1560 1801 1553 1813 1441 1501 1098 1008 1898 2000 1707 1796 1157 1422 1126 1921 1663 1642 1182 1776 1097 1648 1954 1360 1968 1568 1777 1766 1762 1611 1130 1575 1253 1009 1671 1060 1061 1963 1366 1866 1683 1008 1797 1393 1963 1447 1536 1886 1237 1225 1681 1676 1995 1757 1961 1694 1055 1102 1476 1411 1499 1531 1880 1824 1312 1024 1334 1734 1338 1689 1113 1943 1085 1020 1539 1000 1290 1071 1948 1286 1944 1251 1010 1607 1477 1648 1679 1759 1634 1325 1211 1210 1857 1671 1177 1063 1267 1399 1301 เปิดข้อต่อสู้-คำตัดสิน คดีประยุทธ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงฯ ศาลแพ่งชี้ชอบด้วยกฎหมายแล้ว | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

เปิดข้อต่อสู้-คำตัดสิน คดีประยุทธ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงฯ ศาลแพ่งชี้ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

 

 
คดีนักศึกษารวม 7 คนร่วมเป็นโจกท์ฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและพวกรวม 3 ราย ขอศาลแพ่งให้ "เพิกถอน" การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงฯ และเรียกร้องค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้อง มีคำพิพากษายกฟ้องไปเมื่อ 26 กันยายน 2565 ในคดีนี้มีประเด็นทางกฎหมายที่สำคัญ คือ การวินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงฯ โดยมี “เหตุการณ์ชุมนุม #ม็อบ14ตุลา” ที่ถนนราชดำเนินและทำเนียบรัฐบาล เป็นวัตถุดิบแห่งการตัดสิน
 
 
ประยุทธ์ ประกาศ "ฉุกเฉินร้ายแรง" เพื่อคุมม็อบ แต่ยอมถอยยกเลิกเอง
 
มูลเหตุแห่งคดีนี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 14 ตุลาคม 2563 กลุ่มคณะราษฎรได้จัดให้มีการชุมนุมโดยปักหลักค้างคืนที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ต่อมาในวันที่ 15 ตุลาคม 2563 เวลา 04.00 น. รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีได้ออก ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 (ฉบับที่ 1) และส่งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลพร้อมจับกุมแกนนำผู้ชุมนุมบางส่วน เช่น รุ้ง ปนัสยา, อานนนท์ นำภา ต่อมาผู้ชุมนุมประกาศนัดหมายชุมนุมต่อเนื่อง เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวแกนนำที่ถูกจับกุมตัวไป ในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่บริเวณแยกราชประสงค์
 
การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในครั้งนั้น ได้อ้างเหตุผลว่า มีกลุ่มบบุคคลหลายกลุ่มได้เชิญชวน ปลุกระดมและดำเนินการให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยใช้วิธีการและช่องทางต่างๆ ก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายและความไม่สงบเรียบร้อย มีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน ซึ่งไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบตามที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมถึงกระทบต่อประสิทธิภาพของมาตรการป้องกันของโรคโควิด-19 จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหา
 
16 ตุลาคม 2563 เวลา 15.00 น. พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ได้มี คำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 2/2563 เรื่อง ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม อาคาร หรือสถานที่ ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2563 และ คำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 3/2563 เรื่อง ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม อาคาร หรือสถานที่ ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2563 กำหนดปิดทางสัญจรและสถานีรถไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่ชุมนุม รวมจำนวน 6 สถานี และ คำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงที่ 4/2563 เรื่อง ให้ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามข้อ 2 ของข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2563 (หมายเหตุ ประกาศฉบับที่ 4 สืบค้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ไม่พบในราชกิจจานุเบกษาอยู่) ให้ระงับการออกอากาศของสื่อ 5 สำนัก ได้แก่ วอยซ์ ทีวี, ประชาไท, เดอะ รีพอร์ตเตอร์ส, เดอะ สแตนดาร์ดและเพจเยาวชนปลดแอก โดยอ้างว่า การออกอากาศของสื่อดังกล่าวมีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
.
ผู้ชุมนุมทยอยเดินทางเข้าพื้นที่ตั้งแต่เวลาเที่ยงวัน ระหว่างการชุมนุมเกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชุมนุมหลายครั้ง จนเมื่อเวลา 18.20 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมด้วยกำลังของชุดตำรวจควบคุมฝูงชนและรถฉีดน้ำผสมสารเคมีแรงดันสูง ส่งผลให้มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ ถูกจับกุม และทรัพย์สินเสียหายเป็นจำนวนมาก ต่อมาในช่วงดึกก็มีการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2563 (ฉบับที่ 2) เพื่อขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงฯ ไปจนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563
.
21 พฤศจิกายน 2563 นักศึกษาจาก 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวม 7 คน ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งให้เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีความร้ายแรงและประกาศหรือคำสั่งที่เกี่ยวเนื่อง เพราะเป็นประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และร่วมกันเรียกร้องค่าเสียหายกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นจำเลยที่ 1-3 ตามลำดับ จากการร่วมกันกระทำละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ, การแสดงความคิดเห็น, การเดินทาง และการได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารต่อโจกท์ เป็นค่าเสียหายแก่โจกท์คนละ 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี 
 
22 พฤศจิกายน 2563 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศ เรื่อง ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง โดยมีสาระสำคัญ คือ ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงฯ ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2563 โดยมีผลตั้งแต่ 22 ตุลาคม 2563 เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป 
 
 
 
2639
 
 
โจทก์เห็นว่า ไม่มีเหตุฉุกเฉินร้ายแรง มีแค่การชุมนุมโดยสงบ
 
ประเด็นข้อถกเถียงทางกฎหมายในคดีนี้ ซึ่งเป็นข้อต่อสู้หลักของฝ่ายโจกท์ คือ การวินิจฉัยว่า “เหตุการณ์การชุมนุม กลุ่มคณะราษฎร 14 กันยายน 2563” เป็นสถานการณ์ที่มีสภาวะวิกฤตหรือฉุกเฉิน จนถึงขนาดที่สามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้หรือไม่ เพราะถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญจะมีข้อยกเว้นให้รัฐสามารถจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้เมื่อมีสถานการณ์ที่มีสภาวะวิกฤตหรือฉุกเฉิน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะสามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ "ตามอำเภอใจ" แต่ต้องอาศัยเงื่อนไขการใช้อำนาจ 2 ประการตามที่ได้บัญญัติไว้ใน พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 4 และ 9 ได้แก่
 
(1) ต้องปรากฎข้อเท็จจริงว่ามีสถานการณ์ที่จำเป็นและฉุกเฉินอย่างยิ่งเกิดขึ้นแล้ว (หลักความมีอยู่จริง) โดยต้องเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือเป็นสถานการณ์ที่มีผลกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือเป็นสถานการณ์ที่อาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน หรือเป็นภัยต่อความอยู่รอดของประเทศ หรือเป็นสถานการณ์ที่มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย การรบหรือสงครามหรือการจลาจล และสถานการณ์พิเศษเหล่านั้นจะต้องมีอยู่จริงและกำลังใกล้จะเกิดขึ้น (หลักฉุกเฉินเร่งด่วน) หากเป็นเพียงเพราะความวิตกหรือสงสัยว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์เหล่านั้น ย่อมไม่อาจเป็นเหตุให้มีการประกาศใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้
 
(2) การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นนั้น "จำเป็นต้องอาศัยมาตรการเร่งด่วน"  โดย "ความจำเป็น" ตามนิยามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้นจะต้องตีความให้สอดคล้องกับ "หลักความจำเป็น" กล่าวคือ จะต้องเป็นกรณีที่กฎหมายปกติไม่สามารถดำเนินหรืออาจดำเนินการได้แต่ไม่มีประสิทธิภาพและความรวดเร็วเพียงพอ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการเร่งด่วนหรือพิเศษ ซึ่งเป็นมาตรการที่ถูกกำหนดไว้เฉพาะเจาะจงในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่หากรัฐบาลยังสามารถบังคับใช้กฎหมายปกติเพื่อแก้ไขปัญหาได้ ก็ย่อมไม่มีเหตุให้จำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อออกข้อกำหนดมาตรการเร่งด่วนตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ 
 
และถึงแม้จะมีสถานการณ์ที่เข้าเงื่อนไขครบทั้งสองประการ แต่การกำหนดมาตรการพิเศษใดๆ ที่ตามมา ก็ยังต้องอยู่ภายใต้ "หลักความจำเป็น" มาตรการที่ประกาศใช้กับประชาชนต้องเป็นไปโดยจำเป็นเพื่อการควบคุมโต้ตอบการคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยของชาติและต้องไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินจำเป็น
 
ฝ่ายโจกท์ ยื่นฟ้องคดีนี้โดยให้เหตุผลว่า ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะในช่วงเวลาที่ออกประกาศ ไม่มีสถานการณ์ที่เข้าเงื่อนไขทั้งสองประการตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การชุมนุมที่จำเลยอ้างว่าเป็นสาเหตุในการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ นั้นเป็นเพียงการชุมนุมที่ประชาชนทั่วไปออกมาใช้สิทธิเสรีภาพและปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพลเมืองตามที่รองรับไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ไม่มีความปั่นป่วนวุ่นวายหรือมีเหตุการณ์จลาจลเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่รัฐ “ยังสามารถบังคับใช้กฎหมายปกติได้”
 
นอกจากนี้ เหตุการณ์รถพระที่นั่งฯ ขับฝ่าเข้าไปในเส้นทางของผู้ชุมนุม จากหลักฐานและข้อเท็จจริงที่เผยแพร่แก่สาธารณชน มีเหตุอันเชื่อได้ว่าอาจเกิดขึ้นจากความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในการประสานงานเกี่ยวกับเส้นทางเสด็จของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ชุมนุมก็ไม่สามารถล่วงรู้ล่วงหน้าถึงเส้นทางของรถพระที่นั่งฯ ได้ กรณีนี้ไม่ใช่การจงใจประทุษร้ายองค์พระราชินีฯ ของผู้ชุมนุม และสุดท้ายรถพระที่นั่งฯ ก็สามารถเคลื่อนตัวผ่านไปได้ และแม้ว่าจะมีการแสดงสัญลักษณ์ของการชุมนุมและส่งเสียงบางอย่าง ก็เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นเฉพาะตัวของบุคคล เจ้าหน้าที่รัฐสามารถ “ใช้กฎหมายปกติ” เพื่อสอบสวนหาผู้กระทำความผิดและลงโทษตามกระบวนการได้
 
ในส่วนของการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ฝ่ายโจกท์ยืนยันว่าเป็นข้ออ้างของจำเลยที่ไร้ความเป็นเหตุเป็นผล เพราะจากการชุมนุมที่ผ่านมาครั้งก่อนและหลังการประกาศ ก็ไม่มีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใดที่ชี้ให้เห็นว่ามีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อันเนื่องมาจากการชุมนุม และตามประกาศสถานการณ์โควิด-19 ของ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ระหว่างวันที่ 14 ถึง 20 ตุลาคม 2563 มีรายงานผู้ติดเชื้อภายในประเทศเพียงสองราย ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดตาก ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมในกรุงเทพฯ แต่อย่างใด
 
 
2640
 
 
จำเลยเห็นว่า การชุมนุมจาบจ้วงสถาบันฯ รบกวนรถพระที่นั่งฯ อาจเกิดความรุนแรง
 
ขณะที่ฝ่ายจำเลยเข้าต่อสู้ว่าข้อเท็จจริงที่โจกท์กล่าวอ้างนั้นบิดเบือนและไม่ใช่ความจริง ผู้ชุมนุมยุยงให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยการปราศรัย การแสดง ภาพเขียน ข้อความต่างๆ ที่มีลักษณะเสียดสี จาบจ้วงสถาบันอันเบื้องสูง ทำให้เกิดความไม่พอใจในกลุ่มบุคคลที่รักและเทิดทูนในสถาบันพระมหากษัตริย์ และนำไปสู่การกระทบกระทั่งและต่อว่ากัน การชุมนุมดังกล่าวไม่ได้มีการแจ้งแก่หัวหน้าสถานีตำรวจตามท้องที่ชุมนุมตาม พ.ร.บ ชุมนุมฯ ก่อน ทั้งทำให้หน่วยงานราชการในทำเนียบรัฐบาลต้องปิดทำการก่อนเวลาราชการ ทำให้เกิดอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดินและปฏิบัติของงานของคณะรัฐมนตรี และประชาชนทั่วไปไม่สามารถเดินทางสัญจรในเส้นทางที่ผู้ชุมนุมจัดการชุมนุมได้
 
ต่อมา เมื่อมีรถพระที่นั่งฯ เสด็จผ่านในบริเวณใกล้กับพื้นที่ชุมนุม โดยมีจุดหมายเสด็จคือ วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ เพื่อขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกจากพื้นผิวการจราจรไปยังบริเวณทางเท้าเพื่ออำนวยความสะดวกแก่รถพระที่นั่งฯ แต่การเจรจาไม่เป็นผล มีผู้ชุมนุมจำนวนมากยืนกีดขวางและพยายามฝ่าแนวกั้นเข้าไปขวางรถพระที่นั่งฯ รวมถึงตะโกนถ้อยคำในลักษณะมิบังควรและหยาบคาย อันเป็นการประทุษร้ายต่อพระองค์หรือเสรีภาพของสมเด็จพระราชินีฯ 
 
นอกจากนี้ การชุมนุมดังกล่าวยังไม่เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งการแพร่กระจายของเชื้อโรคโควิด-19 สามารถติดต่อจากบุคคลที่ไม่แสดงอาการได้ การชุมนุมดังกล่าวย่อมทำให้มีโอกาสที่เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคเป็นวงกว้าง
 
กรณีดังกล่าวจึงเป็นสถานการณ์ที่มีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งความปลอดภัยและการดำรงชีวิตโดยปกติของประชาชน อันเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขสถานการณ์อย่างเร่งด่วนและให้ยุติโดยเร็ว การออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงฯ จึงมีสาเหตุที่เหมาะสมและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
 
 
 
ศาลแพ่งชี้ การชุมนุมมีเจตนาล้มล้างฯ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
 
ภายหลังกระบวนการพิจารณาคดีที่กินระยะเวลากว่าสองปี ศาลแพ่งมีคำพิพากษาในวันที่ 26 ตุลาคม 2565 พิพากษายกฟ้อง ระบุเหตุผลโดยสรุปได้ว่า การชุมนุมของคณะราษฎรที่แยกราชประสงค์ในวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ที่โจกท์ทั้งเจ็ดเข้าร่วมเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ได้แจ้งต่อหัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ก่อน และมีวัตถุประสงค์เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเกินสมควร โดยมีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์และล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1  
 
ประกอบกับภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย เป็นอันตรายต่อชีวิต และเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมจำนวนมากยืนกีดขวางขบวนรถยนต์พระที่นั่งของสมเด็จพระราชินีและมีการกระทำอันมิบังควร ซึ่งเป็นกรณีที่อาจก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างกลุ่มบุคคลผู้เห็นต่างและนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง
 
ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น จำเลยจึงออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงมาบังคับใช้เพื่อเป็นกลไกและมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ควบคุมการแพร่ระบาดของโรค การออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงจำเลยนั้นจึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
 
ส่วนบรรดาและประกาศคำสั่งของจำเลยที่ 3 ที่ออกเกี่ยวเนื่องนั้น เป็นเพียงประกาศหรือคำสั่งที่ออกเพื่อให้มีการปฏิบัติให้สอดคล้องกับการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว ทั้งประกาศและคำสั่งดังกล่าวเป็นการบังคับเพียงเท่าที่จำเป็นและไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมหรือกระทบต่อสิทธิในการดำรงชีวิตของประชาชนเกินความจำเป็น มีระยะเวลาชั่วคราว เหมาะสมกับสภาพเหตุการณ์และสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ดังที่โจกท์กล่าวอ้างแต่อย่างใด
 
ด้วยเหตุผลที่วินิจฉัยมาดังกล่าวข้างต้น ยังไม่มีเหตุเพียงพอให้เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงทั้งสองฉบับ ตลอดจนประกาศ ข้อกำหนดและคำสั่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พิพากษายกฟ้อง
 
 
ยังขาดคำอธิบายว่า ทำไมใช้กฎหมายปกติไม่ได้
 
มีข้อสังเกตว่า แม้เหตุการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นจะเป็นจริงตามที่จำเลยกล่าวอ้าง ข้อคัดค้านของจำเลยก็ยังขาดเงื่อนไขสำคัญอีกประการหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 4 และ 9 คือ “กฎหมายทั่วไปไม่สามารถใช้บังคับได้หรือใช้บังคับแล้วอาจจะไม่มีประสิทธิภาพ” ซึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุการณ์ชุมนุมปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล การดำเนินคดีแก่ผู้ประทุษร้ายต่อองค์ราชินีฯ การป้องกันโรคโควิด-19 และการป้องกันการกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้เห็นต่างล้วนอยู่ในกรอบและขอบเขตที่กฎหมายปกติทั่วไปยังสามารถใช้บังคับเพื่อแก้ปัญหาได้ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เป็นต้น
 
ซึ่งภายในคำพิพากษาฉบับเต็มความยาวกว่า 43 หน้าที่ศาลแพ่งเผยแพร่ก็ไม่มีแม้แต่ประโยคเดียวที่อธิบายเหตุผลว่าทำไมเหตุการณ์ดังกล่าว (ที่อาจจะไม่เกิดขึนจริงตามที่จำเลยอ้าง) ไม่สามารถใช้ “กลไกหรือมาตรการกฎหมายปกติ” ในการควบคุมแก้ไขปัญหาได้ หรืออธิบายว่าเป็นไปตามเงื่อนไขประการที่สองตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างไร
 
จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีอาญาในข้อหาร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืนข้อห้ามในช่วงระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (ระหว่างวันที่ 15-22 ต.ค. 2563) มีทั้งหมดจำนวน 35 คดี โดยประกอบด้วยผู้ต้องหาจากเหตุการณ์ชุมนุมหลายครั้ง เช่น #ม็อบ17ตุลาวงเวียนใหญ่ #ม็อบ17ตุลาห้าแยกลาดพร้าว #18ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย ฯลฯ
 
นับถึงที่ศาลแพ่งวินิจฉัยรับรองประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯที่มีความร้ายแรง ศาลแขวงดุสิตได้มีคำพิพากษายกฟ้องนักกิจกรรมและประชาชนไปแล้วรวม 7 รายในคดีที่สืบเนื่องจากการชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย ประกอบไปด้วย ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, ไพศาล จันปาน, สุวรรณา ตาลเหล็ก, ศักดิ์ วีรวิชญ์, วสันต์ กล่ำถาวร, อานันท์ ลุ่มจันทร์ และ อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ โดยมีเหตุผลทำนองเดียวกันคือ ไม่ปรากฎหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยในคดีได้กระทำการรุนแรงที่ส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐหรือทรัพย์สินของรัฐ และการกระทำของจำเลยไม่เข้าข่ายเป็นการมั่วสุม
 
 
 
 
 
AttachmentSize
คดีหมายเลขแดงที่ พ5318/2565.pdf16.11 MB
Article type: