1258 1716 1704 1538 1925 1595 1715 1656 1371 1128 1760 1255 1178 1974 1601 1568 1246 1689 1038 1628 1061 1119 1270 1940 1948 1313 1787 1015 1346 1179 1407 1806 1030 1603 1721 1032 1454 1558 1927 1366 1566 1581 1246 1318 1586 1539 1244 1645 1839 1345 1480 1341 1530 1659 1397 1331 1703 1316 1508 1542 1131 1086 1425 1652 1980 1823 1374 1394 1062 1361 1077 1422 1604 1731 1372 1206 1353 1881 1023 1042 1529 1463 1029 1807 1911 1551 1860 1770 1712 1575 1773 1589 1073 1905 1000 1101 1814 1432 1422 คุยกับณัฏฐิกา แอดมินเพจ “เรารักพลเอกประยุทธ์” ในวันที่เสรีภาพในการหัวเราะขาดตลาด | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

คุยกับณัฏฐิกา แอดมินเพจ “เรารักพลเอกประยุทธ์” ในวันที่เสรีภาพในการหัวเราะขาดตลาด

 

876

 

 

“ชีวิตมันถูกผลักให้มา คิดตลอดเวลาว่า ตัดสินใจถูกนะ ทั้งที่รู้ว่า กลับประเทศไม่ได้อีกแล้ว” ณัฏฐิกา หนึ่งในแปดผู้ต้องหาคดีแปดแอดมินเพจ "เรารักพลเอกประยุทธ์" บอก หลังจากลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา 

 

ณัฏฐิกาถูกกล่าวหาว่า ทำเฟซบุ๊กเพจที่มีเนื้อหาเข้าข่าวการยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ร่วมกับผู้ต้องหารายอื่นรวมแปดคน โดยเธอเล่าว่า หลังจากที่เจ้าหน้าที่รายหนึ่งนำตัวเธอจากมทบ.11 ไปที่กองปราบฯ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่รายนั้นกล่าวกับเธอในลักษณะว่า เธอเป็นหัวโจกทำเพจเฟซบุ๊กนี้ ก่อนที่จะถูกกล่าวหาเพิ่มในคดีหมิ่นประมาทพระกษัตริย์ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา เป็นอีกคดีหนึ่งจากการแชทเฟซบุ๊กกับหฤษฎ์ ซึ่งเธอระบุว่า มีการตัดต่อแชทจนดูเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ


 

จุดเริ่มต้นของเพจ “เรารักพลเอกประยุทธ์” คืออะไร?

"ก่อนวันรัฐประหาร มีการประกาศกฎอัยการศึกมาก่อนสองวัน ทีวีปิดหมดแล้ว ตอนนั้นไปชุนนุมที่อักษะทหารตั้งป้อมอยู่รอบๆ เป็นอารมณ์ที่รู้สึกว่า ไม่อิสระแล้ว เราอยู่หลังเวทีชุมนุมที่อักษะ พอประกาศรัฐประหาร รีบขับรถออกมาพร้อมความคิดในหัวที่ว่า อีกแล้วหรอวะ? เมื่อกลับมาถึงบ้าน ก็เห็นแล้วว่า ทุกคนเคลื่อนไหวไม่ได้ ต้องกลับมาที่โลกออนไลน์ เลยสร้างเพจเฟซบุ๊ก “เรารักพลเอกประยุทธ์”  ขึ้นมา ที่ตั้งชื่อว่า "รัก" ก็เพราะในเมื่อวิจารณ์ไม่ได้เรารักก็ได้ แล้วคนรอบข้างรู้สึกตลกกับการเข้ามาของประยุทธ์" 

 

"ตอนนั้นไม่คิดว่า จะทำแล้วจะเกิด ตัดต่อกากๆ กลายเป็นว่า วันหนึ่งมันติดกระแส พวกเราจึงหันมาโฟกัสกันอีกรอบ เพราะกระแสอย่างอื่นมันไม่มีเลย ถามว่ากลัวไหม ไม่กลัวเลย ไม่คิดเลยว่า เฟซบุ๊กจะถูกแฮ็คได้ เราไม่ได้คิดว่า คนจะรู้ว่า เราเป็นแอดมิน เก็บตัวตนของเรามากนะ จึงคิดว่า มันปลอดภัยระดับหนึ่งแล้ว" 

 

หญิงหนึ่งเดียวในแปดผู้ต้องหาคดีความผิดในหมวดความมั่นคงของชาติ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์

 

เป้าหมายของเพจ “เรารักพลเอกประยุทธ์” คือ อะไร?

 

878

 

"ตอนรัฐประหารปี 2549 ได้มีโอกาสคุยกับน้องคนหนึ่ง เขาบอกว่า การยึดอำนาจได้จุดบางอย่างให้เขาสนใจการเมือง ทั้งๆ ที่หน้าที่การงานของเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองเลย เห็นเลยว่า รัฐประหารจุดไฟบางอย่างให้กับเด็กรุ่นใหม่ ทีนี้พอมันเกิดในปี 2557 อีกที คิดว่า เราต้องอาศัยจุดนี้มาจุดกระแสให้คนรุ่นใหม่ เพจที่เป็นแดงเหลืองที่การเมืองจ๋า มันชักชวนคนเหล่านี้ให้มาสนใจไม่ได้ เพราะคนรุ่นใหม่ก็จะมองว่า เพจเหล่านี้เลือกข้างไปแล้ว คนที่คิดแบบนี้เป็นคนตรงกลาง ซึ่งมีเยอะมาก"

 

 "เลยคิดว่า ถ้าเรามีตัวแทนที่ไม่มีสี ประกาศชัดว่า ประยุทธ์เป็นตัวตลก อาศัยอันนี้ที่ทำให้คนเข้ามาตาม ทำเพจเอง ขำเองนะ และอยากบอกคนอื่นให้เข้ามาตลกด้วยแล้วมันก็พีค คนชอบ แม้ว่าเพจจะทำให้ประยุทธ์เป็นตัวตลก แต่มันไม่เคยมีความรู้สึกเหยียดหยายหรือเกลียดชัง อย่างคำว่า “อุทยานแดกสะพัด” มันมาจากข้อเท็จจริงเช่นว่า ทหารเข้ามายึดอำนาจและคอร์รัปชั่น เป็นข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ เพียงแต่ว่า ไม่ใช่ทุกคนที่อยากฟังหรือเห็น"

 

"อีกอย่างคือ เด็กรุ่นใหม่ไม่มาอ่านอะไรยาวๆ พวกเขาจะสนใจอะไรวูบวาบๆ การทำมีมดึงคนได้มากกว่า มันเป็นพลังของคนรุ่นใหม่ มันไม่มีหรอกที่คนจะมาเดินถนนประท้วงแบบคนรุ่นเก่า วันนี้โลกออนไลน์มันสะท้อนแล้ว เพจที่นิยม คือ เพจที่ตลก การ์ตูนน่ารัก แม้คนรุ่นเก่าจะมองว่า ไร้สาระ แต่จริงๆไม่ใช่ มันเป็นวิถี เราไม่ใช่คนรุ่นใหม่ เป็นคนตรงกลางด้วยซ้ำ ผ่านความเก่ามา พอมาเห็นวิถีใหม่ๆ แล้วชอบแบบนี้มากกว่า"


 

ในการทำเพจมีจุดไหนที่คิดว่า สนุกที่สุดไหม?

 

"เวลาทำเพจสนุกที่สุด คือ คอมเมนต์ที่ขำๆ เรารู้ได้ว่า เขาขำ สนุกไปกับเรา ปกติไม่ชอบคนที่คอมเมนต์หยาบ การฝังความเกลียดชังมันไม่มีประโยชน์ คนที่เสพมันไม่มีความเกลียดชัง มันเป็นเรื่องตลก มันอาจจะหนักกว่าด่า คุณเป็นผู้นำประเทศที่ทำให้เขาเป็นตัวตลก มันไม่ได้บ่มเพาะความเกลียดชังในสังคม"

 

"คอมเมนต์พวกนี้เห็นความไม่พอใจของคน ในทุกปฏิกิริยาตอบกลับของแต่ละมีมมันสะท้อนให้เห็นความรู้สึกบางอย่างของคนในประเทศนี้ มีมตลกเหล่านี้เป็นเหมือนเสียงของคนรุ่นใหม่ที่บอกได้ว่า พวกเขาไม่เอาเผด็จการ โดยไม่ต้องบอกว่า พวกเขาเป็นสีอะไร เกลียดทหารหรือเปล่า ความคิดของพวกเขาแสดงออกผ่านสิ่งที่เห็นว่า ตลก มันไม่เครียด ชีวิตเครียดมากพอแล้ว แต่เสียดายที่หลังโดนจับเฟซบุ๊กถูกปิด มีมที่ทำไว้หายไปหมด เมมโมรี่การ์ดก็ถูกยึดไป"


 

สิ่งที่ตลกที่สุดในการทำเพจ“เรารักพลเอกประยุทธ์” คืออะไร?

 

"ทำเพจตลก แต่ตลกที่สุด คือ เพจ “เรารักพลเอกประยุทธ์” กลายเป็นข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา จำได้เลยวันนั้นไปนั่งรอคำสั่งอัยการว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง สุดท้ายอัยการบอกว่า จริงๆ แล้วกำลังพิจารณาว่า มันจะเข้าตามมาตรา 116 หรือเปล่า พิจารณากันจริงๆหนึ่งรูป คือ ภาพลอยกระทง เป็นภาพที่เราไม่ได้ทำเอง เอาของชาวบ้านมาลง เจ้าของภาพจริงๆ ไม่ถูกดำเนินคดีกลายเป็นพวกเราโดน มันดูตลก" 

 

"นี่แหละประเทศที่กฎหมายที่ไม่เป็นกฎหมาย และเพราะเพจมันทำตลก พอโดนจับคนเลยเซอร์ไพรส์กันว่า ทำไมถึงโดนจับ"

 

คำบอกเล่าจากผู้ผ่านประสบการณ์ตรง จนตัดสินใจลี้ภัยไปใช้ชีวิตในประเทศอื่น 


 

คิดว่า เสียงหัวเราะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ไหม?

"จริงๆ แล้วมันสร้างความเปลี่ยนแปลงได้กับทุกเรื่องเลย แต่ขอยกตัวอย่างเรื่องคุกนะ คนรอดในคุก คือ คนที่มีอารมณ์ขัน การติดคุกมันเป็นวิกฤต ทุกคนที่รอดมาได้ คือ อารมณ์ขันและการมองโลกในแง่บวก ที่สุดแล้วชีวิตในคุกก็มีความขำ ความสนุก" 

 

"ตอนไปศาล ทนายยื่นประกันไม่ได้แล้วต้องกลับไปที่คุก ก็กลับไปช่วยงานลงทะเบียนเยี่ยมในคุก น้องผู้ช่วยบอกว่า พี่นัทเขาทำหลังคาเสร็จแล้ว ต่อไปนี้ฝนตกก็ไม่เปียกแล้ว เราก็บอกว่า โชคดีจังที่ไม่ได้ประกัน ไม่งั้นก็ไม่เห็นหลังคา มันก็ทำให้ผ่านมาได้"

 

ณัฏฐิกา ผู้ต้องอยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 71 วัน ระหว่างไม่ได้ประกันตัวเล่าประสบการณ์การมองโลกในแง่ดี


 

อยากกลับมาทำเพจอีกไหม?

"ตอนนี้ไม่มีอารมณ์อยากทำเพจหรือเรื่องการเมือง ทำมานานตั้งแต่ปี 2553 แล้ว มันสนุก จนกระทั่งเกิดเรื่อง และผลกระทบมันเยอะ ทำให้เรารู้สึกอยากทำอย่างอื่น เรื่องที่คิดว่า จะกระทบเราอย่างเดียว พอเกิดขึ้นจริงๆ มันกระทบคนอื่นโดยเฉพาะแม่ มันรู้สึกผิด ไม่อยากอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์แล้ว อยากไปนู่นไปนี่ ไม่อยากมีชีวิตแบบนี้แล้ว" 

 

"เมื่อก่อนทำงานบริษัท กลับบ้านแล้วอยู่หน้าคอมพิวเตอร์อย่างเดียว ไม่รู้ทำทำไม คงเป็นความรัก เงินก็ไม่ได้ เพจแรกที่เกิดขึ้น สนุกมาก คุยกับเพื่อนที่ทำด้วยกันสองคน หัวเราะคิกคักกัน มันผ่านจุดพีคทุกอย่างมาหมดแล้วเลยไม่อยากทำแล้ว"

 

"ถ้าไม่ถูกดำเนินคดีก็คงยังทำต่อ เอาเข้าจริงก็อยากเดินออกมาตั้งนานแล้ว มันเกิดความเบื่อ แต่ห่วงน้องๆ ที่ทำด้วยกัน เขายังสนุกกับมันอยู่ หลายคนถามเรื่องที่ลี้ภัยว่า แล้วรู้สึกยังไงกับคนที่เหลือ ยอมรับว่า รู้สึกผิดและขอโทษน้องๆ ที่ไม่ได้อยู่สู้คดีร่วมกัน"


 

 

เพราะมีคดี ทำให้ต้องเลิกคิดเรื่องการเมืองด้วยหรือเปล่า?

"การโดนคดีทำให้ต้องเอาตัวเองออกจากเรื่องการเมือง สัญญาว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองและไม่ทำให้แม่เดือดร้อน วันที่โดนจับอยู่กับแม่สองคน โดนเอาตัวไปที่มทบ.11 เหลือแม่คนเดียวที่บ้าน ไม่รู้ว่า แม่ทำยังไงต่อ พอได้ประกันตัวก็พยายามถามแม่ว่า วันนั้นแม่ทำอะไรต่อ แม่บอกว่า แม่จำไม่ได้ ลืมหมดเลย คือ แม่ว่างเปล่าไปเลย"

 

"หมอดูเอาสายสิญจน์ให้มา เขาบอกว่า แม่มีเคราะห์มากกว่า ให้เอาไปผูกแม่เถอะ กลับมาบ้านแล้วเอาสายสิญจน์ไปผูกและเล่าให้แม่ฟัง พาแม่ไปบวชชีพราหมณ์ ผ่านไปสักพักนึงถึงรู้สึกว่า แม่ดีขึ้นและจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันที่ถูกจับได้บ้าง คอยเล่านู่นเล่านี่ให้ฟัง"

 

ผลกระทบหลังจากถูกจับกุมและขังระหว่างการพิจารณาคดี?

 

"ทุกครั้งที่ไปศาล กังวลตลอดเวลา ปกติเป็นคนมั่นใจในตัวเองสูง เวลาทำงานทุกอย่างอยู่ที่เรา เราควบคุมได้ แต่พอออกจากคุกมามันเกิดความไม่เป็นตัวของตัวเองหลายรอบมาก บางครั้งกลัว บางครั้งกังวล ซึ่งไม่รู้ว่า เกิดจากอะไร แต่ใช้ชีวิตปกติไม่ได้ อาจเป็นเพราะตอนอยู่ในคุกมันไปสัมผัสกับผู้คนที่มีความทุกข์เยอะ จนเรามีความคิดบางอย่างว่า เราต้องช่วยพวกเขา แต่เอาเข้าจริงช่วยอะไรเขาไม่ได้" 

 

"ความทุกข์หนึ่งมันไม่ใช่ความทุกข์ แต่เป็นความทุกข์ที่ถ่ายทอดกับคนอื่น มันเหมือนนรกเพราะมันเต็มไปด้วยความทุกข์ ทุกวันเราจะเจอคนทุกข์หน้าใหม่เข้ามาตลอด"

 

ปากคำจากคนที่ต้องไปศาลไม่น้อยกว่า 10 ครั้งในระยะเวลาปีกว่า โดยห้าครั้งเป็นการไปศาลเพื่อฟังคำสั่งการประกันตัวและอีกไม่น้อยห้าครั้งที่ต้องเดินทางไปศาลตามนัดในกระบวนพิจารณาคดี และไม่มีทีท่าว่าคดีจะสิ้นสุดในเร็ววัน โดยนับจากวันที่อัยการศาลทหารมีคำสั่งฟ้องในคดียุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาเป็นเวลากว่าสองปีแล้ว แต่การสืบพยานยังคงค้างคาอยู่ที่พลตรีวิจารณ์ จดแตง ผู้ร้องทุกข์ พยานโจทก์ปากแรก เช่นเดียวกันกับคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา

 

อะไรคือสิ่งที่ คสช. ทำแล้วรู้สึกเจ็บปวดที่สุด?

"เขาทำร้ายแม่ ทำร้ายเรา เราไม่เจ็บเท่า วันที่เขาไปจับ แม่ถามทหารว่า มีหมายมารึป่าว? เขาพูดใส่หน้าเราว่า ผมมาตามมาตรา 44 ผมใหญ่กว่าศาลอีก ใจพวกเขาทำด้วยอะไร แม่บอกว่า แม่ไปด้วยได้ไหม คุณกล้าพูดกับแม่ว่า เดี๋ยวก็เอามาคืน ขับรถกลับมาคืนให้ถึงบ้านเลย กล้าพูดได้ยังไง เป็นทหารได้ยังไง เราสัมผัสได้ถึงความไม่รู้สึกรู้สาอะไรเลยว่า คุณทำลายชีวิตบางคนไป ทหารบางคนที่มาในศาลก็รู้ว่า เขาทำตามระบบ เราเห็นความเป็นมนุษย์ของเขา รู้สึกได้ว่า เขาก็เหนื่อยล้ากับภาระหน้าที่บางอย่าง แต่ไม่ใช่กับคนที่มาจับเราวันนั้น"

 

"ตอนที่ออกจากคุก เราอารมณ์ไม่คงที่ แม่พยายามทำความเข้าใจว่า เราเพิ่งออกจากคุก พอเราเริ่มดีขึ้น แม่เริ่มดีขึ้น แม่ก็มีความกลัวอยู่ลึกๆ อีกว่า วันนึงลูกจะหายไป เวลาไปไหนเขาจะคอยโทรตามตลอด ไม่กล้าทิ้งให้อยู่บ้านคนเดียว ตราบใดที่เรายังอยู่ไทยและมีโอกาสที่จะโดนเอาตัวไปอีก แม่ไม่มีทางวางใจ นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องออกมาจากประเทศไทย ชีวิตมันถูกผลักให้มา เรามีความรู้สึกว่า ต้องไป คิดตลอดเวลาว่า ตัดสินใจถูกนะ ทั้งที่รู้ว่า กลับประเทศไม่ได้อีกแล้ว"


 

พอต้องมาอยู่ในอเมริการู้สึกอย่างไร?

885

"ตอนนี้มีความสุขดี ไม่เครียดเลย ตอนอยู่ไทยชีวิตมันไม่ขยับ ทำงานไม่ได้ ขณะเดียวกันก็ไม่อยากไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองทั้งสิ้น ตอนอยู่ในคุกมีความคิดตลอดเวลาว่า ถ้าออกมาสงสัยจะไม่ได้อยู่เมืองไทย หาข้อมูลไปเรื่อยๆ จนตัดสินใจไปอเมริกาแทน  ไม่ได้บอกใครเลยจนกระทั่งมาถึงที่นี่ก็โทรบอกแม่และเพื่อน การจากลาครั้งนี้มันไม่ใช่ความเศร้า มันเป็นความโล่งอก แม่ก็โล่งอก เขาหลอนมากในเหตุการณ์วันที่ทหารเข้าไปจับ"

 

"แม่บอกกับว่า รอดแล้วนะลูก เขาโล่งอก รู้สึกว่า เราปลอดภัย"

 

"การลี้ภัยเหมือนมาตายเอาดาบหน้า ไม่ใช่ว่า มาถึงแบบมีกำหนดแล้วว่า มีคนมารับเราหรือวางแผนชัดเจนว่า จะต้องไปที่นั่นที่นี่ มาลงเครื่องบินที่แอลเอและตอนนี้ย้ายมาที่ซานฟรานซิสโก ความเป็นอยู่เข้าที่มากขึ้น เราพอมีทุนรอน ประคองชีวิตให้ไม่ลำบาก ตอนนี้ก็รอจดหมายตอบรับสถานะผู้ลี้ภัย ไปสัมภาษณ์เมษายน 2561 คงจะต้องรอผลอีกสักพักหนึ่ง"

 

ความในใจจากหญิงที่ต้องจากบ้านไปไกลกว่าครึ่งโลก โดยทุกวันนี้เธอได้ใช้ชีวิต มีโอกาสกลับไปเริ่มต้นความฝันใหม่อีกครั้งหลังจากที่มันหยุดนิ่งไปเกือบสองปี

 

Article type: