1407 1994 1562 1475 1736 1449 1273 1926 1600 1624 1237 1661 1287 1141 1604 1584 1938 1370 1410 1345 1743 1292 1385 1166 1621 1309 1927 1843 1899 1127 1388 1513 1289 1826 1729 1845 1966 1489 1353 1335 1445 1834 1614 1586 1660 1015 1424 1373 1412 1412 1370 1614 1393 1687 1758 1722 1667 1575 1230 1794 1875 1938 1337 1012 1510 1892 1682 1216 1608 1822 1926 1568 1097 1874 1304 1218 1475 1478 1467 1562 1916 1857 1959 1674 1977 1932 1038 1495 1643 1464 1034 1126 1839 1322 1095 1282 1338 1610 1213 ก่อนท้องฟ้าจะสดใส: การพิจารณาคดีทางการเมืองต้องเปิดเผย และต้องเผยแพร่ข้อเท็จจริงให้สาธารณะร่วมกันตรวจสอบ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ก่อนท้องฟ้าจะสดใส: การพิจารณาคดีทางการเมืองต้องเปิดเผย และต้องเผยแพร่ข้อเท็จจริงให้สาธารณะร่วมกันตรวจสอบ


967
 
 
 
 
คดีที่อัยการทหาร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลย ชื่อฐนกร ในข้อหามาตรา 112 และมาตรา 116 จากการกดไลค์เพจเฟซบุ๊ก การเสียดสีคุณทองแดง และการโพสต์ภาพแผนผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์ เป็นหนึ่งในคดีความทางการเมืองจากการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ที่ไอลอว์ติดตามสังเกตการณ์ และบันทึกข้อมูลการดำเนินคดีมาอย่างต่อเนื่อง
 
ระหว่างการสืบพยานโจทก์ปากแรก ซึ่งใช้เวลาไปสามวัน คือ วันที่ 23 กุมภาพันธ์, 18 มิถุนายน และ 17 สิงหาคม 2561 คดีนี้พิจารณาโดยเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่ศาลทหารมีคำสั่งห้ามผู้สังเกตการณ์จดบันทึกระหว่างการพิจารณาคดี ผู้สังเกตการณ์จากไอลอว์ และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนไปติดตามการสืบพยานทั้งสามนัด ปฏิบัติตามคำสั่งศาล และจำสาระสำคัญที่พยานเบิกความมาเขียนเป็นรายงานข่าวเผยแพร่ต่อสาธารณะ
 
รายงานข่าวดังข่าว เผยแพร่ทางเฟซบุ๊กทั้งของไอลอว์และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2561 โดยฉบับที่เผยแพร่ทางไอลอว์ใช้ชื่อหัวข้อว่า "ทหารผู้กล่าวหาจำเลย คดี112 จากการกดไลค์ เบิกความต่อศาล เล่นเฟซบุ๊กไม่เป็น ยืนยันซักถามจำเลยในค่ายทหาร ไม่ต้องแจ้งสิทธิ ไม่ต้องมีทนาย" เนื้อหาเป็นการสรุปสาระสำคัญจากคำเบิกความของพยานปากแรก คือ พลตรีวิจารณ์ จดแตง หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานกฎหมายของ คสช. ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาให้เอาผิดกับฐนกรตามมาตรา 112 จากการกดไลค์เพจเฟซบุ๊กแห่งหนึ่ง แต่พลตรีวิจารณ์กลับเบิกความต่อศาลว่า เล่นเฟซบุ๊กไม่เป็น ไม่ทราบว่า การกดไลค์ในทางเทคนิคเป็นการกดเพื่อติดตาม และแยกการกดไลค์ข้อความจากการกดไลค์เพจได้ไม่ชัดเจน
 
ต่อมาวันที่ 3 ตุลาคม 2561 ศาลทหารกรุงเทพ เรียกอานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ไปไต่สวนเป็นกรณีพิเศษ และออกข้อกำหนดว่า ให้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนลบรายงานข่าวดังกล่าวออกจากเว็บไซต์ภายใน 24 ชั่วโมง และห้ามมิให้ใครก็ตามนำคำเบิกความพยานและการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของศาลในคดีนี้ไปเผยแพร่ มิเช่นนั้นจะถือว่า ละเมิดอำนาจศาล โดยระหว่างการไต่สวนมีการโต้เถียงเรื่องการตีความอำนาจในการออกข้อกำหนดระหว่างศาลกับทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป และศาลก็ออกคำสั่งไปโดยไม่ได้อธิบายเหตุผลทางกฎหมายให้ชัดเจน นอกเสียจากเหตุผลว่า ก่อนหน้านี้มีพยานที่เคยเบิกความแล้วถูกนำไปเผยแพร่ ทำให้ถูกผู้บังคับบัญชาตำหนิ
 
การออกข้อกำหนดครั้งนี้ ทางไอลอว์เข้าใจว่า ศาลทหารพยายามจะใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 ที่ระบุว่า
 
"มาตรา 30 ให้ศาลมีอํานาจออกข้อกําหนดใดๆ แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือแก่บุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลตามที่เห็นจําเป็น เพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดําเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็ว อํานาจเช่นว่านี้ให้รวมถึงการสั่งห้ามคู่ความมิให้ดําเนินกระบวนพิจารณาในทางก่อความรําคาญ หรือในทางประวิงให้ชักช้าหรือในทางฟุ่มเฟือยเกินสมควร"
 
ซึ่งทางไอลอว์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของศาลในกรณีนี้ ด้วยเหตุผลดังนี้
 
ข้อหนึ่ง มาตรา 30 ให้ศาลมีอำนาจออกข้อกำหนดใดๆ ได้ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ว่า ต้องเป็นข้อกำหนด "เพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนการพิจารณาดำเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็ว" เท่านั้น การเผยแพร่ข้อเท็จจริงในคดีโดยไม่ได้ใส่ความคิดเห็นเพื่อชี้นำให้มีอิทธิพลเหนือศาลย่อมไม่ส่งผลกระทบต่อความเรียบร้อยในบริเวณศาลและกระบวนการพิจารณาคดีดังกล่าว คำสั่งของศาลดังกล่าวจึงไม่อาจอ้างมาตรา 30 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้ และจึงเป็นคำสั่งที่ไม่มีกฎหมายรองรับ
 
ข้อสอง การพิจารณาคดีของฐนกรที่ผ่านมาเป็นการดำเนินคดีโดยเปิดเผยต่อสาธารณะ หมายความว่า บุคคลทั่วไปสามารถเข้าฟังการพิจารณาคดีได้ และเมื่อเข้าฟังแล้วก็สามารถนำข้อเท็จจริงไปเล่าต่อให้กับบุคคลอื่นได้ด้วย ไม่ว่า จะเป็นการเล่าต่อผ่านสื่อประเภทใด การรายงานข่าวโดยสรุปข้อเท็จจริงของการพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นไปแล้วจึงไม่ใช่การกระทำที่ผิดต่อกฎหมายข้อใด และไม่รบกวนการพิจารณาคดีให้เป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ศาลจึงไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะออกข้อกำหนดเพื่อให้มีผลย้อนหลังให้ลบเนื้อหาที่นำเสนอไปก่อนแล้วได้
 
ข้อสาม เมื่อรัฐบาลทหารจับกุมและดำเนินคดีประชาชนที่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือน สังคมย่อมเกิดข้อสงสัยว่า จำเลยได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมหรือไม่ หลักประกันประการเดียวที่จะคุ้มครองสิทธิของจำเลยได้ คือ หลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยต่อสาธารณะ รวมถึงการให้ทุกคนเข้าฟังการพิจารณาคดีได้และสามารถนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดีไปเล่าต่อได้ด้วย ทางไอลอว์จึงให้ความสำคัญกับการบันทึกและเผยแพร่ความคืบหน้าของแต่ละคดีตามความเป็นจริง เพื่อให้สาธารณะชนรับรู้ทั่วกัน เพื่อยืนยันคุ้มครองสิทธิของจำเลย และเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของศาลทหารต่อสายตาประชาชนด้วย
 
คดีที่ฐนกรถูกฟ้องต่อศาลทหารเป็นข่าวใหญ่ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เนื่องจากข้อกล่าวหาว่า จำเลยกระทำความผิดจากการกดไลค์ เป็นเรื่องแปลกใหม่ที่ประชาชนอยากรู้ว่า การกดไลค์บนเฟซบุ๊กนั้นเป็นความผิดได้จริงหรือไม่ ประชาชนจึงมีสิทธิที่จะรับรู้ความเป็นไปของการดำเนินคดีตลอดกระบวนการ และเข้าถึงข้อเท็จจริงในคดีที่เป็นสาระสำคัญได้ เพื่อให้เท่าทันและเข้าใจถึงสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการกดไลค์ของตัวเอง
 
สำหรับรายงานข่าวคดีฐนกร ที่มีคำเบิกความของพลตรี วิจารณ์ จดแตง เป็นสาระสำคัญ ซึ่งเผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2561 นั้น ไอลอว์เห็นว่า เป็นสิทธิที่ผู้เข้าฟังการพิจารณาคดีสามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้ คำสั่งที่ศาลให้ลบหรือห้ามเผยแพร่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายรองรับ และไม่มีความชอบธรรม การไม่เผยแพร่มีผลเพียงมุ่งจะปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการจับกุมดำเนินคดีโดย คสช. ที่มีข้อบกพร่อง ไม่ให้เป็นที่รับรู้ ไม่ให้บุคลากรของ คสช. เสื่อมเสียชื่อเสียงเท่านั้น แต่ไม่ได้มีผลคุ้มครองการพิจารณาคดีในภายภาคหน้าแต่อย่างใด
ไอลอว์จึงเรียกร้องให้ศาลทหาร ยกเลิกคำสั่งห้ามจดบันทึก คำสั่งห้ามเผยแพร่ข้อเท็จจริง ระหว่างการพิจารณาคดีนี้และคดีอื่นๆ ด้วย
 
เป็นเวลากว่าสี่ปีแล้ว นับแต่ คสช. ใช้อำนาจพิเศษออกประกาศให้คดีทางการเมืองของพลเรือนต้องพิจารณาที่ศาลทหาร ทางไอลอว์ก็ติดตามสังเกตการณ์การทำงานของศาลทหารมาอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ต้น เราเห็นว่า บุคลากรในศาลทหารต้องถูก คสช. สั่งให้มาทำหน้าที่เป็นเครื่องมือทางการเมืองคอยควบคุมการแสดงความคิดเห็นของประชาชนโดยไม่ได้เต็มใจ และไม่ใช่หน้าที่ที่ตรงตามวัตถุประสงค์ของศาลทหาร ศาลทหารต้องถูกผลักให้ออกหน้ามาเป็นตัวกลางระหว่างความต้องการปิดกั้นประชาชนของ คสช. กับหลักการของกฎหมาย และ คสช. เองก็เอาความไม่ชอบธรรมในการจับกุมประชานของตัวเองไปหลบซ่อนโดยอ้าง "อำนาจศาล" บังหน้า
 
เราจึงเข้าใจว่า ศาลทหารก็ต้องทำงานภายใต้ "ความหวาดกลัว" แบบที่ คสช. สร้างขึ้นไม่ต่างกับประชาชนทั่วไป
 
เรายังสังเกตพบว่า ศาลทหารรับฟังข้อคิดเห็นจากสังคมและยอมปรับตัวอย่างช้าๆ ตามกระแสที่ถูกวิพาษ์วิจารณ์เรื่อยมา ตุลาการศาลทหารหลายท่านพยายามดำเนินขั้นตอนการพิจารณาคดีโดยให้สิทธิฝ่ายจำเลยต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ และแม้คำพิพากษาจะจำต้องวางโทษหนักกับจำเลยในหลายคดีแต่ตุลาการก็แสดงออกและปฏิบัติต่อฝ่ายจำเลยพลเรือนอย่างสุภาพ ให้เกียรติ เพื่อลดแรงตึงเครียดทางการเมือง ด้วยความลำบากใจ โดยเฉพาะในคดีนี้ เมื่อผู้กล่าวหาหรือพยาน เป็นนายทหารที่ยศสูงกว่าตุลาการ จึงเข้าใจได้ว่า ตุลาการที่ดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีและออกคำสั่งห้ามเผยแพร่คำเบิกความ ยิ่งต้องแบกรับความหนักใจเป็นพิเศษ
 
นับถึงช่วงเวลาที่เข้าปีที่ 5 ของการใช้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือน ยังมีคดีความจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ค้างพิจารณาอยู่ที่ศาลทหารอีกจำนวนมาก ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ซึ่งไอลอว์ยืนยันที่จะทำหน้าที่ของเราในการติดตาม สังเกตการณ์ บันทึกข้อมูลการดำเนินคดีเหล่านี้ เพื่อนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณะต่อไป หากคดีใดที่ยังไม่อาจเผยแพร่ข้อเท็จจริงต่อสาธารณชนในยุคสมัยนี้ เราก็ยังมุ่งหวังที่จะบันทึกข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนต่อไปเพื่อรอวันเผยแพร่ในบรรยากาศที่ท้องฟ้าสดใสกว่านี้
 
และเรายังปรารถนาที่จะเห็นศาลทหารทำงานเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจพิเศษของ คสช. เพื่อที่เราจะบันทึกและเอามาเล่าต่อให้เป็นเกียรติแก่ศาลทหารสืบต่อไป

 

Article type: