1261 1986 1661 1653 1042 1237 1404 1287 1525 1501 1531 1799 1517 1846 1319 1614 1561 1066 1004 1606 1719 1355 1909 1617 1230 1166 1723 1479 1153 1842 1561 1053 1054 1343 1839 1106 1792 1681 1104 1134 1414 1096 1266 1377 1900 1893 1675 1582 1065 1789 1874 1462 1357 1366 1439 1796 1801 1992 1467 1486 1588 1828 1325 1992 1334 1295 1677 1874 1900 1496 1740 1192 1184 1607 1552 1018 1472 1402 1254 1187 1175 1797 1238 1887 1909 1476 1674 1188 1852 1510 1888 1543 1374 1155 1339 1217 1824 1366 1683 รวมปรากฎการณ์'น่าเป็นห่วง' ในชั้นพิจารณาคดีการเมือง หลังรัฐประหาร | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

รวมปรากฎการณ์'น่าเป็นห่วง' ในชั้นพิจารณาคดีการเมือง หลังรัฐประหาร

ศาลทหารทำโอที ฝากขัง 14 "ประชาธิปไตยใหม่" ตอนเที่ยงคืน   

โดยปกติเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจับตัวผู้ต้องหาได้จะมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาเพื่อการสอบสวนไม่เกิน 48 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 87 วรรคสาม หากครบ 48 ชั่วโมงเจ้าหน้าที่จะต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือนำตัวไปที่ศาลเพื่อขอฝากขัง ซึ่งใน 48 ชั่วโมงนี้ พนักงานสอบสวนก็พอจะมีเวลาทำการสอบสวนเบื้องต้นหรือในกรณีที่ผู้ต้องหาถูกจับกุมนอกเวลาราชการ พนักงานสอบสวนก็มีเวลาพอที่จะควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้จนกว่าจะถึงเวลาทำการของศาล 
 
แต่ในคืนวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ก็มีกรณีแปลก เมื่อศาลทหารซึ่งปกติจะเปิดทำการระหว่าง 8.30 ถึงเวลา 16.30 น. กลับต้องเปิดทำการถึงเที่ยงคืน เพื่อรอพนักงานสอบสวนนำตัว 14 ผู้ต้องหากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งถูกจับในเย็นวันเดียวกันมาฝากขัง ทั้งที่ผู้ต้องหาทั้งหมดเพิ่งถูกจับกุมแค่สามถึงสี่ชั่วโมงและพนักงานสอบสวนยังมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาเพื่อรอศาลทหารเปิดทำการในวันรุ่งขึ้นได้ พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งอยู่ที่ศาลทหารในคืนที่เปิดทำการถึงเที่ยงคืนระบุว่า 

 "จากประสบการณ์ที่ทำคดีผ่านมาไม่พบว่ามีคดีใดที่ศาลเป็นทำการฝากขังถึงเที่ยงคืน เพราะโดยปกติตามกฎหมายเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถคุมขังตัวบุคคลได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมงเมื่อควบคุมตัวบุคคลมาแล้วฝากขังไม่ทันในเวลาทำการ ก็สามารถควบคุมตัวที่สถานีตำรวจไว้และทำการฝากขังในวันถัดไปได้ กรณีนี้เป็นกรณีเฉพาะมากและทราบว่าศาลทหารเปิดเพื่อรอการฝากขังคดีนี้เพียวคดีเดียวในคืนดังกล่าว" 
 
456
 
บรรยากาศที่หน้าศาลทหารในวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ซึ่งศาลเปิดทำการถึงเที่ยงคืนและมีการปิดทางเข้าหน้าอาคารศาล (ภาพจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)
 
สำหรับเหตุผลที่อาจอธิบายความเร่งรีบครั้งนี้อาจมีอยู่อย่างน้อยสองข้อ คือ 
 
ข้อแรก ตำรวจเกรงว่า การควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจชั่วคราว อาจทำให้นักกิจกรรมและประชาชนจำนวนมากไปรวมตัวกันทำกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม เหมือนกรณีควบคุมตัวผู้ชุมนุมกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลัก และกรณีชุมนุมครบรอบหนึ่งปีรัฐประหารที่หอศิลป์กรุงเทพ ที่เมื่อมีการนำนักกิจกรรมที่ถูกจับจากที่ชุมนุมไปควบคุมไว้ก็มีคนมาให้กำลังใจ ทำกิจกรรมจุดเทียน หรือกระทั่งนั่งสังสรรค์เพื่อรอการปล่อยตัว ซึ่งยากต่อการที่เจ้าหน้าที่จะควบคุมสถานการณ์ได้ต่อเนื่อง การนำผู้ต้องขังไปควบคุมตัวยังเรือนจำจะลดแรงเสียดทานในการทำงานของตำรวจได้ระดับหนึ่ง อีกข้อหนึ่ง การนำเร่งนำตัวไปฝากขังแบบ 'ด่วนพิเศษ' อาจเป็นการส่งสัญญาณถึงบรรดานักกิจกรรมว่าแม้ที่สุดแล้วศาลอาจจะพิพากษายกฟ้องหรือรอลงอาญา ก็ใช่ว่าพวกเขาจะไม่มีความเสี่ยงที่จะสิ้นอิสรภาพ 
 

กระบวนการสืบพยานที่ศาลทหาร นานจนสายเกินไป 

การต้องตกเป็นจำเลยในคดีอาญาขึ้นโรงขึ้นศาลเป็นเรื่องที่น่าหนักใจอยู่ไม่น้อยสำหรับคนทั่วไป เพราะต้องเสียทั้งเวลาในการมาศาล รวมทั้งคอยกังวลใจว่าจะสู้คดีอย่างไร แล้วศาลจะตัดสินว่าอย่างไร การพิจารณาคดีโดยรวดเร็ว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนในกระบวนการยุติธรรม และช่วยให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ต้องทนอยู่ในความทุกข์นานจนเกินไป 
 
จากการติดตามและสังเกตการณ์การพิจารณาคดีในศาลตั้งแต่ปี 2554 ไอลอว์พบว่า การพิจารณาคดีจะเสร็จช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับปัจจัยอย่างน้อยสี่ประการ

ประการแรก จำนวนคดีในศาลซึ่งหากมีไม่มากศาลก็อาจนัดสืบพยานหลังวันฟ้องได้เร็ว ประการที่สอง จำนวนพยาน หากมีพยานเยอะก็อาจจะต้องใช้เวลาสืบพยานหลายวัน ประการที่สาม เวลาที่คู่ความกับศาลว่างตรงกันซึ่งอาจมีผลต่อการกำหนดวันนัดพิจารณาคดี ประการที่สี่ ความซับซ้อนของคดีซึ่งอาจมีผลต่อระยะเวลาในการทำคำพิพากษา ระบบที่ออกแบบกันมาในศาลยุติธรรม คือ การนัดสืบพยานต่อเนื่องกัน เพื่อให้สืบพยานได้ติดต่อกัน การพิจารณาคดีดำเนินไปอย่างรวดเร็วและไม่เปิดช่องให้แต่ละฝ่ายมีเวลาไปสร้างพยานหลักฐานใหม่จนได้เปรียบเสียเปรียบกัน เช่น คดีติดป้ายแยกประเทศล้านนา ศาลจังหวัดเชียงรายนัดสืบพยานต่อเนื่องกันในวันที่ 12, 14 - 15 และ 19 พฤษภาคม 2558 ก่อนจะนัดฟังคำพิพากษาในเดือนกรกฎาคม 2558 ส่วนคดี 112 ของปิยะ(คดีแรก) ศาลอาญานัดสืบพยานต่อเนื่องในวันที่ 17 - 19 และ 24 พฤศจิกายน 2558 ก่อนจะนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 20 มกราคม 2559 หรือประมาณสองเดือนหลังการสืบพยาน 
 
สำหรับคดีที่พิจารณาในศาลทหาร กระบวนการสืบพยานจะต่างออกไปเพราะศาลทหารจะนัดสืบพยานของแต่ละคดี 1-2 นัด ต่อเดือนและจะสืบเฉพาะช่วงเช้าเท่านั้น ทำให้การสืบพยานของหลายๆคดีกินเวลานาน 
 
453

ศาลทหารจังหวัดทหารบกเชียงราย สถานที่ที่สมัครต้องเดินทางไปเก้อหลายครั้งเพราะพยานโจทก์ไม่มาศาล 
 
"วันนี้จะตัดสินหรือยังครับ" คือคำถามที่สมัคร จำเลยคดี 112 ซึ่งถูกฟ้องต่อศาลทหารเชียงรายเฝ้าถามทนายแทบทุกครั้งที่ถูกนำตัวมาพิจารณาคดีที่ศาล  ศาลนัดสืบพยานคดีของสมัครครั้งแรกในวันที่ 12 มกราคม 2558 หลังจากนั้นก็นัดสืบพยานเดือนละหนึ่งนัดเรื่อยมาโดยสืบเฉพาะช่วงเช้า การสืบพยานโจทก์ปากที่สาม ถูกเลื่อนออกไปถึงสามครั้งเพราะพยานโจทก์ไม่มาศาลทำให้การสืบพยานซึ่งควรจะมีในเดือนมีนาคม 2558 ถูกเลื่อนไปทำเดือนมิถุนายน 2558 โดยสมัครต้องเดินทางมาศาลเก้อถึงสามครั้งในเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม ขณะที่ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเดินทางไปจากกรุงเทพก็ต้องเสียค่าที่พักและค่าเดินทางโดยไม่ได้สืบพยานทั้งสามครั้งเพราะไม่มีการแจ้งเลื่อนนัดศาลล่วงหน้า 
 
ในเดือนกรกฎาคม 2558 สมัครตัดสินเลิกสู้คดีและรับสารภาพต่อศาล เนื่องจากทุกข์ใจเพราะที่ผ่านมาคดีนี้นัดสืบพยานมาหลายนัดแต่คดีก็ยังไม่เสร็จเสียที ทั้งที่ข้อต่อสู้ของเขา คือ เขามีใบรับรองแพทย์ว่ามีอาการทางจิต และยังไม่มีโอกาสได้บอกศาล ศาลพิพากษาจำคุกสมัครเป็นเวลาสิบปีก่อนลดโทษเหลือห้าปี “มันนานเกินไป...” สมัครกล่าวหลังทราบคำพิพากษาแต่ก็ก้มหน้ายอมรับชะตากรรม 
 
นอกจากคดีของสมัครคดีอื่นๆที่พิจารณาในศาลทหารแล้วจำเลยเลือกสู้คดีแทนรับสารภาพก็มีการพิจารณาที่ยาวนานเหมือนกันเช่น คดีข้อหาไม่ไปรายงานตัวของสิรภพ ที่นอกจากจะกินเวลานานเพราะศาลนัดสืบเฉลี่ยน้อยกว่าหนึ่งครั้งต่อเดือนแล้วยังเกิดจากพยานโจทก์ไม่มาศาลทำให้ต้องเลื่อนการสืบพยานอย่างน้อยสามครั้ง  
 
 
ตัวอย่างการนัดสืบพยานในศาลยุติธรรมและศาลทหารที่ไอลอว์ติดตามช่วงหลังการรัฐประหาร 57
 
คดี ศาล วันนัดสืบพยาน สถานะการสืบพยาน
อภิชาต (ข้อหาชุมนุม) ศาลแขวงปทุมวัน 11, 29-30 กันยายน 2558 
5 พฤศจิกายน 2558
จบแล้ว
ออด (ข้อหา116) ศาลจังหวัดเชียงราย 12, 14 - 15, 19 พฤษภาคม 2558 จบแล้ว
สมบัติ (ข้อหาไม่มารายงานตัว) ศาลแขวงดุสิต 26 มกราคม 2558 
5,12,19 มิถุนายน 2558
จบแล้ว
จิตรา (ข้อหาไม่มารายงานตัว) ศาลทหารกรุงเทพ 8 ตุลาคม 2558 
11 กุมภาพันธ์ 2559 (เว้นสืบพยาน เพราะจำเลยไปต่างประเทศ)
25 เมษายน 2559 (เลื่อนนัดพราะพยานโจทก์ไม่มาศาล)
1 กรกฎาคม 2559    
ยังไม่จบ
ธานัท (ข้อหา 112) ศาลทหารกรุงเทพ 4 สิงหาคม 2558 
22 ตุลาคม 2558 (เลื่อนนัดเพราะพยานโจทก์ไม่มาศาล)
12 พฤศจิกายน 2558, 26 กุมภาพันธ์ 2559,
11 มีนาคม 2559, 27 มิถุนายน 2559   
ยังไม่จบ
สิรภพ (ข้อหาไม่มารายงานตัว) ศาลทหารกรุงเทพ 11 พฤศจิกายน 2557 (เลื่อนนัดเพราะพยานโจทก์ไม่มาศาล) 
22 มกราคม 2558 
27 มีนาคม 2558 (เลื่อนนัดเพราะพยานโจทก์ไม่มาศาล) 
6 กรกฎาคม 2558 
7 กันยายน 2558 (เลื่อนนัดเพราะพยานโจทก์ไม่มาศาล) 
4 พฤศจิกายน 2558, 26 มกราคม 2559, 10 กุมภาพันธ์ 2559, 25 กุมภาพันธ์ 2559   
ยังไม่จบ
 
 

การต่อสู้เรื่องเขตอำนาจศาล ด่านแรกของกระบวนการยุติธรรมยุคคสช.
 

เท่าที่ไอลอว์เก็บข้อมูล ในยุกรัฐบาลคสช. มีพลเรือนอย่างน้อย 167 คน ถูกดำเนินคดีในศาลทหารในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง มีพลเรือนจำนวนหนึ่งที่เห็นว่าการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารเป็นเรื่องที่ผิดหลักการ จึงยื่นคำร้องคัดค้านอำนาจศาลทหารแม้จะรู้ว่านั่นจะทำให้กระบวนการพิจารณาคดีที่ล่าช้าอยู่และต้องใช้เวลามากขึ้นไปอีก เพราะศาลทหารจะต้องชะลอการพิจารณาคดีจนกว่าจะมีข้อยุติว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลใด สำหรับประเด็นที่ใช้ในการคัดค้านอำนาจศาลทหารอาจแบ่งได้สองประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่ ประเด็นเงื่อนเวลา ว่าการกระทำตามข้อกล่าวหาเกิดก่อนหรือหลังมีการออกประกาศฉบับที่ 37/2557 กับว่าการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารไม่ชอบธรรมขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล 
 
จาตุรนต์ ฉายแสง จำเลยคดีฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของคสช.และคดียุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 คัดค้านอำนาจศาลโดยระบุว่า คดีไม่รายงานตัวไม่อยู่ในศาลทหารเพราะเหตุเกิดก่อนมีการออกประกาศให้ผู้ฝ่าฝืนคำสั่งคสช.ขึ้นศาลทหาร ขณะที่ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นที่เกิดจากการโพสต์เฟซบุ๊กและการจัดแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แม้เกิดหลังมีการออกประกาศแต่ประกาศยังไม่ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา จึงถือว่ายังไม่มีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหารก็ขัดต่อมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ให้ความคุ้มครองสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยโดยองค์คณะที่เป็นอิสระเอาไว้
 
สิรภพ จำเลยคดีฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวและคดี 112 เป็นจำเลยอีกคนหนึ่งที่ต่อสู้เรื่องเขตอำนาจศาล แม้สิรภพจะไม่ได้ประกันตัวแต่ก็ยอมที่จะต่อสู้เรื่องเขตอำนาจศาลแม้จะรู้ว่านั่นจะทำให้การพิจารณาคดีของเขาต้องล่าช้าออกไป สิรภพต่อสู้ว่าการกระทำตามข้อกล่าวหาในคดีของเขาเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนมีประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร คดีของเขาจึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม สิรภพยังขอให้ศาลทหารส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยว่าประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 ขัดหรือแย้งกับมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวด้วย
 
454
 
สิรภพ จำเลยคดี 112 และ คดีฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัว
 
ในภาพรวมมีอย่างน้อย 11 คดี ที่จำเลยยื่นเรื่องคัดค้านอำนาจของศาลทหาร ซึ่งอย่างน้อย 3 คดีที่ศาลทหารมีคำสั่งแล้วว่า จะไม่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพราะศาลทหารไม่มีหน้าที่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ 
 
ดูรายละเอียดการคัดค้านอำนาจศาลทหารในคดีพลเรือนได้ ที่นี่
 

ให้การโดยไม่มีทนายร่วมฟังสุดท้ายติดคุก เจ็ดปี 30 เดือน 

 

วันที่ 15 ธันวาคม 2558 ชญาภา หญิงวัยกลางคนถูกศาลทหารตัดสินจำคุกเป็นเวลา 7 ปี 30 เดือนจากการโพสต์ข้อความที่อาจจะเข้าข่ายผิดมาตรา 112 สองข้อความและมาตรา 116 อีกสามข้อความบนเฟซบุ๊ก ในยุคของคสช.ปรากฎการณ์ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตถูกดำเนินคดีร้ายแรงและต้องติดคุกเป็นเวลานานเพียงเพราะการแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์เกิดขึ้นบ่อยจนเกือบจะกลายเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ทำให้เรื่องราวของ ชญาภา หญิงวัยกลางคนที่ต้องสูญเสียอิสรภาพเป็นกรณีที่ต้องหยิบยกมาพูดถึงเกิดจากการที่เธอต้องรับสารภาพโดยที่ไม่มีทนายความทั้งที่ได้แต่งตั้งทนายแล้ว
 
ชญาภาเซ็นแต่งตั้งทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในเดือนกันยายน 2558 หลังอัยการทหารส่งฟ้องคดีต่อศาล ทนายของชญาภาเคยขอถ่ายสำเนาคำฟ้องต่อศาลทหารในเดือนกันยายน 2558 แต่ถูกปฏิเสธโดยอ้างว่าศาลต้องส่งคำฟ้องไปให้จำเลยอยู่แล้ว  และเพิ่งมาได้รับคำฟ้องในเดือนตุลาคมหลังขอถ่ายสำเนาไปอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 14 ธันวาคม 2558 ทนายสอบถามกับศาลทหารว่ามีหมายนัดคดีของชญาภาแล้วหรือยัง เจ้าหน้าที่ศาลตอบว่ายังไม่มีวันนัด แต่ปรากฎว่าในคืนนั้นชญาภากลับได้รับแจ้งจากทัณฑสถานหญิงกลางว่า จะต้องมาศาลในวันรุ่งขึ้น 
 
ชญาภาถูกนำตัวมาที่ศาลโดยลำพัง ญาติของเธอและทนายความไม่ได้มาด้วย เธอยังไม่ได้ปรึกษากับทนายความในเรื่องคดีของเธอ ในห้องพิจารณาคดีชญาภาจึงต้องเผชิญหน้าและตอบคำถามกับตุลาการศาลทหารโดยลำพัง เธอเลือกรับสารภาพว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความทั้งหมดจริง และศาลมีคำพิพากษาในทันที ทนายของชญาภารู้ว่าเธอรับสารภาพก็หลังจากศาลตัดสินไปแล้ว เมื่อชญาภาขอเจ้าหน้าที่โทรติดต่อทนายว่าต้องการความช่วยเหลือ  
 
แม้ชญาภาจะรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความจริง แต่ข้อความที่ชญาภาถูกกล่าวหาหลายข้อความ สามารถต่อสู้ได้ว่าไม่เข้าข่ายความผิดทั้งมาตรา 112 และมาตรา 116
 
การมีทนายความให้คำปรึกษาถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกดำเนินคดีอาญาทุกคน เพราะการตัดสินใจในคดีจะมีผลผูกพันกับผู้ตกเป็นจำเลยในคดี การตัดสินใจไม่ว่าจะรับสารภาพหรือสู้คดีโดยไม่ได้รับการปรึกษาจากทนายซึ่งเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาจทำให้อิสรภาพผู้ถูกดำเนินคดีอยู่ในความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่สำนวนคดีอ่อนและมีโอกาสชนะแต่จำเลยรับสารภาพเพราะไม่ได้รับคำปรึกษาจากทนาย สำหรับคดีของชญาภายังไม่อาจสรุปได้ว่า การที่ศาลส่งหมายให้จำเลยล่าช้าและไม่มีหมายนัดส่งถึงทนายเกิดจากความผิดพลาดในขั้นตอนใด แต่ราชทัณฑ์และศาลทหารน่าจะใช้คดีนี้เป็นกรณีศึกษาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดลักษณะนี้ขึ้นอีกในอนาคต 
 

 

ศาลทหารสั่งเอง หมิ่นประมาท"ผู้นำ"ไม่ใช่คดีความมั่นคง ไม่ต้องขึ้นศาลทหาร

 
ในภาพรวมศาลทหารมีปัญหาหลายอย่าง ตั้งแต่ปัญหาทางวิธีปฏิบัติ เช่น การนำตัวผู้ต้องหา/จำเลยที่ได้ประกันไปปล่อยจากเรือนจำทำให้ต้องผ่านกระบวนการตรวจร่างกาย หรือ ปัญหาในการพิจารณาคดีที่มักสั่งพิจารณาคดี 112 เป็นการลับ รวมทั้งการลงโทษจำเลยคดี 112 หลายคนอย่างหนัก แต่การทำงานของอัยการทหาร-ศาลทหารก็พอจะมีพัฒนาการทางบวกอยู่บ้าง คือ การใช้ดุลพินิจพิจารณาความสอดคล้องระหว่างกฎหมายที่ใช้ฟ้องกับการกระทำตามข้อกล่าวหา ดังกรณี ของรินดา และ "แจ่ม" 
 
รินดาถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากการโพสต์เฟซบุุ๊กกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โอนเงินจำนวนมหาศาลไปสิงคโปร์ ซึ่งเป็นข้อหาที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร เธอถูกฝากขังต่อศาลทหาร ต่อมาในเดือนธันวาคม 2558 ศาลทหารนัดรินดาไปถามคำให้การว่าจะรับสารภาพหรือปฏิเสธ แต่ศาลทหารบอกกับรินดาและอัยการทหารว่าศาลทหารพิจารณาสำนวนคดีแล้วเห็นว่าคดีนี้ไม่ใช่คดีตามมาตรา 116 แต่น่าจะเป็นคดีหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ซึ่งศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณา แต่อัยการทหารคัดค้านศาลทหารจึงทำความเห็นส่งให้ศาลพลเรือนพิจารณา ต่อมาศาลพลเรือนมีความเห็นพ้องด้วยว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลอาญา คดีของรินดาจึงถูกจำหน่ายออกให้ไปฟ้องใหม่ที่ศาลของพลเรือน ในข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ซึ่งมีโทษเบากว่าคดีตามมาตรา 116 
 
455
 
รินดาถูกตั้งข้อหา 116 จากการโพสต์ข่าวลือพล.อ.ประยุทธโอนเงินไปต่างประเทศ
 
"แจ่ม"  ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความเกี่ยวกับข้อสงสัยเรื่องการทุจริตในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์และความขัดแย้งในกองทัพ "แจ่ม" ถูกนำตัวไปฝากขังกับศาลทหารในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2558 ต่อมาในเดือนเมษายน 2559 อัยการทหารมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง "แจ่ม" ในข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ส่วนความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือน จึงคืนสำนวนให้พนักงานสอบสวนไปดำเนินการฟ้องแจ่มต่อศาลพลเรือนต่อไป     
 
กรณีของ"แจ่ม"และรินดาแสดงให้เห็นว่ายังมีพัฒนาการทางบวกอยู่บ้างที่ศาลทหาร เพราะอัยการทหารและผู้พิพากษาศาลทหารมีความพยายามที่จะกลั่นกรองคดีอยู่บ้าง เมื่อพิจารณาเห็นว่าข้อหาที่จำเลยถูกกล่าวหาไม่ถูกต้องก็ไม่ดำเนินคดีต่อ ยังมีอีกหลายคดีที่ลักษณะคล้ายกับรินดาและ "แจ่ม" เช่น คดีที่มีแอดมินเพจแปดคนถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 116 จากการทำเนื้อหาล้อเลียนพล.อ.ประยุทธ์ จากนี้จึงต้องจับตาต่อไปว่าศาลหรืออัยการจะมีความเห็นอย่างไร
 
 
 
Article type: