มงคล: เคลื่อนไหวบนเฟซบุ๊ก ถูกคดีมาตรา 112 รวม 27 กรรม

อัปเดตล่าสุด: 17/01/2566

ผู้ต้องหา

มงคล

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2564

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

มงคล หรือบาส ชาวกรุงเทพที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่จังหวัดเชียงราย เคลื่อนไหวโดยแสดงความคิดเห็นทางการเมืองบนเฟซบุ๊กอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะระหว่างการชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของราษฎร

เดือนเมษายน 2564 มงคลเดินทางมานั่งอดอาหารที่หน้าศาลอาญาเพียงคนเดียวเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้จำเลยคดีมาตรา 112 เขาถูกจับกุมจากหน้าศาลอาญาแล้วส่งตัวไปดำเนินคดีมาตรา 112 ที่จังหวัดเชียงราย จากการโพสเฟซบุ๊กทั้งรูปแบบที่เป็นข้อความ เป็นภาพถ่าย และคลิปวิดีโอจำนวนมาก

มงคลถูกจับกุมสองครั้ง ครั้งแรกวันที่ 14 เมษายน 2564 และอีกครั้งในวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เบื้องต้น มงคลถูกแจ้งข้อกล่าวหาแยกเป็นสองคดี แต่ต่อมาศาลให้รวมคดีทั้งสองเข้าด้วยกันโดยมงคลถูกตั้งข้อกล่าวหารวม 27 กรรม
 
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ช่วงเวลาเกิดเหตุในคดีนี้ มงคลอาศัยอยู่ในย่านชนบทของจังหวัดเชียงรายที่อยู่ห่างจากอำเภอเมืองไปประมาณ 50 กิโลเมตร แต่เขายังคงนิยามตัวเองว่าเป็น "คนกรุงเทพ" เพราะในวัยเยาว์มงคลใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเทพ 
 
ขณะถูกจับมงคลอายุ 27 ปี มีอาชีพเป็นพ่อค้าขายของออนไลน์ เป็นเสื้อยืดวงดนตรีร็อก หรือเสื้อที่มีข้อความทางการเมือง
 
มงคลไปเป็นทหารเกณฑ์ในช่วงปี 2557-2559 และเป็นช่วงเวลาที่เขาหันมาสนใจเรื่องทางการเมือง และบทบาทของสถาบันทหารในการเมืองอย่างจริงจัง เขาเริ่มออกมาแสดงความคิดเห็น และเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองในปี 2563
 
 
 
รู้จักมงคล หรือบาสเพิ่มเติมได้ทาง https://freedom.ilaw.or.th/node/999
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (4) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ในคำฟ้องที่พนักงานอัยการยื่นต่อศาลจังหวัดเชียงราย เบื้องต้นแยกฟ้องคดีเป็นสองคดี คือ คดีหมายเลข 593/2564 และ 630/2564 ซึ่งต่อมาศาลจังหวัดเชียงรายให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน
 
คำฟ้องกล่าวหาว่า มงคล เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ "บัสบาส บัสบาส" โพสข้อความหลายครั้งในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน 2564 โดยมีทั้งการโพสข้อความเฉยๆ เป็นข้อความโจมตีรัฐบาล เป็นข้อความคำขวัญภาษาฝรั่งเศส และยังมีข้อความที่กล่าวถึงพระมหากษัตริย์แบบตรงๆ

มีทั้งการแชร์สเตตัสและภาพของบุคคลอื่น มีทั้งภาพพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมข้อความประกอบ มีทั้งคลิปวิดีโอที่เป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์ มีทั้งคลิปข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศ หรือรายการตลกของช่องโทรทัศน์ต่างประเทศที่พูดถึงปัญหามาตรา 112 และสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย ซึ่งรวมแล้วมีทั้งหมด 27 ข้อความ
 
คำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) (4)
 

พฤติการณ์การจับกุม

วันที่ 12 เมษายน 2564 ระหว่างที่ผู้ต้องหาและจำเลยที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์, ทนายอานนท์ นำภา, ไผ่ จตุภัทร์ ฯลฯ ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำด้วยคดีมาตรา 112 มงคลเดินทางจากบ้านที่จังหวัดเชียงรายมาที่หน้าศาลอาญาด้วยตัวคนเดียวและกระเป๋าเป้หนึ่งใบ เพื่อมาปักหลักเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้ผู้ต้องขังคดีการเมืองทุกคนโดยการ “อดอาหาร” ตามแนวทางของพริษฐ์หนึ่งในจำเลยคดีมาตรา 112 ที่กำลังทำอยอดอาหารอยู่ในเรือนจำในเวลาเดียวกัน
 
มงคลนั่งอยู่ที่ป้ายรถเมล์หน้าศาลอาญาคนเดียวจนเริ่มมีคนรู้เรื่องของเขาและมีสื่อมาสัมภาษณ์บ้าง หลังจากนั้นก็เริ่มมีคนแวะเวียนมาให้กำลังใจเขาเป็นระยะ มงคลนั่งอดอาหารที่หน้าศาลอาญาได้เข้าวันที่สาม ตำรวจจากสน.พหลโยธิน ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่บริเวณนั้นก็นำหมายจับข้อหามาตรา 112 มาแสดงจากนั้น และส่งตัวเขากลับจังหวัดเชียงรายทันที ทำให้การประท้วงอดอาหารของเขาสิ้นสุดลงเร็วกว่าที่เขาตั้งใจไว้
 
วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 บรรยากาศที่ศาลอาญาตึงเครียดเมื่อแม่ของเพนกวินประกาศจะโกนศีรษะเพื่อประท้วงการปฏิเสธสิทธิการประกันตัวของศาล มงคลตัดสินใจว่า จะลงมากรุงเทพอีกครั้ง แต่ในวันเดียวกับที่เขาไปซื้อตั๋วรถโดยสารก็มีตำรวจมาที่บ้านของเขาพร้อมกับแสดงหมายจับศาลจังหวัดเชียงรายในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกหนึ่งคดี และถูกนำตัวไปคุมขังไว้ที่สภ.เมืองเชียงราย
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

630/2564

ศาล

ศาลจังหวัดเชียงราย

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
14 เมษายน 2564 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า หลังการอดอาหารของมงคลเข้าสู่วันที่สามที่บริเวณหน้าศาลอาญา ในช่วงเวลาประมาณ 13.00 น. ตำรวจจาก สน.พหลโยธิน เข้าจับกุมตัวมงคล โดยมีการแสดงหมายจับของศาลจังหวัดเชียงราย เลขที่ 42/2564 ลงวันที่ 14 เมษายน 2564 มี พ.ต.ท.ภาสกร สุขะ รองผู้กำกับสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย เป็นผู้ร้องขอออกหมาย โดยอ้างเหตุในการขอออกหมายจับว่ามงคลได้หรือน่าจะได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษสูงเกินสามปี
 
ตำรวจนำตัวมงคลขึ้นรถควบคุมผู้ต้องหาไปยัง สน.พหลโยธิน เพื่อจัดทำบันทึกการจับกุม จนเวลาประมาณ 14.00 น. เศษ ตำรวจนำตัวมงคลขึ้นรถตู้ของ สน.พหลโยธิน เพื่อเดินทางไปส่งตัวยังจังหวัดเชียงราย

ต่อมามีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.เมืองเชียงราย นำรถมารับตัวมงคลต่อที่บริเวณจังหวัดนครสวรรค์ ก่อนนำตัวไปถึง สภ.เมืองเชียงรายในช่วงเวลาประมาณ 00.45 น. เมื่อไปถึงพนักงานสอบสวนระบุว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำมงคลในช่วงบ่ายวันถัดไป
 
15 เมษายน 2564 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า  เวลาประมาณ 9.20 น. ตำรวจนำตัวมงคลกลับมาควบคุมตัวในห้องขังของสภ.เมืองเชียงราย พร้อมระบุว่าก่อนหน้านั้นได้นำตัวมงคลไปตรวจค้นบ้านพักในจังหวัดเชียงราย โดยได้แสดงหมายค้นต่อญาติของมงคลแล้ว แต่มงคลระบุว่าตนไม่ได้เห็นหมายค้นดังกล่าว และไม่ได้ถูกนำตัวลงจากรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อร่วมในการตรวจค้น ทำให้ไม่ทราบว่าได้มีการตรวจยึดทรัพย์สินหรือสิ่งของใดหรือไม่
 
เวลาประมาณ 13.00 น. พ.ต.ท.ภาสกร สุขะ รองผู้กำกับสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย นำตัวมงคลออกมาแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ ก่อนการสอบปากคำ ตำรวจได้จัดทำบันทึกการตรวจยึด โดยมีการตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของมงคลจำนวน 1 เครื่อง ตั้งแต่การจับกุมตัวที่กรุงเทพฯ แล้ว มงคลยินยอมให้เจ้าหน้าที่ตรวจยึด แต่ปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงข้อมูลในเครื่องมือสื่อสาร โดยได้ลงชื่อในบันทึกตรวจยึดว่า “ไม่ยอมรับมาตรา 112 ที่ป่าเถื่อน” 

พ.ต.ท.ภาสกร ได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหาต่อมงคล ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)
 
ตำรวจระบุพฤติการณ์ข้อกล่าวหาว่ามาจากการโพสต์ภาพและคลิปวิดีโอ แชร์ข้อความและคลิปวิดีโอ พร้อมเขียนข้อความประกอบ เผยแพร่ในเฟซบุ๊กในช่วงระหว่างวันที่ 2-11 มีนาคม 2564 จำนวนรวมทั้งหมด 25 โพสต์ อาทิเช่น  การโพสต์ภาพและข้อความที่แสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์, การแชร์คลิปสารคดีและรายงานข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทย, การแชร์โพสต์ของ Somsak Jeamteerasakul พร้อมเขียนข้อความประกอบ
 
1 พฤษภาคม 2564 
 
เวลาประมาณ 13.30 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า  มงคลถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าจับกุมจากบ้านพักในอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ตามหมายจับในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก่อนถูกนำตัวมายัง สภ.เมืองเชียงราย

การจับกุมครั้งนี้ เจ้าหน้าที่แสดงหมายจับออกโดยศาลจังหวัดเชียงราย ลงวันที่ 30 เมษายน 2564 มี พ.ต.อ.โสภณ ม่วงเฟื่อง ผู้กำกับ สภ.เมืองเชียงราย เป็นผู้ขอศาลออกหมายจับ นอกจากนั้นยังได้นำหมายค้นออกโดยศาลจังหวัดเชียงราย ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เข้าตรวจค้นบ้านพักของมงคลด้วย
 
2 พฤษภาคม 2564 
 
เวลาประมาณ 10.00 น. พ.ต.ท.สันติ ศิริสำราญ และ พ.ต.ท.หญิง ชลธิชา ธรรมสอน พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย แจ้งข้อกล่าวหาต่อมงคล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กจำนวน 2 โพสต์ ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาในคดีแรก

ก่อนหน้านั้น ตำรวจระบุว่าเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนได้ทำการสืบสวนเฟซบุ๊กดังกล่าวเพิ่มเติม และพบโพสต์ข้อความที่อาจผิดต่อกฎหมายเพิ่มเติมจำนวน 14 โพสต์ จึงได้รายงานไปยังคณะกรรมการคดีความมั่นคงของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5
 
มงคลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอให้การในชั้นศาลต่อไป

ระหว่างการสอบสวน พนักงานสอบสวนยังแจ้งขอรหัสเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหา ซึ่งตำรวจได้ตรวจยึดไปตั้งแต่การจับกุมในคดีแรกแล้ว แต่มงคลปฏิเสธการให้รหัสเข้าถึงข้อมูล และได้ขอให้บันทึกข้อโต้แย้งเรื่องการที่เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมในคดีเดิมได้ ไม่จำเป็นต้องออกขอศาลออกหมายจับในคดีใหม่ ไว้ในบันทึกคำให้การด้วย
 
หลังการสอบปากคำ ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวชั้นสอบสวน โดยอ้างถึงคดีเดิมที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว และเสนอเงินประกันเท่ากับที่ศาลกำหนด คือ 150,000 บาท แต่ตำรวจไม่อนุญาตให้ประกันตัว มงคลจึงต้องถูกคุมขังที่สถานีตำรวจต่อก่อนจะถูกส่งตัวไปศาลในวันรุ่งขึ้น
 
3 พฤษภาคม 2564 
 
ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวมงคลในวงเงิน 150,000 บาท และกำหนดเงื่อนไขห้ามไม่ให้ผู้ต้องหาก่ออันตรายประการอื่น พร้อมนัดให้มารายงานตัวที่ศาลต่อไปในวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 
 
 
25 สิงหาคม 2564 
 
มงคลเข้ารายงานตัวต่อศาลจังหวัดเชียงรายเพื่อรับฟังคำฟ้องในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 2 คดี หลังพนักงานอัยการจังหวัดเชียงรายได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลโดยไม่มีตัวจำเลยไปก่อนแล้ว เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
 
ศาลได้อ่านคำฟ้องของพนักงานอัยการจังหวัดเชียงรายที่ยื่นฟ้องต่อศาลทั้งสองคดี ให้มงคลฟังผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยในคดีแรกมงคลได้ถูกกล่าวหาจากการโพสต์เฟซบุ๊กจำนวน 25 โพสต์ และคดีที่สองจำนวน 2 โพสต์ ในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มงคลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและขอต่อสู้คดีจนถึงที่สุด
 
ต่อมา บิดาของมงคลยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวทั้งสองคดีต่อศาล ด้วยเงินสดจำนวน 1.5 แสนต่อคดี รวมทั้งหมดเป็นเงิน 3 แสนบาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์

ในเวลาประมาณ 15.00 น. ศาลจังหวัดเชียงรายได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยตามคำร้อง โดยกำหนดเงื่อนไขไม่ให้จำเลยกระทำใดๆ อันเป็นที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามเดินทางออกนอกประเทศและให้มาศาลตามนัดหมาย
 
8 ตุลาคม 2564
 
นัดตรวจพยานหลักฐานทั้งสองคดี
 
ศาลจังหวัดเชียงรายนัดสืบพยานคดีนี้ตั้งแต่วันที่ 19-20 เมษายน 2565 และเนื่องจากการสืบพยานยังไม่เสร็จสิ้น จึงเลื่อนไปสืบพยานต่อในวันที่ 27-30 กันยายน 2565 โดยศาลมีคำสั่งให้คดีนี้พิจารณาเป็นการลับ ทำให้นอกจากจำเลย ทนายความ อัยการโจทก์แล้ว ครอบครัวของจำเลยหรือบุคคลภายนอกไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าฟังการพิจารณาคดีได้
 
ในคดีนี้จำเลยรับว่าโพสต์ข้อความตามที่ถูกฟ้องมาจริง แต่จำเลยต่อสู้คดีโดยเชื่อว่าการกระทำของตนเองเป็นการแสดงออกที่สามารถกระทำได้ อีกทั้งการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าในหลวงรัชกาลที่สิบไม่ให้นำมาตรา 112 มาใช้กับประชาชนยิ่งสร้างความมั่นใจให้จำเลย

นอกจากนั้นการกระทำของจำเลยไม่ได้สร้างผลกระทบต่อเนื้อตัวร่างกายหรือทรัพย์สินของผู้ใด เพียงแต่อาจสร้างความระคายเคืองต่อจิตใจของผู้ที่ไม่เห็นด้วยบ้าง อีกทั้งโพสต์ของจำเลยที่ถูกกล่าวหาหลายโพสต์เป็นการโพสต์ถึงอดีตพระมหากษัตริย์ บางโพสต์เป็นเพียงบางช่วงของสารคดีที่มีการเผยแพร่สาธารณะอยู่ก่อนแล้ว บางส่วนเป็นเพียงเนื้อหาข่าวจากต่างประเทศเท่านั้น 
 
โดยฝ่ายจำเลยมี กฤษณ์พชร โสมณวัตร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขึ้นเบิกความโดยให้ความเห็นต่อโพสต์ของจำเลย โดยเห็นว่าหลายโพสไม่ได้เป็นความผิดตามมาตรา 112 เป็นเพียงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ที่อาจไม่คุ้นเคยในสังคมไทยแต่ตามหลักสากลแล้วไม่เป็นความผิด
 
1 ธันวาคม 2565 
 
ศาลจังหวัดเชียงรายนัดฟังคำพิพากษา แต่ได้เลื่อนไปเป็นวันที่ 23 ธันวาคม 2565  เนื่องจากสำนวนคดียังไม่กลับมาจากสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา