1843 1010 1809 1886 1580 1695 1370 1589 1452 1423 1569 1383 1401 1001 1456 1241 1003 1316 1789 1703 1105 1505 1367 1511 1800 1762 1289 1220 1139 1337 1325 1895 1830 1140 1413 1987 1241 1995 1585 1427 1439 1754 1335 1418 1196 1070 1333 1850 1176 1781 1834 1107 1258 1684 1607 1228 1301 1774 1956 1110 1946 1673 1145 1440 1513 1911 1988 1423 1119 1089 1218 1772 1299 1155 1736 1407 1446 1961 1603 1913 1622 1463 1841 1856 1994 1687 1263 1732 1002 1817 1153 1420 1305 1191 1782 1024 1928 1012 1373 24 เดือน คสช.: อำนาจทหารเหนือระบบยุติธรรม เมื่อทหารไม่ได้คืนแต่ "ความสุข" | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

24 เดือน คสช.: อำนาจทหารเหนือระบบยุติธรรม เมื่อทหารไม่ได้คืนแต่ "ความสุข"

 
"จากเด็กค่อนข้างร่าเริง ยายบอกว่า ทั้งสองสาวกลายเป็นคนเงียบๆ ซึมๆ ไปมากขึ้น นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่แม่ไม่ได้อยู่บ้านอีกต่อไป"
 
คำบอกเล่าของผู้เป็นยายถึงความรู้สึกของหลานสาวหลังลูกสาวเธอ ศศิวิมล ผู้เป็น “แม่” ของเด็ก ต้องถูกคุมขังในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ 
 
ครอบครัวคือรากชีวิตของมนุษย์ คือสถาบันพื้นฐานการดำรงอยู่ของมนุษย์ การขาดหายไปของใครสักคนล้วนทำให้ผลกระทบเกิดขึ้นมากบ้างน้อยบ้าง แต่หากสิ่งที่ทำให้พวกเขาพลัดพรากจากกันเป็น 'รัฐ' ที่ใช้อำนาจมากกว่าเหตุผลในกระบวนการยุติธรรมดั่งเช่นภายใต้สองปีของ คสช. ก็น่าสนใจว่ากระบวนการยุติธรรมที่ไม่ปกติส่งผลกระทบต่อคนจำนวนหนึ่งอย่างไรบ้าง
 
หลังรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก และตามประกาศและคำสั่งต่างๆ เพื่อเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวเพื่อปรับทัศนคติ พร้อมกำหนดโทษฐานไม่มารายงานตัว, ใช้อำนาจคุมขังบุคคลไว้ 7 วันโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา, สั่งให้คดีทางการเมืองของพลเรือนต้องพิจารณาที่ศาลทหาร คนจำนวนมากถูกจับกุมและดำเนินคดี คนจำนวนมากตัดสินใจหลบภัยการเมืองออกจากประเทศไทย จากนี้คือเรื่องเล่าบางแง่บางมุมของผู้คนที่ต้องพลัดพรากอันเป็นผลจากการใช้อำนาจทหารเหนือกระบวนการยุติธรรม 
 
ศศิวิมล: ในวันที่ไม่มีแม่อยู่ด้วย
 
ศศิวิมลถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊ก ก่อนถูกจับกุมเธอ อายุ 29 ปี เป็นชาวจังหวัดเชียงใหม่ มีอาชีพเป็นพนักงานที่โรงแรมแห่งหนึ่ง มีบุตรสาว 2 คน อายุ 10 ปี และ 7 ปี เมื่อ ศศิวิมลถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2558 ยายจึงต้องเป็นผู้ดูแลหลานสาวทั้งสอง
 
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจ เรียกตัวศศิวิมลไปที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ โดยแจ้งว่า ให้มาเซ็นหมายศาล แต่เมื่อไปถึงปรากฏว่า ถูกนำตัวไปที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ เพื่อขออำนาจฝากขัง ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และถูกส่งตัวไปที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ทันที ก่อนหน้านี้ในเดือนกันยายน 2557 เธอเคยถูกเจ้าหน้าที่ค้นบ้าน ก่อนนำตัวไปสอบสวน ซึ่งเธอเองก็ยอมรับว่าไม่ทราบถึง 'ความร้ายแรง' ของข้อหามาตรา 112 นี้มาก่อน วันที่ไปก็พาลูกสาวคนเล็กไปด้วยเนื่องจากไม่มีใครดูแล ในขณะที่หัวหน้างานก็โทรตามงานเธอเรื่อยๆ จึงรู้สึกร้อนรนอยากให้เรื่องนี้จบๆไป จึงให้การรับสารภาพกับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรภูพิงราชนิเวศน์โดยไม่มีทนายความอยู่ด้วย
 
กระทั่ง 7 สิงหาคม 2558 ในชั้นสืบพยาน ศศิวิมลให้การรับสารภาพ พร้อมให้ทนายยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพเพื่อโอกาสลดหย่อนโทษภายหลัง แต่ศาลทหารเชียงใหม่พิพากษาคดีในวันดังกล่าวทันที โดยตัดสินจำคุกกรรมละ 8 ปี จาก 7 ข้อความที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นฯ รวมเป็น 56 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 28 ปี 
 
"ยายเล่าว่าวันนั้น หลังกลับถึงบ้าน ได้พยายามบอกเรื่องคำพิพากษากับหลานๆ ทั้งสองคน ลูกสาวคนโตพอเข้าใจว่าแม่ต้องติดคุกอีกสักพักใหญ่ๆ แต่ดูเหมือน เธอจะไม่รู้หรอกว่า 28 ปี มันนานเท่าไร เธอเงียบซึมไป"
 
469
 
 
โอภาส: เจอคดีซ้ำสอง ภรรยารอต่อไปนานเท่าตัว
 
"ภรรยาของลุงโอภาสหอบโฉนดที่ดินมูลค่าประเมิน 2.5 ล้านบาท เพื่อยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งถือว่าเป็นคดีมาตรา 112 ที่ยื่นประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ที่สูงที่สุดของปี แต่ศาลไม่อนุญาต"
 
ตุลาคม 2557 มีข่าวจับชายสูงวัยคนหนึ่งจากการเขียนฝาผนังห้องน้ำ คนคนนั้นคือโอภาสวัย 67 ปี ประกอบอาชีพค้าขาย เบื้องต้นเจ้าตัวรับว่าเขียนข้อความตามข้อกล่าวหาจริง แต่ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เพียงแต่ต้องการวิจารณ์คณะรัฐประหาร เขาถูกคุมขังอยู่ที่ห้องขังกองปราบปรามเป็นเวลาห้าวัน ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่เข้มงวด ท่ามกลางความไม่รู้ไม่เข้าใจกระบวนการกฎหมายและอนาคตที่ต้องขึ้นอยู่กับอำนาจศาลทหาร ประกอบกับความเครียดทั้งเรื่องการงานการเงินและครอบครัว โอภาสมีภรรยาสุดรักเพียงคนเดียวที่ยังคอยเป็นกำลังใจอยู่ข้างๆ เดินทางมาเยี่ยม ซื้อข้าวซื้อน้ำ และของใช้จำเป็นอื่นๆ มาส่งให้ทุกวัน  
 
"หากปล่อยตัวผู้ต้องหาอาจไปกระทำการใดๆ หรือก่อเหตุประการอื่น หรือผู้ต้องหาอาจหลบหนี" คือเหตุผลที่ศาลยกคำร้องหลังภรรยายื่นขอประกันตัวในทุกครั้ง 
 
มีนาคม 2558 ศาลทหารพิพากษาจำคุกโอภาส 3 ปี เขาให้การรับสารภาพจึงลดโทษ เหลือ 1 ปี 6 เดือน แต่แล้วโอภาสเหมือนต้องคำสาป เพราะเขาถูกฟ้องอีกคดีจากการเขียนฝาห้องน้ำอีกบานในลักษณะเดียวกัน ศาลนัดสอบคำให้การเดือนตุลาคม 2558 ซึ่งทนายความแย้งว่าการเขียนประตูห้องน้ำบานที่สองของโอภาสในวันเดียวกัน อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดครั้งแรกเป็นการกระทำครั้งเดียวกัน โอภาสให้การรับสารภาพอย่างเช่นคดีแรกศาลทหารลงโทษ 3 ปี ลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน  ให้นับโทษคดีนี้ต่อจากโทษคดีเดิม มากไปกว่าโทษทัณฑ์คือการรอต่อไปของครอบครัวที่จะได้อยู่กันพร้อมหน้า 
 
สิรภพ: เสาหลักที่หายไปพร้อมการพิจารณาคดีที่เชื่องช้า
 
"วันนั้นลูกสาวทั้งสองอุ้มหลานทำอะไรไม่ถูก ได้แต่กอดกันร้องไห้ มีเพียงลูกชายที่ยังพอควบคุมสติได้ เมื่อทหารบุกเข้ามา"
 
สิรภพจำเลยคดี 112 อีกคนเล่าถึงเหตุการณ์ทหารเข้าไปค้นบ้านหลังรัฐประหาร เมื่อเขามีชื่อถูกเรียกรายงานตัว
 
สิรภพ หรือ รุ่งศิลา เป็นกวีที่เขียนเรื่องกลอนเนื้อหาเชิงการเมืองลงในเว็บไซต์ เขามีอาชีพเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างที่จังหวัดสงขลา แต่เมื่อเขาถูกดำเนินคดี ก็ทำให้ครอบครัวตกอยู่ในสภาพที่เลวร้ายลง กิจการรับเหมาก่อสร้างต้องเลิกเนื่องจากขาดคนหลักในการทำต่อ สิรภพยังถูกดำเนินคดีถึง 2 คดีในเวลาเดียวกัน คือ คดีฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวต่อคสช. และคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 ซึ่งสิรภพปฏิเสธทั้งสองข้อหา แม้จะผ่านมาเกือบสองปีแล้ว แต่การพิจารณาของทั้งสองคดี ยังอยู่ในชั้นสืบพยานฝ่ายโจทก์ เพราะการพิจารณามักถูกเลื่อนอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ยังไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนจะถึงวันตัดสินคดี
 
สิรภพตัดสินใจต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไรบ้าง โดยเลือกที่ยอมแลกกับการต้องต่อสู้คดีเป็นเวลานานและเวลาที่เขาจะต้องพลัดพรากจากครอบครัวก็จะยาวนานออกไปเรื่อยๆ ปัจจุบันลูกสาวคนโตของสิรภพเพิ่งเรียนจบปริญญาตรีและต้องทำงานเพื่อส่งเสียให้น้องอีกสองคนได้เรียนให้จบ ลูกทั้งสามคนยังคงทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปเยี่ยมสิรภพทั้งที่เรือนจำและวันที่ต้องมาศาล 
 
471
 
 
รินดา: ลูกๆที่เกือบพรากจากแม่เลี้ยงเดี่ยว
 
รินดา อายุ 44 ปี ถูกจับจากการโพสต์เฟซบุ๊กกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ และภรรยา โอนเงินไปสิงคโปร์หลายหมื่นล้านบาท พร้อมข้อหายุงยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 ในวันแรกที่เธอถูกฝากขัง ศาลทหารไม่ให้ประกันตัวโดยให้เหตุผลว่า เห็นว่าผู้ต้องหาถูกจับกุมในคดีความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่า หากปล่อยชั่วคราวอาจเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่การสอบสวน รินดาถูกขังอยู่ที่เรือนจำเป็นเวลา 3 วัน ก่อนได้รับการประกันตัว ล่าสุดศาลทหารและศาลอาญา เห็นตรงกันว่าคดีนี้ไม่ใช่ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แต่อาจเป็นแค่ความผิดฐานหมิ่นประมาท พล.อ.ประยุทธ์ จึงให้จำหน่ายคดีไปฟ้องใหม่ที่ศาลอาญา
 
รินดา เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่มีลูกสาวและลูกชายวัย 13 และ 7 ปี ระหว่างที่เธอถูกคุมขัง ครอบครัวของเธอต้องเผชิญสภาวะสุ่มเสี่ยงที่ลูกๆ อาจต้องขาดแม่เนื่องจากสามีเธอเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2555 ถึงแม้จะมีปู่และย่าที่คอยดูและเด็กๆ บ้าง แต่รินดาก็เป็นเสาหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว 
 
หนุ่มธนาคารที่ต้องสูญเสียความมั่นคงในชีวิต
 
"ผมไม่ได้ขึ้นตำแหน่ง ความก้าวหน้าทางอาชีพจะไม่มี โบนัสก็ไม่ได้ สิทธิในการสอบขึ้นระดับ การพิจารณาขั้นพิเศษ ผมจะไม่ได้เลย มันเป็นการสร้างความยากลำบากให้กับชีวิตอย่างสาหัสมาก เราไม่สามารถวางแผนการเงินในชีวิตได้ พูดง่ายๆ กลายเป็นคนไม่มีอนาคต ต้องลูบหน้าปาดจมูกเป็นเดือนๆ ไป มันสร้างความเครียดให้ผมอย่างมาก"
 
ชายผู้หนึ่งกล่าวถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดกับเขา ภายหลังเจ้าหน้าที่ทหารบุกเข้ามาจับกุมตัวเขาไปจากที่ทำงานเนื่องจากการโพสต์เฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์ทหาร การจับกุมดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ทำให้เขาต้องอยู่ในการควบคุมตัวของทหารนานถึงเจ็ดวัน และต่อมาถูกตั้งข้อหาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
 
ภายหลังการตั้งข้อหา เขาถูกที่ทำงานซึ่งเป็นธนาคารแห่งหนึ่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยและทำให้เขาถูกระงับสวัสดิการและความก้าวหน้าในชีวิตเขากลายเป็นคนไม่มีความมั่นคง จนกว่าคดีจะเสร็จสิ้น เขาต้องอยู่ในสภาวะเสี่ยงจะตกงานไปตลอด
 
"สิ่งที่ผมสูญเสียไม่ใช่แค่ความมั่นคงในหน้าที่การงาน ผมรู้สึกไม่ปลอดภัย แค่ผมเห็นรถเจ้าหน้าที่ทหารผมก็สะดุ้ง ยิ่งมีรถทหารมาต่อท้ายผมก็จะรู้สึกว่าโดนติดตามหรือเปล่า จนบ่อยครั้งผมก็ฝันร้าย ฝันว่าเหตุการณ์แบบนั้นมันจะเกิดขึ้นอีก.." เขากล่าว
 
อัครเดช: การขาดไปของอิสรภาพของทั้งพ่อและลูก
 
กรณีของอัครเดช นักศึกษาคณะวิศวะกรรมศาสตร์ ถูกดำเนินคดี 112 จากสเตตัสในเฟซบุ๊ก เขารับสารภาพศาลอาญาลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ในระหว่างที่อัครเดชต้องอยู่ในเรือนจำคนที่คอยมาเยี่ยมเยือนและดูแลเขาอยู่ตลอดเวลาอยู่เวลา คือ พ่อของเขา แต่ต่อมาสุรพลพ่อของอัครเดช ก็ถูกจับกุมและดำเนินคดีจากเหตุที่มีคนปาระเบิดใส่ลานจอดรถศาลอาญา สุรพลต้องถูกดำเนินคดีที่ศาลทหารและไม่ได้รับการประกันตัว ขณะนี้ทั้งอัครเดชและสุรพลต่างถูกจองจำในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตของพ่อลูกคู่นี้
 
 
จอม เพชรประดับ: ความอบอุ่นจางหายเมื่อไม่ได้กลับบ้าน
 
"ความรู้สึกผิด..กลับมาอยู่ในห้วงความคิดอีกครั้ง เมื่อทราบว่า พี่ชายคนที่ 4 เสียชีวิตไปอีกคน แม้ว่ายังมีพี่น้องอีกหลายคนอยู่เคียงข้าง แต่ธรรมเนียมปฏิบัติของครอบครัว วันสุดท้ายของใครคนใดคนหนึ่ง สมาชิกทุกคนต้องอยู่พร้อมหน้ากัน เพื่อร่วมส่งดวงวิญญาณของบุคคลอันเป็นที่รักให้ได้ไปสู่ภพที่ดี สุข สงบ และสว่าง รวมทั้งเพื่ออโหสิกรรมในสิ่งที่ได้ทำผิดพลาดไป ทั้งกาย วาจา ใจ ทั้งที่ตั้งใจ และไม่ตั้งใจ
เรา..ไม่มีโอกาสที่จะได้ทำเช่นนั้น 3 ปี..ของการหนีจากบ้าน ทำให้ ความรู้สึกมั่นคง ความอบอุ่น จางหายออกจากใจไปไม่น้อย"
 
จอม เพชรประดับ อดีตผู้สื่อข่าว พิธีกรช่อง NBT, VoiceTV เขียนโพสต์เฟซบุ๊กแสดงความรู้สึก และตัดพ้อต่อโชคชะตาในวาระที่พี่ชายของเขาเสียชีวิต แต่เขาไม่อาจกลับมาร่วมงานศพได้ จอมถูก คสช.ออกคำสั่งที่ 82/2557 เรียกให้มารายงานตัว แต่ไม่มารายงานตัวและลี้ภัยไปใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกา
 
ระหว่างการใช้ชีวิตในต่างแดน จอมยังคงพยายามทำหน้าที่สื่อมวลชนและผลิตรายการวิเคราะห์การเมืองด้วยตัวเอง เขาเชิญผู้คนมาสัมภาษณ์ออกรายการอย่างต่อเนื่องทางยูทูป “Thaivoicemedia” ซึ่งการพยายามเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของเขายิ่งทำให้โอกาสกลับบ้านของเขาน้อยลงไปอีก
 
 
473 จอม ขณะใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกา
 
 
ธันย์ฐวุฒิ: สองปีที่ผ่านมา ยังไม่เคยได้เจอลูกเลย
 
"ตอนที่เข้ามาใหม่ๆ อยู่ในสภาพที่ยังพอมีเงินติดตัวมาและคิดว่ายังต้องต่อสู้ต่อไป แต่พอผ่านไประยะนึงการต่อสู้ทางการเมืองไม่ตอบโจทย์ว่าจะทำให้เราเลี้ยงตัวเองได้ เพราะคำถามหลักของเรา คือ เราจะกลับเมืองไทยได้เมื่อไร เลยต้องตัดสินใจว่าจะยุติการเคลื่อนไหวและสนใจเรื่องทำมาหากิน” 
 
ธันย์ฐวุฒิ หรือ “หนุ่มเรดนนท์” อดีตนักโทษคดีมาตรา 112 กล่าว ธันย์ฐวุฒิเคยต้องรับโทษอยู่ในเรือนจำกว่าสามปีก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษออกมา หลังการรัฐประหาร เขาถูกคสช.ออกคำสั่งที่ 44/2557 เรียกให้มารายงานตัว แต่ไม่มารายงานตัวเพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัยของตัวเอง และตัดสินใจลี้ภัยไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน
 
"สองปีที่ผ่านมา ยังไม่เคยได้เจอลูกเลย ตอนแรกเรายังไม่อยากย้ายไปไหนเพราะแม่ของผมบอกว่าพอลูกจบม.3 จะส่งลูกมาอยู่กับผม เราก็เตรียมตัวว่าถ้าทำธุรกิจประสบความสำเร็จลูกมาก็จะต้องสบาย เราก็จะเอาเงินให้ลูกได้ สองปีที่ผ่านมาก็คอยอยู่ แต่พอตอนนี้เขาก็ต่อม.ปลายที่เมืองไทย ทุกวันนี้ก็เริ่มมีเงินส่งกลับไปเป็นค่าเรียนได้บ้าง แต่ก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้ช่วยเหลือทางบ้านเลย ถ้าเราส่งได้มากกว่านี้เราก็จะทำ แต่ลำพังเราอยู่ที่นี่ก็ลำบากเพราะอาหารก็แพง" ธันย์ฐวุฒิเล่า
 
ธันย์ฐวุฒิ เป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่ใช้ชีวิตอยู่กับลูกชายหนึ่งคนตามลำพัง เขาถูกจับและเข้าเรือนจำครั้งแรกเมื่อปี 2553 ทำให้เขาต้องพลัดพรากจากลูกครั้งแรก เขาได้ออกจากเรือนจำมาและอยู่กับลูกอีกครั้งไม่ถึงหนึ่งปี เมื่อสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนแปลง ความพลัดพรากก็เกิดขึ้นอีกครั้งแต่คราวนี้ยังไม่อาจบอกได้ว่านานเท่าไร
 
472 ธันย์ฐวุฒิ ก่อนเดินทางออกนอกประเทศ
 
 
ตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีผู้คนจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจทหารเหนือกระบวนการยุติธรรม คนจำนวนมากต้องถูกดำเนินคดี คนหลายคนต้องถูกจำคุก และคนอีกหลายคนต้องตัดสินใจลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ จากการบันทึกข้อมูลของไอลอว์ ตลอดสองปีในยุคคสช.มีคนอย่างน้อย 93 คนที่ต้องเข้าไปใช้ชีวิตในเรือนจำ เพราะการแสดงความคิดเห็น และอย่างน้อย 303 คนที่ผ่านการถูกคุมขังในค่ายทหาร ปัจจุบันบุคคลที่ยังถูกคุมขังอยู่เพราะการแสดงออกอย่างสงบมีอย่างน้อย 44 คน ซึ่งเป็นการคุมขังตามคำพิพากษา 26 คน และเป็นการคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี 18 คน
 
สำหรับจำนวนคนถูกประกาศเรียกรายงานตัวตามคำสั่งคสช.เท่าที่บันทึกได้จากการรายงานของสื่อมวลชน และคำบอกเล่าที่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงได้มี 480 คน จากจำนวนนี้ จนถึงปัจจุบันมีคนเข้ารายงานตัวแล้ว 349 คน ส่วนอีก 131 คน ยังไม่ทราบชะตากรรม 
 
จากการเก็บข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีคนไทยที่ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดน เพราะหนีภัยทางการเมืองมากกว่า 200 คน ในจำนวนนี้มีเพียงคนเดียวที่มีรายงานว่าได้รับสถานะผู้ลี้ภัย คือ เอกภพ หรือ “ตั้ง อาชีวะ” ผู้หนีภัยทางการเมืองประมาณ 10 คน ซึ่งอยู่ในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปอยู่ระหว่างกระบวนการขอสถานะผู้ลี้ภัยและอยู่ในต่างประเทศได้โดยถูกกฎหมาย ส่วนผู้ที่หนีภัยทางการเมืองส่วนใหญ่ยังอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านและมีสถานะเป็นเพียงผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย หลายคนยังคงเคลื่อนไหวพยายามแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ขณะที่หลายคนเลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและสนใจแต่เรื่องการทำมาหากินเท่านั้น  
 
"ทุกคนอยากกลับบ้านหมด ต่อให้คนที่ได้สถานะผู้ลี้ภัยในต่างประเทศ ก็อยากกลับประเทศไทย ต่อให้จะเกลียดเผด็จการประเทศไทยขนาดไหน ต่อให้จะต้องหนีมายังไงก็ตาม มนุษย์ทุกคนยังไงก็อยากกลับไปพบญาติพี่น้องบนแผ่นดินเกิดตัวเอง เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ แต่ถ้ากลับไปไม่ได้เพราะด้วยปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ก็ต้องปลอบใจตัวเองไป ถึงแม้จะมีการเลือกตั้งแล้วกลับไปสู่ประชาธิปไตยแล้ว แต่เราก็ไม่รู้ว่าทิศทางการเมืองจะเป็นอย่างไร เมื่อความอยุติธรรมยังคงมีอยู่ ก็ยังกลับไม่ได้ แม้ว่าจะอยากกลับแค่ไหนก็ตาม" จอม เพชรประดับ กล่าว
 
หลากหลายเรื่องราวการพลัดพรากที่เกิดขึ้น เป็นผลจากการใช้อำนาจของรัฐที่ใช้อารมณ์ในกระบวนการยุติธรรมมากกว่าเหตุผล ผู้คนจำนวนมากเป็นเพียงคนตัวเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบเพียงเพราะการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ตลอดสองปีของคสช.ได้บีบให้คนจำนวนมากไม่มีทางเลือก ผู้ได้รับผลกระทบต้องบ้านแตกสาแหรกขาด ธุรกิจล้มละลายหาย บางคนไม่ได้กลับประเทศ เพียงเพราะความคิดเห็นแตกต่างทางการเมือง ...
 
 
อ่านรายงาน 24 เดือนคสช.: เมื่ออำนาจทหารอยู่เหนือระบบยุติธรรม ต่อตอนอื่นที่
 
 
ไฟล์แนบ: 
Report type: