1928 1084 1618 1613 1096 1545 1120 1704 1990 1359 1359 1649 1919 1888 1110 1570 1317 1486 1980 1862 1222 1404 1692 1103 1895 1106 1331 1893 1001 1495 1403 1150 1720 1654 1735 1776 1924 1300 1287 1296 1867 1436 1157 1447 1108 1271 1008 1231 1057 1427 1401 1749 1382 1940 1452 1852 1638 1516 1617 1954 1906 1238 1646 1641 1355 1495 1270 1080 1293 1322 1255 1064 1463 1688 1543 1806 1867 1362 1513 1216 1071 1624 1956 1995 1725 1995 1491 1874 1639 1034 1203 1630 1885 1584 1996 1265 1512 1408 1594 วัดอุณหภูมิ รวมทุกความเคลื่อนไหวก่อนชุมนุมใหญ่ 19 กันยา | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

วัดอุณหภูมิ รวมทุกความเคลื่อนไหวก่อนชุมนุมใหญ่ 19 กันยา

 
ยิ่งใกล้วันนัดชุมนุมใหญ่ 19 กันยายน สถานการณ์ยิ่งงวดเข้า ฝ่ายต่างๆ ออกมาแสดงจุดยืน ทั้งฝ่ายต้าน-ฝ่ายหนุน และฝ่ายรัฐ ไอลอว์จึงรวบรวมความเคลื่อนไหวต่างๆ นับตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน - 17 กันยายน 2563 มานำเสนอ ดังนี้
 
8 กันยายน - พรรคโดมปฏิวัติจัดกิจกรรมแรกพบ(สหาย)
 
17.00 น. มีกิจกรรมแรกพบสหาย (First Meet) ของพรรคโดมปฏิวัติ ซึ่งเป็นพรรคของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่มี รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ เพนกวิ้น-พริษฐ์ ชิวารักษ์​ ร่วมทำงานด้วย ได้โพสต์เฟซบุ๊กโดยระบุว่ากิจกรรมนี้ได้รับความสนใจจากนักศึกษาจำนวนมาก รวมถึงมีตำรวจนอกเครื่องแบบจำนวนไม่น้อยร่วมสังเกตการณ์ 
 
 
เฟซบุ๊ก Panusaya Sithijirawattanakul ยังระบุว่า นอกจากเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจะมาร่วมสังเกตการณ์ในกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ยังมีบางส่วนตามคณะผู้จัดงานไปถึงหน้าร้านอาหารที่พวกเขาเดินทางไปกินหลังเลิกงาน พร้อมตั้งคำถามว่าพรรคโดมปฏิวัติเป็นพรรคการเมืองในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นการทำงานของนักศึกษา เจ้าหน้าที่จะเข้ามาคุกคามทำไม 
 
 
9 กันยายน - ธรรมศาสตร์และการชุมนุมแถลงข่าวจัดชุมนุม 19 กันยา
 
แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมตั้งโต๊ะแถลงข่าว ที่บริเวณหน้าตึกโดม มธ.ท่าพระจันทร์ เพื่อชี้แจงรายละเอียดการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 กันยายน 2563 โดยประกาศการชุมนุมใหญ่ในชื่อ “19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร” การชุมนุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ของแนวร่วมฯ หลังจากการชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มธ.ศูนย์รังสิต ซึ่งมีการกล่าวถึง 10 ข้อเสนอเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นครั้งแรก
 
แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ชี้แจงว่า 
 
- เรียกรวมพลตั้งแต่เวลา 14.00 น. ที่มธ. ท่าพระจันทร์ โดยเลือกพื้นที่นี้เพราะเห็นว่าเป็นสถานที่สัญลักษณ์ของขบวนการประชาธิปไตยมาอย่างยาวนานจนเรียกได้ว่าเป็นป้อมปราการของประชาธิปไตย
 
- ยืนยันปักหลักค้างคืนก่อนและเดินขบวนใหญ่ในวันรุ่งขึ้น (20 กันยายน เวลา 8.00 น.) เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล 
 
- กรณีมีผู้ชุมนุมมากจะเคลื่อนขบวนไปใช้สนามหลวงเป็นที่ชุมนุมแทน เพราะสนามหลวงเป็นพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนใช้ที่จัดการชุมนุมและพักผ่อนหย่อนใจมาตั้งแต่อดีต การไปใช้พื้นที่สนามหลวงเป็นการยึดคืนสนามหลวง และอาจปิดถนนราชดำเนินกลางตั้งแต่ธรรมศาสตร์ไปจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อให้ “ราษฎรมาดำเนิน” และใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองร่วมกัน 
 
ไมค์-ภาณุพงษ์ จาดนอก หนึ่งในแกนนำฯ ระบุว่าทางกลุ่มได้ศึกษามาแล้วว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีความชอบธรรมในการดำเนินคดีกับประชาชน อีกทั้งตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ก็ไม่ได้ระบุว่าห้ามให้มีการชุมนุมในเขตโบราณสถาน หากเจ้าหน้าที่เห็นว่าสนามหลวงไม่ใช่พื้นที่สาธารณะก็ทำให้สนามหลวงไม่เข้าเงื่อนไขว่าต้องขออนุญาติจัดการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ไปด้วย
 
 
10 กันยายน - มธ.ให้จัดชุมนุมได้ตามกรอบกฎหมาย, ตร.ย้ำไม่ใช้แผนกรกฎ52, ไทยภักดีล่าชื่อค้านแก้ รธน.
 
มธ.ออกประกาศเรื่องแนวทางการอนุญาตจัดชุมนุมทางการเมืองของนักศึกษาในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย มีเนื้อหาระบุว่า 
 
1.การใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อจัดชุมนุมทางการเมืองภายใต้ขอบเขตของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ 
 
2.การจัดชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่มหาวิทยาลัยต้องจัดโดยกลุ่มที่สังกัดมหาวิทยาลัยหรือคณะ หากเป็นกลุ่มอิสระหรือกลุ่มเฉพาะกิจจะต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษารองรับ และต้องได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัยแล้วเท่านั้น 
 
3.เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการจัดชุมนุมทางการเมืองให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและปลอดภัย ต้องให้มีการตกลงร่วมกันระหว่างนักศึกษา ผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบ และมหาวิทยาลัย 
 
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มอบหมายให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแถลงต่อสื่อมวลชนถึงมาตรการรับมือชุมนุมใหญ่ โดยกล่าวว่าในระดับปฏิบัติการไม่ได้ไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ แต่มีการกำชับให้เจ้าหน้าที่อดทนและอย่าใช้ความรุนแรง นายกฯ เป็นห่วงเรื่องการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ประเมินแล้วว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่มีความกังวลต่อการสร้างสถานการณ์จากมือที่สาม และย้ำว่าจะไม่ใช้แผน “กรกฏ 52” เพื่อควบคุมการชุมนุมตามที่มีข่าวลือก่อนหน้า
 
ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม และคณะผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มไทยภักดี แถลงข่าวเวลา 11.00 น. เปิดตัวการคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญพร้อมประกาศเชิญชวนประชาชนลงนามผ่าน Google Form อย่างน้อย 50,000 รายชื่อเพื่อยื่นต่อสภา ต่อมาเวลา 21.00 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจไทยภักดี ประเทศไทย โพสต์ประกาศว่า 10 ชั่วโมงหลังประกาศเชิญชวนก็รวบรวมรายชื่อผู้คัดค้านการแก้รัธรรมนูญได้เกิน 50,000 รายชื่อแล้ว อย่างไรก็ตาม ในทางกฎหมาย การจะยื่นรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายต่อสภา จะต้องทำผ่านเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรและมีสำเนาบัตรประชาชนเท่านั้น 
 
 
11 กันยายน - อาจารย์ที่ปรึกษากลุ่มยืนยันเซ็นรับรองแล้ว ไม่เห็นด้วย มธ.ปิดรั้ว
 
15.00 น. แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมตั้งโต๊ะแถลงข่าวตอบโต้ต่อประกาศของมหาวิทยาลัยที่จะไม่ให้ใช้สถานที่โดยให้เหตุผลว่าแนวร่วมฯ ไม่ได้ปฏิบัติตามแนวทางที่มหาวิทยาลัยประกาศไว้ก่อนหน้ารวมถึงหนังสือขออนุญาตจัดชุมนุมที่ส่งมาก่อนหน้าไม่เข้าเงื่อนไขให้จัดชุมนุมได้ อย่างไรก็ตาม ผู้จัดกิจกรรมตั้งใจเดินหน้าจัดการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เหมือนเดิม ไม่มีเปลี่ยนแปลง และจะต้องปราศรัยเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 
 
ในวันแถลงข่าวปนัสยายังได้วางพวงหรีดเพื่อแสดงความอาลัยต่อจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ที่บริเวณอนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ ปนัสยาระบุว่า จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ หมายถึงการต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ความดีงาม และเพื่อประธิปไตย ดังนั้นการที่ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิบารบดีมีนโยบายไม่ให้จัดชุมนุมจึงเท่ากับการผลักนักศึกษาออกไปชุมนุมภายนอกมหาวิทยาลัยและต้องเผชิญกับอันตราย 
 
ปนัสยาระบุว่า การจัดชุมนุมในพื้นที่มหาวิทยาลัยครั้งนี้มี รศ.ดร. อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เป็นผู้ลงนามรับรอง และมีการทำหนังสือถึงมหาวิทยาลัยเพื่อแจ้งขอใช้สถานที่ แจ้งรายชื่อผู้ปราศัย รวมถึงแจ้งเนื้อหาการปราศรัยแล้ว แต่ไม่เคยได้รับเชิญจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยเพื่อร่วมพูดคุยเลยสักครั้ง 
 
ด้าน รศ.ดร. อนุสรณ์ อุณโณ ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษากลุ่มนี้โพสต์เฟซบุ๊ก ว่าไม่เห็นด้วยกับการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่อนุญาตให้กลุ่มแนวนร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุนใช้สถานที่และขอให้ทุกฝ่ายหาทางออกร่วมกัน เพราะไม่อยากเห็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยและมาเสียใจกันในภายหลัง
 
อนุสรณ์ตั้งคำถามต่อประกาศดังกล่าวของ มธ. ว่า 
 
1.ข่าวประชาสัมพันธ์ให้เหตุผลแต่เพียงกว้างๆ ไม่ได้ระบุอย่างจำเพาะเจาะจงว่าการขออนุญาตไม่ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขข้อใด ผู้จัดชี้แจงครบเกณฑ์ทุกข้อ จะขาดแต่เพียงข้อการตกลงร่วมกัน 3 ฝ่ายซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ไม่สามารถดำเนินการได้หากว่ากลุ่มยังไม่ได้รับอนุญาตให้จัดการชุมนุมเสียก่อน
 
2. มหาวิทยาลัยไม่ได้สอบถามหรือขอข้อมูลเพิ่มเติมจากกลุ่มรวมถึงอาจารย์ที่ปรึกษาก่อนจะมีมติและแจ้งผลผ่านข่าวประชาสัมพันธ์ ซึ่งถือว่าเป็นการดำเนินการที่ค่อนข้างจะรวบรัดตัดความ ไม่ได้วางอยู่บนท่าทีที่จะอำนวยความสะดวกหรือประสานความร่วมมือกัน เว้นเสียแต่ว่าจะมองอีกฝ่ายเป็น “คนอื่น” “คนไกล” หรือมีมติที่จะปฏิเสธอยู่ก่อนแล้ว  
 
3. การปฏิเสธดังกล่าวสร้างเงื่อนไขการเผชิญหน้าแตั้งแต่ยังไม่มีการชุมนุม หากประเมินจากจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมครั้งล่าสุดบวกกับกระแสการจะเข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้ซึ่งมีจำนวนมาก ก็เป็นไปได้สูงที่จะมีการกระทบกระทั่งบานปลายหากมีการปิดมหาวิทยาลัยหรือใช้กำลังเจ้าหน้าที่ขัดขวาง 
 
 
12 กันยายน - มธ.ท่าพระจันทร์ เปลี่ยนไปเรียนออนไลน์ ในวันที่ 19-20 ก.ย.
 
นักศึกษาปริญญาโทของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับแจ้งว่ารายวิชา TU005 ภาษาอังกฤษเบื้องต้น ที่ปกติแล้วจะสอนในวันเสาร์และอาทิตย์ ในวันที่ 19-20 กันยายนนี้จะเปลี่ยนจากการสอนในห้องเรียนมาเป็นการสอนออนไลน์แทน โดยแจ้งว่าเป็นนโยบายเรื่องความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
 
 
13 กันยายน - เจ้าหน้าที่บุกบ้านแกนนำกลุ่มอื่น, ตั้งกลุ่ม “ประชาชนคนไทย” 
 
มีเจ้าหน้าที่ทั้งใน และนอกเครื่องแบบเดินทางไปยังที่พักของ กัญจน์ ทัตติยกุล หนึ่งในเครือข่ายเพื่อนตะวันออก ผู้ทำงานขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เพื่อสอบถามว่าจะเดินทางไปร่วมชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 หรือไม่ 
 
ในวันเดียวกัน กลุ่มประชาชนคนไทยเข้ายื่นหนังสือต่อผู้จัดการมูลนิธิ 14 ตุลา เพื่อขอใช้สถานที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัวประชุมก่อตั้งกลุ่มประชาชนคนไทย และเตรียมแถลงข่าวในวันที่ 14 ก.ย.นำโดยพิชิต ไชยมงคล อดีตแกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) หนังสือระบุว่า 
 
“ตามสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเกิดการแสดงออกทางการเมืองหลายกลุ่ม และมีการเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่มตามแนวทางของตน แต่ปรากฏข้อเท็จจริงตามสื่อว่ามีประเด็นข้อสงสัยในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของบางกลุ่มว่ามีต่างชาติเข้ามาให้การสนับสนุน เกรงว่าการสนับสนุนดังกล่าวจะนำไปสู่ความุรนแรงและจะก่อความเสียดายให้กับประเทศชาติและประชาชนไทย จากการประชุมกันหลายภาคส่วน จึงได้ก่อกำเนิดกลุ่มบุคคลผู้ห่วงใยประเทศชาติบ้านเมืองรวมตัวกันในนาม “กลุ่มประชาชนคนไทย” เพื่อร่วมกันแสดงออกถึงความห่วงใยประชาชนประเทศชาติไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ความรุนแรงในหมู่คนไทย และร่วมแสวงหาความร่วมมือเพื่อนำพาประเทศชาติไปสู่สังคมสงบสุข” 
 
 
14 กันยายน - ตร.ใช้ 2 กองร้อยดูแลทำเนียบ - สื่อออกแถลงการณ์ แจกปลอกแขน
 
สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แถลงผลสำรวจซูเปอร์โพลระบุว่าประชาชนยังเชื่อมั่นต่อการทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนการชุมนุมของนักศึกษาเป็นเพียงคนกลุ่มหนึ่งที่มีความเห็นต่างทางการเมือง แต่เชื่อว่าประชาชน 80-90% ยังคิดเรื่องการค้าขาย ปากท้อง การจ้างงานมากกว่าและไม่น่าเห็นด้วยกับการชุมนุม
 
ด้านรายงานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติชี้แจงสื่อมวลชนว่า กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมยังไม่ได้เข้าแจ้งการชุมนุม 19 กันยายน ส่วนตำรวจอยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์ทางการข่าวและจะใช้กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เป็นศูนย์หลักอาจใช้เพียง 2 กองร้อย จะตั้งจุดสกัดในคืนวันที่ 19 กันยานเพื่อระวังเหตุร้ายและรักษาความปลอดภัย หากกำลังตำรวจไม่พอก็จะขอรับการสนับสนุนเจ้าหน้าที่จากเขตปริมณฑล บช.น. ย้ำว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้เตรียมสลายการชุมนุม
 
พ.ต.อ.วัชรวีร์ ธรรมเสมา ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 3 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลให้สัมภาษณ์ว่า ตำรวจได้จัดเตรียมกำลังตำรวจสันติบาล 3 กับสันติบาลทำเนียบฯ รวม 2 กองร้อย หรือ 300 นายเพื่อดูแลภายในทำเนียบฯ โดยเฉพาะตึกไทยคู่ฟ้า และตึกบัญชาการ 1 ซึ่งถือเป็นเขตหวงห้ามเด็ดขาดซึ่งจะดูแลความเรียบร้อยตลอด 24 ชม.ตั้งแต่วันที่ 19-20 ก.ย. ส่วนภายนอกรั้วทำเนียบ ฯ จะอยู่ในการดูแลของกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกำชับเป็นพิเศษว่าไม่อยากให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาบริเวณรอบทำเนียบ ซึ่งตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดว่าต้องมีระยะห่างจากทำเนียบ 50 เมตรหรืออยู่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ และได้แจ้งกำลังพลว่า หากมีผู้ชุมนุมพยายามบุกรุกเข้ามาในทำเนียบ เบื้องต้นให้เจรจาก่อนแล้วจึงใช้มาตรการขั้นต่อไป
 
พล.ต.ต.สมประสงค์ เย็นท้วม รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวถึงการใช้พื้นที่สนามหลวงว่า พื้นที่ดังกล่าวมีการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตั้งปี 2555 หากเข้ามาใช้พื้นที่อาจถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายได้ รวมถึงการเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล หากมีการบุกรุกสถานที่ก็ผิดกฎหมายเช่นกัน
 
ด้าน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ออกแถลงการณ์ร่วมเรื่อง การรายงานข่าวในสถานการณ์การชุมนุม มีรายละเอียดสรุปว่า 6 องค์กรวิชาชีพมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ โดยได้รับการสะท้อนปัญหาจากสื่อมวลชนผู้ปฏิบัติหน้าที่ภาคสนาม จึงมีข้อเรียกร้องต่อทุกฝ่าย พร้อมทั้งจัดตั้ง ‘ศูนย์ประสานงานสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุม’ (ศปสช.) ทำหน้าที่ประสานงานด้านการรักษาความปลอดภัยและด้านอื่นๆ ที่จำเป็นและจัดทำ “ปลอกแขนสัญลักษณ์” ให้สื่อที่ลงสนาม
 
1.ขอให้ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่สื่อในพื้นที่
2.ขอให้สื่อยึดมั่นในหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เปิดพื้นที่ให้การรายงานข่าวทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม 
3.ขอให้กองบรรณาธิการของสำนักข่าวดูแลสวัสดิภาพและสวัสดิการที่เหมาะสม 
 
 
15 กันยายน - แก้วสรรคัดค้านเปิดรั้ว มธ. ส่วนนักเขียนเรียกร้องให้เปิดรั้ว
 
แก้วสรร อติโพธิ และศิษย์เก่า มธ.กว่า 30 คนในนามกลุ่มประชาคมธรรมศาสตร์ยื่นหนังสือคัดค้านการเปิดพื้นที่มหาวิทยาลัยให้กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พร้อมแนบรายชื่อศิษย์เก่า 2,966 รายชื่อให้แก่อธิการบดี
 
แก้วสรรยังแถลงสนับสนุนอธิการบดีที่ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ มธ.เพราะการใช้เสรีภาพในการชุมนุมครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิที่ยอมรับไม่ได้ เพราะเป็นการเคลื่อนไหวสร้างความเปลี่ยนแปลงให้บ้านเมืองโดยไม่รับผิดชอบ ไม่เคารพสิทธิของผู้อื่น ตลอดสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่นำไปสู่ความจงเกลียดจงชังและปลุกปั่นให้คนไทยแตกหัก อย่างไรก็ตาม อธิการบดีไม่ได้ลงมารับหนังสือโดยให้เหตุผลว่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติ 
 
ด้านเฟซบุ๊กแฟนเพจสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ แชร์โพสต์ของคนรุ่นใหม่คนหนึ่ง ระบุที่มาจากสำนักประชาสัมพันธ์เขต 1 กรมประชาสัมพันธ์ (เครดิตต่อ อัษฎางค์ ยมนาค) ว่า “ผมเป็นเด็กรุ่นใหม่อายุ 19 ปี ที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันเบื้องสูงด้วยใจที่ล้นเปี่ยม ไม่ได้รักเพียงเพราะครูสอนหรือที่บ้านสอนให้รัก แต่รักและภักดีจากการที่ได้สัมได้ด้วยตัวเอง” นอกจากนั้นยังมีข้อความประกอบรูปภาพที่เล่าเรื่องถึงประสบการณ์ที่คนรุ่นใหม่ดังกล่าวมีต่อสถาบันกษัตริย์ 
 
ด้านศูนย์ประสานงานนักศึกษาอาชีวะประชาชนปกป้องสถาบันพระกษัตริย์ (ศอปส.) ประกาศนัดรวมพลแสดงพลังปกป้องสถาบันกษัตริย์วันที่ 17 กันยายนหน้าสมาคมชาวปักษ์ใต้ ถ.กาญจนาภิเษก พร้อมแจงแผนจะเดินไปปักหลักชุมนุมด้วยที่หน้าบริษัท ไทยซัมมิท ทาวเวอร์ ถ.เพชรบุรี และหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ถ.วิทยุ และจะมีการชุมนุมย่อยระหว่างวันที่ 16-18 กันยายน 
 
ในวันเดียวกัน เวลา 14.00 น. กลุ่มนักเขียน บรรณาธิการ ศิลปิน สื่อมวลชน และประชาชนผู้เชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตย นำโดย Way Magazine เดินทางไปอ่านแถลงการณ์ที่ลานปรีดี พนมยงค์ และยื่นรายชื่อ 1,964 รายแนบให้แก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยแถลงการณ์มีเนื้อหาสรุปความได้ว่า
 
1.ยืนยันว่าข้อเรียกร้องทางการเมือง 3 ข้อ ได้แก่ หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยุบสภา และความฝันในการอยู่ร่วมกับสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงความเคลื่อนไหวให้ปฏิรูประบบการศึกษา ทั้งหมดนี้ไม่ได้มีเนื้อหาส่วนใดละเมิดกฎหมาย ขอเรียกร้องให้รัฐและผู้เห็นต่างโต้แย้งด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริง เหตุผล และหยุดละเมิดเยาวชน 2.ขอเรียกร้องให้คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พิจารณาทบทวนเปิดพื้นที่ให้เยาวชนและประชาชน แทนการปิดกั้นผลักไสให้ออกไปรับความเสี่ยงนอกรั้วมหาวิทยาลัย 3.เรียกร้องสื่อมวลชนและขอความร่วมมือจากผู้สนใจติดตามข่าวสารช่วยกันตรวจสอบข้อมูลหลักฐาน ร่วมกันยับยั้งแก้ไขข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ 
 
ด้านเอกชัย หงส์กังวาน เดินทางไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมารับมอบหนังสือเพื่อขอให้เปลี่ยนสนามหลวงเป็นสวนสาธารณะ เอกชัยร้องให้รัฐบาลถอนสนามหลวงออกจากเป็น “โบราณสถาน” เนื่องจากเป็นเพียงแค่ที่โล่งกว้าง ไม่เข้านิยามตาม พ.ร.บ.โบราณสถานณ และเรียกร้องให้เปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าใช้ได้โดยทั่วไป
 
ด้านคณะผู้รักสถาบันพระมหากษัตริย์และทำหน้าที่ปกป้องสถาบันมหากษัตริย์ นำโดยชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย สมาคมนักปกครองแห่งประเทศไทย และชมรมชาวปักษ์ใต้ รวมตัวกันที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อชี้แจงจุดยืนการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ในสถานการณ์ปัจจุบัน ระบุว่าไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งกับกลุ่มของนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหว​ทางการเมือง เพราะมองว่าเป็นสิทธิ​และเสรีภาพในการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย​ และจะวิพากษ์วิจารณ์​พรรคการเมือง​ใดก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่สิ่งที่ทางเครือข่ายฯ ​ยอมไม่ได้คือการพาดพิงสถาบัน โดยมี สุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี มารับข้อชี้เเจง
 
 
16 กันยายน - เจ้าของรถห้องน้ำขอยกเลิก, ศาล รธน.รับวินิจฉัยชุมนุม 10 ส.ค.ล้มล้างการปกครองหรือไม่
 
เฟซบุ๊กแฟนเพจไทยภักดี ประเทศไทย แถลงความคืบหน้าการรวบรวมรายชื่อผู้คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญว่าใช้เวลาเพียง 5 วันสามารถรวมรายชื่อได้ถึง 172,589 ราย ก่อนประกาศเชิญชวนให้ประชาชนผู้สนใจร่วมเดินทางไปยื่นรายชื่อผู้คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อประธานวุฒิสภาที่รัฐสภา ในวันที่ 23 กันยายน เวลา 9.00 น. ขณะที่ไอลอว์ซึ่งเป็นองค์กรรวบรวมรายชื่อประชาชนที่ต้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ตามช่องทางที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ นัดหมายจะยื่น 70,000 กว่ารายชื่อต่อรัฐสภา ในวันที่ 22 กันยายน เวลา 14.00 น.
 
ด้านห้องสมุดทุกแห่งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาท่าพระจันทร์ ประกาศปิดให้บริการในวันที่ 19 - 20 กันยายน โดยให้เหตุผลว่าในวันดังกล่าวไม่มีการจัดการเรียนการสอนในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย
 
ด้านเฟซบุ๊กปกรณ์ พรชีวางกูร โพสต์รายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปพูดคุยกับเจ้าของรถห้องน้ำ 2 เจ้า ที่ตนเคยใช้บริการในงานชุมนุม พร้อมระบุว่าตนไม่ได้ขอรถห้องน้ำทั้ง 2 เจ้ามาฟรีแต่เสียเงินให้ และผู้ให้บริการรถห้องน้ำไม่ได้รู้เรื่องใดเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ 
 
ด้านเฟซบุ๊กสื่อเถื่อนโดย รัชพงศ์ แกดำ โพสต์ข้อความไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาใช้พื้นที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาระบุว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาขอใช้พื้นที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เพื่อพักค้างคืนระหว่างวันที่ 18-21 กันยายน ธัชพงศ์อธิบายต่อไปว่าตนได้ติดต่อขอใช้พื้นที่อนุสรณ์สถานณ์ก่อนแล้วในวันดังกล่าวจึงไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม ใช้สถานที่ร่วมด้วยเพราะเกรงจะไม่สะดวก 
 
ด้านเฟซบุ๊ก หนึ่ง รูปหล่อ โพสต์ข้อความว่า มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 4-5 คน เดินทางไปยังที่พักของ อาทิตย์ ขวัญยืน นักกิจกรรมประชาธิปไตย จังหวัดแพร่ เพื่อสอบถามว่าอาทิตย์จะเดินทางไปร่วมชุมนุมในวันที่ 19 กันยายนด้วยหรือไม่ การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่เป็นการคุกคามประชาชนเพียงเพราะเขาใช้เสรีภาพในการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย 
 
ด้านศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัย อานนท์ นำภา, ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก และ รุ้ง- ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ว่าการจัดชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ หลัง ณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 49 วรรค 2 ไปตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2563 
 
 
16 กันยายน - สนามหลวงติดป้ายใหม่ เวลาเปิด-ปิด
 
ขณะเดียวกัน มีรายงานจากผู้สัญจรไปมาว่าป้ายเขตพระราชฐานได้ถูกปลดออกจากสนามหลวงแล้ว ต่อมาสุรเดช อำนวยสาร ผู้อำนวยการเขตพระนคร เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่าตนไม่ทราบข้อเท็จจริงเรื่องการปลดป้ายเขตพระราชฐานออก แต่เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมานั้น สำนักงานเขตพระนครในฐานะผู้รับผิดชอบพื้นที่ได้ให้เจ้าหน้าที่นำป้ายอนุญาตการเข้าใช้พื้นที่ของประชาชน ตั้งแต่เวลา 05.00 - 22.00 น. เข้าไปติดประกาศในพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นการดำเนินตามประกาศของกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2555 ที่อนุญาตให้ประชาชนเข้าไปออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ หรือทำกิจกรรมสันทนาการได้อยู่แล้ว 
 
อย่างไรก็ตาม จากการสังเกตการณ์พบว่าในวันที่ 17 กันยายน เวลาประมาณ 17.00 น. ยังคงมีป้ายเขตพระราชฐานติดอยู่ที่บริเวณข้างสนามหลวง แต่ก็ได้เปิดพื้นที่เพื่อให้ประชาชนเข้าไปทำกิจกรรมด้านในได้ตามที่ผู้อำนวยการเขตพระนครกล่าวไว้ 
 
ด้านกลุ่ม เพชรบุรี-ราชบุรี รวมใจ ปกป้องสถาบันฯ ออกใบปลิวแจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่เพื่อขอความร่วมมือผู้ปกครองช่วยกันดูแลบุตรหลาน-นักเรียน ไม่ให้เดินทางไปร่วมการชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน โดยให้เหตุผลว่าอาจนำไปสู่อันตรายกับผู้ร่วมชุมนุมได้ จึงขอให้ผู้ปกครองช่วยกันกวดขันดูแลบุตรหลานให้อยู่ในสายตาอย่างปลอดภัย
 
ด้านเครือข่ายกองทัพธรรมปฏิวัติสังคมนิยม วิถีพุทธ เพื่อประชาธิปไตย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง (คกธปสวพปชต) ออกแถลงการณ์อวยพรแก่มหาชนให้มีชัยชนะอันสิริในการชุมนุมวันที่ 19 กันยายนนี้ โดยลงท้ายแถลงการณ์ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นความไม่เป็นธรรม ผู้นั้นพวกเรา จบแถลงการณ์ เจริญพร” 
 
ด้านประชาไทรายได้ว่าได้รับแจ้งจากนักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยไทบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาที่ ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา สังกัดอยู่ ให้ข้อมูลพร้อมทั้งภาพถ่ายและคลิปวิดีโอว่ามีรถมิตซูบิชิสีแดง ไม่ได้ติดป้ายทะเบียนทั้งด้านหน้าและด้านหลังขับมาจอดที่บ้านซึ่งไผ่ จตุภัทร์ และเพื่อนๆ นักกิจกรรมได้เช่าไว้เป็นที่พัก โดยรถได้มาจอดตั้งแต่เวลาประมาณ 14.00 - 18.30 น. โดยไม่ได้ดับเครื่อง และได้มีชายอายุประมาณ 30 ปี ผมสั้นเกรียน 1 คน และผมยาว 1 คน ได้ลงมานั่งดื่มน้ำที่ร้านอาหารข้างๆ บ้าน ทั้งนี้ ตัวแทนกลุ่มประชาธิปไตยไทบ้านมั่นใจว่า การคุกคามที่เกิดขึ้นมาจากกิจกรรม "มีหมายที่ไหน มีม็อบที่นั่น กินก้อยหน้าโรงพัก" ที่ได้จัดขึ้นที่หน้า สภ.เมืองขอนแก่น เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา 
 
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับดูแลศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (พีม็อก) ทั้งหมด โดยจัดให้มีการมอนิเตอร์สถานการณ์และบรรยากาศการชุมนุมใันวันที่ 19 - 20 กันยายนตลอด 24 ชม. ไม่เพียงเท่านั้น ผู้สื่อข่าวจากทำเนียบรัฐบาลยังรายงานว่า ทำเนียบรัฐบาลเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ชุมนุมใหญ่ โดยตั้งแต่วันที่ 17 กันยายนจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลเข้าประจำการในทำเนียบรัฐบาลจำนวน 3 กองร้อย และขณะนี้่มีการติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่มเติมบริเวณทำเนียบและตามตึกสูงโดยรอบ รวมถึงติดตั้งเครื่องปั่นไฟสำรองจำนวน 3 คันเผื่อกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน 
 
ด้านคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกประกาศงดการเรียนการสอน และงดติดต่อในวันที่ 19-20 กันยายน โดยเนื้อความระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าขอความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้งดการจัดการเรียนการสอนและงดการติดต่อในวันที่จะมีการชุมนุมใหญ่ และให้มหาวิทยาลัยปิดประตูรั้วเข้า-ออกทางฝั่งสนามหลวง ซึ่งติดกันกับคณะนิติศาสตร์ โดยให้เข้า-ออกได้เพียงประตูเดียวคือประตูฝั่งถนนพระอาทิตย์ และให้ทุกคนที่จะเดินทางผ่านต้องแสดงบัตรประจำตัวที่ราชการออกให้เพื่อระบุตัวตน 
 
ต่อมา มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก ชี้แจงต่อกรณีดังกล่าว ระบุว่า “บันทึกดังกล่าวเป็นเพียงการแจ้งให้ทราบถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และของคณะนิติศาสตร์เท่านั้น จากการที่ผมได้เข้าร่วมประชุมกับอธิการบดี ผู้บริหารมหาวิทยาลัยและผู้บริหารของคณะต่าง ๆ เพื่อหารือแนวทางในการดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ชุมนุมและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ขอยืนยันว่า แม้มหาวิทยาลัยจะยังไม่ได้อนุญาตให้นักศึกษาจัดการชุมนุม เนื่องจากยังไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่มหาวิทยาลัยเคยประกาศไว้ก่อนหน้า แต่อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่เคยมีนโยบายหรือความประสงค์ที่จะขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพภายใต้กฎหมายของนักศึกษาหรือบุคคลใดทั้งสิ้น การกำหนดมาตรการความปลอดภัยทั้งหลาย ก็เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าผู้ชุมนุมและบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่อยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงเวลาดังกล่าวจะได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ในส่วนของคณะนิติศาสตร์ การปิดอาคารเรียนและที่ทำการของคณะนิติศาสตร์ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลเข้าไปภายในอาคารโดยเฉพาะบริเวณที่สูงเพื่อก่ออันตรายหรือสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทางราชการ คณะนิติศาสตร์ยังคงเปิดพื้นที่ด้านล่างโดยเฉพาะห้องสุขาตามปกติ”
 
 
17 กันยายน - เจ้าหน้าที่บุกบ้านไผ่ ดาวดิน, ประยุทธ์ชี้เคารพทุกความเห็นแต่ขอให้โควิดหมดก่อนค่อยชุมนุม
 
พันธมิตรนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยประกาศชวนประชาชนรวมตัวกันที่สวนลุมพินี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ พร้อมระบุเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ของเยาวชนช่วยชาติและแนวร่วมหลายเครือข่าย จึงขอเชิญชวนพี่น้องมวลชนที่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ร่วมสู้ปักหลักแบบไม่ได้กำหนดเวลาเลิกพร้อมกันในเวลา 08.00 น. เป็นต้นไป ก่อนย้ำ “ปกป้องคนดี ปกป้องบ้านเมือง ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ #ประชาธิปไตยจอมปลอมจงพินาศ #ประเทศชาติจงเจริญ” 
 
ด้านกลุ่มประชาชนในนามศูนย์กลางประสานงานนักศึกษา อาชีวะ ประชาชน ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (ศอปส.) เดินทางด้วยรถยนต์มาชุมนุมบริเวณหน้าตึกไทยซัมมิท ถ.เพชรบุรี เพื่อประท้วงขับไล่และปราศรัยโจมตีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้าว่าอยู่เบื้องหลังการชุมนุมของนักศึกษาคณะประชาชนปลดแอก และมีความคิดล้มล้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุท ก่อนตะโกนขับไล่ธนาธรออกจากประเทศไทย นอกจากนั้นยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมเดียวกันแยกตัวไปประท้วงที่หน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกาโดยให้เหตุผลว่าประเทศดังกล่าวกำลังเป็นท่อน้ำเลี้ยงบสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาและกลุ่มผู้รักประชาธิปไตยหลายกลุ่มในขณะนี้
 
ด้านหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศผ่านเฟซบุ๊ก Thammasat University Library ว่า  ในวันที่ 18 กันยายน ห้องสมุดสาขาทุกแห่งในศูนย์ท่าพระจันทร์จะปิดให้บริการภายในเวลา 20.00 น. โดยไม่มีการแจ้งเหตุผลที่ทำให้ห้องสมุดต้องปิดเร็วจากปกติที่จะปิดเวลา 21.00 น. 
 
ขณะเดียวกัน มีการเผยแพร่เอกสารผ่านโซเชียลมีเดียโดยบุคลากรในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า ในวันที่ 18 กันยายน ให้ทุกหน่วยงานในศูนย์ท่าพระจันทร์ 1. ให้บุคลากรทุกหน่วยงานออกนอกพื้นที่ของมหาวิทยาลัยก่อนเวลา 20.00 น. 2. ไม่อนุญาตให้นำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ส่วนตัวมาจอดค้างคืนในพื้นที่มหาวิทยาลัย 3. หากมีเหตุฉุกเฉินด้านรักษาความปลอดภัย สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 123, 3000 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมงในพื้นที่ท่าพระจันทร์ 
 
ด้านกลุ่มดาวดิน สามัญชนรายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกบ้านจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน โดยเวลา 12.40 น. จตุภัทร์พยายามถามความชัดเจนจากเจ้าหน้าที่ว่าหมายค้นที่ออกโดยศาลจังหวัดขอนแก่นนี้เป็นหมายค้นเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานจากคดีใด แต่ตำรวจไม่สามารถตอบได้ในทันทีจึงทำให้เกิดการโต้เถียงกัน ขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามยึดป้ายผ้ารณรงค์ของกลุ่มดาวดินที่เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่เคยใช้ในการชุมนุมก่อนหน้า ไผ่ไม่ยินยอมให้ยึดป้ายด้วยความไม่ชัดเจนของตำรวจ และต้องการให้เจ้าหน้าที่แจกแจงว่าป้ายใดที่ต้องการยึดไปประกอบการสอบสวนไม่ใช่ยึดรวมทั้งหมด สุดท้ายไผ่ไม่ยอมลงชื่อในบันทึกการค้น ระบุไม่ยอมรับกระบวนการที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเดินทางออกบ้านไผ่ในที่สุด 
 
ด้าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกแถลงการณ์ห่วงชุมนุมเสี่ยงโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ จนอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ยืนยันเคารพความคิดเห็นและความไม่พอใจทางการเมือง รวมถึงความต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่อยากให้ทุกกลุ่มอดทนให้ให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสนี้ไปก่อน นายกชี้ “ผมขอบอกทุกคนที่อยากจะออกมาชุมนุม ชัดๆ ว่า ผมได้ยินสิ่งที่ท่านพูด ผมรับทราบความคับข้องใจของพวกท่านในเรื่องการเมือง และความไม่พอใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ผมเคารพความคิดเห็น และความรู้สึกของท่าน แต่วันนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความเจ็บปวดเร่งด่วน ที่เราจำเป็นต้องจัดการก่อน นั่นคือการบรรเทาความเสียหายทางเศรษฐกิจที่โควิด-19 ได้ก่อให้เกิดขึ้นไปทั่วโลก เราไม่ควรทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งไปกว่านี้”  
 
Article type: