1592 1798 1337 1364 1768 1271 1754 1583 1156 1416 1525 1278 1151 1023 1069 1549 1076 1398 1048 1735 1517 1581 1046 1244 1457 1403 1506 1842 1471 1710 1417 1201 1607 1907 1362 1470 1647 1149 1215 1896 1054 1655 1980 1219 1363 1992 1188 1274 1793 1449 1822 1032 1971 1162 1577 1859 1356 1192 1010 1787 1340 1154 1972 1323 1609 1918 1692 1901 1133 1849 1120 1342 1220 1813 1946 1606 1377 1815 1189 1113 1909 1229 1982 1263 1192 1826 1819 1789 1702 1271 1201 1935 1637 1928 1886 1625 1071 1395 1984 ปี 2564 ยิ่งชุมนุมยิ่งโดนคดี จนปริมาณพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ปี 2564 ยิ่งชุมนุมยิ่งโดนคดี จนปริมาณพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์

 

บรรยากาศการแสดงออกทางการเมืองตลอดปี 2564 เป็นไปอย่าง "พลุ่งพล่าน" และ "อึดอัด" ในเวลาเดียวกัน แม้ว่าโควิด19 จะแพร่ระบาดอย่างหนักทำให้ต้องสั่งล็อคดาวน์หลายช่วง แต่การชุมนุมบนท้องถนนยังเกิดขึ้นมากกว่า 1,500 ครั้ง ซึ่งมากกว่าปี 2563 ถึงกว่าเท่าตัว ความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาโควิดยังส่งผลให้ความนิยมของรัฐบาลลดต่ำลง ความโกรธแค้นที่มีต่อการบริหารประเทศพุ่งสูงขึ้น การแสดงออกทางการเมืองกลายเป็นบทสนทนาทั่วไปที่เกิดขึ้นทุกวันและบนพื้นที่หลากหลาย ขณะเดียวกันฝ่ายรัฐก็ใช้กฎหมายและคดีความอย่างหนักหน่วง ในเชิงปริมาณถือว่าพุ่งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งยิ่งสร้างความโกรธแค้นมากขึ้นทำให้บรรยากาศการแสดงความคิดเห็นไม่สู้ดีนัก
 
สถิติที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนนับถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2564 พบว่า มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,684 คน จากจำนวน 957 คดี 
 
แบ่งเป็น คดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 อยู่ในความสนใจมากที่สุด อย่างน้อย 162 คน คดีฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 ซึ่งเป็นข้อหาหนักและอยู่ในหมวดความมั่นคงแต่ถูกพูดถึงน้อยลงมาก อย่างน้อย 155 คน คดีฐานมั่วสุมก่อความวุ่นวาย ตามมาตรา 215 มาแรงในปีนี้จากการรวมตัวกันชุมนุมด้วยรูปแบบใหม่ๆ อย่างน้อย 572 คน และข้อหาที่กลายเป็น "ข้อหาหลัก" มีคนถูกดำเนินคดีมากที่สุด คือ ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,367 คน จากจำนวน 594 คดี 
 
2203
 
 
การขยายตัวของจำนวนคดีและจำนวนผู้ต้องหา "ยิ่งชุมนุม ยิ่งโดนคดี"
 
ปรากฏการณ์การชุมนุมที่ "ทะลุเพดาน" ทั้งในแง่ปริมาณการจัดชุมนุม  รูปแบบความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ และข้อเรียกร้องที่ไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2563 และต่อเนื่องมาในปี 2564 ทำให้คนที่อยู่ในอำนาจไม่พึงพอใจ และปล่อยให้ปรากฏการณ์นี้เดินหน้าไปเรื่อยๆ ได้ แม้ในช่วงต้นของสถานการณ์ การคุกคาม ขัดขวาง และดำเนินคดียังเกิดขึ้นไม่มาก โดยคดีความจะถูกใช้ต่อการชุมนุมครั้งใหญ่ๆ เช่น การชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 หรือ การชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 และมุ่งเป้าไปที่ระดับแกนนำเท่านั้น แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2564 แล้วกระแสการแสดงออกยังไม่หมดไป การดำเนินคดีจึงขยายปริมาณออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่เว้นแม้แต่การชุมนุมขนาดเล็กที่มีผู้เข้าร่วมไม่มาก
 
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ตลอดทั้งปี 2564 รัฐบาลจึงประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นกฎหมายหลัก ตามมาด้วยข้อกำหนดที่สั่งห้ามการรวมตัว การทำกิจกรรมต่างๆ ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาหลายครั้ง และข้อกำหนดฉบับที่ 15 เป็นฐานสำคัญที่ใช้ดำเนินคดีตอบโต้การชุมนุมที่เกิดขึ้นในปี 2564 ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ เรียกร้องในประเด็นใด แทบจะคาดหมายได้ว่า หลังจบกิจกรรมตำรวจจะออกหมายเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องให้มารับทราบข้อกล่าวหาฐาน "ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" ซึ่งคนที่ถูกดำเนินคดีจะรวมถึงทุกคนที่ถือไมโครโฟน กล่าวปราศรัย หรือเป็นพิธีกรระหว่างกิจกรรม รวมทั้งนักร้องนักดนตรีที่ขึ้นเวที ในบางคดีรวมทั้งคนที่เจรจาติดต่อประสานงานกับตำรวจ คนขับรถเครื่องเสียง คนขับรถห้องน้ำ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดชุมนุมด้วย
 
การชุมนุมในประเด็นเฉพาะที่ไม่ใช่ข้อเรียกร้องทางการเมืองก็ถูกจำกัดด้วยกฎหมายนี้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น การชุมนุมของคนงานโรงงานชุดชั้นในที่ถูกเลิกจ้าง บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 เป็นเหตุให้มีคนถูกดำเนินคดี 6 คน หรือการชุมนุมของชาวจะนะ เพื่อคัดค้านการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 เป็นเหตุให้มีคนถูกจับกุมและดำเนินคดี 37 คน  เป็นต้น แต่เมื่อเป็นการชุมนุมที่มีข้อเรียกร้องทางการเมือง แม้จะเป็นการชุมนุมขนาดเล็กที่ไม่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ก็ยังถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ เช่น การไปยื่นหนังสือให้สหประชาชาติเรียกร้องยกเลิกมาตรา 112 ในวันที่ 10 ธันวาคม 2564 หรือการจัดกิจกรรม Car Mob ที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีผู้เข้าร่วมไม่มากนัก 
 
นอกจากการดำเนินคดีอย่างกว้างขวางจนมีจำนวนคดีจากการแสดงออกทางการเมืองมากที่สุดเป็นประวัติการณ์แล้ว ข้อกำหนด ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังมีบทบาทให้อำนาจตำรวจสั่งห้ามการทำกิจกรรมต่างๆ ได้ทุกประเภท รวมทั้งให้ตำรวจใช้เป็นข้ออ้างเข้าสลายการชุมนุมได้ทุกรูปแบบ โดยไม่ต้องคำนึงว่าการชุมนุมนั้นเกิดขึ้นในพื้นที่ใด และเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธหรือไม่
 
 
2200
 
 
สารพัดข้อหาที่ "ขุด" ขึ้นมาใช้เพื่อ "รายงานเบื้องบน"
 
ข้อหาที่มีอยู่ในประมวลกฎหมายอาญาหากพอจะนำมาใช้ดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมได้ ตำรวจก็จะหยิบยกขึ้นมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นข้อหามั่วสุมก่อความวุ่นวาย ตามมาตรา 215 และข้อหาสั่งให้เลิกการมั่วสุมแล้วไม่เลิก ตามมาตรา 216 ถูกนำมาใช้ต่อการชุมนุมหลายครั้ง โดยเฉพาะใช้ต่อการชุมนุมที่แยกดินแดง ในนาม "ทะลุแก๊ส" หรือการชุมนุมของกลุ่ม "ทะลุฟ้า" ที่จัดชุมนุมต่อเนื่องกันหลายวัน และเป็นเหตุให้ตำรวจต้องใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมติดต่อกันหลายครั้ง ซึ่งผู้ชุมนุมหลายคนเคยถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วแต่ยังไม่อาจทำให้การชุมนุมลดลงได้ 
 
สำหรับการชุมนุมที่มีการจุดประทัด การยิงพลุ การขว้างปาเข้าใส่ตำรวจ หรือมีการตอบโต้มีปากเสียง มีการผลักดันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ข้อหา "ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน" ตามมาตรา 138 ก็ถูกนำมาใช้เพิ่ม ซึ่งสร้างภาระในการต่อสู้คดีให้กับผู้ต้องหาเพิ่มขึ้น และผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีในข้อหานี้ หรือข้อหามาตรา 215 จำนวนหนึ่งตำรวจจะใช้อำนาจควบคุมตัวและขอให้ศาลสั่ง "ฝากขัง" เป็นภาระในการหาหลักทรัพย์มาประกันตัวอย่างมาก และหลายคนศาลไม่ให้ประกันตัวเพราะเห็นว่ามีพฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรง ทำให้มีผู้ชุมนุมที่ต้องเข้าเรือนจำเป็นจำนวนมาก
 
ในช่วงที่สถานการณ์โควิดไม่ได้แพร่ระบาดรุนแรง หรือในการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนไม่มาก อย่างน้อยที่สุดผู้จัดก็จะถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาเล็กน้อย เช่น ข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง ข้อหาติดป้ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง หรือข้อหากีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ซึ่งมีเพียงโทษปรับ โดยผู้ต้องหาอาจเลือกรับสารภาพจ่ายค่าปรับภายหลังกิจกรรมจบในวันนั้น
 
ตลอดปี 2564 เรายังพบปรากฏการณ์มากมายที่ตำรวจ "ขุด" เอาข้อหาใหม่ๆ จากกฎหมายเก่าๆ ขึ้นมาใช้ เท่าที่องค์ประกอบของกฎหมายจะสามารถใช้ดำเนินคดีต่อผู้ทำกิจกรรมเพื่อตอบโต้การแสดงออกได้ เช่น ข้อหาดูหมิ่นซึ่งหน้า หรือดูหมิ่นโดยการโฆษณา ข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ข้อหาทำลายทรัพย์สินสาธารณะ ข้อหาอั้งยี่และซ่องโจร ข้อหาแต่งกายเลียนแบบสงฆ์ ข้อหาก่อความเดือดร้อนรำคาญ ข้อหาตาม พ.ร.บ.ธง ข้อหาตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม ข้อหาตาม พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร ฯลฯ นับรวมได้อย่างน้อย 71 มาตรา บางครั้งที่ตำรวจเลือกดำเนินคดีด้วยข้อหาเล็กๆ น้อยๆ ตามมาพร้อมกับคำอธิบายว่า ตำรวจจำเป็นต้อง "ทำอะไรบางอย่าง" เพื่อที่จะมีข้อมูล "ไปรายงานเบื้องบน" 
 
เห็นได้ชัดเจนว่า การดำเนินคดี เป็น "เครื่องมือหลัก" ที่รัฐจงใจใช้อย่างกว้างขวาง ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมให้มากที่สุด เพื่อหวังสร้างบรรยากาศความหวาดกลัว และสร้างภาระให้กับคนที่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพื่อที่จะหยุดปรากฏการณ์ "ทะลุเพดาน" ให้ได้
 
2201
 
 
ภาระจากคดีที่หนักหน่วง กระทบต่อบรรยากาศการแสดงออก
 
ชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือ ไบรท์ ซึ่งเป็นนักปราศรัยที่เคลื่อนไหวร่วมกับเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 49 คดี ซึ่งบางคดีมีเพียงโทษปรับ บางคดีจบไปแล้ว พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิ้น ซึ่งเป็นนักปราศรัยที่เคลื่อนไหวในนามแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 43 คดี ซึ่งในจำนวนนี้เป็นคดีตามมาตรา 112 อย่างน้อย 23 คดี อรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ ซึ่งเป็นนักปราศรัยที่เคลื่อนไหวในนามกลุ่มราษฎรโขง ชี มูล ถูกดำเนินคดีแล้วอย่างน้อย 33 คดี กรณีของครูใหญ่จะมีภาระมากเป็นพิเศษเพราะมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น แต่หลายคดีเกิดขึ้นและต้องดำเนินคดีที่กรุงเทพ
 
นวพล ต้นงาม หรือ "ไดโน่ ทะลุฟ้า" ซึ่งเป็นคนที่มีบทบาทมากในการเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุฟ้าในปีนี้ ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 21 คดี และต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ 45 วัน ก่อนได้ประกันตัว ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย หรือ ลูกนัท ซึ่งเป็นคนที่ประกาศตัวเข้าร่วมการเคลื่อนไหวและขึ้นปราศรัยหลายเวทีในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 9 คดี ณัฐพงษ์ ภูแก้ว หรือ แก้วใส นักร้องนำวงสามัญชนถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 7 คดี จากการแสดงดนตรีตามงานกิจกรรมต่างๆ 
 
การดำเนินคดีต่อผู้แสดงความเห็นทางการเมือง นอกจากจะเกิดขึ้นในท้องที่ที่เกิดเหตุแล้ว ยังมีการสร้างภาระแบบพิเศษ คือ การริเริ่มคดีในพื้นที่ห่างไกลจากภูมิลำเนา เพื่อให้ผู้ถูกดำเนินคดีต้องมีภาระเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อไปต่อสู้คดีด้วย ตัวอย่างเช่น คดีมาตรา 112 ของ "กัลยา" ชาวนนทบุรี ที่ต้องไป อำเภอสุไหง-โกลก จังหวัดนราธิวาส คดีมาตรา 112 ของสุพิชฌาย์ หรือเมนู นักกิจกรรมจากจังหวัดเชียงใหม่ที่ต้องไป อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา หรือคดีมาตรา 112 ของฉัตรมงคล หรือบอส ชาวจังหวัดปทุมธานีที่ต้องไป จังหวัดเชียงราย เป็นต้น
 
เมื่อถูกดำเนินคดีหนึ่งๆ ผู้ต้องหาหนึ่งคนจะต้องใช้เวลาในการไปเข้าร่วมกระบวนการ อย่างน้อย 8 วัน กว่าจะมีคำพิพากษา ดังนี้
 
1. ชั้นตำรวจ จะต้องไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจท้องที่ 1 ครั้ง ซึ่งกระบวนการใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง หากในคดีนั้นๆ ตำรวจต้องการสอบปากคำเพิ่ม หรือต้องการพยานหลักฐานเพิ่มก็ต้องเดินทางไปซ้ำอีก และเมื่อตำรวจทำสำนวนคดีเสร็จก็จะนัดให้ผู้ต้องหามาพบ เพื่อนำตัวไปส่งฟ้องต่ออัยการอีก 1 ครั้ง ซึ่งใช้เวลาแค่ประมาณ 5-10 นาทีในการไปส่งตัว
 
2. ชั้นอัยการ เมื่ออัยการรับตัวผู้ต้องหาจากตำรวจแล้ว ก็จะนัดให้มาฟังคำสั่งว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ โดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน หากถึงวันครบกำหนดแล้วอัยการยังทำสำนวนไม่เสร็จ ก็จะเลื่อนออกไปอีกประมาณ 1 เดือน ซึ่งอาจเลื่อนออกไปเรื่อยๆ ได้ไม่จำกัด แต่ผู้ต้องหาสามารถมอบอำนาจให้ทนายความไปฟังคำสั่งแทนได้ และเมื่ออัยการทำสำนวนเสร็จก็จะนัดผู้ต้องหาให้ไปส่งฟ้องคดีต่อศาล 1 ครั้ง หากเป็นคดีที่ต้องยื่นขอประกันตัวก็จะต้องใช้เวลารอคำสั่งประกันตัวเต็มวันตั้งแต่เช้าถึงเย็น ถ้าไม่ต้องยื่นขอประกันตัวก็ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง
 
3. ชั้นศาล เมื่อส่งฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ศาลจะนัดมาสอบคำให้การ 1 ครั้ง เพื่อถามว่าจะรับสารภาพหรือจะปฏิเสธ ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง หากปฏิเสธก็จะนัดวันตรวจพยานหลักฐานอีก 1 ครั้ง ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง ในบางคดีจะมีนัดไกล่เกลี่ยหรือนัดคุ้มครองสิทธิอีก 1 ครั้ง ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง หลังจากนั้นก็จะนัดสืบพยาน ซึ่งจะใช้เวลา 2-3 วันเต็มในคดีทั่วไป แต่ถ้าเป็นคดีจากการชุมนุมขนาดใหญ่ ที่มีจำเลยและผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ก็อาจใช้เวลา 2-3 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น บางครั้งศาลก็อนุญาตให้สืบพยานโดยจำเลยไม่ต้องมาร่วมฟังทุกนัดก็ได้ หลังจากนั้นก็จะนัดฟังคำพิพากษา สำหรับการต่อสู้คดีในศาลชั้นต้นจำเลย 1 คน ต้องเดินทางไปศาลอย่างน้อย 5 วัน
 
เมื่อนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ถูกดำเนินคดีคนละหลายคดี จึงต้องใช้เวลาและสมาธิไปไม่น้อยกับการไปเข้าร่วมกระบวนการตามกำหนดนัดหมายและเตรียมการเพื่อต่อสู้คดี ซึ่งสำหรับนักกิจกรรมบางคนอาจจะไม่ได้เกรงกลัวต่อคดีความเพราะมั่นใจว่าไม่ได้กระทำความผิด แต่ก็มีภาระที่ต้องจัดการเพิ่มขึ้นจากคดีความที่ติดตัวเป็นจำนวนมาก สำหรับนักกิจกรรมบางคนอาจไม่พร้อมที่จะรับภาระทางคดีที่ตามมา ทั้งภาระด้านค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ด้านเวลาที่ต้องเสียไป และผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัว จึงอาจต้องลดบาทบาทในการแสดงออกลง การดำเนินคดีจำนวนมากที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้มีผลเพียงมุ่งลงโทษทางอาญาต่อการกระทำความผิดเท่านั้น แต่อาจส่งผลโดยตรงให้ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลมีภาระมากจนไม่สามารถเคลื่อนไหวรณรงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
2204
 
 
เมื่อรัฐโยนภาระในการ "ปิดปาก" ให้ศาล คำถามต่อสถาบันตุลาการจะเพิ่มขึ้น
 
แม้หลายคดีอาจจะจบด้วยการสั่งไม่ฟ้องของอัยการ หรือการสั่งยกฟ้องโดยศาล แต่เมื่อมีคดีความเกิดขึ้นเป็นจำนวนมหาศาลเช่นนี้ กระบวนการที่เดินไปตามระบบปกติก็กลายเป็นภาระใหญ่หลวงของการเคลื่อนไหว กล่าวได้ว่า กระบวนการยุติธรรมได้ถูกรัฐบาลหยิบยืมมาใช้สร้างอุปสรรคสำหรับการแสดงออกจนสำเร็จไปแล้ว 
 
แต่ไม่เพียงเท่านั้น เพราะเมื่อคดีมาตรา 112 ขึ้นสู่ชั้นศาลในปี 2564 ศาลได้ใช้กระบวนการตามกฎหมายที่มีอยู่สร้างเครื่องมือชิ้นใหม่ขึ้นมาเพื่อหยุดกระบวนการเคลื่อนไหวและแสดงออกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ คือ การกำหนด "เงื่อนไขประกันตัว" ห้ามแสดงความคิดเห็นที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย ทำให้นักกิจกรรมหลายคนเงียบหายไปหลังได้รับประกันตัว และหลายคนที่ยังคงเคลื่อนไหว "เพดานสูง" เช่นเดิมก็ต้องถูกเพิกถอนประกันตัวให้กลับเข้าเรือนจำใหม่อีกในช่วงครึ่งหลังของปี 
 
เมื่อสถาบันตุลาการถูกลากเข้ามาอยู่ใจกลางความขัดแย้ง มีบทบาทสำคัญเป็นผู้สั่งคุมขังผู้ชุมนุมโดยเฉพาะในคดีมาตรา 112 บรรยากาศในปี 2564 จึงเกิดกระแสความไม่พอใจพุ่งตรงไปยังศาลมากขึ้น พบปรากฏการณ์การชุมนุมที่มุ่งเป้าไปยังศาลอย่างชัดเจน มีการชุมนุมทั้งรูปแบบการ "ยืนหยุดขัง" ซึ่งเป็นการชุมนุมขนาดเล็กบริเวณหน้าศาล การรวมตัวกันประท้วงบริเวณบันไดทางขึ้นอาคารศาล และการชุมนุมขนาดใหญ่ที่มุ่งเป้าโจมตีไปยังผู้พิพากษาเป็นรายบุคคล ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นความท้าทายใหม่ที่สถาบันตุลาการไม่เคยเผชิญหน้ามาก่อน 
 
ภายใต้บรรยากาศความขัดแย้งนี้ แทนที่ศาลจะเป็นผู้คืนความยุติธรรมและสร้างความสงบสุข แต่ศาลกลับเลือกวิธีการเดียวกับรัฐบาล คือ การใช้กฎหมายและอำนาจเท่าที่มีในมือดำเนินคดีเพิ่มขึ้น ในที่นี้ คือ การดำเนินคดีฐานละเมิดอำนาจศาลต่อผู้ชุมนุมที่แสดงออกเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้เพื่อนของเขาที่ถูกคุมขัง ตลอดปี 2564 มีคดีในข้อหาละเมิดอำนาจศาล 14 คดี มีผู้ถูกกล่าวหา 27 คน ทุกคดีมีคำสั่งว่าผู้ถูกกล่าวหา "มีความผิด" โดยมีคดีที่ศาลสั่งให้จำคุกหรือกักขังโดยไม่รอลงอาญา 7 คดี นอกจากนี้ยังมีคดีข้อหา "ดูหมิ่นศาล" ซึ่งเป็นการดำเนินคดีซ้ำซ้อนกันจากกรณีที่มีคำสั่งฐานละเมิดอำนาจศาลอีก 5 คดี ซึ่งยังไม่มีคำพิพากษา 
 
ด้วยสถานการณ์โควิด19 ทำให้คดีความจำนวนมากที่เกิดขึ้นช่วงปี 2563 และต้นปี 2564 ต้องเลื่อนการพิจารณาไปก่อนและคดีส่วนใหญ่ยังไม่มีคำพิพากษา บทบาทของศาลในปี 2564 จึงยังไม่ลอยเด่นออกมาเท่ากับจำนวนคดีที่เกิดขึ้นจริง แต่ในปี 2565 เมื่อคดีความเข้าสู่ชั้นพิจารณา อาคารศาลจะต้องต้อนรับจำเลยในคดีการเมืองแทบทุกวัน และเมื่อเดินไปถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษาออกมาจำนวนมาก บทบาทของสถาบันตุลาการต่อความเป็นไปทางการเมืองจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นไปอีก
 
2202
 
 
บรรยากาศการตอบโต้คดีที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อทุกคนเริ่มชาชิน
 
เมื่อจำนวนคดีเพิ่มสูงขึ้นมาก และผู้ต้องหาแต่ละคนถูกดำเนินคดีซ้ำๆ กันหลายคดี ความเคยชินจึงเกิดขึ้นกับตัวผู้ต้องหาและทนายความ ในช่วงปลายปี 2564 ในทุกๆ วันจะต้องมีนัดหมายคดีทางการเมืองวันละหลายคดี ตัวผู้ต้องหาเองก็รู้สึก "ชาชิน" กับการไปรายงานตัวแต่ละนัด ทนายความเองก็มีภาระงานมากจนไม่มีเวลาเตรียมตัวเพื่อหาประเด็นใหม่ๆ มาต่อสู้คดี สื่อมวลชนก็เลิกรายงานข่าวการรายงานตัวในคดีการเมืองส่วนใหญ่ เหลือเพียงการนำเสนอเรื่องคดีมาตรา 112 ของคนที่มีชื่อเสียงบางส่วนเท่านั้น 
 
เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการแต่ละส่วนก็ทำงานเพียงเพื่อให้ครบตามขั้นตอนและทำให้จบไป เช่น ตำรวจบางคนอาจใช้วิธีการประสานงานล่วงหน้าและเตรียมเอกสารไว้ก่อน เมื่อผู้ต้องหามาถึงก็ให้ลงลายมือชื่ออย่างเดียวเพื่อความรวดเร็ว บรรยากาศที่เคยเกิดขึ้นในปี 2563 เมื่อผู้ต้องหาถูกเรียกรายงานตัวก็จะมีการนัดหมายจัดกิจกรรมหน้าสถานีตำรวจเพื่อให้กำลังใจและ "ตอบโต้" คดีความ แต่ในปี 2564 กิจกรรมเหล่านี้เริ่มหายไปแล้ว ผู้ต้องหาหลายคนไปรายงานตัวเองตามนัดอย่างเงียบๆ โดยไม่มีการรายงานข่าว ไม่มีใครทราบเรื่องราวการถูกดำเนินคดีของเขา เมื่อทุกอย่างเกิดขึ้นพร้อมๆ กันจำนวนมากประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมก็ "ตามไม่ทัน" และไม่เข้าใจสถานการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในการดำเนินคดีทางการเมืองเหล่านี้
 
ยังมีปรากฏการณ์การใช้อำนาจรัฐและกฎหมายแบบใหม่ๆ อีกหลายประเด็นที่เกิดขึ้นในปีนี้เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด เช่น การยกเลิกหนังสือเดินทาง การห้ามคนเข้าประเทศ การแอบติดจีพีเอสและใช้สปายแวร์เพื่อสอดแนม ฯลฯ ทำให้เห็นได้ว่า ฝ่ายภาครัฐเองก็ตกอยู่ในภาวะคับขันมากขึ้นที่ต้องหาทางหยุดยั่งการแสดงออก จึงต้องหามาตรการใหม่ๆ นอกเหนือจากการดำเนินคดีโดยตรง ซึ่งไม่เคยพบเห็นมาก่อนในบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองก่อนหน้านี้ 
 
นอกจากนี้การคุกคามนักกิจกรรมในรูปแบบเดิมๆ เช่น การส่งตำรวจไปหาที่บ้าน การขอเข้าตรวจค้นบ้านหรือยานพาหนะโดยไม่มีเหตุจำเป็น การพูดคุยกับผู้ปกครองของเยาวชน ก็ยังเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดปี แต่เมื่อเหยื่อของการคุกคามเริ่มเคยชินที่จะอยู่กับเหตุการณ์เช่นนี้ ทำให้การรายงานข่าวการคุกคามเกิดขึ้นน้อย เมื่อเหยื่อหลายคนไม่เกรงกลัวและไม่หวาดหวั่น หลังจากเกิดการคุกคามพวกเขาก็กลับไปทำกิจกรรมของตัวเองต่อและไม่ได้จดจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง และการบันทึกข้อมูลให้ครบถ้วนสมบูรณ์แทบเป็นไปไม่ได้ 
 
ประวัติศาสตร์การใช้อำนาจรัฐและกฎหมายเพื่อปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนตลอดปี 2564 จึงถูกบันทึกไว้อย่างลุ่มๆ ดอนๆ ไม่อาจปะติดปะต่อเป็นภาพใหญ่ผืนเดียวกัน ที่มีรายละเอียดครบถ้วนสมบูรณ์ได้
 
.............
 
 
 
 
 
ปี 2564 เป็นปีที่ภารกิจในการบันทึกข้อมูลการใช้กฎหมายและอำนาจรัฐเพื่อจำกัดเสรีภาพการแสดงออกของศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โดยไอลอว์ ที่เว็บไซต์ freedom.ilaw.or.th ไม่สามารถบันทึกข้อมูลได้ทันสถานการณ์ และไม่สามารถนำเสนอข้อมูลของคดีส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นต่อสาธารณะได้ เราทำได้เพียงเลือกติดตามคดีสำคัญบางคดีอย่างใกล้ชิด และบันทึกข้อมูลการเกิดขึ้นของคดีที่สามารถติดตามข้อมูลได้อย่างรวดเร็วเท่านั้น ซึ่งคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละสิบของคดีเกี่ยวกับเสรีภาพการแสดงออกที่เกิดขึ้นจริงในปีนี้ 
 
นอกจากนี้ตลอดปี 2564 ยังมีปรากฏการณ์ปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกอีกมากที่เกิดขึ้น เช่น การปิดกั้นเว็บไซต์ หรือแอคเค้าท์บนโซเชียลมีเดีย การปิดกั้นหรือสั่งห้ามจัดกิจกรรม การสร้างอุปสรรคทางกายภาพให้แสดงออกได้ยากขึ้น การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ การปลดป้ายหรือรื้อถอนสัญลักษณ์ทางการเมือง รวมทั้งการดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาท หรือข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อีกหลายกรณี ซึ่งเป็นการละเมิดเสรีภาพที่ยอมรับไม่ได้และหากเกิดขึ้นในปีอื่นจะถูกให้ความสำคัญในการบันทึกข้อมูลอย่างละเอียด 
 
เมื่อไม่สามารถบันทึกข้อมูลเชิงปริมาณในเชิงสถิติภาพรวมของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ครบถ้วน และไม่สามารถบันทึกข้อมูลเชิงคุณภาพเพื่อลงรายละเอียดของแต่ละคดีได้มากนัก ทำให้การรณรงค์เพื่อตอบโต้การดำเนินคดี "ปิดปาก" เหล่านี้ก็เกิดขึ้นน้อยกว่าปีก่อนๆ ทั้งที่ปริมาณการละเมิดเสรีภาพการแสดงออกเกิดขึ้นมากกว่า และรูปแบบเนื้อหาของคดีก็ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย
 
ไอลอว์ ในฐานะองค์กรที่มีเป้าหมายว่า จะจัดสร้างฐานข้อมูลออนไลน์ให้เป็นระบบสำหรับการค้นคว้าเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์การใช้กฎหมายเพื่อปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก ต้อง "ขอโทษ" ผู้ติดตาม และศึกษาข้อมูลจากเรา ต่อความไม่สามารถทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ในปีที่ผ่านมา 
 
เราคาดหมายว่า ในปี 2565 ความท้าทายเรื่องปริมาณคดียังคงอยู่ในปริมาณเดิมและอาจเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งเท่าเดิม เรายังมุ่งมั่นที่จะทำอย่างเต็มที่เพื่อบันทึกข้อมูลในส่วนคดีที่สำคัญ ซึ่งประกอบด้วยข้อกล่าวหา แนวทางการต่อสู้คดีและคำพิพากษาของศาลที่อาจวางบรรทัดฐานในการใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองเสรีภาพ หรือปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนต่อไปในอนาคต โดยเราจะติดตามข้อมูลที่เกิดขึ้นแบบ "ย้อนหลัง" เพื่อทำสรุปและบันทึกข้อมูลไว้ในฐานข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ ขณะเดียวกันจะจัดทำบทวิเคราะห์ หรือบทความที่สรุปภาพรวมของสถานการณ์ต่างๆ ให้รอบด้านมากขึ้น เพื่อทดแทนข้อมูลเชิงลึกที่ไม่อาจจัดการเรียบเรียงได้ทั้งหมด
 
 
 
 
Report type: