1155 1515 1553 1426 1912 1283 1017 1208 1559 1930 1459 1903 1671 1319 1534 1926 1687 1170 1437 1794 1598 1274 1431 1316 1848 1018 1535 1847 1124 1129 1831 1348 1496 1757 1114 1281 1628 1328 1038 1047 1891 1193 1988 1632 1206 1770 1818 1553 1637 1246 1862 1464 1083 1547 1437 1008 1661 1753 1241 1761 1146 1484 1649 1277 1348 1037 1050 1698 1294 1255 1841 1058 1465 1150 1196 1153 1442 1307 1675 1377 1106 1232 1917 1290 1176 1942 1809 1518 1812 1980 1580 1350 1771 1114 1240 1469 1906 1504 1632 24 เดือน คสช.: อำนาจทหารเหนือระบบยุติธรรม เมื่อทหารทำตัวเป็นอัยการและศาล | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

24 เดือน คสช.: อำนาจทหารเหนือระบบยุติธรรม เมื่อทหารทำตัวเป็นอัยการและศาล

ในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีการออกประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 ให้คดีของพลเรือนในข้อหาความผิดต่อพระมหากษัตริย์ฯ ความผิดต่อความมั่นคง และความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งของคสช. ต้องพิจารณาที่ศาลทหาร โดยส่วนใหญ่แล้วศาลทหารใช้กระบวนการพิจารณาคดีคล้ายกับศาลพลเรือน แต่บุคลากรของศาลทหารรวมทั้งอัยการและตุลาการ เป็นนายทหาร และทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นในรอบสองปี ศาลทหารได้แสดงให้เห็นถึงกระบวนการที่พิเศษไปจากศาลพลเรือนบ้าง
 
ศาลทหารทำโอที ฝากขัง 14 "ประชาธิปไตยใหม่" ตอนเที่ยงคืน   
 
โดยปกติเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจับตัวผู้ต้องหาได้จะมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาเพื่อการสอบสวนไม่เกิน 48 ชั่วโมง หลังจากนั้นหากมีเหตุให้ต้องควบคุมตัวต่อตำรวจต้องนำตัวผู้ต้องหาไปที่ศาลเพื่อขออำนาจศาลฝากขังต่อ ในกรณีที่ผู้ต้องหาถูกจับกุมนอกเวลาราชการ ระยะเวลา 48 ชั่วโมงนี้ก็เพียงพอสำหรับตำรวจที่จะควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้จนกว่าศาลจะเปิดทำการ
 
ในคืนวันที่ 26 มิถุนายน 2558 เกิดกรณีที่ไม่ปกติ เมื่อศาลทหารที่ปกติจะเปิดทำการระหว่าง 8.30 น. ถึงเวลา 16.30 น. กลับต้องเปิดทำการถึงเที่ยงคืน เพื่อรอพนักงานสอบสวนนำตัว 14 ผู้ต้องหากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งถูกจับในเย็นวันเดียวกันมาฝากขัง ทั้งที่ผู้ต้องหาทั้งหมดเพิ่งถูกจับกุมแค่สามถึงสี่ชั่วโมงและพนักงานสอบสวนยังมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาเพื่อรอศาลทหารเปิดทำการในวันรุ่งขึ้นได้
 
เหตุผลที่อาจอธิบายความเร่งรีบครั้งนี้ คือตำรวจอาจเกรงว่า การควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจชั่วคราว อาจทำให้นักกิจกรรมและประชาชนจำนวนมากไปรวมตัวกันทำกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในกรณีควบคุมตัวผู้ชุมนุมกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลัก และกรณีชุมนุมครบรอบหนึ่งปีรัฐประหารที่หอศิลปกรุงเทพ ที่เมื่อนักกิจกรรมถูกจับจากที่ชุมนุมไปควบคุมที่สถานีตำรวจก็มีคนจำนวนมากมาให้กำลังใจ ทำกิจกรรมจุดเทียน ร้องเพลง รอการปล่อยตัว ซึ่งยากที่เจ้าหน้าที่จะควบคุมสถานการณ์ได้ การนำผู้ต้องขังไปควบคุมตัวยังเรือนจำจะลดแรงเสียดทานต่อตำรวจได้ระดับหนึ่ง 
 
458
 
 
กระบวนการสืบพยานที่ศาลทหาร นานจนสายเกินไป 
 
การต้องตกเป็นจำเลยในคดีอาญาขึ้นโรงขึ้นศาลเป็นเรื่องที่น่าหนักใจอยู่ไม่น้อยสำหรับคนทั่วไป เพราะต้องเสียทั้งเวลาในการมาศาล รวมทั้งคอยกังวลใจว่าจะสู้คดีอย่างไร แล้วศาลจะตัดสินว่าอย่างไร การพิจารณาคดีโดยรวดเร็ว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนในกระบวนการยุติธรรม และช่วยให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ต้องทนอยู่ในความทุกข์นานจนเกินไป 
 
ระบบที่ออกแบบกันมาในศาลยุติธรรม คือ การนัดสืบพยานต่อเนื่องกัน เพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปอย่างรวดเร็วและไม่เปิดช่องให้แต่ละฝ่ายมีเวลาไปสร้างพยานหลักฐานใหม่จนได้เปรียบเสียเปรียบกัน สำหรับคดีที่พิจารณาในศาลทหาร กระบวนการสืบพยานจะต่างออกไปเพราะศาลทหารจะนัดสืบพยานของแต่ละคดี 1-2 นัด ต่อเดือน และจะสืบเฉพาะช่วงเช้าเท่านั้น บางครั้งพยานไม่มาศาลก็ต้องเลื่อนการสืบพยานออกไปอีกเรื่อยๆ ทำให้การสืบพยานของหลายๆ คดีกินเวลานาน 
 
"วันนี้จะตัดสินหรือยังครับ" คือคำถามที่สมัคร จำเลยคดี 112 ซึ่งถูกฟ้องต่อศาลทหารเชียงรายเฝ้าถามทนายแทบทุกครั้งที่ถูกนำตัวมาพิจารณาคดีที่ศาล ศาลนัดสืบพยานคดีของสมัครครั้งแรกในวันที่ 12 มกราคม 2558 หลังจากนั้นก็นัดสืบพยานเดือนละหนึ่งนัดเรื่อยมาโดยสืบเฉพาะช่วงเช้า การสืบพยานโจทก์ปากที่สาม ถูกเลื่อนออกไปถึงสามครั้งเพราะพยานโจทก์ไม่มาศาลทำให้การสืบพยานซึ่งควรจะมีในเดือนมีนาคม 2558 ถูกเลื่อนไปเป็นเดือนมิถุนายน 2558 โดยสมัครต้องเดินทางมาศาลโดยไม่มีการพิจารณาคดีถึงสามครั้งภายในสามเดือน
 
ในเดือนกรกฎาคม 2558 สมัครตัดสินใจเลิกสู้คดีและรับสารภาพต่อศาล เนื่องจากทุกข์ใจเพราะที่ผ่านมาคดีนี้นัดสืบพยานมาหลายนัดแต่คดีก็ยังไม่เสร็จเสียที ทั้งที่ข้อต่อสู้ของเขา คือ การมีใบรับรองแพทย์ว่ามีอาการทางจิต และยังไม่มีโอกาสได้บอกศาล ศาลพิพากษาจำคุกสมัครเป็นเวลาสิบปีก่อนลดโทษเหลือห้าปี “มันนานเกินไป...” สมัครกล่าวหลังทราบคำพิพากษาแต่ก็ก้มหน้ายอมรับชะตากรรม 
 
นอกจากคดีของสมัคร คดีอื่นๆ ที่พิจารณาในศาลทหารแล้วจำเลยเลือกสู้คดีแทนรับสารภาพก็มีการพิจารณาที่ยาวนานเหมือนกัน เช่น คดีข้อหาไม่ไปรายงานตัวของสิรภพ ที่นอกจากจะกินเวลานานเพราะศาลนัดสืบเฉลี่ยน้อยกว่าหนึ่งครั้งต่อเดือนแล้ว บางครั้งพยานโจทก์ไม่มาศาลทำให้ต้องเลื่อนการสืบพยานอย่างน้อยสามครั้ง (ดูตารางตัวอย่างการนัดสืบพยานในศาลยุติธรรมและศาลทหาร คลิกที่)
 
 
461
 
 
การต่อสู้เรื่องเขตอำนาจศาล เพื่อออกจากกระบวนการยุติธรรมของคสช.
 
จากที่ไอลอว์เก็บข้อมูล ตลอดสองปีในยุคคสช. มีพลเรือนอย่างน้อย 167 คน ถูกดำเนินคดีในศาลทหารในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง มีพลเรือนจำนวนหนึ่งที่เห็นว่าการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารเป็นเรื่องที่ผิดหลักการ จึงยื่นคำร้องคัดค้านอำนาจศาลทหารแม้จะรู้ว่านั่นจะทำให้กระบวนการพิจารณาคดีที่ล่าช้าอยู่แล้วต้องใช้เวลามากขึ้นไปอีก เนื่องจากศาลทหารจะต้องชะลอการพิจารณาคดีจนกว่าจะมีข้อยุติว่าคดีอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลใด สำหรับประเด็นที่ใช้ในการคัดค้านอำนาจศาลทหารอาจแบ่งเป็นสองประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่ ประเด็นเงื่อนเวลา ว่าการกระทำตามข้อกล่าวหาเกิดก่อนหรือหลังมีการออกประกาศฉบับที่ 37/2557 กับว่าการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารไม่ชอบธรรมขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล 
 
จาตุรนต์ ฉายแสง จำเลยคดีฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของคสช.และคดียุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 คัดค้านอำนาจศาลโดยระบุว่า คดีไม่รายงานตัวไม่อยู่ในศาลทหารเพราะเหตุเกิดก่อนมีการออกประกาศให้ผู้ฝ่าฝืนคำสั่งคสช.ขึ้นศาลทหาร ขณะที่ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นที่เกิดจากการโพสต์เฟซบุ๊กและการจัดแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แม้เกิดหลังมีการออกประกาศแต่ประกาศยังไม่ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา จึงถือว่ายังไม่มีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหารก็ขัดต่อมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ให้ความคุ้มครองสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยโดยตุลาการที่เป็นอิสระ
 
สิรภพ จำเลยคดีฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวและคดี 112 เป็นจำเลยอีกคนหนึ่งที่ต่อสู้เรื่องเขตอำนาจศาล แม้สิรภพจะไม่ได้ประกันตัวแต่ก็ยอมที่จะต่อสู้เรื่องเขตอำนาจศาลแม้จะรู้ว่านั่นจะทำให้การพิจารณาคดีของเขาต้องล่าช้าออกไป สิรภพต่อสู้ว่าการกระทำตามข้อกล่าวหาในคดีของเขาเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนมีประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร คดีของเขาจึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม สิรภพยังขอให้ศาลทหารส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยว่าประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 ขัดหรือแย้งกับมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว
 
ในภาพรวมมีอย่างน้อย 11 คดี ที่จำเลยยื่นเรื่องคัดค้านอำนาจของศาลทหาร ซึ่งอย่างน้อย 3 คดีที่ศาลทหารมีคำสั่งแล้วว่า จะไม่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพราะศาลทหารไม่มีหน้าที่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ (ดูรายละเอียดการคัดค้านอำนาจศาลทหารในคดีพลเรือนได้ คลิกที่นี่) 
 
462
 
 
ศาลทหารสั่งเอง หมิ่นประมาท "ผู้นำ" ไม่ใช่คดีความมั่นคง ไม่ต้องขึ้นศาลทหาร
 
ในภาพรวมศาลทหารมีปัญหาหลายอย่าง ตั้งแต่ปัญหาทางวิธีปฏิบัติ เช่น การนำตัวผู้ต้องหา/จำเลยที่ได้ประกันไปปล่อยจากเรือนจำทำให้ต้องผ่านกระบวนการตรวจร่างกาย หรือ ปัญหาในการพิจารณาคดีที่มักสั่งพิจารณาคดี 112 เป็นการลับ รวมทั้งการลงโทษจำเลยคดี 112 หลายคนอย่างหนัก แต่การทำงานของอัยการทหารและศาลทหารก็พอจะมีพัฒนาการทางบวกอยู่บ้าง คือ การใช้ดุลพินิจพิจารณาความสอดคล้องระหว่างกฎหมายที่ใช้ฟ้องกับการกระทำตามข้อกล่าวหา ดังกรณี ของรินดาและ “แจ่ม” 
 
รินดา ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากการโพสต์เฟซบุ๊กกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โอนเงินจำนวนมหาศาลไปสิงคโปร์ ซึ่งเป็นข้อหาที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร เธอถูกฝากขังต่อศาลทหาร ต่อมาในเดือนธันวาคม 2558 ศาลทหารแจ้งว่าหลังพิจารณาสำนวนแล้วเห็นว่า คดีนี้ไม่ใช่คดีตามมาตรา 116 แต่น่าจะเป็นคดีหมิ่นประมาท ซึ่งศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณา คดีของรินดาจึงถูกจำหน่ายออกให้ไปฟ้องใหม่ที่ศาลของพลเรือน ในข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ซึ่งมีโทษเบากว่าคดีตามมาตรา 116 
 
“แจ่ม” ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความเกี่ยวกับข้อสงสัยเรื่องการทุจริตในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์และความขัดแย้งในกองทัพ “แจ่ม” ถูกนำตัวไปฝากขังกับศาลทหารในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2558 ต่อมาในเดือนเมษายน 2559 อัยการทหารมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง “แจ่ม” ในข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือน จึงคืนสำนวนให้พนักงานสอบสวนไปดำเนินการฟ้อง “แจ่ม” ต่อศาลพลเรือนต่อไป     
 
กรณีของ “แจ่ม” และรินดาแสดงให้เห็นว่ายังมีพัฒนาการทางบวกอยู่บ้างที่ศาลทหาร เพราะอัยการทหารและผู้พิพากษาศาลทหารมีความพยายามที่จะกลั่นกรองคดีอยู่บ้าง เมื่อพิจารณาเห็นว่าข้อหาที่จำเลยถูกกล่าวหาไม่ถูกต้องก็ไม่ดำเนินคดีต่อ ยังมีอีกหลายคดีที่ลักษณะคล้ายกับรินดาและ “แจ่ม” เช่น คดีที่มีแอดมินเพจแปดคนถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 116 จากการทำเนื้อหาล้อเลียนพล.อ.ประยุทธ์ จากนี้จึงต้องจับตาต่อไปว่าศาลหรืออัยการจะมีความเห็นอย่างไร
 
 
ศาลทหารลงโทษหนักในคดีมาตรา 112 แต่มาตรฐานยังไม่แน่นอน 
 
"การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จำนวน 6 กรรม ลงโทษจำคุกกรรมละ 10 ปี รวมทั้งหมด 60 ปี เนื่องจากจำเลยรับสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 30 ปี"
 
465
 
คำพิพากษาของศาลทหารกรุงเทพ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2558 ให้ลงโทษจำคุก พงษ์ศักดิ์ 60 ปี ตามมาตรา 112 อาจเป็นหมุดหมายหนึ่งที่ผู้คนจดจำกันได้ในช่วงเวลาสองปีของคสช. เพราะเป็นคดีที่มีสถิติการลงโทษตามมาตรา 112 สูงที่สุดเท่าที่เคยมีบันทึกไว้ นอกจากนี้ยังมีคำพิพากษาอีกหลายคดีที่พบปรากฏการณ์ศาลทหารกำหนดโทษจำคุกสูงๆ เช่น คดีของเธียรสุธรรม ศาลทหารให้จำคุก 50 ปี คดีของศศิวิมล ศาลทหารให้จำคุก 56 ปี  
แนวการกำหนดโทษของศาลทหารก็ยังไม่แน่นอน หลายคดีศาลทหารกำหนดโทษจำคุก 10 ปีต่อการกระทำ 1 กรรม ขณะที่อีกหลายคดีศาลทหารก็กำหนดโทษน้อยลงมา เช่น คดีของ “สมศักดิ์ ภักดีเดช” ศาลให้จำคุก 9 ปี คดีของธนิตศักดิ์ศาลให้จำคุก 8 ปี และคดีของศศิวิมลศาลให้จำคุก 8 ปี ต่อการกระทำ 1 กรรม
 
แม้ว่าคดีมาตรา 112 ส่วนใหญ่ศาลทหารจะกำหนดบทลงโทษสูงตาม แต่ก็มีสองคดีของโอภาสที่ศาลทหารกำหนดโทษจำคุก 3 ปี ก่อนลดโทษให้เหลือ 1 ปี 6 เดือน เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ จากการเขียนฝาผนังห้องน้ำ ซึ่งถือว่าเป็นการกำหนดโทษจำคุกขั้นต่ำที่สุดเท่าที่กฎหมายเปิดช่องไว้สำหรับข้อหานี้ และยังมีคดีการเผยแพร่แถลงการณ์สำนักพระราชวังปลอมของนิรันดร์ และ “เนส” ที่ศาลทหารตัดสินลงโทษจำคุก 5 ปี และให้รอลงอาญาโทษจำคุก
 
ศาลยุติธรรมยังตีความกฎหมายผิดพลาด เป็นผลเสียแก่จำเลย 
 
"ศาลพิพากษาว่า จำเลยทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทั้งหมด 9 กรรม ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ลงโทษกรรมละ 3 ปี รวม 27 ปี ความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้ลงโทษกรรมละ 4 เดือน รวม 36 เดือน รวมจำคุก 27 ปี 36 เดือน" 
 
คำพิพากษาคดีของศาลจังหวัดอุบลราชธานี ในคดีของ “จักราวุธ” เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 เป็นคำพิพากษาคดีที่จำเป็นต้องยกมาพูดถึง เพราะกำหนดโทษแปลกไปจากคดีอื่นๆ 
 
“จักรวุธ” ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กผิดมาตรา 112 ทั้งหมด 9 ข้อความ ศาลจังหวัดอุบลราชธานีพิพากษาว่าการโพสต์ข้อความหนึ่งครั้ง จะถูกลงโทษทั้งตามมาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แยกกระทงความผิดกัน โดยให้ลงโทษตามมาตรา 112 ข้อความละ 3 ปี และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ข้อความละ 4 เดือน หลังศาลจังหวัดอุบลราชธานีอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ “จักราวุธ” จึงเป็นจำเลยคนเดียวที่ต้องรับโทษสูงขึ้นอย่างไม่ปกติ แต่เขาตัดสินใจไม่ยื่นอุทธรณ์ เพื่อยื่นขออภัยโทษเพราะหวังว่าจะเป็นช่องทางให้ได้อิสรภาพเร็วขึ้น จนถึงวันที่ครบรอบสองปีของการรัฐประหาร “จักราวุธ” ยังอยู่ในเรือนจำ
 
ขณะที่คำพิพากษาคดีที่มีลักษณะเดียวกับคดี “จักราวุธ” ทุกคดีถือว่าการโพสต์ข้อความเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่หนักที่สุดเพียงบทเดียว เช่น คดีของธันย์ฐวุฒิ คดีของอำพล คดีของปิยะ ฯลฯ คำพิพากษาของศาลจังหวัดอุบลราชธานีน่าจะผิดจากหลักกฎหมายเรื่องการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทอย่างชัดเจน ทำให้จำเลยต้องรับโทษจำคุกสูงขึ้นอีก 36 เดือน 
 
464
 
 
"แม้ในใบปลิวจะมีข้อความดูหมิ่นหลายบุคคล แต่เป็นข้อความที่กล่าวในเอกสารฉบับเดียวกัน ดังนั้นถือเป็นการกระทำกรรมเดียว ทำให้ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คุ้มครองไปถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ด้วยหรือไม่ จึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โทษจำคุก 6 ปี"
 
คำพิพากษาของศาลจังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558 ให้จำคุกชาญวิทย์ 6 ปี เป็นคำพิพากษาอีกฉบับหนึ่งที่ต้องถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงกัน คดีนี้จำเลยถูกฟ้องว่าแจกใบปลิว 1 ชุด มีเนื้อหาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา รวม 4 พระองค์ โจทก์ฟ้องว่าเป็นความผิด 4 กรรม จำเลยรับสารภาพว่าทำใบปลิวขึ้นแจกจริง แต่ในชั้นพิจารณาคดีจำเลยยกข้อต่อสู้ขึ้นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว เพราะแจกใบปลิวชุดเดียว และสมเด็จพระเทพฯ ไม่ใช่บุคคลที่มาตรา 112 คุ้มครอง 
 
สุดท้ายศาลเห็นด้วยกับข้อต่อสู้ของจำเลย ว่าการแจกใบปลิวเป็นการกระทำกรรมเดียว และพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี คดีนี้จึงต้องถือว่าจำเลยรับสารภาพแล้วว่ากระทำความผิดจริงเพียงแต่ต่อสู้ในประเด็นข้อกฎหมาย จำเลยจึงต้องได้รับลดโทษครึ่งหนึ่ง ดังนั้นชาญวิทย์ควรได้รับโทษลดโทษกึ่งหนึ่งคือจำคุก 3 ปี ไม่ใช่ 6 ปี แต่ศาลจังหวัดนนทบุรีกลับมองว่าคดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธ และไม่ลดโทษให้ อย่างไรก็ตามชาญวิทย์ ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ลดโทษให้ คดีนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์
 
 
466
 
 
จากคำพิพากษาทั้งสองคดีสะท้อนให้เห็นมาตรฐานที่อ่อนแอและความไม่เป็นเอกภาพในการตีความกฎหมายของศาลยุติธรรม ซึ่งส่งผลให้จำเลยต้องรับโทษหนักขึ้นกว่าความเป็นจริง คดีที่มีข้อกล่าวหาและการกระทำลักษณะเดียวกันเมื่อขึ้นสู่ชั้นศาลแล้วไม่อาจแน่ใจได้ว่าศาลจะพิพากษาในลักษณะเดียวกัน นอกจากการตีความกฎหมายแตกต่างกันไปในแต่ละคดีแล้ว ศาลยุติธรรมก็ยังกำหนดโทษในคดีมาตรา 112 ต่อการกระทำ 1 กรรมต่างกันออกไป เช่น คดีของ “จักราวุธ” กำหนดโทษ ปี 3 คดีของชาญวิทย์กำหนดโทษ 6 ปี คดีละครเวรทีเรื่องเจ้าสาวหมาป่า กำหนดโทษ 5 ปี และคดีของปิยะ กำหนดโทษ 9 ปี
 
คดีข้อหาทางการเมืองอื่น ศาลพลเรือนตีความให้เป็นประโยชน์แก่จำเลย
 
“ประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ซึ่งกำหนดโทษสำหรับบุคคลที่มีชื่อถูกเรียกตามคำสั่งคสช. ฉบับที่ 1-3/2557 และ 5-6/2557 เป็นการกำหนดโทษเพิ่มเติมย้อนหลังและเป็นประกาศที่มุ่งใช้กับเฉพาะบุคคลที่มีรายชื่อในประกาศเรียกรายงานตัว ซึ่งตามหลักของกฎหมายอาญา กฎหมายจะกำหนดโทษทางอาญาให้มีผลย้อนหลังไม่ได้ และกฎหมายจะออกมาเพื่อเอาโทษกับเฉพาะบุคคลไม่ได้”
 
วันที่ 21 กันยายน 2558 ศาลแขวงดุสิตพิพากษา คดีที่สมบัติ บุญงามอนงค์ ถูกฟ้องฐานไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคสช. โดยศาลยกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคสช. เพราะเห็นว่า ประกาศคสช. ฉบับที่ 29/2557 กำหนดโทษย้อนหลังและมุ่งใช้เฉพาะบุคคล จึงเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ไม่ได้ ซึ่งถือเป็นคำพิพากษาฉบับแรกที่ศาลวินิจฉัยสวนทางกับการใช้อำนาจออกประกาศและคำสั่งตามอำเภอใจของคสช. ในทางที่เป็นประโยชน์กับจำเลย 
 
468
 
 
อีกคดีหนึ่งที่น่าสนใจ คือ คดีไม่มารายงานตัวของณัฐ คดีนี้ณัฐให้การรับสารภาพว่าไม่ได้ไปรายงานตัวตามที่ถูกคสช.ออกคำสั่งเรียกจริง ซึ่งคดีไม่มารายงานตัวส่วนใหญ่ที่จำเลยรับสารภาพ ศาลจะพิพากษาจำคุกและให้รอลงอาญา แต่เนื่องจากณัฐเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะรอลงอาญาได้ ศาลแขวงดุสิตจึงพิพากษาให้จำคุก 1 เดือน 10 วัน โดยไม่รอลงอาญา แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์แก้ไขคำพิพากษา โดยยกเอาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 55 ขึ้นมาใช้ว่า คดีนี้มีโทษจำคุกน้อย ศาลจึงยกโทษจำคุกให้ เหลือเพียงโทษปรับสถานเดียว 
 
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 55 ที่กำหนดให้ศาลมีอำนาจยกโทษจำคุกในกรณีที่จะลงโทษน้อยกว่าสามเดือน เป็นกฎหมายที่มีอยู่แล้ว แต่ปกติศาลไม่ค่อยใช้อำนาจตามมาตรานี้บ่อยนัก และไม่เคยปรากฏมาก่อนในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง การที่ศาลอุทธรณ์นำมาตรา 55 มาเป็นเหตุให้ณัฐไม่ต้องถูกจำคุกจึงเป็นนิมิตรหมายใหม่ในทางที่เป็นประโยชน์ต่อจำเลย
 
“คดีนี้เหตุเกิดที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นท้องที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน แต่ ร.ต.ท.ชลิต เป็นเจ้าพนักงานสังกัดกองบังคับการปราบปราม ซึ่งโจทก์มิได้นำสืบถึงการแบ่งหน่วยงานและอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ทราบว่า ร.ต.ท.ชลิต ผู้ทำการสอบสวนเป็นผู้มีอำนาจสอบสวนโดยชอบ กรณีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าคดีนี้มีการสอบสวนตามกระบวนการโดยชอบแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดี กรณีจึงไม่มีเหตุให้ต้องวินิจฉัยประเด็นปัญหาอื่นอีก พิพากษายกฟ้อง”
 
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลแขวงปทุมวันอ่านคำพิพากษาคดีที่อภิชาตถูกฟ้องในข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน คดีนี้จำเลยรับว่าเข้าร่วมการชุมนุมคัดค้านการรัฐประหารจริงแต่ต่อสู้เรื่องความชอบธรรมของคณะรัฐประหาร ศาลได้ยกเอาประเด็นอำนาจการสอบสวนของตำรวจจากกองบังคับการปราบปราม มาเป็นเหตุยกฟ้องทั้งคดี โดยไม่ต้องวินิจฉัยในประเด็นการกระทำของจำเลย และความชอบธรรมของคณะรัฐประหารตามที่จำเลยต่อสู้
 
จากคำพิพากษา ในคดีไม่มารายงานตัวของสมบัติ บุญงามอนงค์ และณัฐ กับคดีชุมนุมของอภิชาต จะเห็นได้ว่า ในคดีการเมืองที่เกี่ยวข้องกับอำนาจของ คสช. โดยตรงศาลพลเรือนมีแนวโน้มพยายามตีความและบังคับใช้กฎหมายในทางที่ไม่ต้องให้จำเลยได้รับโทษหนักจากเหตุความขัดแย้งทางการเมือง ขณะที่คดีในข้อหาไม่มารายงานตัวและข้อหาชุมนุมทางการเมือง ที่จำเลยต่อสู้คดีในศาลทหารรวมอย่างน้อย 14 คดี นับจนถึงวันครบรอบสองปีคสช. ศาลทหารก็ยังพิจารณาไม่เสร็จแม้แต่คดีเดียว จึงยังไม่มีแนวทางออกมาให้เห็นว่า ศาลทหารจะตีความกฎหมายในทางที่เป็นประโยชน์ต่อจำเลยเช่นเดียวกับศาลพลเรือนหรือไม่
 
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาของคำพิพากษาในคดีที่เกี่ยวกับเสรีภาพการแสดงออกทั้งหมดแล้ว จะเห็นว่า มีคำพิพากษาของศาลพลเรือนที่ออกมาถ่วงดุลกับอำนาจของคสช. อยู่บ้าง แต่คำพิพากษาที่ผิดจากหลักกฎหมายชัดเจนทั้งสองคดีก็เป็นคำพิพากษาของศาลพลเรือน และแม้ในคดีมาตรา 112 ศาลทหารจะมีแนวโน้มกำหนดโทษจำคุกสูงกว่า แต่ก็มีคดีที่ศาลทหารกำหนดโทษขั้นต่ำ หรือ ให้รอลงอาญา ขณะที่ศาลพลเรือนเคยกำหนดโทษจำคุกสูงถึง 9 ปี ต่อการกระทำ 1 กรรม และเนื่องจากคดีที่จำเลยต่อสู้คดีในศาลทหารส่วนใหญ่ยังไม่เห็นคำพิพากษา ดังนั้น ในภาพรวมจึงยังสรุปไม่ได้อย่างชัดเจนว่าศาลพลเรือนจะพิพากษาคดีไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่จำเลยมากกว่าศาลทหาร 
 
ตลอดสองปีในยุคคสช. มีการจับกุมประชาชนและดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 106 คดี เป็นคดีที่ศาลทหาร 81 คดี และเป็นคดีที่ศาลพลเรือน 25 คดี ในจำนวนนี้ศาลมีคำพิพากษาแล้ว 45 คดี  คดีในศาลทหารที่จำเลยปฏิเสธและต่อสู้คดีจนถึงปัจจุบันศาลทหารมีคำพิพากษาไปแล้วเพียง 1 คดี
 
 
 
อ่านรายงาน 24 เดือนคสช.: เมื่ออำนาจทหารอยู่เหนือระบบยุติธรรม ต่อตอนอื่นที่
 
 
ไฟล์แนบ: 
Report type: