เบนจา : โปรยใบปลิว “ปล่อยเพื่อนเรา” ที่บันไดศาล

อัปเดตล่าสุด: 18/01/2566

ผู้ต้องหา

เบนจา

สถานะคดี

ชั้นศาลฎีกา

คดีเริ่มในปี

2564

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

เบนจา อะปัญ สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถูกตั้งข้อหาละเมิดอำนาจศาล จากการชุมนุมที่บันไดหน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 เรียกร้องสิทธิประกันตัวให้กับผู้ต้องหาทางการเมืองอย่างน้อย 7 คน รวมทั้งเพื่อนของเธอ คือ เพนกวิ้น พริษฐ์ ที่อดอาหารประท้วงในเรือนจำและกำลังมีปัญหาสุขภาพ วันดังกล่าวเบนจา ใช้เครื่องเสียงปราศรัย อ่านกวีแด่มวลมหาตุลาการ และโปรยกระดาษรายชื่อประชาชนที่ร่วมลงชื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัว คดีนี้เบนจารับว่า กระทำจริง แต่ต่อสู้ว่าการกระทำไม่เป็นความผิด ศาลสั่งให้จำคุกด้วยโทษสูงสุด คือ 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา เบนจาได้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์
 
ในการต่อสู้คดีนี้เบนจาได้ยื่นเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากการกำหนดโทษจำคุก 6 เดือน ขัดกับหลักความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วน เพราะข้อหานี้ในประเทศอื่นไม่ได้กำหนดโทษสูงเช่นนี้ เป็นการจำกัดเสรีภาพที่ร้ายแรงไม่คุ้มกับประโยชน์ที่ได้ ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไม่ขัดกับเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

เบนจา อะปัญ เป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ
ประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สรุปคำกล่าวหาคดีนี้ไว้ดังนี้  
 
เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564 เวลาประมาณ 12.30 น. มีมวลชนกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมประมาณ 300 คน เชิญชวนให้คนเข้าร่วมกิจกรรมยื่นจดหมาย “ราชอยุติธรรม” พร้อมทั้งยืนอ่านกลอน “ตุลาการภิวัตน์” ที่ศาลอาญา รัชดาฯ โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าว ได้เข้ามาในบริเวณศาลอาญาและรวมตัวกันบริเวณบันไดทางขึ้นด้านหน้าศาล โดยมีการใช้เครื่องขยายเสียง พร้อมทั้งตะโกนข้อความ “ปล่อยเพื่อนเรา”
 
จนกระทั่งเวลาประมาณ 12.50 น. พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รองผู้กํากับการป้องกันปราบปราม สน.พหลโยธิน ได้อ่านประกาศคําสั่งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พร้อมทั้งแจ้งเตือนให้กลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบเรียบร้อย แต่ไม่ได้รับความร่วมมือแต่อย่างใด
 
เมื่อเวลาประมาณ 13.05 น. พ.ต.อ.ประสพโชค เอี่ยมพินิจ ผู้กํากับการ สน. พหลโยธิน ได้ประกาศเรื่องการใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุมให้อยู่ภายใต้กฎหมายและข้อกําหนดของศาล จากนั้นจึงแจ้งให้ผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบเรียบร้อย แต่ผู้ชุมนุมยังคงดำเนินกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ร่วมตะโกนด้วยข้อความต่างๆ อยู่เป็นระยะ มีการวิจารณ์ศาลยุติธรรมและตุลาการศาลยุติธรรมผ่านเครื่องขยายเสียง ซึ่งผู้กล่าวหามองว่าทําให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในศาลอาญา
 
ต่อมาผู้กล่าวหาระบุว่าเบนจาได้แสดงพฤติกรรมที่ไม่เรียบร้อยในศาล เนื่องจากเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. เบนจาได้วิ่งผ่านแนวรั้วแผงเหล็กที่กั้นอยู่บริเวณหน้าบันไดทางขึ้นด้านหน้าศาลอาญา (บริเวณหน้ามุกศาลอาญา) พร้อมทั้งโปรยแผ่นกระดาษขณะวิ่งขึ้นบันได โดยพยายามหลบหลีกเจ้าหน้าที่ศาลอาญา พร้อมตะโกนสรุปข้อความว่า “ตุลาการเช่นนี้ อย่ามีเลย” เมื่อโปรยกระดาษเสร็จแล้ว เบนจาได้หยุดยืนอยู่บริเวณบันไดและพูดผ่าน เครื่องขยายเสียงโดยหันหน้าเข้าหาเจ้าหน้าที่ศาลสรุปข้อความได้ว่า:
 
“ขี้ข้าเผด็จการ ขี้ข้าเผด็จการ พี่มองหน้าหนู พี่มองหน้าหนู เพื่อนหนูอดอาหารมา 40 กว่าวันแล้ว เพื่อนเรากําลังจะตาย ไม่มีความเป็นมนุษย์กันเลยเหรอ ความยุติธรรมควรเป็นสิ่งที่พึงมีตั้งแต่แรกไม่ใช่ร้องขอ ศาลทําหน้าที่ผดุงความยุติธรรม แต่ทําไมถึงไม่มีความยุติธรรมให้กับเพื่อนเรา รู้ว่าทําตามหน้าที่ รู้ว่าโดนนายสั่งมา คิดว่าหนูมายืนตรงนี้เนี่ยมันไม่ต้องแลกอะไรเหรอ"
 
“เราทุกคนต่างสูญเสีย เราทุกคนต่างสูญเสียในรัฐเผด็จการนี้ เราสูญเสียกันมามากพอแล้ว เราจะต้องสูญเสียกันอีกเท่าไหร่ หากความเป็นคนในพวกคุณไม่มีเหลือ แล้วเราจะไปถามหาความเป็นคนได้จากใครอีก ปล่อยเพื่อนเรา ปล่อยเพื่อนเรา ปล่อยเพื่อนเรา ปล่อยเพื่อนเราได้ยินไหม หากรับใช้ใบสั่งอย่างอัปรีย์ ตุลาการเช่นนี้อย่ามีเลย ตุลาการเช่นนี้อย่ามีเลย ปล่อยเพื่อนเรา"
 
“หากศาลยังฟังอยู่ หากศาลยังมีความยุติธรรม ยังหลงเหลืออยู่ ให้นึกถึงเวลาที่ท่านได้ตรากตรําอ่านตําราดึกดื่นเพื่อสอบเข้ามาเป็นผู้พิพากษาสอบเข้ามาเพื่อผดุงความยุติธรรมให้กับประเทศชาติ สอบเข้ามาเพื่อผดุงความยุติธรรมให้กับประชาชน แต่ทําไมอุดมการณ์ของผู้พิพากษาไม่มีเหลือแล้วหรือ หากเราไร้ซึ่งอุดมการณ์เราจะมีค่าอะไร เป็นผู้พิพากษาอย่าหลงลืมอุดมการณ์แห่งการเป็นผู้พิพากษา คืนคําพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”
 
ผู้กล่าวหาระบุว่าเบนจาได้โปรยกระดาษที่เหลืออีกครั้งต่อหน้าเจ้าหน้าที่ในระหว่างที่ปราศรัยข้อความดังกล่าว
 
หลังจากนั้นผู้กล่าวหาสรุปว่าการกระทําของเบนจาเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล และกระทําการฝ่าฝืนข้อกําหนดของศาลอาญา ว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา พ.ศ. 2564 ฉบับลงวันที่ 17 มีนาคม 2564 จึงเป็นเหตุให้ร้องขอศาลอาญาให้เรียกไต่สวนเบนจาฐานละเมิดอํานาจศาลและลงโทษตามกฎหมายต่อไป
 

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ลศ 6/2564

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

สรุปคำร้องที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ
 
คำร้องที่เบนจาโต้แย้งเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อธิบายว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 ได้กำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งลงโทษบุคคลที่กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลโดยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือทั้งสองวิธี คือ (ก) ไล่ออกจากบริเวณศาล หรือ (ข) ให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท ซึ่งผู้ร้องเห็นว่า การกำหนดโทษจำคุกสูงสุดถึง 6 เดือนนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ที่ได้ระบุว่า "การตรากฎหมายที่มีผลจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล จะต้องไม่ขัดกับหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย"
 
อ่านเต็มๆ ได้ที่ https://tlhr2014.com/archives/31131
 
นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังได้เคยมีคำวินิจฉัยที่ 8/2561 ที่รับรองหลักการดังกล่าว โดยระบุว่า ฝ่ายนิติบัญญัติหรือองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐจะต้องคำนึงถึงหลักการพื้นฐานสำคัญประการหนึ่ง คือ ‘หลักความได้สัดส่วน’ ที่มีขึ้นเพื่อควบคุม ตรวจสอบ หรือจำกัดการใช้อำนาจรัฐเพื่อมิให้ตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับแก่ประชาชนตามอำเภอใจ โดยการตรากฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพจะต้องคำนึงถึงหลัก 3 ประการที่ระบุไว้ในคำวินิจฉัยดังกล่าว ได้แก่
 
1) หลักความเหมาะสม : คำนึงถึงความสามารถในการบรรลุวัตถุประสงค์
 
2) หลักความจำเป็น : คำนึงถึงผลกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
 
3) หลักความได้สัดส่วน (ในความหมายอย่างแคบ) : คำนึงถึงการชั่งน้ำหนักระหว่างสิทธิเสรีภาพประชาชนที่สูญเสียไปกับประโยชน์สาธารณะที่ได้รับว่าพอสมควรแก่เหตุ
 
ดังนั้น กฎหมายที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามมาตรา 26 จะต้องเป็นกฎหมายที่เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนทั้งสามประการดังกล่าว และหากบทบัญญัติใดไม่เป็นไปตามหลักไม่ว่าประการใดประการหนึ่ง ย่อมขัดกับหลักความได้สัดส่วนและขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 26
 
 
เอกสารคำร้องได้อธิบายว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 33 วรรคแรก, มาตรา 33 วรรคสอง (ข) และมาตรา 33 วรรคท้าย ที่กำหนดให้ศาลมีอำนาจลงโทษความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลด้วยโทษจำคุกสูงสุดถึง 6 เดือนโดยทันทีนั้น เป็นการ “เพิ่มภาระให้แก่บุคคลผู้ประสงค์จะแสดงออกซึ่งความเห็น และเป็นผลร้ายแก่บุคคลผู้ประสงค์จะใช้เสรีภาพในการชุมนุมเกินสมควร”
 
เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องถูกกล่าวหาว่าละเมิดอำนาจศาลเพียงเพราะใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ อันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชนตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ด้วยโทษจำคุกที่สูงถึง 6 เดือน มาตรการดังกล่าวจึงเป็นการสร้างข้อจำกัดแก่การใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้ร้อง ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ด้วยเหตุผล 5 ประการ ดังนี้
 
(1) ไม่สอดคล้องกับหลักความจำเป็น เนื่องจากในต่างประเทศได้กำหนดมาตรการที่จำกัดสิทธิน้อยกว่า แต่บรรลุวัตถุประสงค์ในการทำให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยสงบเรียบร้อยได้
 
– กลุ่มประเทศที่ใช้ Common Law เช่น อังกฤษ : ใช้หลักคำพิพากษาเป็นบ่อเกิดของกฎหมาย ดังนั้นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจึงมีขอบเขตที่กว้างขวาง คือ มุ่งคุ้มครองทั้งกระบวนพิจารณาและผู้พิพากษาเป็นรายบุคคล โดยพระราชบัญญัติว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาล 1981 (Contempt of court act 1981) ของอังกฤษ มีโทษสูงสุดคือควบคุมตัวผู้ต้องหาไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,500 ปอนด์ หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
– กลุ่มประเทศที่ใช้ Civil Law เช่น เยอรมนี : ใช้หลักว่าการพิจารณาคดีนั้นถือเป็นการประชุมอย่างหนึ่ง ดังนั้นศาลต้องมีอำนาจควบคุมหากเกิดกรณีการรบกวนในการพิจารณาคดี ศาลต้องมีอำนาจเอาผิดกับผู้กระทำการได้ทันที โดยได้บัญญัติไว้ในรัฐบัญญัติว่าด้วยธรรมนูญศาล (Gerichtsverfassungs gesetz) กำหนดโทษเป็นโทษปรับ 1,000 ยูโร หรือขังไม่เกิน 1 สัปดาห์
 
>> สำหรับบทบัญญัติว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาลในไทย ตามความเห็นของอุดม เฟื่องฟุ้ง อดีตรองประธานศาลฎีกา มองว่าไทยใช้ระบบแบบ Civil Law โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือการสร้างมาตรฐานให้อำนาจศาลเพื่อให้ดำเนินการพิจารณาคดีไปได้โดยรวดเร็ว เรียบร้อย และอำนวยความยุติธรรมให้แก่คู่ความได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น โทษจำคุกสูงถึง 6 เดือน ย่อมไม่ใช่มาตรการที่จำกัดสิทธิน้อยที่สุดที่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ในเรื่องการควบคุมการพิจารณาคดีให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย
 
อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศตัวอย่างข้างต้น จะเห็นได้ว่ามาตรการมีโทษเพียงการคุมขังไม่เกิน 1 สัปดาห์หรือสั่งควบคุมตัวผู้ต้องหาเป็นเวลาไม่เกิน 1 เดือนเท่านั้น ซึ่งเมื่อมีมาตรการที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนน้อยกว่าและสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้เช่นเดียวกัน
 
 
(2) ไม่สอดคล้องกับหลักความจำเป็น เนื่องจากกฎหมายวิธีพิจารณาความในศาลปกครอง กำหนดโทษจำคุกเพียง 1 เดือนเท่านั้น
 
มาตรการลงโทษกรณีการละเมิดอำนาจศาลปกครองตามมาตรา 64 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธิพิจารณาคดีปกครองได้กำหนดให้อำนาจลงโทษจำคุกได้ไม่เกิน 1 เดือน นอกจากนั้น ยังมีการบัญญัติว่า “การสั่งลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลพึงใช้อย่างระมัดระวังและเท่าที่จำเป็นตามพฤติการณ์แห่งกรณี และหากเป็นการสั่งลงโทษตาม (3) คือ ลงโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกิน 50,000 บาทหรือทั้งจําทั้งปรับ ให้องค์คณะอื่นที่มิใช่องค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีนั้นเป็นผู้พิจารณาและสั่งลงโทษ” อีกด้วย
 
นอกจากนี้ รายงานการศึกษาวิจัยของผศ.ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล และคณะ เรื่องหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในกรณีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เสนอว่า การกำหนดอำนาจของศาลยุติธรรมในลักษณะเดียวกับศาลปกครอง จะทำให้ศาลรักษาความสงบและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงทำให้ขอบเขตการใช้อำนาจจะมีความชัดเจนและสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน
 
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การกำหนดมาตรการลงโทษจำคุกในระยะเวลาที่สั้นกว่านั้นไม่ได้ทำให้วัตถุประสงค์เรื่องการควบคุมการพิจารณาคดีให้เป็นไปโดยสงบเรียบร้อยไม่มีประสิทธิภาพแต่อย่างใด และมาตรการดังกล่าวยังจำกัดสิทธิน้อยกว่าเมื่อพิจารณาในเชิงเปรียบเทียบ
 
 
(3) ไม่สอดคล้องกับหลักความจำเป็น เนื่องจากนักกฎหมายในอดีตหลายคนระบุ มีมาตรการอื่นที่ลิดรอนสิทธิน้อยกว่า
 
รายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นักกฎหมายในอดีตหลายคนได้แสดงความความกังวลต่อโทษจำคุกที่สูงถึง 6 เดือน ของฐานความผิดละเมิดอำนาจศาลไว้หลายครั้ง เช่น
 
การประชุมครั้งที่ 376-10/2515 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2515 ศ.ดร.หยุด แสงอุทัย แสดงความกังวลต่อการเปิดช่องให้ศาลใช้ดุลพินิจสั่งลงโทษคุมขัง 6 เดือนได้ทันที เนื่องจากศาลเป็นผู้กล่าวโทษเอง-เป็นผู้วินิจฉัยเอง รวมทั้งได้ยกตัวอย่างจากเยอรมัน ที่ศาลมีอำนาจเพียงการไล่ผู้กระทำผิดออกไปนอกบริเวณศาล หรือกักขังไม่เกิน 24 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ก็สามารถควบคุมการพิจารณาคดีให้เรียบร้อยได้
 
ในขณะที่เล็ก จุณณานนท์, สมภพ โหตระกิตย์, หลวงสารนัยประสาสน์ และหลวงจำรูญเนติศาสตร์ ก็แสดงความกังวลต่อโทษจำคุก 6 เดือนว่ารุนแรงเกินไปเช่นกัน โดยหลวงสารนัยประสาสน์ เสนอว่าควรมีโทษเพียงกักบริเวณ และหลวงจำรูญเนติศาสตร์เห็นว่าควรมีการเพิ่มโทษปรับและลดโทษจำคุก
 
นอกจากนี้ รายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง นักกฎหมายหลายคนยังเสนอให้การบัญญัติมาตรการที่เกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลนั้น ศาล ‘ต้อง’ ใช้วิธีการตักเตือนก่อนจะนำไปสู่การลงโทษจำคุกซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างร้ายแรง
 
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ยังมีมาตรการอื่นให้ศาลได้ใช้ดุลยพินิจในการเลือกใช้ ซึ่งลิดรอนเสรีภาพของประชาชนน้อยกว่าไม่ว่าจะเป็นการตักเตือนก่อน, เพิ่มโทษปรับ, ลดโทษจำคุก หรือคุมขังเพียง 24 ชั่วโมง
 
 
(4) ไม่สอดคล้องกับหลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ เนื่องจากก่อให้เกิดการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนเกินกว่าประโยชน์เรื่องการพิจารณาคดีได้อย่างสงบเรียบร้อยและคุ้มครองศาล
 
กล่าวคือ แม้ว่าจะมีการยกเลิกโทษจำคุกที่สูงถึง 6 เดือนไป ก็ไม่อาจทำให้ประชาชนและทนายความขาดความเคารพศาล รวมทั้งยังมีมาตรการอื่นๆ เช่น มาตรา 33 วรรคสอง (ก) ที่ระบุให้ไล่ออกจากบริเวณศาลในกรณีที่จะเกิดความไม่สงบเรียบร้อยนั้น ก็เพียงพอแล้วที่จะควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาไปได้อย่างสงบเรียบร้อย
 
โดยในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ครั้งที่ 376-10/2515 หลวงจำรูญเนติศาสตร์ได้เคยยกตัวอย่างและตั้งคำถามว่า "หากมีผู้ปารองเท้าขึ้นไปบนบัลลังก์ในระหว่างพิจารณาคดี และศาลลงโทษ 6 เดือน จะสามารถเรียกความศักดิ์สิทธิ์คืนมาได้หรือ?" แสดงให้เห็นถึงความไม่สัมพันธ์กันระหว่างประโยชน์สาธารณะเรื่องการคุ้มครองผู้พิพากษา หรือการควบคุมการพิจารณาให้เป็นไปโดยสงบเรียบร้อย
 
 
(5) ไม่สอดคล้องกับหลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ เนื่องจากประชาชนถูกจำกัดเสรีภาพอย่างร้ายแรง และต้นทุนทางสังคมที่รัฐต้องเสียไปจากโทษจำคุกมีมากกว่าประโยชน์เรื่องการควบคุมกระบวนพิจารณา
 
การกำหนดการกระทำใดให้เป็นโทษจำคุกนั้น องค์กรนิติบัญญัติจำต้องคำนึงถึงหลักการกำหนดความผิดทางอาญา โดย Helbert L. Packer นักกฎหมายอาญาของสหรัฐอเมริกา เห็นว่า ความผิดอาญาควรสงวนไว้ใช้กับความผิดร้ายแรงเพื่อลงโทษผู้ที่กระทำความผิดอย่างชั่วร้ายและเพื่อป้องกันอาชญากรรมเท่านั้น
 
อีกทั้งรายงานการศึกษาวิจัยเรื่อง ‘หลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในกรณีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล’ ของผศ. ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิลและคณะ มีความเห็นว่า การกำหนดโทษจำคุกถึง 6 เดือนนั้นสร้างภาระต่อรัฐ เนื่องจากรัฐต้องออกค่าใช้จ่ายในการดูแลสถานที่/ผู้ถูกคุมขัง/ผู้ดูแล ฯลฯ ประกอบกับปัญหา ‘ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ’ ที่ก่อให้เกิดปัญหาภาระงบประมาณ ความเป็นอยู่และอนามัยในเรือนจำ ซึ่งผู้วิจัยเสนอว่า การลดโทษจำคุกให้เป็นไม่เกิน 1 เดือน ก็น่าจะเหมาะสมและได้สัดส่วน
 
นอกจากนี้ บทความเรื่อง “ข้อสังเกตเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาล” ของวารสารอัยการ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2521 กุลพล พลวัน อัยการอาวุโส อดีตอธิบดีอัยการฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย มีความเห็นว่า บทลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลอาจทำให้องค์กรตุลาการใช้กฎหมายไม่สมวัตถุประสงค์หลัก โดยการลงโทษอาจเป็นไปเพื่อยืนยันถึงอำนาจของศาลหรือทำให้เกิดความยำเกรง แม้ว่าการกระทำบางลักษณะจะไม่อยู่ในขอบเขตของความผิดก็ตาม
 
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยว่า บทบัญญัติดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 และไม่อาจนำมาใช้บังคับกับผู้ร้องในคดีได้
 
 
 

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
29 เมษายน 2564 
 
เวลา 12.00 น. ที่ศาลอาญา แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนัดรวมตัวกันเพื่อให้กำลังใจราษมัมและทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่จะยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาคดีการเมือง 7 คนคือ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ที่อดอาหารมา 45 วันและมีรายงานอาการถ่ายเป็นชิ้นเนื้อและลิ่มเลือด, รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุลที่อดอาหารมา 30 วัน, อานนท์ นำภา, ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก, แอมมี่-ไชยอมร แก้ววิบูลพันธ์, จัสติน-ชูเกียรติ แสงวงค์ ซึ่งติดโรคโควิด 19 จากแดนแรกรับของเรือนจำ และพอร์ท-ปริญญา ชีวินกุลปฐม หรือ พอร์ท ไฟเย็น
 
ตัวแทนแนวร่วมฯ เตรียมกิจกรรมจะยื่นจดหมายถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาขอให้คำนึงถึงหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ (presumption of innocence) และคืนสิทธิ์ให้ประกันตัวให้ผู้ต้องหาคดีการเมืองที่อยู่ระหว่างการพิจารณา พร้อมกับรายชื่อของผู้คนที่ลงชื่อแนบท้ายมาทางเว็บไซต์จำนวน 11,035 รายชื่อ การชุมนุมในวันนี้มีคนมาร่วมประมาณ 200-300 คน โดยส่วนใหญ่จะนั่งอยู่บริเวณบันไดทางขึ้นอาคารศาลอาญา ซึ่งตำรวจจากสน.พหลโยธิน เอารั้วเหล็กมาวางกั้นทางขึ้นโดยรอบ ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ได้ข้ามรั้วเพื่อจะเข้าไปที่อาคารศาลอาญา
 
กิจกรรมวันนี้ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เตรียมเครื่องเสียงที่เป็นลำโพงลากมาด้วย 1 ชุด และมีการปราศรัยเป็นระยะๆ ไม่ต่อเนื่อง กลุ่ม Free Arts ชูป้ายไวนิลข้อความว่า "45 วัน #คืนสิทธิการประตัวโดยไม่มีเงื่อนไข" มีมวลชนร่วมกันชูสามนิ้วและตะโกนว่า ปล่อยเพนกวิน
 
เวลา 13.44 น. สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเดินทางมาพร้อมกับจดหมายและเอกสารรายชื่อแนบท้ายปึกใหญ่ โดยมีการนำป้ายผ้าข้อความว่า "รัฐโจรถ่อยปล่อยเพื่อนเรา" ชูที่ด้านหน้าศาล เบนจาเรียกร้องให้ตัวแทนอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาออกมารับจดหมายและรายชื่อ จนกระทั่งเวลา 13.50 น. ยังไม่มีผู้ออกมารับจดหมาย มวลชนตะโกนว่า ออกมาๆ เบนจาบอกว่า ออกมาเถอะ ฟังเสียงประชาชนบ้าง ถ้าไม่ออกมาจะปักหลักอยู่ตรงนี้เพื่อแสดงเจตนารมณ์
 
14.11 น. ตำรวจถามว่า ใครเป็นตัวแทนมายื่นหนังสือกับศาลอาญา เมื่อเบนจาแสดงตัว ตำรวจบอกว่า ตำรวจจะอาสาเป็นตัวกลาง เบนจาประกาศว่า ต้องการให้ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ออกมารับจดหมายด้วยตัวเอง แต่ทางศาลได้เตรียมให้รองผู้อำนวยการสำนักอำนวยการออกมารับหนังสือ เบนจาไม่ยอมและยืนยันว่า จะให้ชนาธิปออกมาพบปะกับประชาชนที่ด้านหน้าอาคารศาลอาญา 
 
14.59 น. เบนจาอ่านท่อนสุดท้ายของกวีมหาตุลาการ "หากรับใช้ ใบสั่ง ดั่งกาลี ตุลาการ เช่นนี้  อย่ามีเลย!" และเดินขึ้นบันไดศาลอาญาและโปรยกระดาษรายชื่อของประชาชนที่ลงชื่อทางอินเทอร์เน็ต และเดินโปรยไปทั่วๆ บริเวณบันไดทางขึ้นศาลอาญา โดยมีผู้ชุมนุมตะโกนว่า "ปล่อยเพื่อนเราๆๆ" มีช่างภาพและสื่อมวลชนตามถ่ายภาพ แต่ไม่ได้มีตำรวจหรือเจ้าหน้าที่คนใดเข้ามาห้ามหรือพยายามหยุดการกระทำนี้ ไม่มีผู้ชุมนุมคนอื่นที่ข้ามรั้วเข้ามาและแสดงออกเช่นเดียวกัน เมื่อโปรยกระดาษรายชื่อหมด เบนจาก็กล่าวปราศรัยและกลับไปนั่งรอฟังคำสั่งศาล 
 
ดูรายละเอียดกิจกรรมวันดังกล่าวเพิ่มเติมได้ทาง เว็บไซต์ม็อบดาต้าไทยแลนด์ 
 
ต่อมาเวลา 18.03 น. ศาลอาญายกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวทั้ง 7 คน โดยสั่งในลักษณะเดียวกันว่า ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
 
 
27 พฤษภาคม 2564
 
ที่ศาลอาญา ศาลนัดไต่สวนเบนจา ในคดีละเมิดอำนาจศาลที่ ลศ 6/2564 แต่เนื่องจากเบนจาอยู่ในระหว่างช่วงกักตัวตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 ศาลจึงเลื่อนนัดหมายการไต่สวนไปในวันที่ 21 มิถุนายน 2564 เวลา 13.30 น.
 
 
21 มิถุนายน 2564 
 
เวลา 13.30 น. ศาลอาญานัดไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาลของเบนจา อะปัญ บรรยากาศโดยทั่วไปที่ศาลอาญา มีการวางมาตรการคัดกรองผู้เข้าออกอาคารศาล ผู้ที่จะเข้าอาคารศาลต้องผ่านจุดคัดกรองที่บริเวณลานจอดรถ ซึ่งจะมีผู้คัดกรองเป็นเจ้าพนักงานตำรวจศาล ให้ตรวจวัดอุณหภูมิจากนั้นสอบถามรายละเอียดการมาศาลอาญาคดีใดและขอตรวจบัตรประชาชน เมื่อผ่านเข้ามาแล้วจะมีตำรวจจากสน.พหลโยธินวางกำลังอยู่หลวมๆ ประมาณ 5 นาย
 
ที่ห้องพิจารณาคดี 807 มีจุดคัดกรองอีก 1 จุด เป็นการดูแลของตำรวจศาล 4 นาย ตำรวจกล่าวอย่างสุภาพต่อผู้ที่จะเข้าห้องพิจารณาว่า หากจะเข้าห้องให้ปิดเสียงโทรศัพท์และฝากไว้ที่โต๊ะ ซึ่งตั้งอยู่ภายในห้องพิจารณา ด้านในมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำศาลอยู่ไม่น้อยกว่า 2 นาย  การตั้งจุดคัดกรองเช่นนี้ไม่ปรากฏที่ห้องพิจารณาคดีหมิ่นประมาทที่พรรคก้าวไกลฟ้องหมิ่นประมาทณฐพร โตประยูร ซึ่งอยู่ใกล้เคียงและเกิดขึ้นในวันเดียวกัน รวมถึงการพิจารณาคดีอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองด้วย
 
เวลา 13.06 น. เบนจาพร้อมด้วยทนายความมาถึงห้องพิจารณา แต่เนื่องจากวันนี้มีคดีอื่นที่ไต่สวนในเวลาเดียวกัน จึงรอให้การไต่สวนอีกคดีหนึ่งเสร็จก่อน
.
เวลา 14.15 น. ศาลพิจารณาไต่สวนคดีของเบนจา เมื่อผู้สังเกตการณ์และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าไปที่ห้องพิจารณาคดี นั่งเว้นระยะห่าง ศาลถามเจ้าหน้าที่รายหนึ่งว่า คนที่เข้ามาในศาลเป็นใคร เจ้าหน้าที่รายหนึ่งตอบว่า มาจากไอลอว์ ศาลพูดว่า “บอกแล้วไงไอลอว์ให้เข้าแค่คนเดียว เดี๋ยวไปจดบิดเบือนอีก” และให้คนที่อยู่ภายในห้องออกไปทั้งหมด จากนั้นตำรวจศาลเข้ามาขอให้คนที่ยังหลงเหลืออยู่ในห้องพิจารณาคดีออกไปอีกครั้ง ผู้สังเกตการณ์แจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจศาลอีกครั้งว่า ศาลอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ไอลอว์อยู่ได้ 1 คน ตำรวจศาลจึงเข้าใจ
 
จากนั้นศาลอ่านข้อกำหนดห้ามบันทึกภาพและเสียง และรายละเอียดในห้องพิจารณาคดี เว้นแต่ได้รับอนุญาตให้คัดถ่ายสำนวนและเอกสาร ข้อกำหนดนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกันที่ใช้ในคดีละเมิดอำนาจศาลทร่เกิดขึ้นในสัปดาห์เดียวกัน 3 คดี คือ คดีของเลิศศักดิ์และไดโน่เหตุวันที่ 8 มีนาคม 2564, คดีของเบนจาและณัฐชนน เหตุวันที่ 30 เมษายน 2564 และคดีของพิสิฏฐ์กุล เหตุวันที่ 29 เมษายน 2564 
 
ต่อมาทนายความยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาส่งความเห็นหรือคำโต้แย้งของผู้ถูกกล่าวหาให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า ประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 หรือไม่ซึ่งศาลจะนำมาใช้บังคับกับคดีนี้ไม่ได้ตามมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ ศาลรับไว้พิจารณา โดยกล่าวว่าจะขอปรึกษาก่อน จากนั้นเริ่มการไต่สวนพยาน
 
๐ พยานปากที่หนึ่ง ชวัลนารถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา
 
ชวัลนารถเบิกความว่า ขอให้การตามรายงานและวัตถุพยานที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมวันที่ 29 เมษายน 2564 ซึ่งมีการอ้างส่งศาลไปแล้ว ศาลอนุญาตให้ทนายจำเลยถาม สรุปความได้ว่า วันเกิดเหตุคือ วันที่ 29 เมษายน 2564 เธออยู่ระหว่างการทำงานที่บ้านและเข้ามาที่ศาลอาญาในเวลาประมาณ 16.30 น. ทราบว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสน.พหลโยธินเข้ามาดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่ศาลอาญา แต่จะมีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนอยู่ด้วยหรือไม่นั้น เธอไม่ทราบ ในวันดังกล่าวมีประชาชนทั่วไปเข้ามาที่ศาลอาญา ซึ่งก่อให้เกิดความไม่สะดวกเนื่องด้วยการรวมตัวของผู้ชุมนุม หลังศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ผู้ชุมนุมก็ออกจากพื้นที่ศาลอาญาในเวลาประมาณ 19.00 น. โดยไม่มีเหตุความไม่เรียบร้อยอื่นๆ
 
มีตอนหนึ่งศาลอีกท่านหนึ่งถามเบนจาเรื่องการศึกษา ทนายจำเลยบอกว่า เรียนอยู่ปีสอง ซิ่วมาจากจุฬาฯ ศาลถามว่า ซิ่วมาทำไม ทำไมไม่เรียนที่จุฬา เบนจาตอบว่า ก็หนูไม่อยากเรียนที่นั่น ศาลถามต่อว่า ตอนที่เรียนจุฬาฯ เรียนวิศวะฯสาขาอะไร และที่ธรรมศาสตร์ สาขาอะไร เบนจาตอบว่า ที่จุฬาฯ สาขาโลหะฯ ที่ธรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกล
 
มีตอนหนึ่งศาลหันไปเห็นทนายความและทีมงานอีกคนหนึ่งกำลังจดบันทึกอยู่ ศาลจึงถามว่า "จดอะไร ที่จดๆไปห้ามเผยแพร่นะ เข้าใจเรื่องสิทธิและหน้าที่ด้วย"
 
๐ พยานปากที่สอง พ.ต.ท. ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รองผู้กํากับการป้องกันปราบปราม สน. พหลโยธิน
 
พ.ต.ท. ศักดิ์ชัยเบิกความว่า ขอให้การตามรายงานการสืบสวนที่ได้นำส่งต่อศาลไปแล้วและกล่าวเพิ่มเติมว่า วันเกิดเหตุเขามาที่ศาลอาญาตามการขอความร่วมมือเพื่อดูแลความไม่สงบเรียบร้อย ผู้ชุมนุมมีการรวมตัวกัน โดยเบนจาฝ่าแนวแผงเหล็กกั้นที่ขอบมุกศาลอาญาเข้าไป แต่ไม่ได้เข้าไปถึงประตูทางเข้าอาคารศาลอาญา
 
ระหว่างการสืบพยานปากนี้ มีตอนหนึ่งศาลพูดว่า อาคารศาลนั้นนับเริ่มตั้งแต่มุกศาลอาญาแล้ว
 
๐ พยานปากที่สาม เบนจา อะปัญ ผู้ถูกกล่าวหา
 
เมื่อเบนจานั่งที่คอกพิจารณา ตำรวจศาลก็เข้ามาเพิ่มเป็น 3 นาย และขยับไปที่ม้านั่งพิจารณาคดีด้านหน้าสุด ด้านซ้ายเป็นตำรวจหญิง 1 คนนั่งอยู่ก่อนแล้วแต่นั่งที่ม้านั่งแถวหลังสุดด้านซ้าย แล้วขยับไปนั่งม้านั่งแถวหน้าสุดด้านซ้าย / ตรงกลางทางเดิน เป็นตำรวจหญิง ยืนขึ้นในท่าทีเอามือไขว้หลัง และขวาสุดเป็นตำรวจชาย 1 คน นั่งอยู่ก่อนแล้ว
 
เบนจากล่าวต่อศาลว่า เธอไม่มีศาสนา ทนายจำเลยจึงให้กล่าวตาม เบนจาถามศาลว่า เหตุใดจึงต้องสาบานตน ศาลอธิบายว่า การสาบานตนนั้นเป็นไปตามกฎหมายบัญญัติไว้ ถ้าไม่สาบานตนก็เบิกความไม่ได้ เบนจาจึงกล่าวสาบานตนตามที่ทนายจำเลยกล่าวนำ เธอกล่าวตามทุกประโยค ยกเว้นประโยคที่กล่าวว่า หากให้การตามความเป็นจริง ขอให้มีความสุขความเจริญ เธอกล่าวแทนว่า หากให้การตามความเป็นจริง ขอให้ประเทศมีประชาธิปไตย ศาลพูดว่า มันมีอยู่แล้ว
 
หลังจากนั้นจึงเริ่มทำการเบิกความ สรุปได้ว่า ขอให้การตามคำเบิกความที่นำส่งศาล และเบิกความเพิ่มเติมว่า เธอเป็นเพื่อนกลุ่มเดียวกันกับเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ และรุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล วันเกิดเหตุเธอมาถึงศาลเวลาประมาณ 14.00 น. เนื่องจากฝนตกที่รังสิต การมาศาลของเธอเพื่อนำจดหมายจากแคมเปญ “ราชอยุติธรรม” มายื่นต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาแต่อธิบดีผู้พิพากษาไม่ได้ลงมารับ ในเนื้อหาคำปราศรัยวันเกิดเหตุมีคำกล่าว เช่น การกล่าวบทกวีมหาตุลาการของทนายอานนท์ นำภาและคำกล่าวเกี่ยวเรื่องคืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษาของ ‘ผู้พิพากษาที่ยิงตัวตาย’ [เธอจำชื่อและนามสกุลผู้พิพากษาที่แน่ชัดไม่ได้] ศาลบอกว่า แล้วรู้ไหมว่า ผู้พิพากษาคนดังกล่าวทำผิดระเบียบอะไรและมีประวัติอย่างไร ส่วนคำว่า ขี้ข้าเผด็จการนั้นไม่ได้เป็นการกล่าวถึงศาล แต่วิจารณ์โครงสร้างของประเทศนี้ เกี่ยวเนื่องกับการปกครองประเทศของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
 
เบนจายอมรับว่า โปรยกระดาษจริง ทำไปเพื่อเรียกร้องเรื่องสิทธิการประกันตัว เพราะเพื่อนของเธอถูกศาลจำคุกมาเป็นเวลาหนึ่งแล้ว ยกตัวอย่างเช่น เพนกวิน-พริษฐ์ ที่ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 เบนจายกตัวอย่างว่า กลุ่มกปปส. แม้ศาลตัดสินแล้วยังให้ประกันตัวได้ หลังโปรยกระดาษเสร็จเธอเก็บกระดาษเพราะรู้สึก “เสียดายกระดาษ” โดยในการเข้าร่วมชุมนุมไม่ได้มีการพกพาอาวุธ
 
มีตอนหนึ่งศาลโต้เถียงกับเบนจา ศาลถามว่า มาพูดว่า ศาลอัปปรีย์แบบนี้ได้อย่างไร เบนจาตอบว่า หนูไม่ได้พูดว่า อัปปรีย์ ทนายจำเลยอธิบายต่อเรื่องเนื้อหาที่เบนจาพูดว่า มาจากบทกวีมหาตุลาการ คำว่า ขี้ข้าเผด็จการ คือ กล่าวถึงโครงสร้างของประเทศนี้ ที่เกี่ยวข้องกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีตอนหนึ่งเบนจากล่าวถึงหลักการ “Presumption of innocence” ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ ศาลบอกว่า ท่องได้มาตราเดียวใช่ไหม เบนจาบอกว่า ใช่ เพราะหนูไม่ได้เรียนกฎหมายมา
 
มีตอนหนึ่งเบนจากล่าวว่า ทำไมคดีกปปส. ศาลมีคำตัดสินแล้วถึงให้ประกันตัว ศาลพูดว่า แล้วกปปส.กระทำซ้ำหรือไม่ เบนจาตอบว่า แล้วเพื่อนหนูทำผิดอะไร มีตอนหนึ่งศาลพูดทำนองว่า อ๋อ ถ้ายังงั้นเวลาไปต่อว่าใครหน้าบ้านก็ได้สินะ
 
มีตอนหนึ่งทนายจำเลยถามว่า หลังจากโปรยกระดาษ จำเลยก็เก็บใช่ไหม เบนจาตอบว่า หนูเห็นคนอื่นเขาเก็บกัน หนูก็เข้าไปเก็บ หนูเสียดายกระดาษ ทนายจำเลยแสดงท่าทีเหมือนจะถามอีกครั้ง ศาลบอกว่า ไม่ต้องแล้วก็เขาบอกว่า เสียดายกระดาษ
 
เวลา 15.20 น. เสร็จสิ้นการไต่สวน ศาลออกไปปรึกษากับศาลท่านอื่น จากนั้นกลับมาเวลาประมาณ 15.40 น. และแจ้งว่า ศาลพิเคราะห์เรื่องคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีการไต่สวนเพื่อมีคำวินิจฉัยกรณีประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลอาญาจะส่งคำร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ และนัดเพื่อฟังคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งวันที่ 30 สิงหาคม 2564 เวลา 13.30 น.
 
มีตอนหนึ่งศาลถามเรื่องกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญ ทนายจำเลยบอกว่า ใช้เวลาประมาณสองเดือน ถ้ารับก็จะใช้เวลาพิจารณาคดีประมาณ 1 ปี ศาลอีกคนหนึ่งกล่าวว่า "เรียนจบพอดี" จากนั้นจึงออกนัดหมายนัดพร้อมเพื่อฟังคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ
 
ศาลอนุญาตให้คัดถ่ายเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดีได้และมีการออกหมายขัง ขอให้ทนายจำเลยไปทำเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราว ทนายจำเลยวางหลักทรัพย์ประกันตัวของเบนจาในคดีนี้เป็นเงิน 10,000 บาท
 
 
20 ตุลาคม 2564 
 
เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-16/2564 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2564 เรื่องประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 หรือไม่ โดยมีคำวินิจฉัย ดังนี้ 
 
1. ข้อโต้แย้งแรกที่ระบุว่า บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 นั้นเป็นการให้ดุลพินิจแก่ศาลในการกำหนดโทษจำคุกสูงสุดได้หกเดือนโดยไม่มีมาตรการอื่น ๆ ก่อนและเป็นการกำหนดโทษรุนแรง ทั้งที่มีมาตรการจำกัดสิทธิน้อยกว่า ไม่สอดคล้องกับหลักความจำเป็นและทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนต้องถูกจำกัดอย่างรุนแรง
 
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ศาลอาจใช้ดุลพินิจสั่งลงโทษจำคุก หรือปรับผู้กระทำละเมิดอำนาจศาล หรือจะสั่งลงโทษทั้งสองวิธีก็ได้ ไม่ใช่สั่งลงโทษด้วยการจำคุกโดยทันที โดยกฎหมายกำหนดให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจเลือกวิธีลงโทษผู้กระทำความผิดให้เป็นมาตรการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับหลักความจำเป็น
 
2. ข้อโต้แย้งต่อมาว่าด้วย โทษของการละเมิดอำนาจศาลตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 ที่ให้อำนาจศาลลงโทษจำคุกได้ไม่เกินหกเดือน ไม่สอดคล้องกับหลักความจำเป็น เพราะไม่ใช่มาตรการจำกัดสิทธิน้อยที่สุดเมื่อเปรียบกับการกำหนดโทษในต่างประเทศ รวมถึงโทษจำคุกตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 64 ที่กำหนดให้ศาลลงโทษจำคุกได้ไม่เกินหนึ่งเดือน
 
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การกำหนดอัตราโทษฐานละเมิดอำนาจศาลในแต่ละประเทศย่อมมีความแตกต่างกันไปตามสภาพของสังคมและบุคคลในประเทศนั้นๆ โดยการกำหนดโทษย่อมมีเหตุผลความจำเป็นหรือความเหมาะสมในแต่ละเรื่องแต่ละกรณี ดังนั้นศาลสามารถใช้ดุลพินิจสั่งลงโทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นสูงที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ หรือไม่ลงโทษก็ได้ ทั้งนี้เป็นไปตามความจำเป็นและเหมาะสมแก่พฤติการแห่งคดี
 
3. ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า โทษของความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้นเป็นมาตรการที่เหมาะสมทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมายและจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเท่าที่จำเป็น ได้สัดส่วนระหว่างประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ส่วนรวมที่จะได้รับเมื่อเทียบกับสิทธิหรือเสรีภาพที่ประชาชนจะต้องสูญเสียไป แม้บทบัญญัติจะมีลักษณะจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอยู่บ้าง แต่ไม่ได้เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควร เป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้นประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560
 
 
 
 
1 พฤศจิกายน 2564
 
ศาลนัดฟังคำสั่งในเวลา 13.30 น. ที่หน้าห้องพิจารณาคดีมีเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลวางกำลังที่หน้าห้องอยู่ตลอดเวลา โดยผู้พิพากษาในคดีนี้ไม่ได้สั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ แต่อนุญาตให้เพียงเบนจา, ทนายความและผู้อํานวยการสํานักอํานวยการประจําศาลอาญา ไม่ให้ผู้สังเกตการณ์เข้าไปภายในห้อง อ้างเหตุการแพร่ระบาดของโควิด 19
 
เวลา 13.40 น. เบนจา ซึ่งถูกคุมขังอยู่ด้วยคดีมาตรา 112 ถูกเบิกตัวมาที่ห้องพิจารณาคดี เธอทักทายกับผู้มารอให้กำลังใจด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม เวลา 14.00 น. ศาลอาญามีคำสั่งลงโทษจำคุกเบนจาในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นเวลาหกเดือน โดยไม่รอการลงโทษ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีให้ข้อมูลว่า ศาลมีคำสั่งลงโทษเบนจาในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลด้วยอัตราโทษสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ พร้อมให้เหตุผลโดยสรุปได้ว่า
 
ข้อเท็จจริงในคดีเป็นที่ยุติว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ส่งเสียงดัง ก่อความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งเนื้อหาของกลอนที่ผู้ถูกกล่าวหาก็มีลักษณะเป็นการประณาม ใส่ร้ายดูหมิ่นตุลาการ ทั้งคำให้การของผู้ถูกกล่าวหาก็ไม่ลักษณะไม่สำนึกในการกระทำ ไม่มีเหตุบรรเทาโทษ
 
หลังเดินออกจากห้องพิจารณาคดี เมื่อเบนจาเดินมาเห็นทนายความ เอฟ-ชลทิศ โชติสวัสดิ์ จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมและวาดดาว ชุมาพร แต่งเกลี้ยงจากเฟมินิสต์ปลดแอก เบนจาก็ร้องไห้ออกมา วาดดาวเดินเข้าไปปลอบ "เมื่อไหร่มันจะจบ" คือหนึ่งในคำที่เบนจาพูดออกมาพร้อมตัดพ้อและตั้งคำถามว่า เหตุใดผู้ที่ทำรัฐประหารยึดอำนาจจึงไม่ถูกดำเนินคดีแบบนี้
 
เบนจาร้องไห้อยู่ครู่หนึ่ง เมื่อเธอสงบลงก็พูดว่า ขาเป็นของเธอและเป็นสิทธิของเธอที่จะเดินหรือไม่เดิน อย่างไรเสียเจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจเหนือร่างกายของเธออยู่แล้วจะควบคุมตัวอย่างไรก็ทำ ระหว่างนั้นเมื่อมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งทำท่ายกโทรศัพท์ขึ้นมาถ่าย เบนจาก็ตอบว่า ถ่ายไปส่งนายพี่เถอะ พร้อมพูดว่า พี่จะลากหนูก็ลากไปเถอะ หนูจะไม่เดิน จะยืนตรงนี้ หนูก็ไม่ได้ทำร้ายใคร ถ้าพี่จะลากหนูก็ลากไปจะไม่ขัดขืน
 
จากนั้นเบนจาก็นอนคว่ำราบลงไปกับพื้นครู่หนึ่งก่อนจะลุกขึ้นมานั่งขัดสมาธิบนพื้น ท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่จึงนำรถเข็นผู้ป่วยขึ้นมา เจ้าหน้าที่หญิงสองคนใช้เวลาอยู่ครู่หนึ่งจึงสามารถนำเบนจาขึ้นมานั่งบนรถเข็นได้ก่อนจะค่อยๆ พาเธอไปที่ทางขึ้นลงของผู้ถูกควบคุมตัว ก่อนจะเข้าไปที่ส่วนควบคุม เบนจาพูดด้วยเสียงที่ดังระดับหนึ่งว่า "ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎรจงเจริญ"
 
 
17 มกราคม 2566 
 
ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาของศาลปกครอง โดยนัดพร้อมกันกับคดีของณัฐชนนท์
 
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าขณะเกิดเหตุ ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเพียงนักศึกษากำลังจะขึ้นชั้นปีที่ 2 และต้องถูกคุมขังในคดีนี้เป็นเวลา 2 เดือน 13 วัน โทษที่ศาลชั้นต้นเคยพิพากษาจำคุก 6 เดือนนั้น ให้แก้เป็นจำคุก 1 เดือน ทั้งผู้ถูกกล่าวหาไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังเป็นเวลา 1 เดือนแทน 
 
ในคดีนี้ ขณะศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำคุก เบนจาได้ถูกคุมขังอยู่จากคดีอื่นอยู่แล้ว โทษจำคุกของศาลชั้นต้นในคดีนี้จึงได้ถูกนับตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ซึ่งในขณะนั้นเบนจาถูกคุมขังอยู่เป็นระยะเวลานานถึง 2 เดือน 13 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ถึงวันที่ 13 มกราคม 2565 หลังศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้ว เบนจาจึงไม่ต้องถูกควบคุมตัวเพิ่มอีก
 
 

คำพิพากษา

สรุปคำสั่งศาลชั้นต้น
 
ศาลได้เท้าความถึงกรณีเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ชวนกันมาทำกิจกรรมยื่นจดหมายราชอยุติธรรม พร้อมทั้งยืนอ่านกลอนตุลาการภิวัติ ที่ศาลอาญา โดยมีกลุ่มบุคคลดังกล่าวเข้ามาบริเวณศาล รวมตัวกันอยู่ที่บริเวณบันไดทางขึ้นหน้าศาล ซึ่งมีการใช้เครื่องขยายเสียงและตะโกนข้อความ ปล่อยเพื่อนเรา โดยระหว่างที่มีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในศาลอาญา ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งร่วมในกลุ่มได้วิ่งผ่านแนวรั้วแผงเหล็กที่กั้นอยู่หน้าบันไดทางขึ้นศาลอาญา พร้อมโปรยแผ่นกระดาษและพยายามหลบหลีกเจ้าหน้าที่ศาลอาญา โดยขณะวิ่งและยังตะโกนสรุปข้อความว่า “ตุลาการเช่นนี้ อย่ามีเลย” และพูดผ่านเครื่องขยายเสียงข้อความอื่นด้วย
 
ศาลพิเคราะห์แล้ว แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 34, 44 ได้บัญญัติถึงสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น รวมถึงเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างก็ตาม แต่บทบัญญัติทั้งสองดังกล่าวยังได้บัญญัติอีกว่าสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวจะต้องถูกจำกัดโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ ฯ ยังได้บัญญัติถึงหน้าที่ของปวงชนชาวไทยในมาตรา 50 (3) ว่าบุคคลต้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และมาตรา 50 (6) บัญญัติว่าบุคคลมีหน้าที่เคารพและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น และไม่กระทำการใดที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม
 
ดังนั้นผู้ถูกกล่าวหาในฐานะบุคคลอันเป็นหนึ่งในปวงชนชาวไทย ย่อมต้องปฏิบัติ “หน้าที่” ควบคู่ไปกับการใช้สิทธิและเสรีภาพด้วย หาใช่จะใช้เฉพาะสิทธิและเสรีภาพเท่านั้นไม่ ข้อกำหนดของศาลอาญาว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา พ.ศ.2564 ถูกกำหนดมาเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่นมิให้ถูกล่วงล่วงละเมิดโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 อันเป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญฯ รองรับไว้ ซึ่งข้อกำหนดศาลอาญา ฯ ข้อ 1 กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดประพฤติตนใช้คำพูดหรือกริยาในทางที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ก่อความรําคาญ ส่งเสียงดัง หรือในทางประวิงให้การดำเนินกระบวนพิจารณาชักช้าหรือในทางฟุ่มเฟือยเกินสมควร หรือกระทำในลักษณะที่เป็นการยั่วยุจูงใจสนับสนุนใด ๆ ในการกระทำดังกล่าวในห้องพิจารณาหรือภายในบริเวณศาลอาญา รวมถึงการกระทำอย่างอื่นในทำนองเดียวกัน … ฯลฯ ข้อ 6 ห้ามมิให้นำหรือใช้โทรโข่งไมโครโฟนเครื่องขยายเสียง รวมถึงอุปกรณ์ขยายเสียงต่าง ๆ หรือการกระทำอย่างอื่นในทำนองเดียวกันภายในศาลอาญา หรือบริเวณรอบศาลอาญา เว้นแต่ได้รับอนุญาตตามข้อกำหนดของศาลอาญา ฯ
 
เมื่อข้อเท็จจริงตามทางไต่สวน ได้ความว่าผู้ถูกกล่าวหากับพวกประมาณ 300 คนได้พากันเข้ามาบริเวณอาคารศาลอาญาแล้วกล่าวถ้อยคำโดยใช้อุปกรณ์ขยายเสียงรวมถึงตะโกนและวิ่งโปรยกระดาษ อันมีลักษณะส่งเสียงดังก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ก่อความรำคาญ อีกทั้งถ้อยคำที่ผู้ถูกกล่าวหากล่าวและอ่านบทกลอนที่มีเนื้อหาที่ประณามใส่ร้ายและดูหมิ่นต่อการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาตุลาการ อันมีลักษณะก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา จึงเข้าข่ายไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 50 (3)(6) และเป็นการละเมิดข้อกำหนดของศาลอาญาข้อ 1 และข้อ 6 อันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
 
ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหา อ้างถึงการการอดอาหารและความเจ็บป่วยของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ก็ดี อ้างถึงเพื่อนของผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นจำเลยซึ่งศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวก็ดี อ้างว่าการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาตุลาการ ที่อาจกระทำโดยไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรมก็ดี อ้างว่าศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวนายพริษฐ์กับพวกอย่างไม่เป็นธรรมและแตกต่างกับกรณีที่ศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยในคดีของกลุ่ม กปปส. ก็ดี ล้วนเป็นความรู้สึกนึกคิดของผู้ถูกกล่าวหาเองทั้งสิ้นโดยขาดฐานความรู้และความเข้าใจในข้อกฎหมายอันเป็นหลักสากลที่ใช้กันในนานาอารยประเทศ อีกทั้งข้ออ้างของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวนี้ผู้ถูกกล่าวหาสามารถเรียกร้องขอความชอบธรรมได้ภายในกรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ ด้วยวิธีการที่ผู้เจริญหรือผู้มีอารยะปฏิบัติกัน โดยไม่จำเป็นที่จะต้องกระทำการละเมิดข้อกำหนดของศาลอาญา ข้อต่อสู้ทั้งหมดของผู้ถูกกล่าวหาฟังไม่ขึ้น
 
จึงมีคำสั่งว่า น.ส.เบนจา ผู้ถูกกล่าวหา มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.พ.) มาตรา 30, 31 (1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 15, 180 ให้ลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหามีกำหนด 6 เดือน
 
แม้ผู้ถูกกล่าวหา ให้การรับข้อเท็จจริงว่าได้กระทำการตามคำกล่าวหาก็ตาม แต่กลับต่อสู้ว่าการกระทำของตนไม่เป็นความผิด อันเป็นการแสดงว่าผู้ถูกกล่าวหามิได้สำนึกถึงการกระทำ ประกอบกับคำรับของผู้ถูกกล่าวหานั้นเป็นไปในทางจำนนต่อพยานหลักฐานที่ปรากฏแน่ชัด คำรับข้อเท็จจริงของผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่เป็นประโยชน์ในการพิจารณาอันจะเป็นเหตุบรรเทาโทษได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 จึงไม่ลดโทษให้
 
 
 
สรุปคำสั่งศาลอุทธรณ์
 
ประเด็นที่ 1 ข้อกำหนดของศาลอาญา ออกโดยอาศัยอำนาจ ป.วิ. แพ่ง ม.30  ครอบคลุมเฉพาะเหตุต่อหน้าขณะออกนั่งพิจารณาคดี และให้อำนาจเฉพาะผู้พิพากษาในคดีนั้นๆ ที่สามารถกำหนดโทษ “ละเมิดอำนาจศาล” ไม่ใช่อธิบดีของศาล 
 
ประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์ได้อ้างถึงข้อบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของผู้พิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ซึ่งได้บัญญัติหน้าที่ของผู้พิพากษาไว้ 7 ประการ ดังนี้
 
– พิจารณาพิพากษาคดีของศาลนั้นหรือเมื่อได้ตรวจสำนวนคดีได้แล้วมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้
– สั่งคำร้องขอต่างๆ ที่ยื่นต่อตนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ
– ระมัดระวังการใช้ระเบียบวิธีการต่างๆ ให้เป็นไปโดยถูกต้องเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเสร็จโดยเร็ว
– ให้คำแนะนำแก่ผู้พิพากษาในศาลนั้น หากเกิดข้อขัดข้องในการปฏิบัติหน้าที่
– ร่วมมือกับเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองจัดวางระเบียบและการดำเนินการงานส่วนธุรการของศาล
– ทำรายงานการคดีและกิจการของศาลส่งตามระเบียบ
มีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฏหมายกำหนด

โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่าตำแหน่งอธิบดีของศาลนั้นถือเป็นตุลาการและยังมีอำนาจในการพิจารณาคดีอีกด้วย พื้นที่ของศาลนั้นถือเป็นอำนาจของอธิบดีศาลในการบังคับใช้ข้อกำหนดเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ให้คู่ความเกิดความเดือดร้อน รำคาญ หรือฟุ่มเฟือยเวลาในการพิจารณาคดี ในกรณีนี้จึงไม่ใช่การที่อธิบดีของศาลใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฎหมายที่กำหนดไว้แต่อย่างใด 
 
ประเด็นที่ 2 สิทธิเสรีภาพฯ ชุมนุมโดยสงบต้องได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญฯ และประเด็นที่ 3 ชุมนุมโดยสงบ ไร้เหตุร้าย-อาวุธ-ความเสียหาย ไม่ได้รบกวนการพิจารณาคดี เป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญฯ 
 
ประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พิเคราะห์จากคำเบิกความ พยานหลักฐานจากแผ่นซีดี ได้ข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกกล่าวหาให้การยอมรับว่าได้พูดโจมตีศาลและกระทำการตามที่ถูกกล่าวหาจริง ในวันเกิดเหตุผู้ชุมนุมได้มารวมตัวกันอยู่บริเวณบันไดทางขึ้นศาล มีการฝ่าแนวกั้นรั้วบริเวณหน้าบันได้ทางขึ้นศาลเข้าไป มีการหลบหลีกเจ้าหน้าที่ โปรยกระดาษ และตะโกนวิพากษ์วิจารณ์ศาล เห็นว่าเป็นการสร้างความรำคาญ สร้างความเดือดร้อน ส่งเสียงดัง มีการวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะว่าศาลไม่มีความยุติธรรม หวังผลให้กระทบต่อการพิจารณาคดีและเพื่อกดดันต่อศาล
 
การกระทำดังกล่าวทำให้ศาลไม่สามารถพิจารณาคดีได้ตามปกติ เนื่องจากในวันเกิดเหตุมีประชาชนจำนวนมากเดินทางมาเข้ารับการบริการที่ศาล ขณะเดียวกันผู้ชุมนุมในวันดังกล่าวก็มีจำนวนมากถึง 300 คน จึงกระทบต่อประชาชนผู้มาใช้บริการที่ศาลในวันดังกล่าว 
 
ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าการกระทำดังกล่าวไปเป็นตามสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่มีความรุนแรง และไม่มีความเสียหายนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าแม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จะบัญญัติให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมในฐานะพลเมืองของประเทศ แต่ไม่ใช่ว่าสิทธิดังกล่าวจะถูกใช้ได้อย่างเสรี อาจถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขยกเว้นหลายประการ กรณีนี้เป็นการบังคับใช้ข้อกำหนดของศาลเพื่อความสงบเรียบร้อย  
 
ประเด็นที่ 3 ต่อสู้คดีตามสิทธิทางกฎหมาย ไม่ใช่ “ไม่สำนึก” ทั้งพฤติการณ์ไม่ร้ายแรง แต่ศาลลงโทษจำคุก “สูงสุด” ขัดหลักความได้สัดส่วน
 
ประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์เห็นว่าขณะเกิดเหตุ ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเพียงนักศึกษากำลังจะขึ้นชั้นปีที่ 2 และต้องถูกคุมขังในคดีนี้เป็นเวลา 2 เดือน 13 วัน โทษที่ศาลชั้นต้นเคยพิพากษาจำคุก 6 เดือนนั้น ให้แก้เป็นจำคุก 1 เดือน ทั้งผู้ถูกกล่าวหาไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังเป็นเวลา 1 เดือนแทน 
 
ในคดีนี้หลังศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ผู้ถูกกล่าวหาได้ถูกคุมขังเกินระยะเวลาของโทษดังกล่าวแล้ว ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาให้ไม่ต้องกักขังผู้ถูกกล่าวหาอีก และให้ปล่อยตัวไป 
 
นอกจากนี้ศาลอุทธรณ์ยังได้กลับคำสั่งในส่วนที่ขอให้นับโทษในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีละเมิดอำนาจศาล ลศ.12/2564 ซึ่งเป็นเหตุจากการเรียกร้องสิทธิการประกันตัว หน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นเหตุต่อเนื่องจากคดีนี้อีกด้วย เนื่องจากศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีการตรวจสอบว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นคนเดียวกันหรือไม่

 
 
 
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา