1277 1908 1488 1571 1090 1420 1122 1229 1935 1492 1258 1786 1532 1478 1353 1777 1570 1562 1297 1399 1377 1473 1306 1725 1030 1160 1180 1503 1591 1262 1999 1575 1723 1628 1270 1407 1846 1146 1584 1392 1088 1903 1499 1981 1386 1034 1282 1955 1746 1024 1609 1663 1313 1606 1680 1511 1550 1036 1819 1139 1260 1591 1783 1548 1127 1545 1004 1189 1016 1214 1793 1464 1138 1391 1517 1163 1705 1320 1298 1017 1440 1160 1770 1763 1144 1482 1703 1279 1446 1799 1201 1742 1715 1394 1931 1438 1974 1816 1949 เลือกตั้ง 62: ทัศนคติต่อการวิจารณ์ของ "ลุงตู่" น่ากังวลหากยังเป็นนายกฯ ต่อ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

เลือกตั้ง 62: ทัศนคติต่อการวิจารณ์ของ "ลุงตู่" น่ากังวลหากยังเป็นนายกฯ ต่อ

 
 
8 กุมภาพันธ์ 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศรับคำเชิญพรรคพลังประชารัฐเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี พลันที่พล.อ.ประยุทธ์ ตอบตกลง เขาก็มีสถานะ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพิ่มอีกหนึ่งตำแหน่งจากเดิมที่เขาเป็นทั้งนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มและยังเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติผู้มีอำนาจตามมาตรา 44 ซึ่งสามารถออกคำสั่งทั้งทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการใดๆ ก็ได้ออกบังคับโดยมีสถานะเป็นกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 
 
ตลอดระยะเวลาเกือบห้าปี ที่พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศ ตั้งแต่การรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ก็ควบสองตำแหน่งบริหารประเทศเรื่อยมา กฎหมายและมาตรการต่างๆ ถูกประกาศใช้ออกมาโดยอำนาจในฐานะหัวหน้า คสช. เพื่อเป็นฐานในการจำกัดการแสดงออก การจับกุม ดำเนินคดีกับประชาชน เช่น ใช้เรียกคนไปขังในค่ายทหาร หรือส่งเจ้าหน้าที่ทหารมา "พูดคุย" ที่บ้าน อำนาจพิเศษเช่นนี้ถูกใช้เพื่อสร้างบรรยากาศที่ปิดกั้นอยู่นาน และแม้ว่า กำลังจะมีการเลือกตั้ง แต่หากพล.อ.ประยุทธ์ ยังคงได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป สถานการณ์เสรีภาพก็ยังมีความน่ากังวล โดยพิจารณาได้จากทั้งคำกล่าวที่แสดงถึงวิธีคิดของพล.อ.ประยุทธ์ เกี่ยวกับการชุมนุมในโอกาสต่างๆ และแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา
 
โหวกเหวกโวยวาย ถึง อากาศเป็นพิษ ทัศนคติที่น่ากังวลของ "ท่านผู้นำ"
 
การเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ใช้อำนาจบริหารประเทศ ย่อมหนีไม่พ้นการถูกวิพากษ์วิจารณ์ เพราะนโยบายของรัฐย่อมให้คุณให้โทษกับกลุ่มคนหรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งดำรงอยู่ในสถานะนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ที่มีอำนาจตามมาตรา 44 ยิ่งต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์หนักยิ่งขึ้นทั้งในเชิงส่วนตัวและเชิงนโยบายที่สามารถให้คุณให้โทษกับประชาชนหรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ได้ 
 
ระหว่างเวลาที่พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนากยกรัฐมนตรี เคยมีกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์พูดถึงการแสดงออกหรือการชุมนุมของคนกลุ่มต่างๆ ในลักษณะเป็นแง่ลบ แสดงถึงความรำคาญหรือไม่ชอบใจ เช่น ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 เมื่อกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนัดจัดกิจกรรมเรียกร้องการเลือกตั้ง ในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2561 พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์กับสื่อเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวตอนหนึ่งพอสรุปได้ว่า 
 
"เรื่องของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ตัวเขา(พล.อ.ประยุทธ์) ไม่ต้องการจะขัดแย้งด้วย แต่ขอว่าอย่าทำให้บ้านเมืองขัดแย้งจนเกิดความเสียหาย การประกาศชุมนุมเพิ่มขึ้นก็ต้องไปดูว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้าผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนตัวไม่อยากให้ประชาชนที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงไปร่วมมือกับเขา (ผู้จัดชุมนุม) มาตรา 44 ที่ห้ามการชุมนุมก็เป็นกฎหมายเชิงป้องกัน ไม่เคยใช้อำนาจมาตรา 44 หรือ คสช.ไปลงโทษ ถ้าจะลงโทษก็จับติดคุก 2 ปี ได้ทั้งหมด" 
 
1082

กลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ถูกดำเนินคดี #MBK39 เดินไปเข้ากระบวนการผัดฟ้องศาลแขวงปทุมวัน
 
"นักศึกษา นิสิต ผมคิดว่าสงสารพ่อแม่บ้างเถอะ ต้องไปดูพวกนี้เรียนมากี่ปีแล้ว จะจบเมื่อไร อะไรอย่างไร ไม่งั้นก็ไม่จบหรอก เรียนจบมาก็เป็นแบบนี้ อย่าไปคิดว่าเราจะต้องไปเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง และอย่าลืมว่าการเปลี่ยนแปลงโดยทำให้บ้านเมืองเสียหาย ประชาชนเดือดร้อนบาดเจ็บล้มตาย มันไม่ใช่เรื่องในวันนี้ ต่างประเทศเขาทำมา 200 กว่าปี ที่ตายเจ็บกันขนาดนั้น ของเราเพิ่งจะเริ่มมาไม่กี่ปีนี้ โดยที่เป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกัน อย่าให้มันเกิดอีกเลย" 
 
คำให้สัมภาษณ์นี้อาจสะท้อนถึงทัศนคติของพล.อ.ประยุทธ์ต่อกลุ่มนักศึกษาที่เป็นคนจัดกิจกรรมว่า เป็นกลุ่มคนที่ชอบสร้างปัญหา สร้างความวุ่นวายทำให้พ่อแม่เดือดร้อน นอกจากนี้ก็ยังสะท้อนว่าประชาชนที่มาร่วมชุมนุมเป็นเพียงเหยื่อที่ถูกชักจูงไม่ใช่พลเมืองที่มีวิจารณญาณตัดสินใจเข้าร่วมทำกิจกรรมด้วยเจตจำนงค์อิสระของตัวเอง นอกจากนี้ในส่วนของคำสัมภาษณ์ที่เกี่ยวกับบทลงโทษตามคำสั่งหัวหน้า คสช. หากไม่ใช่สื่อมวลชนรายงานคลาดเคลื่อนก็หมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์เองยังไม่ทราบว่าโทษของความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน (คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ออกโดยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557) กำหนดโทษจำคุกกับผู้ฝ่าฝืนไว้ที่ไม่เกินหกเดือน ไม่ใช่สองปี    
 
ต่อมาในวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ระหว่างที่พล.อ.ประยุทธ์ไปร่วมปลูกต้นไม้ในจังหวัดราชบุรี พล.อ.ประยุทํธ์กล่าวระหว่างการมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า 
 
วันนี้พูดมากปวดหัว พูดทุกวันแต่อากาศดี มีออกซิเจนเข้าปอด แต่เมื่อวานออกซิเจนน้อย เพราะมีชุมนุม คนเยอะอากาศเป็นพิษ แต่ทุกอย่างเรียบร้อย ไม่ลุกลามบานปลาย เพราะประชาชนทุกคนเข้าใจ และรัฐบาลก็ได้ประกาศไปแล้ว แต่เมื่อขออนุญาตแล้วก็อยู่ที่เดียว ขอยืนยันว่า รัฐบาลและคสช.ไม่เป็นศัตรูกับใคร ใครเป็นศัตรูกับตนไม่ทราบ แต่เป็นศัตรูกับกฎหมายไม่ได้ ทั้งนี้ขอบคุณเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะทหารตำรวจที่แก้ปัญหาอย่างสันติ ไม่มีการตีหรือยิงกัน และย้ำว่ารัฐบาลไม่อยากให้บานปลาย  
 
1083
 
การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในโอกาสครบรอบ 4 ปีการรัฐประหาร
 
โดยการชุมนุมที่พล.อ.ประยุทธ์หมายถึงน่าจะเป็นการชุมนุมครบรอบสี่ปีการรัฐประหารที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ซึ่งท้ายที่สุดมีผู้ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน รวม 62 คน 
 
แม้การพูดเรื่อง "มีชุมนุม คนเยอะ อากาศเป็นพิษ" น่าจะเป็นการพูดในลักษณะตัดพ้อหรือเสียดสี แต่ก็พอจะทำให้เห็นได้ว่าพล.อ.มีทัศนะคติที่ไม่ค่อยจะเป็นบวกต่อการใช้เสรีภาพการชุมนุมของประชาชน  
 
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) จัดการชุมนุมที่บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาลเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐบาล และมีการออกแถลงการณ์ซึ่งพอสรุปได้ว่า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 ทางเครือข่ายเคยยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาของทางกลุ่ม ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อติดตามแก้ปัญหาและมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอีกรวมแปดชุดแยกไปตามกระทรวงต่างๆ แต่ปรากฎว่า กลไกที่จัดตั้งขึ้นไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง เพราะไม่สามารถสั่งการเชิงนโยบายข้ามกระทรวงได้ พีมูฟจึงมาเรียกร้องให้รัฐบาลนำปัญหาที่ทางคณะกรรมการมีข้อยุติแล้วเข้า ครม.เพื่อการพิจารณา  ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ระหว่างที่ผู้ชุมนุมปักหลักที่ด้านข้างทำเนียบรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ก็ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการชุมนุมของทางกลุ่มตอนหนึ่งว่า 
 
"วันนี้มีการโหวกเหวกกันอยู่ข้างนอก ก็ไม่เป็นไร ประชาธิปไตยก็ว่ากันไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ชี้แจงกันไป บางทีทุกคนก็ใจร้อน เราต้องทำความเข้าใจให้ได้มากที่สุด ถ้าทำความเข้าใจได้มากก็จะไม่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก เราต้องร่วมมือกันหาวิธีที่เหมาะสมโดยไม่ทำให้กฎหมายเสียหาย และต้องหาทางปรับแก้" 
ซึ่งแม้ว่าในคำกล่าวนี้พล.อ.ประยุทธ์จะยอมรับว่า การมาของกลุ่ม พีมูฟจะทำได้ตามระบอบประชาธิปไตยแต่ก็ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจมองการใช้เสรีภาพของประชาชนเพื่อสะท้อนปัญหาของตัวเองว่าเป็นการก่อให้เกิดเสียงดังรบกวนความปกติสุข และเมื่อทราบถึงการมาชุมนุมเรียกร้องของประชาชนแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ก็เพียงให้สัมภาษณ์ดังกล่าวแต่ไม่ได้แม้แต่แวะมาเพื่อรับฟังปัญหา หรือพูดคุยกับคนที่มาเรียกร้องแต่อย่างใด
 
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 กรณีที่มีคนเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหากประสงค์จะเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สถานะของพล.อ.ประยุทธ์ เสมอภาคกับผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอบเรื่องนี้ว่า 
 
"อย่าไปไล่ล่ากันมากนัก พอไล่คนนี้แล้วลาออก แล้วเดี๋ยวมาไล่นายกฯออก ก็กฎหมายว่าอย่างนี้ มึงมาไล่ดูสิ ไล่ให้ได้สิ ผมไม่ท้าทาย แต่ไม่ออก การที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แพ้การเลือกตั้งปี 54 ในการแข่งกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำไมแพ้ล่ะ เป็นรัฐบาลหรือเปล่า ทำไมแพ้ แสดงว่าการเป็นรัฐบาลไม่น่าจะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบขึ้นมาแต่อย่างใด ขึ้นอยู่กับรัฐบาลมีผลงานหรือไม่ หากไม่มีประชาชนก็ไม่เลือกอยู่แล้ว ก็ไปหวังในสิ่งใหม่ๆ ที่เขาพูดออกมาจริงบ้างไม่จริงบ้าง นั่นคือการเมืองไทย”  
 
การหลุดปากพูดคำว่า "มึงมาไล่ดูสิ" ในระหว่างการแถลงผลงานอาจเกิดขึ้นจากความกดดันที่พล.อ.ประยุทธ์ต้องเผชิญจากการถูกตั้งคำถามอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องอนาคตทางการเมืองที่ในขณะนั้นที่ยังไม่มีความชัดเจน โดยก่อนที่พล.อ. ประยุทธ์จะแถลงผลงาน ในวันที่ 30 มกราคม 2562 สี่รัฐมนตรีในรัฐบาลคสช.ที่เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐนำโดยอุตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐตัดสินในลาออก เพื่อไปทำงานกับพรรคพลังประชารัฐอย่างเต็มตัว  อย่างไรก็ตามการหลุดปากในลักษณะดังกล่าวก็อาจจะก่อให้เกิดคำถามว่า หากพล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการเลือกกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พล.อ.ประยุทธ์จะสามารถบริหารประเทศโดยต้องเผชิญการตรวจสอบและการตั้งกระทู้ถามจาก ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน พล.อ.ประยุทธ์จะรับมือกับการโต้แย้งได้อย่างมีเหตุผลได้เพียงใด
 
หลังพล.อ.ประยุทธ์หลุดปากพูดคำว่า "มึงมาไล่ดูสิ" ออกมา วันรุ่งขึ้นก็มีนักกิจกรรมสองคนคือ พริษฐ์ หรือ เพนกวิน และธนวัฒน์ หรือ บอลนัดกันไปทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยนำพริกและกระเทียมไปแขวนที่รั้วเพื่อแสดงแสดงจุดยืนว่าพวกเขามาไล่พล.อ.ประยุทธ์ตามที่ถูกท้า แต่ทั้งสองทำกิจกรรมได้ครู่เดียวก็ถูกควบคุมตัวออกไปจากหน้าทำเนียมรัฐบาลและถูกตั้งข้อกล่าวหา ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ 
 
ชะตากรรมของผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์หรือล้อเลียนเสียดสีพล.อ.ประยุทธ์
 
ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหาร และหัวหน้ารัฐบาล ตลอดระยะเวลาเกือบห้าปีที่ผ่านมา มีหลายกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์โดยตรง หลายๆ กรณีการวิพากษ์วิจารณ์ก็จบลงโดยไม่มีผลกระทบใดๆ แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่การวิพากษ์วิจารณ์เสียดสีพล.อ.ประยุทธ์จบลงด้วยผลกระทบที่นำไปสู่ผลกระทบอื่นๆ เช่น การเรียกเข้าค่ายปรับทัศนคติ และการดำเนินคดีด้วยข้อหาความมั่นคง 
 
ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งว่า มีคนกลุ่มหนึ่งแชร์ข่าวกล่าวหาว่าเขาโอนเงินกว่าหมื่นล้านบาทไปประเทศสิงคโปร์ ขณะที่พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นก็ระบุในวันเดียวกันว่า ทางการใกล้ได้ตัวผู้ปล่อยข่าวลือดังกล่าวแล้ว หลังจากนั้นในวันที่ 8 กรกฎาคม ก็มีการจับกุมรินดา ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวและมีเคยประวัติเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มนปช.มาก่อน รินดาถูกควบคุมตัวในค่ายทหารหนึ่งคืนจากนั้นเธอจึงถูกสงตัวไปตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รินดาถูกคุมขังในเรือนจำหนึ่งคืนเนื่องจากศาลทหารกรุงเทพไม่ให้ประกันตัวพร้อมให้เหตุผลว่าพฤติการณ์แห่งคดีนี้เป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐและผู้ต้องหาอาจเป็นอุปสรรคหรือสร้างความเสียหายต่อการสืบสวน อย่างไรก็ตามในวันถัดมาเมื่อทนายของรินดายื่นเรื่องขอประกันตัวอีกครั้งศาลก็อนุญาต
 
ต่อมาในเดือนธันวาคม 2558 ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การคดี และมีคำสั่งว่าข้อความตามฟ้องคดีนี้ นี้ไม่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 แต่เป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ศาลทหารจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ ศาลทหารจึงสั่งจำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบ  ในเวลาต่อมาตำรวจสั่งฟ้องคดีรินดาในความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อีกครั้งหนึ่งต่อศาลอาญา คดีของรินดาจบลงที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องรินดาทั้งสองชั้น โดยให้เหตุผลว่า "ไม่มีข้อความใดที่ถึงขั้นจะมีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน จนกระทั่งจะเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในการทำงานของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อประเทศได้" 
 
ในวันที่ 3 ตุลาคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์เดินทางไปประชุมกับองค์การสหประชาชาติที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ศักดาหรือ "เซีย ไทยรัฐ" นักวาดการ์ตูนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐวาดภาพการ์ตูนล้อพล.อ.ประยุทธ์ทำนองว่า ในวันที่ไปแถลงต่อองค์การสหประชาชาติเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน แต่ในประเทศกลับเต็มไปด้วยปัญหาปัญหาสิทธิมนุษยชน เช่น การจับคนเห็นต่างไปปรับทัศนคติ หรือการร่างรัฐธรรมนูญในลักษณะที่เอื้อให้ คสช. อยู่ในอำนาจต่อไป หลังเผยแพร่การ์ตูนดังกล่าวศักดาถูกเรียกเข้าค่ายเพื่อปรับทัศนคติในวันที่ 4 ตุลาคม 2558 หรือหลังวันเผยแพร่การ์ตูนดังกล่าวเพียงวันเดียว ศักดายอมรับว่าหลังถูกเรียกเข้าค่ายก็จำเป็นต้องปรับวิธีการทำงานไปพอสมควร    
 
เช้ามืดวันที่ 27 เมษายน 2559 เจ้าหน้าที่นำกำลังไปที่บ้านพักของประชาชนรวมแปดคนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดขอนแก่น และจับกุมทั้งแปดคนไปควบคุมยังสถานที่ไม่เปิดเผย ก่อนที่ในวันที่ 28 เมษายน ตำรวจจะนำตัวมาขออำนาจศาลทหารกรุงเทพเพื่อฝากขัง โดยแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่กองบังคับการปราบปราม จากการที่บุคคลทั้งแปดเป็นแอดมินเฟซบุ๊กเพจ "เรารักพล.อ.ประยุทธ์" ซึ่งมีเนื้อหาเสียดสีการเมือง ส่วนภาพที่เป็นมูลเหตุในการดำเนินคดีนี้ก็ไม่ได้เป็นภาพที่เพจนี้จัดทำขึ้นเอง แต่เป็นภาพที่ทางเพจแชร์มาจากเฟซบุ๊กของกลุ่ม ประชาธิปไตยศึกษา ซึ่งทำขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรม "ลอยกระทงขับไล่(เผด็จการ)อัปมงคล"  ภาพดังกล่าวมีใบหน้าของพล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตรอยู่บนกระทงที่ลอยอยู่บนแม่น้ำ และมีข้อความ "ลอยกระทงขับไล่(เผด็จการ)อัปมงคล" และมีข้อความเขียนประชาสัมพันธ์กำหนดการของงาน การดำเนินคดีครั้งนี้เป็นการดำเนินคดีกับผู้แชร์ข้อมูล ไม่ใช่ผู้เผยแพร่ต้นฉบับและเป็นการดำเนินคดีภายหลังเหตุการณ์เกิดไปแล้วนานถึงห้าเดือน และใช้อำนาจพิเศษในการเข้าจับกุม ทั้งที่หากพิจารณาจากพฤติการแห่งคดียังไม่ใช่เรื่องร้ายแรงขนาดที่ต้องใช้อำนาจพิเศษที่มีขึ้นเพื่อความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของประเทศ
 
คดีของแปดแอดมินขณะนี้ยังอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลทหารกรุงเทพ อยู่ในขั้นตอนของการสืบพยานโจทก์ปากแรกเท่านั้น ส่วนผู้ต้องหาทั้ง 8 คน เคยถูกคุมขังในเรือนจำตามหมายขังคดีนี้ถึง 12 วัน เนื่องจากศาลทหารกรุงเทพไม่อนุญาตประกันตัว แม้จะวางหลักประกันคนละ 100,000 ก่อนที่ในเดือนพฤษภาคมศาลจึงอนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้งแปดประกันตัว โดยตีราคาประกันสูงถึงคนละ 200,000 บาท  
 
ในเดือนสิงหาคม 2560 ประวิทย์ โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสของข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ (Khaosod English) ได้รับการติดต่อจากพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ว่า มีเจ้าหน้าที่มาร้องทุกข์กล่าวโทษเขาว่า โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเข้าข่ายเป็นการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 รวมห้าข้อความ ซึ่งต่อมามีการแยกฟ้องเป็นสองคดี โดยหนึ่งในข้อความที่ถูกกล่าวหาคือโพสต์ที่เขาตั้งคำถามสี่ข้อถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แก่ l
 
1) เมื่อไหร่จะเลือกตั้งแบบเสรีและยุติธรรมจริงๆ แบบไม่เลื่อน?
2) เมื่อไหร่จะเลิกทำตัวเป็นเผด็จการที่กินเงินเดือนจากภาษีประชาชนโดยที่ประชาชนมิได้ให้ฉันทานุมัติ?
3) เมื่อไหร่จะขอขมาประชาชนที่ไปยึดอำนาจเขามา?
4) เมื่อไหร่จะเลิกหลอกตนเองและผู้อื่นว่า ‘ขอเวลาอีกไม่นาน’ ?
 
ช่วงปลายปี 2560 ร.ท.หญิงสุณิสาหรือ "หมวดเจี๊ยบ" รองโฆษกพรรคเพื่อไทยโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กวิจารณ์รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ทำนองว่า ล้มเหลวในการจัดการงบประมานจนเป็นเหตุให้นักร้องซึ่งน่าจะหมายถึง "ตูน บอดีแสลม" ต้องมาวิ่งระดมทุนให้โรงพยาบาล และวิจารณ์รัฐบาลกรณีสลายการชุมนุมของกลุ่มประชาชนที่เดิน "เทใจให้เทพา" คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ทำนองว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์เปิดทำเนียบต้อนรับนักร้องที่วิ่งระดมทุนก่อสร้างโรงพยาบาล แต่กลับไม่ยอมมาพบผู้ชุมนุมที่เดือดร้อนจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ทั้งยังสลายการชุมนุมของประชาชนกลุ่มดังกล่าว 
 
จากกรณีนี้ คสช. ได้มอบหมายให้พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ เป็นคดีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์  
 
ในเดือนพฤษภาคม 2561 กลุ่มศิลปินพังค์จัดคอนเสิร์ต "จะสี่ปีละนะไอ้สัตว์" ในโอกาสที่กำลังจะครบรอบสี่ปีการรัฐประหาร การจัดคอนเสิร์ตครั้งนั้นดำเนินไปภายใต้การจับจ้องของเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ระหว่างที่คอนเสิร์ตดำเนินไปเจ้าหน้าที่ขอพูดคุยกับผู้จัดงานหลายครั้งเพื่อแสดงความกังวลถึงเนื้อหาของเพลงที่มีการจัดแสดง เมื่อคอนเสิร์ตเดินมาถึงช่วงท้าย วง Blood Soaked Street Of Social Decay เล่นเพลงที่มีเนื้อหาเป็นการโจมตีพล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตรแบบตรงๆ ด้วยเนื้อหาที่เผ็ดร้อน เจ้าหน้าที่ก็ประสานกับผู้จัดเพื่อเชิญตัวนักดนตรีวงดังกล่าวไปที่สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ระหว่างที่ถูกควบคุมตัว มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ขอตรวจปัสวะนักดนตรีกลุ่มดังกล่าว ซึ่งพวกเขาตอบเจ้าหน้าที่ว่ายินดีเข้าสู่กระบวนการแต่ขอให้รอทนายความมาถึงก่อน ท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่จึงเพียงแต่ซักประวัติและปล่อยตัวพวกเขากลับบ้านไปโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาใดๆ 
 
ประยุทธ์ยังมีเครื่องมือใช้ "ปิดปาก" อีกมาก แม้ไร้ "ม.44" 
 
หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ ไม่ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะได้รับการลงคะแนนโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน กับสมาชิกวุฒิสภา ที่แต่งตั้งมาเอง ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยได้หรือไม่ สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ อำนาจพิเศษ "มาตรา44" จะไม่อยู่ในมือเช่นเคยแล้ว อย่างไรก็ดี หากพล.อ.ประยุทธ์ยังคงไว้ซึ่งทัศนคติเช่นเดิม มองผู้ที่ออกมาชุมนุมในฐานะ "พวกก่อความวุ่นวาย" และไม่พยายามแก้ปัญหาให้ประชาชนตามข้อเรียกร้อง ก็ยังมีกฎหมายอีกมากมายหลายฉบับ ทั้งที่ออกมาเองในยุคของ คสช. และที่มีอยู่ก่อนให้เลือกหยิบยกมาใช้จัดการกับผู้เห็นต่างได้ ตัวอย่างเช่น  
 
ข้อหา "ยุยงปลุกปั่น" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ที่เคยนำมาใช้ดำเนินคดีกับบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์พล.อ.ประยุทธ์ บุคคลอื่นๆ ใน คสช. และรัฐบาลชุดนี้ หรือออกมาชุมนุมคัดค้านการรัฐประหารหรือเรียกร้องการเลือกตั้ง ซึ่งมีผู้ถูกดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 91 คน 
 
ข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14(2) ที่กำหนดความผิดไว้อย่างกว้างๆ ต่อผู้นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชน ซึ่งนับจากการแก้ไขมาตรานี้ในปี 2560 มีบุคคลอย่างน้อย 51 คนที่ถูกดำเนินคดีในลักษณะ "ปิดปาก" จากการวิจารณ์  ซึ่งในจำนวนดังกล่าวก็มีทั้งกรณีที่เป็นการวิจารณ์พล.อ.ประยุทธ์โดยตรง หรือกล่าวถึงบุคคลใกล้ชิด เช่น ชาญวิทย์ เกษตรสิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาจากการแชร์ภาพพร้อมข้อความเกี่ยวกับกระเป๋าของภรรยาของพล.อ.ประยุทธ์ หรือกรณีของไทกร พลสุวรรณ ที่โพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า พระสงฆ์กว่า 300,000 รูปคว่ำบาตรพล.อ.ประยุทธ์ เป็นต้น
 
นอกจากนี้ก็ยังมีกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา และพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นหลังการยกเลิกคำสั่งห้ามชุมนุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ทั้งในฐานะเครื่องมือที่ใช้ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม และในฐานะเครื่องมือที่ใช้ลดทอนทำให้การชุมนุมต้องยากลำบาก เช่น การกำหนดรัศมีห้ามชุมนุมใกล้เขตพระราชฐาน 150 เมตร ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถชุมนุมใกล้ๆ สถานที่ราชการ ซึ่งเป็นผู็มีส่วนรับผิดชอบกับปัญหาของตัวเองเพราะสถานที่ราชการเหล่านั้นอยู่ในรัศมีห้ามชุมนุมของเขตพระราชฐาน เช่น กรณีการชุมนุมคัดค้านการพิจารณากฎหมายของสนช.ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ต้องย้ายไปชุมนุมบริเวณวัดเบญจมบพิตร แทนการชุมนุมหน้ารัฐสภา รวมทั้งการห้ามเดินขบวนก่อนได้รับอนุญาต ห้ามใช้เครื่องขยายเสียงก่อนได้รับอนุญาตด้วย โดยนับตั้งแต่มีการประกาศใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายนี้ไปแล้วอย่างน้อย 191 คน
 
Report type: