ผู้ชุมนุม #ม็อบ2พฤษภา หน้าศาลอาญา ละเมิดอำนาจศาล

อัปเดตล่าสุด: 21/12/2564

ผู้ต้องหา

ศุภกิจ บุญมหิทานนท์

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2564

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ชวัลนาถ ทองสม ผู้อํานวยการสํานักอํานวยการประจําศาลอาญา ผู้กล่าวหา

สารบัญ

2 พฤษภาคม 2564 กลุ่มเยาวชนปลดแอก (REDEM) จัดชุมนุม "คาราวานประกาศคุณงามความดี ตระกูลเหมือนพะวงศ์" เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ 'ชนาธิป เหมือนพะวงศ์' รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และมีการชักชวนคนนําสิ่งของ เช่น มะเขือเทศ ไข่ไก่ และน้ำของเหลวสีแดงมาขว้างปาใส่บริเวณป้ายศาลอาญา และป้ายสํานักงานศาลยุติธรรม 
 
ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวนและสามารถพิสูจน์ทราบบุคคลที่ร่วมกันกระทําการอันไม่สงบเรียบร้อยภายในบริเวณและรอบบริเวณศาลอาญาเพื่อส่งต่อศาล และศาลได้ตั้งสำนวนคดีละเมิดอำนาจกับผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 ราย เนื่องจากร่วมกันกระทําการอันก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ภายในบริเวณศาลอาญาและรอบศาลอาญา ซึ่งถือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา และกระทําการฝ่าฝืนข้อกําหนดของศาลอาญา 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ไม่มีข้อมูล

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 ราย ได้ร่วมกันกระทําการอันก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ภายในบริเวณศาลอาญาและรอบศาลอาญา โดยการนําสิ่งของประกอบด้วย มะเขือเทศ ไข่ไก่ ขวดน้ำบรรจุ ของเหลวสีแดงและวัตถุอื่น ๆ ขว้างปาข้ามรั้วของศาลอาญา เข้าไปในบริเวณศาลอาญา ซึ่งการกระทําดังกล่าวถือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา และกระทําการฝ่าฝืนข้อกําหนดของศาลอาญา 

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล

1 กรกฎาคม 2564 ศาลนัดไต่สวนผู้ถูกกล่าวหา

 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลา 13.30 น. ที่ศาลอาญา (รัชดาฯ) ศาลนัดไต่สวน ประชาชน 5 ราย ในคดีละเมิดอำนาจศาล หมายเลขคดีดำที่ ลศ.13/2564 จากกิจกรรมแห่คาราวานและปามะเขือเทศ-ไข่หน้าป้ายศาลอาญา เพื่อเรียกร้องให้ศาลคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังการเมือง ของกลุ่ม REDEM เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2564
 
ต่อมา เวลา 13.45 น. ผู้พิพากษา 6 ท่าน ออกนั่งพิจารณาคดี ผู้ถูกกล่าวหา 4 ราย ได้แก่ ศุภกิจ บุญมหิทานนท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1, วีรภาพ วงษ์สมาน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2, พัชรวัฒน์ โกมลประเสริฐกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 และจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 มาศาล ส่วนผู้ถูกกล่าวหาอีก 1 ราย คือ ศรัณย์ อนุรักษ์ปราการ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ไม่ได้มาศาล
 
ก่อนเริ่มไต่สวน ศาลได้ตรวจสํานวน ก่อนพบว่าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถส่งหมายเรียกให้ศุภกิจและจุฑาทิพย์ได้ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองมาศาลและแถลงให้ศาลดําเนินการไต่สวนต่อไป
 
นอกจากนี้ วีรภาพยังได้แจ้งว่า ศรัณย์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ไม่สามารถมาศาลในวันนี้ตามนัดได้ เนื่องจากปัจจุบันศรัณย์เป็นทหารเกณฑ์ ประจําการอยู่ที่กองทัพอากาศ
 
จากนั้นศาลได้อธิบายคำกล่าวหาโดยผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่ทราบ มีใจความโดยสรุปว่า วันที่ 2 พฤษภาคม 2564 เวลาประมาณ 16.55 น. หน้าศาลอาญา กลุ่มเยาวชนปลดแอก (REDEM) ได้ร่วมทํากิจกรรม คาราวานประกาศคุณงามความดี ตระกูลเหมือนพะวงศ์ โดยมีการใช้เครื่องขยายเสียงเปิดเสียงด่าทอ ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา  อยู่ตลอดเวลา และมีการนําสิ่งของ เช่น มะเขือเทศ ไข่ไก่ และน้ำของเหลวสีแดงมาแจกให้กับมวลชน จากนั้นมวลชนได้นำสิ่งของดังกล่าวขว้างปาใส่บริเวณป้ายศาลอาญา และป้ายสํานักงานศาลยุติธรรม จนได้รับความเสียหายสกปรกเปรอะเปื้อนไปด้วยสีแดง และภายในบริเวณพื้นที่ด้านหน้าศาลอาญาได้รับความสกปรก มีมะเขือเทศ ไข่ไก่ แตกกระจัดกระจาย และส่งกลิ่นคาวคละคลุ้งไปทั่วบริเวณ
 
ภายหลังเจ้าหน้าที่ตํารวจสามารถสืบสวนและสามารถพิสูจน์ทราบบุคคลที่ร่วมกันกระทําการอันไม่สงบเรียบร้อยภายในบริเวณและรอบบริเวณศาลอาญา คือ ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 ราย ซึ่งได้ร่วมกันกระทําการอันก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ภายในบริเวณศาลอาญาและรอบศาลอาญา โดยการนําสิ่งของประกอบด้วย มะเขือเทศ ไข่ไก่ ขวดน้ำบรรจุ ของเหลวสีแดงและวัตถุอื่น ๆ ขว้างปาข้ามรั้วของศาลอาญา เข้าไปในบริเวณศาลอาญา ซึ่งการกระทําดังกล่าวถือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา และกระทําการฝ่าฝืนข้อกําหนดของศาลอาญา
 
ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่ให้การปฏิเสธคำกล่าวหาดังกล่าว ประสงค์ขอต่อสู้คดี พร้อมทั้งแถลงขอเลื่อนคดี เนื่องจากเพิ่งทราบรายละเอียดข้อกล่าวหาในวันนี้ โดยจะยื่นคําให้การต่อศาลก่อนวันนัดไต่สวนครั้งใหม่ไม่น้อยกว่า 7 วัน
 
ศาลได้ให้ทนายความโทรศัพท์ติดต่อศรัณย์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 เพื่อสอบถามว่า จะมาศาลได้ในวันใด ศรัณย์แจ้งว่า ไม่สามารถมาศาลได้โดยพลการ ขอให้ศาลมีหนังสือไปถึงกรมกองที่ผู้ถูกกล่าวหาสังกัดอยู่ แต่ขณะนี้ผู้ถูกกล่าวหาอยู่ระหว่างเลือกสังกัดกองประจําการ โดยยังไม่ทราบผลว่าจะได้สังกัดกรมกองใด จึงไม่สามารถให้ที่อยู่ไว้ได้ แต่ประสงค์ที่จะเข้ามาต่อสู้คดี
 
ด้านทนายแถลงว่า หากผู้ถูกกล่าวหาแจ้งที่อยู่ที่แน่นอน หลังแยกย้ายปฏิบัติหน้าที่ในกรมกองแล้ว ทนายจะแจ้งให้ศาลทราบโดยด่วน เพื่อให้ศาลได้มีหมายเรียกตัวผู้ถูกกล่าวหามาศาลในนัดหน้า
 
เวลา 15.35 น. ศาลมีคำสั่งเลื่อนนัดไต่สวน พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ไม่สามารถมาศาลได้โดยมีเหตุขัดข้อง ดังที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และทนายแถลงต่อศาลแล้ว แม้บทบัญญัติเรื่องละเมิดอํานาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) เป็นกฎหมายพิเศษที่ศาลมีอํานาจค้นหาความจริงที่มีการกล่าวหาว่ามีผู้กระทําการละเมิดอํานาจศาล โดยไม่จําต้องกระทําต่อหน้าผู้ถูกกล่าวหา แต่เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและเพื่อให้โอกาสให้ศรัณย์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ได้ทราบข้อเท็จจริงที่ถูกกล่าวหา และมีโอกาสโต้แย้งคัดค้านและต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ จึงเห็นสมควรให้ส่งหมายเรียกไต่สวนให้ศรัณย์ใหม่อีกครั้ง และให้เลื่อนไปนัดไต่สวนในวันที่ 9 สิงหาคม 2564 เวลา 09.00 น. และวันที่ 13 สิงหาคม 2564 เวลา 13.30 น
 
ทั้งนี้ ในนัดหน้าศาลกําหนดไต่สวนผู้กล่าวหาและพยานผู้กล่าวหาจำนวน 3 ราย ได้แก่ ชวัลนาถ ทองสม ผู้อํานวยการสํานักอํานวยการประจําศาลอาญา ผู้กล่าวหา, พ.ต.อ.ประสพโชค เอี่ยมพินิจ ผู้กํากับสถานีตํารวจนครบาลพหลโยธิน เจ้าพนักงานดูแลผู้ชุมนุมสาธารณะ และ ร.ต.อ.ศาศวัตร โครตวงศ์ รอง สว.สส.สน.พหลโยธิน ผู้รู้เห็นเหตุการณ์ กับผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าและพยานผู้ถูกกล่าวหา
 
นอกจากนี้ ศาลยังระบุว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีละเมิดอํานาจศาล โดยพฤติการณ์การกระทําตามที่ถูกกล่าวหาไม่ได้เกิดขึ้นต่อหน้าศาล อีกทั้งผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี โดยผู้ถูกกล่าวหา 2 ราย ซึ่งได้รับหมายเรียกมาศาลตามกําหนดนัด ส่วนอีก 2 ราย แม้ไม่ได้รับหมาย แต่ทั้งสองมาศาลและแถลงประสงค์จะต่อสู้คดี ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ติดประจำการทหารเกณฑ์ จึงยังไม่มีเหตุต้องคุมขังผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าไว้ในระหว่างไต่สวน 
 
9 สิงหาคม 2564 ศาลนัดไต่สวนผู้ถูกกล่าวหา
 
ศาลเลื่อนนัดไต่สวนเพราะสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19
 
13 สิงหาคม 2564 ศาลนัดไต่สวนผู้ถูกกล่าวหา
 
ศาลเลื่อนนัดไต่สวนเพราะสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19
 
8 กันยายน 2564 ศาลนัดไต่สวนผู้ถูกกล่าวหา
 
ศาลเลื่อนนัดไต่สวนเพราะสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19
 
9 กันยายน 2564 ศาลนัดไต่สวนผู้ถูกกล่าวหา
 
ศาลเลื่อนนัดไต่สวนเพราะสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19
 
25 พฤศจิกายน 2564 นัดไต่สวนผู้ถูกกล่าวหา
 
ผู้ให้การปากที่หนึ่ง  ชวัลนาถ ทองสม ผู้อํานวยการสํานักอํานวยการประจําศาลอาญา
 
ศาลไต่สวน
 
25 พฤศจิกายน 2564 ที่ศาลอาญา (รัชดา) ห้องพิจารณาคดีที่ 908 ศาลนัดไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล 5 ผู้ต้องหาที่เข้าร่วมการชุมนุม #ม็อบ2พฤษภา ที่จัดโดยกลุ่ม REDEM โดยถูกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนข้อกำหนดศาลอาญา ฐานประพฤติตัวไม่เรียบร้อยบริเวณศาล เนื่องจากทำการขว้างปาสิ่งของ ได้แก่ มะเขือเทศ น้ำแดง และอื่นๆ ไปยังป้ายศาลอาญาและบริเวณด้านในศาลอาญา
 
สำหรับการไต่สวนในวันดังกล่าว มีผู้ให้การสองคน คนที่หนึ่ง คือ ชวัลนาถ ทองสม ผู้อํานวยการสํานักอํานวยการประจําศาลอาญา ซึ่งให้การว่า ขณะเกิดเหตุตนดำรงตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา มีหน้าที่ในการดูแลงานธุรการและดูแลความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล
 
ชวัลนาถ ให้การว่า ก่อนเกิดเหตุ ตนได้ทราบมาว่า กลุ่มเยาวชนปลดแอกประกาศจะมีการชุมนุม โดยทราบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน ซึ่งเหตุผลในการชุมนุมมาจากมีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนถูกจับกุมและไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว (ปล่อยตัวชั่วคราว) โดยมวลชนเข้าใจว่า มีรองอธิบดีศาลอาญาคนหนึ่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจึงเกิดความไม่พอใจและนัดชุมนุมในวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 โดยใช้ชื่อการชุมนุมว่า "คาราวานประกาศคุณงามความดีตระกูลเหมือนพะวงศ์ จากอนุสาวรีย์ชัยฯ ไปศาลอาญารัชดา" เมื่อตนได้ทราบจึงประสานกำลังตำรวจ สน.พหลโยธิน มาเตรียมการรักษาความปลอดภัย
 
ต่อมาในวันที่ 2 พฤษภาคม ตนได้เดินทางมาที่ศาลอาญาในช่วงเช้า เพื่อมาดูแลความเรียบร้อย และตนได้ติดตามการชุมนุมผ่านการถ่ายถอดสด (Live Facebook) ของเพจเยาวชนปลดแอก จากนั้น เวลาประมาณ 17.00 น. ประชาชนจำนวนมากได้มารวมตัวกันที่บริเวณหน้าศาล มีรถเครื่องเสียงมาจอด รวมถึงมีการเปิดคลิปเสียงดูหมิ่น "ชนาธิป เหมือนพะวงศ์" รองอธิบดีศาลอาญา และครอบครัว และมีการนำรูปถ่ายของ "ชนาธิป" มาแปะหน้าบริเวณศาล พร้อมทั้งมีการนำมะเขือเทศ ไข่ และน้ำสีแดง มากอง พร้อมเชิญชวนให้มีการขวางปาไปยังป้ายและบริเวณศาล 
 
ชวัลนาถ ให้การต่อว่า ช่วงเวลาประมาณ 17.30 น. พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รองผู้กำกับการ สน.พหลโยธิน ได้ประกาศคำสั่งมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อผู้ชุมนุม  แต่ผู้ชุมนุมยังคงทำกิจกรรมต่อไป หลังจากนั้น พ.ต.อ.ประสพโชค เอี่ยมพินิจ ผู้กำกับการ สน.พหลโยธิน ได้แจ้งกับผู้ชุมนุมอีกครั้งว่า ผู้ชุมนุมกระทำผิดกฎหมาย แต่กิจกรรมก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง
 
ต่อมา เวลาประมาณ 18.30 น. จึงมีการประกาศยุติการชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมบางส่วนเดินทางกลับ แต่บางส่วนยังคงขว้างปาสิ่งของ อาทิ ลูกแก้ว เข้ามายังบริเวณศาล จนถึงเวลาประมาณ 23.30 น. ได้มีการจุดพลุ มีเสียงดัง จนถึงเวลาประมาณ 24.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมจึงยุติการชุมนุม 
 
ชวัลนาถ ให้การต่อว่า ในวันรุ่งขึ้น ตนได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อสืบหาว่า ใครเป็นผู้กระทำการณ์ในวันดังกล่าวบ้าง และทางตำรวจก็ได้นำข้อมูลมาให้ดู โดยมีการรวบรวมเป็นภาพเคลื่อนไหวและภาพถ่ายตามเอกสารและแผ่นซีดีหลักฐาน ก่อนจจะทำรายงานให้อธิบดีศาลอาญาทราบ จากนั้น จึงตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อตามหาบุคคลที่ปรากฎในหลักฐาน จากนั้น อธิบดีศาลจึงให้ตั้งสำนวนดำเนินคดีฐานละเมิดอำนาจศาล
 
ทนายถามค้าน
 
หลังศาลไต่สวน ทนายความผู้ถูกกล่าวหาได้ถามค้าน  ชวัลนาถ ให้การว่า ตนทราบถึงสาเหตุของการชุมนุมดังกล่าวว่า มาจากการการไม่ให้ประกันตัวแกนนำผู้ชุมนุมที่ถูกจับ ได้แก่ เพนกวิ้น-พริษฐ์ ชีวารักษ์ และตนทราบว่า เพนกวิ้น-พริษฐ์ มีอาการป่วยจากการอดอาหาร แต่ตนไม่ทราบว่าในขณะนั้น สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเรือนจำเป็นอย่างไร และก่อนวันเกิดเหตุ มีการขอยื่นประกันตัว 'พริษฐ์' และคนอื่นๆ หลายครั้ง แต่ศาลไม่ได้ให้ประกันตัว และคนที่ลงชื่อไม่ให้ประกันตัวมีหลายคน หนึ่งในนั้นคือ "ชนาธิป เหมือนพะวงศ์" รองอธิบดีศาลอาญา
 
ชวัลนาถ ตอบที่ทนายความถามค้านว่า วันเกิดเหตุเป็นวันหยุด ไม่มีการพิจารณาคดี และผู้ชุมนุมรวมตัวทำกิจกรรมกันบริเวณด้านนอกรั้วศาล ในคลิปเสียงที่เปิด ส่วนใหญ่มีการพูดถึง "ชนาธิป เหมือนพะวงศ์" รองอธิบดีศาลอาญา และภาพของชนาธิปที่ถูกนำมาปาสิ่งของใส่ เป็นชุดลำลอง ส่วนผู้ชุมนุมจะมีเจตนาขวางปาสิ่งของใส่แต่รูปหรือไม่ ตนไม่ทราบ ส่วนผู้เชิญชวนกระทำการดังกล่าวเป็นใคร ตนไม่ทราบ และไม่ใช่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และ 2 
 
ชวัลนาถ ตอบที่ทนายความถามค้านว่า การชุมนุมในครั้งนี้ถือว่ามีเหตุรุนแรงมาก หลังจากนั้นก็มีการชุมนุมอีกหลายครั้งแต่ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น และเหตุที่ศาลตั้งสำนวนละเมิดอำนาจศาล เนื่องจากผู้ชุมนุมได้กระทำพฤติกรรมไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล พร้อมทั้งการขว้างปาป้ายศาลและขว้างปาสิ่งของเข้ามาในศาล แม้คราบสิ่งสกปรกต่างๆ ที่ปรากฎที่พื้นที่และป้ายสามารถล้างออกได้ แต่ยังมีคราบติดอยู่บ้าง สภาพไม่เหมือนเดิม
 
ผู้ให้การปากที่สอง ร.ต.อ.ศาศวัตร โคตรวงศ์ รองสารวัตรสืบสวน สน.พหลโยธิน
 
ศาลไต่ส่วน
 
ร.ต.อ.ศาศวัตร โคตรวงศ์ ให้การต่อศาลว่า รับราชการอยูู่ที่ สน.พหลโยธิน ในตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวนมีหน้าที่สืบสวนติดตามจับกุมผู้กระทำความผิด โดยก่อนวันเกิดเหตุ ตนได้สืบทราบมาว่า กลุ่มเยาวชนปลดแอกได้ประกาศนัดเชิญชวนให้มวลชนมาร่วมกิจกรรมที่หน้าศาลอาญาวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 หลังจากทราบข่าวจึงแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ แล้วผู้บังคับบัญชาได้ส่งให้เจ้าพนักงานวางกำลังรักษาความสงบบริเวณรอบศาลอาญาในวันชุมนุม
 
ต่อมาในวันเกิดเหตุ ตนได้ติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนปลดแอกอย่างต่อเนื่องจนถึงเวลา 15.00 น. จึงทราบว่ากลุ่มเยาวชนปลดแอกและผู้ร่วมชุมนุมได้รวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งขณะนั้นมีการถ่ายทอดสดผ่านเฟสบุ๊ก ทั้งสำนักข่าวที่เป็นทางการและส่วนตัว ต่อมาเวลาประมาณ 16.30 น. กลุ่มเยาวชนปลดแอกและมวลชนประมาณ 500 คน ได้เดินทางมาถึงหน้าศาลอาญา โดยตนได้แต่งกายนอกเครื่องแบบเพื่อสังเกตพฤติการณ์ของผู้ร่วมชุมนุม
 
เมื่อผู้ชุมนุมมาร่วมตัวกันบริเวณป้ายศาล มีการนำมะเขือเทศ ไข่ และขวดน้ำสีแดงหลายขวดมาวางไว้บริเวณพื้นถนนเยื้ยงๆ ป้ายศาลอาญา โดยสิ่งของดังกล่าวมีผู้นำใส่รถยนต์กระบะจากนั้นจึงนำมากองรวมกัน จากนั้น มีผู้ชุมนุมคนหนึ่งปราศรัยให้กลุ่มผู้ชุมนุมใช้มะเขือเทศ ไข่ และขวดซึ่งบรรจุน้ำสีแดง โยนและขว้างปาเข้าไปในศาลและบริเวณหน้าศาล บางคนก็ขว้างไปที่ป้ายของศาลอาญา จากนั้น ในเวลา 17.30 น. พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย  รองผู้กำกับการ สน.พหลโยธิน ได้ประกาศคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร เรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ผู้ชุมนุมก็ได้โห่ร้องและชุมนุมต่อไป
 
ต่อมาในเวลา 18.00 น. พ.ต.อ.ประสพโชค เอี่ยมพินิจ ผู้กำกับการ สน.พหลโยธิน ได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมหยุดการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชกำหนดควบคุมโรค แต่กลุ่มผู้ชุมนุมก็ยังรวมตัวกัน จนถึงเวลา 18.30 น. แกนนำผู้ชุมนุมได้ประกาศยุติการชุมนุม กลุ่มผู้ชุมนุมได้แยกย้ายกันกลับ แต่ยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนไม่กลับ และยังมีการรวมตัวขว้างปาสิ่งของเข้าไปในศาลอาญาจนถึงเวลา 23.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมจึงเลิกการชุมนุม เนื่องจากมีเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมฝูงชนมากดดันและจับกุม
 
ร.ต.อ.ศาศวัตร ให้การว่า ในระหว่างเกิดเหตุ ตนได้อยู่ร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมตลอด และเห็นพฤติการณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุมเกือบทุกคน รวมทั้งผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าในคดีนี้ 
 
ต่อมา ศาลได้เปิดคลิปดีวีดีพยานหลักฐานในคดี เพื่อให้ ร.ต.อ.ศาศวัตร ยืนยันตัวบุคคลที่กระทำความผิดว่าเป็นผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้า ร.ต.อ.ศาศวัตร ให้การหลังเปิดคลิปหลักฐานที่ใช้กล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่งว่า บุคคลที่ใช้ไม่ขว้างเข้าไปในบริเวณศาล คือ ผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่ง แต่พยานเห็นใบหน้าของผู้ถูกกล่าวที่หนึ่งไม่ชัดเจน เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาสวมใส่หน้ากากอนามัยและสวมหมวก จำได้เพียงเครื่องแต่งกาย หลังจากนั้นจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ทราบว่าบุคคลดังกล่าวคือใคร
 
โดยนำข้อมูลไปตรวจสอบกับฝ่ายสืบสวนของกองกำกับการสืบสวนนครบาล 2 และฝ่ายสืบสวนของ สน.พหลโยธิน ทำให้พบว่า เจ้าพนักงานตำรวจได้ติดตามบุคคลดังกล่าวมาตั้งแต่เริ่มชุมนุม โดยบุคคลดังกล่าวได้ขับขี่รถจักรยานมาร่วมชุมนุม และตำรวจได้ถ่ายภาพบุคคลและทะเบียนรถไว้ได้ และเมื่อนำทะเบียนรถไปตรวจสอบพบว่า เป็นของ 'วรายุทธ บุญมี' จึงได้เข้าไปตรวจสอบบัญชีเฟสบุ๊กของวรายุทธต่อ แต่พบว่ารูปพรรณไม่ตรงกับบุคคลในภาพหลักฐาน จึงทำการสืบสวนต่อและพบว่า มีกลุ่มเพื่อนของวรายุทธเป็นผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่ง ก่อนจะทราบชื่อชื่อในภายหลังว่าชื่อ 'ศุภกิจ บุญมหิทานนท์ '
 
หลังจากนำภาพใบหน้าของ 'ศุภกิจ' มาเปรียบเทียบกับบุคคลในภาพหลักฐาน ผลปรากฎว่าตรงกัน ทั้งนี้ ในระหว่างที่กำลังไต่ส่วนอยู่นั้น ศาลพบว่า บุคคลในภาพถ่ายได้สวมใส่รองเท้าไนกี้สีขาวแถบแดงซึ่งตรงกับรองเท้าของผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่งที่ใส่มาศาลในวันนี้ และยังมีคราบสีแดงติดอยู่ ประกอบกับกางเกงที่ผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่งใส่เป็นกางเกงสีดำแถบขาวด้านหน้า จึงเชื่อได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่ง หรือ 'ศุภกิจ บุญทานนท์ ' คือ บุคคลในคลิปภาพที่ใช้ไม้ปาเข้าไปในศาล
 
ต่อมาศาลได้เปิดคลิปภาพเพื่อยืนยันตัวผู้ถูกกล่าวหาที่สอง ร.ต.อ.ศาศวัตร ให้การว่า แม้ในคลิปภาพจะเห็นหน้าไม่ชัดเจน แต่ขณะเกิดเหตุพยานได้ดูเหตุการณ์อยู่ตลอดและเป็นบุคคลที่พยานเคยติดตามและเห็นจดจำหน้าได้มาก่อน แม้ผู้ถูกกล่าวหาที่สองจะใส่หน้ากากอนามัยและสวมหมวกในขณะเกิดเหตุ พยานก็จำได้ว่าคือใคร ซึ่งผู้กล่าวหาที่สองมีข้อมูลอยู่ที่ สน.พหลโยธิน ก่อนแล้วว่าเป็นใคร พยานจึงยืนยันได้ว่า บุคคลในคลิปภาพคือผู้ถูกกล่าวหาที่สอง
 
เมื่อศาลเปิดคลิปภาพเพื่อยืนยันตัวผู้ถูกกล่าวหาที่สาม ร.ต.อ.ศาศวัตร ให้การว่า พยานเห็นหน้าในวันที่เกิดเหตุด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ถูกกล่าวหาที่สามในห้องพิจารณา เชื่อว่าเป็นบุคคลเดียวกัน และพยานเบิกความว่า การพิสูจน์ทราบบุคคลหลังจากเห็นภาพในคิลปวีดีโอจะมีเจ้าพนักงานสืบสวนนำไปประกอบกับพยานหลักฐานต่างๆ ที่เคยเก็บไว้จากหลายฝ่าย และนำมาพิสูจน์ยืนยันข้อมูล และตนเชื่อว่าผู้ถูกกล่าวหาที่สาม คือ บุคคลในภาพ แต่กระบวนการพิสูจน์ดังกล่าวไม่สามารถนำมาแสดงต่อศาลได้อย่างละเอียด แต่จากการรวมรวบพยานหลักฐานทั้งหมดเชื่อได้ว่า บุคคลตามภาพคือผู้ถูกกล่าวหาที่สาม
 
เมื่อศาลเปิดคลิปภาพเพื่อยืนยันตัวผู้ถูกกล่าวหาที่สี่ ร.ต.อ.ศาศวัตร ให้การว่า เพื่อพยานดูภาพถ่ายในเอกสาร ตนยืนยันว่า บุคคลในภาพคือผู้ถูกกล่าวหาที่สี่ โดยผู้ถูกกล่าวหาที่สี่เป็นคนเตรียมอุปกรณ์ให้ผู้ร่วมชุมนุม แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่สี่ไม่ได้ปาสิ่งของเข้าไปในศาลหรือป้ายศาลแต่อย่างใด
 
เมื่อศาลเปิดคลิปภาพเพื่อยืนยันตัวผู้ถูกกล่าวหาที่ห้า ร.ต.อ.ศาศวัตร ให้การว่า ตนเห็นผู้ถูกกล่าวหาที่ห้าหลายครั้ง และจำได้ว่าบุคคลในคลิปภาพคือผู้ถูกกล่าวหาที่ห้า นอกจากนี้ ยังมีการพิสูจน์ทราบด้วย เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาที่ห้าได้ขับรถจักรยานต์กลับบ้าน และทางเจ้าพนักงานตำรวจได้ถ่ายภาพรถคันดังกล่าวไว้ เมื่อทำการตรวจสอบหมายเลขทะเบียนพบว่าเป็นของพ่อผู้ถูกกล่าวหาที่ห้า และเมื่อตรวจสอบภาพถ่ายของผู้ถูกกล่าวหาที่ห้ากับภาพในคลิป จึงเชื่อได้ว่า เป็นบุคคลเดียวกัน
 
ทนายถามค้าน
 
ร.ต.อ.ศาศวัตร ให้การว่า ตนไม่ใช่คนถ่ายภาพคลิปวิดีโอหลักฐาน และตนได้เดินทางมาร่วมกับผู้ชุมนุมตั้งแต่บริเวณห้าแยกลาดพร้าวถึงหน้าศาลอาญา เหตุที่ไม่ปรากฎภาพของตนในภาพหลักฐานเลยเพราะตนไม่เข้าไปอยู่ในบริเวณหน้ากล้อง ส่วนการจัดทำเอกสารวัตถุพยานจะทำอย่างไร ตนไม่ทราบ และตนเห็นผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่ง สาม และห้า ครั้งแรกในววันที่มาชุมนม ซึ่งตนไม่ทราบว่าบุคคลทั้งสามคือใคร และมาทราบชื่อในภายหลัง
 
ร.ต.อ.ศาศวัตร ให้การว่า ในวันเกิดเหตุเป็นวันหยุดราชการ ศาลปิดทำการ และผู้ชุมนุมอยู่บริเวณนอกรั้วศาล ส่วนคลิปเสียงที่ผู้ชุมนุมนำมาเปิดและการปราศรัยในวันนั้น ส่วนใหญ่จะพูดถึง "ชนาธิป" (รองอธิบดีศาลอาญา) และจากคลิปภาพในส่วนของผู้ถูกกล่าวหาที่สี่ พบว่า ถังสีได้เปิดอยู่ก่อนแล้ว ก่อนที่ผู้ถูกกล่าวหาที่สี่จะเข้ามาคนถังสีดังกล่าว 
 
ในการไต่ส่วนคดีละเมิดอำนาจศาล ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ศาลได้แจ้งกับผู้มาสังเกตการณ์ในระหว่างที่กำลังจดบันทึกคำให้การว่า ศาลไม่อนุญาตให้จดคำเบิกความของพยานและผู้กล่าวหา โดยให้เหตุผลว่า กลัวผู้สังเกตการณ์จะจดไปไม่ครบ และหากนำไปเผยแพร่อาจจะทำให้เกิดความเสียหาย หากผู้สังเกตการณ์ต้องการเข้าถึงข้อมูลในคดีให้ร้องขอผ่านทนายความ โดยศาลจะอนุญาตให้คัดถ่ายเอกสารได้ ขอแค่ทำเรื่องมา
 
26 พฤศจิกายน 2564 นัดไต่สวน ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา
 
ศาลไต่สวน
 
ที่ศาลอาญา (รัชดา) ห้องพิจารณาคดีที่ 908 ศาลนัดไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล 5 ผู้ต้องหาที่เข้าร่วมการชุมนุม #ม็อบ2พฤษภา ที่จัดโดยกลุ่ม REDEM โดยถูกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนข้อกำหนดศาลอาญา ฐานประพฤติตัวไม่เรียบร้อยบริเวณศาล เนื่องจากทำการขว้างปาสิ่งของ ได้แก่ มะเขือเทศ น้ำแดง และอื่นๆ ไปยังป้ายศาลอาญาและบริเวณด้านในศาลอาญา
 
สำหรับการไต่สวนในวันดังกล่าว มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าคนให้การต่อศาล ได้แก่ ศุภกิจ บุญมหิทานนท์, วีรภาพ วงษ์สมาน, พัชรวัฒน์ โกมลประเสริฐกุล, จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ และ ศรัณย์ อนุรักษ์ปราการ
 
ผู้ให้การปากที่หนึ่ง ศุภกิจ บุญมหิทานนท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่ง
 
ศุภกิจ บุญมหิทานนท์ ให้การต่อศาลเป็นคนแรกว่า ตนได้เดินทางมาพร้อมกับขบวนผู้ชุมนุม โดยร่วมเดินทางมาตั้งแต่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมาถึงศาลอาญา และตนยอมรับว่า เป็นบุคคลในคลิปภาพที่เปิดในศาลวันไต่สวนวันแรกจริง และยอมรับว่า เป็นคนขว้างขวดใส่สีและเศษไม้เข้าไปในศาลแต่ตกอยู่บริเวณหลังป้ายศาลอาญา ไม่ถึงจุดที่เจ้าพนักงานตำรวจควบคุมฝูงชนยืนตั้งแถวอยู่
 
ศุภกิจ ให้การต่อศาลว่า เขาเกิดและเติบโตที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ต่อมาได้มาเรียนหนังที่กรุงเทพมหานคร เรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะนิติศาสตร์ จนถึงช่วงปีที่ 3 เกิดโรคระบาคโควิด 19 จึงไม่ได้เรียนแต่ลงทะเบียนรักษาสถานภาพไว้ และเข้ามาร่วมชุมนุมเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยกับกลุ่มต่างๆ และไม่ได้สังกัดกลุ่มใด พร้อมทั้งทำงานหาเลี้ยงตัวเอง โดยเป็นพนักงานประจำอยู่ศูนย์พักคอยที่วัดสุทธิวราราม เป็นพนักงานฉุกเฉินทางการแพทย์ คอยช่วยเหลือผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด 19
 
ศุภกิจ ให้การต่อศาลว่า ความคิดทางการเมืองของเขาคือ รักสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน รักประชาธิปไตย มุ่งเรียกร้องเพื่อให้สังคมมีความเป็นประชาธิปไตย ไม่เคยใช้ความรุนแรง และได้เรียกร้องอย่างสงบตลอดมา แต่ในช่วงขณะนั้น ผู้ร่วมชุมนุมหลายคนถูกจับและไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว ซึ่งเห็นว่าเป็นความไม่ยุติธรรม และทำให้ตนออกมาเคลื่อนไหว โดยการขว้างกระป๋องสีและขว้างไม้ปาเข้าไปในศาลนั้น เป็นการต่อสู้เรียกร้องแบบสันติวิธี เพราะไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อสถานที่หรือทำให้บุคคลใดได้รับบาดเจ็บ
 
ผู้ให้การปากที่สอง วีรภาพ วงษ์สมาน ผู้ถูกกล่าวหาที่สอง
 
วีรภาพ วงษ์สมาน ให้การต่อศาลว่า ตนยอมรับว่าเป็นบุคคลในคลิปวิดีโอหลักฐาน ตนได้เดินทางมาที่ศาลอาญาพร้อมกับขบวนผู้ชุมนุม และได้ยืนร่วมชุมนุมบริเวณป้ายศาลอาญา และอยู่ร่วมตั้งแต่ต้นจนถึงเวลาที่แกนนำประกาศยุติการชุมนุมจึงเดินทางกลับ ทั้งนี้ ตนยอมรับว่าเป็นผู้ขวางถุงสีเข้าไปภายในบริเวณศาล แต่ไม่ได้เจตนาขว้างใส่เจ้าพนักงานตำรวจควบคุมฝูงชน แต่ขว้างไปบริเวณลานจอดรถหลังป้ายศาลอาญา 
 
วีรภาพ ให้การต่อศาลว่า ตนจบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 6 โรงเรียนวัดอัมพวันศึกษา ที่กรุงเทพมหานคร และหลังจากจบชั้นประถมศึกษาก็ได้เรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ 1 และหยุดเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ 2 เพื่ออกมาทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยตนเองจนถึงปัจจุบัน และมีภริยาตั้งครรภ์ได้ 3 เดือน
 
วีรภาพ ให้การต่อศาลว่า เหตุที่มาร่วมกับผู้ชุมนุม มีวัตถุประสงค์เพื่อจะเรียกร้องให้แกนนำซึ่งถูกจับกุมตัวไปได้รับการประกันตัวตามสิทธิที่ควรจะได้รับ และการร่วมชุมนุมของตนนั้นเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ไม่ได้มุ่งหวังให้เกิดความรุนแรงหรือกระทบกระทั่งบุคคลอื่น หรือทำให้บุคคลอื่นได้รับบาดเจ็บและทำให้ทรัพย์สินราชการเสียหายแต่อย่างใด และไม่ได้มีเจตนาจะปาขวดสีให้ถูกเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมฝูงชนที่ยืนตั้งแถวอยู่
 
วีรภาพ ยืนยันต่อศาลว่า การชุมนุมของผู้ชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และการใช้สี ไข่ และมะเขือเทศขว้างปาในวันดังกล่าว เป็นเพียงการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อการเรียกร้องมิได้หวังที่จะให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่น หรือความเสียหายต่อสถานที่ราชการแต่อย่างใด
 
ผู้ให้การปากที่สาม พัชรวัฒน์ โกมประเสริฐกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่สาม
 
พัชรวัฒน์ โกมประเสริฐกุล ให้การต่อศาลว่า ตนยอมรับว่าเป็นบุคคลในคลิปดีวีดีภาพเคลื่อนไหวที่เปิดในห้องพิจารณาคดี และยอมรับว่าตนคือบุคคลที่ใส่เสื้อลายบาติกพื้นสีฟ้าและได้ยืนเกาะรั้วศาอยู่ โดยในขณะเกิดเหตุ ตนได้ปาถูกสีเข้าไปในบริเวณศาลเสมือนผู้ร่วมชุมนุมคนอื่นๆ โดยถุงสีตกอยู่บริเวณลานจอดรถไม่ถึงแนวของเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมฝูงชนซึ่งอยู่บริเวณหน้าบันไดศาล
 
พัชรวัฒน์ ให้การต่อศาลว่า ตนจบการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หลังจากนั้นได้ออกมาประกอบอาชีพเป็นนักสีฬาอีสปอร์ต (E-Sport) ซึ่งเป็นเกมส์กีฬาที่เล่นกันในระบบอิเล็กทรอนิกส์ หากเล่นชนะจะมีรางวัล และปัจจุบัน ตนทำงานที่บริษัทแห่งหนึ่ง ทั้งนี้ ตนได้มาเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับกลุ่มต่างๆ ที่มีการเรียกร้องประชาธิปไตย ในช่วงปลายปี 2563 
 
พัชรวัฒน์ ให้การต่อศาลว่า หากศาลให้โอกาสจะกลับตนเป็นพลเมืองดี และสัญญาว่าจะไม่ใช่วิธีการเรียกร้องโดยการใช้ความรุนแรง
 
ผู้ให้การปากที่สี่ จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่สี่
 
จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ให้การต่อศาลว่า ตนมีพื้นเพเป็นคนจังหวัดอำนาจเจริญ จนการศึกษามัธยมปีที่ 6 ที่จังหวัดอำนาจเจริญ หลังจากนั้นได้เดินทางมาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยตนกำลังศึกษาอยู่ที่โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยกำลังศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 1 คาดว่าจะจบการศึกษาในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 และมีผลการเรียนอยู่ในระดับดี ได้เกรดเฉลี่ย 3.18 ซึ่งหากภาคการศึกษานี้ ตนได้เกรดเพิ่มขึ้นก็มีโอกาสได้เกียรตินิยม
 
จุฑาทิพย์ ให้การต่อศาลว่า ตนยอมรับว่าเป็นบุคคลที่ปรากฎในคลิปดีวีดีหลักฐาน โดยในวันเกิดเหตุ ตนได้ติดตามการเคลื่อนไหวเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนปลดแอก แต่ไม่ได้ร่วมในลักษณะเป็นแกนนำการจัดกิจกรรม และไม่ได้ร่วมวางแผนหรือออกแบบ รูปแบบการทำกิจกรรมแต่อย่างใด และในขณะมีการชุมนุม ตนได้เข้าไปช่วงคนถังสีซึ่งวางอยู่บริเวณริมถนนตามคลิปหลักฐานจริง แต่ตนไม่ได้เป็นคนเตรียมไข่ มะเขือเทศ และกระป๋องสีเพื่อนำมาใช้ในการขว้างปาในการชุมนุมแต่อย่างใด และในวันนั้น ตนเห็นว่า ผู้ร่วมชุมนุมบางคนนำไข่ มะเขือเทศ และกระป๋องสีใส่รถกระบะและรถจักรยานยนต์มา จึงไปช่วยยก
 
จุฑาทิพย์ ให้การต่อศาลว่า ตนไม่ได้มีส่วนรู้เห็นกับคลิปเสียงที่พูดถึง 'ชนาธิป เหมือนพะวงศ์' รองอธิบดีศาลอาญา และตนไม่ทราบว่าใครเป็นคนทำป้ายภาพที่ปรากฎรูปของ 'ชนาธิป' ที่ถูกนำมาติดที่ป้ายศาลอาญา และตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มแกนนำที่บอกให้ผู้ชุมนุมกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมถึงตนไม่ได้ปาสี ไข่ และมะเขือเทศแต่อย่างใด
 
จุฑาทิพย์ ให้การต่อศาลว่า ตนเป็นเพื่อนกับพริษฐ์ ชีวารักษ์ เนื่องจากเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เหมือนกัน และเหตุทีออกมาร่วมชุมนุมเนื่องจากทราบว่า ขณะนั้นภายในเรือนจำมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แต่ยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมถูกควบคุมตัวอยู่ ประกอบกับขณะนั้น 'พริษฐ์' ได้เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวด้วยการอดอาหารจนมีอาการป่วยหนัก ถ่ายเป็นเลือด ทำให้ตนและกลุ่มผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ออกมาเรียกร้องตามสิทธิเสรีภาพ เพื่อให้พริษฐ์ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะได้รับการประกันตัว
 
จุฑาทิพย์ ให้การต่อศาลว่า การกระทำของตนและผู้ชุมนุมเป็นการกระทำโดยความบริสุทธิ์ใจ เป็นการแสดงออกตามสิทธิเสรีภาพที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียม และเป็นประชาธิปไตย
 
ผู้ให้การปากที่ห้า ศรัณย์ อนุรักษ์ปราการ ผู้ถูกกล่าวหาที่ห้า
 
ศรัณย์ อนุรักษ์ปราการ ให้การต่อศาลว่า ตนเติบโตที่เขตดอนเมือง จบการศึกษาจากวิทยาเทคโนโลยีบางกะปิ สาขาช่างยนต์ และได้ประกอบอาชีพรับจ้างในอู่ซ่อมเครื่องยนต์เรื่อยมา จนมารับราชการทหารเป็นทหารเกณฑ์ และถ้าได้ปลดประจำการจะไปสมัครเป็นทหารพรานต่อที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ศรัณย์ ให้การต่อศาลว่า ในวันเกิดเหตุ ตนได้ขี่รถจักรยานยนต์ร่วมขวนกับกลุ่มผู้ชุมนุมตั้งแต่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมาที่หน้าศาลอาญา โดยตนยอมรับว่าเป็นบุคคลในคลิปดีวีดีหลักฐานที่เปิดในศาล และขณะร่วมการชุมนุม ตนได้ใช้ถุงสีขวางปาเข้าไปในบริเวณศาล 2 ถึง 3 ครั้ง โดยถุงสีที่ใช้นั้นมีคนจัดเตรียมมา ตนไม่ได้ร่วมจัดเตรียมแต่อย่างใด และการขว้างถุงนั้นก็ขว้างไปยังบริเวณลานจอดรถ ไม่ได้ประสงค์ให้ถูกใคร ต่อมาเมื่อมีการประกาศยุติการชุมนุมจึงเดินทางกลับ
 
ทนายความแถลงปิดคดี ยืนยันจำเลยทั้งห้าไม่ผิดละเมิดอำนาจศาล
 
พงศ์เพชร คงหอม ทนายความของผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่งถึงห้าได้จัดทำคำแถลงปิดคดีต่อศาล โดยระบุว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าคนไม่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เนื่องจากความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมีไว้เพื่อคุ้มครองให้การทำหน้าที่ในการพิจารณาคดีของศาลสามารถดำเนินไปได้อย่างสงบเรียบร้อย โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นการคุ้มครองการทำหน้าที่ของศาลในระหว่างการพิจารณาคดีเป็นสำคัญ ประกอบกับเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญากระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน การใช้และการตีความกฎหมายจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด
 
ในคำแถลงปิดคดีระบุด้วยว่า วันที่เกิดเหตุเป็นวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ ศาลไม่มีการดำเนินกระบวนพิจารณาและไม่มีการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี จึงมิอาจก่อให้เกิดความรำคาญหรือประวิงกระบวนการพิจารณาให้ชักช้า ดังนั้น การอ้างเหตุว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าคนประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล หรือ เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาลอาญาว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา พ.ศ. ๒๔๖๔ ต้องกระทำในวันเวลาราชการซึ่งศาลพิจารณาคดี
 
นอกจากนี้ การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าคนเป็นการกระทำอันเป็นการแสดงออกโดยบริสุทธิ์ใจเพื่อติดตามการออกคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวให้เป็นไปตามหลักกฎหมายและหลักการสิทธิมนุษยชนโดยชอบ ดังนั้น การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าคนจึงเป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการแสดงออก แสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธที่ได้รับการคุ้มครอบตาม มาตรา 34 และ 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา