1958 1300 1873 1108 1519 1995 1169 1910 1767 1546 1458 1422 1531 1947 1824 1216 1727 1473 1485 1259 1453 1719 1221 1206 1852 1660 1731 1821 1298 1235 1342 1903 1969 1668 1958 1458 1181 1033 1807 1390 1992 1969 1132 1984 1556 1552 1671 1967 1832 1093 1561 1200 1730 1144 1473 1193 1584 1187 1951 1146 1389 1404 1153 1699 1004 1774 1344 1307 1206 1609 1986 1144 1965 1284 1501 1421 1129 1950 1195 1266 1440 1765 1014 1858 1524 1900 1269 1077 1375 1148 1793 1767 1395 1203 1363 1790 1511 1587 1627 Reflection from Prison: การเข้าคุกรอบ 2 ของ ‘กุ๊ก’ บัณฑิตนิติศาสตร์ผู้ใช้สิทธิแสดงออกทางการเมือง | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

Reflection from Prison: การเข้าคุกรอบ 2 ของ ‘กุ๊ก’ บัณฑิตนิติศาสตร์ผู้ใช้สิทธิแสดงออกทางการเมือง

“มันกดดันกว่าครั้งแรก เราถูกกักตัวตามมาตรการควบคุมโควิด19 ต้องอยู่ในห้องขังเกือบตลอด 24 ชั่วโมง..ผมอยากตั้งคำถามถึงมาตรการควบคุมโรคของเรือนจำว่ามีประโยชน์จริงหรือ มีผู้ต้องขังใหม่เข้ามาทุกวัน เวลานอนก็นอนเบียดกัน ไม่มีรักษาระยะห่าง ในห้องมีเกือบ 30 คน มีช้อนกินข้าว 10 กว่าคัน ต้องเวียนใช้"
 

การเข้าคุกรอบ 2 ของ ‘กุ๊ก’ บัณฑิตนิติศาสตร์ผู้ใช้สิทธิแสดงออกทางการเมือง

1594

ความในใจของกุ๊ก หนึ่งในผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯจากการร่วมการชุมนุมคณะราษฎรอีสานเมื่อ 13 ตุลาคม 2563
 
"วันนั้น (13 ตุลาคม 2563) ผมกับน้องๆ ในเครือข่าย (เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย) ตั้งใจจะไปช่วยเตรียมงานเตรียมกิจกรรมการชุมนุมล่วงหน้าก่อนวันชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 ตุลาคม"
 
"ผมต้องยืนยันก่อนว่าการชุมนุมเป็นการทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ระบุว่าการชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่สามารถทำได้โดยปราศจากอาวุธ ซึ่งเราก็ไปชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยโดยไม่มีอาวุธ"
 
"ตอนที่ตำรวจเข้ามาคุยกับเราก่อนสลายการชุมนุม เรายืนยันว่าเราสามารถมาอยู่ในพื้นที่ตรงนี้ได้ (จุดตั้งเต็นนท์ใกล้แม็คโดนัลด์ราชดำเนิน) แต่ไม่รู้ว่าเพราะอะไร ตำรวจถึงทำแบบนั้นกับเรา ผมมองว่ามันไม่ถูกกฎหมายและไม่ชอบธรรม และต้องยืนยันว่าความรุนแรงวันนั้นทั้งหมดมาจากฝั่งตำรวจที่ใช้กำลังสลายการชุมนุมโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนเลยแม้แต่น้อย"
 
"ก่อนหน้าที่จะถูกจับ ผมอยู่ด้านล่างของรถเครื่องเสียง พอเห็นตำรวจบีบวงล้อมเข้ามา ผมก็ขึ้นไปบนรถเครื่องเสียงเพราะตอนนั้นไผ่ (จตุภัทร์) อยู่คนเดียว หลังจากผมขึ้นไปบนรถเครื่องเสียงไม่นานตำรวจก็จับไผ่แล้วก็ลากผมไปด้วย จำได้ว่าตำรวจคนหนึ่งจับคอผม ส่วนอีกสองคนหามปีกสองข้างแล้วลากผมไปขึ้นรถ ผมพยายามถามเจ้าหน้าที่ว่าจับผมทำไม ข้อหาอะไร ดูเหมือนเขาจะอารมณ์หลุดเพราะขึ้นมึงขึ้นกู ‘กูบอกให้พวกมึงหยุด พวกมึงอย่าโวยวาย’ อะไรแบบนี้ ผมพยามถามว่าพี่จะพาพวกผมไปไหน เขาก็ตอบแค่ว่า ‘พวกมึงเข้าไปข้างในรถเลย’ ความจริงมันเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ที่จะจับเราแล้วไม่บอกว่าจะพาไปไหน ข้อหาก็ไม่บอก พอขึ้นมาบนรถก็ใส่กุญแจมือน้องบางคน มีสองคนถูกใส่กุญแจเหล็ก คนอื่นๆ เป็นสายรัดพลาสติก แต่มันก็แน่นอยู่"
 
"ถ้าถามว่าตอนอยู่บนรถผมกลัวไหม ยอมรับว่ากลัว จะพาเราไปไหน แต่อีกใจหนึ่งก็บอกตัวเองว่า เราสู้มาขนาดนี้แล้ว และที่สำคัญในตอนนั้นมีน้องๆ ที่อยู่ปีหนึ่งหลายคน ผมอายุเยอะกว่าน้อง ทั้งผมทั้งไผ่และคนอื่นๆที่อายุเยอะเป็นรุ่นพี่ก็ต้องพยายามดูแลน้องๆ
 
"พอไปถึงที่ตชด. (กองบังคับการตชด.ภาค 1 ปทุมธานี) พวกเราพยายามถามตำรวจที่ดูมียศใหญ่ว่าจับเรามาข้อหาอะไร เขาบอกไม่ทราบ แม้เราจะอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่อย่างเบ็ดเสร็จ แต่เขาก็ยังไม่ถอดกุญแจมือให้ ระหว่างนั้นไผ่จะไปถ่ายหนัก ตำรวจก็ยังไม่ยอมถอดที่รัดข้อมือออกให้ แล้วก็มีตำรวจผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่าต้องทำความสะอาดก้นทั้งแบบนั้น ประมาณสองโมงเช้าเขาถึงมาถอดพันธนาการมือให้พวกเรา ต่อมามีพลตำรวจโทคนหนึ่งเข้ามา น่าจะเป็นระดับผู้บังคับบัญชา เราก็พยายามถามว่าจับพวกเรามาข้อหาอะไร และเราขอพบทนายซึ่งตอนนั้นพี่ๆ จากศูนย์ทนายสิทธิฯ มาถึงแล้ว แต่ก็ไม่มีคำตอบ พี่ทนายมาถึงตั้งแต่ประมาณห้าหกโมงเย็นแล้ว แต่ตำรวจไม่ยอมให้เราพบทนายหรือญาติ เราต้องรอถึงประมาณห้าทุ่มจึงได้พบทนาย และกว่าที่ตำรวจจะแจ้งข้อหา สอบสวนพวกเราก็หลังเที่ยงคืนไปแล้ว"
 
"เราถูกควบคุมตัวที่ตชด.หนึ่งคืนและถูกสอบสวนช่วงกลางดึก เช้าวันรุ่งขึ้นเจ้าหน้าที่ก็พาเราไปที่ศาลแขวงดุสิตทำการฝากขัง ในห้องพิจารณาคดีที่เราถูกเอาตัวมาไต่สวนคัดค้านการฝากขัง มีส.ส.พรรคก้าวไกลมารอใช้ตำแหน่งประกันตัวให้พวกเรา ในฐานะที่ผมเรียนจบกฎหมาย ต้องบอกว่าคดีของเรามีแต่เรื่องผิดคาด ความผิดที่เราถูกกล่าวหามันเป็นความผิดที่โทษไม่สูง คือ จำคุกไม่เกินสองปี ไม่มีความจำเป็นต้องฝากขัง และทนายเองก็บอกว่าสุดท้ายแล้วพวกเราน่าจะได้รับการประกันตัว ตอนที่ศาลเสร็จสิ้นกระบวนการไต่สวนแล้วอนุญาตให้ฝากขังพวกเรา เจ้าหน้าที่ศาลบอกว่าให้รีบทำเรื่องประกันตัวเลยเดี๋ยวจะดึก เจ้าหน้าที่ศาลรีบทำเรื่องการประกันตัวให้เรา แต่สุดท้ายพอแจ้งว่าพวกเราไม่ได้ประกันตัว ตอนนั้นยอมรับว่าช็อค น้องที่อยู่ปีหนึ่งก็ตกใจเพราะพ่อแม่ยังไม่รู้ ผมเองก็ไม่นึกว่าศาลจะลงโทษด้วยการฝากขังแบบนี้"
 
"ตอนที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีมีจังหวะที่ศาลเดินออกไป บางทีก็หายไปพักใหญ่ แต่ก็บอกไม่ได้ว่าที่ศาลออกไปจะเกี่ยวกับการพิจารณาคดีของพวกเราหรือไม่"
 
"การเข้าเรือนจำครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สองในชีวิตผม ผมเลยพอจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร และพอจะปรับตัวได้ แต่มันกดดันกว่าครั้งแรก เราถูกกักตัวตามมาตรการควบคุมโควิด19 ต้องอยู่ในห้องขังเกือบตลอด 24 ชั่วโมง ได้ลงไปข้างล่างแค่วันแรกเพื่อทำประวัติ หลังจากนั้นต้องอยู่ในห้องแคบๆ เกือบตลอดเวลา ยกเว้นช่วงที่ทนายมาเยี่ยม ต่างจากผู้ต้องขังคนอื่นๆ ที่จะอยู่ในห้องขังหลังบ่ายสามจนถึงหกโมงเช้าวันถัดไป เราพยายามขอเจ้าหน้าที่ไปเข้าห้องน้ำด้านล่างก็ไม่ได้รับอนุญาต 'บล็อก' หรือห้องน้ำในห้องขังมันค่อนข้างแคบ กว้างประมาณเมตรครึ่ง ถ่ายหนัก ถ่ายเบา แปรงฟัน ล้างหน้า ล้างจาน ทำที่เดียวกัน และผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการกักตัวจะได้รับของที่ญาติหรือทนายฝากให้ช้ากว่าปกติ"
 
"ผมเองอยากตั้งคำถามถึงมาตรการควบคุมโรคของเรือนจำว่ามีประโยชน์จริงหรือ มีผู้ต้องขังใหม่เข้ามาทุกวัน เวลานอนก็นอนเบียดกันไม่ได้มีการรักษาระยะห่าง ในห้องมีกันเกือบ 30 คน มีช้อนกินข้าวทั้งหมด 10 กว่าคัน เวลากินข้าวต้องเวียนกันใช้ ไม่มีน้ำยาล้างจานได้แค่ใช้น้ำเปล่าล้าง นี่คือสิ่งที่เรือนจำบอกว่ากักโควิด"
 
"ผู้ต้องขังที่ถูกกักตัวแทบไม่ได้ต่างจากผู้ต้องขังทั่วไป แค่พบญาติไม่ได้ นอนก็เบียดกัน แล้วเมื่อลงมาพบทนายก็จะอยู่ในสถานที่เดียวกับผู้ต้องขังแดนอื่นๆ ไม่ได้จัดแยกกัน"
 
"เรื่องอาหารการกิน ปกติผมเป็นคนที่กินง่ายๆ กินอะไรก็ได้ แต่อยากเรียกร้องเรื่องคุณภาพชีวิตให้ผู้ต้องขังคนอื่นด้วย บางมื้ออาหารของเราคือ แตงกวาลูกใหญ่ๆ ต้มน้ำ ผมไม่รู้เขาใส่อะไรไปบ้าง แต่ผมกินแล้วรู้สึกว่ามันเหมือนน้ำเปล่า ไม่มีเนื้ออะไรเลย กินกับข้าวแข็งๆ จริงๆ ผมกินอะไรก็ได้ แต่ผมรู้สึกว่าความเป็นคนมันอยู่ตรงไหน หมาที่วัดมันยังกินดีกว่าเรา"
 
"ที่หน้าห้องขัง ทางเรือนจำจะติดรายชื่อคนที่อยู่ในห้องพร้อมข้อหาว่าแต่ละคนถูกคุมขังด้วยคดีอะไร นอกจากไผ่ที่ถูกตั้งข้อหาด้วยมาตรา 116 แล้ว เขาติดว่าพวกเราถูกดำเนินคดี พ.ร.บ.ความสะอาด มันก็ตลกดี พอครบ 6วันเรามีกำหนดจะต้องวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับศาลอีกครั้ง เพราะตำรวจจะฝากขังต่อเป็นผัดที่ 2 พอถึงเวลาเราแจ้งศาลว่าเราอยากขอปรึกษาทนายเรื่องการคัดค้านการฝากขังก่อนไต่สวนผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ แต่ศาลบอกว่าแล้วทำไมไม่โทรคุยกับทนายก่อนหน้านี้ เราก็ได้แต่บอกว่าเราอยู่ในเรือนจำ ไม่มีโทรศัพท์ติดต่อทนาย แล้วศาลก็แจ้งว่าศาลให้ฝากขังต่อตามคำร้องของพนักงานสอบสวนแล้ว ต่อมาเมื่อทนายยื่นประกันตัวปรากฏว่าศาลชั้นต้นก็ยกคำร้องอีก โชคยังดีที่พอยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ปล่อยตัวพวกเรา จึงถูกคุมขัง 6 วัน"
 
"ระหว่างถูกคุมขังเราโชคดีที่ได้อยู่พี่เต้น (ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ) คอยช่วบเหลือแบ่งปันพวกมาม่า อาหารกระป๋องให้ รวมทั้งแบ่งหนังสือประวัติศาสตร์ที่แกมีบางส่วนมาให้ การอยู่ในเรือนจำโดยเฉพาะกรณีของพวกเราที่ต้องอยู่ในห้องขังเกือบ 24 ชั่วโมงต่อวัน สิ่งที่ช่วยได้มากก็คือหนังสือ"
 
"ตอนแรกผมแอบคิดว่าพวกเราน่าจะติดกันแบบยาวๆ เพราะผู้มีอำนาจเขาลุแก่อำนาจ แต่พอศาลอุทธรณ์อนุญาตให้พวกเราประกันตัวพวกเราก็ดีใจกันนะ แต่ก็แอบกังวลว่าหลังจากนั้นไผ่ต้องอยู่คนเดียว จะปลอดภัยไหม เป็นห่วงเพื่อน"
 
----------
 
วันที่ 13 ตุลาคม นักกิจกรรมซึ่งส่วนหนึ่งเรียกตัวเองว่า "คณะราษฎรอีสาน" เดินทางมาตั้งเต็นท์เตรียมเข้าร่วมการชุมนุมใหญ่ของคณะราษฎรในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 หลังพวกเขาตั้งเต็นท์บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยฝั่งแม็คโดนัลด์ราชดำเนินแล้วเสร็จและเริ่มตั้งเวทีปราศรัย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ใช้กำลังเข้ารื้อเต็นท์และทำการจับกุมผู้ชุมนุมรวม 21 คน ไปควบคุมตัวที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 ปทุมธานี หนึ่งคืน 
 
ผู้ถูกจับกุมทั้ง 21 คน ถูกตั้งข้อกล่าวหารวม 10 ข้อกล่าวหา ได้แก่ 
 
ชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง, ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์, ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเจ้าพนักงาน, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร, ร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, 358, 368, 385, 391 ตามลำดับ  
 
ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุมทำกิจกรรมในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค 
 
กระทำการซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายแพร่ระบาดออกไป ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6)
 
ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 114
 
ร่วมกันขูด กระเทาะ ขีด เขียน พ่นสี บนพื้นถนน, ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน ตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12, 19 ตามลำดับ
 
ขณะที่จตุภัทร์หรือ ไผ่ ดาวดิน ถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เพิ่มเติมอีกข้อหาหนึ่ง 
 
ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่คณะราษฎรนัดชุมนุมใหญ่ ผู้ต้องหา 19 คน ไม่รวมจตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นที่ถูกดำเนินคดีในศาลอาญาและผู้ต้องหาเยาวชนอีกหนึ่งคนที่ถูกดำเนินคดีในศาลเยาวชน ถูกนำตัวไปที่ศาลแขวงดุสิตเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง ซึ่งศาลมีคำสั่งให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวนและไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้งหมดประกันตัวโดยอ้างเหตุว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์รุนแรงและต่อสู้กับเจ้าพนักงาน ผู้ต้องหาทั้ง 19 คนถูกฝากขังเป็นเวลา 6 วัน ก่อนจะได้รับการประกันตัวในวันที่ 19 ตุลาคม 2563 เบื้องต้นศาลแขวงดุสิตไม่อนุญาตให้ผู็ต้องหาทั้ง 19 คน ประกันตัว แต่ทั้งหมดอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมดในวันเดียวกัน

 

Article type: