1580 1045 1092 1245 1815 1716 1044 1590 1208 1093 1294 1817 1042 1030 1103 1447 1597 1158 1403 1612 1094 1719 1878 1354 1431 1798 1735 1618 1416 1581 1532 1204 1521 1818 1767 1140 1757 1000 1167 1719 1802 1323 1131 1314 1589 1067 1924 1250 1634 1368 1498 1261 1367 1889 1616 1133 1124 1955 1397 1803 1165 1107 1141 1533 1426 1175 1409 1179 1698 1311 1675 1731 1901 1054 1955 1284 1728 1208 1750 1644 1643 1100 1255 1829 1347 1265 1584 1822 1682 1782 1734 1757 1458 1330 1707 1384 1794 1403 1765 อ่านเหตุการณ์การเมืองยุค คสช. ผ่านการอดอาหารประท้วง | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

อ่านเหตุการณ์การเมืองยุค คสช. ผ่านการอดอาหารประท้วง


"การอดอาหาร" เป็นหนึ่งในวิธีการในการประท้วงอย่างสันติ เพื่อบอกกล่าวข้อเรียกร้องต่อสังคมและผู้มีอำนาจ เป้าหมายในการอดอาหาร เช่น การเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย หรือการร้องขอเรื่องทั่วไป การอดอาหารเพื่อประท้วงนั้นส่วนใหญ่แล้ว ผู้ประท้วงจะงดอาหารหนักและดื่มน้ำแทน ในยุค คสช. มีประชาชนไม่น้อยกว่า 71 คนต้องใช้วิธีการอดอาหารเพื่อเรียกร้องต่อ คสช. จนถึงช่วงท้ายของ คสช. แล้ว ก็ยังคงมีประชาชนที่เลือกใช้วิธีการที่ยากลำบากเช่นนี้ เพื่อแลกกับการให้ คสช. สนใจและรับฟังพวกเขาบ้าง

 

ไม่ใช่ทุกคนที่อดอาหารแล้วจะได้รับการตอบสนองข้อเรียกร้อง โดยการตอบสนองมักจะเกิดขึ้นในประเด็นนโยบายทางสิ่งแวดล้อมหรือข้อเรียกร้องทั่วไปที่ไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอำนาจของ คสช. นัก แต่ก็ใช่ว่า การตอบสนองจะเป็นการแก้ไขปัญหาได้อย่างหมดจด ขณะที่ประเด็นทางการเมืองเช่น การออกเสียงประชามติ 2559 หรือ การเลือกตั้ง บ่อยครั้งที่  คสช. วางท่าทีเพิกเฉยและปล่อยให้ผู้ประท้วงอดอาหารจนหมดพลังไปเองในที่สุด

 

“จอมอด” ประท้วง คสช. ทำรัฐประหาร

 

วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช. นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจทำการรัฐประหารครั้งที่ 13 โดยระบุเหตุผลการยึดอำนาจว่า มีเหตุความรุนแรงหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้ประเทศกลับสู่ภาวะปกติ ประชาชนเกิดความรักและสามัคคี คสช. จึงจำเป็นต้องยึดอำนาจปกครองประเทศ ซึ่งเป็นเหตุผลตามขนบทั่วไปของการรัฐประหาร

 

เรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร หรือ “จอมอด” อดีต ส.ส. ตราดและกรุงเทพฯ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในวัย 71 ปี เป็นคนแรกที่ออกมาประกาศอดอาหารประท้วง คสช. เขาอดอาหารประทัวงหน้าอาคารรัฐสภาตั้งแต่วันแรกที่ คสช. เข้ายึดอำนาจ เป้าหมายเพื่อแสดงออกต่อต้านการรัฐประหารของ คสช. และเรียกร้องการเลือกตั้ง ในตอนแรกเขาประกาศว่า จะอดอาหาร จนกว่าจะมีการเลือกตั้งและได้ประชาธิปไตยกลับคืนมา ความหวังสูงสุดในชีวิตเขา คือ ประเทศไทยมีประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่กระท่อนกระแท่นอย่างที่ผ่านมา
จนกระทั่งวันที่ 6 กรกฎาคม 2557 เรืออากาศตรีฉลาด ได้ประกาศยุติการอดอาหารประท้วงเนื่องจากสาเหตุจากปัญหาด้านสุขภาพ

 

1041 ภาพ : ประชาไท

 

ฉายา “จอมอด” ของเรืออากาศตรีฉลาดได้มาจากการอดอาหารคัดค้านอำนาจนอกระบบตั้งแต่ปี 2535 โดยเขาอดอาหารเรียกร้องให้พลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง โดยพลเอกสุจินดาเป็นรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่ทำการรัฐประหารเมื่อปี 2534  และเคยกล่าวว่า จะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่กลับกล่าววาทะ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” กลับมารับตำแหน่ง ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน ต่อมาก็อดอาหารอีกครั้งหนึ่ง เพื่อประท้วงการรัฐประหาร 19 กันยายน  2549 และขังตัวเองอยู่ในกรงขังหน้ารัฐสภาเพื่อต่อต้านรัฐธรรมนูญ 2550

 

ชาวบ้านอดอาหารขอ คสช. หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน

 

โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่, โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและท่าเรือน้ำลึกปากบารา ล้วนเป็นโครงการพัฒนาที่ คสช. มุ่งหวังให้กลายเป็นกลไกพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคใต้ ด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจและพลังงานในระดับภูมิภาค พื้นที่ก่อสร้างโครงการพัฒนาเหล่านี้ไม่ใช่พื้นที่ร้างไร้ประโยชน์ แต่เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เปรียบเสมือนขุมทรัพย์ของคนจำนวนมากที่อิงอาศัยและใช้ประโยน์จากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ดังกล่าว ในขณะที่รัฐบาลผลักดันโครงการดังกล่าวอย่างแข็งขัน ชาวบ้านก็พยายามคัดง้างกับวาทกรรมการพัฒนาของรัฐตลอดมาเช่นกัน และพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในกลไกการตัดสินใจตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงการกดดันรัฐบาลกลางที่เมืองหลวง

 

หนึ่งในวิธีการที่เหล่านักปกป้องสิทธิในถิ่นที่อยู่ใช้ คือ การอดอาหาร ครั้งแรกในวันที่ 10 กรกฎาคม 2558 ประสิทธิ์ชัยและอัครเดช เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินได้อดอาหารหน้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อแสดงการอารยะขัดขืนต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน สื่อสารต่อสาธารณะถึงผลกระทบของการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อทะเลกระบี่ ระหว่างการอดอาหาร ทั้งสองต้องเผชิญกับความยากลำบากและคำถามที่เหมือนจะทำให้หลงประเด็นเช่นว่า อดอาหารจริงหรือไม่? พร้อมกันนั้นทหารยังไปที่บ้านของประสิทธิ์ชัย ในจังหวัดพัทลุง และข่มขู่คุกคามแม่ของเขา เพื่อกดดันให้เขาเลิกแสดงออกคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน

 

เมื่อการอดอาหารดำเนินไปสองสัปดาห์ รัฐบาลเริ่มเจรจา โดยให้ตั้งคณะกรรมการไตรภาคีระหว่าง เครือข่ายฯ, รัฐบาลและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป้าหมายเพื่อศึกษาถึงผลดีและผลเสียของโรงไฟฟ้าถ่านหิน จากนั้น สนช. กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตและภาคประชาชน ใช้เวลาพูดคุยกัน 9 เดือน สรุปได้ว่า จังหวัดกระบี่ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 1,700 เมกะวัตต์ แต่ใช้แค่ 100 เมกะวัตต์ และสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทางเลือกได้ แต่ท้ายที่สุดกรรมการไตรภาคีก็ล้มโต๊ะ ไม่นำผลการศึกษาไปทำต่อ

 

ปี 2561 ชาวบ้านคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่กลับมาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง พร้อมกับชาวบ้านเทพา จังหวัดสงขลาที่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยรวมตัวกันภายใต้ชื่อ “เครือข่ายปกป้องสองฝั่งเลกระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน” การชุมนุมเริ่มในช่วงปลายเดือนมกราคม 2561 บริเวณสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ต่อมาภัคพงศ์ พงษ์เภตรา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลได้ออกคำสั่งห้ามการชุมนุมในบริเวณรัศมี 50 เมตรจากทำเนียบรัฐบาล ทำให้ชาวบ้านต้องย้ายออกมาปักหลักที่ด้านข้างอาคารสหประชาชาติแทน

 

1038

 

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 ชาวบ้านจากกระบี่และเทพาจำนวน 63 คน ร่วมกันอดอาหารที่บริเวณที่ชุมนุมด้านข้างอาคารสหประชาชาติ พร้อมยื่นข้อเสนอว่า รัฐบาลจะต้องยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสองพื้นที่ คือ ที่จังหวัดกระบี่ และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา จนมีผู้ป่วยเป็นลมถูกพาส่งโรงพยาบาลหลายคน จนกระทั่งในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและตัวแทนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ขอเจรจากับเครือข่ายฯ และลงนามในบันทึกข้อตกลงโดยมีเงื่อนไขหลัก คือ ให้ กฟผ. ถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและกระบี่ และให้กระทรวงพลังงานจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อศึกษาว่า พื้นที่จังหวัดกระบี่และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลามีความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่

 

จำเลยคดีประชามติ อดอาหารเรียกร้องให้เลิกประชามติ-พิสูจน์ความยุติธรรม

 

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำเสนอร่างรัฐธรรมนูญ สู่สาธารณะครั้งแรกเมื่อ 29 มกราคม 2559 เพื่อเปิดรับความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ และแก้ไขปรับปรุงจนเสร็จ นำเสนอร่างสุดท้าย สู่สาธารณะ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ก่อนนำไปออกเสียงประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ตลอดระยะเวลากว่า 6 เดือน ตั้งแต่ประชาชนเข้าถึงร่างรัฐธรรมนูญได้ทางออนไลน์ ไปจนถึงวันลงประชามติ ควรจะเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย แสดงความคิดเห็น และถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน เพื่อการตัดสินใจลงประชามติอย่างมีคุณภาพ แต่การจัดกิจกรรมสาธารณะที่จัดเพื่อแสดงออก กลับทำให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญถูกรัฐดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 166 คน โดยจำเลยที่ถูกดำเนินคดีสองคน ตัดสินใจอดอาหารด้วยเหตุผลทที่ต่างกันไป

 

วิชาญ นักกิจกรรมทวงคืนดินแดนเขาพระวิหาร ผู้ถูกดำเนินคดีจากการไปยืนพูดในตลาดอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ไม่ให้คนไปออกเสียงลงประชามติ ใช้การอดอาหารเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559 โดยตำรวจตั้งข้อหาตามมาตรา 61 วรรค 2 ของพ.ร.บ.ประชามติฯ* และถูกฝากขังที่เรือนจำอุบลราชธานี โดยศาลเรียกหลักทรัพย์ประกันตัวที่ 200,000 บาท แต่วิชาญไม่ได้ขอประกันตัวเพราะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

 

ขณะถูกจำคุกที่เรือนจำกลางอุบลราชธานี วิชาญอดอาหารประท้วง เพื่อเรียกร้องให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยกเลิกประชามติเผด็จการที่หากปล่อยไว้อาจทำให้ประเทศเสียหาย ขณะที่ช่องยูทูปของ "พรรคการนําใหม่ประชาชนปฏิวัติสันติ" ที่วิชาญร่วมเคลื่อนไหวอยู่ด้วย ก็เผยแพร่คลิปเสียงของวิชาญอธิบายเหตุการณ์ที่เขาถูกจับกุม จุดยืนทางการเมืองของเขา และข้อเรียกร้องจากการอดอาหาร ซึ่งได้แก่ การยกเลิกการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และให้สร้างประชาธิปไตยเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง วิชาญอดอาหารประท้วงราว 12 วัน จนยุติเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2559  หลังการลงประชาติ 1 วัน

 

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 ศาลจังหวัดอุบลราชธานีพิพากษาให้ จำคุก 6 เดือน ปรับ 30,000 บาท แต่ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษจำคุกเหลือ 4 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 2 ปี พร้อมตัดสิทธิเลือกตั้ง 2 ปี

 

อีกคนหนึ่ง คือ จตุภัทร์ หรือ ไผ่ ดาวดิน  นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ที่ถูกจับเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2559 หนึ่งวันก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จากการเดินแจกเอกสารเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญให้พ่อค้าแม่ค้าบริเวณตลาดสดภูเขียว จตุภัทร์และเพื่อนถูกจับกุมและส่งเข้าห้องขังที่สถานีตำรวจภูธรภูเขียว จ.ชัยภูมิ ถูกกล่าวหาตามมาตรา 61 วรรค 2 ของพ.ร.บ.ประชามติฯ ทำให้ทั้งสองคนต้องถูกคุมขังจนไม่ได้มีโอกาสไปออกเสียงประชามติด้วย ต่อมาวศินยื่นขอประกันตัวและได้รับการปล่อยตัวออกไปก่อน ส่วนจตุภัทร์ยังคง "ดื้อแพ่ง" ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำและอดอาหารประท้วงเนื่องจากต้องการยืนยันว่า ตนเองไม่ได้ทำผิด และต้องการพิสูจน์กระบวนการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

 

ขณะที่จตุภัทร์อดอาหารนั้น เขาต้องเผชิญกับภาวะเจ็บป่วย ร่างกายอ่อนเพลีย ผู้นำประเทศอย่างพลเอกประยุทธ์ก็กล่าวว่า ถ้าจตุภัทร์ทำผิดกฎหมาย ก็คือ การทำผิดกฎหมาย เขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่สามารถจะไปบอกให้ไปจับหรือบอกให้ปล่อย  ด้านพลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้นกล่าวว่า จากการสอบถามผู้บัญชาการเรือนจำพบว่า จตุภัทร์ไม่ได้อดอาหาร ท้ายที่สุดแม้ว่า จตุภัทร์ยังยืนยันจะอดอาหารต่อ แต่เนื่องจากต้องรับประทานยาเพื่อรักษาอาการ จึงต้องรับประทานขนมปังเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ยากัดกระเพาะและมีอาการกรดไหลย้อน ทำให้ต้องยุติการอดอาหารในวันที่ 12

 

วันที่ 29 มีนาคม 2561 ศาลจังหวัดภูเขียวพิพากษายกฟ้อง ระบุว่า การกระทำของจตุภัทร์ที่ร่วมกันแจกเอกสาร "7 เหตุผลที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ" ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ล้วนนำมาจากที่กำหนดในร่างรัฐธรรมนูญ กรณีนี้จึงเป็นการแสดงความเห็นว่าบุคคลนั้นไม่เห็นด้วยและยังไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการ "ปลุกระดม" แต่อย่างใด ส่วนเอกสารที่เหลือยังอยู่ในกระเป๋าจึงไม่เข้าองค์ประกอบของการเผยแพร่ข้อมูล จึงไม่ถือเป็นการกระทำที่ผิดตามมาตรา 61 วรรค 2 ของพ.ร.บ.ประชามติฯ

 

จำเลย 112 อดอาหารขอใช้โทรศัพท์ในค่ายทหาร

 

ประเวศ ประภานุกูล หรือ ทนายประเวศ ทนายความที่ช่วยเหลือคดีการเมือง ถูกจับกุมในเดือนเมษายน 2560 และคุมตัวไว้ที่มณฑลทหารบกที่ 11 เป็นเวลา 5 วัน ประเวศมีนัดคดีของลูกความที่ต้องรับผิดชอบแต่กลับถูกจับก่อนโดยไม่คาดคิด เขาพยายามขอทหารใช้โทรศัพท์เพื่อฝากให้เพื่อนทนายไปทำคดีแทน แต่ทหารไม่อนุญาต จึงใช้วิธีอดอาหารประท้วงหนึ่งวัน จนกระทั่งมี เสธ. คนหนึ่งมาคุยให้โทรศัพท์ได้ แต่ต้องเปิดลำโพงให้ฟังด้วย หลังจากนั้นเขาถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่า โพสต์เฟซบุ๊กโดยมีเนื้อหาเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 รวม 10 กรรม และฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายตามมาตรา 116 พ่วงกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวม 3 กรรม

 

1039

 

ในชั้นศาลคดีของประเวศถูกสั่งให้พิจารณาลับ ประเวศต่อสู้ด้วยการ "พังระบบ" คือ ปฏิเสธไม่เข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดี โดยจะไม่ให้การต่อศาล ไม่ต้องการทนายความ ไม่ถามค้านพยานโจทก์ ไม่นำสืบพยานจำเลย ไม่ลงชื่อในเอกสารใดๆ ของศาล เนื่องจากกังขาต่อความเป็นกลางของศาลไทยใน "คดีลักษณะนี้"  จนกระทั่งวันที่ 27 มิถุนายน 2561 ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องข้อหามาตรา 112 ทั้งหมด แต่ลงโทษจำคุกข้อหามาตรา 116 กรรมละ 5 เดือน รวม 3 กรรมจำคุก 15 เดือน และฐานไม่พิมพ์ลายนิ้วมืออีก 1 เดือน ประเวศอยู่ในเรือนจำรวม 16 เดือน ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในเดือนสิงหาคม 2561

 

ในยุคคสช. มีประชาชนถูกกล่าวหาในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่น้อยกว่า 95 คน ประชาชนบางคนต้องเผชิญกับโทษจำคุก 10 ปี ต่อการกระทำ 1 กรรม ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่อ่อนไหว มาตรา 112 ถูกนำมาใช้กล่าวหาต่อคู่ขัดแย้งทางการเมือง ยิ่งช่วงที่ความขัดแย้งทางการเมืองสูง ตัวเลขของผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ก็เพิ่มสูงขึ้นไปด้วย

 

ประชาชนอดอาหารเรียกร้องวันเลือกตั้งที่ชัดเจน

 

การเลือกตั้งทั่วไปเพื่อคืนอำนาจสู่รัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยที่ คสช. รับปากว่า จะจัดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 นับเป็นครั้งที่ 6 ที่คสช. ต้องผิดคำพูดและเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกครั้งหนึ่ง เสียงจากประชาชนที่เรียกร้องการเลือกตั้งค่อยๆ ดังขึ้นเรื่อยๆ ที่เด่นชัดที่สุด คือ การเคลื่อนไหวเรียกร้องการเลือกตั้งในเดือนมกราคม 2561 ซึ่งจัดขึ้นมากกว่า 15 ครั้งในหลายจังหวัดคือ กรุงเทพฯ, ชลบุรี, สงขลา, อุบลราชธานี, นครราชสีมาและเชียงใหม่ ข้อเรียกร้องแรก คือ ให้ คสช. จัดการเลือกตั้งทั่วไปภายในเดือนพฤศจิกายน 2561

 

ปลายปี 2561 บรรยากาศผ่อนคลายขึ้นเมื่อ คสช. ชิงประกาศเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 และเริ่มปลดล็อคพรรคการเมือง แต่หลังจากที่ คสช. แสดงท่าทีจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกครั้ง กลุ่มคนอยากเลือกตั้งก็ออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้งในช่วงต้นปี 2562 พร้อมกับผู้อดอาหารเรียกร้องการเลือกตั้งสองคน คนแรก คือ ณราชัย หรือ เสธ.ดำ วันที่ 15 มกราคม 2562 ณราชัยเดินทางมาร่วมการชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่บริเวณแยกราชประสงค์ เวลา 20.00 น. หลังการชุมนุมเสร็จสิ้นณราชัยยังคงนั่งบนรถวีลแชร์ อยู่ที่ใต้ป้ายราชประสงค์ ถือภาพ ร.ต.ฉลาด วรฉัตร นักเคลื่อนไหวประท้วงอดอาหาร โดยระบุว่า ตั้งใจปักหลักประท้วงอดอาหารอยู่ที่แยกราชประสงค์ ไม่ไปไหนจนกว่ารัฐบาลจะประกาศ พ.ร.ฎ.และวันเลือกตั้งที่ชัดเจน ยอมตายเพราะขาดอาหาร บ้านเมืองบอบช้ำมามากแล้ว

 

1040

 

ต่อมาเวลา 22.00 น. อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ เปิดเผยว่า เนื่องจากเป็นห่วงสุขภาพของณราชัย เขาจึงขอให้ยุติการอดอาหารประท้วง จากนั้นเขาและตำรวจนอกเครื่องแบบจึงเดินทางไปส่งณราชัยที่บ้าน

 

อีกคนหนึ่ง คือ เอกราช ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว เป็นอีกคนที่ประกาศอดอาหารเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศวันเลือกตั้งที่ชัดเจน  โดยคืนวันที่ 6 มกราคม 2562 เอกราชได้ยื่นแจ้งการชุมนุมสาธารณะกับสน.พญาไท ระบุว่า จะอดอาหารที่บริเวณเกาะกลางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แต่คล้อยหลังการแจ้งการชุมนุมไม่ถึง 24 ชั่วโมง ในช่วงเย็นของวันที่ 7 มกราคม 2562 เขาก็ไปที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นเหตุให้ตำรวจสน.พญาไทพาตัวเขาไปพูดคุยและแจ้งว่า เขาฝ่าฝืนพ.ร.บ.ชุมนุมมฯ เพราะเริ่มกิจกรรมหลังการแจ้งไม่ถึง 24 ชั่วโมง ทำให้เอกราชต้องเปลี่ยนแผนไปเริ่มอดอาหารในวันที่ 11มกราคม 2562 แทนเป็นเวลา 3 วัน

 

ท่ามกลางสภาพอากาศที่ย่ำแย่ของกรุงเทพมหานคร เอกราชยืนยันที่จะอดอาหารและดื่มน้ำให้น้อยที่สุด เขาบอกว่า ทุกวันเขามีเงินเหลือติดบัญชีเป็นหลักร้อย และที่ผ่านมาเมื่อมีบรรดานักกิจกรรมออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องเลือกตั้ง มักจะถูก คสช. มองว่า เป็น "คนหน้าเดิม" หรือที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่า ไม่ให้ราคา ดังนั้นเขาในฐานะคนที่ไม่เคยเคลื่อนไหวทางการเมือง คนหน้าใหม่จะอดอาหารเพื่อเรียกร้องการเลือกตั้ง จนกว่า คสช. จะประกาศวันเลือกตั้งที่ชัดเจน

/////////////////////////////////////////////////////////////
*มาตรา 61 วรรค 2 ของพ.ร.บ.ประชามติฯ "ผู้ใดดําเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย"

 

Article type: