ชินวัตร : ปราศรัยหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้

อัปเดตล่าสุด: 27/10/2565

ผู้ต้องหา

ชินวัตร จันทร์กระจ่าง

สถานะคดี

ชั้นสืบสวนสอบสวน

คดีเริ่มในปี

2513

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และเลขาฯ สมาชิกศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.)

สารบัญ

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 ชินวัตรเข้าร่วมชุมนุม เพื่อเรียกร้องสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวให้กับ เนติพรหรือ บุ้ง และ “ใบปอ" ที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ ตอนหนึ่งของการปราศรัยชินวัตรกล่าวพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์เรื่องการโอนย้ายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ เรื่องการโอนย้ายกองกำลังทหารไปเป็นกองกำลังส่วนพระองค์ และเรียกร้องให้ยุติการใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีกับประชาชน ต่อมาในวันที่ 29 กรกฎาคม 2565 อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสน.ยานนาวาผู้รับผิดชอบท้องที่ให้ดำเนินคดีกับชินวัตร
 
ตำรวจทำการจับกุมชินวัตรที่บ้านพักในวันที่ 30 กรกฎาคม 2565 พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหากับชินวัตรรวมสามข้อหา ได้แก่ ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ข้อหาใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 และข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดตามกฎหมายอาญาหมวดความมั่งคงตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) ชินวัตรถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 โดยเขาแถลงว่าจะไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม และขอถอนคำร้องคัดค้านการฝากขัง เมื่อศาลอนุญาตให้ฝากขังชินวัตรก็ถูกควบคุมตัวไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพในวันเดียวกัน 
 
ในวันที่ 6 สิงหาคม 2565 ทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวชินวัตรต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ แต่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ทนายความของชินวัตรจึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวชินวัตรต่อศาลอุทธรณ์ ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ชินวัตรเข้ารับการไต่สวนคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวของศาลชั้นต้น ชินวัตรแถลงต่อศาลตอนหนึ่งว่า การกระทำที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้เขาเพียงมีเจตนาเรียกร้องสิทธิการปล่อยตัวชั่วคราวให้ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 คือเนติพร และ "ใบปอ" เท่านั้น ส่วนการโกนหัวต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์เขาก็เพียงต้องการแสดงออกว่ามีพสกนิกรถูกรังแก ส่วนที่ก่อนหน้านี้เขาเคยแถลงไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมชินวัตรแถลงว่าเขาเพียงต้องการประท้วงต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น เมื่อเนติพร และ "ใบปอ" ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้วเขาก็กลับมาเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว จากนั้นวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวชินวัตรโดยต้องวางหลักประกัน 150,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการลักษณะเดียวกับที่เคยถูกกล่าวหาอีก หากนับจากวันที่ถูกคุมขังจนถึงวันที่ได้รับการปล่อยตัว ชินวัตรจะถูกคุมขังรวมทั้งสิ้น 26 วัน

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ชินวัตร จันทร์กระจ่าง หริอ ไบร์ท เคยร่วมจัดกิจกรรมคนนนท์ท้าชนเผด็จการที่ท่าน้ำนนท์เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 นอกจากนั้นระหว่างปี 2563 – 2564 เขาก็ร่วมจัดกิจกรรมทางการเมืองในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีอีกหลายครั้งและได้เข้าร่วมการชุมนุมรวมถึงขึ้นปราศรัยในการชุมนุมของราษฎรที่กรุงเทพเป็นระยะด้วย ก่อนหน้านั้นในปี 2554-2556 ชินวัตร เคยร่วมจัดรายการวิทยุชุมชนคนเสื้อแดง และเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาชน (กวป.) ที่จัดการชุมนุมคู่ขนานกับกลุ่ม กปปส.

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา, อื่นๆ
พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

พฤติการณ์ของคดีตามบันทึกการจับกุมพอสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 ที่บริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ ชินวัตรเข้าร่วมปราศรัยในการชุมนุมที่จัดขึ้นเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้กับ เนติพร หรือ บุ้ง และ "ใบปอ" สองนักกิจกรรมกลุ่มทะลุวังที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาตรา 112 โดยการปราศรัยดังกล่าวมีการถ่ายทอดสดทางช่อง Youtube “ไทยทีวีนิวส์” ด้วย ระหว่างการชุมนุมชินวัตรกล่าวปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียง มีเนื้อหาบางส่วนที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้แก่
 
 
ผู้ต้องหากล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามโอนย้ายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ เครือซิเมนต์ไทย ข้อความดังกล่าวเป็นการบิดเบือนใส่ร้ายพระมหากษัตริย์ ทําให้ประชาชนเกลียดชังและมองว่าพระมหากษัตริย์ว่าเป็นคนโลภหรือเป็นคนคดโกง
 
ผู้ต้องหากล่าวถึงการโอนย้ายกำลังพลบางส่วนไปอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของพระมหากษัตริย์ว่า ข้อความดังกล่าวเป็นเท็จ ทําให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า พระเจ้ามหากษัตริย์ทรงรวบอํานาจและต้องการตั้งกองทัพส่วนพระองค์ ซึ่งทําให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ
 
 
ระหว่างการปราศรัยผู้ต้องหาใช้คำว่า "หากทรงคิดพิลึก" คำดังกล่าวเป็นคำที่หมิ่นพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ ทั้งผู้ต้องหายังกล่าวคำปราศรัยในลักษณะกล่าวหาว่าพระมหากษัตริย์จะยึดอำนาจจากระบอบประชาธิปไตยไปเป็นระบอบราชาธิปไตยซึ่งเป็นการกล่าวหาที่ไม่มีหลักฐานและเป็นการใส่ร้ายว่าพระมหากษัตริย์ทรงไม่เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตย การกล่าวปราศรัยของผู้ต้องหา 
 
พนักงานสอบสวนได้แจ้งชินวัตรสามข้อหา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 

พฤติการณ์การจับกุม

ตามรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2565 เวลา 18.00 น. ตำรวจจากกองสืบสวนนครบาล 6 นำหมายจับศาลอาญากรุงเทพใต้ไปแสดงและทำการจับกุมชินวัตรที่บ้านพักในจังหวัดนนทบุรี หลังทำการจับกุม ตำรวจนำตัวชินวัตรไปสอบสวนที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บข.ปส.) ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ ในชั้นจับกุม ชินวัตรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาแต่ยอมรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับจริง 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลอาญากรุงเทพใต้

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
28 กรกฎาคม 2565
 
ประชาไทรายงานว่า ตั้งแต่เวลา 17.00 น. มีการชุมนุมที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 จากกลุ่มทะลุวังได้แก่ เนติพรหรือ บุ้ง และ "ใบปอ" มีประชาชนจำนวนหนึ่งสวมชุดดำเข้าร่วมชุมนุม ระหว่างการชุมนุม มีผู้ชุมนุมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยเผาพริกเผาเกลือเพื่อสาปแช่งผู้มีอำนาจ ชินวัตรซึ่งเข้าร่วมการชุมนุมได้ขึ้นกล่าวปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงโดยที่ตอนหนึ่งของการปราศรัยมีการพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ ระหว่างการชุมนุมชินวัตรยังร่วมโกนศีรษะที่บริเวณหน้าพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบร่วมกับประชาชนคนอื่นๆด้วย การชุมนุมในวันดังกล่าวยุติลงในเวลาประมาณ  21.00 น. 
 
29 กรกฎาคม 2565
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า อานนท์ ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันหรือ ศปปส. เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนสน.ยานนาวา ให้ดำเนินคดีกับชินวัตร
 
30 กรกฎาคม 2565
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ในเวลา 18.00 น. ตำรวจนำหมายจับศาลอาญากรุงเทพใต้ไปแสดงและจับกุมชินวัตรที่บ้านพักในจังหวัดนนทบุรี หลังการจับกุมชินวัตรถูกนำตัวไปควบคุมที่กองบังคับการตํารวจปราบปรามยาเสพติด ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ ในชั้นจับกุม ชินวัตรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่ยอมรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับจริง พนักงานสอบสวนแจ้งชินวัตรสามข้อหา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 หลังจากสอบปากคำแล้วเสร็จชินวัตรถูกควบคุมตัวอยู่ที่กองบังคับการตํารวจปราบปรามยาเสพติดเป็นเวลาสองคืน 
 
1 สิงหาคม 2565
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า พนักงานสอบสวนนำตัวชินวัตรไปขออำนาจศาลอาญากรุงเทพใต้ฝากขัง โดยอ้างเหตุว่า ยังทำการสอบสวนไม่แล้วเสร็จ ต้องสืบพยานเพิ่มอีก 10 ปาก และรอผลการตรวจลายนิ้วมือ พนักงานสอบสวนยังคัดค้านการประกันตัวชินวัตรด้วยโดยอ้างว่า ชินวัตรเคยกระทำความผิดในคดีความมั่นคงหลายคดี แต่ยังคงกระทำผิดซ้ำ หากศาลปล่อยตัวไปชินวัตรอาจไปกระทำการในลักษณะเดิมอีก
 
หลังทนายความของชินวัตรยื่นคำร้องคัดค้านฝากขังและศาลให้ไต่สวนคำร้อง ชินวัตรแถลงปฏิเสธไม่เข้าร่วมกระบวนการและขอถอนคำร้องคัดค้านการฝากขัง พร้อมแถลงว่าจะไม่ให้การต่อศาล ไม่ถามค้านพยานหากมีการสืบพยาน และไม่ลงชื่อในเอกสารใดๆ ของศาล โดยให้เหตุผลว่า เขากังขาในความเป็นกลางของศาล และรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมอย่างถูกต้อง
 
เมื่อศาลอาญากรุงเทพใต้อนุญาตให้ฝากขังชินวัตรเป็นเวลา 12 วัน ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน ชินวัตรจึงถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ  
 
6 สิงหาคม 2565
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวชินวัตรต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยคำร้องสรุปได้ว่า ชินวัตรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เนื่องจากไม่ได้กระทำความผิดตามที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา และต้องการนำพยานหลักฐานเสนอต่อศาลเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง พฤติการณ์ต่างๆ ในคดีเป็นเพียงการกล่าวหาของพนักงานสอบสวนฝ่ายเดียว ส่วนข้ออ้างของพนักงานสอบสวนที่ว่า ชินวัตรกระทำความผิดในคดีความมั่นคงหลายคดี แต่ยังคงทำผิดซ้ำ หากได้รับการปล่อยตัว จะไปกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันอีกก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากในทุกคดี ชินวัตรยังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา และศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าชินวัตรได้กระทำความผิดในคดีใด
 
เวลา 12.40 น. ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวชินวัตร โดยให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหากระทำการในคดีนี้ต่อพระบรมฉายาลักษณ์ที่ประดับอยู่หน้าอาคารศาลแพ่งและอาญากรุงเทพใต้ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 28 กรกฏาคม 2565 ซึ่งเป็นวันสำคัญของคนไทยทั้งชาติ ผู้ต้องหายื่นแถลงการณ์ติดสำนวนไม่ยอมรับอำนาจศาลด้วยถ้อยคำร้ายแรง ทั้งก่อนหน้านี้ผู้ต้องหาก็เคยถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการชุมนุมถึง 16 คดี พฤติการณ์ของผู้ต้องหาเป็นเรื่องร้ายแรง และเป็นคดีนี้มีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาอาจหลบหนีหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น  
 
11 สิงหาคม 2565
 
พ.ต.ต เกียรติศักดิ์ พิมมานนท์ พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา ยื่นคำร้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ขอฝากขังชินวัตรเป็นครั้งที่สองต่ออีก 12 วัน โดยระบุเหตุผลว่า ยังต้องสอบพยานเพิ่มอีกห้าปาก ขณะที่ทนายความของชินวัตรยื่นคำร้องคัดค้านฝากขัง ให้เหตุผลว่า พนักงานสอบสวนไม่มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นที่จะต้องออกหมายขังผู้ต้องหาแล้ว และการขังผู้ต้องหาต่อไปเป็นการขังไว้เกินกว่าความจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี อย่างไรก็ตามศาลอาญากรุงเทพใต้ยกคำร้องคัดค้านฝากขังของชินวัตรและอนุญาตให้พนักงานสอบสวนฝากขังชินวัตรต่อไปอีก 12 วัน ระหว่างวันที่ 13-24 สิงหาคม 2565 ในนัดนี้ ทนายของชินวัตรยังยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนด้วยเพื่อให้ฝ่ายผู้ต้องหามีโอกาสซักค้านคำร้องของพนักงานสอบสวน แต่ศาลก็ให้ยกเลิกการไต่สวน 
 
19 สิงหาคม 2565
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ทนายความของชินวัตรยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวชินวัตรของศาลอาญากรุงเทพใต้ พร้อมให้เหตุผลโดยสรุปได้ว่า การร่วมกิจกรรมของชินวัตรไม่ได้มีเจตนามุ่งร้ายหรือทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เป็นเพียงการเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 เนื่องจากศาลอาญากรุงเทพใต้เป็นสถานที่ราชการ ภาพการทำกิจกรรมจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะติดภาพพระบรมฉายาลักษณ์ นอกจากนั้นความสำคัญของวันที่เกิดเหตุ หรือสถานที่เกิดเหตุก็ไม่ใช่เหตุผลที่ศาลจะนำมาประกอบการพิจารณาว่าจะให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือไม่ และแม้ผู้ต้องหาจะถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองในคดีอื่นๆรวม 16 คดี แต่ผู้ต้องหาก็ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมาโดยตลอดและไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี และไม่เคยไปก่อภยันตรายประการใด รวมถึงไม่เคยถูกเพิกถอนสัญญาประกัน 
 
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลอาญากรุงเทพใต้ไต่สวนคำร้องเพื่อประกอบการพิจารณาในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เวลา 13.30 น. 
 
24 สิงหาคม 2565
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานการไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขังชินวัตรเป็นครั้งที่สาม และการไต่สวนคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลอาญากรุงเทพใต้ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวชินวัตรซึ่งสรุปได้ดังนี้
 
ไต่สวนคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัว
 
ศาลเริ่มการไต่สวนในเวลาประมาณ 13.45 น. ชินวัตรถูกเบิกตัวเข้าร่วมการไต่สวนผ่านทางระบบวิดีโอจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ 
 
ไต่สวน พ.ต.ท. คมสัน เลขาวิจิตร พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา ผู้ร้อง
 
พ.ต.ท. คมสันเบิกความในการไต่สวนโดยสรุปได้ว่า ชินวัตรกระทำความผิดในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่สิบ โดยเข้าร่วมชุมนุม และกล่าวปราศรัยดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ที่บริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยในการกรำทำดังกล่าวได้มีการถ่ายทอดสดทางอินเทอร์เน็ตด้วย พ.ต.ท. คมสันเบิกความตอบศาลด้วยว่ามีความจำเป็นต้องคัดค้านการขอปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาเพราะเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุอันเป็นภัยความมั่นคงประการอื่นอีก หลังการไต่สวนทนายของชินวัตรแถลงสรุปต่อศาลว่าที่ชินวิตรถูกดำเนินคดีอื่นๆ ยังไม่มีคดีใดที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นที่สุดว่าชินวัตรกระทำความผิด 
 
หลังการไต่สวนพ.ต.ท. คมสัน ศาลให้ชินวัตรเบิกความผ่านทางระบบวิดีโอ ชินวัตรแถลงยืนยันว่าการทำกิจกรรมในวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 เขามีเจตนารมณ์เรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้ผู้ต้องขังในคดีการเมืองอย่างเนติพรและ "ใบปอ" เท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นหรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย การโกนศีรษะต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ เป็นเพียงการสื่อสารว่า มีพสกนิกรถูกรังแก ส่วนที่เขาเคยแถลงไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมก่อนหน้านี้ก็เพื่อประท้วงต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น เมื่อเนติพรและ "ใบปอ" ได้รับการประกันตัวแล้ว เขาก็เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมอีกครั้ง จึงได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว หลังการไต่สวนศาลอาญากรุงเทพใต้แจ้งทนายความว่าจะส่งคำเบิกความในการไต่สวนและเอกสารที่เกี่ยวข้องส่งไปให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา หลังจากนั้นศาลจึงทำการไต่สวนคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาเป็นครั้งที่สามของพนักงานสอบสวน
 
ไต่สวนคัดค้านฝากขัง ครั้งที่ 3
 
พ.ต.ท.คมสัน เบิกความต่อศาลว่า ต้องขอฝากขังผู้ต้องหาต่อเป็นครั้งที่สาม เพราะยังต้องสอบพยานบุคคลอีกแปดปาก และต้องรอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือของชินวัตร ทนายความของชินวัตรถามค้านโดยสรุปได้ว่า กระบวนการที่พนักงานสอบสวนกล่าวมาเป็นกระบวนการภายในของตำรวจ ชินวัตรไม่จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว และแม้ศาลไม่อนุญาตให้ฝากขังต่อ ชินวัตรก็ไม่สามารถเข้าไปยุ่งเหยิงกับกระบวนการของตำรวจ นอกจากนั้น คดีอื่นๆอีก 16 คดี ที่ชินวัตรเป็นผู้ต้องหาและจำเลย ยังไม่มีคดีใดที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าชินวัตรกระทำความผิด และชินวัตรก็ไปตามหมายนัดทุกครั้ง ไม่เคยหลบหนี และไม่เคยทำผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนดแต่อย่างใด หลังการไต่สวนศาลอนุญาตให้ฝากขังชินวัตรต่อตามคำร้องของพนักงานสอบสวน 
 
26 สิงหาคม 2565
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ในเวลา 14.20 น. ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวชินวัตร โดยให้วางหลักประกันเป็นเงิน 150,000 บาท ให้เหตุผลว่าในคดีอื่นๆทั้ง 16 คดีที่ชินวัตรถูกดำเนิน ชินวัตรให้ความร่วมมือไปรายงานตัวตามนัดทุกคดี บางคดีถึงที่สุดแล้วโดยศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง หรือมีเพียงโทษปรับ คดีที่ขึ้นสู่ศาลและศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวก็ไม่ปรากฏว่าชินวัตรเคยกระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว จึงเห็นควรให้อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวชินวัตรได้ ศาลอุทธรณ์กำหนดเงื่อนไขด้วยว่า ห้ามชินวัตรไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นในลักษณะเดียวกันอีก หากผิดเงื่อนไข ศาลชั้นต้นอาจพิจารณาถอนประกันได้ และห้ามชินวัตรเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล ชินวัตรถูกปล่อยตัวในวันเดียวกันหลังถูกคุมขังเป็นเวลา 26 วัน 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา