‘ชัยชนะ’: โพสต์ข้อความวิจารณ์พระมหากษัตริย์

อัปเดตล่าสุด: 21/12/2565

ผู้ต้องหา

‘ชัยชนะ’

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2564

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

‘ชัยชนะ’ เป็นนามสมมติของชายชาวลำพูนที่ป่วยเป็นโรคจิตเวช วันที่ 15 กันยายน 2564 ตำรวจจับกุม ‘ชัยชนะ’ ที่บ้านพักในอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน โดย 'ชัยชนะ'ถูกกล่าวหาว่าระหว่างวันที่ 5-6 มกราคม 2564 เขาโพสต์เฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับรัชกาลที่สิบ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ซึ่งเป็นพระราชธิดาของรัชกาลที่สิบ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ครูสอนภาษาอังกฤษ ที่อาศัยอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส และอยู่ในครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบัน (คปส.) เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ 'ชัยชนะ' ต่อสภ.สุไหงโกลก

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ชัยชนะเป็นชาวจังหวัดลำพุูน มีประวัติรักษาอาการทางจิต

ข้อหา / คำสั่ง

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

คำฟ้องของอัยการพอสรุปได้ว่า ระหว่างวันที่ 5 – 6 มกราคม 2564 จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมสี่กรรมด้วยการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กตามลำดับ ดังนี้
 
 
วันที่ 5 มกราคม 2564 เวลาประมาณ 20.00 น. จำเลยโพสต์ข้อความว่า “ตำรวจเหี้ยไหม? แอบไปจับผู้ชุมนุมตอนเที่ยงคืน แต่บ่อนกลับไม่จับเพราะหลักฐานไม่พอสมควรไล่ออกจากตำรวจไหมแบบนี้? เด็กxxx หรือเด็กป้าม่วง? หน้าด้านไร้ศักดิ์ศรี”
 
วันที่ 5 มกราคม 2564 เวลาประมาณ 21.00 น. จำเลยแชร์โพสต์จากเพจ “Design for Life ออกแบบชีวิต” มีข้อความว่า “เนื่องในวันเกิดพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา 8 มกราคม 2530 นี้ในฐานะพสกนิกรไทย ผู้จงรักภักดีต่อราชวงศ์ตลอดมา…”จำเลยพิมพ์ข้อความประกอบว่า “ควรไม่ควรแล้วแต่กระโปกว่าซั่น” คำว่า กระโปก ตามพจนานุกรรมราชบัณฑิตยสถานมีความหมายว่า เป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกของชาย หรือสัตว์ตัวผู้ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นการจาบจ้วง ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ซึ่งเป็นรัชทายาทของรัชกาลที่สิบ มีเจตนาให้กระทบถึงสถาบันพระมหากษัตริย์
 
วันที่ 6 มกราคม 2564 จำเลยโพสต์ข้อความตั้งคำถามถึงศาสตร์พระราชา การพัฒนาเศรษฐกิจที่ต่างประเทศพัฒนาไปไกลมากกว่าประเทศไทย  “การบริหารประเทศที่พยายามลดบทบาทนักการเมือง เพิ่มบทบาทxxx = ลดความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ลดขีดความสามารถของประชาชนที่จะช่วยเหลือกัน แต่กลับเพิ่มความน่าเชื่อถือของระบบxxx ที่ตลอดมาทุกยุค ผลประโยชน์ทุกอย่างไปอยู่ที่xxxชาวบ้านเป็นแค่แรงงานสร้างผลประโยชน์ให้ เอาชีวิตเข้าแลก แล้วต้องรอคอยเศษเงิน เศษวัสดุเหลือใช้ฯ มันเหมือนเป็นแผนการบางอย่างที่ขัดกับสามัญสำนึก มีนัยยะแอบแฝงเร้นลัย โดยมีชีวิตคนทั้ง 60-70 ล้านคนเป็นตัวประกันคนที่ทุกข์ยากเดือดร้อน คือตัวประกันทั้งประเทศ มันใช่วิถีของผู้นำ มันใช่วิถีของผู้ปกครองประเทศจริงหรือ? ประชาชนคนตัวเล็กๆ ดูแลกันยังเห็นประโยชน์ชัดกว่า”
 
วันที่ 6 มกราคม 2564 เวลา 8.00 น. จำเลยแชร์ภาพจากเพจ Coco sang มีข้อความว่า “การควบคุม คือที่ดินออกให้โดยประชามติของรัฐบาล แต่คนที่ได้หน้าคือใครครับ และหากไม่ออกให้โดยรัฐบาลเขามีสิทธิ์สั่งการได้ไงในระบอบประชาธิปไตย” และมีภาพหนังสือพิมพ์พาดหัวว่า “ในหลวงโปรดเกล้าที่ดิน 5 หมื่นไร่ให้คนจนทำกิน จัดสรรในรูปสหกรณ์” ซึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่เก้า จำเลยโพสต์ประกอบภาพดังกล่าวว่า “การควบคุมมีมาแสนนาน การสั่งทหารฆ่าประชาชนก็เห็นได้โดยตลอด”
 
ในแต่ละโพสต์อัยการบรรยายกำกับว่า เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง ทั้งนี้จำเลยมีเจตนาให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยในพระมหากษัตริย์ และระบอบการปกครองประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของศรัทธาและเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้  
 
ยกเว้นโพสต์ที่สองที่บรรยายระบุแตกต่างออกไปว่า เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นการจาบจ้วง ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ซึ่งเป็นรัชทายาทของรัชกาลที่สิบ มีเจตนาให้กระทบถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ จำเลยมีเจตนาให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยในพระมหากษัตริย์ และระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของศรัทธาและเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้

พฤติการณ์การจับกุม

‘ชัยชนะ’ ถูกจับกุมที่บ้านพักในอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ในวันที่ 15 กันยายน 2564

เวลาประมาณ 08.00 น. ตำรวจมาที่บ้านพักและได้สอบถามแม่ว่า ‘ชัยชนะ’ อยู่ไหน เมื่อ'ชัยชนะ'ออกมา ตำรวจได้แสดงหมายจับของศาลจังหวัดนราธิวาสให้พูนชัยดู จากนั้นจึงนำตัวเขาไปทำบันทึกการจับกุมที่ สภ.ลี้

จากนั้นในวันที่ 16 กันยายน 2564 จึงควบคุมตัว'ชัยชนะ'จาก สภ.ลี้ ไปส่งให้เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน สภ.สุไหงโก-ลก ที่เดินทางมารับผู้ต้องหาที่จังหวัดนครปฐม ก่อนจะนำตัวเขาไปยัง สภ.สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส โดยไปถึงในเช้าของวันที่ 17 กันยายน 2564 
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลจังหวัดนราธิวาส

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
15 กันยายน 2564 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ตำรวจจับกุม ‘ชัยชนะ’ ที่บ้านพักในอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
 
ตามบันทึกการจับกุมระบุว่า เวลาประมาณ 08.00 น. ตำรวจมาที่บ้านพักและสอบถามแม่ได้คำตอบว่า ‘ชัยชนะ’ หลับอยู่ จึงเรียกเขาออกมาและแสดงหมายจับของศาลจังหวัดนราธิวาส ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

หลังการจับกุมตำรวจนำไปตัว 'ชัยชนะ' ไปทำบันทึกการจับกุมที่สภ.ลี้ ‘ชัยชนะ’ ถูกควบคุมตัวไว้ที่สภ.ลี้เป็นเวลาหนึ่งคืน

16 กันยายน 2564 

'ชัยชนะ' ถูกควบคุมตัวจากสภ.ลี้ไปส่งตัวให้กับเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนสภ.สุไหงโก-ลก ที่เดินทางมารับผู้ต้องหาในพื้นที่จังหวัดนครปฐม เพื่อนำตัวไปที่ สภ.สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส โดยไปถึงสุไหงโก-ลกในช่วงเช้าวันที่ 17 กันยายน
 
17 กันยายน 2564 
 
พนักงานสอบสวนสภ.สุไหงโก-ลกแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ 'ชัยชนะ' โดยสรุปได้ว่า
 
ในวันที่ 11 มกราคม 2564 พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เปิดเฟซบุ๊กและพบว่าผู้ที่ใช้บัญชีเฟซบุ๊กตรงกับ ‘ชัยชนะ’ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กรวมสี่ข้อความ

เมื่ออ่านข้อความทั้งหมดพสิษฐ์เข้าใจว่าข้อความที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กคนดังกล่าวเขียนถึง หมายถึงพระมหากษัตริย์ไทยจึงได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีกับ 'ชัยชนะ' ที่ สภ.สุไหงโก-ลก
 
'ชัยชนะ'ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมกับให้การเรื่องที่ตัวเองมีบัตรประจำตัวผู้พิการ ประเภทความพิการ 4 และมีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยจิตเภท จึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจพิจารณาประกอบการพิจารณาคดี
 
พนักงานสอบสวนทำหนังสือขอความอนุเคราะห์โรงพยาบาลสวนปรุงตรวจสุขภาพจิตของ ‘ชัยชนะ’  ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้ต้องหาอาศัยอยู่

หลัง‘ชัยชนะ’ ได้รับการปล่อยตัวจากการฝากขังเขาจะต้องเดินทางไปตรวจสุขภาพจิต เพื่อใช้ประกอบสำนวนคดีต่อไป
 
เนื่องจากพนักงานสอบสวนประสงค์จะฝากขัง 'ชัยชนะ' และวันที่ 17 กันยายนไม่สามารถฝากขังได้ทัน 'ชัยชนะ' จึงถูกควบคุมตัวไว้ที่สภ.สุไหงโก-ลก หนึ่งคืน
 
18 กันยายน 2564
 
พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขัง ‘ชัยชนะ’  ต่อศาลจังหวัดนราธิวาส ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เป็นเวลา 12 วัน อ้างว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ยังต้องสอบสวนพยานอีกสี่ปาก หากผู้ต้องหาขอปล่อยตัวชั่วคราวพนักงานสอบสวนขอคัดค้านเนื่องจากเกรงว่า ผู้ต้องหาจะหลบหนี
 
ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการสอบสวน โดยใช้เงิน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์วางต่อศาล โดยศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา
 
8 ธันวาคม 2564
 
อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดี
 
นัดสืบพยาน โจทก์ จำเลย
 
13 ธันวาคม 2564
 
นัดสอบคำให้การ
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ‘ชัยชนะ’และญาติของเขาแถลงต่อศาลถึงอาการป่วยจิตเภท โดยมีประวัติการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลลี้ และโรงพยาบาลลำพูนมาก่อน

ศาลจึงแจ้งคู่ความว่า เพื่อให้ได้ความแน่ชัดเรื่องความสามารถในการต่อสู้คดี จึงให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจที่โรงพยาบาลสวนปรุง เพื่อให้โรงพยาลรายงานผลตรวจและความเห็นของแพทย์กลับมา ภายใน 90 วัน นับแต่วันเข้ารับการรักษา
 
20 เมษายน 2565
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลจังหวัดนราธิวาสแจ้งว่าได้รับความเห็นของแพทย์โรงพยาบาลสวนปรุงแล้ว ซึ่งแพทย์มีความเห็นว่า 'ชัยชนะ'สามารถต่อสู้คดีได้ ทำให้กระบวนพิจารณาคดีดำเนินต่อไป

ฝ่ายจำเลยแถลงว่า ขณะนี้ได้แต่งตั้งทนายความแล้ว แต่เนื่องจากทนายความติดว่าความที่ศาลอื่น แต่ทางจำเลยได้เตรียมคำให้การที่ประสงค์จะให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา มายื่นต่อศาลแล้ว

จำเลยยังแถลงต่อศาลได้ว่า การเดินทางมาต่อสู้คดีนี้ จำเลยต้องเดินทางมาจากจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นเรื่องลำบากสำหรับจำเลยอย่างยิ่ง  ทั้งจำเลยยังมีปัญหาสุขภาพ การเดินทางไกลยิ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพที่ทรุดโทรม จึงขอให้ศาลสามารถพิจารณาคดีนี้ลับหลังจำเลย และให้ทนายความที่จำเลยแต่งตั้งดำเนินการต่อสู้คดีต่อไป
 
ศาลแจ้งจำเลยว่า สามารถอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้เฉพาะในนัดตรวจพยานหลักฐาน แต่จำเลยยังต้องเดินทางมาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยต่อไป
 
17 พฤษภาคม 2565
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน

1 – 4 พฤศจิกายน 2565

นัดสืบพยานโจทก์ จำเลย
 
21 ธันวาคม 2565
 
นัดฟังคำพิพากษา 

ศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษายกฟ้อง 'ชัยชนะ' โดยให้เหตุผลว่าโจทก์ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของหรือผู้ใช้เฟซบุ๊กที่เป็นเหตุแห่งคดีและมีพยานผู้เชี่ยวชาญเบิกความยืนยันว่าข้อมูลส่วนตัวที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตสามารถนำมาดัดแปลงแก้ไขได้ พยานหลักฐานจึงมีเหตุให้สงสัยตามสมควร ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น
 
คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กและเป็นผู้นำเข้าข้อมูลตามฟ้องหรือไม่

จากการสืบพยานได้ข้อเท็จจริงว่า บัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดใช้รูปภาพและชื่อของจำเลยจริง

แต่โจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยเป็นผู้ใช้งานหรือเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวจริง ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ที่เป็นพยานจำเลยก็เบิกความว่า ข้อมูลส่วนตัวที่ถูกเผยแพร่อยู่บนอินเทอร์เน็ต สามารถถูกนำไปตัดต่อ ปลอมแปลงเป็นภาพและข้อมูลเท็จได้

ซึ่งจำเลยเคยให้การในชั้นสอบสวนไว้ว่า เดิมทีมีเฟซบุ๊กของตัวเองอยู่แล้วและได้โพสต์ข้อมูลส่วนตัวไว้ นอกจากนั้นจากการตรวจสอบโทรศัพท์ของจำเลยก็ไม่พบว่ามีประวัติการเข้าถึงเฟซบุ๊กที่เป็นปัญหาในคดีนี้

อีกทั้ง จำเลยให้การปฏิเสธตลอดมาตั้งแต่ชั้นจับกุมจนถึงชั้นพิจารณา ประกอบกับจำเลยมีอาการทางจิต จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา