1495 1776 1431 1754 1674 1431 1982 1105 1405 1366 1871 1384 1376 1658 1411 1924 1535 1728 1964 1726 1567 1066 1785 1896 1332 1854 1563 1616 1594 1208 1463 1912 1832 1963 1120 1432 1846 1237 1669 1821 1395 1204 1913 1897 1093 1511 1238 1553 1061 1865 1204 1871 1794 1681 1241 1464 1175 1594 1489 1594 1596 1137 1526 1904 1206 1770 1063 1461 1748 1321 1643 1625 1454 1907 1710 1525 1604 1140 1353 1718 1812 1971 1128 1734 1574 1865 1840 1035 1709 1236 1442 1726 1424 1177 1910 1336 1383 1597 1739 “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 ข้อหาเพื่อประโยชน์ทางการเมืองในยุครัฐบาลคสช. | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

“ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 ข้อหาเพื่อประโยชน์ทางการเมืองในยุครัฐบาลคสช.

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” เป็นกฎหมายที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันมากนัก เพราะมีเหตุให้ใช้ไม่บ่อย แต่หลังการรัฐประหารในปี 2557 ข้อหานี้ถูกใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ต่อกลุ่มคนที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองในทิศทางตรงข้ามกับรัฐบาลทหาร จนเข้าลักษณะเป็นการตั้งข้อหาเพื่อหวังผลทางการเมือง และตอกย้ำว่ากฎหมายมาตรานี้เป็นข้อหาที่อยู่คู่กับการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมาทุกยุคทุกสมัย
 
 
รู้จักกฎหมายอาญามาตรา 116
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 บัญญัติไว้ว่า
          “มาตรา ๑๑๖ ผู้ใดกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
          (๑) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย
          (๒) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ
          (๓) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี”
 
มาตรา 116 นี้เขียนอยู่ในประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 ลักษณะที่ 2 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร จะเห็นได้ว่า มาตรา 116 เป็นความผิดอาญาที่มุ่งเอาผิด “การทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่น” หมายความว่า กฎหมายนี้เป็นกรอบกำกับการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะไม่ให้กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ
 
หากเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล วิพากษ์วิจารณ์กฎหมายที่เห็นว่าไม่ชอบธรรม หรือ สำหรับยุคที่มีรัฐธรรมนูญ หากเป็นการใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นตามสิทธิขึ้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 116 และที่สำคัญเมื่อกฎหมายนี้อยู่ในหมวด “ความมั่นคง” การกระทำที่จะถือว่าผิดมาตรา 116 ผู้กระทำต้องมีเจตนาให้กระทบต่อความมั่นคงด้วย 
 
สำหรับการเรียกร้องต่อสาธารณะให้แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่เห็นว่าไม่เป็นธรรม หรือการเรียกร้องให้เปลี่ยนรัฐบาล หรือผู้นำประเทศ หากเป็นการเรียกร้องโดยสันติวิธีไม่มีการใช้กำลังเข้าบังคับ ก็ย่อมไม่ผิดตามมาตรา 116 (1)
 
ประมวลกฎหมายอาญา ไม่ได้ตั้งชื่อเล่นหรือชื่อเรียกสั้นๆ ให้กับมาตรา 116 เหมือนความผิดฐาน “ลักทรัพย์” “ยักยอกทรัพย์” หรือ “ทำร้ายร่างกาย” มาตรา 116 จึงถูกเรียกแตกต่างกันไป บางครั้งเรียกว่าความผิดฐาน “ยุยงปลุกปั่น” ซึ่งเป็นชื่อไม่เป็นทางการที่พอจะอธิบายลักษณะการกระทำที่เป็นความผิดตามมาตรานี้ได้บ้าง แต่ไม่ถึงกับสมบูรณ์นัก
 
เมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายของต่างประเทศ ความผิดในลักษณะนี้หลายประเทศเรียกว่า Sedition Law ซึ่งบางประเทศก็เขียนไว้ในกฎหมายอาญาเหมือนกับไทย บางประเทศก็กำหนดไว้ในกฎหมายพิเศษต่างหาก
 
 
ก่อนการรัฐประหาร มาตรา 116 ถูกใช้ไม่บ่อยและใช้ไม่ค่อยใช้ได้ผล
ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ ติดตามบันทึกข้อมูลการบังคับใช้กฎหมายกับการแสดงความคิดเห็นของประชาชนมาตั้งแต่ปี 2553 หากนับถึงช่วงเวลาก่อนการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พบการดำเนินคดีตามมาตรา 116 อย่างน้อย 4 คดี คือ
 
1. คดี “ปีนสภาสนช.” เมื่อปี 2550 ซึ่งเอ็นจีโอ 10 คนตกเป็นจำเลยจากการปีนรั้วเข้าไปหยุดยั้งการพิจารณากฎหมายที่ไม่ชอบธรรมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในสมัยนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษฐานบุกรุก แต่ให้ยกฟ้องข้อหามาตรา 116 เนื่องจากเป็นการใช้เสรีภาพการชุมนุมและแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา
 
2. คดี “ดีเจหนึ่ง” หรือจักรพันธ์ ประกาศผ่านรายการวิทยุให้ประชาชนชุมนุมปิดถนนสายเชียงใหม่-ลำปาง บริเวณแยกดอยติ ในช่วงเดียวกับการชุมนุมของคนเสื้แดงในเดือนเมษายน 2552 ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดแต่ให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 3 ปี เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคนที่ไปปิดถนนเป็นคนที่ฟังรายการของจำเลย อีกทั้ง การลงโทษทางอาญาในคดีที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองไม่ใช่หนทางแก้ปัญหา
 
3. คดี “เคทอง” หรือ พรวัฒน์  อัดรายการในแคมฟรอกทำนายว่าจะมีเหตุระเบิดในกรุงเทพ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากถ้อยคำที่จำเลยกล่าวตามฟ้องแล้ว เห็นได้ว่าเป็นถ้อยคำที่คนทั่วไปรับฟังแล้วย่อมเกิดความตระหนกตกใจ แต่ไม่ได้มีข้อความใดๆ ในทำนองยุยงส่งเสริมหรือปลุกระดมให้เกิดความปั่นป่วน
 
4. คดีสมชาย ไพบูลย์ ส.ข.พรรคเพื่อไทย ปราศรัยที่แยกผ่านฟ้าระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้มีความผิดตามมาตรา 116 ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี เนื่องจากในช่วงเวลานั้นมีประชาชนใช้กำลังและอาวุธปืน ท่อนไม้ และท่อนเหล็ก เข้าขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่จนเจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมทั้งทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย
 
นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อหามาตรา 116 กับเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ จากการโพสข่าวลือการรัฐประหารในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ลงเฟซบุ๊ก ในเดือนสิงหาคม 2556, พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือเสธ.อ้าย แกนนำกลุ่มพิทักษ์สยาม จากการชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555, และอนุวัฒน์ แกนนำนปช.โคราช จากการปราศรัยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เรื่องการแบ่งแยกประเทศ ซึ่งทั้งสามกรณียังไม่มีรายงานความคืบหน้าในทางคดี
 
และยังเคยมีการตั้งข้อหามาตรา 116 ร่วมกับข้อหามาตรา 112 ในคดีของโจ กอร์ดอน ซึ่งจำเลยรับสารภาพและศาลพิพากษาให้มีความผิด แต่ให้ลงโทษตามบทหนักสุดคือมาตรา 112 เท่านั้น
 
 
301 Section 116
 
 
ปรากฎการณ์การบังคับใช้มาตรา 116 หลังการรัฐประหาร
หลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 มีการจับกุม และดำเนินคดีผู้มีความเห็นต่างทางการเมืองกับคณะรัฐประหารจำนวนมาก นับจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2558 มีการนำข้อหามาตรา 116 มาใช้อย่างน้อย 10 คดี มีคนตกเป็นผู้ต้องหาอย่างน้อย 25 คน ดังนี้
 
1. คดีของจาตุรนต์ ฉายแสง จากการให้สัมภาษณ์นักข่าวโจมตีคสช.ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพ
 
2. คดีของสมบัติ บุญงามอนงค์ ซึ่งถูกจับเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2557 จากการโพสเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์นัดหมายให้ประชาชนออกมาชุมนุมต่อต้าน คสช. ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพ
 
3. คดีของชาวเชียงราย 3 คน ได้แก่ ออด ถนอมศรี และสุขสยาม ถูกจับเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2557 จากการติดป้ายมีข้อความขอแบ่งแยกเป็นประเทศล้านนา ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาที่ศาลจังหวัดเชียงราย
 
4. คดีของชัชวาลย์ นักข่าวอิสระจากจังหวัดลำพูน ที่รายงานข่าวการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารผิดวัน จากวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2557 ต่อมาศาลทหารจังหวัดเชียงใหม่พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากจำเลยเพียงนำเสนอข่าวเหตุการณ์ประจำวัน และโจทก์ไม่อาจนำสืบจนสิ้นสงสัยได้ว่า จำเลยมีเจตนาสร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน
 
5. คดีของสิทธิทัศน์ และวชิร จากการโปรยใบปลิว ที่มีข้อความต่อต้านคสช. ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปัจจุบันคดียังไม่มีความคืบหน้า
 
6. คดีของพลวัฒน์ จากการโปรยใบปลิวต่อต้านคสช. 4 แห่งในอ.เมือง จ.ระยอง ปัจจุบันคดียังไม่มีความคืบหน้า
 
7. คดีของพันธุ์ศักดิ์ จากการจัดกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” เพื่อเดินเรียกร้องความเป็นธรรมเมื่อวันที่ 14-16 มีนาคม 2558 ปัจจุบันอัยการทหารสั่งฟ้องไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 คดียังไม่มีวันนัดพิจารณา
 
8. คดีของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ 14 คน จากการชุมนุมต่อต้านคสช. และเรียกร้องหลักการ 5 ข้อ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปัจจุบันคดียังอยู่ระหว่างการสรุปสำนวนสอบสวน
 
10. คดีของชญาภา ที่ถูกจับเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 จากการโพสข่าวลือว่าจะมีการรัฐประหารซ้อน ซึ่งโดนตั้งข้อหามาตรา 116 พร้อมกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และมาตรา 112 ด้วย 
 
11. กรณีล่าสุดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2558 มีการแถลงข่าวจับกุมนางรินดา จากการโพสเฟซบุ๊กกล่าวหาว่าพล.อ.ประยุทธ์ โอนเงินหมื่นล้านไปสิงคโปร์ และตั้งข้อหามาตรา 116 กับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่อมาถูกส่งตัวฝากขังต่อศาลทหารกรุงเทพ
 
 
ผลทางการเมือง จากการตั้งข้อหามาตรา 116
จะเห็นได้ว่า ไม่ว่ารัฐบาลในยุคใดก็มีการนำข้อหามาตรา 116 มาใช้กับประชาชนที่แสดงความคิดเห็นไปในทางต่อต้านรัฐบาล คดีความส่วนหนึ่งไม่มีความคืบหน้า มีแค่การตั้งข้อหาในช่วงการจับกุมและเผยแพร่เป็นข่าวต่อสาธารณะเท่านั้น ขณะที่คดีความส่วนหนึ่งศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตยังไม่เข้าข่ายเป็นความผิด โดยเฉพาะในยุคของคสช. คดีความตามมาตรา 116 ทั้ง 10 คดี ยังไม่มีผู้ต้องหาถูกตัดสินว่ามีความผิดเลยแม้แต่คนเดียว 
 
การตั้งข้อหาด้วยมาตรา 116 และดำเนินคดีต่อศาล อาจไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อการลงโทษผู้กระทำความผิดที่เป็นภัยต่อสังคมโดยตรง แต่หลายกรณีพอเห็นได้ว่ามีผลประโยชน์ทางการเมืองอยู่เบื้องหลังการตั้งข้อหาและดำเนินคดีตามมาตรา 116 อยู่ด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดเจนขึ้นในยุคของคสช. พอจะกล่าวได้ดังนี้
 
          1. ใช้ข้อหาหนักเพื่อขู่ให้กลัว
เนื่องจากมาตรา 116 เป็นความผิดในหมวด “ความมั่นคง” ตามประมวลกฎหมายอาญา และมีโทษจำคุกสูงสุดถึงเจ็ดปี ซึ่งถือเป็นข้อหาหนักที่มีโทษสูง เมื่อฝ่ายรัฐนำมาตรา 116 มาใช้กับประชาชน มักจะมีการแถลงข่าวเรื่องการจับกุมและการตั้งข้อหาด้วย ซึ่งไม่ว่าคดีความและผลของคดีจะดำเนินต่อไปอย่างไร ผู้ต้องหาที่ถูกตั้งข้อหาหนักเช่นนี้ย่อมรู้สึกกลัว เป็นกังวลกับผลคดีของตัวเอง ทำให้ฝ่ายรัฐมีอำนาจข่มขู่และต่อรองทางการเมืองเพิ่มขึ้น ในอีกแง่หนึ่งข่าวการตั้งข้อหามาตรา 116 ย่อมสามารถขู่ให้คนอื่นในสังคมรู้สึกกลัวและไม่กล้ากระทำในลักษณะเดียวกันได้อีกด้วย
 
           2. เพิ่มภาระให้จำเลย ต้องหาหลักทรัพย์ประกันตัวสูงขึ้น
เนื่องจากมาตรา 116 มีโทษจำคุกสูงสุดถึงเจ็ดปี ทำให้ตำรวจและอัยการสามารถขอฝากขังผู้ต้องหาไว้ก่อนฟ้องคดีมีระยะเวลาสูงสุดได้ 48 วัน ในระหว่างการฝากขังนั้นจำเลยต้องยื่นขอประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์ต่อศาล ซึ่งศาลมักจะตีราคาหลักทรัพย์ตามอัตราโทษสูงสุดในคดีนั้นๆ  
 
จากการบันทึกข้อมูลพบว่า ผู้ที่ถูกตั้งข้อหามาตรา 116 ส่วนใหญ่ต้องยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวระหว่าง 70,000 – 75,000 บาท ขณะที่คดีของชัชวาลย์ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัวสูงถึง 400,000 บาท โดยชัชวาลย์เคยใช้ตำแหน่งข้าราชการของผู้ใหญ่บ้าน และเงินสด 120,000 บาท ยื่นขอประกันตัวก่อนแล้ว แต่ศาลไม่อนุญาต ทำให้เขาต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ 15 วันก่อนรวบรวมเงินได้เพียงพอสำหรับการยื่นประกันตัว ขณะที่ในคดีข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ที่มีโทษสูงสุดจำคุก 1 ปี ผู้ต้องหาต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัวคนละ 10,000-20,000 บาทเท่านั้น
 
           3. ทำให้คดีต้องขึ้นศาลทหาร
ตามประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 กำหนดให้คดีในประมวลกฎหมายอาญาหมวด “ความมั่นคง” และคดีฐานฝ่าฝืนประกาศและคำสั่งคสช. ที่พลเรือนตกเป็นผู้ต้องหาต้องพิจารณาที่ศาลทหาร ในบางกรณีหากเลือกใช้ข้อหาอื่น เช่น หากใช้เพียงข้อหาหมิ่นประมาทในคดีของสิทธิทัศน์และวชิร หรือ ใช้เพียงข้อหาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในคดีของรินดา ก็จะต้องพิจารณาคดีที่ศาลพลเรือน ดังนั้น ในยุคคสช. หากรัฐต้องการจะจับกุมดำเนินคดีกับบุคคลใดที่ศาลทหาร เมื่อใช้วิธีตั้งข้อหามาตรา 116 เข้าไปด้วยก็ทำให้คดีนั้นอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหารได้ทันที แม้ว่าการกระทำจะไม่เข้าองค์ประกอบความผิดของมาตรา 116 และสุดท้ายศาลจะพิพากษายกฟ้องก็ตาม
 
           4. เพิ่มความชอบธรรมในการจับกุมดำเนินคดี
ในคดีของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ 14 คน ผู้ต้องหาได้รณรงค์ต่อสาธารณะว่าข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ตามประกาศคสช. นั้นเป็นข้อหาที่ไม่มีความชอบธรรม ทั้งในแง่ที่มาและเนื้อหาซึ่งขัดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และพวกเขาประกาศอารยะขัดขืนต่อกฎหมายนี้ เมื่อผู้ต้องหาทั้ง 14 คนถูกจับ หากเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีพวกเขาด้วยข้อหาฝ่าฝืนประกาศคสช. ก็จะทำให้สังคมรู้สึกเห็นใจผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่จึงตั้งข้อหามาตรา 116 กับผู้ต้องหาทั้ง 14 คนด้วย ทำให้ดูเหมือนผู้ต้องหากระทำการที่มีลักษณะร้ายแรง สังคมจึงเห็นใจผู้ต้องหาน้อยลง และในฐานะที่มาตรา 116 เป็นกฎหมายอาญาที่มีมาอยู่ก่อนแล้ว ไม่ใช่กฎหมายที่คณะรัฐประหารประกาศใช้เอง ผู้ต้องหาทั้ง 14 คนจึงไม่อาจอ้างความไม่ชอบธรรมของกฎหมายได้ง่ายนัก และทำให้การจับกุมดำเนินคดีมีความชอบธรรมมากขึ้น
 
 
 
 
Article type: