1024 1368 1222 1215 1387 1138 1190 1285 1086 1826 1383 1266 1916 1705 1428 1965 1275 1118 1481 1235 1877 1323 1224 1225 1540 1665 1818 1260 1525 1199 1831 1407 1496 1603 1859 1845 1211 1802 1775 1747 1078 1238 1342 1629 1464 1821 1992 1400 1753 1464 1842 1346 1476 1488 1175 1565 1646 1149 1301 1856 1607 1059 1905 1086 1464 1268 1859 1357 1763 1584 1080 1192 1953 1715 1119 1018 1247 1325 1538 1810 1962 1307 1694 1153 1510 1395 1888 1316 1929 1092 1601 1775 1189 1000 1511 1729 1890 1292 1701 Attitude adjusted?: มาตรการบีบ (คนอย่าง) ‘ลูกตาล’ หยุดเคลื่อนไหว 1 ปี | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

Attitude adjusted?: มาตรการบีบ (คนอย่าง) ‘ลูกตาล’ หยุดเคลื่อนไหว 1 ปี


เราพูดคุยกันในเดือนตุลาคม 2561 แม้ผ่านเหตุการณ์รัฐประหารมากว่า 4 ปีแล้ว แต่สุวรรณา ตาลเหล็ก หรือ ลูกตาล นักกิจกรรมกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยยังคงจดจำรายละเอียดการถูก ‘ปรับทัศคติ’ ได้เป็นอย่างดี อาจเป็นเพราะมาตรการนี้ได้สร้าง “ความหวาดกลัว” อย่างสำคัญในชีวิตนนักกิจกรรมของเธอ สาเหตุที่ถูก คสช.เรียกปรับทัศคติก็เพราะการทำกิจกรรมในนามกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวที่ไปไกลถึงขั้นประกาศรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อยกเลิกมาตรา 112 ในปี 2554

 

กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เป็นกลุ่มอิสระที่ถือกำเนิดในราวปี 2552  ทำกิจกรรมคู่ขนานกับ นปช.โดยเน้นที่การเมืองวัฒนธรรม กิจกรรมล้อเลียนเสียดสีการเมือง นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ตามจังหวัดต่างๆ ด้วย

 

“ถ้าเทียบระหว่างรัฐประหาร 2549 กับรัฐประหาร 2557 แล้ว ปี 2549 เรายังออกมาต่อต้านได้ชัดเจนกว่า ประชาชนไม่ถูกดำเนินคดีแหลกลาญเหมือนยุครัฐประหาร 2557 เรายังสามารถไปเปิดเวทีได้และมีการรณรงค์ยกเลิกกฎอัยการศึกกับประกาศ คปค. เรารณรงค์ได้เต็มที่ ประชาชนไม่ถูกดำเนินคดี”

 

เพียง 5 วันก่อนประกาศรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อยกเลิกมาตรา 112 ของกลุ่ม 24 มิถุนาฯ สมยศก็ถูกจับกุมดำเนินคดีตามมาตรา 112 จากกรณีเป็นบก.นิตยสารการเมืองฉบับหนึ่ง หลังสมยศถูกศาลพิพากษาจำคุก 10 ปี สุวรรณายังคงรณรงค์ยกเลิกกฎหมายนี้เรื่อยมาด้วยเชื่อว่ามันจะสร้างสรรค์สังคมการเมืองที่ดีกว่า กฎหมายนี้จะได้ไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองลงโทษหนักกับประชาชนที่วิจารณ์การเมือง จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารปี 2557 เธอกลายเป็นบุคคลเป้าหมายที่ต้องถูกปรับทัศนคติ 

 

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

 

วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 กองทัพบกประกาศใช้กฎอัยการศึก ด้วยวิญญาณนักกิจกรรม สุวรรณาเตรียมวางแผนจะไปชูป้ายให้ยกเลิกกฎอัยการศึกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ยังไม่ทันได้เริ่ม เพื่อนของเธอก็โทรศัพท์มาบอกว่า รัฐประหารแล้ว! และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของความหวาดกลัวที่คนรอบข้างต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เธออาจจะโดนคดี 112

 

“หลังรัฐประหารพี่ไม่ได้เข้าบ้านเลย คนรอบข้างกลัวพี่โดนจับ ทุกคนมองว่าพี่อยู่ในความสุ่มเสี่ยงที่จะโดนคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เพราะที่ผ่านมา หลังจากสมยศเข้าคุก พี่จะเป็นหลักในเรื่องการชูป้ายยกเลิกมาตรา 112 มีกิจกรรมแถวนี้พี่ก็จะจัดทีมถือป้ายไม่เอา 112 ทุกคนเลยกลัวว่าจะโดนข้อหานี้เพราะ 112 มันเป็นเครื่องมือที่เขาใช้จับกุมคนเห็นต่างได้สำเร็จ และประกันตัวยาก สู้คดีลำบาก”
เก็บกระเป๋าเข้ารายงานตัวต่อ คสช. 1 คืนในค่ายทหาร

 

กลางเดือนมิถุนายน 2557 คสช.มีคำสั่งให้สุวรรณามารายงานตัวที่สโมสรกองทัพบกเทเวศน์ เธอบอกว่า คนรอบข้างพากันเดากันว่าเธอไม่น่าจะรอดคดีไปได้ เนื่องด้วยมีเหตุการณ์ที่พอจะทำให้คิดไปได้อย่างในปี 2552 เธอ ‘เหมือนจะ’ ถูกหมายเรียกเรื่องขัดพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีคนไปตามเธอที่บ้านที่ชัยนาท ซึ่งที่นั่นไม่เหลือครอบครัวอยู่แล้ว

 

เธอเตรียมข้าวของเสื้อผ้าเพื่อไปรายงานตัว ท่ามกลางบรรกาศกาศแห่งความหวาดกลัวหลายคนบอกเธอว่า ควรรายงานตัวแบบเงียบๆ ไม่ต้องเป็นข่าว แต่สุวรรณาตัดสินใจแจ้งสื่อมวลชนและองค์กรสิทธิมนุษยชนทุกองค์กรที่รณรงค์เกี่ยวกับสมยศ พฤกษาเกษมสุข เธอไปรายงานตัวตั้งแต่ 10.00 น. เมื่อเดินเข้าไปในสโมสรกองทัพบกและได้เจอหน้าผู้คนที่เคลื่อนไหวในฝ่ายประชาธิปไตย หลายคนขำ เพราะคิดว่าเธอหนีออกนอกประเทศไปนานแล้ว

 

“พอพี่โผล่ไป ทุกคนขำเพราะเขาคิดว่าพี่ไปแล้ว พี่บอกว่า ไม่หนีอ่ะ กลัวอดตาย อยู่ในนี้ไม่อด คุยเล่นไปเรื่อย แต่ถ้าถามความรู้สึกจริงๆ พี่โคตรกลัวเลย ถ้าคนสังเกตก็คงเห็นว่ามีอาการลนลานอยู่ แต่บุคลิกบ้าบอของพี่กลบไว้”

 

พอเข้าไปเจ้าหน้าที่ก็ยึดโทรศัพท์และพาวเวอร์แบงค์ของเธอ เจ้าหน้าที่จะเรียกรายงานตัวทีละคน โดยเริ่มเรียกคนที่มีชื่อเสียงก่อน ระหว่างที่รอการรายงานตัวก็มีการจัดหาอาหารให้รับประทาน เธอย้ำอยู่หลายครั้งว่า เธอโชคดีที่ก่อนหน้ามารายงานตัว มีเพื่อนที่เข้ามาก่อนออกไปบอกเล่าถึงบรรยากาศและขั้นตอนการรายงานตัวทำให้เธอสามารถวางแผนและจัดการความรู้สึกได้

 

เวลาประมาณ 16.00 น.เจ้าหน้าที่เรียกชื่อเธอพร้อมป้าอีกคนหนึ่งที่นั่งใกล้กัน ถามชื่อนามสกุล บอกให้รอ จากนั้นก็มาแจ้งว่าวันนี้คงไม่ได้กลับบ้าน เมื่อเธอถามว่าจะพาไปที่ไหน “ผมมีหน้าที่มารับเท่านั้น”

 

ทุกคนที่ร่วมชะตากรรม มีแค่สุวรรณาคนเดียวเตรียมเสื้อผ้า แปรงสีฟัน จนเจ้าหน้าที่ถึงกับออกปากว่า มีการเตรียมพร้อมดีมาก เธอจึงแกล้งเฉไฉไปว่า กำลังจะไปสัมมนาค้างคืน พอมีเรียกรายงานตัวก็วกกลับมารายงานตัวทันที จากนั้นเจ้าหน้าที่ให้ขึ้นรถตู้ บนรถตู้เจ้าหน้าที่ซักประวัติเกี่ยวกับโรคประจำตัว การรับประทานอาหาร ของใช้ที่ขาดเหลือ แม้เธอพยายามถามหลายครั้งว่าจะพาเธอไปไหน แต่ก็ไม่เคยได้รับคำตอบ จนกระทั่งฟ้ามืด  รถเลี้ยวเข้ากองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ถนนวิภาวดี

 

จากนั้นเจ้าหน้าที่พาไปที่สนามยิงปืน ภายในมีห้องพักสำหรับผู้ที่มายิงปืนได้เข้าพัก แต่วันนี้กลายเป็นเธอ ห้องพักมีลักษณะคล้ายโรงนอน มี 8 เตียง เจ้าหน้าที่ให้เธอกับป้าที่มาด้วยกันพักอยู่ในห้องนั้นและมีแม่บ้าน 2 คนคอยเฝ้าภายในห้อง ทหารเฝ้าหน้าห้อง 1 คน ทุกคนไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากห้อง นอกจากจะไปเข้าห้องน้ำซึ่งแม่บ้านจะติดตามไปด้วยตลอดเวลา

 

Round 1 ตบหัว : กล่าวหาล้มสถาบัน

 

คืนนั้น เวลาประมาณ 2 ทุ่ม ทหารลักษณะคล้ายกับเป็นหัวหน้าอายุประมาณ 40 กลางๆ มานั่งซักประวัติของเธอและบันทึกข้อมูลไว้ จากนั้นจึงเอาบันทึกข้อตกลง (MOU) มาให้เซ็น เธอจำรายละเอียดใน MOU ไม่ได้ แต่จำได้ว่าเธอถามเจ้าหน้าที่ว่า “ไม่เซ็นได้ไหม” “ถ้าน้องไม่เซ็นตอนนี้ พรุ่งนี้ก็ต้องเซ็น” ทหารตอบ เธอคิดเอาเองว่าการที่เจ้าหน้าที่นำ MOU มาให้เซ็นแปลว่าน่าจะได้ปล่อยตัวเร็ว ปล่อยเร็วย่อมดีกว่าอยู่นาน เพราะอยู่นานอาจมี ‘อะไรๆ’ ตามมา สุดท้ายเธอยอมเซ็น MOU แต่เอกสารที่เอามาให้เป็นชื่อของคนอื่น! พอบอกเจ้าหน้าที่ วิธีการแก้ไขก็ง่ายดาย ขีดฆ่าชื่อทิ้งซะ

 

จากนั้นมีเจ้าหน้าที่มานั่งคุยด้วยในลักษณะสร้างความผ่อนคลาย เขากล่าวในทำนองว่า มาวันนี้ไม่มีอะไรนะ เขาเองก็ไม่ได้รู้อะไรมากนัก มีหน้าที่แค่ควบคุมตัว รับมาดูแล สุวรรณาพยายามถามข้อสงสัยต่างๆ แต่ก็ไม่ได้คำตอบ มีแต่การสอบถามกลับว่า ต้องการอะไรไหม ขาดตกบกพร่องอะไรหรือไม่ แล้วเธอก็ได้รับการปล่อยกลับไปนอน

 

6.00 น.ของวันรุ่งขึ้น เธออาบน้ำ ทานข้าว มีรถตู้มารับเธอและป้าตอน 7.000 น.เพื่อกลับไปส่งที่สโมสรกองทัพบก เทเวศน์ รอจนกระทั่งเวลา 17.00 น. เจ้าหน้าที่เรียกเธอเข้าไปคุยอย่างจริงจัง ให้ห้องมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 15 คน มีผู้ชายทำหน้าที่จดพิมพ์ 1 คน มีการสอบถามประวัติและเริ่มต้นคำถามว่า รู้จักสมยศได้อย่างไร เธออธิบายว่า รู้จักกันมาสิบๆ ปีเพราะทำงานเรื่องแรงงานด้วยกัน มีการขอรหัสเฟซบุ๊กและอีเมล์ เธอยินยอมให้ไปแต่โดยดี เจ้าหน้าที่ล็อคอินเข้าไปดูเนื้อหาในตอนนั้นเลย เมื่อไม่เจอข้อความอะไร เจ้าหน้าที่ถามสุวรรณาว่า “ก่อนมาลบข้อความในกล่องข้อความหมดแล้วใช่ไหม” เธอตอบยอมรับว่าใช่ “ถ้าไม่มีอะไรจะลบทำไม” เธอย้อนกลับว่า รูปที่ลบไปคือรูปผู้หญิงนั่งอยู่บนกระต่ายขูดมะพร้าวแล้วเขียนวิจารณ์คสช. “จะเอาไหมล่ะ เดี๋ยวให้เพื่อนส่งมาให้ใหม่” เจ้าหน้าที่ปฏิเสธ

 


หลังจากนั้นทหารนำแทบเลตมาให้ดู เลื่อนรูปบุคคลต่างๆ พร้อมถามไล่ถามทีละคนว่ารู้จักไหม เธอตอบว่า ไม่รู้จักเสียเป็นส่วนใหญ่ มีรูปหนึ่งเป็นผู้ชาย ทหารมองว่าคนนี้ล้มสถาบัน ทหารถามเธอว่า คนนี้ชื่ออะไร เธอตอบว่า ชื่อเปี๊ยก เจ้าหน้าที่ถามเพิ่มเติมอีกและเริ่มมีอารมณ์

 

“เขาถามว่า ชื่อเปี๊ยกแล้วชื่อจริงชื่ออะไร นามสกุลอะไร พี่ก็ตอบว่าพี่ไม่รู้ เขาบอกว่า มึงไม่รู้ได้ไงมึงทำงานด้วยกัน พี่ก็ตอบว่า ขอโทษเถอะ พ่อผัวแม่ผัวชื่ออะไรยังไม่รู้ เถียงกันอยู่สักพัก เขาก็หาว่าพี่จ้องแต่ล้มสถาบัน  ชูแต่ป้ายให้ยกเลิกมาตรา 112 พี่ก็ยืนยันว่า พี่ต้องการยกเลิกมาตรา112 ไม่ต้องการให้ใครหยิบลงมาใช้บนความขัดแย้งทางการเมือง การเมืองต้องสู้ด้วยเรื่องการเมือง อย่าดึงเรื่องสถาบันเข้ามาทำร้ายคนเห็นต่าง เราต้องการยกเลิกกฎหมายเท่านั้น ไม่ใช่ล้มสถาบัน”

 

เธอเถียงกับเจ้าหน้าที่พักใหญ่ เธอย้ำว่า เธอต้องการรณรงค์ให้ยกเลิกกฎหมาย ไม่ใช่การล้มสถาบัน หรือให้ใครก็ตามมาด่าสถาบันได้อย่างเต็มที่ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็กล่าวหาว่าชีวิตของสุวรรณาแวดล้อมไปด้วยพวกล้มสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นสุนัย จุลพงศธร, จรัล ดิษฐาอภิชัย, ฐานัท วัชรานนท์ หรือทอม ดันดี และสมยศ พฤษาเกษมสุข เธอตอบว่าสมยศรู้จักกันมานาน รักและเคารพเหมือนพี่ ส่วนจรัลก็รู้จักกันตั้งแต่ทำงานด้านแรงงานอยู่

 

คำถามคำตอบในการปรับทัศนคติวนซ้ำอยู่ที่เรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์ เจ้าหน้าที่ถามว่า “แล้วคุณรู้ไหมว่า สมยศผลิตหนังสือที่กัมพูชาและนำมาขายที่ไทย” เธอตอบว่าไม่ทราบเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่ไม่เชื่อ บอกว่าจะไม่รู้ได้อย่างไรทำทัวร์ด้วยกัน เธอก็โต้แย้งว่าเธอมีหน้าที่ดูแลลูกทัวร์เท่านั้น การโต้เถียงเป็นไปอย่างเผ็ดร้อน

 

“ถามดึงพี่เป๋ไปทางนู้น ทางนี้ และท้ายที่สุดเลยประเด็นหลักคือเรื่อง 112 เขาพูดว่าพี่แวดล้อมไปด้วยคนที่ล้มสถาบัน แล้วจะเอายังไง พี่ก็บอกว่าถ้าคุณพร้อมที่จะเข้าใจเหตุผลเรา เราก็พร้อมจะเข้าใจคุณ ในการพูดคุยมีขึ้น “มึง” “กู” ด้วย เขาคงหลุด อารมณ์เสียมาก พี่ก็คิดว่าคนเรามันมีหลุดกันได้”

 

เจ้าหน้าที่ยังกล่าวหาว่า เวลาที่เธอขึ้นเวทีชุมนุม เธอด่าน้ำไหลไฟดับ สุวรรณาท้าให้ไปเอาคลิปมาเปิดเพราะเธอมั่นใจว่าไม่เคยด่าหยาบคายแน่นอน สุวรรณาบอกว่า เอาเข้าจริงแล้วเจ้าหน้าที่แทบจะไม่มีข้อมูลอะไรเกี่ยวเธอจริงๆ เลย ข้อมูลที่นำมาถามเหมือนเป็นข้อมูลผิวเผินเท่านั้น บางอย่างก็ไม่ใช่สิ่งเธอทำ เช่น ระบุว่าเธอเคยทำงานกับสมศักดิ์ โกศัยสุข นักกิจกรรมสายแรงงาน ซึ่งความจริงแล้วไม่เคยทำงานร่วมกัน

 

การปรับทัศนคติทำให้ต้องแลกเปลี่ยนเรื่องเจตจำนงทางการเมือง เจ้าหน้าที่กล่าวกับเธอตอนหนึ่งว่า “โลกสวยนะเราเนี่ย” เธอย้อนกลับไปว่า ทำไมถึงจะโลกสวยไม่ได้ ในเมื่อทุกคนก็อยากมีชีวิตดีๆ และอยู่ในสังคมดีๆ ด้วยกันทั้งนั้น

 

Round 2 ลูบหลัง : ขอให้หยุดรณรงค์เรื่อง 112

 

เมื่อคุยเสร็จ เธอต้องออกมานั่งคอยด้านนอกห้อง มีเจ้าหน้าที่อีกคนมานั่งพิมพ์บันทึกคำให้การ “ไงละเรา เถียงคำไม่ตกฟาก” เจ้าหน้าที่ทัก รอคำให้การไม่นาน เจ้าหน้าที่ก็ปริ้นท์ออกมาให้อ่าน เนื้อหาเป็นสิ่งที่พูดจริง สักพักเจ้าหน้าที่เรียกเธอเข้าไปอีกห้องหนึ่ง รอบนี้มีเจ้าหน้าที่รอปรับทัศนคติ 5 คน พอเปิดประตูเข้าไปเจ้าหน้าที่บอกว่าเดิมทีเขาก็อยู่ห้องนั้นแหละ แต่รับไม่ได้กับกระบวนการเลยแยกออกมาเป็นอีกห้องหนึ่ง

 

“พี่อย่าทำมาเป็นพูดดีเลย ห้องนู่นตบซะคว่ำ ห้องนี้มาลูบหลัง” เจ้าหน้าที่ยิ้มๆ แล้วกล่าวว่า “สมแล้วที่เป็นทีมงานสมยศ”

 

เจ้าหน้าที่ห้องใหม่ท่าทีดีกว่าและบอกเธอว่าให้หยุดรณรงค์เรื่องมาตรา 112 และมุ่งมาทางวิชาการแทนแบบนิติราษฎร์ “นิติราษฎร์หรืออาจารย์วรเจตน์ยังโดนสอบเลย”เธอย้อน เจ้าหน้าที่นิ่งไป เอาล่ะ ยังไงก็ขอให้หยุด

 

สุวรรณาถามว่า เธอไปเยี่ยมนักโทษการเมืองได้ไหม เจ้าหน้าที่ตอบว่า ไม่ได้ เพราะการปรากฏตัวที่เรือนจำคือการเคลื่อนไหว เธอพยายามต่อรองด้วยแต่ไม่ได้ผล “ถ้าขอเยี่ยมสมยศคนเดียวได้ไหม” “ไม่ให้ก็คือไม่ให้” คือคำตอบ เธอได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านในเวลาประมาณ 23.00 น. สุวรรณายอมรับว่า การปรับทัศนคติครั้งนี้สร้างความหวาดกลัวสำเร็จระดับหนึ่ง

 

“พี่ไม่สามารถพูดได้เลยว่า พี่ไม่กลัวหรือพี่ไม่หยุด มันทำให้เราคิดหนักมากขึ้นเวลาที่ตัดสินใจจะทำกิจกรรมอะไร เพราะเรารู้สึกว่ามี MOU ที่เราเซ็นเอาไว้ แต่ว่ามันก็เป็นแค่ช่วงหนึ่งเท่านั้น พี่เคลื่อนไหวน้อยลงแทบไม่มีบทบาทออกหน้าประมาณปีหนึ่ง ใครจะมองว่าขี้ขลาดก็แล้วแต่เถอะ...”

 

กระบวนการปรับทัศนคติทำให้นักกิจกรรมหวาดกลัวจนเสียขบวนไหม เธอมองว่า มันไม่ได้สร้างความเสียหายขนาดนั้น เพียงแต่ทำให้ขบวนช้าลง เธอยอมรับว่า คสช.สร้างความหวาดกลัวได้สำเร็จ แต่ท้ายที่สุดถ้าสังเกตดูทุกคนพยายามหลีกเลี่ยงให้รอด แล้วกลับมาเคลื่อนไหวเช่นเดิม สุวรรณาเองก็เช่นกัน
 

Article type: