พัชระ : แชร์โพสต์ปวินวิพากษ์ร. 10

อัปเดตล่าสุด: 22/10/2565

ผู้ต้องหา

พัชระ

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2564

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

สุรภพ จันทร์เปล่ง รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

สารบัญ

สุรภพ จันทร์เปล่ง รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าวหาว่า พัชระหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จากการแชร์โพสต์ของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ มีเนื้อหาทำนองว่า รัชกาลที่สิบและสมาชิกราชวงศ์ทำการประชาสัมพันธ์พระองค์ผ่านโครงการต่างๆ มีลักษณะที่แข่งขันกับผู้ชุมนุม และมีการใช้คำที่ไม่เหมาะสม สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ ทั้งนี้พัชระแชร์โพสต์อย่างเดียวโดยไม่มีข้อความใดๆประกอบ อันเป็นข้อกล่าวหามาตรา 112และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คดีนี้พัชระตัดสินเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพในวันสืบพยานโจทก์นัดแรก ศาลอาญาสั่งให้สืบเสาะและพินิจ และนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 26 กันยายน 2565

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ไม่มีข้อมูล

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ตามคำฟ้อง สรุปว่า เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563  จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน คือ การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า xxxxx แชร์โพสต์ของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์  รายละเอียดข้อความเป็นข้อมูลเท็จและเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ทำให้บุคคลที่สามซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มเครือข่ายเพื่อนออนไลน์แอพพลิเคชั่นเฟซบุ๊ก ประชาชนและบุคคลทั่วไปที่ได้พบเห็นข้อความและภาพถ่ายดังกล่าว เข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 ทรงให้พระบรมมาวงศานุวงศ์ออกมาทำสงครามกับประชาชน เป็นข้อความแสดงให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์เป็นศัตรูกับประชาชน และทำให้เข้าใจได้ว่าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เข้ามาแทรกแซงการเมือง 

 

อีกทั้งยังมีการใช้คำจาบจ้วงเนื่องจากมีการใช้สรรพนามเรียกไม่เหมาะสม โดยใช้คำว่า “อีง่าว” ซึ่งเป็นภาษาถิ่นทางภาคเหนือและบุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจความหมายได้ แปลว่า “โง่” จึงเป็นคำหมิ่นพระเกียรติของพระบรมวงศานุวงศ์ ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระมหากษัตริย์ สถาบันพระมหากษัตริย์ และของพระบรมวงศานุวงศ์ และมีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชัง และไม่เคารพเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10และพระบรมมาวงศานุวงศ์ อันเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์เสื่อมพระเกียรติ ทรงถูกดูหมิ่น หรือทรงถูกเกลียดชัง 

พฤติการณ์การจับกุม

จำเลยไปรายงานตัวตามหมายเรียก

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ. 2992/2564

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
19 เมษายน 2564
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า พัชระรายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท) ก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวนเคยออกหมายเรียกผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2564 ให้พัชระมารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 29 มีนาคม 2564 เวลา 13.30 น. ที่ บก.ปอท. แต่ก่อนถึงเวลานัดประมาณ 2 ชั่วโมง พนักงานสอบสวนได้โทรขอเลื่อนนัดกับพัชระ พร้อมแจ้งกับทนายความว่าจะส่งหมายเรียกผู้ต้องหาเพื่อนัดหมายอีกครั้ง และจะออกเป็นหมายเรียกผู้ต้องหาครั้งที่ 1 
 
ต่อมา พัชระได้รับหมายเรียกลงวันที่ 5 เมษายน 2564 ให้ไปรับทราบข้อหาอีกครั้ง แต่กลับเป็นหมายเรียกครั้งที่ 2 ทั้งที่ครั้งก่อน พนักงานสอบสวนเป็นผู้เลื่อนนัดหมายเองเพราะติดภารกิจ
 
พนักงานสอบสวนแจ้ง 2 ข้อกล่าวหาต่อพัชระ ได้แก่ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และ “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บรรยายพฤติการณ์โดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ผู้ต้องหาได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวแชร์ข้อความจากโพสต์ของ “Pavin Chachavalpongpun” ซึ่งโพสต์ดังกล่าวได้ปรากฏข้อความวิพากษ์วิจารณ์รัชกาลที่ 10 และสมาชิกราชวงศ์
 
พัชระให้การปฎิเสธ จากนั้นพนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวไว้ เนื่องจากมาปรากฏตัวต่อพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก
 
 
 
 
29 พฤศจิกายน 2564
อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดี
 
30 สิงหาคม 2565 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 915 เวลา 08.30 น. พัชระเดินทางมาถึงห้องพิจารณาคดี  เมื่อคู่ความมาพร้อมกันแล้ว ศาลจึงขึ้นนั่งบัลลังก์ ทนายจำเลยแจ้งต่อศาลว่า จำเลยประสงค์จะกลับคำให้การเปลี่ยนเป็นรับสารภาพตลอดทุกข้อกล่าวหา ศาลสอบถามประวัติการทำงานและภูมิหลังของจำเลยเล็กน้อย จากนั้นจึงให้รอฟังรายงานกระบวนการพิจารณาคดี 
 
อัยการแจ้งต่อศาลว่า วันนี้ได้นัดพยานโจทก์มาแล้วสามปาก ศาลจึงให้เบิกจ่ายค่าเดินทางของพยานตามที่กำหนดไว้ เวลาประมาณ 9.28 น. ศาลอ่านรายงานกระบวนพิจารณาคดีโดยสรุปว่า คู่ความมาศาล ศาลได้อ่านคำอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง ทนายจำเลยแจ้งต่อศาลว่า จำเลยประสงค์จะขอถอนคำให้การเดิมและจะให้การรับสารภาพแทน มีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและส่งรายงานภายใน 15 วัน พร้อมทั้งนัดหมายฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 กันยายน 2565 เวลา 10.00 น.
 
หลังอ่านรายงานจบผู้พิพากษาอธิบายเรื่องกระบวนการสืบเสาะและพินิจต่อพัชระทำนองว่า หลังจากนี้จะมีพนักงานคุมประพฤติไปสอบสวน สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ก็ขอให้พัชระบอกต่อพนักงานคุมประพฤติไป เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการในห้องพิจารณคดีแล้ว  พัขระจะต้องไปทำนัดหมายกับพนักงานคุมประพฤติที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะต่อไป 
 
ตามพระราชบัญญัติคุมประพฤติ 2559 ศาลมีอำนาจสั่งให้พนักงานคุมประพฤติดำเนินการสืบเสาะและพินิจเกี่ยวกับเช่น ประวัติ ความประพฤติ สุขภาพ นิสัยและการรู้สึกผิด เหตุอื่นอันควรปราณีแล้วทำรายงานและความเห็นให้ศาลเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาหรือเพื่อประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษได้ 
 
26 กันยายน 2565
นัดฟังคำพิพากษา
 
ในคดีนี้ จำเลยถูกกล่าวหาจากการกระทำเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ตามกฎหมายจึงให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายที่มีบทลงโทษหนักที่สุด คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยศาลสั่งให้ลงโทษจำคุกเป็นเวลาสี่ปี แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อคดี จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกสองปี
 
เนื่องจากจำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน และกระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงให้รอการลงโทษไว้สามปี และให้จำเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุกๆ สามเดือน เป็นระยะเวลา สองปี
 

คำพิพากษา

26 กันยายน 2565 
 
ศาลอาญามีคำพิพากษาว้า ในคดีนี้ จำเลยถูกกล่าวหาจากการกระทำเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ตามกฎหมายจึงให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายที่มีบทลงโทษหนักที่สุด คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยศาลสั่งให้ลงโทษจำคุกเป็นเวลาสี่ปี แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อคดี จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกสองปี
 
เนื่องจากจำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน และกระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงให้รอการลงโทษไว้สามปี และให้จำเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุกๆ สามเดือน เป็นระยะเวลา สองปี

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา