1377 1746 1968 1795 1196 1564 1340 1910 1728 1302 1970 1292 1157 1680 1890 1164 1590 1063 1264 1697 1592 1198 1860 1331 1987 1521 1697 1862 1093 1623 1162 1251 1697 1309 1173 1421 1267 1698 1728 1715 1663 1670 1047 1213 1073 1124 1623 1987 1691 1280 1301 1628 1321 1695 1355 1763 1645 1377 1965 1834 1427 1272 1334 1369 1555 1888 1352 1425 1843 1722 1530 1216 1917 1867 1184 1919 1659 1661 1451 1017 1680 1862 1421 1705 1406 1462 1911 1110 1271 1709 1677 1066 1820 1328 1758 1275 1251 1470 1424 1 หมุด 3 อนุสาวรีย์ - การจำกัดเสรีภาพการแสดงออกต่อสัญลักษณ์ประวัติศาสตร์ 2475 | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

1 หมุด 3 อนุสาวรีย์ - การจำกัดเสรีภาพการแสดงออกต่อสัญลักษณ์ประวัติศาสตร์ 2475

24 มิถุนายน 2475 เป็นวันสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะเป็นวันที่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นระบอบการเมืองการปกครองที่สืบทอดมาจนปัจจุบัน 
 
แม้ตลอด 88 ปีที่ผ่านมา การเมืองไทยจะล้มลุกคลุกคลาน ผ่านการรัฐประหารทั้งที่สำเร็จและล้มเหลวอย่างน้อย 20 ครั้ง มีเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่อย่างน้อย 5 ครั้ง แต่ระบอบที่สถาปนาโดยคณะราษฎรก็ยังคงดำรงอยู่ แม้บางห้วงเวลาจะถูกคั่นด้วยการปกครองโดยคณะทหารก็ไม่ปรากฎว่ามีผู้ใดประกาศจะเปลี่ยนรูปแบบการปกครองที่สถาปนาโดยคณะราษฎรในสาระสำคัญ 
 
อย่างไรก็ตาม สถานะทางประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรและการเปลี่ยนแปลงการปกครองถูกทำให้ลบเลือนไปเรื่อยๆ ตลอดมา เช่น 24 มิถุนายนครั้งหนึ่งเคยเป็น ‘วันชาติ’ ก็ถูกทำให้กลายเป็นเพียงวันธรรมดาที่ไร้ความหมายในยุคจอมพลสฤษดิ์ ในยุค คสช.ต่อเนื่องถึงรัฐบาลประยุทธ์ 2 การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ยุคคณะราษฎรกลับกลายเป็นสิ่งอ่อนไหวและถูกจำกัดด้วยรูปแบบต่างๆ 
 

หมุดคณะราษฎร์หายลึกลับ คนติดตามถูกคุกคาม-ดำเนินคดี

 
 
หมุดปฏิวัติ 2475 หรือ หมุดคณะราษฏร หมุดกลมสีทองเหลืองจารึกข้อความ "24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ คณะะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ" ถูกฝังบนพื้นถนนข้างฐานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อเป็นที่ระลึกถึงจุดที่พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองและอ่าน ‘ประกาศคณะราษฎร’ ฉบับแรก โดยหมุดนี้น่าจะถูกทำขึ้นในปี พ.ศ.2484 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลประกาศให้วันที่ 24 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันชาติ

1449
 
หมุดคณะราษฎร ถ่ายเมื่อ 24 มิถุนายน 2551  
 
ที่ผ่านมามีกิจกรรมรำลึก 24 มิถุนาที่หมุดคณะราษฎรติดต่อกันมาหลายปีหลังเกิดความขัดแย้งทางการเมืองในระลอกหลัง แต่หลังการรัฐประหารของคสช.ในปี 2557 การทำกิจกรรมรำลึกที่หมุดคณะราษฎรกลายเป็นสิ่งที่ ‘ฝ่ายความมั่นคง’ รู้สึกกังวลเป็นพิเศษ
 
กิจกรรมรำลึก 24 มิถุนา ในปี 2557 ทำภายใต้การประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศและภายใต้การประกาศใช้ประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน ครั้งนั้นกิจกรรมดำเนินไปโดยไม่มีบุคคลใดถูกดำเนินคดี แต่มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบล้อมรั้วบริเวณหมุดและให้ผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน
 
1450
 
การทำกิจกรรมที่หมุดคณะราษฎร 24 มิถุนายน 2557 ผู้เข้าร่วมต้องลงชื่อกับเจ้าหน้าที่ (ภาพโดย ประชาไท)
 
1451
 
กิจกรรมวางดอกไม้รำลึกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 (ภาพโดย ประชาไท
 
ปี 2559 มีการจัดกิจกรรมรำลึกเช่นเคย ในวันนั้นมีเหตุวุ่นวายเล็กน้อยเมื่อเจ้าหน้าที่พยายามจะกีดกันไม่ให้สิรวิชญ์หรือ นิว หนึ่งในนักกิจกรรมทางสังคมออกนอกพื้นที่ แต่สุดท้ายทุกอย่างก็จบลงด้วยดีและเจ้าหน้าที่ยอมให้สิรวิชญ์ร่วมกิจกรรมได้
 
ปี 2560 ราวเดือนเมษายน มีรายงานว่าหมุดคณะราษฎร์หายไปและมีผู้พบเห็นว่ามีหมุดอันใหม่ติดตั้งไว้แทนที่ การสูญหายของหมุดคณะราษฎรกลายเป็นประเด็นขึ้นมาเพราะไม่มีหน่วยงานราชการใดให้คำตอบที่ชัดเจนว่าใครเป็นผู้ถอดหมุด ถอดไปที่ใด ด้วยเหตุผลอะไร เช่น 
 
เขตดุสิตยืนยันว่า ไม่ได้เป็นผู้เปลี่ยนหมุด 
กรมศิลปากรแจ้งว่าหมุดไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมศิลปากร และหมุดคณะราษฎรไม่ใช่โบราณวัตถุตามพ.ร.บ.โบราณสถานฯ 

ประชาชนบางส่วนจึงดำเนินการเพื่อติดตามชะตากรรมของหมุดด้วยตัวเอง เช่น
 
19 เมษายน 2560 มีกลุ่มประชาชนไปร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่สน.ดุสิตให้ติดตามหาหมุดและไปร้องขอให้กทม.เปิดกล้องวงจรปิดเพื่อดูว่าบุคคลใดเป็นผู้นำหมุดไป   
เดือนมิถุนายน 2560 เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางสังคม ประกาศผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าเขาจะนำหมุดคณะราษฎรจำลองที่ได้รับมาไปฝังแทนหมุดที่ถูกนำมาเปลี่ยน 
24 มิถุนายน 2560 เอกชัยเดินทางด้วยรถแท็กซี่จากบ้านแต่เช้าไปที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อทำการเปลี่ยนหมุดตามที่ประกาศไว้ แต่ทันทีที่เขาลงจากรถก็ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปที่ค่ายทหารเพื่อ ‘ปรับทัศนคติ’ ตลอดทั้งวันก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในช่วงค่ำวันเดียวกันโดยไม่ถูกแจ้งข้อหา
 
1452
 
เจ้าหน้าที่พาเอกชัยมาส่งที่บ้านพร้อมขอค้นบ้านเพื่อหากล่องพัสดุที่ถูกใช้ส่งหมุดมาที่บ้านของเอกชัย 24 มิถุนายน 2560 (ภาพโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)
 
ในช่วงที่ถูกควบคุมตัวเจ้าหน้าที่พยายามสอบถามว่าเอกชัยได้หมุดจำลองมาจากบุคคลใด ในการปล่อยตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจนำเขามาส่งที่บ้านพร้อมขอทำการตรวจค้นบ้านเพื่อหากล่องพัสดุที่เอกชัยระบุว่ามีคนส่งหมุดมาให้ทางไปรษณีย์ เอกชัยยินยอมให้ตรวจค้นบ้านแต่จากการตรวจค้นไม่พบกล่องพัสดุเจ้าหน้าที่จึงขอตัวกลับ
 
17 เมษายน 2560 วัฒนา เมืองสุข นักการเมืองพรรคเพื่อไทยโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กถึงกรณีที่มีประชาชนออกมาติดตามหมุดทำนองว่า
 
รู้สึกไม่สบายใจที่มีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ออกมาถามกลุ่มนักศึกษาที่ไปแจ้งความเรื่องหมุดว่าเป็นผู้เสียหายหรือไม่ โดยตัวเขาเห็นว่าหมุดคณะราษฎร์เป็นสังหาริมทรัพย์ เป็นของโบราณที่ประดิษฐ์ขึ้นเป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ เป็นสัญญลักษณ์ของการอภิวัฒน์สยามเมื่อปี พ.ศ.2475 จึงถือเป็นโบราณวัตถุตาม มาตรา 4 พ.ร.บ.โบราณสถานฯ ซึ่งผู้เบียดบังย่อมมีความผิดตามกฎหมาย 
 
20 เมษายน 2560 เขาถูกร้องทุกข์กล่าวโทษในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เขาเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) วัฒนาระบุว่า จะไม่ออกมาเคลื่อนไหวหรือตามหาหมุดคณะราษฎรอีกแล้ว โดยเรื่องทั้งหมดจะจบเท่านี้ ส่วนใครจะออกมาเคลื่อนไหวอย่างไรก็เป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ ในทางคดี วัฒนาให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดีในชั้นศาล 
 
14 ธันวาคม 2561 ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้องวัฒนาโดยให้เหตุผลซึ่งพอสรุปได้ว่า 
 
พยานโจทก์ที่เป็นนักวิชาการ และทหารฝ่ายกฎหมายจาก คสช. เบิกความกล่าวหาจำเลยว่า นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อความอันเป็นเท็จ เพราะกรมศิลปากรระบุว่า หมุดคณะราษฎร์ไม่ใช่โบราณวัตถุ จำเลยเป็นบุคคลทางการเมืองมีความน่าเชื่อถือ ประชาชนอาจเชื่อตามที่จำเลยโพสต์แล้วเกิดความตื่นตระหนกว่าโบราณวัตถุหายไป อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความวุ่นวายข้อนี้ศาลเห็นว่าเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของพยานโจทก์เท่านั้น
 
สำหรับข้อหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา116 เห็นว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์เป็นการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ ไม่มีข้อความที่ชวนให้ประชาชนออกไปก่อความวุ่นวาย หรือชุมนุม หรือเปลี่ยนแปลงรัฐบาล จำเลยถูกตั้งข้อหานี้สี่เดือนหลังการตั้งข้อหาในความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ระหว่างนั้นก็ไม่เกิดเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงขึ้น และหากเป็นเรื่องที่กระทบต่อความมั่นคงจริงก็คงจะเห็นได้ชัดและควรจะต้องตั้งข้อหานี้ตั้งแต่แรก
 
ส่วนกรณีที่มีนักกิจกรรมไปยื่นเรื่องเพื่อให้หน่วยงานรัฐตามหาหมุดคณะราษฎร์ ก็ไม่ปรากฎหลักฐานว่า เกี่ยวข้องกับข้อความที่จำเลยโพสต์และไม่ใช่การกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงหรือเกิดความวุ่นวาย
 
ในส่วนของความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) แม้กรมศิลปากรจะมีความเห็นว่า หมุดคณะราษฎร์ไม่ใช่โบราณวัตถุ ความเห็นนี้ก็ออกมาวันที่ 18 เมษายน 2560 หนึ่งวันหลังจากที่จำเลยโพสต์ข้อความ ทั้งยังมีนักกิจกรรมและนักวิชาการอีกหลายคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างในเรื่องความเป็นโบราณวัตถุ และทุกคนก็แสดงความคิดเห็นทางวิชาการแลกเปลี่ยนกันโดยสุจริต ข้อความที่จำเลยกล่าวว่า หมุดคณะราษฎร์เป็นโบราณวัตถุจึงไม่ใช่ข้อความอันเป็นเท็จ
 
ที่จำเลยวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ปล่อยปละละเลยให้หมุดคณะราษฎร์หายไปโดยไม่ติดตามหาคืน ก็เป็นการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการตามปกติ ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหาย และปรากฏว่า มีนักกิจกรรมไปแจ้งความให้ติดตามหาหมุดคณะราษฎร์แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่รับแจ้งความจริง การแสดงความคิดเห็นส่วนนี้จึงไม่ใช่ข้อความอันเป็นเท็จเช่นเดียวกัน
 
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โพสต์ของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34 มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ได้มีเจตนายุยงปลุกปั่นให้กระทบต่อความมั่นคง จึงไม่มีความผิด พิพากษายกฟ้อง  

 

เจ้าหน้าที่สั่งห้ามนักกิจกรรมถ่ายวิดีโอขณะย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ

 
อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ (อนุสาวรีย์ปราบกบฏ) เคยตั้งอยู่ที่วงเวียนหลักสี่ เป็นอีกหนึ่งสิ่งปลูกสร้างยุคคณะราษฎร์ที่มีประชาชนไปทำกิจกรรมในยุคคสช. 
การทำกิจกรรมในปี 2559 ช่วงก่อนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเป็นเหตุให้นักกิจกรรมอย่างน้อย 7 คนถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่กำหนดห้ามการชุมนุมตั้งแต่ห้าคนโดยไม่ได้รับอนุญาต 
 
ในเวลาต่อมามีกระแสข่าวว่าอนุสาวรีย์จะถูกย้าย นักกิจกรรมคนหนึ่งเดินทางมาถ่ายวิดีโอการย้ายอนุสาวรีย์ก็มีคนเข้ามาห้ามและสั่งให้เขาออกจากพื้นที่ 
 
เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้าระบุว่า อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญตั้งอยู่ที่วงเวียนบางเขน ถูกสร้างขึ้นหลังเหตุการณ์ในปี 2476 ที่ทหารของรัฐบาลคณะราษฎรสู้รบและเอาชนะทหารของคณะกู้บ้านกู้เมืองที่นำโดยพระองค์เจ้าบวรเดช ได้สำเร็จ  โดยอนุสาวรีย์แห่งนี้มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม2479  
 
อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญเป็นอนุสาวรีย์ยุคคณะราษฎรที่ก่อนหน้านี้น่าจะไม่ได้ถูกจดจำในฐานะสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มากนัก จินต์ชญา เขียนคำบอกเล่าของแม่ ท่านผู้หญิงพึงจิตต์ ศุภมิตร ซึ่งอยู่ร่วมสมัยการก่อสร้างอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ไว้ในหนังสือ “ชาววังเล่าเรื่องผี” ตอนหนึ่งในหน้า 6 ว่า 
 
“เมื่อการกบฎไม่สำเร็จ พระยาเทพฯ (พระยาเทพสงคราม หนึ่งในทหารคณะกู้บ้านกู้เมือง) ขึ้นรถไฟหนีไปไซ่ง่อนประเทศเวียดนามได้ แต่คุณตาได้ต่อสู้กับกองทัพรัฐบาลและเสียชีวิตบริเวณทุ่งบางเขน แถวๆอนุสาวรีย์หลักสี่นั่นเอง อนุสาวรีย์นี้เป็นอนุสาวรีย์ที่ส่วนตัวฉันเห็นว่าน่าเกลียดเป็นที่สุดและไม่มีใครให้ความสำคัญอะไรเลย” 
 
ขณะที่สุภชาติ เล็บนาค เคยเขียนสภาพของอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญในช่วงทศวรรษที่ 2540 ต่อทศวรรษที่ 2550 ว่า    
 
"วงเวียนบางเขน ถูกเปลี่ยนเป็นสี่แยกอยู่ระยะหนึ่ง และกลับมาเป็นวงเวียนใหม่อีกรอบราวๆ ปี 2543-2544 กรมทางหลวงขุดอุโมงค์ลอดอนุสาวรีย์ ปี 2553 ก็สร้างสะพานข้ามแยก จากแจ้งวัฒนะไปรามอินทรา อนุสาวรีย์ถูกเขยิบไปข้างๆ เพื่อหลีกให้สะพานข้ามแยกกลายเป็นอนุสาวรีย์เดียวที่มีสะพานข้ามให้รถวิ่งกันขวักไขว่อยู่ด้านบน"  
 
1453
 
อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญระหว่างการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า ถ่ายเมื่อ 8 กันยายน 2559 (ภาพโดย ณัฐชลี สิงสาวแห)
 
ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าอนุสาวรีย์ปราบกบฏเข้ามามีบทบาทในฐานะพื้นที่การชุมนุมทางการเมืองครั้งแรกเมื่อใด แต่เท่าที่สืบค้นข้อมูลพบว่าอนุสาวรีย์แห่งนี้เคยถูกใช้เป็นพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงระหว่างการชุมนุมในเดือนมีนาคม 2553  หลังจากนั้นในปี 2555 กลุ่มคนเสื้อแดงก็ใช้พื้นที่อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญเป็นพื้นที่การชุมนุมอีกครั้ง
 
ในวันที่ 24 มิถุนายน 2559 ก่อนที่จะมีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ นักศึกษาและนักกิจกรรม 7 คนประกาศทำกิจกรรม "ปัดฝุ่นประชาธิปไตย" โดยพวกเขาจะเดินเท้าจากวัดพระศรีมหาธาตุบางเขนซึ่งสร้างในสมัยรัฐบาลจอมพล.ป.พิบูลสงครามและเคยใช้ชื่อว่า "วัดประชาธิปตัย" ไปยังอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญเพื่อทำความสะอาดและระหว่างทางก็เตรียมแจกเอกสารรณรงค์ให้ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

1455
 
การชุมนุมของคนเสื้อแดงที่อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ 15 ตุลาคม 2555 (ภาพจาก ประชาไท)
 
นักกิจกรรมทั้งเจ็ดถูกเจ้าหน้าที่ล้อมหน้าล้อมหลังตลอดเวลาที่เขาเดินเท้าจากวัดพระศรีมหาธาตุไปยังอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ระหว่างทางเมื่อมีประชาชนคนหนึ่งเดินผ่านมา หนึ่งในนักกิจกรรมได้ยื่นเอกสารณ์รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญให้ ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบนายหนึ่งได้วิ่งตามประชาชนคนนั้นไปแล้วขอเอกสารกลับคืนมา 
 
1456
 
นักกิจกรรมถูกเจ้าหน้าที่ล้อมกรอบให้อยู่บริเวณหัวมุมถนนก่อนข้ามไปวงเวียนหลักสี่ หลังถูกล้อมกรอบที่นี่ครู่หนึ่งก่อนถูกควบคุมตัว (ภาพจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมุษยชน)

ท้ายที่สุดนักกิจกรรมทั้งเจ็ดก็ไปไม่ถึงอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญซึ่งในขณะนั้นถูกล้อมรั้วเพราะมีการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า ทั้งเจ็ดถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมขึ้นรถตู้ไปตั้งข้อกล่าวหาที่ สน.บางเขน 
 
อัยการทหารสั่งฟ้องนักกิจกรรม 7 คนในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ต่อมาในเดือนมกราคม 2562 ศาลทหารกรุงเทพก็สั่งจำหน่ายคดีนี้จากสารบบความเนื่องจากในเดือนธันวาคม 2561 คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ได้ถูกยกเลิกไป
 
ก่อนหน้าที่จำเลยทั้งเจ็ดจะพ้นไปจากการถูกดำเนินคดี อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญก็กลายเป็นอดีตไปเสียแล้ว เพราะช่วงสิ้นเดือนธันวาคม 2561 มีรายงานว่ามีการจัดพิธีบวงสรวงอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญเพื่อทำการเคลื่อนย้ายไปไว้ที่ศูนย์ก่อสร้าง กทม.ย่านหนองบอน ข่าวนี้ปรากฏไม่นานประชาชาติธุรกิจออนไลน์ซึ่งเป็นผู้รายงานข่าวดังกล่าวก็ลบข่าวออกจากเว็บไซต์ของตัวเองในเวลาต่อมา
 
เมื่อผู้สื่อข่าวของว้อยซ์ทีวีโทรศัพท์ไปสอบถามเรื่องการย้ายอนุสาวรีย์กับศักดิ์ชัย บุญมา ผอ.สำนักโยธากทม.ก็ได้รับคำตอบว่าอนุสาวรีย์ไม่ได้ถูกนำไปเก็บที่หนองบอน และกทม.ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เขายังระบุด้วยว่า
 
"จริงๆ ก็ย้ายมาหลายครั้งแล้ว ก่อนหน้านี้อยู่กลางวงเวียน พอสร้างอุโมงค์ ก็ย้ายไปมุมตรงข้ามกับ สน.บางเขน แล้วพอสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียว ก็ย้ายมาอีกมุมหนึ่ง ผมว่ามันเกะกะ ทำไมนักข่าวสนใจอนุสาวรีย์นี้จัง อยากให้เป็นข่าวเหรอ"
 
มีรายงานว่าในช่วงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 27 ธันวาคม 2561 หรือเช้ามืดวันที่ 28 ธันวาคม 2561กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ นักกิจกรรมทางสังคมได้ไปถ่ายทอดเหตุการณ์ขณะที่มีการเคลื่อนย้ายอนุสวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญแต่ปรากฎว่าเขาถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวและคลิปวิดีโอที่เขาถ่ายทอดสดก็ถูกลบ รายงานของประชาไทยังระบุด้วยว่าระหว่างการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์มีเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจควบคุมสถานการณ์ในบริเวณดังกล่าวด้วย     
 
หนึ่งในนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดี "ปัดฝุ่นประชาธิปไตย" ที่ในปี 2559 เดินไปไม่ถึงอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญเปิดใจในภายหลังเกี่ยวกับความรู้สึกของเธอต่อกรณีที่อนุสาวรีย์หายไปว่า เธอรู้สึกใจหายและสำหรับเธอเรื่องที่เกิดขึ้นดูเป็นการจงใจที่จะลบประวัติศาสตร์ เพราะแม้บริเวณนั้นจะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้า แต่มันก็น่าจะเลี่ยงตัวอนุสาวรีย์ได้ การเอาอนุสาวรีย์ออกไปในลักษณะนี้ถือเป็นการทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ที่ถูกทำลายก็เป็นประวัติศาสตร์ของสามัญชนที่พยายามพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย
 

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวัน "ปิดปรับปรุง"

 
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน น่าจะเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คที่ใครหลายคนนึกถึงเวลาพูดถึงประวัติศาสตร์ยุคคณะราษฎร นอกจากนั้นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยังดูจะเป็นพื้นที่ที่มีการชุมนุมทางการเมืองเกินขึ้นบ่อยที่สุดหากเปรียบเทียบกับสิ่งปลูกสร้างที่เป็นมรดกคณะราษฎรอื่นๆ
 
 
 
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2483 ในสมัยรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม โดยในพิธีเปิดจอมพล ป. กล่าวตอนหนึ่งว่า
 
"อนุสาวรีย์นี้จะเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญก้าวหน้าทั้งมวล เป็นต้นว่า ถนนสายต่างๆ ที่จะออกจากกรุงเทพฯ ไปยังหัวเมืองก็จะนับต้นทางจากอนุสาวรีย์นี้ ถนนราชดำเนินซึ่งเป็นแนวของอนุสาวรีย์ก็กำลังสร้างอาคารให้สง่างามเป็นที่เชิดชูเกียรติของประเทศ และเป็นการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัย จะทำให้ถนนนี้เป็นที่เชิดชูยิ่ง" 
 
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นสถานที่ที่ถูกใช้จัดการชุมนุมหลายครั้ง รวมถึงการชุมนุมที่ถือเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ขณะที่ในการเมืองไทยร่วมสมัย ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญในการเมืองไทยร่วมสมัยไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) รวมถึง คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ล้วนเคยจัดการชุมนุมโดยมีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นฉากหลัง 
 
หลังการยึดอำนาจของคสช.อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็ยังถูกใช้งานในฐานะสถานที่จัดการชุมนุมทางการเมืองอยู่บ้าง แต่ก็มีข้อน่าสังเกตว่าในระยะหลังอนุสาวรีย์มักถูกล้อมรั้วหรือนำกระถางดอกไม้ไปวางเต็มพื้นที่อยู่บ่อยครั้ง หรือแม้ไม่มีการวางกระถางดอกไม้แต่ก็มีการล้อมรั้วกั้นพื้นที่ไว้เฉยๆ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ดูจะอ่อนไหวและมักห้ามการจัดกิจกรรมบนตัวอนุสาวรีย์ ทั้งที่หากยินยอมให้มีการจัดกิจกรรมบนพื้นที่ดังกล่าวก็น่าจะกระทบต่อการสัญจรของประชาชนน้อยที่สุดเพราะตัวอนุสาวรีย์ตั้งอยู่ใจกลางวงเวียนซึ่งประชาชนทั่วไปไม่ได้เดินผ่านทางไปมา  
 
ในยุค คสช.มีการจัดการชุมนุมบนลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่น่าสนใจอย่างน้อย 3 ครั้ง 
 
การชุมนุมครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2558 นักศึกษา 14 คน จากหลายสถาบันการศึกษาที่เคยถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนโดยไม่ได้รับอนุญาต จากการทำกิจกรรมรำลึกครบรอบ 1 ปีการรัฐประหาร 2557 ทั้งที่กรุงเทพและที่ขอนแก่น ร่วมกันทำกิจกรรมเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อมาถึงพวกเขาร่วมกันชูป้ายผ้าเขียนข้อความ "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" ให้สื่อมวลชนถ่ายภาพ ทั้ง 14 คนไม่ได้ถูกจับกุมในวันที่ 25 มิถุนายนซึ่งเป็นวันที่พวกเขาทำกิจกรรมแต่ไปถูกจับกุม 1 วันหลังจากนั้น ระหว่างที่ทั้ง 14 กำลังพักผ่อนกันอยู่ที่สวนเงินมีมา 
 
หลังการจับกุมนักกิจกรรมทั้ง 14 คน ถูกตั้งข้อกล่าวหายุยุงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 พนักงานสอบสวนนำตัวพวกเขาไปขออำนาจศาลทหารฝากขังในทันค่ำวันเดียวกับที่มีการจับกุม ทนายขอให้ศาลทหารไต่สวนคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนเพราะเห็นว่าไม่มีเหตุให้ควบคุมตัว และพวกเขาแถลงคัดค้านคำร้องของพนักงานสอบสวน 
 
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเที่ยงคืนทั้ง 14 คนก็ถูกส่งตัวไปเรือนจำหลังศาลอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาตามคำร้องของตำรวจและผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ใช้สิทธิประกันตัว ทั้ง 14 คนถูกฝากขังไว้ 12 วันจึงได้รับการปล่อยตัว ในส่วนของคดีความจนถึงวันนี้สำนวนคดียังคงอยู่กับพนักงานสอบสวนไม่มีการฟ้องคดีต่ออัยการ เท่าที่สังเกตจากภาพถ่ายวันเกิดเหตุไม่ปรากฏว่าในขณะนั้นมีการล้อมรั้วอนุสาวรีย์หรือมีการนำกระถางต้นไม้ไปวางแต่อย่างใด 
 
การชุมนุมครั้งที่สองและครั้งที่สาม ได้แก่การชุมนุมครบรอบ 9 ปีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการชุมนุมครบรอบ 2 ปีการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2558 และ 2559 ตามลำดับ การชุมนุมทั้ง 2 ครั้งไม่มีการดำเนินคดีบุคคลใดตามมา 
 
การชุมนุมที่เกิดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2558 หากดูจากภาพข่าวในวันนั้นพบว่ามีการนำรั้วสีเหลืองไปกั้นไว้โดยรอบพื้นที่อนุสาวรีย์แต่การชุมนุมบนลานอนุสาวรีย์สามารถดำเนินไปได้  ส่วนการชุมนุมในวันที่ 22 พฤษภาคม 2559 เท่าที่สังเกตภาพข่าวจากเว็บไซต์ประชาไทพบว่ามีการล้อมรั้วเหลืองรอบตัวอนุสาวรีย์ด้วยเช่นกันแต่ยังไม่มีการนำกระถางต้นไม้มาวางในพื้นที่และการทำกิจกรรมบนลานอนุสารีย์ยังสามารถทำได้ 
 
เท่าที่มีข้อมูลการปิดพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอย่างเป็นกิจจะลักษณะน่าจะเกิดขึ้นหลังปี 2559 โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีรายงานจากไทยรัฐออนไลน์ว่าก่อนหน้าที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งจะไปทำกิจกรรมที่ถนนราชดำเนินเจ้าหน้าที่มีการนำต้นไม้มาวางจนเต็มพื้นที่ลานอุสาวรีย์ประชาธิปไตยพร้อมทั้งกั้นรั้วห้ามไม่ให้บุคคลใดขึ้นไป  ทั้งนี้แม้ในเวลาต่อมาจะมีการนำกระถางต้นไม้ออกไปแต่เจ้าหน้าที่ดูจะเข้มงวดกับการทำกิจกรรมบนพื้นที่  
 
ในปี 2563 เจ้าหน้าที่ทวีความเข้มงวดต่อการทำกิจกรรมบนลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอย่างมีนัยยะสำคัญ วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ครบรอบ 6 ปี การรัฐประหาร 2557 มีนักกิจกรรมสองกลุ่มไปทำกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เจ้าหน้าที่ยืนยันอย่างหนักแน่กับทั้งสองกลุ่มว่าห้ามเข้าไปทำกิจกรรมบนลานอนุสาวรีย์
 
เรื่องมีอยู่ว่า ในช่วงเช้า เครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษาเคียงข้างประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (คนป.) จัดกิจกรรมถือป้ายผ้าและพวงหรีดในโอกาสครบรอบ 6 ปี การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ภัสราวลีหนึ่งในนักกิจกรรมระบุว่าเมื่อเธอกับเพื่อนๆ ทำท่าว่าจะเดินขึ้นไปทำกิจกรรมบนตัวอนุสาวรย์ซึ่งถูกล้อมรั้วแต่ยังไม่มีกระถางต้นไม้วาง มีแต่รั้วกั้นรอบอนุสาวรีย์ ทันใดนั้นตำรวจก็เข้ามาเจรจาว่าไม่ให้ทำกิจกรรมบนตัวอนุสาวรีย์แต่ให้ทำบนเกาะกลางถนนได้
 
จากนั้นในช่วงบ่ายวันเดียวกันนักกิจกรรมสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.)นำป้ายผ้ามาผูกกับรั้วที่ล้อมรอบอนุสาวรีย์ เจ้าหน้าที่ก็เข้ามาพูดคุยและอ้างว่าทำกิจกรรมไม่ได้เพราะมีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างไรก็ตามเหล่านักกิจกรรมก็ผูกป้ายผ้าต่อไป ทว่าเมื่อกิจกรรมที่อนุสาวรีย์แล้วเสร็จมีนักกิจกรรม 3 คนถูก "เชิญตัว" ไปที่ร้านแมคโดนัลด์ราชดำเนิน หลังจากนั้นทั้งสามถูกพาตัวไปที่สน.สำราญราษฎร์โดยนักกิจกรรม 2 ใน 3 คนถูกเปรียบเทียบปรับตามพ.ร.บ.จราจรฯ  
 
วันที่ 9 มิถุนายน 2563 สนท.ทำกิจกรรมผูกโบว์ขาวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยการเมืองชาวไทยที่มีข่าวว่าถูกกลุ่มชายฉกรรจ์อุ้มตัวในกัมพูชา การทำกิจกรรมในวันดังกล่าวนักกิจกรรมสนท.ผูกผ้าอยู่ด้านนอกไม่ได้เข้าไปภายในลานอนุสาวรีย์แต่พวกเขาก็ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ และถูกพาตัวไปที่สน.สำราญราษฎร์  
 
ในวันที่ 9 มิถุนายน ตามภาพข่าวพบว่าที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีเพียงการกั้นรั้วแต่บนลานอนุสาวรีย์ยังคงโล่งไม่มีการวางกระถางดอกไม้ต้นไม้ แต่ในวันที่ 20 มิถุนายน 2563 พบว่าที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีการนำกระถางต้นไม้ดอกไม้ไปวางไว้เต็มพื้นที่และมีการติดป้ายเขียนข้อความ "ห้ามเข้าก่อนได้รับอนุญาต อยู่ระหว่างการปรับปรุง" ไว้บนรั้วเหล็ก


อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น ล้อมรั้วด้วยต้นไม้ จัดเวรยามสกัดชุมนุม

 
นอกจากที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะในภาคอีสานก็มีการสร้างอนุสาวรีย์ลักษณะเดียวกันด้วย 
 
จังหวัดขอนแก่นมีการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไว้เช่นกัน ตั้งอยู่บริเวณใกล้กับศาลหลักเมือง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่นสร้างเป็นรูปหกเหลี่ยมคล้ายอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯ และมีรัฐธรรมนูญบนพานแว่นฟ้าอยู่บนยอด แต่ที่ต่างไปคือ ไม่มีปีกเหมือนที่กรุงเทพฯ หากดูจากตัวเลขที่จารึกบนอนุสาวรีย์คาดว่าก็สร้างแล้วเสร็จและมีพิธีเปิดในปี 2486
 
ในช่วงที่คสช.ยึดอำนาจ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่นน่าจะถูกใช้เป็นพื้นที่จัดการชุมนุมครั้งแรกในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 โดยนักศึกษากลุ่มดาวดิน 7 คนนำป้ายเขียนข้อความ "คัดค้านรัฐประหาร" ในโอกาสรำลึก 1 ปีการรัฐประหาร ทั้งหมดถูกตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน 
 
ในทางคดีมีจำเลยเพียง 2 คนจากที่ถูกตั้งข้อหารวม 7 คนที่ถูกฟ้องดำเนินดคีต่อศาลทหารขอนแก่นซึ่งท้ายที่สุดในปี 2562 ศาลทหารก็มีคำสั่งจำหน่ายคดีของจำเลยทั้งสองเนื่องจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ถูกยกเลิกไปแล้ว  และ  
 
นอกจากการชุมนุมครั้งนี้ก็มีการชุมนุมที่น่าสนใจอีกอย่างน้อย 2 ครั้งที่เกิดขึ้นที่นี่ในยุค คสช. ได้แก่ การชุมนุมเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2558 ซึ่งเป็นวันที่พนักงานสอบสวนนัดนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินทั้งเจ็ดเข้าพบ แต่ทั้งเจ็ดประกาศทำอารยะขัดขืนด้วยการชุมนุมร่วมกับกลุ่มประชาชนที่มาให้กำลังใจที่อนุสาวรีย์แทนการเข้ารายงานตัว แต่สุดท้ายไม่มีการจับกุมหรือดำเนินคดีกับบุคคลใดหลังเหตุการณ์นี้ 
 
นอกจากนั้นก็มีกิจกรรม We Walk เดินมิตรภาพ ที่ผู้ชุมนุมมาทำกิจกรรมประกาศเจตนามรณ์หลังเดินเท้าจากกรุงเทพฯ มาถึงขอนแก่นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561 กิจกรรมทั้งสองครั้งไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาใดในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น มีเพียงกิจกรรม We Walk เดินมิตรภาพ ที่มีคนถูกดำเนินที่ในพื้นคลองหลวง ปทุมธานีรวม 8 คน ในวันที่มีการทำกิจกรรม We Walk บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยพบว่ามีการนำกระถางดอกไม้มาวางในพื้นที่ และมีการนำต้นไม่สีเขียวที่มีความสูงระดับไหล่มาวางล้อมตัวอนุสาวรีย์ อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้มีการนำต้นไม้มาวางเต็มพื้นที่จนไม่สามารถทำกิจกรรมได้   
 
ในช่วงปลายปี 2562 และเดือนพฤษภาคม 2563 ซึ่งเป็นยุครัฐบาลประยุทธ์ 2 มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เกิดขึ้นที่อนุสาวรีย์แห่งนี้อย่างน้อย 2 ครั้ง ได้แก่ กิจกรรมแฟลชม็อบคู่ขนานกับแฟลชม็อบ #ไม่ถอยไม่ทน ที่กรุงเทพ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562  และกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เรียกร้องให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (น่าจะหมายถึงยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2563 ซึ่งจัดโดยกลุ่ม ประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน (คปน.) การชุมนุมจบลงด้วยความเรียบร้อยไม่มีเหตุวุ่นวายหรือการจับกุม ดำเนินคดีบุคคลใด
 
ล่าสุด ในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 หลังจากที่สหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษา (สนท.) ทำกิจกรรม #saveวันเฉลิม ผูกริบบิ้นขาวในจังหวัดขอนแก่น เจ้าหน้าที่ในจังหวัดขอนแก่นก็ดูจะมีความอ่อนไหวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
 
8 มิถุนายน 2563 สนท.นำป้ายเขียนข้อความ "เผด็จการสฤษดิ์สั่งประหารครูครองนักประชาธิปไตย แล้วเผด็จการคนไหนสั่งอุ้มวันเฉลิม?  #Saveวันเฉลิม" และ "ต้องใช้เลือดเท่าไหร่ ล้างสังคมทราม" ไปติดที่อนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวมีกระแสการทำลายอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญในอดีตที่เกี่ยวข้องกับการค้าทาสหรือการล่าอาณานิคมเกิดขึ้นในหลายประเทศเช่นที่อังกฤษและเบลเยียม  
 
12 มิถุนายน 2563 เพจขอนแก่นพอกันที ซึ่งเป็นเพจเฟซบุ๊กของนักกิจกรรมในพื้นที่ก็มีการโพสต์ภาพบริเวณใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่มีการนำแผงเหล็กติดป้ายต่างๆ เช่น Big Cleaning Day และป้าย "ขออภัยในความไม่สะดวก กำลังฝึกซ้อมแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย" มาปิดกั้นพื้นที่ 
 
สำนักข่าวประชาไทรายงานความเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นในช่วงวันที่ 20 มิถุนายน ว่า บริเวณใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ 2 นาย นั่งเฝ้าสังเกตการณ์อยู่บริเวณใต้ต้นไม้ ก่อนจะมีการเรียกแถวรวมพลกันกว่าสิบนายในเวลา 18.00 น. และจากภาพข่าวพบว่ามีการนำกระถางดอกไม้มาเรียงล้อมรอบอนุสาวรีย์เป็นวงหนากว่าปกติและมีการใช้ต้นไม้สีเขียวที่มีความสูงระดับไหล่มาวาง ซึ่งหากเปรียบเทียบกับภาพข่าวเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม จะพบว่าแม้จะมีการวางต้นไม้ประดับเป็นวงรอบตัวอนุสาวรีย์แต่ครั้งนั้นจะใช้เป็นไม้ขนาดเตี้ยและรัศมีวงล้อมไม่กว้างเท่าการวางต้นไม้ในวันที่ 30 พฤษภาคม        
 
จากการสอบถาม เจ้าหน้าที่ที่เฝ้าพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่ให้ข้อมูลว่ามาเฝ้าระวังเหตุใด แต่เจ้าหน้าที่ที่เฝ้าระวังพื้นที่อนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ได้ความว่า 
 
ช่วงเวลานี้ใกล้วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน ตำรวจจึงมีการเฝ้าระวังตามจุดต่างๆ ทั่วเมืองขอนแก่น ส่วนใหญ่จะเฝ้าสังเกตการณ์ตามจุดสำคัญที่เป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง เพราะกังวลว่าอาจจะมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของผู้ชุมนุมที่อาจจะฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ เนื่องจากช่วงนี้ยังอยู่ในช่วงควบคุมโรคระบาดอยู่ โดยคำสั่งให้เฝ้าอนุสาวรีย์เริ่มมีมาตั้งแต่หลังการปลดล็อกการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ระยะที่ 2 แล้ว ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเฝ้าระวังตามจุดต่างๆ ตลอด 24 ชม. ผลัดเปลี่ยนเวรกันประมาณคนละ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน
 
เจ้าหน้าที่ผู้ให้ข้อมูลระบุด้วยว่า
 
“ตราบใดที่ผู้ชุมนุมทำตามกรอบกฎหมาย เช่น มีการแจ้งชุมนุมก่อน มีเวลาระบุที่แน่นอน เราก็ไม่ได้ทำอะไร เพียงแต่มาอำนวยความสะดวกให้ แล้วก็ถ่ายรูปให้ผู้บังคับบัญชาว่าเขามาชุมนุมตามกฎหมาย นอกจากนั้นก็เป็นการดูแลคอยมาระงับเหตุหากมีฝ่ายตรงข้ามมาก่อกวน หรือมายกพวกตีกัน อะไรประมาณนั้น”
 
 
 
 


 

 
Article type: