พรชัย : โพสต์กษัตริย์เกี่ยวข้องกับการปราบผู้ชุมนุม

อัปเดตล่าสุด: 03/04/2566

ผู้ต้องหา

พรชัย

สถานะคดี

ชั้นศาลอุทธรณ์

คดีเริ่มในปี

2564

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

เจษฎา ทันแก้ว อดีตการ์ดของกลุ่ม กปปส.

สารบัญ

วันที่ 10 มีนาคม 2564 ตำรวจจับกุมพรชัยที่หน้าคอนโดมิเนียมของเขาในจังหวัดนนทบุรีและส่งตัวไปที่สภ.รัตนาธิเบศร์และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 เพื่อสอบสวนเกี่ยวกับการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ระหว่างการชุมนุมของรีเด็มเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2564 ที่หน้าศาลอาญา พรชัยให้การปฏิเสธ ระหว่างนี้ตำรวจสภ.แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่แสดงหมายจับของศาลจังหวัดเชียงใหม่และคุมตัวเขาไปที่สภ.แม่โจ้ สืบเนื่องกรณีที่เจษฎา ทันแก้ว อดีตการ์ดกปปส. ร้องทุกข์เขาคดีมาตรา 112 จากการโพสต์เฟซบุ๊กสี่โพสต์ พรชัยถูกคุมขังในชั้นสอบสวนเป็นเวลา 44 วัน คดีนี้ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดสืบพยานวันที่ 6-9 ธันวาคม 2565

ภูมิหลังผู้ต้องหา

พรชัย หรือมาริโอ้ เป็นชาวปกาเกอะญอวัย 39 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมาทำธุรกิจส่วนตัวอยู่ที่กรุงเทพได้หลายปีแล้ว พรชัยเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง พรชัยมีคดีมาตรา 112 สองคดี ที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดยะลา

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

อัยการบรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดมาตรา 112 หลายกรรมด้วยการโพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กระหว่างวันที่ 18 ตุลาคมถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 ดังนี้
 
  • จำเลยโพสต์รูปภาพนายกรัฐมนตรีที่มีข้อความตักเตือนผู้ชุมนุมว่า อย่าประมาทกับชีวิตคนเราสามารถตายทุกเวลา อย่าท้าทายพญามัจจุราชและพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบ ประกอบข้อความทำนองว่า หากเจ้าของสุนัขและสุนัขรับใช้ใช้กฎ ‘พญามัจจุราช’ บังเกิดแน่นอน
  • จำเลยโพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบและอดีตพระพุทธอิสระ ประกอบข้อความว่า “2/11/63 ยุคสมัยใหม่ การรับเสด็จนี้เราเดินมาถึงจุดๆนี้เลยเหรอ xxxแทบจะกราบตีนพุทธะอิสระ สะท้อนให้เห็นว่า ยุคxxxตกต่ำสุดขีดในรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา เขียนรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ หมวด 123 ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีมันคือการถ่วงดุลอำนาจเหยียบย่ำคนบริสุทธิ์คนเห็นต่างยัดข้อหามาตรา ม112 ม110 ม116 นี้คือพัฒนาการของเผด็จการแล้วนั้น ยิ่งทำให้ความฉิบหายของสถานบันต่างๆตกต่ำเป็นประวัติศาสตร์ของชาติ คุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ ของxxxถูกทำลายด้วยตัวมันเอง นี้คือถึงเวลาเปิดหน้ากากคนระยำ เลวทราม ปฏิบัติต่อผู้อื่นเช่นเครื่องจักร…”
  • จำเลยโพสต์รูปภาพและข้อความว่า เรามีนัดสำคัญ 18/11/2563 เวลา 16.00 น. ที่แยกราชประสงค์เปลี่ยนเป็นแยกคณะราษฎรประสงค์ วันนี้หยุดงานขอทำหน้าที่สำคัญตามข้อเรียกร้อง วันนี้พวกเราคณะราษฎรต้องได้คำตอบกับเจ้าของหมาเท่านั้น เขาคนนั้นคือ xxx มึงคือผู้บงการบริหารพรรคพลังประชารัฐ มึงต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่มึงทำลงไป การฉีดแก๊สน้ำตา การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องได้รับบาดเจ็บมึงผู้บงการ มึงต้องรับผิดชอบ นายกลาออก แก้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
  • จำเลยโพสต์รูปภาพและข้อความว่า ลายเซ็นที่กูมอบให้มึง 18/11/63 มีภาพข้อความบนกำแพงว่า มึงเล่นสกปรกไอ้ xxx และข้อความว่า xxxสันดานหมา
 
ในแต่ละโพสต์อัยการบรรยายกำกับว่า ข้อความดังกล่าวมีความหมายตรงตัวอักษร เป็นคำด่าและเปรียบเทียบ และทำให้ประชาชนที่พบเห็นเข้าใจทันทีว่า ข้อความที่จำเลยพิมพ์สื่อถึงรัชกาลที่สิบ ไม่วางพระองค์เป็นกลาง และไม่ได้ใช้พระราชอำนาจผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาลตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยทรงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง ในลักษณะต่างกันดังนี้
 
โพสต์ที่หนึ่ง : เกี่ยวข้องกับการเมืองในการสั่งให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาปราบปรามผู้ชุมนุมโดยไม่เป็นไปตามกฎหมาย
โพสต์ที่สอง : เกี่ยวข้องกับการเมือง และการร่างรัฐธรรมนูญ
โพสต์ที่สาม : เกี่ยวข้องกับการเมือง และการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงจนได้รับบาดเจ็บ
โพสต์ที่สี่ : เกี่ยวข้องกับการเมือง และการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงในที่สาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาทและแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์อันจะทำให้รัชกาลที่สิบ เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง ทั้งนี้จำเลยมีเจตนาให้ประชาชนเกิดความแตกแยก และเคลือบแคลงสงสัยในพระมหากษัตริย์ และระบอบการปกครองประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และออกมาร่วมชุมนุมกันเป็นจำนวนมากเพื่อประท้วงก่อความไม่สงบในบ้านเมือง การกระทำดังกล่าวเป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของศรัทธาและเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ และไม่ใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต อีกทั้งยังเป็นการกระทำเพื่อให้ประชาชนเกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และทำให้ประเทศชาติไม่เป็นปึกแผ่นกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ 

พฤติการณ์การจับกุม

วันที่ 10 มีนาคม 2564 เวลาประมาณ 07.00 น. พรชัยถูกจับกุมที่คอนโดย่านแคราย ระหว่างเขากำลังจะออกไปทำงาน มีตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 30 นายจับกุม จากนั้นเขาถูกพาตัวไปที่สภ.รัตนาธิเบศร์ และส่งตัวไปกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 เขาถูกสอบสวนเกี่ยวกับเหตุการณ์เผาพระบรมฉายาลักษณ์ที่หน้าศาลอาญาในการชุมนุมของรีเด็มวันที่ 6 มีนาคม 2564 แต่พรชัยปฏิเสธว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการเผารูปดังกล่าว เขาเผาแค่กล่องลังเบียร์เท่านั้น เมื่อตำรวจสอบสวนและดูภาพแล้วไม่ได้ดำเนินคดีกับพรชัยจากเหตุดังกล่าว
 
พรชัยจึงถูกส่งตัวกลับมาที่สภ.รัตนาธิเบศร์ และถูกพาตัวไปค้นที่ห้องพัก ตรวจค้นโทรศัพท์มือถือที่อยู่ภายในห้องพัก ซึ่งเป็นของลูกค้าของเขา ต่อมามีตำรวจจากสภ.แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่มารับตัวจากที่สภ.รัตนาธิเบศร์ โดยตำรวจจากสภ.แม่โจ้ แจ้งข้อกล่าวหาว่า พรชัยโพสต์เฟซบุ๊กสี่ครั้งเป็นภาพและข้อความเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และการชุมนุม ก่อนจะคุมตัวพรชัยเดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ทันทีและเดินทางไปถึงในช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น กระบวนการฝากขังในชั้นสอบสวน ตำรวจวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ไปศาลจังหวัดเชียงใหม่และศาลให้ฝากขังโดยไม่ให้ประกันตัว ทำให้เขาต้องถูกคุมขังที่เรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเวลา 44 วัน ก่อนจะได้ประกันตัวภายหลัง และติดโควิดจากเรือนจำทำให้ต้องกักตัวเพิ่มอีก 15 วัน

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

547/2564

ศาล

ศาลจังหวัดเชียงใหม่

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
10 มีนาคม 2564
 
เวลาประมาณ 07.00 น. พรชัยถูกจับกุมที่คอนโดย่านแคราย ระหว่างนั้นเขากำลังจะออกไปทำงาน มีตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 30 นายจับกุม จากนั้นเขาถูกพาตัวไปที่สภ.รัตนาธิเบศร์ และส่งตัวไปกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 เขาถูกสอบสวนเกี่ยวกับเหตุการณ์เผาพระบรมฉายาลักษณ์ที่หน้าศาลอาญาในการชุมนุมของรีเด็มวันที่ 6 มีนาคม 2564 แต่พรชัยปฏิเสธว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการเผารูปดังกล่าว เขาเผาแค่กล่องลังเบียร์เท่านั้น
 
เมื่อตำรวจสอบสวนและดูภาพแล้วไม่ได้ดำเนินคดีกับพรชัยจากเหตุดังกล่าว พรชัยจึงถูกส่งตัวกลับมาที่สภ.รัตนาธิเบศร์ และถูกพาตัวไปค้นที่ห้องพัก ตรวจค้นโทรศัพท์มือถือที่อยู่ภายในห้อง ซึ่งเป็นของลูกค้าของเขา
 
ต่อมามีตำรวจจากสภ.แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่แสดงหมายจับจากศาลจังหวัดเชียงใหม่ คุมตัวจากที่สภ.รัตนาธิเบศร์ โดยตำรวจจากสภ.แม่โจ้แจ้งข้อกล่าวหาว่า พรชัยโพสต์เฟซบุ๊กสี่ครั้งเป็นภาพและข้อความเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และการชุมนุม ก่อนจะคุมตัวพรชัยเดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ทันที
 
11 มีนาคม 2564
 
พรชัยเดินทางไปถึง สภ.แม่โจ้ กระบวนการฝากขังในชั้นสอบสวน ตำรวจวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ไปศาลจังหวัดเชียงใหม่และศาลให้ฝากขังโดยไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้เขาต้องถูกคุมขังที่เรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ระหว่างการสอบสวนในชั้นตำรวจ
 
5 เมษายน 2564
ยื่นประกันตัวครั้งที่สอง
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพรชัยเป็นครั้งที่สอง โดยใช้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลักประกัน และขอให้ศาลมีคําสั่งไต่สวนประกอบคําร้อง โดยเรียกพนักงานสอบสวนและเบิกตัวผู้ต้องหามาไต่สวนที่ศาล ต่อมาศาลจังหวัดเชียงใหม่ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุว่า “พิเคราะห์ตามคำร้อง ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่มีเหตุเรียกพนักงานสอบสวนและผู้ต้องหามาไต่สวน"
 
 
21 เมษายน 2564
อุทธรณ์คำสั่งไม่ให้กันตัวของศาลชั้นต้น
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ทนายความได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพรชัย
 
 
22 เมษายน 2564
 
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวพรชัย ศาลระบุว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า แม้คดีที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาจะมีอัตราโทษสูง แต่ปรากฏจากบันทึกการจับกุมว่า ผู้ต้องหาถูกจับที่หน้าคอนโดมิเนียมที่พักอาศัย มิได้มีพฤติการณ์หลบหนี จากเหตุผลในการขอฝากขังครั้งที่สี่ เนื่องจากรอผลตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหา และรอสอบผู้ใหญ่บ้านถึงความรู้สึกต่อข้อความตามที่ถูกกล่าวหาว่านั้น การปล่อยตัวชั่วคราวจึงไม่เป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน ผู้ต้องหาถูกขังมาตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2564 พิจารณาแล้วคดีนี้ไม่มีเหตุอันสมควรเชื่อตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวน ตีวงเงินประกัน 150,000 บาท ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาหลักประกันแล้วดำเนินการต่อไป”
 
เนื่องจากศาลมีคำสั่งในช่วงเย็นแล้ว ทำให้อยู่ระหว่างการประสานงานนายประกัน และจัดเตรียมหลักทรัพย์ประกันตัว รวมทั้งให้ผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังอยู่เซ็นเอกสารประกอบคำร้องขอประกันตัว ทำให้ทนายความจะเข้ายื่นหลักประกันใหม่ในวันถัดไป
 
 
23 เมษายน 2564
 
พรชัยได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ แต่พบว่า ติดเชื้อโควิด-19 จากเรือนจำ
 
2 มิถุนายน 2564
นัดฟังคำสั่งฟ้อง
 
อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดี โดยที่ยังไม่มีจำเลยในกระบวนการสั่งฟ้อง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19
 
6-7 ธันวาคม 2565 
นัดสิบพยานโจกท์
 
อัยการนำพยานเข้าสืบรวมหกปาก ส่วนทนายจำเลยนำพยานเข้าสืบรวมสามปากคือ พรชัย อ้างตนเองเป็นพยาน, พยานผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์และพยานผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 
 
เจษฎา ทันแก้ว อดีตการ์ดกปปส. ผู้ริเริ่มคดี เบิกความโดยสรุปได้ว่า เขาประกอบอาชีพเป็นไรเดอร์ขับรถส่งอาหาร และเป็นนักเคลื่อนไหวปกป้องสถาบันฯ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 เวลาประมาณ 18.00 น. ระหว่างที่กำลังรอออเดอร์อาหารได้เปิดโทรศัพท์ดูข่าวสารและเห็นว่า มีเพื่อนแชร์โพสต์เกี่ยวการชุมนุมที่กรุงเทพฯ สังเกตว่า มีบางช่วงเป็นการกระทำที่ไม่สมควร จึงเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมในกลุ่มปิดของกลุ่มผู้ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ จนพบบัญชีเฟซบุ๊กที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้
 
เมื่อเข้าไปไล่ดูข้อมูลพบว่า มีการโพสต์เรื่องการชุมนุมหลายโพสต์และมีข้อความที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (เจษฎาเบิกความโดยใช้คำว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) มีความพยายามใส่ร้ายรัชกาลที่สิบเพื่อให้เพื่อนหรือคนที่เข้าถึงโพสต์ของเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวเข้าใจผิดว่าพระมหากษัตริย์ทรงเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ตัวของเจษฎาจึงมาร้องทุกข์กล่าวโทษให้พนักงานสอบสวนสภ.แม่โจ้ดำเนินคดีกับพรชัย
 
เจษฎาเบิกความต่อไปว่ากลุ่มปิดที่เขาเข้าไปหาข้อมูลมีประมาณสามกลุ่ม ได้แก่  กลุ่มเฟซบุ๊กและไลน์ เชียงใหม่ปกป้องสถาบันฯ  กลุ่มเฟซบุ๊กและไลน์ไทยภักดีเชียงใหม่ และกลุ่มเฟซบุ๊กพิทักษ์ราชบัลลังก์ กระบวนการตามหาตัวบุคคลที่น่าจะเป็นผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 จะมีผู้โพสต์หาตัว จากนั้นจะมีสมาชิกช่วยกันตามหาและค้นหาข้อมูล ทนายความของพรชัยเจษฎาว่ารู้จักกับบุคคลที่เป็นผู้ริเริ่มคดีพรชัยที่จังหวัดยะลาหรือไม่ เจษฎาตอบว่า ไม่รู้จัก แต่ทนายความแย้งว่าวัชรินทร์ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มคดีที่จังหวัดยะลาเคยเบิกความว่ารู้จักกับเจษฎา เจษฎายอมรับว่าในกลุ่มปิดทั้งสามกลุ่มนี้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอยู่ด้วย แต่ไม่ทราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่สังกัดใด 
 
เจษฎาเบิกความยอมรับด้วยว่าเขาเคยเป็นการ์ดของกลุ่มกปปส. ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ชุมนุมและเคยถูกดำเนินคดีอาญาฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายและพยายามฆ่าพ.อ.วิทวัส วัฒนกุลและพกพาปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งคดีดังกล่าวศาลลงโทษจำคุกหนึ่งปีฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายเท่านั้น ส่วนข้อกล่าวหาอื่นให้ยก
 
พ.ต.ท.ฤทธิชัย บรรเลงสุวรรณ ตำรวจจากกองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพยานคนสำคัญในคดีอีกคนหนึ่งเบิกความโดยสรุปได้ว่า เขารับราชการในตำแหน่งสารวัตรสืบสน ทำหน้าที่สืบสวนทั่วไปและเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพื่อขยายผลในการจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและอาชญากรรมทั่วไป
 
ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2563 ผู้กำกับการสภ.แม่โจ้มีหนังสือถึงผู้บังคับบัญชาของเขาให้ทำการตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊ก “Mario Chinrxe” พร้อมแนบเอกสารภาพและคลิปวิดีโอของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวส่งมาด้วย หลังจากนั้นผู้บังคับบัญชามอบหมายให้เขาตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว ซึ่งพบว่ามีการโพสต์เกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงหลายๆแห่ง แต่ไม่ได้อ่านรายละเอียด เมื่อทำการตรวจสอบเพื่อระบุตัวผู้เป็นเจ้าของบัญชีพบว่ามีบัญชีที่ชื่อคล้ายกันอีกบัญชีหนึ่งและทั้งสองบัญชีน่าจะมีเจ้าของเป็นบุคคลเดียวกัน เขาได้นำภาพใบหน้าบุคคลที่ปรากฎบนบัญชีเฟซบุ๊กไปตรวจสอบกับระบบตรวจจับภาพใบหน้าของกรมการปกครอง ซึ่งพบว่ามีบุคคลใบหน้าคล้ายกันหลายคน จึงตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อจำกัดวงจากที่มาของโปรไฟล์ว่ามาจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งไปตรงกับข้อมูลของพรชัยในฐานข้อมูลของกรมการปกครอง จากการตรวจสอบทั้งหมดจึงเชื่อว่าพรชัยน่าจะเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กที่มีการกระทำความผิด
 
ทนายจำเลยถามพ.ต.ท.ฤทธิชัยว่า บัญชีเฟซบุ๊กอีกบัญชีหนึ่งที่มีชื่อคล้ายกัน ซึ่ง พ.ต.ท.ฤทธิชัยเห็นว่าน่าจะเป็นบุคคลเดียวกัน เป็นการดูจากภาพถ่ายใบหน้าเท่านั้น ไม่ได้ดูจากข้อมูลอื่นประกอบด้วยใช่หรือไม่  พ.ต.ท.ฤทธิชัยรับว่าเป็นเช่นนั้นและเขาก็ไม่ทราบว่า ผู้ใดจะเป็นผู้นำข้อมูลมาโพสต์ลงบนเฟซบุ๊กทั้งสองบัญชี  พ.ต.ท.ฤทธิชัย ระบุด้วยว่า ถ้าจะตรวจสอบจริงๆก็ตรวจสอบได้ แต่ไม่ได้ทำการตรวจสอบ ทนายจำเลยถามว่าพ.ต.ท.ฤทธิชัยรู้จักโปรแกรม “Inspector” หรือไม่ พ.ต.ท.ฤทธิชัยตอบว่า เคยได้ยินแต่ไม่ทราบว่าโปรแกรมดังกล่าวทำงานอย่างไร ทนายจำเลยอธิบายว่า เป็นโปรแกรมที่จะปรับแต่งภาพได้ พ.ต.ท.ฤทธิชัยกล่าวว่าเขาไม่ทำเช่นนั้นอยู่แล้วเพราะหากทำจะต้องเดือดร้อนแน่ๆ
 
นอกจากพยานทั้งสองปากนี้แล้วยังมีพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีคนแรกและเป็นผู้ร่วมจับกุมพรชัยในเดือนมีนาคม 2564 ที่เบิกความต่อศาลว่า เขาได้รับแจ้งเหตุจากเจษฎาและดำเนินการสอบสวน ก่อนจะย้ายไปอีกสถานีตำรวจอีกหนึ่ง จึงได้ส่งมอบสำนวนให้แก่รองผู้กำกับการสอบสวน สภ.แม่โจ้ พยานคนดังกล่าวรับกับทนายจำเลยว่า ตัวเขาไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี พยานอีกปากหนึ่งคือเจ้าหน้าที่สืบสวนสภ.แม่โจ้ ที่ทำหน้าที่ติดตามข้อมูลจากเฟซบุ๊ก “Mario Chinrxe” และใช้เทคนิคการสืบสวนแบบ Phishing คือ การส่งลิงค์หลอกเข้าไปในแชทเฟซบุ๊กเพื่อให้ผู้ใช้กดลิงค์ดังกล่าวเข้าไป เมื่อกดเข้าไปทางตำรวจจะสามารถทราบ IP ADDRESS ของผู้ใช้เฟซบุ๊ก แต่ปรากฏว่า ข้อความดังกล่าวไม่มีผู้ใดเปิดอ่าน
 
หลังการสืบพยานโจทก์แล้วเสร็จ ศาลสืบพยานจำเลยต่อในวันที่ 9 ธันวาคม 2565
 
9 ธันวาคม 2565
นัดสืบพยานจำเลย
 
มีพยานเข้าเบิกความสามปากคือตัวของพรชัยเบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์มาเบิกความถึงการเก็บพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ที่น่าเชื่อถือว่าต้องทำอย่างไร และ พยานผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกหนึ่งปากมาเบิกความถึงการใช้มาตรา 112 ที่มีความเกี่ยวพันกับสถานการณ์ทางการเมือง และมักถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับคนที่แสดงออกทางการเมือง
 
หลังการสืบพยานแล้วเสร็จศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 13 มีนาคม 2566 
 
13 มีนาคม 2566
นัดฟังคำพิพากษา
 
ศาลจังหวัดเชียงใหม่ มีคำพิพากษาให้ลงโทษทุกกรรมเรียงกระทงความผิดไป โดยให้ลงโทษบทที่มีโทษหนักสุด ได้แก่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 4 กระทง รวมจำคุก 12 ปี
 
หลังอ่านคำพิพากษา ศาลแจ้งให้จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาได้ต่อไป และตำรวจศาลได้ควบคุมตัวพรชัยไปยังห้องขังใต้ถุนศาล ส่วนทนายความและนายประกันได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดี
 
จนเวลา 15.10 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่ให้ส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัย โดยเจ้าหน้าที่ศาลระบุให้นายประกันมาฟังคำสั่งในวันพรุ่งนี้ (14 มี.ค. 2566) ต่อไป ทำให้ในคืนนี้ พรชัยต้องถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ เพื่อรอฟังคำสั่งเรื่องประกันตัวต่อไป
 
ภายหลังถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 6 วัน พรชัยได้รับการประกันตัวเมื่อ 18 มีนาคม 2566

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า 

ศาลได้พิเคราะห์แต่ละข้อความตามฟ้อง เห็นว่ามีเจตนากล่าวถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน มีการใช้สรรพนามไม่เหมาะสมและนำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ทั้งยังชักชวนผู้อ่านข้อความให้เข้าร่วมการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลเห็นว่าจำเลยเพียงแต่กล่าวอ้างลอยๆ ว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวถูกโจรกรรม โดยไม่ได้นำสืบให้เห็นว่ามีบุคคลได้นำภาพของจำเลยไปตัดต่อหรือใช้แทน หากมีผู้โจรกรรมเฟซบุ๊กจริง จำเลยน่าจะต้องแจ้งความหรือดำเนินการอย่างไรเพื่อหาตัวผู้กระทำ แต่จำเลยไม่ได้กระทำการดังกล่าว ทั้งเชื่อว่าโจทก์ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน
 
เมื่อจำเลยรับว่าเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว และมีคลิปวิดีโอที่จำเลยไลฟ์แนะนำตนเองเผยแพร่ในเฟซบุ๊กดังกล่าวมาก่อน จึงเชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้เผยแพร่ข้อความตามฟ้อง  เห็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)
 
การกระทำของจำเลยเป็นคนละวันและเวลา ต่างกรรมต่างวาระกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเรียงกระทงความผิดไป โดยให้ลงโทษบทที่มีโทษหนักสุด ได้แก่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 4 กระทง รวมจำคุก 12 ปี

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

เอกภพ ห.: น้องตั้งอาชีวะ

ชูเกียรติ: ติดป้ายที่ทิ้งขยะบนพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบ

เสื้อแดงเชียงราย ชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน