พรชัย: เผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ

อัปเดตล่าสุด: 22/11/2565

ผู้ต้องหา

พรชัย

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2564

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

วันที่ 19 กันยายน 2564 มีการชุมนุมในโอกาสครบรอบ 15 ปีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หลังการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยุติในเวลาประมาณ 19.00 น. ผู้ชุมนุมอิสระบางกลุ่มไปที่แยกนางเลิ้งฝั่งมุ่งหน้าสะพานชมัยมรุเชฐ ตำรวจวางแนวสิ่งกีดขวางและใช้แก๊สน้ำตากับผู้ชุมนุมกลุ่มดังกล่าว ระหว่างนั้นมีเหตุเพลิงไหม้ที่ซุ้มเฉลิมพระเกียรติบนสะพานลอยหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยมและป้อมจราจรบริเวณแยกนางเลิ้ง ต่อมาในวันที่ 7 ตุลาคม 2564 พนักงานสอบสวนออกหมายเรียก “บัง” สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้าให้ไปรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาในคดีนี้เป็นคนแรกโดยไม่ได้มีการขอให้ศาลฝากขังระหว่างการสอบสวน

ต่อมาในวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 พรชัย ยวนยี หรือ แซม ทะลุฟ้าไปติดต่อให้ตำรวจสน.สำราญราษฎร์ถอนหมายจับในคดีชุมนุมเมื่อปี 2558 ซึ่งคดีจบแล้วจึงทราบว่า มีหมายจับนี้อยู่ด้วย พนักงานสอบสวนจึงทำการควบคุมตัวพรชัยไว้หนึ่งคืนก่อนนำตัวเขาไปฝากขังที่ศาลอาญาในวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ซึ่งศาลอนุญาตให้ฝากขังพรชัยตามคำร้องของพนักงานสอบสวนและยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของเขา พรชัยจึงถูกคุมขังนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา แม้ทนายความจะพยายามยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพรชัยแต่ศาลก็มีคำสั่งยกคำร้องมาโดยตลอด


นอกจาก "บัง" และพรชัยยังมีสินบุรีหรือแม็ก ทะลุฟ้าที่ถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์เดียวกันนี้โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้เผาป้อมตำรวจจราจรบริเวณแยกนางเลิ้ง แต่สินบุรีไม่ได้ถูกตั้งข้อกล่าวหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย สินบุรีทราบว่าตัวเองมีชื่อถูกออกหมายจับในวันที่ 8 กรกฎาคม จึงเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อแสดงความบริสุทธิใจแต่ปรากฎว่าเขากลับถูกนำตัวไปฝากขังและศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

นอกจากผู้ต้องหาทั้งสามคนข้างต้นก็มีข้อมูลว่าจิตริน พลาก้านตง หรือ คาริม ทะลุฟ้า เป็นผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งที่มีชื่ออยู่ในหมายคดีนี้ แต่จิตรินยังไม่เคยได้รับหมายเรียกหรือถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาคดีนี้อย่างเป็นทางการ แม้ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 จิตรินจะเคยถูกควบคุมตัวในเรือนจำหลังอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องเขาในคดีการชุมนุมที่พรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564  แต่พนักงานสอบสวนก็ยังไม่ได้ดำเนินการแจ้งกล่าวหาเขาในคดีนี้

ภูมิหลังผู้ต้องหา

พรชัย ยวนยี หรือ แซม ทะลุฟ้า เป็นชาวจังหวัดบึงกาฬ เข้าเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการจุฬาฯ-ชนบท ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดรับนักเรียนที่ฐานะยากจนในต่างจังหวัดเข้ามาเรียนโดยให้ทุนการศึกษาตลอดจนเรียนจบ พรชัยสำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2552 ระหว่างเรียนเขาเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ด้วย ในช่วงการรัฐประหาร 2557 พรชัยเคยเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจของคณะรัฐประหารในขณะนั้นและเข้าร่วมการชุมนุมครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารเมื่อปี 2558 จนถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ก่อนที่ต่อมาจะเข้าร่วมกิจกรรมกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่จนถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ในปีเดียวกัน
 
ในเดือนมีนาคม 2564 พรชัยเข้าไปช่วยกลุ่มนักกิจกรรมจัดตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้า ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากกิจกรรม "เดินทะลุฟ้า" กิจกรรมเดินเท้าพาจตุภัทร์หรือไผ่ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการขึ้นปราศรัยที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 19 – 20 กันยายน 2563 จากนครราชสีมา มาที่กรุงเทพเพื่อรายงานตัวต่ออัยการ หลังจตุภัทร์เข้ารายงานตัวและถูกคุมขังนักกิจกรรมที่ร่วมเดินเข้ากรุงเทพตัดสินใจตั้ง "หมู่บ้านทะลุฟ้า" ใกล้หมู่บ้านทำเนียบรัฐบาล เมื่อเจ้าหน้าที่ใช้กำลังสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้าในวันที่ 28 มีนาคม 2564 พรชัยก็อยู่ในพื้นที่ด้วยและถูกควบคุมตัวไปดำเนินคดีพร้อมกับผู้ชุมนุมคนอื่นๆ พรชัยก่อนหน้าถูกดำเนินคดีนี้พรชัยจะเข้ารายงานตัวและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ทุกครั้งที่ถูกดำเนินคดี แต่เมื่อเขาถูกดำเนินคดีนี้กลับไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
 
"บัง" เป็นนักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า
 
สินบุรี เป็นนักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า
 
 
จิตริน พลาก้านตรง หรือ คาริม ทะลุฟ้า จิตรินเป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี จบปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จิตรินเริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่ตอนเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งตรงกับช่วงที่มีการรัฐประหารโดยคสช.ในปี 2557 ช่วงที่ว่างจากการเรียน จิตรินเริ่มศึกษาข้อมูลต่างๆในอินเทอร์เน็ตจนได้รู้จักสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ เมื่อเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา จิตรินเข้าไปทำกิจกรรมกับกลุ่มดาวดิน เขามีโอกาสไปศึกษาปัญหาด้านทรัพยากรในพื้นที่ต่างๆ เช่น การต่อสู้คัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและเหมืองแร่ในภาคอีสาน ในเวลาต่อมาจิตรินได้เข้ามาร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มทะลุฟ้าที่กรุงเทพและกลายเป็นสมาชิกคนสำคัญของกลุ่ม 
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

จากคำฟ้องคดีนี้มีการกระทำที่ถูกกล่าวหาหลักสามเรื่อง คือ ทั้งสองถูกกล่าวหาว่า การชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แซมถูกกล่าวหาเรื่องวางเพลิงเผาทรัพย์และหมิ่นประมาทกษัตริย์จากการเผาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบและพระราชินี ส่วนแม็คถูกกล่าวหาว่า วางเพลิงเผาทรัพย์จากการเผาป้อมจราจรนางเลิ้ง ไม่มีข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ค่าเสียหายของซุ้มคิดเป็นเงิน 1,000 บาท ขณะที่ป้อมจราจรมีเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 15,000 บาท ทั้งนี้โทษจากการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คือ จำคุกระหว่าง 3-15 ปี ขณะที่โทษจากการวางเพลิงเผาทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217 คือ จำคุกระหว่าง 6 เดือนถึง 7 ปี ปรับตั้งแต่ 10,000-140,000 บาท 
 
ปาระเบิดเพลิงใส่ซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบ
 
แซม จำเลยที่หนึ่งในคดีนี้ พร้อมบัง และคาริม-จิตริน พลาก้านตงที่ยังไม่ได้นำตัวมาฟ้อง และอีกหนึ่งคนซึ่งยังไม่ทราบตัวร่วมกันหมิ่นประมาทกษัตริย์ด้วยการปาระเบิดเพลิงขึ้นไปบนสะพานลอยบริเวณซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่สิบและราชินี และการราดน้ำมันวางเพลิงซุ้มดังกล่าวจนไฟลุกทำให้บริเวณตรงกลางถูกไฟไหม้เป็นรอยดำสองแห่งได้รับความเสียหายเป็นมูลค่า 1,000 บาท ทั้งนี้ซุ้มเป็นทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร ที่ประดิษฐานไว้บนสะพานลอยหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยม “เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี เป็นการเฉลิมพระเกียรติ เชิดชูเกียรติ เทิดทูล” พระมหากษัตริย์และพระราชินี ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย
 
การกระทำของจำเลยที่หนึ่งกับพวก “มีเจตนาร่วมกันกระทำการอันเป็นการไม่สมควรและเป็นการล่วงละเมิดด้วยการแสดงออกในทางใดๆ ไม่ว่าจะเป็นภยันอันตรายแก่ร่างกาย ทรัพย์สิน สิทธิ เสรีภาพหรือชื่อเสียงเกียรติคุณ อันมิใช่การใช้สิทธิตามปกตินิยม อันเป็นการแสดงออกถึงความอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่น” รัชกาลที่สิบและพระราชินี ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น หมิ่นพระเกียรติ ถูกลบหลู่ และมีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ 
 
เผาป้อมจราจรแยกนางเลิ้ง
 
แม็ค จำเลยที่สองในคดีนี้ พร้อมบัง และคาริม-จิตริน พลาก้านตงที่ยังไม่ได้นำตัวมาฟ้อง และอีกหนึ่งคนซึ่งยังไม่ทราบตัว ร่วมกันวางเพลิงป้อมจราจรแยกนางเลิ้งด้วยการใช้วัตถุติดไฟไปถูกกับวัสดุที่ติดไฟได้ง่ายภายในป้อมจราจร จากนั้นไฟลุกไหม้ ทำให้ป้อมจราจรได้รับความเสียหาย รวมทั้งยังลามไหม้ตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศที่เป็นทรัพย์สินของตำรวจ ผู้เสียหายที่สอง จนเสียหายคิดเป็นเงิน 15,000 บาท
 
ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค
 
กลุ่มทะลุแก๊ซจัดการชุมนุมมีผู้เข้าร่วมหลายร้อยคน จำเลยทั้งสองคือ พรชัยและสินบุรีเข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าวด้วย ก่อนและขณะเกิดเหตุนายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรและขยายระยะเวลาเรื่อยมาจนถึงวันที่เป็นเหตุในคดีนี้ และอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการรวมตัว ปรับเรื่อยมาตามสถานการณ์ของการระบาดของโรค จนกระทั่งข้อกำหนดฉบบฉบับที่ 32 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ห้ามจัดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคและปรับจำนวนการรวมกลุ่มในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเป็นไม่เกิน 25 คน การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการชุมนุมทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในสถานที่แออัดและมีโอกาสติดต่อสัมผัสได้ง่ายในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค จำนวนรวมเกินที่กำหนดไว้เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนตามกฎหมาย
 
 
ขณะที่คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่หนึ่ง พนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้ง บรรยายพฤติการณ์ของผู้ต้องหาสามคนในคดีนี้ คือ พรชัย จิตริน และสินบุรี โดยสรุปในรายละเอียดแตกต่างกันดังนี้
 
กรณีของพรชัย
 
จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิด เวลาประมาณ 19.00 น. พรชัยเข้ามาที่แยกนางเลิ้งและพูดคุยกับผู้ชุมนุม ต่อมาเวลา 19.11 น. พรชัยเริ่มเดินเข้าไปใกล้จุดเกิดเหตุโดยเข้าทางฝั่งโรงเรียนราชวินิตมัธยม ระหว่างทางปรากฏภาพพรชัยพูดคุยในลักษณะนัดแนะกับจิตริน จำเลยอีกคนในคดีนี้ จากนั้นเวลา 19.13 น. พรชัย, จิตรินและคนร้ายผู้ปาระเบิดเพลิง ซึ่งพนักงานสอบสวนไม่ได้ระบุชื่อไว้เดินไปบริเวณเกาะกลางถนน โดยที่ก่อนเกิดเหตุพรชัยยืนอยู่กับคนร้าย และเวลาประมาณ 19.14 น. มีการจุดไฟและคนร้ายปาระเบิดเพลิงขึ้นไปบนสะพานลอย โดยมีพรชัยยืนมองอยู่ใกล้บริเวณดังกล่าว แต่เพลิงไม่ลุกไหม้เนื่องจากก่อนหน้านั้นมีฝนตกหนัก จากนั้นพรชัยจึงได้ขึ้นรถจักรยานยนต์ที่มีจิตรินซ้อนท้ายอยู่แล้วออกจากบริเวณเกิดเหตุ
 
เวลาประมาณ 19.16 น.จิตรินซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์เข้ามาที่สะพานลอยอีกครั้ง พนักงานสอบสวนระบุในคำร้องฝากขังด้วยว่า การเข้าไปครั้งนั้นเป็นการเข้าไปราดน้ำมันให้เพลิงลุกไหม้ซุ้มเฉลิมพระเกียรติอีกครั้ง ส่วนพรชัยยังอยู่ที่แยกนางเลิ้ง เพลิงลุกไหม้ซุ้มเฉลิมพระเกียรติในเวลาประมาณ 19.20 น. ต่อมาเวลา 19.50 น. พรชัย, จิตริน, สินบุรี, ภาณุพงศ์และคนร้ายที่ปาระเบิดเพลิง จากนั้นเวลา 19.55 น. มีการเตรียมการวางเพลิงป้อมจราจรแยกนางเลิ้งในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ สินบุรีเป็นคนจุดไฟ ขณะที่ภาณุพงศ์และคนร้ายที่เป็นผู้ปาระเบิดเพลิงคอยดูต้นทาง จนกระทั่งเวลาประมาณ 20.00 น. หลังสินบุรีจุดไฟเผาป้อมตำรวจจราจรแล้ว สินบุรีและพรชัยจึงนั่งรถจักรยานยนต์ออกไปจากพื้นที่   
 
กรณีของจิตริน
 
เวลาประมาณ 19.00 น. จิตรินรวมอยู่กับผู้ชุมนุมที่แยกนางเลิ้ง จากนั้นเขานั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์เข้าไปที่บริเวณสะพานลอยโรงเรียนราชวินิตมัธยมและกลับออกมาที่แยกนางเลิ้งเพื่อนำแผงเหล็กไปวางที่แนวกั้นบริเวณจุดกลับรถและดูเหตุการณ์อยู่พักหนึ่ง ก่อนจะกลับมาที่แยกนางเลิ้ง เวลา 19.09 น. พรชัยเข้ามาพูดคุยกับจิตริน จากนั้นพรชัยได้ให้ชายคนหนึ่งนำกระเป๋ามาให้จิตริน เชื่อได้ว่า ภายในมีสิ่งของที่ใช้ในการก่อเหตุอยู่ภายใน จากนั้นจึงเข้าไปบริเวณที่เกิดเหตุไปรวมกลุ่มกับผู้ชุมนุม ซึ่งหนึ่งในนั้นมีคนร้ายที่ปาระเบิดเพลิงอยู่ด้วยและพรชัยตามเข้ามาสมทบในเวลาต่อมา เวลาประมาณ 19.13 น. คนร้ายที่ปาระเบิดเพลิง พร้อมด้วยพรชัยและจิตรินเดินไปที่เกาะกลางถนน ใกล้สะพานลอย เวลาประมาณ 19.14 น. คนร้ายปาระเบิดเพลิงขึ้นไปบนสะพานลอย จิตรินมองดูเหตุการณ์อยู่ จากนั้นพรชัยและจิตรินพากันซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ออกมาที่แยกนางเลิ้ง
 
เวลาประมาณ 19.15 น. พบว่า เพลิงไม่ลุกไหม้ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ นาทีต่อมาจิตรินซ้อนท้ายจักรยานยนต์เข้าไปที่สะพานลอยเพื่อขึ้นไปราดน้ำมันตามที่วางแผนไว้ ต่อมาเวลา 19.19 น. จิตรินวิ่งลงมาจากสะพานลอยและมีรถจักรยานยนต์เข้ามารับออกไปหาพรชัยที่แยกนางเลิ้ง ต่อมาเวลา 19.24 น. จิตรินถอดเสื้อออกและสวมกลับด้านเพื่อป้องกันการสังเกตตำหนิการแต่งกาย พนักงานสอบสวนระบุด้วยว่า เวลา 19.55 น.  พรชัยส่งสัญญาณให้เผาป้อมจราจร แต่จิตรินเปลี่ยนใจเดินกลับมารวมกับพรชัยที่แยกนางเลิ้งเพื่อสังเกตการณ์แทน เวลาประมาณ 19.57 น. มีชายที่ยังไม่ทราบชื่อสกุลจริงถือวัตถุบางอย่างที่มีผ้าสีดำห่อหุ้มไว้มายังจุดที่จิตรินและพรชัยอยู่และได้วางสิ่งของบางอย่างลงบนพื้นถนน ต่อมาชายคนดังกล่าวหยิบสิ่งของดังกล่าวและเดินไปที่ป้อมจราจรและพบว่าวัสดุที่ใช้ในการเผาป้อมจราจร เวลาประมาณ 19.59 น. เมื่อมีการจุดไฟแล้ว ชายคนดังกล่าวถือผ้าสีดำที่ใช้คลุมสิ่งของสำหรับเผาป้อมจราจรมาคืนให้จิตริน จากนั้นจิตรินจึงออกจากจุดเกิดเหตุ
 
กรณีของสินบุรี
 
เวลาประมาณ 19.01 น. สินบุรีขี่รถจักรยานยนต์มาที่แยกนางเลิ้งและจอดรถ จากนั้นเดินเท้าเข้าไปยังบริเวณหน้าวิทยาลัยพาณิชย์พระนคร ต่อมาเวลา 19.23 น. สินบุรีกลับไปที่แยกนางเลิ้งและคุยกับพรชัย เวลาประมาณ 19.40 น. สินบุรีขับรถออกจากแยกนางเลิ้งเนื่องจากตำรวจมีการใช้แก๊สน้ำตา ต่อมาเวลาประมาณ 19.47 น. สินบุรีขับรถจักรยานยนต์กลับเข้ามาที่แยกนางเลิ้งและคุยกับพรชัย จากนั้นเข้าไปสังเกตการณ์การชุมนุมฝั่งหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยม ต่อมาสินบุรีขับรถกลับมายังบริเวณที่พรชัยกับพวกยืนอยู่และพูดคุยกับพรชัย ต่อมาเวลา 19.59 น. สินบุรีจุดไฟเผาป้อมจราจรที่แยกนางเลิ้งและเดินออกมาขึ้นรถจักรยานยนต์ขับออกไป มีการจอดรับพรชัยแล้วออกไปจากจุดเกิดเหตุพร้อมกัน

พฤติการณ์การจับกุม

กรณีพรชัย
 
วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 พรชัยเดินทางไปที่ศาลทหารเพื่อไปดำเนินการขอเพิกถอนหมายจับของศาลทหาร ในคดีการชุมนุม 14 นักศึกษา ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2558 เจ้าหน้าที่ศาลทหารแจ้งพรชัยว่าให้ไปติดต่อกับสน.สำราญราษฎร์ซึ่งเป็นเจ้าของคดี เมื่อพรชัยไปถึงสน.สำราญราษฎร์ตำรวจแจ้งเขาว่าเขามีหมายจับคดีมาตรา 112 อยู่ในระบบ เป็นหมายที่ศาลอาญาอนุมัติตามคำร้องของพนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้ง หลังแจ้งเรื่องหมายจับพรชัยก็ถูกควบคุมตัว
 
กรณีของสินบุรี
 
หลังพรชัยถูกจับกุมตัวในวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 สินบุรีก็ทราบว่าเขาเป็นผู้ต้องหาร่วมในคดีนี้ด้วยและมีหมายจับของศาลอาญาอยู่ในระบบ ในวันที่ 8 สิงหาคม 2565 สินบุรีจึงไปแสดงตัวต่อพนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้งเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาและควบคุมตัวสินบุรีไปขออำนาจศาลอาญาฝากขังในชั้นสอบสวน ศาลอาญาอนุญาตให้ฝากขังและยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของสินบุรี
 
กรณีของ “บัง”
 
วันที่ 8 ตุลาคม 2564 “บัง” ไปรายงานตัวตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้ง หลังเข้ารับทราบข้อกล่าวหาพนักงานสอบสวนปล่อยตัว "บัง" กลับโดยไม่ขออำนาจศาลฝากขัง
 
กรณีจิตริน
 
ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาในคดีนี้อย่างเป็นทางการกับจิตริน 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

2407/2565

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
19 กันยายน 2564
 
วันที่ 19 กันยายน 2564 เป็นวันครบรอบ 15 ปีการทำรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยคณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. ที่มีพล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลินเป็นหัวหน้า วันนี้มีการชุมนุมและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องรวม 28 ครั้งใน 22 จังหวัด การชุมนุมหลักในกรุงเทพมหานครเป็นการเคลื่อนไหวของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อและสมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด) ซึ่งนัดรวมตัวที่แยกอโศกในเวลา 14.00 น. จากนั้นจะเคลื่อนขบวนคาร์ม็อบไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยไฮไลท์ของการชุมนุมคือการขับรถแท็กซี่ชนรถถังจำลองทำด้วยกระดาษเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่นวมทอง ไพรวัลย์ คนขับแท็กซี่ ขับรถแท็กซี่ของเขาไปชนรถถังเพื่อประท้วงการรัฐประหาร 2549 จนได้รับบาดเจ็บสาหัส
 
หลังขบวนคาร์ม้อบเคลื่อนไปถึงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็ยุติ หลังกิจกรรมหลักยุติมีผู้ชุมนุมอิสระบางส่วนแยกตัวไปชุมนุมต่อที่แยกดินแดง แต่ตำรวจทำการตรึงพื้นที่ไว้ก่อนแล้ว ผู้ชุมนุมอิสระจึงไปรวมตัวกันที่แยกนางเลิ้งฝั่งมุ่งหน้าทำเนียบรัฐบาลแทน ผู้ชุมนุมบางส่วนพยายามเข้าไปที่แยกพาณิชยการ แต่ไม่สามารถผ่านแนวของเจ้าหน้าที่เข้าไปได้ ในเวลา 18.55 ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว (มีเหตุอะไรก่อนไหมหรืออยู่ๆก็ยิงแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย) ต่อมาเวลาประมาณ 19.20-19.30 น. เกิดเพลิงลุกไหม้ซุ้มเฉลิมพระเกียรติบนสะพานลอยโรงเรียนราชวินิตมัธยมและเวลาประมาณ 20.00 น. มีการวางเพลิงป้อมจราจรที่แยกนางเลิ้ง
 
7 ตุลาคม 2564
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า “บัง” นักศึกษาที่ร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มทะลุฟ้าและกลุ่มโมกหลวงริมน้ำได้รับหมายเรียกในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยหมายเรียกกำหนดให้ "บัง" ไปรายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้งในวันที่ 8 ตุลาคม 2564
 
 8 ตุลาคม 2564
 
“บัง” พร้อมทนายความเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนและถูกแจ้งข้อหารวม 5 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวกับความมั่นคง ฉบับที่ 10
 
พฤติการณ์ข้อกล่าวหาโดยสรุประบุว่าเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมคาร์ม็อบบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังแยกนางเลิ้ง ซึ่งเป็นการชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการขว้างปาสิ่งของ ประทัด ยิงหนังสติ๊กใส่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน บริเวณแนวสะพานชมัยมรุเชษฐ
 
 พ.ต.ท.จงศักดิ์ ชาญศรี ผู้กล่าวหาอ้างว่า ระหว่างนั้นได้พบ “บัง” ซึ่งได้ร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าว ขับขี่รถจักรยานยนต์ไปจอดที่แยกนางเลิ้ง ต่อมาเวลาประมาณ 19.14 น. ได้มีชายคนหนึ่งใช้วัตถุขว้างขึ้นไปบนสะพานลอยคนข้าม ไปยังซุ้มเฉลิมพระเกียรติพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 และพระราชินี ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณสะพานลอยหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยม เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย จากนั้นชายคนดังกล่าวได้วิ่งไปขึ้นซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของ “บัง” หลบหนีออกจากที่เกิดเหตุ
 
16 มีนาคม 2565
 
พนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้งขออนุมัติหมายจับพรชัยจากศาลอาญา
 
7 กรกฎาคม 2565
 
พรชัยเดินทางไปยังศาลทหารกรุงเทพ เพื่อไปขอถอนหมายจับที่มีอยู่ตั้งแต่ปี 2558 ในเวลาประมาณ 10.00 น. เจ้าหน้าที่ของศาลทหารแจ้งว่าคดีนี้จบไปแล้ว แต่หมายจับยังคงค้างอยู่ พรชัยต้องไปขอยกเลิกหมายจับที่ต้นทางที่เป็นผู้ขอออกหมาย คือ สน.สำราญราษฎร์ พรชัยจึงเดินทางไปที่สน.สำราญราษฎร์ เพื่อขอให้ยกเลิกหมายจับที่ค้างอยู่ และรออยู่ 1-2 ชั่วโมงตำรวจก็นำหมายจับฉบับใหม่มาให้ดู พร้อมแจ้งว่า พรชัยมีหมายจับอีกหมายหนึ่ง ในคดีมาตรา 112 ซึ่งเป็นหมายจับของสน.นางเลิ้ง

 
พรชัยรับว่า ตัวเองเป็นบุคคลตามหมายจับ และถูกจับกุมพาตัวไปที่สน.นางเลิ้ง เมื่อไปถึงสน.นางเลิ้งในเวลาประมาณ 13.00 ตำรวจที่สน.นางเลิ้งก็ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบว่า พรชัยถูกตั้งข้อหาฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 ฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ ตามมาตรา 217 ฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358 และฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 โดยตำรวจกล่าวหาว่า พรชัยปาระเบิดเพลิงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ที่อยู่บนสะพานลอยหน้าโรงเรียนราชวินิตแต่ไม่ลุกไหม้ เพราะก่อนเกิดเหตุมีฝนตกหนักทำให้ซุ้มเปียกชื้น จึงวางแผนใหม่อีกครั้ง พรชัยให้การปฏิเสธ 

 
หลังจากนั้นเวลา 15.00 น. ตำรวจส่งตัวพรชัยไปฝากขังที่ศาล ต่อมาเวลา 16.50 น. ศาลอาญามีคำสั่งให้ฝากขังและไม่อนุญาตให้ประกันตัว ให้เหตุผลว่า พิเคราะห์กรณีการกระทำของผู้ต้องหาตามที่ถูกกล่าวหาเป็นข้อหาร้ายแรง มีอัตราโทษสูง มีลักษณะร่วมกันกระทำโดยใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะ และกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทางราชการอันเป็นการไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย น่าเชื่อว่าหากปล่อยชั่วคราวไป ผู้ต้องหาอาจหลบหนีหรือไปก่อภยันอันตรายประการอื่นอีก
 
 
18 กรกฎาคม 2565 
 
พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังพรชัยเป็นผลัดที่สองระหว่างวันที่ 19-30 กรกฎาคม 2565
 
19 กรกฎาคม 2565
 
ศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจิตรินในคดีสาดสีพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเหตุเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 จิตรินถูกคุมตัวนับจากนั้นเป็นต้นมา แต่ในคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่เขาเป็นผู้ต้องหาร่วม จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2565 พนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาคดีนี้กับจิตรินอย่างเป็นทางการ
 
 
27 กรกฎาคม 2565
 
พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังพรชัยเป็นผลัดที่สามระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม-11 สิงหาคม 2565 ทนายความยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง ศาลอาญานัดไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขังครั้งที่สามพร้อมกันกับคำร้องคัดค้านการฝากขังครั้งที่สี่
 
3 สิงหาคม 2565 
ขอประกันตัวครั้งที่สาม
 
ทนายยื่นคำร้องขอประกันตัวพรชัยครั้งที่สาม วางหลักทรัพย์เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมระบุคำร้องว่า การคุมขังผู้ต้องหาเป็นการขังที่เกินความจำเป็นของพฤติการณ์ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งกำหนดให้การควบคุมผู้ต้องหาให้กระทำได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น และผู้ต้องหารายนี้มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง พนักงานสอบสวนสามารถติดตามตัวมาพบได้ อีกทั้งผู้ต้องหามีความยินยอมจะไปพบพนักงานสอบสวนตามที่เรียกโดยไม่มีเจตนาที่จะหลบหนีตลอดจนพนักงานสอบสวนยังสามารถสอบพยานเพิ่มเติมในคดีนี้ รวมถึงรอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือและประวัติต้องโทษของผู้ต้องหามาประกอบได้โดยที่ไม่มีความจำเป็นจะต้องควบคุมผู้ต้องหารายนี้เอาไว้ นอกจากนี้ผู้ต้องหายังมีภรรยาและลูกสาวหนึ่งคน ซึ่งต้องได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากผู้ต้องหา ต่อมาศาลมีคำสั่งยกคำร้อง ไม่อนุญาตให้ประกันตัวพรชัย ระบุไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
 
8 สิงหาคม 2565
 
เวลา 10.00 น. สินบุรี แสนกล้าพร้อมทนายความเดินทางเข้า "แสดงตัว" ที่สน.นางเลิ้งเนื่องจากทราบว่า มีหมายจับในข้อกล่าวหาวางเพลิงเผาทรัพย์ฯ จากการชุมนุมครบรอบรัฐประหาร 2549 เมื่อ 19 กันยายน 2564 ที่บริเวณแยกนางเลิ้ง ถนนพิษณุโลก โดยหมายจับดังกล่าวเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องในหมายจับเดียวกันเดียวกับพรชัย, จิตรินและบัง ทะลุฟ้า สินบุรีระบุว่าเขาไม่เคยได้รับหมายเรียกดังกล่าวมาก่อน แต่กลับพบว่าตนเองมีชื่อในหมายจับออนไลน์และขึ้นสถานะการจับกุมว่า “หลบหนี” อย่างไรก็ตาม สินบุรียังยืนยันเดินทางมาแสดงตัวกับตำรวจด้วยความสมัครใจเพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา
 
 
ภายหลัง "แสดงตัว" ที่ สน.นางเลิ้ง เวลาประมาณ 13.30 น. เจ้าหน้าที่ได้พาตัวสินบุรีขึ้นรถไปที่ศาลอาญา รัชดา เพื่อขออำนาจศาลฝากขัง จากนั้นทนายได้ทำเรื่องยื่นขอประกันตัว ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งไม่ให้ยกคำร้องด้วยเหตุผลว่า “กรณีการกระทำของผู้ต้องหาตามที่ถูกกล่าวหาเป็นข้อหาร้ายแรง มีอัตราโทษสูง มีลักษณะร่วมกันกระทำโดยใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะ และกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทางราชการ อันเป็นการไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย น่าเชื่อว่าหากปล่อยชั่วคราวไป ผู้ต้องหาอาจหลบหนีหรือไปก่อภยันอันตรายประการอื่นอีก ในชั้นนี้จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง” โดยสินบุรีถูกส่งตัวขึ้นรถไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในเวลา 18.14 น ท่ามกลางสมาชิกกลุ่มทะลุฟ้าที่ขับรถตามไปส่งถึงหน้าเรือนจำ
 
11 สิงหาคม 2565
ขอประกันตัวครั้งที่สี่
 
พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังพรชัยเป็นครั้งที่สี่ ทนายของพรชัยยื่นคำร้องคัดค้านศาลจึงมีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องขออนุญาตฝากขังของพนักงานสอบสวนในวันนี้ ก่อนหน้านี้เมื่อครั้งที่พนักงานสอบสวนขออำนาจศาลฝากขังพรชัยเป็นครั้งที่สามระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม – 11 สิงหาคม 2565 ทนายความของพรชัยเคยขอให้ศาลไต่สวนคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวน แต่ศาลเพิ่งมาเรียกไต่สวนในวันนี้ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่พนักงานสอบสวนมายื่นคำร้องขออำนาจศาลฝากขังพรชัยเป็นครั้งที่สี่
 
พนักงานสอบสวนระบุเหตุผลในคำร้องขอฝากขังพรชัยว่า จำเป็นต้องตรวจสอบลายนิ้วมือ ประวัติของผู้ต้องหา และพยานหลักฐานอื่นๆ จึงต้องขอฝากขังพรชัยอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่ทนายความให้เหตุผลในคำร้องคัดค้านการฝากขังว่า การขังผู้ต้องหาต่อไปจะเกินความจำเป็น เพราะผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติการณ์หลบหนีและไม่สามารถเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ นอกจากนั้นผู้ต้องหายังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น ยังไม่ได้มีคำพิพากษาว่ากระทำความผิด ส่วนที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าต้องสอบปากคำพยานเพิ่มเติมและรอผลการตรวจพิมพ์ลายนิ้วมือ จริงๆแล้วพนักงานสอบสวนสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องขังผู้ต้องหา จึงขอให้ศาลยกคำร้องฝากขังและปล่อยตัวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน
 
ศาลเริ่มการไต่สวนในเวลา 10.00 น. มีพยานเข้าเบิกความเพียงปากเดียวคือพนักงานสอบสวน ทนายความถามว่าที่พยานอ้างว่าต้องรอผลการตรวจสอบลายนิ้วมือทำให้ต้องขอให้ฝากขังผู้ต้องหาต่อ เป็นกระบวนการภายในของตำรวจใช่หรือไม่ พยานตอบว่าเป็นการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทนายถามต่อว่ากระบวนการนั้นไม่ว่าผู้ต้องหาจะถูกคุมขังหรือไม่ก็สามารถดำเนินการได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าสามารถดำเนินการได้ พยานยังตอบทนายความด้วยว่าพยานอีกสองคนที่พนักงานสอบสวนต้องสอบปากคำเพิ่มเติมมีทั้งบุคคลทั่วไปและเจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานสอบสวนก็สามารถสอบสวนได้อย่างรวดเร็วไม่ว่าจำเลยจะถูกคุมขังหรือไม่ และยอมรับว่าการจับกุมเกิดจากการที่ผู้ต้องหาเดินทางมารายงานตัวที่ สน.สำราญราษฎร์เอง
 
 เมื่อถูกถามว่าพนักงานสอบสวนจะคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ พยานเบิกความว่าให้อยู่ในดุลพินิจของศาล และพนักงานสอบสวนยอมรับด้วยว่าแม้จะปล่อยตัวผู้ต้องหาไปก็จะไม่กระทบต่อการสอบสวนแต่อย่างใด
 
 เวลา 11.45 น. ศาลมีคำสั่งให้ฝากขังพรชัยต่อเป็นครั้งที่สี่ โดยให้เหตุผลว่า พนักงานสอบสวนมีความจำเป็นต้องรอสอบปากคำพยานเพิ่มและรอตรวจลายนิ้วมือของผู้ต้องหา ซึ่งถือเป็นความจำเป็นที่ต้องกระทำในการรวบรวมหลักฐานในคดีอาญา กรณีมีเหตุจำเป็นจึงอนุญาตให้ฝากขัง
 
หลังจากอ่านคำสั่งเสร็จศาลถามพนักงานสอบสวนว่า ขอให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนให้เสร็จภายในเวลา 7 วันได้หรือไม่ เมื่อพนักงานสอบสวนมีท่าทีอ้ำอึ้ง ศาลได้พูดขึ้นว่าขอให้ทำการสอบสวนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทนายความของพรชัยพูดขึ้นว่าพนักงานสอบสวนอยู่ในเรือนจำแต่เป็นลูกความของเขาที่อยู่ในเรือนจำ ศาลพูดขึ้นว่าศาลเห็นใจและเคารพความแตกต่างทางความคิด แต่ยุคนี้มีการใช้เทคโนโลยีบ่อนทำลายมนุษย์ด้วยกัน สิ่งที่นำไปโพสต์กันในโลกออนไลน์มีทั้งจริงและไม่จริง ซึ่งสามารถตามตัวได้ว่าผู้กระทำเป็นใคร แต่ที่ศาลไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เป็นเพราะบุคคลเหล่านั้นเป็นกลุ่มคนที่ต่อต้านกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว พร้อมกล่าวกับทนายความด้วยว่าควรจะเตือนลูกความของตัวเองว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ไม่ใช่มาแก้ที่ปลายเหตุเช่นนี้ ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเงินเดือนของศาล ในความเป็นจริงแล้วศาลเป็นหน่วยงานที่ทำงานหนักมาก และเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ศาลในต่างประเทศยังได้รับเงินเดือนมากกว่าศาลไทยและมีปริมาณงานน้อยกว่า
 
หลังจากศาลอนุญาตให้ฝากขังพรชัยต่อ ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ก่อนที่ในเวลา 17.00 น. ศาลจะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพรชัย โดยให้เหตุผลว่าศาลนี้เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมาก่อนและได้ระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณียังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงให้ยกคำร้อง
 
23 สิงหาคม 2565
ขอประกันตัวครั้งที่ห้า
 
พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังพรชัยเป็นผลัดที่ห้า ระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม – 4 กันยายน 2565 ระบุเหตุผลว่า การสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ ยังต้องสอบปากคำพยานอีกหนึ่งปาก ทนายความยื่นคัดค้านคำร้องขอฝากขัง ศาลไต่สวนแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง ระบุว่า พนักงานสอบสวนมีความจำเป็นที่จะต้องสืบพยานบุคคลทั่วไปดังกล่าว และต้องทำสำนวนเสนอต่อผู้บังคับบัญชา จึงเห็นชอบให้มีการฝากขังต่ออีก 12 วัน กำชับให้พนักงานสอบสวนเร่งทำสำนวนให้เสร็จโดยเร็ว ฝากขังระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม-4 กันยายน 2565 ต่อมาทนายยื่นคำร้องขอประกันตัวพรชัยครั้งที่ห้า แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง ไม่อนุญาตให้ประกันตัว ระบุไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
 
2 กันยายน 2565 
ขอประกันตัวครั้งที่หก
 
 
พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังพรชัยเป็นผลัดที่หก ระหว่างวันที่ 5-14 กันยายน 2565 ทนายความยื่นคำร้องขอคัดค้านขอฝากขังพรชัยครั้งที่หก ภายหลังพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ยื่นคำร้องขอฝากขังพรชัยครั้งที่ หก โดยระบุเหตุผลว่า อยู่ระหว่างเสนอสำนวนให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณา ศาลไต่สวนคำร้องและอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาต่อไป ด้านทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวพรชัยครั้งที่หก แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง ไม่อนุญาตให้ประกันตัว ระบุว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
 
8 กันยายน 2565 
 
พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องและส่งสำนวนให้อัยการ
 
12 กันยายน 2565 
อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นครั้งที่หนึ่ง
 
ทนายความยื่นคำร้องขออุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวพรชัยของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำสั่งในวันที่ 14 กันยายน 2565 
 
14 กันยายน 2565 
 
ศาลอุทธรณ์แจ้งว่า อยู่ระหว่างขอดูเอกสารคำเบิกความในส่วนของพนักงานสอบสวนเพิ่มเติม จึงเลื่อนฟังคำสั่งไปในวันที่ 15 กันยายน 2565 แทน  ด้านพนักงานอัยการยื่นคำร้องขอฝากขังพรชัยต่อเป็นผลัดที่เจ็ดระหว่างวันที่ 15-19 กันยายน 2565 ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังพรชัยต่อไปเป็นครั้งที่เจ็ดตามคำร้องขอฝากขังของพนักงานอัยการ เนื่องจากพนักงานอัยการตรวจสำนวนไม่เสร็จทันฟ้อง ทนายความยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง ศาลนัดไต่สวนวันที่ 19 กันยายน 2565 เนื่องจากพรชัยถูกเบิกตัวไปขึ้นศาลในคดีอื่น
 
15 กันยายน 2565 
 
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องขออุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวพรชัยของศาลชั้นต้นระบุว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหา และพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ความผิดที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหามีอัตราโทษสูง เป็นการกระทำที่อุกอาจ ไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง ทั้งกระทบต่อความรู้สึกและศีลธรรมอันดีของประชาชน พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ในชั้นนี้หากอนุญาตประกันตัว มีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก
 
 
19 กันยายน 2565 
 
ครบกำหนดการฝากขังในผลัดที่เจ็ดระหว่างวันที่ 15-19 กันยายน 2565 ศาลอาญานัดไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขังพรชัยในผลัดที่เจ็ด แต่ศาลอาญามีคำสั่งยกเลิกเนื่องจากพรชัยต้องไปศาลอาญากรุงเทพใต้ในคดีชุมนุมของนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ศาลเลื่อนนัดไต่สวนคัดค้านขอฝากขังในวันที่ 20 กันยายน 2565 ขณะที่อัยการจึงยื่นคำร้องขอฝากขังพรชัยในผลัดที่แปด ทนายความยื่นคัดค้านการฝากขัง
 
 
20 กันยายน 2565 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เวลา 14.00 น. ศาลอาญาไต่สวนคัดค้านขอฝากขังพรชัยครั้งที่เจ็ดและแปด ก่อนศาลออกนั่งพิจารณาคดี ทนายความถามอัยการว่า จะมีคำสั่งฟ้องคดีนี้ได้เมื่อไหร่ อัยการระบุว่าภายในวันที่ 23 กันยายน 2565 ก็จะสามารถทำการสั่งฟ้องได้แล้ว อัยการระบุว่า ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาในระหว่างวันที่ 20 – 28 กันยายน 2565 เนื่องจากขณะนี้สำนวนคดีได้อยู่ในชั้นพิจารณาของคณะกรรมของสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว การพิจารณาในคดีนี้เป็นไปตามระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด เนื่องจากเป็นคดีที่มีความสำคัญ โทษร้ายแรงและผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ จึงจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาคดีสั่งฟ้องอย่างถี่ถ้วน ถ้าคณะทำงานมีความเห็นสั่งฟ้องแล้ว ก็จะสามารถทำได้ภายในหนึ่งวัน
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อทนายถามต่ออัยการผู้ร้องว่า ในคดีนี้หากปล่อยผู้ต้องหาไปก็ไม่ได้มีเหตุให้การพิจารณาคดีของคณะกรรมการดังกล่าวติดขัด หรือในระหว่างที่ผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่นี้ ก็ไม่ได้มีใครใช้อิทธิพลไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานในคดีใช่หรือไม่ ซึ่งผู้ร้องได้ตอบว่าใช่ แต่ก็เกรงว่าถ้าได้รับการปล่อยตัว ผู้ต้องหาจะหลบหนี ศาลได้ถามต่อว่าในคดีนี้ อัยการจะสามารถสั่งฟ้องได้ในวันไหน ซึ่งพยานผู้ร้องได้มีท่าทีไม่แน่ใจ แต่ก็ตอบว่าภายในวันศุกร์นี้ (23 กันยายน 2565) น่าจะได้
 
ต่อมาศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังระบุว่า “กรณีมีเหตุจำเป็นที่จะต้องขังผู้ต้องหาไว้จนกว่ากระบวนการพิจารณาของผู้ร้องจะเสร็จสิ้นลง จึงอนุญาตให้ฝากขังต่อได้อีก 8 วัน ถึงวันที่ 28 กันยายน 2565 ตามที่ผู้ร้องขอ แต่ให้อัยการแถลงผลการดำเนินกระบวนการพิจารณาของคณะทำงานคดีภายในวันที่ 23 ก.ย. 2565 ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป กำชับให้ผู้ร้องเร่งรัดให้การดำเนินการพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ไม่ตัดสิทธิของผู้ต้องหาในการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว” 
 
 
23 กันยายน 2565 
ขอประกันตัวครั้งที่เจ็ด
 
พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องพรชัยร่วมกับสินบุรี แสนกล้า เป็นจำเลยที่หนึ่งและสองตามลำดับ พรชัยถูกกล่าวหาตามตามมาตรา 112, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และสินบุรี ในข้อหาร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งสองยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลอาญานัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ขณะที่บัง-ทะลุฟ้า ผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งในคดีนี้ อัยการมีคำสั่งฟ้องในคดีนี้เช่นเดียวกับผู้ต้องหาทั้งสองคน แต่บังติดภารกิจอื่น จึงขอเลื่อนฟังคำสั่งฟ้องคดีออกไปก่อน
 
ต่อมาทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวพรชัยครั้งที่เจ็ด วางหลักทรัพย์เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท และสินบุรีวางหลักทรัพย์เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท ซึ่งเป็นการขอประกันตัวครั้งแรกในระหว่างการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น แต่ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวพรชัย ระบุว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ส่วนสินบุรีให้รอฟังคำสั่งในวันต่อไป
 
26 กันยายน 2565 
ขอประกันตัวครั้งที่เก้า
 
ศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวสินบุรีเช่นเดียวกับพรชัย ทนายยื่นคำร้องขอประกันตัวพรชัยอีกครั้งเป็นครั้งที่เก้า แต่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว ระบุว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
 
27 กันยายน 2565 
อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นครั้งที่สอง
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ทนายความยื่นคำร้องขออุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวพรชัยของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นการอุทธรณ์ครั้งที่สอง โดยระบุคำร้องว่า ในคดีนี้พนักงานอัยการโจทก์ไม่คัดค้านการประกันตัวของจำเลย โดยขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล อันเป็นการชี้ให้เห็นว่าจำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และไม่มีพฤติการณ์ที่จะไปอันตรายประการอื่น ประกอบจำเลยได้เดินทางไปถึง สน.นางเลิ้ง ตามหมายจับค้างเก่าด้วยตนเอง นอกจากนี้ จำเลยยังเป็นหัวหน้าครอบครัว ประกอบอาชีพรับจ้าง มีภรรยาและลูกสาว อายุเพียง 8 ปีที่ต้องเลี้ยงดู หากจำเลยถูกคุมขังไว้ในระหว่างพิจารณาคดีต่อไป จะกระทบต่อการประกอบอาชีพและส่งผลกระทบต่อครอบครัวของจำเลยเป็นอย่างยิ่ง การขังจำเลยไว้ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรม หากศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวใดๆ เช่น การติดกำไล EM หรือกำหนดเวลาให้อยู่ในเคหะสถานหรือในพื้นที่ที่ศาลกำหนด จำเลยสามารถยอมรับเงื่อนไขและพร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวอย่างเคร่งครัดทุกประการ ศาลนัดฟังคำสั่งวันที่ 3 ตุลาคม 2565
 
 
3 ตุลาคม 2565 
 
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องขออุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวพรชัยเป็นครั้งที่สอง ระบุว่าข้อหาของจำเลยมีอัตราโทษสูง ลักษณะอุกอาจ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ถือเป็นเรื่องร้ายแรง และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยจะหลบหนีหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก
 
4 ตุลาคม 2565 
 
บัง-ทะลุฟ้า เข้าฟังคำสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการที่ศาลอาญา ในข้อหาตามมาตรา 112, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ บังปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและยืนยันว่าตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการวางเพลิงตามที่ถูกกล่าวหา
ต่อมาทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวในชั้นพิจารณาคดี แต่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว ระบุเหตุผลว่าข้อหาของจำเลยร้ายแรง มีอัตราโทษสูง มีลักษณะร่วมกันกระทำโดยใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะ และกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทางราชการ อันเป็นการไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย น่าเชื่อว่าหากปล่อยตัวชั่วคราวไป จำเลยอาจหลบหนีหรือไปก่อภยันตรายประการอื่น เจ้าหน้าที่คุมตัวบัง-ทะลุฟ้าไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
 
31 ตุลาคม 2565 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
ศาลนัดสืบพยานเป็นวันที่ 19-22 มีนาคม 2567 พร้อมนัดไต่สวนประกันทั้งสามคนอีกครั้ง 10 พฤศจิกายน 2565
 
10 พฤศจิกายน 2565
 
ที่ห้องพิจารณาคดี 619 มีพ่อแม่ และญาติของผู้ต้องหากับสมาชิกกลุ่มทะลุฟ้ามาร่วมให้กำลังใจราว 20 คน จำเลยทั้งสามถูกตัดผมสั้นเกรียน เดินทางมาที่ห้องพิจารณาคดีด้วยเท้าเปล่าและถูกใส่กุญแจเท้า และมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ติดตามมาด้วยอย่างน้อยสี่คน บังนำหน้ากากอนามัยมาผูกไว้ที่ข้อเท้าข้างละชิ้นเพื่อลดการเสียดสีของกุญแจเท้าด้วย นอกจากนั้น ในขณะที่จำเลยทั้งสามกำลังจะเดินเข้าไปในห้องพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็แจ้งกับคนที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีว่าห้ามถ่ายรูปจำเลย มิเช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาล อย่างไรก็ตามตลอดการไต่สวนไม่มีตำรวจศาลประจำอยู่ทั้งในและนอกห้องพิจารณาคดี
 
ก่อนเริ่มการไต่สวน ศาลถามทนายว่า อัยการทราบนัดไต่สวนในครั้งนี้หรือไม่เพราะไม่ได้เดินทางมาร่วมฟังด้วย ทนายจึงแจ้งให้ผู้ช่วยทนายเร่งติดต่อกองอัยการและออกหนังสือรับรอง โดยศาลแจ้งว่า หากอัยการรับทราบและไม่ได้คัดค้าน ก็สามารถไต่สวนได้เลย ต่อมา อัยการออกหนังสือรับรองมาว่าไม่คัดค้าน ศาลจึงดำเนินการไต่สวน เนื่องจากห้องที่ใช้พิจารณาคดีมีขนาดเล็ก และมีผู้สนใจร่วมฟังการพิจารณาคดีราว 15 คน เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงขอความร่วมมือเฉพาะพ่อและแม่ของจำเลยที่สามารถอยู่ในห้องพิจารณาคดีได้
 
การไต่สวนในวันนี้ มีพยานเบิกความรวมหกปาก ได้แก่ ตัวจำเลยสามปาก และผู้กำกับดูแลของจำเลยแต่ละคนอีกสามปาก ทนายจำเลยยังวางหลักประกันต่อศาลมูลค่า 100,000 บาทต่อคน ซึ่งเป็นเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์
 
จำเลยที่หนึ่ง: พรชัย ยวนยี (แซม)
เวลา 10.33 น. ศาลเริ่มการไต่สวน จำเลยที่หนึ่ง ตลอดการไต่สวน ภรรยาและน้องพีช ลูกสาวของพรชัยนั่งฟังอยู่ข้างๆ พรชัยเบิกความว่า บ้านที่อยู่อาศัยก่อนถูกจับกุมตัวเป็นบ้านที่เขาอยู่กับภรรยาและลูกมาตั้งแต่ปี 2556 เขาจึงมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและสามารถตามตัวได้ นอกจากนั้น ก่อนจะถูกควบคุมตัวไปที่เรือนจำ เขาก็เป็นคนเดินทางไปมอบตัวกับ สน.นางเลิ้งด้วยตัวเองและให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนเป็นอย่างดี ไม่มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด สำหรับข้อต่อสู้ เขาให้การปฏิเสธมาตลอดทั้งในชั้นตำรวจและชั้นศาล และที่ผ่านมาถูกคุมขังเป็นเวลาประมาณ 120 วัน หรือ 4 เดือนแล้ว สำหรับคดีนี้ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 และนัดวันสืบพยานเป็นวันที่ 19 มีนาคม 2567
.
พรชัยชี้แจงว่า การถูกคุมขังส่งผลต่อครอบครัว เนื่องจากปัจจุบันเขาประกอบอาชีพอิสระ รับทำโครงการวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับการเมือง นอกจากนั้นเขาก็มีภาระต้องส่งเงินเลี้ยงดูครอบครัวและแม่ซึ่งอยู่ที่จังหวัดบึงกาฬ หากศาลจะกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวก็สามารถปฏิบัติตามได้ และยินดีเชื่อฟังผู้กำกับดูแล  
.
เมื่อพรชัยหมดคำแถลง ทนายจำเลยถามศาลว่า สามารถเพิ่มเติมข้อมูลเรื่องภาระการดูแลลูกสาวด้วยได้หรือไม่ ศาลตอบว่าข้อมูลข้างต้นเพียงพอแล้ว พร้อมกล่าวว่า พูดตามตรง อำนาจพิจารณาเป็นอำนาจตัดสินใจของผู้บริหารศาล แต่ศาลที่เป็นผู้ไต่สวนจะช่วยเหลือให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
 
จำเลยที่สอง: สินบุรี แสนกล้า (แม็ก)
สินบุรีเบิกความว่าเขาประกอบอาชีพรับจ้างเป็นหัวหน้างานควบคุมการก่อสร้างและเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในบ้าน ก่อนถูกจับอาศัยอยู่กับพ่อ แม่ และพี่สาว คดีนี้เขาเป็นคนเดินทางไปที่ สน.นางเลิ้งเพื่อรายงานตัวตามนัด ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี แต่กลับถูกควบคุมตัวไปเรือนจำในเย็นวันเดียวกัน จนถึงตอนนี้เขาถูกคุมขังเป็นเวลามากกว่า 90 วันแล้ว สำหรับการต่อสู้คดีเขาให้การปฏิเสธตั้งแต่ชั้นสอบสวน คดีนี้ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 เขาและคู่ความได้นัดวันสืบพยานแล้วเป็นวันที่ 19 มีนาคม 2567
 
สินบุรีกล่าวว่าการถูกคุมขังส่งผลกระทบกับครอบครัว เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาพี่สาวเพิ่งซื้อรถใหม่ และเขาไม่ได้ส่งเงินไปช่วยเหลือทำให้ที่บ้านขาดรายได้ เขายอมรับเงื่อนไขการปล่อยตัวของศาล ยินดีมารายงานตัวตามนัด และให้ศาลแต่งตั้งพี่สาวเป็นผู้กำกับดูแล เมื่อทนายซักถามพี่สาวของสินบุรีว่าน้องชายเป็นคนอย่างไร พี่สาวตอบว่า เป็นคนสุภาพ เรียบร้อย นิ่งๆ มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ไม่มีพฤติกรรมทะเลาะต่อยตีหรือก้าวร้าว และที่บ้านสามารถตักเตือนได้มาตั้งแต่เล็กจนโตเนื่องจากเป็นคนเชื่อฟัง อีกทั้งตัวเธอและน้องชายยังเรียนที่เดียวกัน เติบโตมาด้วยกันตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันก็ยังพบเจอกันทุกวัน จึงสามารถตักเตือนให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขได้อย่างแน่นอน
 
โดยปกติสินบุรีจะไว้ผมยาว แต่ในวันนี้ถูกตัดผมจนสั้นเกรียนทำให้ใบหน้าไม่เหลือเค้าเดิม
 
จำเลยที่สาม: บัง
บังเบิกความว่า เขากำลังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 ที่มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช สาขาพัฒนาชุมชนเมือง ก่อนถูกจับอาศัยอยู่กับแม่บุญธรรมอายุ 65 ปี มาตั้งแต่เด็ก ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่โดยสายเลือดและเคยพบกันเพียงหนึ่งครั้งตอนทำบัตรประชาชนเมื่ออายุ 7 ปี ในวันที่ 4 ตุลาคม 2565 เขาเป็นผู้ไปแสดงตัวที่ สน.นางเลิ้งตามหมายเรียก และนับจนถึงวันที่ไต่สวนถูกคุมขังมากว่าหนึ่งเดือน ในทางคดีเขาให้การปฏิเสธมาตลอด คดีนี้ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ซึ่งเขาและคู่ความก็ได้นัดวันสืบพยานแล้วเป็นวันที่ 19 มีนาคม 2567
 
ต่อมา แม่บุญธรรมของบังขึ้นเบิกความ ระหว่างทางเข้ามาที่ห้องพิจารณาคดี ทนายต้องช่วยประคองเนื่องจากเธอมีอายุมากและเจ็บขา แม่บุญธรรมของบังเบิกความว่า ดูแลบังมาตั้งแต่อายุสองเดือนและอาศัยอยู่ด้วยกันเพียงสองคน ขณะที่เบิกความสุขภาพของเธอย่ำแย่ มีโรคประจำตัวคือความดัน ไขมันในเส้นเลือด ขาไม่ดี และมีอาการเกร็งต้นคอเนื่องจากเลือดหนืด เวลาทำงานหนักหรือพักผ่อนน้อยอาจถึงขั้นช็อคได้ ที่ผ่านมาการที่ลูกชายถูกคุมขังส่งผลให้ไม่มีคนขับรถให้ จะออกไปหาซื้ออะไรก็ลำบาก
 
เมื่อทนายถามซักว่าลูกชายมีนิสัยอย่างไร เธอตอบด้วยน้ำเสียงที่สดใสขึ้นว่า บังเป็นเด็กนิสัยดี ไม่เคยมีปัญหากับใคร ไม่เคยทำให้ผิดหวัง ไม่เคยก้าวร้าวหรือไปมีเรื่อง-ทะเลาะกับใคร คนรอบตัวแถวบ้านต่างก็ชอบเขา บอกว่าเป็นเด็กดี ไม่เคยว่าร้ายผู้ใหญ่ และเธอสามารถตักเตือนได้หากศาลจะปล่อยตัว สามารถดูแลให้เป็นไปตามเงื่อนไขของศาลได้ ยินยอมเป็นผู้กำกับดูแล-กำชับให้มาศาลได้ทุกนัด ไม่ให้หลบหนี
 
เวลาประมาณ 13.10 น. ภายหลังการไต่สวน ศาลแจ้งกับจำเลยและญาติของจำเลยว่าจะทำการรวบรวมข้อมูลไปให้ผู้บริหารของศาลอาญา รัชดา ลงความเห็นอีกครั้ง และให้นัดฟังคำสั่ง 22 พฤศจิกายน 2565 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประกัน โดยไม่มีการเบิกตัวจำเลยมาฟังคำสั่ง เมื่อทนายถามว่าเหตุใดจึงเว้นระยะเวลานาน เป็นเพราะติดช่วงวันหยุดของการประชุมเอเปค (การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก) ใช่หรือไม่ ศาลตอบว่าใช่

22 พฤศจิกายน 2565 

ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว แซม-พรชัย ยวนยี, บัง-ภานุพงศ์ และแม็ก-สินบุรี โดยเบื้องต้นคำสั่งของศาลเห็นว่ามีเหตุที่จะอนุญาตให้ประกันตัวได้ แต่ขอให้เปลี่ยนจากนายประกันที่เป็นเพื่อน ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับจำเลย มาเป็นนายประกันที่เป็นญาติโดยตรงของจำเลย จึงสั่งอนุญาตให้ประกันตัว 
 
ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ทั้งสามคนเดินเท้าเวลาออกมาหน้าประตูเรือนจำในเวลา 18.59 น. โดยมีมวลชน กลุ่มทะลุฟ้า และครอบครัวของแซมรอต้อนรับ พร้อมมอบดอกกุหลาบให้ทั้งสามคน โดยแซมกล่าวว่าเขาได้นำกวีที่เขียนในเรือนจำออกมาด้วย แต่ถูกเจ้าหน้าที่เรือนจำฉีกเนื่องจากต้องการเซนเซอร์เนื้อหา 
 
คำสั่งให้ประกันตัวในวันนี้กำหนดหลักทรัพย์ประกันตัวคนละ 100,000 บาท และกำหนดเงื่อนไขของทั้งสามคน ดังนี้
 
1.ให้ใส่กำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM)
2.ห้ามมิให้ออกนอกเคหสถานหลังเวลา 20.00-06.00 น. หากผิดสัญญาให้ปรับ 100,000 บาท 
3.ห้ามกระทำการในลักษณะที่ถูกกล่าวหา 
4.ห้ามใช้ความรุนแรงต่อพนักงานของรัฐและทรัพย์สินของทางราชการ 
5.ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล 
6.ให้ตั้งผู้กำกับดูแลทั้งสามคน 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา