1879 1150 1301 1225 1959 1067 1620 1433 1871 1998 1464 1507 1558 1864 1553 1280 1295 1923 1716 1354 1405 1195 1163 1992 1492 1992 1905 1536 1001 1099 1801 1986 1811 1692 1056 1200 1467 1487 1022 1665 1467 1471 1155 1835 1405 1712 1313 1302 1605 1651 1040 1123 1246 1138 1089 1783 1460 1929 1260 1772 1696 1872 1180 1134 1167 1447 1636 1715 1180 1150 1657 1826 1186 1733 1517 1111 1989 1222 1156 1954 1142 1531 1971 1660 1097 1421 1743 1872 1001 1376 1108 1731 1471 1265 1310 1951 1619 1230 1726 การศึกษาไทยใต้เงาคสช. | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

การศึกษาไทยใต้เงาคสช.

                                                                                                  สามชาย ศรีสันต์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูล ข้อมูลเพิ่มเติมและเรียบเรียงโดย iLaw
 

อาจเป็นเพราะตลอดเวลาที่คสช.อยู่ในอำนาจ กฎหมายและกลไกอื่นๆของรัฐได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือจำกัดเสรีภาพของบุคลากรในภาควิชาการ อาจารย์และนักศึกษาบางส่วนได้รับสถานะ ”จำเลย” คดีอาญาเป็นของขวัญจากการจัดกิจกรรมทางวิชาการหรือเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง ขณะที่บางคนแม้ไม่มีคดีติดตัวแต่การแสดงออกก็ทำให้พวกเขาถูกหมายปองโดยคสช.บางคนถูกเรียกรายงานตัวในค่ายทหาร บางคนตกเป็นเป้าหมายมีทหารตำรวจเป็นแขกไปเยี่ยมถึงบ้านหรือมหาวิทยาลัย
 
“มหาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ประเทศ ไม่ใช่ค่ายกักกัน” เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง
"สังคมที่จับกุมคุมขังคนหนุ่มสาว จะเป็นสังคมที่ไม่มีอนาคต" ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

จึงเป็นคำกล่าวที่สามชาย ศรีสันต์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หยิบยืมมาใช้บรรยายภาพรวมของเสรีภาพทางวิชาการตลอดระยะเวลาสี่ปีเก้าเดือนที่คสช.สถานปนาอำนาจตัวเองเป็น “องค์อธิปัตย์แห่งรัฐ” ในโอกาสที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้งและคสช.กำลังจะสิ้นบทบาทไปจากสังคมการเมืองไทย สามชายถือโอกาสบอกเล่าบรรยากาศการปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการในยุคคสช.ซึ่งหาพิจารณาจากข้อมูลการปิดกั้นทั้งหมดที่สามชายบรรยายมา การจะเรียกยุคนี้ว่ายุควิชาการลายพรางก็คงไม่ผิดนัก 
 

นักศึกษา - นักวิชาการ กับทัศนคติที่ต้องปรับ

 
การปรับทัศนคติคือการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการรูปแบบแรกที่สามชายยกขึ้นมา ซึ่งกลุ่มคนในแวดวงวิชาการที่ตกเป็นเป้าหมายของการปรับทัศนคติมีทั้งนักศึกษาและนักวิชาการ โดยในส่วนของนักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัย สามชัยระบุว่ามีอย่างน้อย 16 คน ที่ถูกเรียกเข้ารายงานตัว เช่น   
 
สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชัยอนันต์ สมุทวณิช นักวิชาการอาวุโสด้านรัฐศาสตร์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อดีตอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเกียวโต ใจ อึ๊งภากรณ์ อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาหัวหิน และ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น 
 
หลังไอลอว์สำรวจรายชื่อที่สามชายระบุมาพบว่ามีนักวิชาการส่วนหนึ่งที่หลังจากถูกเรียกเข้ารายงานตัวก็ได้รับตำแหน่งในหน่วยงานที่คสช.ตั้งขึ้น เช่น ชัยอนันต์ ได้เป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย (สปท.)  หรือ สุรพล นิติไกรพจน์ ได้รับการแต่งตั้คณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการเมือง เป็นต้น ขณะเดียวกันก็มีนักวิชาการอีกส่วนหนึ่งที่ไม่เข้ารายงานตัวกับคสช. เช่น สมศักดิ์ ปวิน ใจ และสุดา รังกุพันธุ์ อดีตอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ไม่เข้ารายงานตัวกับคสช. โดยทั้งสี่น่าจะถูกออกหมายจับในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวและ ขณะที่วรเจตน์ซึ่งระหว่างถูกเรียกรายงานตัวอยู่ต่างประเทศและได้พยามแจ้งเหตุขัดข้องกับคสช. แต่สุดท้ายก็ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวเช่นกัน ขณะนี้คดีของวรเจตน์ก็ยังคงอยู่ในการพิจารณาของศาลทหารกรุงเทพ 
 
1075
 
มีข้อน่าสังเกตเพิ่มเติมด้วยว่านักวิชาการที่ถุกเรียกรายงานตัวหากไม่ใช่ผู้ที่คสช.ประสงค์จะทำงานด้วยก็จะเป็นนักวิชาการที่คสช.เห็นว่าเคยวิจารณ์ประเด็นอ่อนไหวอย่างประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่ง วรเจตน์ ปวิน สมศักดิ์ และสุดา ก็อยู่ในกลุ่มนี้  ขณะที่ใจก็เคยเขียนหนังสือ A Coup for the Rich ออกเผยแพร่ช่วงหลังการรัฐประหารปี 2549 ซึ่งต่อมาหนังสือดังกล่าวก็ถูกกล่าวหาว่าเข้าค่ายผิดมาตรา 112 
 
สำหรับนักศึกษาที่เคยถูกเรียกเข้ารายงานตัวในค่ายทหาร สามชายให้ข้อมูลว่ามีอย่างน้อย 7 คน ได้แก่ศรัณย์ ฉุยฉายหรือ ”อั้ม เนโกะ” อดีตนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เคยถูกร้องทุกข์กล่าวโทษว่าให้สัมภาษณ์สื่อเข้าข่ายผิดมาตรา 112 ในปี 2556 ถูกเรียกรายงานตัวโดยคำสั่งคสช.ฉบัที่ 57/2557

ส่วนอีกหกคนในวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม 6 คน ถูกเรียกรายงานตัวหลังจัดกิจกรรมต่อต้านรัฐประหาร ทั้งหกเข้ารายงานตัวตามคำสั่งแต่โดยได้ดี สามชายระบุว่าจากการสอบถามข้อมูลจากนักศึกษาเหล่านั้นพวกเขาถูกข่มขู่ในขณะอยู่ในค่าย เช่น “มึงเคยโดนไหม แบบนี้ อุ้มหายและไม่มีกระทั่งรอยนิ้วมือ” หรือ “ตอนนี้กูคุมอำนาจทั้งประเทศอยู่ มึงอยากมีเรื่องหรอ” และ “มึงอยากได้นักหรอประชาธิปไตย มึงเคยโดนอุ้มหายแบบไม่รู้ตัวหรือเปล่า” เป็นต้น   
 
นอกจากกรณีของทั้งเจ็ดคน สามชายระบุว่ายังมีกรณีของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงรายที่จัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และต่อมาถูกเรียกเข้าไปพูดคุยในค่ายเม็งรายมหาราช แต่สามชายไม่ได้ระบุว่าในกรณีนี้มีนักศึกษาถูกเรียกเข้าค่ายกี่คน 

 

เพราะ ”ห่วงใย” ถึงต้องมา – การติดตามนักวิชาการและนักศึกษาโดยฝ่ายความมั่นคง


สามชายระบุว่า นอกจากการ ”เชิญ” นักวิชาการหรือนักศึกษาไปเข้าค่ายปรับทัศนคติแล้ว การติดตามนักวิชาการและนักศึกษาที่แสดงออกทางการเมืองไปที่บ้านหรือในสถานศึกษาก็เป็นอีกหนึ่งในมาตรการที่ถูกนำมาใช้อย่างเข้มข้นในยุคคสช. เช่น 
ในวันที่ 2 ธันวาคม 2557 เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ราว 20 นาย นำโดย พล.ต.ศรายุทธ รังษี ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ เดินทางเข้ามาภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อพูดคุยกับนักวิชาการกลุ่มมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนที่มักแสดงความคิดเห็นในประเด็นทางสังคมหรือการเมืองอยู่เป็นระยะ 

ในวันที่ 5 มีนาคม 2558 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสองนายขอเข้าพบวินัย ผลเจริญ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่มหาวิทยาลัย เนื่องจากเพราะสงสัยว่าเขาเป็นผู้แขวนฝ้ายผ้า "เผด็จการจงบรรลัย ประชาธิปไตยจงเจริญ" ในบริเวณมหาวิทยาลัยมหาสารคาม หลังจากเขาโพสต์ภาพป้ายผ้าดังกล่าวบนเฟซบุ๊กส่วนตัว
 
1076

ในวันที่ 20 มีนาคม 2558 เจ้าหน้าที่ทหารมณฑลทหารบกที่ 32 เดินทางไปขอเข้าพบ ผศ.เล็ก แสงมีอานุภาพ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง และภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจหลังพบว่ามีการแขวนป้าย “พลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหาร” ที่บริเวณสะพานลอยหน้ามหาวิทยาลัย 

และในวันที่ 22 กรกฎาคม 2561 เจ้าหน้าที่ทหารติดต่อขอเข้าพบฐิติพล ภักดีวานิช คณะบดีคณะรัฐศาสตร์ กับ ธีระพล อันมัย และ เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่มหาวิทยาลัย เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจและสอบถามว่ากลุ่มนักศึกษาจะมีการทำกิจกรรมต่อต้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ซึ่งมีกำหนดประชุมครม.สัญจรในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและอำนาจเจริญระหว่างวันที่ 23 – 24 กรกฎาคม หรือไม่ 
 
นอกจากการไปติดตามนักวิชาการที่มหาวิทยาลัยที่สามชายให้ข้อมูลแล้ว ไอลอว์ยังมีข้อมูลว่ามีอย่างน้อยสองกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารไปติดตามนักศึกษาที่ทำกิจกรรมถึงที่บ้าน ได้แก่ กรณีของสิรวิชญ์หรือนิว อดีตนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และกรณีของนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นกลุ่มดาวดิน 
 
ในวันที่ 14 มกราคม 2559 เจ้าหน้าที่ทหารนำกำลังไปทำการตรวจค้นบ้านของสิรวิชญ์ซึ่งขณะทำการตรวจค้นเจ้าตัวไม่อยู่บ้านโดยขณะนั้นมีเพียงยายของเขาที่อายุมากอยู่บ้านคนเดียว โดยที่หลังการตรวจค้นเจ้าหน้าที่ได้ยึดตั๋วรถไฟซึ่งเป็นของสะสมของสิรวิชญ์ไปด้วย การตรวจค้นครั้งนี้เกิดขึ้นหลังสิรวิชญ์ทำกิจกรรมนั่งรถไฟไปตรวจสอบการทุจริตการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ในวันที่ 7 ธันวาคม 2558  มีรายงานด้วยว่าช่วงค่ำวันที่ 20 มกราคม ระหว่างที่สิรวิชญ์กำลังเดินอยู่ด้านนอกมหาวิทยาลัยรังสิต ก็ถูกกลุ่มบุคคลแต่งคล้ายทหารอุ้มตัวขึ้นรถเอาผ้าคลุมหัวก่อนพาไปทำพฤติการณ์ข่มขู่กลางทุ่งหญ้าแห่งหนึ่ง  ซึ่งในเวลาต่อมาพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณก็ชี้แจงถึงกรณีนี้ว่า สิรวิชญ์ถูกศาลออกหมายจับ หากเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการก็จะถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เสียเอง และการจับกุมนั้นเป็นไปตามมาตรการขั้นตอน กระบวนการสากลทุกประการ       
 
ในวันที่ 21 มีนาคม 2560 พล.ท.พิทักษ์พล ชูศรี นำกำลังทหารตำรวจเข้าทำการตรวจค้นบ้านเช่าของนักศึกษากลุ่มดาวดินในช่วงเช้าเพื่อตรวจค้นโดยไม่มีการนำหมายศาลไปแสดง การตรวจค้นเกิดขึ้นในวันเดียวกับที่พล.อ.ประยุทธ์มีกำหนดเดินทางไปกล่าวปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นในช่วงสายวันเดียวกัน ทั้งนี้ในเดือนพฤศจิกายนปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์เคยเดินทางไปปฏิบัติราชการที่จังหวัดขอนแก่น ครั้งนั้นมีนักศึกษากลุ่มดาวดินที่แฝงตัวเข้ามาอยู่ในงานและได้สวมเสื้อเขียนข้อความ "ไม่ เอา รัฐ ประ หาร" และแสดงสัญลักษณ์สามนิ้วต่อหน้าพล.อ.ประยุทธ์ 
นอกจากสองกรณีข้างต้นที่ไอลอว์ไปสืบค้นข้อมูลมา สามชายระบุว่ายังมีกรณีเจ้าหน้าที่สนธิกำลังเข้าตรวจค้นที่พักย่านรามคำแหงของกลุ่มนักศึกษาที่มาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงเดือนตุลาคม 2559 ซึ่งนักศึกษาส่วนหนึ่งถุกพาไปคุมตัวในสถานที่ที่ไม่มีการเปิดเผยก่อนจะถูกปล่อยตัวโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาและมีอย่างน้อยห้าคนที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำมณฑลทหารบกที่ 11 ก่อนถูกส่งตัวไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี แต่ไม่มีข้อมูลว่าทั้งห้าถูกดำเนินคดีใดๆหรือไม่

 

เราทำตามกฎหมาย! การดำเนินคดีกับนักศึกษาและนักวิชาการที่ร่วมกิจกรรมสาธารณะ

 
หลังการยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช.ออกประกาศฉบับที่ 7/2557 กำหนดให้การชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนเป็นความผิดทางอาญามีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หลังจากนั้นในเดือนเมษายน 2558 เมื่อมีการยกเลิกกฎอัยการศึกที่ประกาศใช้ทั่วประเทศยกเว้นพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 โดยที่ข้อ 12 ของคำสั่งดังกล่าวกำหนดให้การชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนที่จัดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคสช. เป็นความผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558  ถูกบังคับใช้เรื่อยมาก่อนถูกยกเลิกในเดือนธันวาคม 2561 โดยตลอดเวลาที่มีการบังคับใช้มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยประกาศและคำสั่งนี้อย่างน้อย 421 คน 
 
สามชายให้ข้อมูลว่าตลอดเวลาที่ประกาศและคำสั่งหัวหน้าคสช. เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองถูกบังคับใช้ มีการนำมาดำเนินคดีกับนักวิชาการ และนักศึกษากลุ่มหนึ่ง ที่ออกมาร่วมชุมนุมทางการเมือง หรือแม้กระทั่งจัดกิจกรรมเชิงวิชาการในสถานศึกษา โดยมีกรณีที่น่าสนใจดังนี้ 
 
ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 อภิชาติ นักศึกษาบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกจับกุมตัวจากสกายวอล์กหอศิลป์กรุงเทพหลังฃูป้าย “ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน” ต่อต้านการรัฐประหาร อภิชาติถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 ไอลอว์ได้ติดตามการพิจารณาคดีนี้อย่างละเอียด โดยล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2561 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนว่าการกระทำของอภิชาตเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ลงโทษปรับ 6000 บาทโดยไม่ลงโทษจำคุก 
 
1077
 
ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 วันครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหาร ก็มีกลุ่มนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยร่วมกันทำกิจกรรมรำลึกครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหาร 

ที่จังหวัดขอนแก่น นักศึกษากลุ่มดาวดินเจ็ดคนทำกิจกรรมชูป้ายคัดค้านการรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น ทั้งเจ็ดถูกควบคุมตัวที่สภ.เมืองขอนแก่นเป็นเวลาหนึ่งคืนและถูกตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ในเวลาต่อมีมีนักศึกษาสองคนคือจตุภัทร์ หรือ "ไผ่ ดาวดิน" และภาณุพงษ์ หรือ "ไนซ์ ดาวดิน" ที่ถูกฟ้องคดีต่อศาลทหารขอนแก่น จตุภัทร์ถูกฟ้องคดีในเดือนสิงหาคม 2559 ส่วนภานุพงษ์ถูกฟ้องคดีในเดือนธันวาคม 2560 อย่างไรในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 คดีของทั้งสองถูกจำหน่ายออกจากสารบบความเนื่องจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ถูกใช้เป็นฐานในการดำเนินคดีถุกยกเลิกไปแล้ว 
 
ที่ในกรุงเทพมหานครก็มีกลุ่มนักศึกษานัดรวมทำรำลึกถึงโอกาสครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพด้วยเช่นกัน โดยระหว่างที่กลุ่มนักศึกษาทำกิจกรรมที่บริเวณหน้าหอศิลป์กรุงเทพเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ทำการควบคุมตัวนักศึกษาอย่างน้อยสามสิบคนไปที่สน.ปทุมวัน ในจำนวนนั้นมีนักศึกษา 9 คนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ในเวลาต่อมามีนักกิจกรรมและนักศึกษารวมสี่คนที่ถูกฟ้องคดีต่อศาลทหารกรุงเทพ ได้แก่ รังสิมันต์ ซึ่งขณะเกิดเหตุศึกษาอยู่ทีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณัชชชาซึ่งขณะเกิดเหตุศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ส่วนพรชัยกับธัชพงศ์ขณะเกิดเหตุจบการศึกษาแล้ว   ขณะนี้คดีของทั้งสี่ถูกศาลทหารกรุงเทพจำหน่ายไปแล้วเนื่องจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ถูกยกเลิกไปแล้ว
 
นอกจากคดีทั้งสองก็มีกรณีที่นักศึกษากลุ่มดาวดินเจ็ดคน และนักศึกษาเจ็ดจากเก้าคนที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพที่กล่าวไปข้างต้น ร่วมกันทำกิจกรรมเดินเท้จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์มายังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเดือนมิถุนายน 2558 ทั้ง 14 คนถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 

มีความน่าสนใจว่าทั้ง 14 คนถูกตำรวจจับกุมตัวในช่วงเย็นและนำตัวมาฝากขังที่ศาลในช่วงค่ำหลังเวลาราชการ ทั้ง 14 ขอให้ศาลไต่สวนว่ามีเหตุจำเป็นให้ต้องฝากขังผู้ต้องหาหรือไม่ การไต่สวนดำเนินไปถึงเวลาเที่ยงคืนก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งว่ามีเหตุอันควรให้ฝากขังทั้งหมดเป็นเวลา 12 วัน ทั้ง 14 คนยืนยันว่าจะไม่ใช้สิทธิประกันตัวจึงถูกฝากขังในเรือนจำเป็นเวลา 12 วัน กอนจะมาได้รับการปล่อยตัวหลังครบ 12 วันเพราะศาลไม่อนุญาตให้พนักงานสอบสวนฝากขังต่อเป็นผลัดที่สอง สำหรับความคืบหน้าของคดีปัจจุบันยังไม่มีการสั่งฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพ    
 
ในปี 2559 ก็มีนักศึกษาที่ออกมาทำกิจกรรมทางการเมืองจนถูกดำเนินคดีอีกอย่างน้อย 3 คดี โดยเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติอย่างสองคดีได้แก่คดีพูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน และคดีแจกเอกสารรณรงค์โหวตโนที่เคหะบางพลี ส่วนอีกกิจกรรมเป็นกิจกรรมรำลึกการเปลี่ยนแปลงปกครอง 2475
 
วันที่ 23 มิถุนายน 2559 นักศึกษา นักกิจกรรมด้านแรงงาน และนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่รวม 13 คน ร่วมกันแจกเอกสาร 7 เหตุผลที่ไม่ควรออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารแนะนำการขอออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดของกกต.ที่เคหะบางพลี ระหว่างที่กำลังแจกเอกสารพวกเขาถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวและถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 และข้อหาเผยแพร่ข้อมูลเท็จเพื่อให้ผู้มีสิทธิไม่ไปออกเสียงหรือออกเสียงไปทางใดทางหนึ่งตามพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2 

ในจำนวน 13 คนมีนักศึกษาและนักกิจกรรมเจ็ดคนที่ปฏิเสธจะใช้สิทธิประกันตัวเพราะเห็นว่าการฝากขังพวกเขาต่อศาลเป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรมและไม่มีเหตุอันควร พวกเขาจึงถุกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลา 12 วัน ส่วนผู้ต้องหาอีก 6 คนที่ขอประกันตัวศาลอนุญาตให้ประกันตัวและปล่อยตัวไปในวันเดียวกัน หลังจากฝากขังครบ 12 วันพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังต่อเป็นผลัดที่สองแต่ศาลยกคำร้อง ผู้ต้องหาทั้งเจ็ดคนที่ถุกคุมขังจึงได้รับการปล่อยตัว ผู้ัต้องหาทั้ง 13 คนถูกฟ้องคดีต่อศาลครบทุกคนในเดือนมกราคม 2561 คดีอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลทหารกรุงเทพเรื่อยมาแต่ยังไม่มีการสืบพยาน จนกระทั่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนเพราะคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ถูกยกเลิกไปแล้ว ส่วนข้อหาตามพ.ร.บ.ประชามติฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจศาลใดระหว่างศาลพลเรือนกับศาลทหาร 
 
ส่วนอีกหนึ่งในวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการ "พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน" ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่คืนวันที่ 30 กรกฎาคมซึ่งทีมงานกำลังจัดสถานที่ก็มีเจ้าหน้าที่เข้ามาแทรกแซงการใช้สถานจัดงานและขนเก้าอี้บางส่วนออกไป ในวันที่ 31 กรกฎาคมระหว่างที่กิจกรรมกำลังเดินไปเจ้าหน้าที่ก็มีการเข้ามารื้อเวทีแต่กลุ่มผู้จัดก็ทำกิจกรรมไปจนจบ ในเวลาต่อมามีนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เป็นผู้จัดงานรวมสี่คนถูกแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ร่วมกับนักกิจกรรมคนอื่นๆอีกรวมสิบคน ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ศาลทหารขอนแก่นมีคำสั่งจำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความเนื่องจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ถูกยกเลิกไปแล้ว 
 
สำหรับคดี "ปัดฝุ่นประชาธิปไตย" เป็นกิจกรรมรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จัดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2558 โดยนักกิจกรรมเจ็ดคนซึ่งมีนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยรามคำแหงรวมอยู่ด้วย ทั้งเจ็ดร่วมกันเดินเท้าจากวัดพระศรีมหาธาตุบางเขนไปทำความสะอาดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ วงเวียนหลักสี่ นักกิจกรรมทั้งเจ็ดเดินเท้ามาถึงหัวมุมถนนวงเวียนหลักสี่แต่ไม่ทันข้ามไปอนุสาวรีย์ก็ถูกจับกุมตัวเสียก่อน ทั้งเจ็ดถูกตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 

หลังถูกจับในวันเกิดเหตุคดีก็ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆจนกระทั่งในเดือนสิงหาคม 2561 ทั้งเจ็ดจึงถูกพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกไปส่งฟ้องต่ออัยการ โดยมีข้อน่าสังเกตว่าก่อนหน้าทั้งเจ็ดจะถูกออกหมายเรียกไม่กี่วันมีการขึ้นป้ายผ้าต่อต้านพล.อ.ประยุทธ์ที่มีกำหนดไปปฏิบัติราชการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งนักกิจกรรมบางส่วนในคดีนี้ก็กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เลยเคยทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มกิจกรรมที่โพสต์ภาพป้ายผ้าดังกล่าว ในเดือนมกราคม 2562 ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งจำหน่ายคดีนี้เนื่องจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ถูกยกเลิกไปแล้ว
 
สำหรับการดำเนินคดีนักวิชาการจากการร่วมกิจกรรมสาธารณะที่สามชายยกตัวอย่างมีสองกรณีได้แก่กรณีการจัดแถลงข่าว "มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร" และการชูป้ายเขียนข้อความ "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" โดยทั้งสองคดีเกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่
 
คดีการจัดแถลงข่าว "มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร" เกิดขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคม 2558 นักวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัยรวมแปดคนจัดแถลงข่าว "มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร" ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเะชียงใหม่เพื่อตอบโต้กรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ในวันที่ 27 ตุลาคม 2558 ในทำนองว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยบางส่วนสอนให้นักศึกษามีความคิดเชิงต่อต้าน และไม่เคารพกติกา นักวิชาการแปดคน เช่น อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ และ สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งแปดร่วมอ่านแถลงการณ์ซึ่งสรุปได้ว่าการใช้อำนาจข่มขู่ไม่สามารถพาสังคมไทยให้พ้นจากความขัดแย้งเพื่อไปสู่สังคมที่มีสันติภาพได้ หลังการอ่านแถลงการณ์นักวิชาการทั้งแปดก็เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนถามคำถาม
 
ในเดือนพฤศจิกายน 2558 พนักงานสอบสวนทยอยออกหมายเรียกนักวิชาการทั้งแปดไปรับทราบข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ในเดือนธันวาคมนักวิชาการหกจากแปดคนตัดสินใจเข้ากระบวนการอบรมกับเจ้าหน้าที่ทหาร ข้อกล่าวหาจึงถูกถอนไป เหลือสมชายและอรรถจักร์ที่ไม่ยอมเข้ากระบวนการดังกล่าว ขณะนี้คดีของสมชายและอรรถจักร ยังคงอยู่ในการพิจารณาของอัยการ
 
ส่วนคดี "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2560 ระหว่างที่มีการประชุมวิชาการนานาชาติ ไทยศึกษาที่จังหวัดเชียงใหม่ ปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าไปสังเกตการณ์ ตั้งกล้องถ่ายวิดีโอ รวมทั้งเอาหูฟังแปลภาษาที่เตรียมไว้ให้ผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานไปใช้ นักแปลอิสระและนักศึกษาที่เข้าร่วมงานรวมสามคนถือป้ายเขียนข้อความ "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" พร้อมถ่ายภาพโพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อกรณีดังกล่าว
 
ในเวลาต่อมาบุคคลสามคนข้างต้นและบุคคลอีกสองคนซึ่งมีชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้จัดเวทีเสวนาวิชาการนานาชาติไทยศึกษารวมอยู่ด้วย ถูกออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 โดยที่ชยันต์ไม่ได้อยู่ร่วมในภาพถ่ายหรือเกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพดังกล่าว ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2561 ผู้ต้องหาทั้งห้าคนถุกฟ้องคดีต่อศาลแขวงเชียงใหม่ การสืบพยานคดีนี้เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2561 ซึ่งระหว่างการสืบพยานมีการยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ศาลแขวงเชียงใหม่จึงยุติการสืบพยานคดีนี้และพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งห้า
 

“ซอมเบิ่งอยู่เด้อ” การแทรกแซงและสอดแนมกิจกรรมวิชาการโดยฝ่ายความมั่นคง

 
นอกจากการเรียกปรับทัศนคติ ไปเยี่ยมเยียนที่บ้าน และการดำเนินคดีนักวิชาการ นักศึกษา ที่ออกมาร่วมทำกิจกรรมสาธารณะและกิจกรรมทางการเมืองแล้ว การแทรกแซงการทำกิจกรรมทางวิชาการยังเป็นอีกหนึ่งในวิธีการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้ในการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการโดยเฉพาะกิจกรรมที่มีความอ่อนไหวหรือมีแนวโน้มจะมีการวิพากษ์วิจารณ์คสช.อย่างแหลมคม ขณะที่การปรากฎตัวของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบตามงานเสวนาประเด็นทางการเมืองและประเด็นทางสังคมต่างๆก็แทบจะกลายเป็นแนวทางปฏิบัติปกติของยุคสมัยไปแล้ว
 
สามชายยกตัวอย่างการแทรกแซงกิจกรรมการเรียนการสอนในยุคคสช.ว่า ในเดือนมีนาคม 2561 เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ได้รับจดหมายแจ้งข้อมูลจาก อัจฉรา รักยุติธรรม อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ว่า ตามที่เะอจัดกิจกรรม “คุยกับผู้ต้องหา คนธรรมดาที่อยากเลือกตั้ง” เชิญวิทยากรซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งมาพูดคุยกับนักศึกษา และมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปมาร่วมกิจกรรมได้ ปรากฎว่าก่อนหน้าวันจัดงานเพียงหนึ่งวันมีเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจติดต่อขอพูดคุยกับหัวหน้าภาคเรื่องกิจกรรมดังกล่าว ต่อมาในวันงานมีชายแปลกหน้าที่ไม่ได้ลงทะเบียนล่วงหน้าเข้ามาในงานอ้างว่า "ขอตากแอร์" ตั้งแต่ก่อนเวลาเริ่มงาน และหลังจากนั้นก็มีชายตัดผมสั้นเกรียนมาคอยบันทึกภาพและเสียงกิจกรรมไว้โดยตลอด 
 
1078
 
นอกจากกรณีที่สามชายยกตัวอย่างมาไอลอว์ยังมีกรณีตัวอย่างการแทรกแซงหรือปิดกั้นกิจกรรมอื่นๆ เช่น 
 
ในเดือนกันยายน 2557 นักกิจกรรมกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยจัดงานเสวนา ห้องเรียนประชาธิปไตยบทที่ 2 การล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ซึ่งปรากฎว่าระหว่างที่งานเสวนากำลังดำเนินไป เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยก็เข้ามาเจรจาให้นักศึกษายุติการทำกิจกรรม และยังได้เชิญตัวนักศึกษากับนักวิชาการที่เป็นวิทยากรไปที่สภ.คลองหลวงเพื่อพูดคุยด้วย 
 
นอกจากนี้ก็มีกรณีในวันที่ 26 เมษายน 2558 องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) และกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD)ประกาศยกเลิกกิจกรรมเสวนาสาธารณะ “จอมพลสฤษดิ์ และมรดกที่ประกอบสร้างจากยุคพัฒนา” โดยให้เหตุผลว่าเบื้องต้นทางผู้จัดจะจัดกิจกรรมในวันที่  5 เมษายน 2558 โดยขออนุญาตใช้สถานที่กับทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 31 มีนาคม 2558 แต่ไม่ได้รับอนุญาตโดยมหาวิทยาลัยอ้างว่าทางผู้จัดต้องไปขออนุญาตคสช.ก่อน ทางผู้จัดจึงทำหนังสือขออนุญาตจัดกิจกรรมไปยัง คสช.ในวันเดียวกัน แต่หนังสือตอบรับมาช้ากว่ากำหนดจัดงานจึงได้เลื่อนการจัดงานออกไปครั้งหนึ่ง 

ต่อมาทางผู้จัดทำหนังสือขออนุญาตจัดงานส่งไปถึงคสช.อีกครั้งพร้อมกำหนดวันจัดงานใหม่ ต่อมาเมื่อผู้จัดไปรับหนังสือตอบรับที่สน.ชนะสงครามซึ่งเป็นเจ้าของท้องที่ก็ได้รับแจ้งว่า ให้เปลี่ยนหัวข้อและเนื้อหาการเสวนา มิเช่นนั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรม ทางผู้จัดจึงตัดสินใจยกเลิกการจัดกิจกรรม
 
นอกจากการแทรกแทรงกิจกรรมในลักษณะให้ยกเลิกหรือเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานแล้วสามชายยังยกตัวอย่างว่ามีบางกิจกรรมที่เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาจัดร่วมกับทางมหาวิทยาลัยเอง เช่น ในวันที่ 16 สิงหาคม 2561 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จัดกิจกรรมพัฒนาระเบียบวินัยและคุณลักษณะที่พึ่งประสงค์ โดยใช้ชื่อโครงการว่า WU Next Generation Leadership 2018 เพื่อให้นักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งมีวินัยในตนเอง มีความกตัญญู จิตอาสาและภาวะผู้นำ  โดยนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งทั้ง 2,263 คนต้องเข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม ถึงวันที่ 30 กันยายน 2562 รวม 16 ครั้ง ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาทำกิจกรรมสร้างระเบียบวินัย และสอนเรื่องภาวะผู้นำให้กับนักศึกษาด้วย 
 
 
 
  
 

 

Article type: