1868 1235 1187 1191 1319 1391 1986 1238 1880 1588 1830 1584 1423 1699 1412 1118 1021 1100 1890 1001 1239 1422 1176 1501 1579 1172 1546 1253 1189 1158 1205 1882 1631 1436 1275 1730 1831 1739 1813 1063 1328 1801 1994 1844 1005 1785 1278 1439 1650 1429 1313 1439 1310 1150 1418 1515 1450 1621 1370 1627 1466 1587 1079 1653 1901 1654 1240 1356 1272 1674 1721 1437 1505 1615 1523 1250 1654 1733 1863 1462 1467 1977 1210 1258 1839 1173 1122 1730 1669 1502 1586 1181 1590 1973 1300 1215 1551 1475 1524 สำรวจการชุมนุมยุคโควิด19 ในต่างประเทศ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

สำรวจการชุมนุมยุคโควิด19 ในต่างประเทศ



“ผมไม่ได้ไปปิดกั้นประชาชนเลยนะ ประชาชนถ้าจะชุมนุมก็ไปขอตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ของท่านนะ ในส่วนตรงนี้เขาไม่ต้องการให้คนไปอยู่รวมกลุ่มมากๆเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด ก็แล้วแต่ท่าน จะกลัวหรือไม่กลัวก็ไม่รู้เหมือนกัน นะ ผมไม่ไปได้ขู่อะไรท่านอยู่แล้ว” - ประยุทธ์ จันทร์โอชา - 30 มิถุนายน 2020
 
“ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือกำรมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นกำรยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนด” - ข้อกำหนดฉบับที่ 1 ออกตามความในมาตรา 9 ของพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 - 25 มีนาคม 2563
 
“มาตรการความมั่นคงและมาตรการฉุกเฉิน หากจำเป็น ต้องใช้เพียงชั่วคราว ได้สัดส่วน และใช้เพื่อปกป้องประชาชน” - รายงานสหประชาชาติ: โควิด-19 และสิทธิมนุษยชน - 23 เมษายน 2563
 
การแพร่ระบาดของไวรัส “โควิด19” ในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนเป็นไปอย่างรวดเร็วในหลายประเทศทั่วโลก โดยมี "ความแออัด" เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของการแพร่ระบาด รัฐบาลของหลายประเทศจึงตัดสินใจจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมและการรวมตัวในหลายรูปแบบเพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาด 
 
ในกรณีของไทย เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 ของ พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ออกข้อกำหนดฉบับที่ 1 และให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 มีนาคม 2563 โดยมีข้อกำหนดห้ามการชุมนุมอยู่ในข้อ 5 ซึ่งหากพิจารณาจากสถานการณ์ขณะออกข้อกำหนดก็พอเข้าใจได้ว่าเป็นไปเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสในช่วงเวลานั้น
 
อย่างไรก็ตามสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด19 ภายในประเทศช่วงเดือนมิถุนายนต้องถือว่าคลายตัวแล้ว โดยข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ระบุว่าตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม ถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2563 ไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศรวมแล้วกว่า 34 วัน  แต่ข้อกำหนดห้ามการชุมนุมที่อ้างว่าเป็นไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด19 กลับยังถูกคงไว้ ทำให้ประชาชนหลายภาคส่วนที่ต้องการใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญเพื่อสะท้อนปัญหาและสื่อสารความต้องการของตัวเองในประเด็นสาธารณะไปยังผู้มีอำนาจต้องเผชิญความเสี่ยงกับการถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเท่าที่มีข้อมูลมีผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯจากการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ไปแล้วอย่างน้อย 23 คน
 
ในขณะที่ผู้มีอำนาจในประเทศไทยพยายามอ้างเหตุผลในการจำกัดเสรีภาพว่า "สุขภาพสำคัญกว่าเสรีภาพ" แต่ในต่างประเทศมีกรณีศึกษาว่าการดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสควบคู่กับการเปิดพื้นที่การแสดงออกของประชาชนสามารถทำได้และการชุมนุมหากมีการบริหารจัดการที่ดี ก็ไม่ได้เป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงมากไปกว่ากิจกรรมกลางแจ้งอื่นๆและยังไม่พบว่ามีการชุมนุมที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ที่มีการดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดครั้งใหม่ 

 

อิสราเอล: ต้นแบบการชุมนุมแบบเว้นระยะห่างทางสังคม

 
ประเทศอิสราเอลเป็นตัวอย่างของการชุมนุมแบบเว้นระยะห่างทางสังคม เมื่อวันที่ 16 และ 19 เมษายน ปรากฎภาพผู้ชุมนุมมากกว่า 2000 คนชุมนุม ณ จตุรัสใจกลางเมืองหลวงบนจุดที่ผู้จัดการชุมนุม-ผู้ชุมนุม-เจ้าหน้าที่ได้ช่วยกันจัดให้มีการเว้นระยะห่างกันสองเมตร ผู้ชุมนุมเกือบทุกคนสวมหน้ากากพร้อมถือป้ายสโลแกนประท้วงนายกรัฐมนตรีประกอบกับถือธงดำคู่ธงชาติอิสราเอล จนเป็นที่กล่าวขานกันไปทั่วโลกในฐานะการชุมนุมแบบ new normal
 
วันที่ 15 มีนาคม 2563 รัฐบาลอิสราเอลสั่งห้ามการรวมกลุ่มกันเกินสิบคนหลังมียอดผู้ติดเชื้อโควิดสะสม 193 คน ในวันเดียวกันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ประกาศให้ศาลยุติการทำงาน ส่งผลให้การพิจารณาคดีทุจริตสามคดีของนายกรัฐมนตรีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ถูกเลื่อนออกไปจนถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2563  ต่อมาในวันที่ 19 มีนาคม รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมภายในประเทศพุ่งสูงถึง 707 คน ในวันเดียวกันประธานรัฐสภาก็สั่งปิดสมัยประชุมเพื่อลดความเสี่ยงในการระบาดของโควิด19  ต่อมาวันที่ 25 มีนาคม รัฐบาลเห็นชอบมาตรการฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาดทางสังคมหลังอัตราการแพร่ระบาดเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง สั่งห้ามออกจากเคหะสถานและรวมกลุ่มทางสังคม แต่มาตรการดังกล่าวได้ละเว้นการออกจากเคหะสถานเพื่อการชุมนุมไว้อย่างชัดเจน 
 
แม้จะมีประกาศห้ามรวมกลุ่มเกินสิบคนในที่สาธารณะออกมาตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2563 แล้ว แต่ในวันที่ 19 มีนาคม 2563 วันเดียวกับที่มีประกาศปิดสภา มีประชาชนมากกว่า 100 คนรวมตัวถือธงดำประท้วงที่หน้ารัฐสภาอิสราเอล ผู้ประท้วงกล่าวหานายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูว่าอาศัยวิกฤติโควิดรวมอำนาจ ภายหลังจากที่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้ รวมทั้งตัวเขาเองก็กำลังถูกพิจารณาคดีทุจริตในชั้นศาลระหว่างที่การชุมนุมดำเนินไป เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งห้ามรวมตัวเกินสิบคน แต่ไม่มีข้อมูลว่าหลังการจับกุมมีการดำเนินคดีหรือไม่ 
 
หลังการประท้วงในวันที่ 19 มีนาคม 2563 กระแสการต่อต้านรัฐบาลคลายตัวลงนักกิจกรรมบางส่วนเปลี่ยนไปประท้วงบนโลกออนไลน์ ขณะที่บางส่วนยังเลือกที่จะลงถนน เมื่อมีข่าวลือว่านายกรัฐมนตรีมีความพยายามที่จะจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติร่วมกับพรรคฝ่ายค้าน ก็มีนักกิจกรรมและประชาชนบางส่วนออกมาชุมนุมในที่สาธารณะ การชุมนุมครั้งนั้นส่งผลให้แกนนำและผู้ร่วมชุมนุมบางส่วนถูกลงโทษปรับแม้ว่ามาตรการล็อคดาวน์และจำกัดระยะทางออกนอกเคหะสถาน จะยกเว้นไม่ให้ใช้บังคับกับคนที่ออกมาเพื่อร่วมชุมนุมก็ตาม 
 
ในวันที่ 16 เมษายน 2563 ผู้ชุมนุมกว่า 2000 คน รวมตัวกันโบกธงดำกลางกรุงเทล อาวีฟ เมืองหลวงของอิสราเอลเพื่อประท้วงรัฐบาลของเนทันยาฮู โดยมีการวางมาตรการรักษาระยะห่าง 2 เมตร ระหว่างบุคคล  
 
“ประชาชนชาวอิสราเอลกำลังพิสูจน์ให้เห็นในวันนี้ว่า ประชาธิปของอิสราเอลจะไม่ยอมให้มีการทำ ‘รัฐประหารทางการแพทย์’ โดยใช้โควิด19 เป็นข้ออ้าง" หนึ่งในผู้จัดการชุมนุมเปิดเผยกับไทม์ออฟอิสราเอล สื่อท้องถิ่นฉบับหนึ่ง 

ต่อมาในวันที่ 19 เมษายน รัฐบาลส่งสัญญาณผ่อนคลายมาตรการทางสังคม ทำให้ในคืนนั้นมีการชุมนุมที่ใหญ่ขึ้น โดย ประชาชนราว 2,800 คนรวมตัวกันที่จตุรัสกลางกรุงเทลอาวีฟ เพื่อประท้วงการใช้อำนาจโดยมิชอบของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนตันยาฮู ในประเด็นการพยายามจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติและการยุติการสืบสวนคดีของศาลอีกครั้งโดยผู้จัดงานได้ทำเครื่องหมายจุดแสดงที่ยืนของผู้ชุมนุมกลางจตุรัสให้ห่างกันสองเมตร ระหว่างการชุมนุมเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยสอดส่องการเว้นระยะห่างทางสังคม กิจกรรมมีการถือป้าย ธง การตะโกนและการปราศัย โดยภาพข่าวแสดงให้เห็นว่าผู้ชุมนุมทั้งหมดสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างและยืนเรียงกันจนเต็มจตุรัส กิจกรรมเป็นไปอย่างสงบ จนเป็นที่กล่าวขานไปทั่วโลกในฐานะตัวอย่างการชุมนุมในยุคโควิด  และอิสราเอลก็มีการประท้วงหลังจากนั้นตลอดทุกสัปดาห์  
 
ในช่วงเดือนมิถุนายนเมื่อมีกระแสข่าวแผนการผนวกดินแดนปาเลสไตน์ก็มีประชาชนกลุ่มหนึ่งออกมาชุมนุมประท้วง การชุมนุมครั้งนั้นเป็นไปอย่างเรียบร้อยแต่อาจจะมีความหละหลวมในมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมไปบ้าง ระหว่างที่การชุมนุมดำเนินไปมีเจ้าหน้าที่เข้ามาติงผู้ชุมนุมเรื่องความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด19 แต่สุดท้ายการชุมนุมก็ดำเนินต่อไปโดยไม่มีข้อมูลว่ามีการจับกุมดำเนินคดีกับบุคคลใด และไม่มีรายงานว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นในอิสราเอลกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดโควิด19 
 
อย่างไรก็ดี รายงานของรัฐบาลอิสราเอลในวันที่ 20 มิถุนายน ระบุว่าประเทศได้เข้าสู่การระบาดระลอกที่สองแล้วหลังอัตราผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 7% ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม  ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้นจาก 17,071 คนเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 เป็น 24,441 คนในวันที่ 30 มิถุนายน 2563  โดยรัฐมนตรีสาธารณสุขระบุว่าประชาชนไม่ปฏิบัติตามข้อแนะนำเว้นระยะห่างทางสังคมและสวมใส่หน้ากาก 
 


ข้อสังเกตที่น่าสนใจ - อิสราเอล
 
- รัฐใช้มาตรการฉุกเฉินคุมโควิดแต่ยกเว้นใช้สามารถชุมนุมประท้วงได้

- ชุมนุมเว้นระยะห่างทางสังคมทำได้ถ้ารัฐอำนวยความสะดวกและไม่ใช้สถานการณ์ระบาดมาเป็นข้ออ้าง

- ไม่มีรายงานว่าการชุมนุมเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโควิด19 ในอิสราเอล
 

 

นิวซีแลนด์ - โควิดหมด เลิกมาตรการพิเศษ ไม่หมกเม็ดริดรอนเสรีภาพ
 

เมื่อมีการระบาดของโควิด19 ภายในประเทศ รัฐบาลนิวซีแลนด์ประกาศใช้มาตรการที่เข้มข้นเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส เมื่อประเทศเข้าสุู่สภาวะปลอดภัยและไม่ตรวจพบการระบาดภายในประเทศ รัฐบาลนิวซีแลนด์ก็ผ่อนคลายมาตรการต่างๆรวมทั้งคืนเสรีภาพในการชุมนุมให้ประชาชนโดยไม่รอช้า
 
รัฐบาลนิวซีแลนด์ประกาศมาตรการล๊อกดาวน์ในวันที่ 23 มีนาคม 2563 (มีผลบังคับใช้ 25 มีนาคม 2563) หลังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสม ในประเทศ 102 คน  หลังมีการประกาศมาตรการดังกล่าว นายกรัฐมาตรีจาซินดา อาร์เดิร์นระบุว่าประชาชนยังมีสิทธิออกจากเคหะสถานแต่ห้ามเข้าใกล้บุคคลอื่น 
 
หลังจากนั้นเมื่อสถานการณ์ในประเทศเริ่มคลี่คลายรัฐบาลก็ทยอยผ่อนปรนมาตรการต่างๆ จนสามารถประกาศว่าประเทศปลอดไวรัสโควิด19 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563 หลังไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2563 (รวม 17 วัน) ในวันเดียวกันรัฐบาลประกาศยกเลิกมาตรการล๊อกดาวน์ทั้งหมดซึ่งรวมถึงการห้ามรวมตัว และนับจากการยกเลิกมาตรการเหล่านั้นจนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2563 ไม่พบว่ามีการระบาดระลอกใหม่ในประเทศนิวซีแลนด์แต่อย่างใด ในวันที่ 16 มิถุนายนมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่แต่เป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศเป็นกรณีพิเศษ ไม่ใช่ผู้ติดเชื้อในประเทศ และจนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศรายใหม่อีก 
 
ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 เกิดกรณีจอร์จ ฟลอยด์ ชาวผิวดำในอเมริกันเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวโดยตำรวจในสหรัฐก่อให้เกิดกระแสประท้วงต่อต้านการเหยียดผิวและเลือกปฏิบัติ #BlackLivesMatter ไปทั่วโลกรวมทั้งที่นิวซีแลนด์ ซึ่งมีการจัดประท้วงดังกล่าวในวันที่ 1 มิถุนายน 2563 โดยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมมากกว่า 1000 คน ซึ่งเป็นเวลาสิบวันนับจากที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ

หลังการประท้วงดังกล่าวรัฐบาลตำหนิผู้จัดงานและผู้ร่วมชุมนุมว่า แม้รัฐบาลจะเห็นด้วยว่าการเหยียดสีผิวเป็นปัญหาร่วมของนิวซีแลนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกปฏิบัติต่อต่อชาวพื้นเมือง แต่ก็ขอให้ประชาชนใช้วิธีอื่นในการแสดงออกเพื่อไม่ให้ความพยายามป้องกันการระบาดของโควิดสูญเปล่า พร้อมชี้ว่าผู้ชุมนุมฝ่าฝืนกฎเว้นระยะห่างทางสังคม หลังปรากฎภาพผู้ชุมนุมบางส่วนไม่ได้ใส่หน้ากากและไม่เว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรการเฝ้าระวังระดับสองของรัฐบาลนิวซีแลนด์ที่ประกาศใช้อยู่ในเวลานั้น 
 
อย่างไรก็ดีไม่มีรายงานว่าการชุมนุมนำไปสู่การติดเชื้อ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่และผู้จัดกิจกรรมมีการสื่อสารและวางแนวทางการจัดกิจกรรมในครั้งต่อไปให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย โดยผู้จัดงานได้เตรียมเจลแอลกอฮอล์ให้กับผู้ชุมนุมและกิจกรรมในครั้งต่อมาก็เป็นไปอย่างเรียบร้อยไม่มีการกีดกันจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้คำนึงถึงความสำคัญทางการเมืองของการประท้วง โดยเจ้าหน้าที่ของนิวซีแลนด์นายหนึ่งระบุว่า การปราบปรามและจับกุมผู้ชุมนุมในประเด็นที่สำคัญต่อการเมืองระดับโลกในสภาวะที่การระบาดของโควิดเริ่มน้อยลงอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ ทางตำรวจจึงระบุว่าจะไม่มีการดำเนินคดีใดๆ
 
การชุมนุม #BlackLivesMatter ในนิวซีแลนด์ได้ขยายไปเป็นการชุมนุมเพื่อสิทธิคนพื้นเมือง ซึ่งแกนนำตั้งข้อสังเกตว่าคนพื้นเมืองมีโอกาสตกเป็นเหยื่อความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่าคนผิวขาวถึง 66% จึงมีการชุมนุมต่อเนื่อง โดยมีรายงานการชุมนุมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 ซึ่งก็ไม่มีรายงานความวุ่นวาย การจับกุมตามมา รวมทั้งไม่มีรายงานว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นจุดศูนย์กลางการระบาดของโควิด19 ระลอกใหม่ 
 
ข้อสังเกตเพิ่มเติมในทางกฎหมาย คือภายใต้มาตรการเฝ้าระวังระดับสองที่ห้ามการรวมตัวทางสังคม แต่กฎหมายไม่นับการรวมตัวทางสังคมที่มีการเว้นระยะห่างทางสังคมมากกว่าสองเมตร และหลังเปลี่ยนเป็นมาตรการเฝ้าระวังระดับหนึ่งเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563 ไม่มีข้อจำกัดในการรวมกลุ่มทางสังคมอีกต่อไป ซึ่งเป็นข้อแตกต่างที่สำคัญจากข้อห้ามตามมาตรา 9 ข้อ 5 ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของไทย ซึ่งมักถูกใช้กับผู้จัดกิจกรรมชุมนุม 
 
การควบคุมการระบาดของโควิด19 ในนิวซีแลนด์มีความคล้ายกับกรณีของไทยที่มากที่สุดหากเปรียบเทียบเฉพาะกรณีศึกษาทั้งหมดในงานชิ้นนี้ คือนายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยใช้อำนาจฝ่ายบริหารที่มีข้อกำหนดห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะในเวลาไล่เลี่ยกับไทย (ไทยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 26 มีนาคม 2563 ส่วนนิวซีแลนด์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินวันที่ 25 มีนาคม 2563) ขณะที่การปลอดผู้ติดเชื้อในประเทศติดต่อกันเกินระยะ 14 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาฟักตัวของไวรัส ระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2563 ไม่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทย ส่วนที่นิวซีแลนด์ไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศช่วงวันที่ 23 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2563 เท่ากับว่าทั้งสองประเทศมีระยะเวลาปลอดผู้ติดเชื้อภายในประเทศ ในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน แต่ไทยยังคงห้ามการชุมนุมขณะที่นิวซีแลนด์ยกเลิกการห้ามชุมนุมตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2563 
 

 

ข้อสังเกตที่น่าสนใจ - นิวซีแลนด์


- มาตรการห้ามการชุมนุมถูกผ่อนคลายหลังไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศเป็นเวลา 17 วัน


- ชุมนุมเว้นระยะห่างทางสังคมทำได้โดยรัฐช่วยอำนวยความสะดวก

- ไม่มีรายงานว่าการชุมนุมเป็นศูนย์กลางการระบาดของโรค

 

 

ฝรั่งเศส: ใช้มาตรการฉุกเฉินผ่านกลไกสภาก่อนผ่อนคลายเมื่อหมดความจำเป็น

 
ขบวนการเสื้อกั้กเหลืองจัดการชุมนุมในฝรั่งเศสตั้งแต่ก่อนมีการระบาดของโควิด19 เมื่อมีการระบาดของโควิด19 รัฐสภาฝรั่งเศสผ่านกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการสาธารณสุขที่มีเนื้อหาจำกัดเสรีภาพของประชาชนบางประการเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส การชุมนุมของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองที่มีมาก่อนหน้านี้จึงถูกจำกัดและเกิดเหตุสลายการชุมนุมเป็นครั้งคราวเมื่อมีผู้ฝ่าฝืนมาตรการออกมาชุมนุม แต่การผ่านกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ก็ดำเนินผ่านกลไกรัฐสภาที่มีการตรวจสอบถ่วงดุล นอกจากนั้นเมื่อสถานการณ์ระบาดของไวรัสเริ่มคลายตัว มาตรการจำกัดเสรีภาพรวมทั้งเสรีภาพการชุมนุมก็ถูกผ่อนคลายตามลำดับ
 
ประเทศฝรั่งเศสเริ่มยกระดับมาตรการควบคุมโรคตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2563 หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมพุ่งถึง 3,661 คน  โดยกระทรวงสาธารณสุขฝรั่งเศสสั่งห้ามการรวมตัวหรือชุมนุมมากกว่า 100 คนในสถานที่ใดๆ จากนั้นในวันที่ 22 มีนาคม 2563 หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศพุ่งถึง 14,459 คน สภาล่างของฝรั่งเศสเห็นชอบให้ออกกฎหมายใหม่ คือประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขเป็นเวลาสองเดือน ซึ่งตามกฎหมายนี้ประธานาธิบดีมีอำนาจสั่งปิดสถานที่สาธารณะที่มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดและห้ามการเคลื่อนย้ายหรือเดินทางที่ไม่จำเป็นของประชาชนได้ โดยมีข้อน่าสังเกตว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของฝรั่งเศส ยังคงให้อำนาจศาลปกครองในการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของประธานาธิบดี และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นการดำเนินการโดยลำพังของฝ่ายบริหารหากแต่กลไกด้านนิติบัญัติได้เข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบถ่วงดุลด้วย 

สำหรับสถานการณ์การชุมนุมในประเทศฝรั่งเศส กลุ่ม “เสื้อกั้กเหลือง” เริ่มการประท้วงทุกวันเสาร์อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 โดยประเด็นที่ผู้ประท้วงหยิบยกมาพูดถึงมีทั้งปัญหาปากท้อง การขึ้นภาษีที่กระทบต่อผู้ใช้แรงงาน และประเด็นความอยุติธรรมสังคมในภาพรวม กลุ่มเสื้อกั้กเหลืองเคยจัดการประท้วงใหญ่ในหลายหัวเมืองพร้อมกันทั่วประเทศแล้วอย่างน้อย 17 ครั้ง ซึ่งการชุมนุมบางครั้งอาจมีผู้ร่วมชุมนุมสูงถึง 2,000 คน ระหว่างการชุมนุมเคยมีกรณีที่ผู้ชุมนุมกีดขวางการจราจรและพยายามฝ่าเครื่องกีดขวางของเจ้าหน้า ในบางครั้งก็มีผู้ชุมนุมบางส่วนกระทำการในลักษณะที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นการยั่วยุ จนเป็นเหตุให้การชุมนุมบางครั้งต้องจบลงด้วยการสลายการชุมนุมที่มีการใช้แก๊สน้ำตา 
 
เมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด19 ในประเทศฝรั่งเศส กลุ่มเสื้อกั้กยังคงจัดการชุมนุมต่อไป ในวันที่ 14 มีนาคม 2563 ทางกลุ่มจัดการชุมนุมใจกลางกรุงปารีส ครั้งนั้นประเด็นสำคัญในการชุมนุมคือการต่อต้านการปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติ ทางการฝรั่งเศสประมาณการณ์ว่าน่าจะมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมครั้งนั้นประมาณ 400 คน แม้ผู้ชุมนุมบางส่วนจะสวมหน้ากากอนามัย แต่การชุมนุมดำเนินไปโดยที่มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นไปอย่างหละหลวม การชุมนุมที่เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าทวีความตึงเครียดขึ้นในช่วงบ่ายและจบลงด้วยการสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสจับกุมผู้ชุมนุมในความผิดฐานฝ่าฝืนกฎการเว้นระยะห่างทางสังคม 
 
ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 ทางการฝรั่งเศสเริ่มผ่อนคลายมาตรการล๊อกดาวน์ระยะที่หนึ่ง แต่ยังคงมาตรการห้ามรวมตัวมากกว่าสิบคนในที่สาธารณะ และจำกัดการเคลื่อนย้ายหรือเดินทางของประชาชนให้อยู่ในระยะไม่เกิน 100 กิโลเมตรจากเคหะสถาน ต่อมาในวันที่ 2 มิถุนายน 2563 ทางการฝรั่งเศสผ่อนคลายมาตรการรล๊อกดาวน์ระยะที่สอง อนุญาตให้จัดการชุมนุมได้ตามปกติแต่ต้องเคารพกฎการเว้นระยะห่างทางสังคม  ข้อสังเกตที่สำคัญคือการผ่อนคลายมาตรการห้ามการรวมตัวในพื้นที่สาธารณะเป็นไปในทิศทางเดียวกันสำหรับกิจกรรมลักษณะคล้ายกัน คือไม่มีการห้ามการชุมนุมในขณะที่ที่ผ่อนคลายการรวมตัวกันในพื้นที่สาธารณะในที่คล้ายกันได้แล้ว (ซึ่งต่างจากกรณีของไทย)

สำหรับการประท้วงของกลุ่มเสื้อกั้กเหลือง มีรายงานว่าผู้ชุมนุมในบางพื้นที่ออกมาเคลื่อนไหวตั้งแต่วันเสาร์แรกหลังการผ่อนคลายมาตรการในระยะที่หนึ่ง ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2563 ทางกลุ่มจัดการชุมนุมในหลายหัวเมือง ในบางพื้นที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 100 คน ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนมาตรการผ่อนคลายระยะแรกและปรากฎภาพผู้ชุมนุมบางส่วนทะเลาะกับผู้ที่ใช้เส้นทางสัญจรไปมาด้วย ในบางพื้นที่ที่มีผู้ร่วมชุมนุมเกิน 100 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการเปรียบเทียบปรับผู้ชุมนุมบางส่วนในความผิดฐานฝ่าฝืนมาตรการของรัฐ  
 
ในเดือนมิถุนายน 2563 ที่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านการแบ่งแยกเหยีดผิว #BlackLivesMatter ที่ฝรั่งเศสก็มีการชุมนุมระลอกใหม่เช่นกัน ซึ่งเบื้องต้นทางการฝรั่งเศสขอความร่วมมือให้ผู้ชุมนุมเคารพกฎการเว้นระยะห่างทางสังคม ในวันที่ 3 มิถุนายน 2563 มีการชุมนุมของประชาชนราว 20000 คน ในช่วงสองชั่วโมงแรกของการรวมตัว การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบ แต่หลังจากนั้นเริ่มมีเหตุจลาจล และมีการจุดไฟกลางถนนในบางพื้นที่  เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงตอบโต้ด้วยแก๊สน้ำตา ทั้งนี้การสลายการชุมนุมเกิดขึ้นเมื่อเริ่มมีเหตุรุนแรงเท่านั้น ในช่วงที่การชุมนุมดำเนินไปอย่างสงบเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้กำลังเข้ามาระงับหรือห้ามการชุมนุมแต่อย่างใด   

สถานการณ์การระบาดของโควิด19 ในประเทศฝรั่งเศสโดยรวมมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆอย่างช้าๆ ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมถึงวันที่ 26 มิถุนายน 2563 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยประมาณ 500 คนต่อวันจากที่ในช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงเมษายนมีตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่เฉลี่ยประมาณ 4,000 คนต่อวัน สาเหตุที่ฝรั่งเศสมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการออกมาตรการออกสนองมีความล่าช้า แม้การชุมนุมจะเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโควิด 19 และที่ฝรั่งเศสก็มีการชุมนุมในช่วงเดือนมีนาคมซึ่งเป็นช่วงที่โควิด 19 มีการระบาดแล้ว แต่จนบัดนี้ยังไม่มีข้อมูลว่ามีผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากการเข้าร่วมการชุมนุมหรือมีการชุมนุมที่เป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของไวรัส 
 

 

ข้อสังเกตที่น่าสนใจ - ฝรั่งเศส


- รัฐใช้มาตรการฉุกเฉิน แต่เป็นกฎหมายใหม่และผ่านการเห็นชอบของสภา
 

- การชุมนุมในช่วงที่ไวรัสระบาดหนักถูกควบคุมอย่างเข้มข้น
 
- เมื่อกิจกรรมที่มีลักษณะและความเสี่ยงคล้ายหรือใกล้เคียงกับการชุมนุมได้รับการผ่อนคลาย การชุมนุมก็ได้รับการผ่อนคลาย

 

 

ฮ่องกง: เสรีภาพหดตัวแม้ไวรัสร้ายคลายตัว

 
แม้ฮ่องกงจะเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโควิด19 เพราะอยู่ติดกับจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการระบาดของโควิด19 อย่างหนักอีกทั้งยังเผชิญการชุมนุมยืดเยื้อคัดค้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านอำนาจจีน  อย่างไรก็ตามสถานการณ์ระบาดของโควิด19 ในฮ่องกงกลับไม่รุนแรงแต่อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ซึ่งมีผู้วิเคราะห์ว่าที่การชุมนุมในฮ่องกงไม่กลายเป็นศูนย์กลางการแพร่่ระบาดของโควิด19 อาจเป็นเพราะผู้ชุมนุมสวมหน้ากากร่วมชุมนุมกันเป็นปกติอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนมีการระบาดของโควิด19
 
การชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 โดยพุ่งเป้าไปที่การต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่เปิดทางให้ฮ่องกงส่งตัวผู้กระทำความผิดไปดำเนินคดีในจีนแผ่นดินใหญ่ได้ ในเวลาต่อมาการคัดค้านร่างกฎหมายได้พัฒนาเป็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นก็มีผู้ชุมนุมบางกลุ่มที่มีข้อเรียกร้องแหลมคมถึงขั้นเรียกร้องให้ฮ่องกงแยกตัวจากจีน 

กฎหมายความเรียบร้อยสาธารณะ (Public Order Ordinance) คือกฎหมายที่ถูกใช้เพื่อควบคุมการชุมนุมในฮ่องกงตั้งแต่ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 โดยมีสาระสำคัญคือ การชุมนุมของคนตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป จะต้องแจ้งทางตำรวจไม่เกินเวลา 11 โมงเช้าของวันในสัปดาห์เดียวกับวันที่จะจัดกิจกรรมในสัปดาห์ถัดไป และตำรวจก็มีอำนาจที่จะไม่อนุญาตให้ผู้ชุมนุมจัดการชุมนุมโดยอ้างเหตุว่าเป็นการชุมนุมที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าความมั่นคงในที่นี้หมายถึงความมั่นคงของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกสูงสุดห้าปี 1 โดยมีข้อมูลว่าจนถึง 28 พฤษภาคม 2563 มีผู้ชุมนุมและนักเคลื่อนไหวถูกจับกุมจากการชุมนุมในฮ่องกงไปแล้วอย่างน้อย 9,000 คน นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอีกฉบับ คือกฎหมายห้ามใส่หน้ากาก (Anti-Mask Law) ซึ่งเริ่มประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2562 มีเนื้อหาห้ามผู้ชุมนุมทุกกรณีใส่หน้ากากเพื่อปิดบังตัวตนหลังการชุมนุมมีความรุนแรงและยืดเยื้อ แต่ต้องหยุดบังคับใช้ไประยะหนึ่งเนื่องจากศาลชั้นต้นวินิจฉัยเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 ว่ากฎหมายดังกล่าวขัดกับกฎหมายพื้นฐานฮ่องกง (Basic Law) แต่เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 (ในวันดังกล่าวฮ่องกงมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดสะสม 974 ราย) ศาลอุทธรณ์ตัดสินให้กฎหมายบังคับใช้ได้กับผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมที่ไม่ได้รับอนุญาตจากทางการก่อน ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขว่าอาจเพิ่มความเสี่ยงในการระบาดของโควิดในฮ่องกงมากขึ้นในอนาคต โดยจนถึงวันดังกล่าว มี 682 ถูกจับกุมด้วยความผิดตามกฎหมายฉบับนี้และมี 61 รายถูกดำเนินคดี 
 
ในส่วนของการแพร่ระบาดของโควิด19 ฮ่องกงยืนยันผู้ป่วยโควิดสองรายแรกเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563  หรือประมาณครึ่งปีหลังของการประท้วงใหญ่ในฮ่องกงเพื่อต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในเดือนมิถุนายน 2562 การแพร่ระบาดของโควิด19 ในวันที่ 27 มีนาคม 2563 เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมพุ่งขึ้นไปถึง 518 คน  ทางการฮ่องกงก็ดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสอย่างเข้มข้นด้วยการประกาศใช้กฎหมายป้องกันและควบคุมโรค ซึ่งส่งผลให้การรวมกลุ่มมากกว่าสี่คนในที่สาธารณะกลายเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ แม้กฎหมายดังกล่าวจะยกเว้นการรวมตัวเพื่อกิจกรรมบางประเภท แต่การชุมนุมประท้วงไม่ใช่การรวมตัวที่ได้รับการยกเว้นให้ทำได้ตามกฎหมาย 
 
การระบาดของโควิด19 ส่งผลให้การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยลดขนาดและความถี่ลงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนเมษายน 2563 นักกิจกรรมบางส่วนเปลี่ยนไปใช้โลกออนไลน์รวมทั้งเกมออนไลน์เป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมือง แต่การชุมนุมในพื้นที่สาธารณะก็ไม่ได้ยุติไปโดยสิ้นเชิง ประชาชนบางส่วนยังคงออกมาชุมนุมอยู่เป็นระยะ โดยผู้ชุมนุมต่างสวมหน้ากากในที่ชุมนุม อย่างไรก็ตามผู้ชุมนุมในฮ่องกงสวมใส่หน้ากากมาตั้งแต่ก่อนการระบาดของโควิด19 แล้ว เพราะพวกเขาต้องการปกปิดตัวตนจากการสอดส่องโดยรัฐ รวมถึงหากมีการใช้แก๊สน้ำตา การสวมหน้ากากก็จะช่วยลดผลกระทบของแก๊สน้ำตา 
 
ข้อสังเกตที่สำคัญประการหนึ่งคือในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคมซึ่งยังมีการชุมนุมในที่สาธารณะกลับไม่พบการติดเชื้อเป็นวงกว้างแต่อย่างใด โดยอัตราการติดเชื้อใหม่รายวันระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนมีนาคมอยู่ที่ประมาณ 3-10 ราย แล้วจึงพุ่งสูงขึ้นไปอยู่ที่ 30-60 รายในช่วงครึ่งหลังของเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีการระบาดอย่างกว้างขวางทั่วโลก

แม้การแพร่ระบาดของโควิด19 จะลดความร้อนแรงของการประท้วงในฮ่องกงไปบ้าง แต่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2563 กระแสการประท้วงในฮ่องกงก็กลับมาปะทุอีกครั้ง หลังมีข่าวในวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ว่าสภาประชาชนแห่งชาติจีนต้องการผ่านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลจีนในฮ่องกง โดยกำหนดให้ความผิดฐานแบ่งแยกตินแดน ยุยงปลุกปั่น ก่อการร้าย และการร่วมมือกับรัฐบาลต่างชาติ สามารถลงโทษจำคุกได้ตลอดชีวิต กฎหมายดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563  จากนั้นในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 มีชาวฮ่องกงออกมาชุมนุมประท้วงกฎหมายดังกล่าว มีผู้ชุมนุมบางส่วนถือป้ายและตะโกนคำขวัญของกลุ่มเรียกร้องให้ฮ่องกงแยกดินแดนเป็นอิสระ ซึ่งตำรวจได้ถือป้ายคำเตือนใหม่ว่าการกระทำดังกล่าวอาจมีความผิดตามกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ได้ การชุมนุมครั้งนั้นส่งผลให้มีผู้ชุมนุม 370 คน ถูกจับกุม โดยมีสิบคนที่ถูกจับด้วยกฎหมายความมั่นคงที่เพิ่งออกมาใหม่ตามรายงานของทางการฮ่องกง
 
แม้ว่าในช่วงเดือนมิถุนายนต่อเนื่องถึงต้นเดือนกรกฎาคม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ในฮ่องกงจะเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีและไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อภายในตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2563 ส่งผลให้ในวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ทางการฮ่องกงเริ่มผ่อนปรนมาตรการระยะห่างทางสังคม และขยายจำนวนการรวมตัวในที่สาธารณะ จากเดิมที่จำกัดให้ไม่เกิน 8 คน เป็น ไม่เกิน 50 คน  ทว่าการผ่อนปรนดังกล่าวก็ดูจะสวนทางกับเสรีภาพที่เริ่มหมดหายหลังการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ที่ผ่านโดยทางการจีน
 



ข้อสังเกตที่น่าสนใจ - ฮ่องกง


- ผู้ชุมนุมสวมใส่หน้ากากและเว้นระยะห่างทางสังคมช่วยป้องกันการระบาดของไวรัสในพื้นที่การชุมนุม


- ศาลมีคำสั่งให้การสวมหน้ากากในพื้นที่การชุมนุมถือเป็นความผิดเพิ่มความเสี่ยงการระบาดของโควิด19

 

 

สหรัฐอเมริกา: มาตรการตอบโต้การชุมนุมของรัฐก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยง

 
สหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับการชุมนุมสองระลอกในท่ามกลางการระบาดของโควิด19 ช่วงแรกเป็นการชุมนุมต่อต้านมาตรการควบคุมโรคซค่งผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ไม่สวมหน้ากาก ไม่เว้นระยะห่างทางสังคม ช่วงต่อมาคือการชุมนุม #BlackLiveMatter ซึ่งผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค จนถึงปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่าการชุมนุมในสหรัฐเป็นศูนย์กลางการระบาดของโควิด19 ขณะเดียวกันก็มีรายงานออกมาว่าวิธีการสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นในสหรัฐอาจกลายเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงในการระบาดของโควิด19 เสียเอง
 
สหรัฐอเมริกาพบผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 ที่มลรัฐวอชิงตัน thinkglobalhealth ผู้ติดเชื้อเป็นคนที่เดินทางกลับมาจากมลฑลอู่ฮั่นประเทศจีน จากนั้นในวันที่ 30 มกราคม 2563 มีรายงานการตรวจพบผู้ติดเชื้อภายในประเทศรายแรกที่มลรัฐอิลินอยส์ มาตรการรับมือการระบาดของโควิด19 ในสหรัฐฯมีความหลากหลายตามแต่มลรัฐเนื่องจากรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ให้อำนาจรัฐบาลมลรัฐในการบริหารกิจการภายในมลรัฐ โดยรัฐบาลกลางสามารถประสานแต่ไม่สามารถบังคับได้นโยบายภายในได้ 
 
ซานฟรานซิสโกเป็นเมืองแรกที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ห้าวันต่อมา มลรัฐวอชิงตันประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นมลรัฐแรก หลังจากนั้นจนถึงวันที่ 17 มีนาคม 2563 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อสะสมในสหรัฐฯ 4,661 คน  มลรัฐต่างๆรวม 48 มลรัฐต่างทยอยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งซึ่งทำให้รัฐบาลของแต่ละมลรัฐมีอำนาจกำหนดมาตรการล๊อกดาวน์ต่างๆ เช่น ห้ามประชาชนออกจากเคหะสถาน เป็นต้น การประกาศมาตรการล็อคดาวน์ส่งผลให้การชุมนุมเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายในบางมลรัฐ อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีทรัมป์มักให้สัมภาษณ์โจมตีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและข้อบังคับการใส่หน้ากากผ่านทางสื่ออยู่บ่อยครั้งจนทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนของเขาซึ่งส่วนมากอยู่ในรัฐทางใต้ออกมาประท้วงมาตรการควบคุมโรคของมลรัฐ เช่น การบังคับสวมหน้ากากในที่สาธารณะหรือมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม  
 
มาตรการตอบสนองของมลรัฐต่างๆ ทำให้เกิดการประท้วงระลอกแรกใน 18 มลรัฐเมื่อช่วงกลางเดือนเมษายน มีข้อมูลว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมอเมริกันที่สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์และสิทธิในการครอบครองอาวุธ  บางส่วนเป็นผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการล๊อกดาวน์ การชุมนุมของกลุ่มผู้ต่อต้านมาตรการล็อคดาวน์โดยรัฐบาลมลรัฐ เกิดขึ้นในหลายมลรัฐโดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมแตกต่างกันไปตั้งแต่หลักสิบถึงหลักพันคนแล้วแต่พื้นที่ 
 
ผู้ชุมนุมประท้วงมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและข้อบังคับใส่หน้ากากเพราะรู้สึกว่ารัฐบาลกำลังล้ำสิทธิในร่างกายของตน ทำให้ปรากฎภาพผู้ชุมนุมกลุ่มนี้เกือบทั้งหมดไม่ใส่หน้ากากและไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม ในบางพื้นที่ ผู้ชุมนุมถืออาวุธและพยายามเข้าไปในที่ว่าการมลรัฐแต่ไม่มีเหตุการณ์ปะทะรุนแรง เป็นที่สังเกตุว่าการชุมนุมดังกล่าวในมลรัฐเท็กซัสเกิดขึ้นไม่กี่วันหลังผู้ว่าการมลรัฐประกาศจะผ่อนปรนมาตรการล๊อกดาวน์ในเดือนพฤษภาคม  
 
ในบางพื้นที่ความพยายามในการบุกรุกที่ทำการของรัฐโดยผู้ชุมนุมนำไปสู่การปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมแต่ก็ไม่มีเหตุรุนแรงบานปลาย  ทั้งนี้มีข้อมูลว่าการชุมนุมของกลุ่มประชาชนที่คัดค้านมาตรการควบคุมโรคของรัฐบาลระดับมลรัฐมีความเสี่ยงที่จะเป็นจุดศูนย์กลางของการแพร่ระบาดของไวรัส เนื่องจากผู้ชุมนุมไม่เคารพมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ไม่สวมหน้ากากอนามัยและมีรายงานว่าผู้ชุมนุมที่ตรวจพบเชื้อโควิดรายหนึ่งไม่ยอมกักตัวและไปร่วมการชุมนุม กระแสการชุมนุมของคนกลุ่มนี้เริ่มเบาลงหลังหลายมลรัฐ ซึ่งส่วนมากเป็นรัฐที่มีผู้ว่าการรัฐสังกัดพรรคริพับลิกัน เริ่มผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม (ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 สหรัฐมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมประมาณ 1.1 ล้านคน) 
 
การประท้วงระลอกสองในสหรัฐอเมริกาปะทุขึ้นหลังในวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 เกิดกรณีจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองมินิอาโปลิส มลรัฐมินิโซตา จับกุมโดยใช้เข่ากดคอของเขาไว้ การจับกุมด้วยวิธีดังกล่าวทำให้ฟลอยด์หายใจไม่ออกและเสียชีวิตในที่สุด 
 
หลังเกิดเหตุตำรวจแถลงว่าฟลอยด์ขัดขืนการจับกุมแต่คลิปวิดิโอที่มีคนบันทึกเหตุการณ์ขณะที่ฟลอยด์ถูกจับกุมไม่ปรากฎเหตุการณ์ว่าฟลอยด์ขัดขืนการจับกุม คลิปวิดีโอบันทึกเหตุการณ์ยังแสดงด้วยว่าฟลอยด์ถูกเจ้าหน้าที่ใช้เขากดทับคอเป็นเวลาประมาณ การเสียชีวิตของฟลอยด์เกิดความไม่พอใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ในวงกว้างโดยเฉพาะในหมู่คนผิวดำ หนึ่งวันหลังการเสียชีวิตของฟลอยด์๋ วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 มีการประท้วงทั้งในเมืองมินิอาโปลิสที่เกิดเหตุและเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศ 
 
ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้นำตัวเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาลงโทษ ให้ยุติการใช้กำลังเกินเหตุของตำรวจและเรียกร้องความยุติธรรมทางเชื้อชาติ ตำรวจเมืองมินิอาโปลิสใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางสลายการชุมนุมหลังมีรายงานว่ามีผู้ชุมนุมบางส่วนหรือมือที่สามก่อการจลาจล ซึ่งนอกจากเมืองมินิอาโปลิสแล้วยังมีการชุมนุมประท้วงการกระทำของตำรวจเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศ ในบางพื้นที่การประท้วงบานปลายเป็นการจลาจลและมีการปล้นสดมภ์ ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 หลายเมืองทยอยประกาศเคอร์ฟิว และในบางพื้นที่มีการเรียกกองกำลังรักษาดินแดนแห่งชาติมาสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ 
 
แม้ในบางพื้นที่ความรุนแรงจะเกิดจากผู้ประท้วง แต่ก็ปรากฎว่ามีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ยุยงให้เกิดความรุนแรงเสียเอง เช่น ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 ทรัมป์ทวิตข้อความประนามการปล้นสะดมภ์ เรียกผู้ชุมนุมทั้งหมดว่าเป็นพวกโจรพร้อมขู่ส่งกองกำลังรักษาดินแดนแห่งชาติไปปฏิบัติหน้าที่เพิ่มเติม   ขณะเดียวกันก็มีรายงานการใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างต่อเนื่อง เช่น ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 ที่เมืองมินิอาโปลิส ผู้สื่อขาวผิวดำจากสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นถูกตำรวจจับโดยไม่มีข้อกล่าวหาขณะรายงานสดการประท้วง

ในวันที่ 1 มิถุนายน 2563 เจ้าหน้าที่ยิงแก๊สน้ำตาและระเบิดพริกไทยใส่กลุ่มคนที่รวมตัวประท้วงใกล้ทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน ดีซี เพื่อเปิดทางให้ประธานาธิบดีทรัมป์เดินไปถ่ายรูปที่โบสถ์ใกล้ทำเนียบขาว และช่วงต้นเดือนมิถุนายน มีกรณีตำรวจเมืองบัฟฟาโล มลรัฐนิวยอร์ก ผลักชายอายุ 75 ปีลงไปบนพื้นขณะพยายามเดินผ่านเจ้าหน้าที่คุมควบฝูงชนที่กำลังกระชับพื้นที่ ทำให้ชายคนดังกล่าวกะโหลกศีรษะร้าวขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวหาว่าการทำร้ายร่างกายกรณีนี้ว่าเป็นการจัดฉากและระบุว่าชายชราคนดังกล่าวอาจเป็นสมาชิกกลุ่มติดอาวุธ   
 
มีการวิเคราะห์ว่าเทคนิคการควบคุมฝูงชน #BlackLivesMatter ของเจ้าหน้าที่อาจมีส่วนเพิ่มความเสี่ยงในการระบาดของโรคโควิด เนื่องจากปรากฎภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจในนิวยอร์กและฟิลาเดลเฟียสลายการชุมนุมของผู้ที่ชุมนุมอย่างสงบโดยการดึงหน้ากากและพ่นสเปรย์พริกไทยใส่ใบหน้าของผู้ชุมนุมโดยตรงโดยตรง และยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ที่ชุมนุมอย่างสงบแต่กีดขวางการจราจรบางส่วนโดยไม่มีการส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า การสลายการชุมนุมในลักษณะดังกล่าวก่อให้เกิดความตื่นตระหนก ซึ่งเพิ่มโอกาสในการสัมผัสซึ่งกันและกันระหว่างผู้ชุมนุม นอกจากนั้นก็มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ระบุว่าแก๊สน้ำตามีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินหายใจในระยะยาว ซึ่งจะทำให้ผู้ชุมนุมที่สูดดมแก๊สน้ำตาระหว่างการสลายการชุมนุมมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด19ในระยะยาวมากขึ้น 
 
สำหรับมาตรการรับมือกับชผู้ชุมนุมในสหรัฐ มีความน่าสนใจว่าในบางพื้นที่ผู้ว่าการรัฐพยายามเปิดทางให้ประชาชนใช้เสรีภาพโดยที่ทางรัฐเป็นผู้อำนวยความสะดวกด้านมาตรการควบคุมโรค เช่น ในวันที่ 18 มิถุนายน 2563 มีการชุมนุมในมลรัฐแมสซาชูเซทส์ รัฐบาลของมลรัฐช่วยอำนวยความสะดวกการชุมนุมโดยตั้งจุดคัดกรองเพื่อเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อ ผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซทส์ กล่าวถึงมาตรการควบคุมโรคว่า 
 
“เมื่อมีการรวมกลุ่มของคนหมู่มากย่อมมีโอกาสที่โรคจะระบาด เราสนับสนุนการแสดงออกอย่างสันติ แต่เราต้องร่วมป้องกันและชะลอการระบาดของโควิดในรัฐแมสซาชูเซทส์” ทั้งนี้นอกจากการจัดตั้งจุดคัดกรองโรคซึ่งถือเป็นมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสตามปกติแล้ว มลรัฐแมสซาชูเซทส์ก็ไม่ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินรอบใหม่เพื่อรับมือกับการชุมนุมแต่อย่างใด 
 
ทั้งนี้ การชุมนุมระลอกที่สองในสหรัฐแตกต่างไปจากการชุมนุมระลอกแรกในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรการควบคุมโรค โดยผู้ชุมนุม #BlackLivesMatter ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือในการป้องกันตัวเองและผู้ชุมนุมคนอื่น ทั้งการเว้นระยะห่างและสวมหน้ากาก และไม่มีรายงานว่ามีการชุมนุมระลอกสองครั้งใดที่กลายเป็นศูนย์กลางแพร่กระจายของไวรัส นอกจากนี้ก็มีงานวิจัยที่เปรียบเทียบข้อมูลการระบาดของไวรัสระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนในเมืองที่มีประชากรมากกว่า 100,000 คนช่วง ทั้งเมืองทีมีและไม่มีการประท้วงของคนมากกว่า 1,000 คน ซึ่งพบว่าการชุมนุม #BlackLivesMatter ไม่มีความสัมพันธ์กับการระบาดระลอกใหม่โดยตรงแต่อย่างใด
 
 



ข้อสังเกตที่น่าสนใจ - สหรัฐอเมริกา

แต่ละมลรัฐมีสถานการณ์ระบาดของโควิด19 และวิธีรับมือต่างกัน

 

การชุมนุมต้าน Lockdown มีความเสี่ยงเพราะผู้ชุมนุมไม่สวมหน้ากากหรือรักษาระยะห่่าง


- การชุมนุม #blacklivesmatter มีความเสี่ยงน้อยกว่าเพราะผู้ชุมนุมสวมหน้ากากและรักษาระยะห่าง

 

- วิธีการสลายการชุมนุมอาจเพิ่มความเสี่ยงการระบาดของโควิด19 

 


 

ประเทศไทย: ชุมนุมแบบปลอดภัยทำได้ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่แทรกแซง

 
ไทยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศมาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2563 และอาจถูกขยายเวลาได้อีก หลังครบกำหนดในเดือนกรกฎาคม 2563 การชุมนุมเป็นหนึ่งในสิ่งที่ถูกห้ามตามข้อกำหนดที่ออกตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2563 หลังสถานการณ์ระบาดของโควิด19 ในประเทศเริ่มคลายตัวประชาชนบางกลุ่มเริ่มออกมาชุมนุมตามโอกาสสำคัญๆ มีความน่าสนใจว่าในบางโอกาส เจ้าหน้าที่ก็ช่วยอำนวยความสะดวกด้านมาตรการคัดกรองโรคแต่บางครั้งเจ้าหน้าที่ก็ใช้มาตรการจำกัดการชุมนุมในลักษณะที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการระบาดของโควิด19 เสียเอง  
 
การจัดกิจกรรมรำลึกครบรอบสิบปีการสลายการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 มีผู้เข้าประมาณ 50 คน ในครั้งนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจและพยาบาลได้กั้นบริเวณที่จัดกิจกรรมตรงป้ายแยกราชประสงค์โดยรอบเพื่อตั้งจุดคัดกรองโรคและมีการเตรียมเจลล้างมือไว้บริการซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะวางมาตรการคัดกรองโรคและให้ผู้ทำกิจกรรมสามารถใช้เสรีภาพของตัวเองได้ อย่างไรก็ตามมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่กั้นไว้ดูจะแคบเกินไปทำให้บางช่วงเวลาอาจมีสภาพแออัดบ้างและเจ้าหน้าที่เองก็ใช้เครื่องเสียงเตือนเรื่องการเว้นระยะห่างอยู่ตลอดเวลาซึ่งอาจไปรบกวนการทำกิจกรรมแต่ถึงที่สุดกิจกรรมครั้งนั้นก็จบลงด้วยดีไม่มีการดำเนินคดีหรือปิดกั้นการใช้เสรีภาพโดยตรง
 
ขณะที่ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ซึ่งมีการจัดกิจกรรมระดมทุนผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด19 ในโอกาสครบรอบหกปีรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่กลับนำแผงเหล็กมากั้นพื้นที่ลานหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯซึ่งน่าจะกว้างพอที่ผู้ร่วมกิจกรรมจำนวน 30 - 40 คน จะสามารถทำกิจกรรมโดยเว้นระยะห่างทางสังคมได้ในระยะปลอดภัย ส่งผลให้ผู้ร่วมกิจกรรมต้องมายืนออกกันบริเวณทางเท้าแคบๆนอกแนวรั้วจนกลายเป็นว่ามาตรการของเจ้าหน้าที่ดูจะสร้างความเสี่ยงในการระบาดของโควิด19 เสียเอง ท้ายที่สุดมีการตั้งข้อกล่าวหากับผู้ที่เจ้าหน้าที่เห็นจว่าเป็นผู้จัดกิจกรรมสองคนด้วย 
 
ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าลานกว้างหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯน่าจะมีพื้นที่ประมาณ 500 ตารางเมตร ซึ่งกิจกรรมที่มีคนร่วมไม่เกิน 40 คน จะสามารถบริหารพื้นที่ให้ทำกิจกรรมโดยมีการรักษาระยะห่างได้มากกว่าแนวปฏิบัติเรื่องการรักษาระยะห่างในการทำกิจกรรม ในการผ่อนคลายมาตรการระยะที่สี่
 
นอกจากนี้ก็มีตัวอย่างของกิจกรรมรำลึกการเปลี่ยนการปกครองที่จัดที่ลานสกายวอล์กปทุมวันในช่วงเย็นวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ซึ่งผู้เข้าร่วมเท่าที่เห็นจะสวมหน้ากากกันทั้งหมด แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่ได้ช่วยอำนวยความสะดวก จัดมาตรการคัดกรองโรค เจ้าหน้าที่ได้แต่เตือนว่าการกระทำดังกล่าวอาจเป็นการขัดต่อข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งยังมีการติดตามตัวแกนนำที่จัดกิจกรรมในลักษณะที่ผู้ถูกติดตามเห็นว่าเป็นการคุกคามด้วย 
 
โดยลักษณะของกิจกรรม การชุมนุมอาจไม่ใช่กิจกรรมที่มีความเสี่ยงมากไปกว่ากิจกรรมอื่นๆในชีวิตประจำวันของคนอย่างมีนัยยะสำคัญ แม้ว่ารวมกลุ่มของคนในพื้นที่จำกัดจะเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด19 แต่มีงานวิจัยที่พบว่า การใส่หน้ากากและเว้นระยะห่างทางสังคมหนึ่งเมตรขึ้นไปสามารถช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาด  เท่ากับว่าหากไม่มีการสลายการชุมนุมที่ทำให้คนตื่นตระหนกและเบียดเสียดเข้าหากัน ไม่มีการใช้แก๊สน้ำตาโดยไม่จำเป็นที่กระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ไม่มีการปิดกั้นกีดขวางพื้นที่สาธารณะ หรือไม่มีคำสั่งห้ามสวมหน้ากากในการชุมนุม การชุมนุมก็อาจจะกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดใหม่ นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยบางชิ้นที่พบว่ากิจกรรมในพื้นที่โล่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด19 น้อยกว่ากิจกรรมในร่มอีกด้วย

การชุมนุมในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่โล่ง และผู้ชุมนุมเองก็ป้องกันตัวด้วยการสวมหน้ากาก เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ไม่มีการพบผู้ติดเชื้อภายในประเทศรายใหม่นานกว่า 28 วันซึ่งเท่ากับระยะฟักตัวของโควิด19 สองรอบ การชุมนุมโดยสงบก็สมควรเป็นกิจกรรมที่ต้องได้รับการผ่อนคลายให้ทำได้โดยที่ผู้เข้าร่วมไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงถุกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯอีก 

ภาพ thumbnail โดย Anthony Quintano

 

Article type: