1752 1614 1836 1430 1273 1663 1364 1430 1088 1388 1208 1468 1839 1870 1622 1006 1816 1453 1626 1314 1266 1790 1326 1744 1206 1498 1013 1546 1298 1891 1297 1294 1518 1764 1631 1042 1056 1526 1052 1796 1401 1674 1259 1267 1636 1478 1056 1045 1520 1717 1888 1047 1592 1325 1844 1903 1415 1660 1797 1232 1085 1365 1483 1715 1220 1153 1191 1051 1775 1428 1498 1864 1908 1588 1450 1136 1531 1678 1912 1016 1825 1239 1371 1800 1668 1765 1558 1079 1151 1169 1488 1138 1807 1032 1208 1851 1219 1050 1381 สี่ปีคสช.: สัญลักษณ์และประดิษฐกรรมแห่งการท้าทายอำนาจรัฐทหาร | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

สี่ปีคสช.: สัญลักษณ์และประดิษฐกรรมแห่งการท้าทายอำนาจรัฐทหาร

ตลอดระยะเวลาสี่ปีที่ผ่านมา คสช.พยายามจำกัดการแสดงออกหรือการเคลื่อนไหวต่อต้านโดยสันติของผู้เห็นต่างและคัดค้านการรัฐประหาร โดยใช้อำนาจพิเศษหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการเรียกตัวแกนนำขบวนการเคลื่อนไหวหรือนักการเมืองคนสำคัญที่อาจนำการเคลื่อนไหวของประชาชนไปเข้าค่ายปรับทัศนคติและทำข้อตกลงห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง การออก 'กฎหมาย' ด้วยอำนาจพิเศษเช่นประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 (ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน) , 49/2557 (ห้ามสนับสนุนการชุมนุมทางการเมือง) และคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 (ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน) มาจำกัดการเคลื่อนไหวและการส่งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอื่นๆ ไปเยี่ยมบ้านผู้ออกเคลื่อนไหวต่อต้านคสช.
 
ในภาพรวมการสยายปีกแห่งของอำนาจคสช.อาจจะพอสร้างผลที่เป็นรูปธรรมได้บ้างเพราะตลอดระยะเวลาสี่ปีที่ผ่านมาแกนนำกลุ่มการเมืองที่มีแนวโน้มต่อต้านการรัฐประหารอย่างกลุ่ม นปช.ก็มีการจำกัดบทบาทการเคลื่อนไหวของตัวเองและไม่มีการนัดเคลื่อนไหวใหญ่ในระดับที่เคยเกิดขึ้นก่อนการรัฐประหาร แต่ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความกลัวที่ คสช.พยายามสร้างขึ้นผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารหรือการบริหารประเทศของคสช.ก็ใช่จะอยู่ในสภาวะยอมจำนนโดยสิ้นเชิง พวกเขาเพียงแต่ปรับเปลี่ยนแนวทางการเคลื่อนไหวใหม่อย่างการแสดงออกเชิญสัญลักษณ์ด้วยรูปแบบต่างๆเข้ามาแทนที่ื โดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบความเคลื่อนไหวนี้นอกจากจะเป็นการลดความเสี่ยงของการชุมนุมขนาดใหญ่ที่อาจจบลงด้วยการถูกสลายการชุมนุมหรือถูกดำเนินคดี ยังสะท้อนจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของผู้ร่วมการเคลื่อนไหวหลังการรัฐประหารที่พยายามหาลูกเล่นมาสร้างสีสันเพื่อทำให้ผู้รับสารรู้สึกว่าการแสดงออกทางการเมืองเป็นสิ่งที่ธรรมดาที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้ ไม่ใช่เรื่องรุนแรงหรือน่ากลัวแต่อย่างใด
 
เนื่องในโอกาสครบรอบสี่ปีของการรัฐประหาร ไอลอว์ถือโอกาสรวบรวมสัญลักษณ์และประดิษฐกรรมส่วนหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อแสดงออกถึงจุดยืนคัดค้านการรัฐประหารและการดำรงอยู่ของคสช. สัญลักษณ์ในรายงานชิ้นนี้หมายถึงท่าทางหรือสิ่งของที่มีอยู่แต่เดิมแต่ถูกนำมาให้ความหมายใหม่ในการคัดค้านการรัฐประหารหรือคสช.ส่วนประดิษฐกรรมหมายถึงสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในการสื่อสารถึงความไม่เห็นด้วยหรือการคัดค้านการรัฐประหารหรือคสช.โดยตรง
 

ชูสามนิ้ว: สัญลักษณ์ที่ถูกหยิบใช้และปรับเปลี่ยนความหมายมาตลอดสี่ปี 

841

 
เท่าที่มีข้อมูลการรวมตัวของประชาชนเพื่อคัดค้านการรัฐประหารของคสช.น่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2557 หรือหนึ่งวันหลังการรัฐประหารแล้ว  แต่การรวมตัวครั้งดังกล่าวน่าจะยังไม่ได้มีการคิดค้นสัญลักษณ์ใดสัญลักษณ์หนึ่งมาใช้ในการแสดงออกร่วมกัน มีแต่เพียงการที่แต่ละคนเขียนป้ายแสดงความรู้สึกหรือออกมาตะโกนแสดงความรู้สึกของตัวเองในจุดนัดพบเท่านั้น การรวมตัวของกลุ่มประชาชนในวันที่ 1 มิถุนายน 2557 ในสถานที่หลายแห่งในเวลาไล่เลี่ยกันได้แก่ที่ ทางเดินสกายวอล์กสนามกีฬาแห่งชาติ, หน้าหอศิปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, ห้างสรรพสินค้า เทอร์มินอล 21 แยกอโศก, ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ) น่าจะเป็นครั้งแรกที่ผู้เข้าร่วมมีการใช้สัญลักษณ์ร่วมกันคือ ยกแขนชูนิ้วสามนิ้ว คือ นิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนาง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่มาจากภาพยนตร์เรื่อง The  Hunger Games
 
842
กิจกรรมชูสามนิ้วต้านรัฐประหารที่สกายวอล์กสยามสแควร์ ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2557 ภาพจาก Banrasdr Photo
 
สำหรับความหมายของสัญลักษณ์สามนิ้วเท่าที่มีการรายงานมีอยู่สองแบบ ความหมายแรกคือ "ขอบคุณ สรรเสริญ และลาก่อน" ซึ่งเป็นความหมายดั่งเดิมตามภาพยนตร์ The Hunger Game  อย่างไรก็ตามในบริบทของการคัดค้านการรัฐประหารการชูสามนิ้วได้ถูกนำไปผนวกกับอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 ได้แก่ เสรีภาพ ความเสมอภาค และภารดรภาพ  สัญลักษณ์ "สามนิ้ว" น่าจะเป็นสัญลักษณ์ที่มีการหยิบยกมาใช้ซ้ำในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อคัดค้านการรัฐประหารและคสช.บ่อยครั้งที่สุดและมีการให้ความหมายใหม่ตามบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไปด้วย โดยในช่วงต้นปี 2561 ที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการสืบทอดอำนาจของคสช. สัญลักษณ์สามนิ้วถูกหยิบยกมาใช้และให้ความหมายใหม่ว่า "1. เลือกตั้งในปีนี้ (2561) 2.เผด็จการจงพินาศ 3.ประชาธิปไตยจงเจริญ" 
 
นอกจากการรวมตัวชูสามนิ้วที่กล่าวมาข้างต้นก็มีการชูสามนิ้วอีกอย่างน้อยสองครั้งที่กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในสาธารณะ ครั้งแรกในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 ระหว่างที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังมอบนโยบายให้ข้าราชการที่จังหวัดขอนแก่น นักศึกษากลุ่มดาวดินห้าคนสวมเสื้อสกรีนข้อความที่เมื่อยืนเรียงกันอ่านว่า "ไม่ เอา รัฐ ประ หาร" พร้อมทั้งชูสัญลักษณ์สามนิ้วต่อหน้าพล.อ.ประยุทธ์ก่อนจะถูกควบคุมตัวออกไป คล้อยหลังจากนั้นเพียงหนึ่งวันในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งเป็นวันที่ภาพยนตร์ Hunger Game - The Mocking Jay ภาค 1 มีกำหนดเข้าฉายในเมืองไทย ณัชชชา นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพได้ยืนทำสัญลักษณ์สามนิ้วพร้อมเอามืออีกข้างหนึ่งปิดปากที่บริเวณแผ่นป้ายโฆษณาภาพยนตร์ The Hunger Game เป็นเหตุให้เธอถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ"เชิญตัว" ไปที่สน.ปทุมวัน การจับกุมผู้ที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชูสามนิ้วยังถูกเฟซบุ๊กเพจ "ไข่แมว" หยิบไปทำภาพล้อเลียนด้วย แต่น่าเสียดายที่ภาพดังกล่าวไม่สามารถเข้าถึงในอินเทอร์เน็ตได้แล้วเนื่องจากภาพต้นฉบับถูกโพสต์ในเพจไข่แมวเดิมที่ปิดตัวไป
 
843
 
ภาพการ์ตูนล้อการจับคนชูสามนิ้วไปปรับทัศนคติโดยเพจไข่แมว ปัจจุบันเข้าถึงไม่ได้แล้วเนื่องจากเพจปิดไปแล้ว
 

บันทึกไว้ในยุคสมัย ครั้งหนึ่งคนไทยต้องแอบนัดกันอ่านหนังสือ

855

ในบริบทการเมืองที่การชุมนุมโดยสงบกลายเป็นสิ่งต้องห้ามและผิดกฎหมาย นักกิจกรรมทางสังคมส่วนหนึ่งพยายามใช้ความคิดสร้างสรรค์นำกิจกรรมที่เป็นกิจวัตรปกติในชีวิตประจำวันมาประยุกต์เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อให้ประชาชนสามารถระบายความอึดอัดคับข้องใจอย่างสันติได้บ้างแต่ในขณะเดียวกันก็ไม่เสี่ยงต่อการปะทะหรือการจับกุมมากจนเกินไป  
 
"พีชชี่" นักกิจกรรมที่เป็นคนต้นคิดในการจัดกิจกรรมอ่านหนังสือคัดค้านการรัฐประหารเล่าให้ฟังที่มาของการจัดกิจกรรมว่า หลังการรัฐประหารเธอติดตามข่าวการเคลื่อนไหวคัดค้านการรัฐประหารและการใช้อำนาจจับกุมประชาชนอย่างใกล้ชิด จนเกิดความรู้สึกว่า คสช.เริ่มประสบความสำเร็จในการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวผ่านการจับตัวผู้ออกมาประท้วงในลักษณะ "ปะทะตรง" เธอจึงเริ่มคุยกับเพื่อนว่า น่าจะต้องหาวิธีทำกิจกรรมที่หลีกเลี่ยงการแสดงออกโดยตรงเพื่อลดเงื่อนไขการใช้อำนาจจับกุมของเจ้าหน้าที่ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นกิจกรรมที่สามารถสื่อถึงการคัดค้านได้อย่างมีพลังด้วย
 
 
845

กิจกรรมอ่านหนังสือ 1984 ที่หน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา กรกฎาคม 2557 ภาพจาก ประชาไท

เพื่อนชาวต่างชาติของ "พีชชี่" คนหนึ่งเล่าให้เธอฟังว่าในปี 2556 เคยมีการจัดกิจกรรมอ่านหนังสือประท้วงแผนการเอาที่ดินสวนสาธารณะไปสร้างเป็นห้างสรรพสินค้าในตุรกี เธอจึงได้นำเอาแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์เป็นการจัดกิจกรรมอ่านหนังสือคัดค้านการรัฐประหารในไทย เนื่องจากเห็นว่ารูปแบบของกิจกรรมไม่ได้มีลักษณะเป็นการเผชิญหน้า ในขณะเดียวกันก็สามารถสื่อนัยถึงกิจกรรมได้อย่างชัดเจนผ่านเนื้อหาของหนังสือที่นำมาอ่านอันได้แก่ หนังสือ 1984 วรรณกรรมของจอร์จ ออร์เวลที่บอกเล่าเรื่องราวของประเทศสมมติประเทศหนึ่งที่ถูกปกครอง โดยระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จที่มีการสอดส่องและควบคุมไม่เพียงการแสดงออกทางกายแต่ครอบคุมไปถึงความคิดและจิตใต้สำนึก รวมทั้งหนังสือการเมืองอื่นๆที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน
 
"พีชชี่"ระบุว่าตัวเธอเป็นผู้ประสานงานและร่วมทำกิจกรรมอ่านหนังสือทั้งหมดสี่ครั้งครั้งแรกจัดที่ลานสกายวอล์กบีทีเอสสนามกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่สองที่สกายวอล์กบีทีเอสช่องนนทรีย์  ครั้งที่สามที่สกายวอล์กบริเวณวัดปทุมวนาราม และครั้งที่สี่เป็นการอ่านแบบเคลื่อนที่บนรถไฟฟ้า และเล่าต่อไปว่า การจัดกิจกรรมอ่านหนังสือเป็นการจัดแบบไม่เปิดเผยเนื่องจากมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย การประสานงานระหว่างผู้เข้าร่วมเป็นลักษณะการบอกต่อ ไม่มีการประกาศเชิญชวนบนเฟซบุ๊ก (ยกเว้นครั้งที่สี่ที่มีการสร้าง event ในเฟซบุ๊ก) ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละครั้งจะมาพูดคุยทำความเข้าใจกันก่อนเริ่มทำกิจกรรมและทุกครั้งจะเตรียม "แมวมอง" ไว้คอยดูลาดเลาด้วย สำหรับตัว "พีชชี่" ทุกครั้งที่ไปทำกิจกรรมเธอจะพกโทรศัพท์แบบที่สามารถโยนทิ้งได้แบบไม่เสียดายแทนสมาร์ทโฟน แม้กิจกรรมอ่านหนังสือจะมีการประสานงานแบบ "ปิดลับ" เพื่อลดความเสี่ยงที่ผู้เข้าร่วมจะถูกคุกคามแต่ก่อนเริ่มกิจกรรมทุกครั้งก็จะมีการติดต่อสื่อมวลชนให้มารอทำข่าวเพื่อให้กิจกรรมที่เกิดขึ้นสื่อสารถึงประชาชนให้มากที่สุด
 
846
 
กิจกรรมอ่านหนังสือต้านรัฐประหาร 27 พฤษภาคม 2557 ภาพจาก ประชาไท
 
เมื่อถามถึงการคุกคามจากเจ้าหน้าที่ "พีชชี่" ระบุว่า กิจกรรมอ่านหนังสือมีการประสานงานแบบไม่เปิดเผย จึงไม่เคยมีการคุกคามโดยตรงจากเจ้าหน้าที่ ทั้งยังเล่นกับ 'กฎหมาย' ของคสช. ด้วยการให้ผู้เข้าร่วมอ่านหนังสือกันสี่คนซึ่งไม่ถึงห้าคนตามที่คสช.สั่งห้ามด้วย พร้อมทั้งเล่าแบบติดตลกด้วยว่า พอจัดกิจกรรมอ่านหนังสือครั้งที่สามที่ลานสกายวอล์กช่องนนทรีย์เสร็จ วันรุ่งขึ้นเธอและเพื่อนๆตั้งใจจะไปจัดกิจกรรมตรงนั้นอีกครั้งแต่ปรากฎว่ามีการตั้งเวทีแอโรบิคมาตั้งในบริเวณนั้นทั้งที่ปกติไม่น่าจะมีเธอเลยตัดสินใจยกเลิกกิจกรรมในนาทีสุดท้าย สำหรับผลตอบรับจากสังคม "พีชชี่"  ยอมรับว่า หากวัดกันในแง่จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้คงมีคนมาไม่มากเหมือนที่ประเทศตุรกี แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้ปรากฎว่าคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารยังมีตัวตนอยู่ แม้ "พีชชี่" จะยอมรับว่าระหว่างการทำกิจกรรมเธอและผู้เข้าร่วมก็มีความกลัวอยู่บ้างแต่เนื่องจากมีการเตรียมความพร้อมและมาตรการสำรองไว้ระดับหนึ่งแล้วรวมทั้งการเคลื่อนไหวรูปแบบนี้ก็เป็นสิ่งใหม่ที่ฝ่ายความมั่นคงยังพลิกตำรารับไม่ทัน "พีชชี่" และผู้เข้าร่วมคนอื่นๆจึงตัดสินใจผลักมันไปข้างหน้า       
 

แซนด์วิช สัญลักษณ์ต้านรัฐประหารที่คสช."ภูมิใจ" นำเสนอ

 
856
 
นอกจากการอ่านแล้ว การกินก็เป็นกิจกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์อีกกิจกรรมหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาให้ความหมายในฐานะกิจกรรมคัดค้านการรัฐประหาร อย่างไรก็ตามกรณีของแซนด์วิชก็มีความต่างจากกรณีของการอ่านหนังสืออยู่บ้างเพราะหนังสือ 1984 และหนังสือการเมืองที่ถูกนำมาอ่านเล่มอื่นๆถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ของการคัดค้านการรัฐประหารด้วยความจงใจแต่แซนด์วิชคือสิ่งที่ถูกทำให้กลายเป็นสัญลักษณ์ด้วยความบังเอิญและที่สำคัญผู้ที่ทำให้แซนด์วิชกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านรัฐประหารไม่ใช่นักกิจกรรมที่ไหนแต่เป็นคสช.ที่ใช้อำนาจผ่านเจ้าหน้าที่รัฐเสียเอง
 
ลูกเกดนักกิจกรรมสาวอีกคนหนึ่งเล่าย้อนไปถึงที่มาที่ไปของแซนด์วิชในฐานะสัญลักษณ์คัดค้านการรัฐประหารว่า หลังคสช.มีประกาศห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน เธอและเพื่อนๆที่ยังเป็นนักศึกษาในขณะนั้นคุยกันว่าน่าจะต้องจัดกิจกรรมอะไรสักอย่าง ครั้นจะจัดการชุมนุมก็อาจจะเข้าเงื่อนไขที่จะถูกเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจจับกุมได้ จึงคุยกันว่า น่าจะจัดกิจกรรมลักษณะอื่นที่ โดยเฉพาะเป็นกิจกรรมที่อยู่ในชีวิตประจำวันของคนอยู่แล้ว สุดท้ายเลยคุยกันว่า น่าจะจัดดูหนังแล้วก็กินขนมด้วยกัน
 
847
 
กิจกรรมปิคนิคใต้ร่มนนทรี อ่านบทกวี ฉายหนัง รัฐประหาร เหตุการณ์ที่ทำให้แซนด์วิชเป็นสัญลักษณ์ในการต้านรัฐประหาร ภาพจาก เพจ Banrasdr Photo
 
ลูกเกดและกลุ่มเพื่อนนักกิจกรรมจึงโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเชิญชวนประชาชนร่วมกิจกรรม "ปิคนิคใต้ร่มนนทรี อ่านบทกวี ฉายหนัง รัฐประหาร" ในวันที่ 6 มิถุนายน 2557  ลูกเกดเล่าต่อไปว่า ตอนแรกพวกเธอไม่ได้คิดถึงแซนด์วิชในฐานะสัญลักษณ์ทางการเมืองเลยเพราะตัวเธอเองก็ไม่ได้มีความคิดสร้างสรรค์อะไรขนาด  แซนด์วิชเป็นแค่หนึ่งในขนมที่ซื้อไปแจกคนมาร่วมงานเท่านั้นเพราะมันแกะกินง่าย แต่ปรากฎว่าตั้งแต่ก่อนเวลานัดหมายก็มีเจ้าหน้าที่มาตรึงกำลังห้ามไม่ให้จัดงานพวกเธอก็เลยต่อรองกับเจ้าหน้าที่ว่าจะขอแค่กินแซนด์วิชแล้วกลับเพราะเตรียมมาแล้วแต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ยอมจนเกิดภาพที่ลูกเกดเล่าว่า "เจ้าหน้าที่พยายามแย่งแซนด์วิชจากนักศึกษาตัวเล็กๆ" นับตั้งแต่วินาทีนั้นแซนด์วิชก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้คัดค้านการรัฐประหาร "โฆษกของนักกิจกรรมที่ดีที่สุดไม่ใช่โรม ไม่ใช่จ่านิว แต่เป็นคสช.เอง" คำบอกเล่าของลูกเกดดูจะอธิบายความผลิกผันที่ทำให้แซนด์วิชเปลี่ยนจาก "ของกินเล่น" มาเป็น "สัญลักษณ์" ที่มีความหมายทางการเมืองได้ดีที่สุด
 
ลูกเกดและเพื่อนๆตัดสินใจพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยการจัดกิจกรรมที่ใช้แซนด์วิชเป็นสัญลักษณ์โดยตรง“ไม่อะไรมว๊าก อยากกินแซนด์วิช”  ในวันที่ 22 มิถุนายน 2557 ที่ ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน การจัดกิจกรรมครั้งนั้นส่งผลให้นักศึกษารวมเก้าคนถูกพาตัวไปปรับทัศนคติที่ค่ายทหารรวมทั้งตัวของลูกเกดด้วย
 
848
 
กล่องแซนด์วิช หนังสือ 1984 และ โทรศัพท์เปิดเพลงชาติฝรั่งเศส อุปกรณ์ที่แชมป์ใช้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในวันที่ 22 มิถุนายน 2557 ที่มาแชมป์
 
นอกจากลูกเกดและเพื่อนในกลุ่มอีกแปดคน ในวันเดียวกันยังมีนักศึกษาอีกคนหนึ่งที่ไปทำกิจกรรมกินแซนด์วิชจนถูกควบคุมตัวไปปรับทัศนคติด้วย แชมป์นักกิจกรรมทางสังคมซึ่งกำลังศึกษาระดับปริญญาโทอยู่ในขณะเกิดเหตุเล่าว่าตัวเขาไปกินแซนด์วิชบริเวณลานน้ำพุ สยามพารากอนในเวลาประมาณ 16.30 ตามที่มีการประกาศเชิญชวนกันในเฟซบุ๊กแต่เมื่อเขามาถึงกลุ่มนักกิจกรรมที่เป็นคนนัดหมายทำกิจกรรมได้แก่ ลูกเกดและเพื่อนๆรวมเก้าคนก็อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่หมดแล้วขณะที่บริเวณนั้นก็มีเพียงเจ้าหน้าที่และผู้สื่อข่าวจึงไม่มีใครแสดงตัวว่ามาทำกิจกรรม แชมป์จึงหยิบหนังสือ 1984 ขึ้นมาอ่านและกินแซนด์วิชเพียงลำพัง ซึ่งนั่นทำให้เขากลายเป็นจุดสนใจของทั้งผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจในทันที
 
แชมป์เล่าต่อว่าหลังเขากินแซนด์วิชไปชิ้นหนึ่งเขาก็หยิบโทรศัพท์มือถือมาเปิดเพลงชาติฝรั่งเศสที่โหลดไว้ในเครื่องก่อนหน้านี้แล้วโดยเหตุที่เลือกใช้เพลงชาติฝรั่งเศสเป็นเพราะเคยมีข่าวว่าการชูสามนิ้วถูกประกาศให้เป็นกิจกรรมต้องห้าม เขาจึงใช้วิธีเปิดเพลงชาติฝรั่งเศสซึ่งเชื่อมโยงถึงอุดมการณ์แห่งการปฏิวัติฝรั่งเศสอันได้แก่ "เสรีภาพ ความเสมอภาค และภารดรภาพ" ซึ่งถูกผูกโยงกับสัญลักษณ์สามนิ้วแทน เขาทำกิจกรรมไปจนเมื่อฝนทำท่าจะตกจึงเตรียมจะเดินออกแต่สุดท้ายก็ถูกชายแต่งตัวด้วยชุดไปรเวทมะรุมมะตุ้มทำการจับกุมจนเป็นที่มาของภาพขณะที่เขาถูกลากไปบนพื้นบนหน้าสื่อ
 
849
 
แชมป์ขณะถูกควบคุมตัวที่สยามพารากอน ภาพจาก Banrasdr Photo
 
ตามบทสัมภาษณ์ที่แชมป์เคยให้ไว้กับสำนักข่าวประชาไท แชมป์ระบุว่าเมื่อเขาถูกพาไปควบคุมตัวที่เดียวกับกลุ่มนักศึกษาผู้จัดงานที่ถูกพาตัวไปก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ทหารนำข้าวผัดกะเพรามาให้เขากินระหว่างรอ แต่แชมป์ปฏิเสธและกินแซนด์วิชของตัวเองที่เหลือแทน เมื่อสอบถามเพิ่มเติมว่าการปฏิเสธข้าวผัดกะเพราและกินแซนด์วิชแทนเป็นเพราะแชมป์ต้องการแสดงออกอะไรบางอย่างใช่หรือไม่แชมป์ตอบว่า ตอนนั้นเขาไม่ได้ต้องการจะแสดงจุดยืนอะไรแล้วแต่ที่เลือกกินแซนด์วิชต่อเป็นเพราะเขาไม่ต้องการ "ติดหนี้บุญคุณ" อะไรกับทหาร แชมป์เล่าต่อว่า เมื่อเขาถูกควบคุมตัวจากห้างลงมาที่ลับตาคนแล้วก็มีการทำร้ายร่างกายทั้งถูกชกและถูกศอกซึ่งเขาชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความบังเอญแต่เป็นความจงใจ แชมป์กล่าวต่อไปว่าแม้เจ้าหน้าที่ทหารที่นำข้าวมาให้กับชายในชุดไปรเวทที่ทำร้ายร่างกายเขาจะเป็นคนละคนกัน แต่แชมป์ก็ไม่ต้องการที่จะกินข้าวจากเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งเมื่อเขาถูกจับกุมตัวอีกครั้งในการทำกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์เขาก็ปฏิเสธอาหารที่เจ้าหน้าที่นำมาให้เช่นเดียวกัน  
 

นาฬิกาบอกเวลา: สัญลักษณ์ของเวลาที่เสียไปและประดิษฐกรรมต่อต้านการทุจริต

 

859

 
ในบรรดาสิ่งของที่ถูกหยิบใช้เพื่อคัดค้านการรัฐประหารหรือประท้วงคสช.ทั้งหมดในรายงานชิ้นนี้ นาฬิกาเป็นสิ่งเดียวที่ถูกหยิบมาใช้ทั้งในฐานะสัญลักษณ์เพื่อให้ความหมายทดแทน "เวลาที่เสียไป" และฐานะประดิษฐกรรมทางการเมืองที่ผลิตขึ้นเพื่อเสียดสีบุคคลรัฐมนตรีในรัฐบาลคสช.ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะมีพฤติการณ์ทุจริตคอรัปชันเสียเอง ทั้งที่ตอนเข้ามาสู่อำนาจการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาลที่แล้วคือ "เหตุผล" ที่คสช.ใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการทำรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญของตัวเอง
 
ลูกเกดเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งนาฬิกาถูกหยิบยกมาให้ความหมายในฐานะสัญลักษณ์ทางการเมืองในกิจกรรม "ศุกร์ 22 มาฉลองกันมะ"  ที่เชิญชวนประชาชนมาร่วมยืนดูนาฬิกาเงียบๆ ใน เวลา 18.00 - 18.15 ที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯว่า ช่วงก่อนวันครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหาร เธอและเพื่อนๆนักศึกษาที่มีความตื่นตัวทางการเมืองกลุ่มหนึ่งมีความคิดที่จะจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงการรัฐประหารที่กำลังจะผ่านไปครบหนึ่งขวบปี ในที่สุดเธอและเพื่อนๆก็ตัดสินใจที่จะหยิบนาฬิกา เครื่องมือบอกเวลามาให้ความหมายทางการเมืองในกิจกรรมครั้งนี้ สำหรับเหตุที่เลือกนาฬิกา ลูกเกดระบุว่าหน้าที่ตามปกติของนาฬิกาคือเครื่องมือบอกเวลา การจัดกิจกรรมครั้งนี้จึงเป็นการสื่อความหมายว่าเวลาหนึ่งปีที่ผ่านไปประเทศและประชาชนได้สูญเสียอะไรหลายๆอย่างไป ขณะเดียวกันนาฬิกาก็เป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน ไม่ว่าจะอยู่บนฝาผนัง บนข้อมือ หรือแม้กระทั่งในโทรศัพท์มือถือ การใช้นาฬิกาเป็นสัญลักษณ์จึงทำให้คนที่สนใจมาร่วมทำกิจกรรมได้ไม่ยากนัก
 
850
 
กิจกรรมดูนาฬิการำลึกหนึ่งปีการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2561
 
แม้ว่ากิจกรรมยืนดูนาฬิกาจะยุติไปตั้งแต่เวลาประมาณหนึ่งทุ่มของวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 แล้ว แต่นาฬิกาในฐานะสัญลักษณ์ของเวลาที่ต้องสูญเสียไปยังคงอยู่เพราะจนถึงวันนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยืนดูนาฬิการวมเก้าคนรวมทั้งลูกเกดยังคงมีชื่อในสารบบคดีของศาลทหารจากการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว โดยในจำนวนเก้าคนมีสองคนที่คดีอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลทหารกรุงเทพแล้วทำให้ต้องเสียเวลาขึ้นโรงขึ้นศาลทุกครังที่มีวันนัด
 
ในช่วงขวบปีที่สองของการรัฐประหาร นาฬิกาถูกหยิบมาใช้เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงเวลาและโอกาสที่ประเทศต้องสูญเสียไปเพราะการรัฐประหาร แต่เมื่อย่างเข้าขวบปีที่สี่ของการรัฐประหารนาฬิกาได้ถูกมาสร้างเป็น "ประดิษฐกรรม" ทางการเมืองเพื่อเสียดสีกรณีที่มีการเปิดเผยว่าพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่มีนาฬิกาในครอบครองอย่างน้อย 25 เรือน แต่ไม่ได้นาฬิการดังกล่าวไว้ในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อปปช.
 
ตามรายงานของบีบีซีไทย เพจเฟซบุ๊ก CSI LA เริ่มขุดคุ้ยปมนาฬิกาหรูของพลเอกประวิตรเป็นครั้งแรกในวันที่ 4 ธันวาคม 2560  ด้วยการจับภาพนาฬิกาข้อมือที่พล.อ.ประวิตรใส่ขณะถ่ายภาพหมู่ครม.ชุดใหม่ และได้นำภาพนาฬิกาหรูที่พล.อ.ประวิตรในอีกหลายๆโอกาสมาทยอยเปิดเผยอย่างต่อเนื่องพร้อมเปิดเผยรู่น ยี่ห้อ และราคา  ก่อนจะมาสรุปในวันที่ 17 มกราคม 2560 ว่าเท่าที่สำรวจได้พล.อ.ประวิตรมีนาฬิกาหรูอย่างน้อย 25 เรือน การเปิดโปงเรื่องนาฬิกาหรูของเพจ CSI LA  ทำให้นักกิจกรรมทางสังคมส่วนหนึ่งนำเอา "นาฬิกา" ไปสร้างสรรค์เป็นประดิษฐกรรมออกมาแซว เช่น โตโต้ นักกิจกรรมทางสังคมคนหนึ่งได้โพสต์เฟซบุ๊กในวันที่ 28 ธันวาคมว่า หากมีการเปิดเผยนาฬิกาหรูครบ 12 เรือนเขาจะนำภาพนาฬิกาหรูไปทำปฏิทินตั้งโต๊ะแจกเป็นของขวัญปีใหม่ แต่ปรากฎว่า จำนวนนาฬิกาที่ถูกนำมาเปิดเผยมีมากถึง 25 เรือน ปิยรัฐจึงเปลี่ยนไปทำเป็นปฏิทินแบบแผ่นเดียวเพื่อให้สามารถใส่รูปนาฬิกาได้ครบทุกเรือน หลังจากนั้นในวันที่ 12 มกราคม 2561 ปิยรัฐก็โพสต์ภาพปฏิทินพร้อมข้อความว่าเขาดำเนินการแจกจ่ายปฏิทินแล้ว   
 
853
 
ปฏิทินข้าราชการตัวอย่าง ภาพจาก พิพิธภัณฑ์สามัญชน Museum of the Commonners
 
เอกชัย นักกิจกรรมทางสังคมอีกคนหนึ่งก็ปรินท์ภาพนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตรมาติดบนเสื้อสูทพร้อมตั้งชื่อเสื้อตัวดังกล่าวว่า "เสื้อเกียรติยศประดับเหรียญหน้าด้าน" และตัวเขาก็สวมเสื้อตัวดังกล่าวไปทำกิจกรรมเชิญสัญลักษณ์เสียดสีพล.อ.ประวิตร ในบางโอกาส เช่น ในวันที่ 5 มีนาคม 2561 เอกชัยเดินทางไปยื่นหนังสือให้ป.ป.ช.เรียกตัวพล.อ.ประวิตรมาชี้แจงเกี่ยวกับการครอบครองนาฬิกาหรูหลายรายการ และในวันที่ 13 มีนาคม 2561 เอกชัยก็สวมเสื้อตัวเดียวกันไปทำพิธีจุดธูปไล่สิ่งอัปมงคลที่ทำเนียบรัฐบาลพร้อมทั้งนำแผ่นป้ายไวนิลที่มีรูปนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตรมาถือแสดงเป็นการแสดงออกเชิญสัญลักษณ์พร้อมทั้งให้สัมภาษณ์ว่าเขาจะมาดักรอมอบนาฬิกาให้พล.อ.ประวิตรในการประชุมครม.ทุกวันอังคารจนกว่าพล.อ.ประวิตรจะออกมารับนาฬิกาด้วยตัวเอง 
 
854
 
เสื้อสูทประดับนาฬิกาหรูที่เอกชัยทำขึ้นเพื่อเสียดสีปมนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตร ภาพจาก เอกชัย หงส์กังวาน
 
ปมนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตรยังถูกนำไปสร้างสรรค์เป็นภาพกราฟฟิตีบนฝาผนังด้วย โดยเพจเฟซบุ๊ก Headache Stencil ได้โพสต์ภาพกราฟฟิตีที่เป็นรูปนาฬิกาปลุกยี่ห้อโรเล็กซ์และมีหน้าพล.อ.ประวิตรอยู่หน้าปัดในวันที่ 30 มกราคม 2561 พร้อมเขียนข้อความประกอบว่า " นาฬิกาเยอะ แต่เวลาน่าจะหมดละนะ พอเหอะลุง งานเลี้ยงย่อมมีเลิกลา... no more time" ต่อมาในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2561 เฟซบุ๊กเพจดังกล่าวก็โพสต์ข้อความว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาติดตามความเคลื่อนไหวของเขาบริเวณใกล้ที่พักเกือบจะตลอด 24 ชั่วโมง และก่อนหน้านั้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 โตโต้ นักกิจกรรมทางสังคมที่ทำปฏิทินนาฬิกาหรูออกแจกจ่ายก็โพสต์ภาพ บุคคลแต่งตัวคล้ายเจ้าหน้าที่กำลังเผ้าดูชายคนหนึ่งลบภาพกราฟฟิตีนาฬิกาที่น่าจะถูกวาดโดย  Headache Stencil ออกจากสะพานลอยแห่งหนึ่ง เป็นภาพ cover เฟซบุ๊กของตัวเอง 
 
851
 
กราฟฟิตีนาฬิกาที่มีใบหน้าพล.อ.ประวิตรอยู่บนหน้าปัด ภาพจาก  Headache Stencil
 

"ยุทธน๊อคคิโอ" กับโจทย์ใหญ่ทำยังไงให้การเมืองอยู่ในชีวิตประจำวัน

 

860
 
ประดิษฐกรรมทางการเมืองชิ้นสุดท้ายที่จะหยิบยกมาบอกเล่าในรายงานชิ้นนี้ได้แก่ประดิษฐกรรมชุด "ยุทธน๊อคคิโอ" ภาพหน้าพิน็อคคิโอจมูกยาวที่ใบหน้าถูกตกแต่งให้ละม้ายคล้ายคลึงกับหัวหน้าคสช.ซึ่งถูกนำมาใช้ในกิจกรรมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งครั้งแรกในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561
 
ในเดือนพฤศจิกายน 2557 พล.อ.ประยุทธ์เคยให้สัมภาษณ์กับผู็สื่อข่าวว่ามีความตั้งใจที่จะจัดการเลือกตั้งภายในหนึ่งปีตามโรดแมปที่วางไว้  จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ระหว่างที่พบปะพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นก็ประกาศว่า น่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายในปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559 แต่ก็ไม่มีการเลือกตั้งเนื่องจากสภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ส่งผลให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไปเพราะต้องทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่  ในเดือนตุลาคม 2560 หลังพ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มีผลบังคับใช้ นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวตอนหนึ่งว่าคาดว่าในเดือนมิถุนายน 2561 น่าจะประกาศวันเลือกตั้งได้และการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2561 
 
อย่างไรก็ตามในช่วงกลางเดือนมกราคม 2561 ก็มีความเป็นไปได้ที่การเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไปอีกครั้งเมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีมติเสียงข้างมาก ปรับแก้ในมาตรา 2 เกี่ยวกับการกำหนดวันบังคับใช้กฎหมายให้มีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้พรรคการเมืองมีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าการเลือกตั้งจะถูกเลื่อนไปจัดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562
 
857
 
หน้ากากยุทธน๊อคคิโอ
 
แนวโน้มที่การเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไปอีกครั้งทำให้มีกลุ่มประชาชนออกมาทำกิจกรรมเชิญสัญลักษณ์ในชื่อ "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" โดยมีข้อเรียกร้องหลักให้มีการจัดการเลือกตั้งในปีนี้ โดยการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 ได้มีการนำหน้ากาก  "ยุทธน๊อคคิโอ" ออกมาแจกจ่ายให้ประชาชนที่มาร่วมงานสวมใส่เพื่อเสียดสีว่าพล.อ.ประยุทธ์เคยสัญญาเรื่องการเลือกตั้งหลายครั้งแต่ก็เลื่อนออกไปทุกครั้ง เหมือนพิน็อคคิโอ ตุ๊กตาไม้ที่โกหกจนจมูกยาว 
 
ลูกเกดหนึ่งในนักกิจกรรมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเล่าถึงที่มาที่ไปของการสร้างหน้ากาก"ยุทธ์น็อคคิโอ"ขึ้นมาว่าเมื่อพูดถึงการโกหกสิ่งที่ทุกคนน่าจะนึกถึงก็คือพิน็อคคิโอ เพื่อนสมาชิกในกลุ่มที่มีความสามารถทางกราฟฟิกและมีความคิดสร้างสรรค์เลยออกแบบหน้ากาก "ยุทธ์น็อคคิโอ" ขึ้นมาเพื่อใช้ทำกิจกรรมโดยพยายามดีไซน์ให้ดูตลกเพราะไม่ต้องการทำให้การเมืองเป็นเรื่องเครียด ส่วนที่ครั้งแรกเอามาดีไซน์เป็นหน้ากากก็เพราะคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้คนที่มาร่วมกิจกรรมกับทางกลุ่มมีส่วนร่วมด้วยการใส่หน้ากากถ่ายรูปได้ นอกจากนี้หน้ากากก็น่าจะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้มาร่วมกิจกรรมถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบถ่ายรูปและเอาไปค้นประวัติมาดำเนินคดีได้
 
หลังผลิตหน้ากากออกมาใช้ทำกิจกรรมในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ "ยุทธน๊อคคิโอ" ก็ถูกผลิตเป็นพัดและนำมาจำหน่ายราคาอันละยี่สิบบาทในวันที่ 24 มีนาคม 2561 หรือหนึ่งเดือนหลังจาก "ยุทธน๊อคคิโอ" ปรากฎโฉมต่อสาธารณะในรูปแบบหน้ากาก ลูกเกดเล่าถึงการนำดีไซน์ของหน้ากากไปทำเป็นพัดว่า เธอและคนในกลุ่มมีการพูดคุยกันว่าน่าจะต้องหาทางทำให้  "ยุทธน๊อคคิโอ" กลายเป็นแบรนด์ที่คนเห็นติดตา เห็นมันทั่วไปเหมือนที่เห็นสติกเกอร์เขียนชื่อวัดแห่งหนึ่งติดตามท้ายรถกระบะ ไม่ใช่แค่เป็นสัญลักษณ์ที่เห็นได้แค่ตามที่ชุมนุม การนำ  "ยุทธน๊อคคิโอ" ไปทำเป็นพัดจะทำให้มันเกิดประโยชน์ใช้สอยขึ้นมา ไม่ว่าจะใช้ระหว่างมาร่วมกิจกรรมของทางกลุ่มท่ามกลางอากาศร้อน หรือใช้ในชีวิตประจำวันเช่น ตอนนั่งรถเมลล์ 
 
852

พัด ยุทธน๊อคคิโอ ภาพจาก พิพิธภัณฑ์สามัญชน Museum of the Commonners
 
นอกจากทำเป็นพัดแล้ว "ยุทธน๊อคคิโอ" ยังถูกนำไปผลิตเป็นซองกันน้ำแจกในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ถนนข้าวสารด้วยขณะที่สมาชิกกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่นำซองกันน้ำไปแจกก็ร่วมเล่นน้ำที่ตรอกข้าวสารด้วย บนซองกันน้ำนอกจากจะมีภาพ "ยุทธน๊อคคิโอแล้ว"ยังมีคำว่า "อยากเลือกตั้ง" สกรีนไว้ด้วย ลูกเกดเล่าถึงแนวคิดในการผลิตซองกันน้ำชิ้นนี้ว่า ทางกลุ่มต้องการทำให้การเลือกตั้งเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่อยู่ในชีวิตและสามารถอยู่ร่วมกับงานเทศการได้ สำหรับการตอบรับจากประชาชนที่ตรอกข้าวสารลูกเกดเล่าว่าครั้งแรกที่ไปแจกทางกลุ่มก็รู้สึกกลัวอยู่นิดๆเพราะคนที่มาเล่นน้ำก็น่าจะมีแนวคิดทางการเมืองที่หลากหลายแต่เมื่อไปลงพื้นที่แจกจริงก็มีกระแสตอบรับที่ดี บางคนที่จำสมาชิกในกลุ่มได้ก็มาขอถ่ายรูปบางคนเดินมาขอด้วยความสนใจ และก็ไม่ปรากฎว่ามีคนที่เห็นต่างมาตำหนิหรือพูดไม่ดีใส่มีแค่บางคนที่พอเห็นว่าเป็นซองกันน้ำเรียกร้องการเลือกตั้งก็ลังเลที่จะรับอาจจะเป็นเพราะความกลัวซึ่งทางกลุ่มก็เข้าใจ
 
858
 
ซองกันน้ำยุทธน๊อคคิโอ ภาพจาก กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย
 
สัญลักษณ์และประดิษฐกรรมทางการเมืองที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงสี่ปีที่คสช.เป็น "รัฏฐาธิปัตย์" ที่ถูกนำเสนอในรายงานชิ้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความคิดสร้างสรรค์ในการคัดค้านการรัฐประหารและคสช.เท่านั้น และงานชิ้นนี้ก็คงยังไม่ใช่งานที่เสร็จสมบูรณ์เพราะตราบเท่าที่คสช.ยังคงอยู่ในอำนาจนักกิจกรรมทางสังคมก็น่าจะยังคงต้องผลิตสัญลักษณ์หรือประดิษฐกรรมใหม่ๆมาสื่อสารเพื่อท้าทายอำนาจของคสช.ต่อไป และนับจากนี้คงต้องติดตามต่ออย่างใกล้ชิดว่าเมื่อใกล้จะถึงวันเลือก และบรรยากาศทางการเมืองกลับมาคึกคักอีกครั้ง จะมีสัญลักษณ์และประดิษฐกรรมใหม่อะไรออกมาให้ได้ชมกันอีก
 

 

Report type: