1594 1522 1925 1354 1694 1134 1833 1350 1532 1900 1918 1965 1247 1274 1078 1398 1131 1028 1024 1631 1127 1828 1353 1165 1349 1940 1577 1017 1365 1736 1422 1116 1053 1609 1528 1797 1004 1614 1802 1243 1844 1418 1087 1244 1727 1897 1113 1703 1157 1244 1551 1340 1665 1913 1734 1618 1339 1997 1471 1880 1221 1347 1789 1501 1361 1632 1787 1467 1927 1919 1535 1236 1572 1301 1475 1240 1957 1030 1638 1691 1278 1911 1294 1517 1756 1880 1973 1165 1349 1587 1647 1519 1414 1348 1082 1050 1361 1425 1338 คุยกับ ซาฮารี เจ๊ะหลง: กระบวนการสันติภาพที่ดีของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดไม่ได้ในสังคมที่ไร้ประชาธิปไตย | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

คุยกับ ซาฮารี เจ๊ะหลง: กระบวนการสันติภาพที่ดีของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดไม่ได้ในสังคมที่ไร้ประชาธิปไตย

หากพูดถึงสามจังหวัดชายแดนใต้ ภาพจำของคนส่วนใหญ่คือ ความรุนแรงและขาดความรู้สึกเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้น อาจเป็นเพราะความแตกต่างทางมิติวัฒนธรรม ประกอบกับการรายงานข่าวของสื่อมวลชนตลอดหลายปีที่ผ่านมา มักเน้นไปที่เหตุความรุนแรงเช่น การปะทะกันระหวางเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ก่อเหตุความรุนแรง หรือเหตุระเบิด ทำให้เวลาพูดถึงปัญหาของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คนนอกพื้นที่มักมองเห็นแต่ปัญหาความรุนแรง ทั้งที่จริงแล้ว ปัญหาที่ผู้คนในสามจังหวัดชายแดนใต้ต้องเผชิญไม่ได้มีแต่ปัญหาความรุนแรก หากแต่ยังมีปัญหาอื่นๆไม่แตกต่างจากปัญหาที่คนในภูมิภาคอื่นๆต้องเผชิญ เช่นการถูกจำกัดเสรีภาพการแสดงออก การเผชิญกับความยากจนและปัญหาทางเศรษฐกิจ และความต้องการการเลือกตั้งและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นต้น
 
ซาฮารี เจ๊ะหลง หรือ แบร์ นักกิจกรรมอิสระที่ทำงานในประเด็นปัญหาชายแดนรวมทั้งประเด็นกระบวนการสร้างสันติภาพชี้ว่า คนในพื้นที่มีความสนใจในการเมืองภาพใหญ่ไม่ต่างจากคนในพื้นที่อื่นๆเพราะสุดท้ายแล้วกระบวนการเจรจาสันติภาพที่ดีอันนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้ง ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในสภาวการณ์ที่บ้านเมืองไม่มีประชาธิปไตย
 
ซาฮารีเล่าว่า พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกบริหารจัดการภายใต้กฎหมายความมั่นคง ได้แก่ กฎอัยการศึก, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มาเป็นเวลานานกว่าสิบปี เมื่อมีการรัฐประหารในปี 2557 การบริหารจัดการในพื้นที่ก็ยังคงใช้กฎหมายพิเศษต่อไป โดยที่ไม่ได้ใช้อำนาจตามประกาศคำสั่งคสช. มาห้ามการชุมนุมหรือเรียกประชาชนเข้าข่ายเพื่อปรับทัศนคติเหมือนพื้นที่อื่นๆ ดูผิวเผินจึงเหมือนกับว่า พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ไม่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารเท่ากับพื้นที่อื่นๆ แต่สำหรับตัวซาฮารีเขาเห็นว่า การรัฐประหารครั้งผ่านๆมา พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารด้วยเช่น
 
1293
 

วิทยุชุมชน เสียงที่ถูกจำกัดเพราะการรัฐประหาร

 
ก่อนการรัฐประหารซาฮารีเคยทำงานกับสถานีวิทยุชุมชนมีเดียสลาตัน ซึ่งออกอากาศในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รายการที่ออกอากาศส่วนใหญ่เป็นภาษามลายูแต่ก็มีบางส่วนที่ออกอากาศเป็นภาษาไทย เช่น รายการเกี่ยวกับสุขภาพและรายการของเพื่อนบ้านที่นับถือพุทธ สำหรับรายการที่ซาฮารีรับผิดชอบเป็นรายการภาษามลายูนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับความคืบหน้าของกระบวนการเจรจาสันติภาพในพื้นที่
 
ช่วงปี 2556 รายการของเขาเคยนำเสนอข่าวการออกแถลงการณ์ข้อเรียกร้องห้าข้อของ BARISAN REVOLOSION NASIONAL MALAYA PATANI(BRN-บีอาร์เอ็น)  ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชปาตานี เนื่องจากการนำเสนอข่าวดังกล่าวมีการพูดถึงประเด็นอ่อนไหวอย่างประเด็น "ความเป็นเจ้าของดินแดน" ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็น ซาฮารีจึงถูกเรียกเข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ในค่ายทหาร ครั้งนั้นเป็นเพียงการพูดคุยทำความเข้าใจไม่มีการดำเนินคดีใดๆและสถานีวิทยุก็สามารถออกอากาศต่อไปได้ จนกระทั่งมีการรัฐประหารในปี 2557 สถานีวิทยุมีเดียสลาตันก็ได้รับผลกระทบต้องปิดตัวเช่นเดียวกับสถานีวิทยุชุมชนอื่นๆทั่วประเทศ    
 
มีเดียสลาตันกลับมาออกอากาศอีกครั้งในปี 2559 พร้อมกันกับที่สถานีวิทยุชุมชนทั่วประเทศได้รับอนุญาตให้ออกอากาศแต่ครั้งนี้มีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้น ประการแรกพื้นที่ส่งสัญญาณของสถานีที่ถูกจำกัดโดยกสทช. เช่นเดียวกับสถานีวิทยุชุมชนทั่วประเทศให้ส่งสัญญาณได้ในรัศมี 20 - 40 กิโลเมตร สถานีจึงออกอากาศได้เพียงแค่พื้นที่อำเภอเมืองปัตตานี และประการที่สองสถานีต้องเซ็นข้อตกลงเรื่องการงดนำเสนอเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และการวิพากษ์วิจารณ์คสช.ซึ่งการเซ็นข้อตกลงนี้เป็นแนวนโยบายที่ถูกบังคับใช้กับวิทยุชุมชนทั่วประเทศในยุคคสช. ซาฮารีระบุว่า เมื่อพื้นที่การออกอากาศถูกจำกัด รายได้จากการโฆษณาก็ลดลง ทางสถานีจึงต้องปิดตัวลงในปี 2562
 
ในความคิดของซาฮารีการปิดตัวของวิทยุชุมชนมีเดียสลาตันซึ่งเป็นหนึ่งในสถานีวิทยุที่ติดตามการเจรจาสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่อย่างจริงจังถือเป็นหนึ่งในผลกระทบของการรัฐประหารของคสช.ที่มีต่อพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้  
 

พื้นที่การทำกิจกรรมที่ถูกจำกัดหลังการรัฐประหาร


แม้ว่า พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษสามฉบับมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี แต่พื้นที่เสรีภาพในการแสดงออกก่อนการรัฐประหารในปี 2557 ยังพอจะเปิดอยู่บ้าง ซาฮารีระบุว่าช่วงก่อนการรัฐประหารเช่นในปี 2556 เครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่สามจังหวัดยังพอจะจัดกิจกรรมหรือเวทีสาธารณะใหญ่ๆได้บ้าง เช่น การจัดเวทีสาธารณะเนื่องในวันสันติภาพสากลซึ่งมีการพูดคุยประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการเจรจาสันติภาพอย่างเข้มข้น ขณะเดียวกันการทำกิจกรรมร่วมกับระหว่างภาคประชาสังคมกับกลุ่มนักศึกษาในการลงพื้นที่พูดคุยเก็บข้อมูลกับผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความรุนแรงสูง หรือ พื้นที่สีแดงตามคำนิยามของรัฐ ยังเป็นสิ่งที่พอจะทำได้ ซาฮารีระบุว่า ก่อนหน้าการรัฐประหารแม้จะมีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษแต่ทหารไม่ได้บีบพื้นที่การทำงานของเครือข่ายภาคประชาสังคมมากนัก
 
หลังเกิดการรัฐประหารพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในการเมืองระดับชาติไปด้วย ซาฮารีระบุว่า เมื่อมีการยึดอำนาจการเข้าไปทำงานรับฟังหรือเก็บข้อมูลจากผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในพื้นที่สีแดงกลายเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้หรือทำได้ยาก ขณะที่การทำกิจกรรมในที่สาธารณะเช่น กิจกรรมวันสันติภาพสากลในเดือนกันยายนปี 2557 ก็ไม่สามารถทำได้ เครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่จึงต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานจากการทำงานในพื้นที่สาธารณะมาเป็นการทำงานแบบจำกัดผู้เข้าร่วมแทน เช่น จัดอบรมเพิ่มศักยภาพแทนการจัดเวทีสาธารณะ ซาฮารีตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การทำงานปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (Information Operation - ไอโอ) หลังการรัฐประหารยังมีการขยายตัวมากขึ้นด้วยก่อนหน้านี้เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานประเด็นความขัดแย้งในพื้นที่ในแนวทางสันติวิธียังไม่ตกเป็นเป้าโจมตีมากนัก แต่หลังการรัฐประหารพวกเขาถูกโจมตีด้วยปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารบ่อยครั้งขึ้น
 
1294
 

กระบวนการสันติภาพที่ดีจะเติบโตได้ต้องมีประชาธิปไตยเป็นน้ำและดิน

 
ซาฮารีระบุว่า แม้สถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ภาคใต้จะมีลักษณะเป็นปัญหาเฉพาะ และอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์หรือภาษาของคนในพื้นที่ดูจะแตกต่างจากคนในภูมิภาคอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะละเลยหรือไม่ให้ความสนใจกับประเด็นการเมืองภาพใหญ่ของประเทศ โดยนอกจากการเรียกร้องให้ฝ่ายรัฐและฝ่ายผู้ก่อการเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law – IHL กฎหมายระว่างประเทศที่บังคับใช้กับสถานการณ์ความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังอาวุธ) และการผลักดันให้การเจรจาสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติแล้ว ประเด็นประชาธิปไตยและการรัฐประหารก็เป็นประเด็นที่นักกิจกรรมและภาคประชาสังคมในพื้นที่ให้ความสำคัญเช่นกัน 
 
“ประเด็นประชาธิปไตยนี่เน้นหนักมากเพราะว่าคนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในสามจังหวัดที่ไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงคิดว่าถ้าประเทศไทยยังไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริงมันไม่สามารถที่จะผลักดันกระบวนการพูดคุยที่เป็นมาตรฐานสากลได้” ซาฮารี กล่าว
 
ประชาชนและภาคประชาสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในความเห็นของซาฮารีจึงมีความตื่นตัวเรื่องการเมืองระดับชาติไม่น้อยกว่าประชาชนในภูมิภาคอื่นๆ อย่างในช่วงการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559 ผู้มีสิทธิในพื้นที่สามจังหวัดไปใช้สิทธิออกเสียงเฉลี่ยที่ประมาณร้อยละ 60 และส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่ในการเลือกตั้งปี 2562 ผู้มีสิทธิในพื้นที่สามจังหวัดก็ออกไปใช้สิทธิสูงถึงร้อยละ 80
 
ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ก็มีความตื่นตัวทางการเมืองสูง สังเกตได้จากผลการเลือกตั้งที่พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ที่แม้จะไม่ชนะการเลือกตั้งในพื้นที่เลยแต่ก็ได้คะแนนเสียงสูงมาก ซาฮารีระบุว่า คนรุ่นใหม่ในพื้นที่เองก็ต้องการการเมืองและนักการเมืองแบบใหม่ โดยคนที่อายุตั้งแต่ 40 ปีลงมาหลายๆคนก็เริ่มเห็นว่าแนวคิดชาตินิยมมลายูปาตานีแบบเดิมๆก็อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดสำหรับยุคสมัยของพวกเขา นอกจากนั้นพวกเขาเองก็เริ่มวิพากษ์วิจารณ์ระบบอุปถัมภ์ของการเมืองในพื้นที่ วิพากษ์วิจารณ์ผู้ก่อเหตุผู้ก่อเหตุไปจนถึงหัวหน้าพรรคประชาชาติซึ่งเป็นนักการเมืองที่คนรุ่นก่อนๆให้ความเคารพนับถือ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสายตาเขา
 
ซาฮารีทิ้งท้ายว่า ตั้งแต่ในช่วงที่พรรคการเมืองหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง 2562 ภาคประชาสังคมในพื้นที่มีการทำกิจกรรมร่วมกับพรรคการเมืองเพื่อสะท้อนปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปยังพรรคการเมืองเพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาในระดับนโยบาย และหลังการเลือกตั้งก็ยังมีการจัดเวทีร่วมกับพรรคการเมืองเพื่อให้พรรคการเมืองนำประเด็นปัญหาต่างๆที่ได้รับฟังเข้าไปแก้ไขตามกลไกรัฐสภาต่อไป ซึ่งจุดนี้ตัวเขาเห็นว่าเป็นการแสดงออกถึงความเชื่อมั่นของภาคประชาสังคมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้กระบวนการเจรจายุติความขัดแย้งและการสร้างสันติสุขประสบความสำเร็จได้ด้วยดี 
 
Article type: