‘กัลยา’ : โพสต์เฟซบุ๊กตั้งคำถาม เดินทางไกลไปสุไหงโก-ลก

อัปเดตล่าสุด: 29/08/2565

ผู้ต้องหา

“กัลยา” นามสมติ

สถานะคดี

ชั้นศาลอุทธรณ์

คดีเริ่มในปี

2564

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ขณะกล่าวหามีอายุ 39 ปี มีที่อยู่ในอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส มีอาชีพเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ เคลื่อนไหวในนามเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (คปส.) นอกจากคดีนี้พสิษฐ์ยังกล่าวหาบุคคลอื่นๆ เป็นคดีทำนองเดียวกันที่สภ.สุไหงโก-ลกอีกจำนวนมาก ตำรวจที่สภ.สุไหงโก-ลก แจ้งอย่างไม่เป็นทางการว่ามีอย่างน้อย 20 คดี และมีคดีที่สั่งฟ้องต่อศาลโดยพสิษฐ์เป็นผู้กล่าวหาไปแล้ว 4 คดี

สารบัญ

'กัลยา' อายุ 27 ปี ทำงานอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีถูกกล่าวหาว่า หมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการโพสต์และคอมเมนท์เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 รวมสองกรรม คดีนี้มีพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ประชาชนทั่วไปเป็นผู้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสภ.สุไหงโก-ลก 'กัลยา' ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาว่า ไม่ได้โพสข้อความในคดีนี้ หลังสืบพยานเสร็จแล้วศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษาเชื่อว่าจำเลยมีความผิด ให้จำคุก 6 ปี จำเลยได้ประกันตัวตั้งแต่ชั้นสอบสวน จนกระทั่งหลังฟังคำพิพากษาชั้นต้น

ภูมิหลังผู้ต้องหา

'กัลยา' เป็นนามสมมติของหญิงอายุ 27 ปี ทำงานเป็นพนักงานบริษัทเอกชน อาศัยอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี เธอชื่นชอบทั้งเรื่องการเมืองและประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยเด็ก ชอบอ่านหนังสือหาความรู้รอบตัวและสนใจในด้านการเมืองมากขึ้นเมื่ออยู่มัธยมฯ มีความฝันอยากจะเข้าศึกษาในคณะนิติศาสตร์ แต่ครอบครัวก็ยังมีความเชื่อที่ทำให้รู้สึกกังวลว่า หากเรียนด้านนิติศาสตร์แล้วว่าความชนะคดีแต่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามแพ้อาจจะทำให้โดนฆ่าได้ 'กัลยา' จึงเลือกเรียนคณะรัฐประศาสนศาสตร์ เอกการเมืองการปกครองแทนเพื่อความสบายใจของครอบครัว
 
ในช่วงปี 2563-2564 'กัลยา' เป็นคนหนึ่งที่ร่วมเคลื่อนไหวกับราษฎรผ่านทั้งการไปเข้าร่วมการชุมนุม และการโพสต์ข้อความลงโซเชียล
 
ชวนรู้จัก 'กัลยา' เพิ่มเติมได้ทาง https://freedom.ilaw.or.th/node/998
 
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ตามคำฟ้องระบุทำนองว่า 'กัลยา' โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์สองกรรม ดังนี้
 
หนึ่ง เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 'กัลยา' ใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวที่ตัวที่ตั้งค่าเป็นสาธารณะคอมเมนท์ว่า "จะเป็นกษัตริย์ไปทำไม ในเมื่อเป็นคนยังไม่ได้เลย" โดยมีผู้กดถูกใจจำนวน 550 คนและมีการคอมเมนท์ตอบความเห็นของบุคคลอื่นว่า "วอร์มาปกรอแล้วเนี่ย" และ 'กัลยา' ได้แชร์โพสต์จากเพจชื่อว่า "ธนวัฒน์ วงค์ไชย-Tanawat Wongchai" และเขียนประกอบโพสต์ว่า "แน่จริงยกเลิกม.112 #แล้วจะเล่าให้ฟัง!!!" 
 
พนักงานอัยการบรรยายประกอบว่า การกระทำดังกล่าวประสงค์ให้บุคคลทั่วไปที่เข้ามาอ่านหรือพบเห็นเข้าใจว่า รัชกาลที่สิบเป็นคนยังไม่ได้จะเป็นกษัตริย์ไปทำไม อันเป็นการดูถูก เหยียดหยาม ด่าทอ สบประมาทรัชกาลที่สิบด้วยถ้อยคำหยาบคายและเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ชื่อเสียงถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง มีเจตนาเพื่อทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เป็นที่เคารพสักการะ 
 
สอง เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 'กัลยา' ใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวที่ตั้งค่าเป็นสาธารณะแชร์โพสต์จากเฟซบุ๊กชื่อว่า "Somsak Jeamteerasakul" ซึ่งมีข้อความตามโพสต์ต้นทางว่า "มีการ์ดโดนยิงเข้าช่องท้องอาการสาหัส อยู่ห้อง ICU" โดย 'กัลยา' เขียนประกอบโพสต์ว่า "กระสุนพระราชทานเข้าแล้ว 1" และมีการนำภาพมาโพสต์ ตามภาพเป็นพ่นสีสเปรย์บนถนนมีข้อความว่า "กษัตริย์ฆ่าประชาชน" 
 
พนักงานอัยการบรรยายประกอบว่า การกระทำดังกล่าวประสงค์ให้บุคคลทั่วไปที่เข้ามาอ่านหรือพบเห็นเข้าใจว่า รัชกาลที่สิบเป็นผู้สั่งให้ยิงปืนใส่กลุ่มผู้ชุมนุมและการ์ด จนกระสุนปืนเข้าท้องการ์ดที่ร่วมชุมนุมอาการสาหัสและกษัตริย์เป็นผู้ฆ่าประชาชน อันเป็นการดูถูก เหยียดหยาม ด่าทอ สบประมาทรัชกาลที่สิบด้วยถ้อยคำหยาบคาย และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ชื่อเสียงถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง มีเจตนาเพื่อทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เป็นที่เคารพสักการะ 
 
 

พฤติการณ์การจับกุม

'กัลยา' ไปรายงานต่อพนักงานสอบสวนสภ.สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาสตามหมายเรียก
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ 855/2564

ศาล

ศาลจังหวัดนราธิวาส

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
6 มิถุนายน 2564
 
มีหมายเรียกจากตำรวจส่งไปถึงที่อยู่ตามภูมิลำเนาเดิมของกัลยา หมายเรียกออกโดยหมายเรียกออกโดยพ.ต.ต.นที จันทร์แสงศรี พนักงานสอบสวนสภ.สุไหงโก-ลก ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ซึ่งระบุให้ผู้ต้องหาต้องไปรายงายตัวยังสุไหงโก-ลกในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 7 มิถุนายน 2564 เนื่องจากได้รับหมายเรียกกระชั้นชิด เธอจึงขอเลื่อนนัดรายงานตัวออกไป
 
 
22 มิถุนายน 2564
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เวลา 08.00 น. 'กัลยา' พร้อมทนายความเดินทางเข้าพบ ว่าที่พ.ต.ต.นที จันทร์แสงศรี สารวัตร (สอบสวน) สภ.สุไหงโก-ลก ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนผู้แจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์
 
พนักงานสอบสวนบรรยายพฤติการณ์คดีโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ผู้กล่าวหา ได้เปิดเฟซบุ๊กพบบัญชีเฟซบุ๊กหนึ่งโพสต์รูปภาพและข้อความพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์จำนวนสี่ข้อความ โดยมีข้อความวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของกษัตริย์ต่อการชุมนุมทางการเมือง รวมทั้งข้อความที่โพสต์ใต้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “ธนวัฒน์ วงค์ไชย – Tanawat Wongchai” ว่า “แน่จริงยกเลิกม.112#แล้วจะเล่าให้ฟัง!!!” 
 
ผู้กล่าวหาเห็นว่าข้อความเป็นการกล่าวถึงกษัตริย์ของไทย และเป็นการกล่าวร้ายต่อพระองค์ จึงมาแจ้งความร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหา และแจ้ง 2 ข้อกล่าวหาต่อกัลยา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)  หลังรับทราบพฤติการณ์กัลยาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา  โดยจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป 
 
จากนั้นเวลา 14.00 น. ทางตำรวจแจ้งว่าจะนำตัวกัลยาไปขออำนาจศาลฝากขังที่ศาลจังหวัดนราธิวาส พนักงานสอบสวนอ้างในคำร้องขอฝากขังว่ายังต้องทำการสอบสวนปากคำพยานอีกสี่ปาก และรอผลการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมผู้ต้องหา จึงขอฝากขังผู้ต้องหาเป็นระยะเวลา 12 วัน แต่ไม่คัดค้านหากผู้ต้องหายื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โดยพนักงานสอบสวนทำเรื่องขอฝากขังต่อศาลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด 2019  
 
ต่อมาศาลจังหวัดนราธิวาสอนุญาตให้ฝากขัง และทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาล ก่อนศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยไม่มีเงื่อนไขในการให้ประกันตัว และให้มารายงานตัวต่อศาลอีกครั้ง ในวันที่ 9 สิงหาคม 2564 
 
 
14 ตุลาคม 2564
นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 มีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดนราธิวาส โดยยื่นฟ้องไปแล้วตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2564 โดยท้ายคำฟ้องระบุว่า หากมีการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ขอให้อยู่ในดุลยพินิจศาล
 
ต่อมาศาลจังหวัดนราธิวาสอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณา โดยใช้หลักทรัพย์เดิมเป็นเงินสดจำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ซึ่งได้วางไว้ตั้งแต่ชั้นสอบสวน 
 
 
9 ธันวาคม 2564 
นัดสอบคำให้การ
 
10-12 พฤษภาคม 2565
นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย
 
คดีนี้จำเลยต่อสู้ว่า ข้อความที่ถูกนำมาฟ้องนั้นไม่ได้เอ่ยถึงพระมหากษัตริย์โดยตรง ต้องอาศัยการตีความซึ่งแต่ละคนอาจตีความแตกต่างกันไป และไม่ใช่ความผิดตามมาตรา 112 และยังต่อสู้ว่าจำเลยไม่ได้โพสข้อความดังกล่าวบนเฟซบุ๊ก แต่ถูกกลั่นแกล้งแจ้งความโดยคนที่เห็นต่างทางการเมือง และฝ่ายโจทก์ไม่มีหลักฐานเพียงพอพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็นคนโพสข้อความดังกล่าวจริง
 
 
2 สิงหาคม 2565
 
ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดฟังคำพิพากษา เห็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 14(3) ลงโทษกระทงละ 3 ปี สองกระทง รวมลงโทษจำคุก 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา
 
หลังศาลอ่านคำพิพากษา "กัลยา" ถูกเจ้าหน้าที่นำตัวไปควบคุมไว้ที่ห้องขังของศาล ขณะเดียวกันทนายความได้ยื่นขอประกันตัวในชั้นอุทธรณ์คดี
 
ต่อมาเวลา 11.15 น. โดยประมาณ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม นอกจากต้องวางหลักทรัพย์เพิ่มเติมอีก 50,000 บาท จากเดิมที่วางไว้ 150,000 บาท รวมเป็นวางหลักทรัพย์ในการประกันตัว 200,000 บาท ซึ่งเป็นหลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์
 
 
 
 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

แม้ตามรายงานผลการตรวจสอบข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ จะตรวจสอบบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กว่าใครเป็นเจ้าของไม่ได้ก็ตาม แต่โจทก์มีนายพศิษฐ์เป็นประจักษ์พยานเบิกความถึงเหตุการณ์ที่รู้เห็นมา ได้ข้อเท็จจริงและเชื่อมโยงเป็นลำดับ เริ่มตั้งแต่เห็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กเป็นผู้เขียนโพสต์ข้อความและรูปภาพตามฟ้อง แล้วเทียบชื่อภาษาอังกฤษแปลงเป็นภาษาไทย พยายามสืบหาข้อมูลจากประวัติส่วนตัวของผู้ใช้เฟซบุ๊กจนทราบว่าจำเลยเป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว จนกระทั่งได้อดีตคนรักของจำเลยเป็นพยานให้การยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว เมื่อพิจารณาบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยก็ให้การทำนองว่า จำเลยเปิดใช้เฟซบุ๊กชื่อบัญชีเดียวกันเมื่อประมาณต้นปี 2560 โดยมีอดีตคนรักเข้าไปใช้ได้ แต่ต่อมาจำเลยเปลี่ยนรหัสเข้าเฟซบุ๊ก พฤติการณ์แห่งคดีจึงบ่งชี้ว่า เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2564 จำเลยเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวด้วยตนเอง
 
การใช้แอปพลิเคชั่นเฟซบุ๊กโดยทั่วไป หากผู้อ่านข้อความเห็นว่า แอปพลิเคชั่นเฟซบุ๊กแสดงผลเพียงบอกแค่จำนวนชั่วโมง จะหมายถึงผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสข้อความในวันเดียวกันกับผู้ที่อ่านข้อความได้อ่านข้อความนั้น แต่ถ้าแสดงผลบอกวันที่โพส จะหมายถึงผู้โพสข้อความในวันนั้นเลย เมื่อพิเคราะห์เอกสารที่นำมาแจ้งความ ไม่ได้ปรากฏว่า มีวันเวลาที่แสดงว่าโพสข้อความในวันเวลาใด แต่แสดงผลเพียงจำนวนชั่วโมง จึงหมายถึงว่าจะต้องโพสข้อความในวันเดียวกับที่นายพศิษฐ์เบิกความไว้ว่าถ่ายภาพหน้าจอโทรศัพท์ในวันที่ 28 มกราคม 2564 แต่ในเอกสารภาพหนึ่งกลับแสดงผลระบุว่าที่ 17 ตุลาคม 2563 จึงเห็นได้ว่านายพศิษฐ์ต้องการให้ข้อความภาพเหล่านี้สื่อความหมายไปทางเดียวกัน ศาลไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยข้อความที่ ระบุวันที่ 17 ตุลาคม 2563 ว่าเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่
 
ที่จำเลยนำสืบต่อสู้ทำนองว่า การสมัครใช้เฟซบุ๊กสามมารถตั้งชื่อได้เอง ไม่จำเป็นต้องเป็นชื่อของผู้โพสที่แท้จริง และภาพที่นำมาแจ้งความไม่ได้สั่งพิมพ์โดยตรงจากเฟซบุ๊กของจำเลยที่จะปรากฏจากหลักฐาน URL แต่มีลักษณะถ่ายภาพจากหน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งสามารถนำมาตัดต่อ หรือตกแต่ง หรือนำข้อความมาพิมพ์ไว้ได้ จึงเป็นข้อต่อสู้ที่เลื่อนลอย ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ พยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังได้มั่นคง
 
เมื่อคำนึงถึงเจตนารมณ์ของความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์​ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองบุคคลในตำแหน่นงต่างๆ เนื่องจากมีสถานะและหน้าที่แตกต่างจากบุคคลทั่วไป ซึ่งรัฐต้องคุ้มครองตำแหน่งนนั้นพิเศษยิ่งกว่าบุคคลธรรมดา เมื่อขณะเกิดเหตุมีกระแสของกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองเพื่อให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นนี้ ข้อความของจำเลยที่เขียนโพสว่า “จะเป็นกษัตริย์ไปทำไม ในเมื่อเป็นคนยังไม่ได้เลย” มีผู้มากดถูกใจ 550 คน แล้วจำเลยเขียนโพสข้อความต่อจากความเห็นของบุคคลอื่นว่า “วอร์มปากรอละเนี่ย” และจำเลยเขียนโพสต่อจากเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อ “ธนวัฒน์ วงศ์ไชน-Tanawat Wongchai” ว่า “แน่จริงยกเลิกม.112 #แล้วจะเล่าให้ฟัง” นั้น ย่อมสื่อความหมายไปในเชิงลบได้ว่า พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ไม่เหมาะสมเป็นพระเจ้าแผ่นดินในเมื่อไม่รู้จักใช้เหตุผลหรือในเมื่อไม่มีจิตใจสูง 
 
สำหรับข้อความที่จำเลยเขียนโพสต่อจากเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อ “Somsak Jeamteerasakul” ซึ่งลงข้อความว่ามีการ์ดโดนยิงเข้าช่องท้องอาการสาหัสอยู่ห้อง ICU” ว่า “กระสุนพระราชทานเข้า1” แม้คำว่าพระราชทานจะเป็นคำราชาศัพท์ แปลว่าให้ เมื่อจำเลยเขียนโพสข้อความ “จะเป็นกษัตริย์ไปทำไม ในเมื่อเป็นคนยังไม่ได้เลย” ในวันเดียวกัน เมื่ออ่านข้อความดังกล่าวซึ่งแวดล้อมไปด้วยบริบทกระแสข่าวทางการเมืองแล้ว ย่อมหมายถึงว่าพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 เป็นผู้สั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจใช้อาวุธปืนยิงการ์ดของกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง ข้อความของจำเลยดังกล่าวเป็นการระบุถึงตัวบุคคล โดยไม่ต้องตีความ และเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงแล้ว ไม่ว่าข้อเท็จจริงนั้นจะเป็นความจริงหรือเท็จก็ตาม ที่จำเลยต่อสู้ว่า มิได้ระบุถึงตัวบุคคล และต้องอาศัยการตีความ มิใช่การยืนยันข้อเท็จจริง จึงฟังไม่ขึ้น
 
ที่จำเลยกล่าวอ้างว่า ข้อความ “จะเป็นกษัตริย์ไปทำไม ในเมื่อเป็นคนยังไม่ได้เลย” เป็นแค่การแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่ต้นโพส และในส่วนคำว่า “พระราชทาน” ใช้ได้กับพระบรมวงศานุวงศ์หลายบุคคล หรืออาจะเป็นคำที่วัยรุ่นใช้ประชด และยังมีการแชร์ลิงก์วิดีโอที่จะต้องเข้าไปกดดูเนื้อหา เมื่ออ่านข้อความแล้วไมเข้าใจผู้โพสกล่าวถึงเรื่องใดนั้น ก็เป็นข้ออ้างที่ง่ายต่อการยกขึ้นกล่าวอ้าง ไม่มีน้ำหนักในรับฟัง เมื่อประมวลพยานหลักฐานโจทก์ประกอบพฤติการณ์แวดล้อมแห่งคดีของจำเลยทั้งหมดแล้ว ทำให้เชื่อได้ว่า จำเลยมีเจตนามุ่งหมายให้ประชาชนที่เข้ามาอ่านข้อความของจำเลยแล้วหลงผิด เกิดความรู้สึกเกลียดชังพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 ซึ่งย่อมกระทบต่อความรู้สึกของผู้ที่พบเห็นหรือประชาชนทั่วไป อันอาจก่อให้เกิดความไม่พอใจจนนำไปสู่ความแตกแยกเป็นฝักฝ่ายเพราะความเห็นไม่ตรงกัน และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้ 
 
ด้วยเหตุนี้ข้อความที่ว่า “จะเป็นกษัตริย์ไปทำไม ในเมื่อเป็นคนยังไม่ได้เลย” และข้อความที่ว่า “กระสุนพระราชทานเข้า 1” จึงเป็นข้อความที่เป็นการใส่ความ ด่าทอ และเหยียดหยาม ด้วยความหยาบคายต่อพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10  โดยประการที่น่าจะทำให้ทรงเสื่อมเสีต่อพระเกียรติยศ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ตามมาตรา 112 และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)
 
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิด การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ความผิดตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี
 
 
 
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา