้ต้องหาทั้งสามร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย” ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หมายเรียกดังกล่าวระบุให้ผู้ต้องหาทั้งหมดเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 
 
30 มิถุนายน 2563 
 
ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า พริษฐ์และปนัสยาซึ่งถูกออกหมายเรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีนี้ เดินทางมาที่หน้าสน.ปทุมวันในเวลาประมาณ 10.00 น. ทั้งสองทำกิจกรรมอารยขัดขืนฉีกหมายเรียกที่หน้าสน.ปทุมวันเมื่อเวลา 10.00 น. ที่หน้า สน.ปทุมวัน พริษฐ์ และปนัสยา เดินทางมาที่หน้าโรงพักเพื่อจัดกิจกรรมอารยะขัดขืน โดยทั้งสองไม่เข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวน แต่ได้ฉีกสำเนาหมายเรียกและอ่านแถลงการณ์คัดค้านการขยายอายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินก่อนเดินทางกลับ
 
17 มิถุนายน 2564
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องพริษฐ์ จุฑาทิพย์ และปนัสยา เป็นจำเลยในคดีนี้ แต่ในวันส่งตัวฟ้องปนัสยายังไม่ได้รับหมายนัดจึงไม่ได้เดินทางมาด้วย 
 
ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์และจุฑาทิพย์โดยให้เหตุผลว่า พฤติการณ์แห่งคดีตามฟ้องเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

สถานที่จัดการการชุมนุมมีอากาศถ่ายเท ไม่มีความแออัด ไม่ใช่พฤติการณ์ที่เป็นการยุยง ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และกิจกรรมก็มีมาตรการให้ผู้เข้าร่วมสวมใส่หน้ากากอนามัย 
 
คำร้องระบุด้วยว่า คำร้องระบุอีกว่า จำเลยทั้งสองยังคงเป็นนักศึกษาหากไม่ได้รับการประกันตัวจะกระทบต่อการเรียน และในขณะที่ยื่นคำร้องก็มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด19 ในเรือนจำทั่วประเทศ หากจำเลยถูกคุมขัง อาจกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตของจำเลย
 
จำเลยทั้งสองขอให้ศาลแต่งตั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็น ผู้กำกับดูแล ตามมาตรการของศาลในการปล่อยชั่วคราว โดยให้อาจารย์อดิศร จันทรสุข เป็นผู้กำกับดูแลของพริษฐ์ และอาจารย์อรอนงค์ ทิพย์พิมล เป็นผู้กำกับดูแลของจุฑาทิพย์ 
 
เวลาประมาณ 15.00 น. ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสองโดยไม่ต้องวางหลักประกัน แต่ให้ทำสัญญาประกัน ถ้าหากผิดสัญญา ให้ปรับเงิน 20,000 บาท พร้อมแต่งตั้งผู้กำกับดูแล และกำหนดเงื่อนไข ให้จำเลยทั้งสองรายงานตัวต่อผู้กำกับดูแลทุกเดือนโดยนัดหมายกันเอง
 
จากนั้นศาลนัดผู้ต้องหาสอบคำให้การในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564
 
1 กรกฎาคม 2564 
 
นัดสอบคำให้การ
 
พริษฐ์กับทนายความเดินทางมาถึงศาลแขวงปทุมวันตั้งแต่ก่อนเวลา 10.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ศาลนัดสอบคำให้การ

ศาลไม่ได้วางมาตรการรักษาความปลอดภัยเป็นพิเศษ แต่ระหว่างที่ทนายของพริษฐ์กำลังนั่งกรอกเอกสารคดีอยู่ที่โต๊ะนอกอาคารศาล ตำรวจศาลนายหนึ่งเดินมาแจ้งกับทนายของพริษฐ์และตัวของพริษฐ์ว่า ศาลจะพิจารณาคดีที่ห้องพิจารณา 6 หากทนายความและพริษฐ์พร้อมแล้วให้ขึ้นไปที่ห้องได้เลย

สำหรับเพื่อนของพริษฐ์ที่มาศาลด้วยสองคน สามารถขึ้นไปรอบนอาคารศาลซึ่งติดแอร์ได้แต่ให้นั่งรออยู่นอกห้องเนื่องจากศาลอยู่ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด19 จึงต้องจำกัดจำนวนคนที่อยู่ในห้องพิจารณาคดี ในห้องพิจารณาคดีจึงมีเพียงอัยการ พริษฐ์ และทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนสองคน
 
สำหรับเจ้าหน้าที่ไอลอว์ ศาลให้เข้าห้องพิจารณาคดี โดยก่อนเริ่มการพิจารณาตำรวจศาลแจ้งกับเจ้าหน้าที่ไอลอว์ว่าห้ามอัดเสียง ห้ามถ่ายภาพในห้องพิจารณา แต่สามารถจดบันทึกได้ ทั้งนี้ห้องพิจารณาคดีของศาลแขวงปทุมวันมีขนาดเล็กและแคบ
 
ศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 10.20 น.และชี้แจงว่าในนัดนี้จะดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของพริษฐ์รวมสองคดี โดยจะสอบคำให้การคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯจากการร่วมชุมนุมอ่านประกาศคณะราษฎรเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ก่อน จากนั้นจึงจะสอบคำให้การในคดีนี้
 
ก่อนเริ่มสอบคำให้การ ทนายจำเลยแถลงว่าจุฑาทิพย์ติดนัดพิจารณาคดีที่ศาลอาญาซึ่งมีกำหนดวันนัดไว้ก่อนแล้วจึงไม่สามารถเดินทางมาศาลตามนัดได้ ในนัดนี้ทนายไม่มีหมายนัดของจุฑาทิพย์มาแสดงต่อศาล แต่สามารถให้เลขคดีกับศาลไปตรวจสอบได้ และในนัดหน้าทนายจะนำรายงานกระบวนพิจารณาคดีของศาลอาญาที่จุฑาทิพย์มีนัดมายื่นต่อศาลเพื่อเป็นหลักฐาน ในนัดนี้จึงจะขอเลื่อนการสอบคำให้การในส่วนของจุฑาทิพย์ไปก่อน 
 
ในสำนวนคดีนี้ทนายจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลขอพิจารณาคดีลับหลังเช่นกัน ศาลอนุญาตเฉพาะกรณีของพริษฐ์แต่กรณีของจุฑาทิพย์ ศาลแจ้งทนายว่าต้องให้จุฑาทิพย์มาปรากฎตัวต่อหน้าศาล ให้ศาลอธิบายฟ้องและสอบคำให้การเสียก่อน 
 
ศาลอ่านและบรรยายฟ้องให้พริษฐ์ฟังซึ่งพอสรุปได้ว่า ระหว่างเกิดเหตุคดีนี้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรและมีการออกข้อกำหนดห้ามชุมนุมในลักษณะแออัดเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่
 
ในวันเกิดเหตุจำเลยกับพวกจัดการชุมนุมวางแผ่นป้ายเรียกร้องความเป็นธรรมให้วันเฉลิม โดยที่การชุมนุมดังกล่าวไม่ได้มีการขออนุญาตเจ้าหน้าที่ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลหรือจัดเจลแอลกอฮอลล์ให้ผู้เข้าร่วม
 
การกระทำของจำเลยเข้าข่ายความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากนั้นศาลถามพริษฐ์ว่าจะให้การอย่างไร
 
พริษฐ์ให้การปฏิเสธแต่ยอมรับว่าตัวเองอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุในวันและเวลาตามฟ้องของอัยการจริง เนื่องจากจุฑาทิพย์ไม่สามารถมาศาลได้ในวันนี้ศษลจึงให้เลื่อนนัดสอบคำให้การของจุฑาทิพย์และการตรวจพยานหลักฐานออกไป โดยคู่ความตกลงนัดสอบคำให้การจุฑาทิพย์และตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 21 กรกฎาคม เวลา 13.00 น.  
 
หลังเสร็จกระบวนพิจารณาคดีพริษฐ์เดินลงจากอาคารศาล พบว่าที่นอกอาคารศาลมีบุคคลที่น่าจะเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาประจำกันไม่น้อยกว่าสี่ราย บางคนทำท่าเหมือนยกโทรศัพท์ขึ้นถ่ายภาพพริษฐ์ที่เดินออกมาจากอาคารศาล
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

เอกภพ ห.: น้องตั้งอาชีวะ

จีรนุช เปรมชัยพร: ผอ.ประชาไท

ผู้จัดการฟ้องมติชน