1670 1933 1704 1800 1563 1027 1683 1355 1779 1248 1414 1556 1287 1408 1261 1463 1466 1504 1311 1559 1724 1371 1375 1159 1283 1356 1356 1599 1310 1785 1918 1502 1644 1553 1311 1829 1699 1442 1927 1227 1009 1907 1494 1008 1512 1375 1040 1814 1884 1639 1478 1229 1668 1251 1273 1804 1060 1649 1215 1359 1451 1157 1612 1175 1337 1690 1281 1994 1591 1543 1722 1147 1057 1337 1455 1001 1431 1397 1129 1538 1386 1282 1147 1617 1520 1602 1507 1024 1547 1839 1058 1907 1999 1533 1876 1595 1299 1930 1153 ได้หมาย YOUNG EP.4 คุยกับสี่นักกิจกรรมแดนใต้ “กระบี่ไม่ทน-กลุ่มนิสิตเพื่อประชาธิปไตย-ภูเก็ตปลดแอก และเฟมินิสต์ปลดแอก ภาคใต้” | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ได้หมาย YOUNG EP.4 คุยกับสี่นักกิจกรรมแดนใต้ “กระบี่ไม่ทน-กลุ่มนิสิตเพื่อประชาธิปไตย-ภูเก็ตปลดแอก และเฟมินิสต์ปลดแอก ภาคใต้”

เมื่อพูดถึง “ภาคใต้” หลายคนอาจนึกถึงลมเย็นๆ ริมหาด การไปดำน้ำดูปะการังสวยๆ หรือแกงไตปลาอร่อยๆ แต่เมื่อขยายอาณาบริเวณเข้าไปในประเด็นการเมือง "ภาคใต้" นับเป็นพื้นที่หนึ่งในประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เขตแดนของฝ่ายอนุรักษ์นิยม” ส่งผลให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นปราการด่านยากที่สร้างอุปสรรคให้เหล่านักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในพื้นที่เรื่อยมา

 

นอกจากต้องพบเจอการคุกคามโดยประชาชนฝ่ายขวา การคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งโทรมาข่มขู่ มาเยี่ยมถึงรั้วหน้าบ้าน หรือกระทั่งแรงกดดันของคนในครอบครัวที่เรียกร้องให้เลิกทำกิจกรรมทางการเมืองแล้วนั้น อีกหนึ่งความกังวลใจที่บรรดานักเคลื่อนไหวต้องพบเจอ คือการได้รับหมายเรียก “ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ที่รัฐบาลได้บังคับใช้มาเป็นระยะเวลาเกือบสองปีแล้ว

 

6 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.00 น. รายการ “ได้หมาย Young” ร่วมพูดคุยกับเยาวชนจากภูมิภาคใต้ ที่ได้รับหมายคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการทำกิจกรรมทางการเมืองจำนวนสี่คน ได้แก่ บูม จากกระบี่ไม่ทน, ฮัสซาน จากกลุ่มนิสิตเพื่อประชาธิปไตยมหาวิทยาลัยทักษิณ, ภัทรา จากภูเก็ตปลดแอก และจริงใจ จากเฟมินิสต์ปลดแอก ภาคใต้

 

2268

 

ก้าวแรกของการเคลื่อนไหวบนท้องถนน 

o บูม เล่าว่าพื้นเพนิสัยของตนเองเป็นคนขี้สงสัย และคำถามจากความฉงนใจแรกที่ทำให้บูมเข้ามาสู่การเคลื่อนไหวทางสังคมก็คือ “ปัจจุบันควรมีโทษประหารชีวิตไหม?” จากนั้นบูมได้มีโอกาสทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) แห่งหนึ่งเรื่อยมา ต่อมาในปี 2563 การเกิดขึ้นของกลุ่มเยาวชนปลดแอกได้ดึงดูดความสนใจของบูม ทำให้เขาสนใจเข้ามาเคลื่อนไหวในเชิงพื้นที่มากขึ้น กระทั่งร่วมจัดตั้งกลุ่มกระบี่ไม่ทนกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ในพื้นที่

 

o ขณะที่ ฮัสซานเล่าว่า ตัวเขาเองมักได้รับหน้าที่เป็นพิธีกรในสมัยเรียนมัธยมปลาย เมื่อได้เข้ามหาวิทยาลัยจึงมีคนสนใจชวนให้มาเป็นทีมงานเบื้องหลังในการจัดชุมนุม โดยการจัดชุมนุมในครั้งนั้นนับว่าเป็นการชุมนุมครั้งแรกในรอบ 10 ปีภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งผลตอบรับที่ดีก็ส่งผลให้เกิดเป็นการชุมนุมในรั้วมหาลัยครั้งที่สองและสามตามมา โดยที่ฮัสซานได้ขึ้นมาเป็นผู้จับไมค์ปราศรัยเอง

 

o ด้านของภัทรา เล่าว่าเป็นคนที่ชอบประวัติศาสตร์การเมืองและเรื่องราวทางการเมืองในอดีต ภายหลังการรัฐประหารในปี 2557 เธอเริ่มศึกษาหาอ่านความรู้ทางการเมืองมาเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2563 มีข่าวการฉีดน้ำเพื่อสลายการชุมนุม (16 ตุลาคม 2563 แยกปทุมวัน) เหตุการณ์นั้นได้สั่นสะเทือนความคิดของภัทราที่เชื่อว่า “ตำรวจต้องมีหน้าที่ดูแลประชาชน” ด้วยความไม่พอใจในการกระทำของภาครัฐ ทำให้เธอออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองและเข้าร่วมกับกลุ่มภูเก็ตปลดแอก

 

o จริงใจเล่าว่า พ่อและแม่ของเธอค่อนข้างหัวสมัยใหม่และอยู่ในสังคม NGOs รวมทั้งใกล้ชิดกับบุคคลในพรรคการเมืองมาโดยตลอด เธอจึงคุ้นชินกับปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมมาตั้งแต่จำความได้ นอกจากนี้ จริงใจยังได้มีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมทางการเมืองมาโดยตลอด ทั้งการชุมนุมพฤษภาทมิฬ (2535) การชุมนุมพันธมิตร (2549) การชุมนุมของคนเสื้อแดง (2553) รวมทั้งการชุมนุมกปปส. (2556) ส่งผลให้เธอซึมซับความรู้สึกของผู้คนในการการเคลื่อนไหว ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้จริงใจเลือกออกมาเคลื่อนไหวหลังกระแสการชุมนุมในปี 2563 สืบเนื่องมาจากความรู้สึก “อยากชดใช้” ช่วงเวลาในอดีต ที่เธอยังไม่ได้แสดงออกมากนักเนื่องจากเพดานการพูดยังไม่สูงมากเท่ากับปัจจุบัน

 

2269 บูม นักกิจกรรมจากกลุ่มกระบี่ไม่ทน

 

เรื่องเล่าในวันได้รับหมาย 

o บูมเล่าว่า ได้รับหนึ่งหมายเรียกในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบกระบี่ ครั้งที่สอง (7 สิงหาคม 2564) ความยากลำบากของการได้รับหมายนั้นเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ “การตามหาหมาย” เพราะหมายเรียกฉบับแรกถูกส่งไปผิดตำบล ส่วนหมายฉบับที่สองก็ส่งไปผิดบ้าน และเมื่อเดินทางไปรายงานตัวก็ถูกเลื่อนการนัดโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า

“วันนั้นบูมเป็นผู้จัดและเป็นผู้ปราศรัยด้วย จริงๆ ทำทุกอย่างเลยเพราะว่ากระบี่มันมีคนที่ออกมาทำจริงๆ ไม่กี่คน ทั้งประสานงาน ปราศรัย โบกรถ หาสถานที่ คุยกับตำรวจ คุยกับนักข่าว ด่าสลิ่ม ทุกอย่างเลย”

“ครั้งแรกหมายไม่ได้มาที่บ้าน ผมต้องไปทวงถามที่ สภ.เมือง (สถานีตำรวจภูธรเมืองภูเก็ต) สภ.เมืองก็บอกว่าส่งหมายไปที่ป้อมแถวบ้านแล้ว ผมก็ไปหาทุกป้อมเลย ก็ยังหาไม่เจอ สุดท้ายก็ไปป้อมที่อยู่อีกตำบลนึง ก็ไม่ทราบว่ามันไม่อยู่ที่นั่นได้ไง”

“พอนัดรายงานตัว ตำรวจก็บอกว่าเลื่อนไปนะ จะมีหมายครั้งที่สองมาให้ที่บ้าน แต่วันนั้นผมไม่อยู่ เขาก็เอาไปฝากไว้ที่ร้านค้าข้างๆ ซึ่งก็ไม่ใช่บ้านบูม หลังจากนั้นทั้งหมู่บ้านก็รู้เลยว่าเราไปทำอะไรมาบ้าง จากที่ตอนแรกไม่มีใครรู้เลย เขาก็เอาไปคุยกันเองก่อน ก็... รู้ทั้งหมู่บ้านเลยจ้า” บูมพูดติดตลกด้วยสีหน้าเรียบเฉย

 

ขณะที่ฮัสซานเล่าว่า เขาได้รับหนึ่งหมายเรียกฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการจัดคาร์ม็อบที่จังหวัดสตูลกับทีมราษฎรสตูล (10 สิงหาคม 2564) เรื่องที่ตลกที่ฮัสซานหยิบยกมาเล่าในวันได้หมาย คือ “การสะกดคำผิด” ในหมายเรียก รวมทั้งการเลื่อนนัดหมายโดยไม่แจ้งล่วงหน้าเช่นเดียวกับกรณีของบูม

“พอมาอ่านหมายดีๆ ชื่อผมตรงจำเลยที่ 1 เขียนผิด-นามสกุลผิด ส่วนชื่อตรงกลางที่แจ้งข้อกล่าวหา ชื่อเขียนถูก-นามสกุลถูก แต่พอที่ตรงเซ็นรับทราบ ชื่อผิด-นามสกุลถูก ผมก็งงว่าก่อนจะออกหมายเขาไม่ตรวจสอบเอกสารก่อนเหรอ ที่พีคกว่าก็คือ หมายมันออกวันที่ 19 แล้วมันมาช้า คนที่มาส่งก็ขีดฆ่าวันที่ในหมาย แล้วเซ็นกำกับเอง ผมไม่แน่ใจว่าตามหลักมันไม่ได้ใช่ไหม พี่ทนายที่ดูแลคดีผมอยู่ก็บอกว่าไม่ได้ ต้องออกหมายใหม่”

“จากนั้นมีหมายมาที่พ่ออีกใบหนึ่งเป็นหมายพยาน ชื่อถูก-นามสกุลผิดอีก ก็สลับกันแบบนั้นสามชื่อ ไม่มีที่เหมือนกันเลย”

“ทั้งหมายพยานและหมายรายงานตัว พอไปถึง ตำรวจไม่ว่าง แจ้งเลื่อน เพื่อนผมบางคนอยู่เกาะ ต้องนั่งเรือนั่งรถมา มันเสียเวลา เรารู้สึกว่าไม่โอเคกับกระบวนการของเขา เขานึกอยากจะเล่นเพื่อข่มขู่แล้วก็เสียเวลาไปเฉยๆ”

 

ด้านของ ภัทรา ได้รับหมายเรียกจากการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบภูเก็ต (24 กรกฎาคม 2564) ประกอบไปด้วยเก้าข้อหาซึ่งส่วนมากเป็นคดีลหุโทษ เช่น พ.ร.บ.เครื่องเสียงฯ โดยเธอรับหน้าที่เป็นผู้ปราศรัย และเป็นผู้ยื่นหนังสือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเครือโครงการ Phuket sandbox

 

“วันนั้นมีตำรวจมาประมาณ 3-4 คน มาเป็นชุดเครื่องแบบเลย ชาวบ้านก็มากรูดูกันว่าเขาทำอะไรกัน เราอยู่บ้านคนเดียวเพราะกำลังเรียนออนไลน์”

“แล้วตอนนั้นพ่อแม่ไม่อยู่บ้าน แต่เขาต้องให้ผู้ปกครองเซ็นรับเพราะยังเป็นเยาวชนอยู่ เราไม่รู้จะทำอย่างไรเลยติดต่อไปทาง Law Long Beach (ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้) เขาก็คุยกับตำรวจให้ว่าเป็นผู้ใหญ่ได้ไหม ก็เลยเป็นป้ามาเซ็นให้ก่อน”

“ตอนนั้นรู้สึกแพนิคมากๆ เด็กอายุ 17 โดนเก้าข้อหาก็ยังไงอยู่นะ แต่สุดท้ายเราก็รู้สึกว่าการแพนิคแบบนี้ เพราะรัฐพยายามกดเรา ไม่ให้เราแสดงออกเกินไปหรือทำให้เรากลัวอยู่ ก็ขอบอกภาครัฐไว้นะคะว่าไม่กลัว”

 

จริงใจ เล่าว่า เธอได้รับหมายเรียกจำนวนสองหมาย หมายแรกจากการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบหาดใหญ่ (14 สิงหาคม 2564) ประกอบไปด้วยหลายข้อหา เช่น พ.ร.บ.ความสะอาดฯ พ.ร.บ.จราจรฯ (ปกปิดป้ายทะเบียนรถ) พ.ร.บ.เครื่องเสียงฯ และหมายที่สองจากการจัดม็อบสมรสเท่าเทียมที่แยกราชประสงค์ (28 พฤศจิกายน 2564)

“ในหมายมีทั้งหมด 20 คน แต่ผู้ต้องหาหลักจริงๆ มีแค่ 3-7 คน เราเป็นคนที่ตำรวจไปสืบมาได้เพิ่มว่ามีคนจำนวนนี้เข้าร่วมด้วย ส่วนเราสาเหตุที่เราโดน เพราะวันนั้นเราไปเข้าร่วมกิจกรรมและไปเดินแฟชั่นโชว์ (ใส่ชุดแต่งงานเพื่อรณรงค์การสมรสเท่าเทียม) เราก็แบบ อะไรวะแค่ไปเดินๆ บนธงรุ้งก็ได้หมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วเหรอ”

“เขา (ตำรวจ) เคยบอกเราตอนไปแจ้งจัดการชุมนุมว่า ‘ถ้าเกิดออกหมาย พี่ก็ต้องขอโทษไว้ก่อนเลยนะ พี่จำเป็นจริงๆ ที่จะต้องออก เป็นหน้าที่ของพี่ ถ้าพี่ไม่ทำ เดี๋ยวข้างบนเขาก็จะมาว่าอีกว่าทำไมไม่ยื่นหมายให้’ อันนี้เราก็บอกเขาว่า เราเข้าใจ แต่ถ้าเป็นไปได้เราก็ไม่อยากได้หรอก เพราะว่ามันเสียเวลา”

“หมายนี้มันตลกมาก เพราะมันพิมพ์ผิดเยอะมาก เช่น พรรคอนาคตไกล คือคิดชื่อพรรคใหม่ให้เขาเหรอ (หัวเราะ) เราก็ต้องมานั่งพิสูจน์อักษรให้ เรารู้สึกว่ามันไม่ได้จริงๆ มันเป็นการรับทราบข้อกล่าวหาที่ชุ่ยมาก แล้วตอนนั้นเราไปค่ายที่เชียงดาว (จังหวัดเชียงใหม่) เราก็ต้องบินกลับมารับทราบข้อกล่าวหาที่กรุงเทพฯ แล้วต้องมานั่งอ่านอะไรแบบนี้ (หัวเราะ)”

 

2270 ฮัสซาน นักกิจกรรมจากกลุ่มนิสิตเพื่อประชาธิปไตย

 

เจ้าหน้าที่รัฐนักเยี่ยมบ้าน 

o บูมเล่าว่า เขาต้องเผชิญการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐถึงในรั้วโรงเรียน รวมทั้งการส่งตำรวจจำนวนมากมาดักรอในพื้นที่นัดหมายทำกิจกรรมจนไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ในที่สุด

“เริ่มแรกเลยเขามาหาผมที่โรงเรียน มาทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ แล้วโรงเรียนก็ให้เข้าด้วย ไปนั่งคุยกันในห้องกิจการนักเรียน บรรยากาศเหมือนผมไปฆ่าใครตาย ทั้งๆ ที่ผมไม่ได้ทำอะไรเลย แค่ผมไปพูดเรื่องสิทธิมนุษยชน การที่คุณมาหาผมแบบนี้มันเป็นอะไรที่ไร้สาระมาก ผมพูดเรื่องสิทธิ และพูดให้คุณ (เจ้าหน้าที่รัฐ) ด้วย ให้คุณมีสิทธิมนุษยชนเท่ากับคนอื่น”

“เขามาเชิงเป็นห่วง เขาบอกว่าเห็นด้วยกับเรานะ แต่ถ้าเราเคลื่อนไหวต่อไปอาจจะมีอะไรไม่น่ารักเกิดขึ้น ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต การเรียน การทำงาน เขาอยากให้เราลดลงหน่อย อย่าไปก้าวร้าวมาก อย่าไปอยู่ข้างหน้ามาก มีอะไรก็มาคุยกับเขาได้ เพราะว่าเขาก็อยู่ข้างเรา”

“ถ้าช่วงมีกิจกรรม เขาก็จะมาจอดรถนั่งเฝ้าอยู่หน้าบ้าน รู้เลยว่าตำรวจแน่นอน เพราะปกติไม่มีใครจอดรถแล้วก็นั่งอยู่หน้าบ้านทั้งคืน แล้วก็ช่วงที่ประยุทธ์มากระบี่ เรารีบประกาศลงเพจไปหน่อย มวลชนเรายังไม่มาเลย แต่ตำรวจมารอแล้ว วันนั้นเขาพยายามให้เราไปโรงพัก ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ทำอะไรผิด แล้วบังเอิญมีพี่สองคนในกลุ่มเขาลืมพกบัตรประชาชน ก็เลยเป็นการเปิดช่องให้ตำรวจตั้งคำถามว่า ‘ไม่รู้ว่าเป็นคนไทยจริงรึเปล่า’ จากกิจกรรมไล่ประยุทธ์ กลายเป็นกิจกรรมเฝ้าเพื่อนหน้าโรงพัก เขาจะพยายามทำให้เราไปโรงพักให้ได้ วันนั้นมีตำรวจมาประมาณ 40 คนต่อเด็กห้าคน บังคับให้ขึ้นรถ S.W.A.T”

 

o ฮัสซานเล่าถึงปัญหาของการจัดกิจกรรมในอาณาเขตของมหาวิทยาลัยว่า อุปสรรคส่วนใหญ่คือ “ผู้บริหาร” ที่มักยินยอมให้ความร่วมมือกับตำรวจเพื่อขัดขวางการทำกิจกรรม รวมทั้งการเกิดขึ้นของ “แขกไม่ได้รับเชิญ” ที่มักจะแวะมาเยี่ยมเยียนที่ประตูบ้านของเขาอย่างตรงเวลาในทุกๆ วัน

“พอประกาศว่าจะมีกิจกรรมทางการเมือง ทางมหา’ลัย ก็พยายามตัดน้ำ ตัดไฟ สับคัทเอาท์ ไม่ให้เราใช้เครื่องเสียง รวมถึงครั้งล่าสุดที่เป็นกิจกรรมครั้งใหญ่ที่มีคนมาร่วมเยอะ เขาก็ให้ตำรวจเข้ามาประชิดตัวกับเพื่อนๆ ตลอดเวลา กิจกรรมจะเริ่มสี่โมงเย็น แต่ตำรวจเข้ามาตั้งแต่ก่อนเที่ยง มีการตั้งด่านในมหาวิทยาลัย พอถึงเวลาก็ปิดประตูรั้วไม่ให้คนเข้าออก เขากีดกันเราทุกอย่าง”

“ตอนนั้นอยู่บ้านที่สตูล ทุกวัน เช้า-เที่ยง-เย็น พร้อมมื้ออาหาร ทั้งรถตำรวจที่มีตราโล่และไม่มีตราโล่จะขับผ่านหน้าบ้านพร้อมชะลอแล้วยกโทรศัพท์มาถ่ายรูป...”

“เหมือนกับเขาทำ vlog ตามติดชีวิตผม เช้า-เที่ยง-เย็น มาตรงเวลาเป๊ะทุกวัน ในช่วงระยะเกือบหนึ่งเดือน เช้ามาซัก 8-9 โมง ขับมาเร็วมาก แต่พอถึงใกล้ๆ บ้านผม... ชะลอ ทั้งๆ ที่เป็นทางตรง (หัวเราะ) แล้วฟิล์มรถนี่ใส เห็นหัวเกรียน ยกโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูป แชะๆ แล้วก็ไป พอเที่ยงเป๊ะไม่เกินบ่ายโมง มาอีกแล้ว เช้า-เที่ยง-เย็น แบบนี้ทุกวัน มันเป็นการคุกคามที่คุกคามจนผมชิน แต่ผมว่าผมก็ไม่ควรชินกับเหตุการณ์แบบนี้”

“วันหนึ่งมีนอกเครื่องแบบเข้ามานั่งในบ้านของเพื่อนผมที่ทำกิจกรรม เจ้าหน้าที่ถือวิสาสะเดินเข้าไปในบ้าน นั่งเล่นโทรศัพท์กันอยู่ในห้องรับแขก เขาเดินพุ่งเข้าไปในบ้านแล้วก็เข้าไปคุยกับพ่อแม่ของเพื่อน แต่ไม่ได้มีหมายค้น ผมว่าแบบนี้มันทั้งคุกคามแล้วก็บุกรุกด้วย เขาเข้ามาถ่ายรูป ไปคุยกับพ่อแม่ แล้วก็มาคุยกับพวกผม เขาพูดว่า ‘มาเยี่ยมหน่อย เห็นเร็วๆ นี้จะมีกิจกรรมที่กรุงเทพฯ’ ผมถามไปว่า ‘เข้ามาแบบนี้ได้เลยเหรอ ไม่มีหมาย’ เขาก็ตอบกลับมาว่า ‘เอ้อ คนกันเอง’”

 

o ภัทรา เล่าถึงสภาพแวดล้อมของเธอที่เต็มไปด้วยกลุ่มที่เห็นต่างทางการเมือง เธอจึงถูกล่าแม่มดในโลกออนไลน์ตั้งแต่ก่อนเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง กระทั่งเมื่อภัทราเริ่มเป็นผู้จัดเอง ข้อมูลส่วนตัวของเธออย่างเบอร์โทรศัพท์ก็มักจะได้รับสายเรียกปริศนาเพื่อแจ้งเตือนไม่ให้เคลื่อนไหวอยู่เสมอๆ

“รูปของเรากับเพื่อนๆ ถูกกระจายไปตามที่ต่างๆ แล้วคนแถวบ้านก็เป็นเสื้อเหลืองที่หัวรุนแรงด้วย เขาเลยพยายามเอาข้อมูลของเราไปเผยแพร่ทางสาธารณะ เช่น บ้านเราอยู่ตรงไหน พ่อแม่อยู่ไหน โดนขับรถตาม แล้วก็โดนล่าแม่มดด้วย”

“ช่วงปี 2564 ที่ม็อบบูมๆ กัน เราก็ไปเข้าร่วม พอถึงเวลาแยกย้าย กำลังจะขับรถกลับบ้าน ก็เจอตำรวจมาขอดูบัตรประชาชน เราก็ให้ไปตามปกติ แต่เขาเอาโทรศัพท์ขึ้นมาถ่าย แล้วรถตำรวจก็ขับตามเรากลับบ้าน คือถ้าเป็นโจร เราก็จะหาตำรวจถูกไหม แต่นี่เป็นตำรวจ แล้วเราต้องไปหาใคร”

“หลังจากนั้นพอเรามาเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมเอง ก็จะโดนมาตลอดไม่ว่าจะเป็นการขับรถตาม หรือมาคุยกับพ่อจนกลายเป็นเพื่อนสนิทกันแล้วพยายามให้พ่อมาปรามเรา เพราะว่าพ่อก็เป็นเสื้อเหลือง”

“ก่อนวันที่ประยุทธ์จะมาเปิด sandbox เรากำลังดูคอนเสิร์ตอยู่สันติบาลก็โทรเข้ามาว่า ‘รู้เรื่องนายกจะมาใช่ไหม แล้วจะมีการแอคชั่นอะไรบ้าง’ โทรมาถามเราเลย หลังจากนั้นเบอร์โทรศัพท์เราก็เป็นเบอร์ที่ตำรวจโทรเข้ามาอาทิตย์ละสองครั้ง แม้ว่าเราจะเปลี่ยนเบอร์ไปแล้วสองรอบ”

“มันจะมีบุคคลคนหนึ่งที่ไปต่างประเทศ ไปฝรั่งเศสกลับมาแล้วต้องมาเข้าระบบ sandbox เขาก็กริ๊งมาหาเราว่า ‘อย่าเพิ่งไปเคลื่อนไหวนะ รอให้เขากลับไปที่ของเขาก่อน’ อะไรแบบนี้”

 

o ทางด้านของจริงใจเล่าว่า เธอไม่ได้มีประสบการณ์ถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่มากนัก อย่างไรก็ตาม คนในครอบครัวของเธอเคยถูกเจ้าหน้าที่พูดจาข่มขู่ถึงหน้ารั้วบ้าน อีกทั้งยังต้องพบเจอบทสนทนาเชิงจิตวิทยาในวันไปรายงานตัวตามหมายเรียก

“เราไม่ได้โดนคุกคามถึงบ้านแบบคนอื่นๆ มีเอาหมายมาส่งถึงบ้านบ้าง แล้วก็มาขู่แม่เราว่า ‘ต้องไปรายงานตัว ถ้าไม่ไปรายงานตัวอาจจะโดนจับได้’ เราอาจจะมองว่ามันปกติ แต่เขาก็สร้างความหวาดกลัวให้กับแม่เรา นี่คือสิ่งที่เราคิดว่าโดนหนักสุด”

“ตอนไปรายงานตัว เราก็จะเจอแบบที่ทุกๆ คนบอก คือ ‘พี่อยู่ข้างน้องนะ พี่เป็นกำลังใจให้นะ พี่นับถือมากที่กล้าออกไปทำนั่นทำนี่ แต่พี่ก็ต้องทำหน้าที่ของพี่ วันไหนว่างๆ เดี๋ยวพี่นัดไปกินกาแฟนะ พี่ไม่อยากทำเลยคดีแบบนี้ แต่ข้างบนสั่งมาพี่ก็ต้องทำ’”

 

2271 ภัทรา นักกิจกรรมจากกลุ่มภูเก็ตปลดแอก

 

ทิศทางของขบวนหลังหมายเรียกที่ถาโถม 

 

o บูมมองว่า แนวทางของตนเองไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแม้ได้รับหมายเรียก รวมทั้งมองว่าเชื้อเพลิงของการเคลื่อนไหวในภูมิภาคจะอยู่ได้ จำเป็นต้องอาศัยสะเก็ดไฟของการเคลื่อนไหวในกรุงเทพฯ ประกอบควบคู่ไปร่วมกัน

“สำหรับบูมหลังโดนหมาย ไม่คิดว่าแนวทางของตัวเองสูงขึ้นหรือลดน้อยลง บูมมีมาตรฐานคงเส้นแบบนี้มาตลอดอยู่แล้ว... เราอยากให้มันไม่ลดลง ให้มีแต่ตรงกลาง แล้วก็เพิ่มขึ้น”

“เมื่อคนโดนหมายมากขึ้น คนกล้าออกมาน้อยลง ก็ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวมันเงียบลงหรือไม่เป็นที่สนใจจากมุมมองกว้างมากขึ้น และส่งผลให้การเคลื่อนไหวในภูมิภาคลดลงไปตามส่วนกลาง ภูมิภาคจะเคลื่อนไหวได้เพราะส่วนกลางมีไฟ ถ้าส่วนกลางมีไฟ ภูมิภาคก็สามารถเคลื่อนไหวได้ อย่างช่วงสลายการชุมนุม เราต้องจัดม็อบทันทีหลังรู้ว่ามีการสลายการชุมนุม”

 

o ในด้านของภัทรา มองว่าไม่มีเหตุผลที่ต้องลดเพดานการต่อสู้ เนื่องจากไม่สามารถละทิ้งเพื่อนร่วมอุดมการณ์ได้ อีกทั้งเธอยังมองว่าการออกหมายเรียกนั้นสะท้อนความเกรงกลัวของรัฐเองเสียมากกว่า

“สำหรับเราไม่มีการลดเพดานเลย เพราะการที่เราทำอะไรๆ มันทำให้ภาครัฐกลัวได้ ภาครัฐเกรงกลัวเด็กสองคนที่อายุ 15 หรือ 17 ภาครัฐต้องมาระแวงเด็กอย่างเรา และสิ่งที่เราทำ มันไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเราคนเดียว มันเกิดขึ้นจากคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน เราเลยไม่คิดว่าการลดเพดานจะทำให้มีพื้นที่ปลอดภัย (safe zone) มากขึ้น ในเมื่อเราต่อสู้และมีคนอื่นคอยอยู่รอบข้างมาตลอด เราจะปล่อยให้คนรอบข้างต่อสู้ต่อแล้วทิ้งเขาไปเฉยๆ ได้อย่างไร”

 

o ในขณะที่ฮัสซาน กล่าวว่า เนื่องด้วยประเด็นการเคลื่อนไหวที่หลากหลาย ทำให้การได้รับหมายเรียกไม่กระทบการทำกิจกรรมในกลุ่มของเขามากนัก

“เราไม่ได้ทำแค่เรื่องการเมืองอย่างเดียว เราทำเรื่องอื่นๆด้วย ตัวอย่างที่ผ่านมา เช่น เรื่องล่ารายชื่อลดค่าเทอม ก็ยังมีอยู่ ยังไม่หายไปไหน เพียงแค่เราเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นกิจกรรมในโลกออนไลน์แทน”

 

o เช่นเดียวกับจริงใจที่มองว่า เมื่อกระแสการชุมนุมในประเด็นหลักเริ่มซาลง กลุ่มของเธอก็เลือกที่จะเน้นเคลื่อนไหวในประเด็นอื่นๆ เช่น สมรสเท่าเทียม หรือสุขภาวะทางจิตใจของคนในพื้นที่ เพื่อเพิ่มจำนวนของเพื่อนร่วมทางในขบวน

“เราทำการฉายหนังเกี่ยวกับเรื่องสมรสเท่าเทียม หรือสิทธิการจัดตั้งครอบครัวของคนที่มีความหลากหลาย ก็มีคนมาเข้าร่วมจำนวนหนึ่ง หรือช่วงปลายมกราคม เราได้จัดกิจกรรมศิลปะบำบัด เราอยากให้คนในพื้นที่เข้าถึงมากขึ้น เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นกิจกรรมที่ค่าใช้จ่ายสูง ถ้าเรามีพื้นที่ให้เพื่อนๆ ที่สนใจเข้ามาทำกิจกรรมตรงนี้ มันน่าจะเป็นการเปิดพื้นที่ที่ดีในภาคใต้ รวมทั้งอาจขยายกลุ่มสมาชิกของเฟมินิสต์ ภาคใต้ให้มากขึ้น เป็นการเพิ่มสมาชิกให้มาเข้ารวมขบวนกันมากขึ้นกว่าเดิม”

 

2272 จริงใจ นักกิจกรรมจากกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ภาคใต้

Article type: