อุกฤษฏ์ : โพสต์ข้อความเรื่องอาการพระประชวรของ ร.10

อัปเดตล่าสุด: 03/04/2566

ผู้ต้องหา

อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2563

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พ.ต.อ.พิเชษฐ์ คำภีรานนท์ ผกก.3 บก.ปอท.

สารบัญ

อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล หรือก้อง อายุ 23 ปี เป็นสมาชิกเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ถูกกล่าวหาว่าใช้บัญชีเพจเฟซบุ๊ก ชื่อ “John New World” เผยแพร่ข่าวเท็จเกี่ยวกับอาการประชวรของ ร.10 โดยในคดีนี้ อุกฤษฏ์ถูกเจ้าหน้าที่บุกค้นห้องพักและควบคุมตัวไปยัง บก.ปอท. เมื่อ 8 มิถุนายน 2564 เพื่อทำการสอบสวนพร้อมกดดันให้รับสารภาพโดยไม่มีทนาย ภายหลังพบทนาย อุกฤษฏ์ตัดสินใจเลือกต่อสู้คดี ก่อนที่จะเปลี่ยนใจเป็นรับสารภาพอีกครั้งระหว่างนัดสืบพยานเมื่อ 18 ตุลาคม 2565 โดยศาลอาญา รัชดา พิพากษาลงโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี รับสารภาพเหลือ 1 ปี 6 เดือนความผิดจำนวน 5 กรรม รวมจำคุก 5 ปี 30 เดือน

ภูมิหลังผู้ต้องหา

อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล หรือก้อง อายุ 23 ปีในขณะถูกจับกุม เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และสมาชิกเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ปัจจุบันเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มทะลุราม
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (5) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ไทยรัฐรายงานว่า เมื่อ 13 พฤษภาคม 2564 เวลา 02.47 น. อุกฤษฏ์ได้ใช้บัญชีเพจเฟซบุ๊กชื่อ “John New World” ที่ปรากฏตาม URL https://www.facebook.com/John-New World-101401468221382 นำเข้าเผยแพร่หรือส่งต่อข้อความและรูปภาพในลักษณะโพสต์ใส่ความรัชกาลที่ 10 ว่าเป็นทรงพระประชวร……. ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติและเสื่อมเสียชื่อ อันเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จำนวน 2 โพสต์
 
ต่อมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนฯ เผยแพร่คำฟ้องโดยระบุข้อความที่ถูกฟ้องรวมทั้งหมด 5 กรรม (เพิ่มมาอีก 3 โพสต์) ดังนี้
 
1. เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2563
ข้อความเกี่ยวกับการทอดทิ้งแม่ไว้ในโรงพยาบาล พร้อมโพสต์รูปประกอบเป็นพระบรมฉายาลักษณ์
 
2. เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2563
ข้อความว่า “วันที่ 6 กันยายนของทุกปี เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชั่น และนี่คือบุคคลคอร์รัปชั่นประจําปีนี้นะครับ” พร้อมโพสต์รูปประกอบเป็นรูปภาพบุคคลยกมือปฏิเสธการไม่รับธนบัตร และมีมือหยิบธนบัตรยื่นให้ และด้านล่างรูปภาพดังกล่าวมีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 อยู่ด้วย
 
3. เมื่อวันที่ 13 พฤาภาคม 2564
โพสต์ภาพและข้อความเกี่ยวกับอาการพระประชวรของรัชกาลที่ 10 ด้วยโรคทางเดินหายใจ
 
4. เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564
โพสต์ข้อความว่าเกี่ยวกับ การประชวรด้วยโรคโควิด-19 ของพระราชินีฯ สุทิดา และการรับสั่งเตรียมวัคซีนสําหรับข้าราชบริพารในพระองค์ และครอบครัวของข้าราชบริพาร
 
5. เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564
โพสต์ข้อความทำนองว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 10 ประชวรด้วยอาการพระวักกะวาย (ไตวาย) 

 

พฤติการณ์การจับกุม

ข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ช่วงเช้าของวันที่ 8 มิถุนายน 2564 อุกฤษฏ์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมรวมเจ็ดนาย เข้าควบคุมตัวพร้อมบุกค้นห้องพักย่านรามคำแหง โดยมีการยึดโทรศัพท์มือถือ สมุดบัญชีธนาคาร และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไปเป็นของกลาง
 
จากนั้น อุกฤษฏ์ถูกควบคุมตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท. เพื่อจัดทำบันทึกจับกุม ก่อนแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำต่อในช่วงบ่ายต่อโดยไม่ได้มีทนายความอยู่ร่วมด้วย และเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการ เขาถูกนำตัวไปคุมขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง เป็นเวลาหน่ึงคืน
 
นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน ภายใต้การดำเนินการของ บก.ปอท. ยังมีการบุกจับกุม สหรัฐ เจริญสิน ประชาชนอายุ 28 ปี ในข้อมาตรา 112 โดยทั้งอุกฤษฏ์และสหรัฐถูกควบคุมตัวไว้ที่ห้องขังเดียวกันและได้รับการประกันตัวพร้อมกัน

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลอาญารัชดา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
7 มิถุนายน 2564
 
พนักงานสอบสวนได้ขออำนาจศาลอาญาอนุมัติหมายจับที่ 874/2564 และขออำนาจศาลอาญาอนุมัติหมายค้นที่ 428/2564 เพื่อเข้าตรวจค้นห้องพักย่านรามคำแหง
 
 
8 มิถุนายน 2564
 
อุกฤษฏ์ถูกบุกค้นห้องพักและควบคุมตัวไปที่ บก.ปอท. เพื่อทำการสอบสวน โดยข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ในคำร้องยังระบุด้วยว่าผู้ต้องหา “ไม่มีและไม่ต้องการ” ให้มีทนายความและผู้ไว้วางใจร่วมฟังการสอบปากคำ 
 
ในวันเดียวกัน เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตยโพสต์ประกาศผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจระบุว่า “ตามหา ก้อง อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ปีที่ 3 โดยทราบข่าวว่า ถึงจับกุมตัวคดี 112 อยู่ที่ ปอท. และถูกยึดโทรศัพท์มือถือ”
 
จากนั้น เวลาประมาณ 21.32 น. VOICE TV เผยแพร่บนสัมภาษณ์ของ นันทพงศ์ ปานมาศ จากเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตยว่า เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น ได้รับแจ้งจากรุ่นน้องอีกคนหนึ่ง ระบุว่า ได้รับสายติดต่อจากอุกฤษฏ์ ซึ่งฝากให้บอกกับตนว่า ตอนนี้ถูกจับคดี 112 ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ ปอท. และหลังจากนั้นก็ไม่สามารถติดต่อกับอุกฤษฏ์ ได้อีก 
 
อุกฤษฏ์ถูกนำตัวไปฝากขังที่ สน.ทุ่งสองห้องเป็นเวลาหนึ่งคืน โดยมีทนายความและนักกิจกรรมจากเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตยเข้าเยี่ยมและให้กำลังใจ ทั้งนี้ เขาแจ้งกับทนายว่าตนถูกเจ้าหน้าที่ซึ่งทำการสอบสวนกล่าวกดดันและโน้มน้าวให้รับสารภาพ 
 
 
9 มิถุนายน 2564
 
ร.ต.อ.พงศ์ปิติ ตรีนิคม พนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท. ขอฝากขัง อุกฤษฏ์ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์เป็นระยะเวลา 12 วัน โดยอ้างเหตุว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ยังต้องสอบพยานเพิ่มเติมอีกสี่ปาก รอผลการตรวจพิสูจน์ของกลาง ผลตรวจลายพิมพ์นิ้วมือ และประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา
 
ต่อมาเวลา 12.00 น. ศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง ทนายความจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างสอบสวน ต่อมา เวลา 15.30 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์ 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดให้มารายงานตัวต่อศาลอีกครั้งในวันที่ 29 กรกฎาคม 2564
 
อย่างไรก็ตาม ในเวลาประมาณ 17.00 น. ระหว่างที่อุกฤษฏ์กำลังจะได้รับการปล่อยตัวจาก บก.ปอท. ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจาก สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ เข้าแสดงหมายจับมาตรา 112 ในอีกคดีหนึ่ง และพาตัวเขาขึ้นรถเดินทางไปยัง สภ.บางแก้ว
 
1 กันยายน 2564 
นัดสั่งฟ้อง
 
ข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ระบุว่า พนักงานอัยการ สำนักงานฝ่ายคดีอาญา 8 ได้ยื่นฟ้องคดีไปเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2564 เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 2110/2564 ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และ (5) จำนวนรวม 5 ข้อความ
 
ในวันเดียวกัน ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวโดยใช้หลักประกันเดิมในชั้นฝากขังเป็นเงินสดจำนวน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 11 ตุลาคม 2564 เวลา 09.00 น. 
 
18-21 ตุลาคม 2565
นัดสืบพยาน
 
อุกฤษฏ์ให้สัมภาษณ์กับไอลอว์เมื่อ 2 ธันวาคม 2565 ว่า ภายหลังได้รับการช่วยเหลือจากทนายสิทธิ ทำให้เขาตัดสินใจเปลี่ยนจากการรับสารภาพ เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่กดดันในชั้นสอบสวนเป็น “สู้คดี” แต่เมื่อเขาเห็นเอกสารหลักฐานของฝ่ายโจทก์ ก็ตัดสินใจปรึกษากับทนายและเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพอีกครั้ง ในวันแรกของการสืบพยานที่ศาลอาญา รัชดา  จากนั้น ศาลนัดฟังพิพากษา 21 ธันวาคม 2565
 
 
21 ธันวาคม 2565
นัดฟังคำพิพากษา
 
ก้อง พร้อมพ่อ แม่ และพี่ชาย เดินทางมาถึงที่ห้องพิจารณาคดี 712 ในเวลาประมาณ 9.30 น. จากนั้น มีสมาชิกจากกลุ่มทะลุรามและทะลุฟ้ารวม 10 คนทยอยเดินทางมาให้กำลังใจ ขณะที่ในห้องพิจารณาคดีมีเจ้าหน้าที่จากราชทัณฑ์นั่งอยู่ด้วย 2 นาย ศาลดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีอื่นไปด้วยก่อนจะเริ่มอ่านคำพิพากษาในเวลาประมาณ 10.45 น.
 
ศาลเห็นว่าจำเลยมีความผิดทั้งหมด 5 กรรม ลงโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี รับสารภาพเหลือ 1 ปี 6 เดือนความผิดจำนวนรวมจำคุก 5 ปี 30 เดือน
 
หลังอ่านคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมตัวก้องลงไปที่ห้องควบคุมตัว ขณะที่ทนายดำเนินการยื่นเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อทันที
 
ภายหลังถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำนาน 46 วัน ก้องได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 

คำพิพากษา

คำพิพากษาชั้นต้นพอสรุปได้ว่า
 
จำเลยทำความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดฐานนำเข้าและเผยแพร่ข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ แต่เนื่องจากเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษเฉพาะมาตรา 112 ซึ่งมีโทษสูงที่สุด
 
พิพากษาลงโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี จำเลยรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 1 ปี 6 เดือน จำเลยกระทำความผิด 5 กรรม รวมจำคุก 5 ปี 30 เดือน โดยศาลเห็นว่าแม้จำเลยยังไม่เคยรับโทษในคดีอาญามาก่อน แต่เนื่องจากพฤติการณ์ในคดีนี้เป็นเรื่องร้ายแรงทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดและเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา