1384 1916 1066 1676 1010 1171 1257 1820 1354 1169 1759 1157 1297 1105 1448 1085 1805 1472 1577 1977 1543 1669 1630 1829 1154 1563 1191 1769 1130 1976 1734 1411 1061 1408 1030 1225 1533 1373 1382 1147 1199 1450 1429 1880 1093 1139 1915 1365 1433 1614 1158 1037 1733 1855 1612 1651 1712 1202 1320 1701 1936 1240 1390 1827 1379 1286 1280 1229 1735 1127 1085 1157 1880 1937 1441 1613 1477 1226 1458 1690 1494 1374 1300 1788 1687 1381 1694 1568 1898 1774 1142 1715 1240 1487 1995 1535 1152 1263 1513 เปิดข้อกล่าวหาตามฟ้อง คดี "19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร" | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

เปิดข้อกล่าวหาตามฟ้อง คดี "19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร"

9 กุมภาพันธ์ 2564 นักกิจกรรมทางการเมืองสี่คน คือ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน, อานนท์ นำภา, ปติวัฒน์ หรือแบงค์ และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกส่งตัวไปฟ้องต่อศาลอาญา ในคดีการชุมนุม "19กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร" ที่ท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นการยื่นฟ้องคดีตามมาตรา 112 จากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองคดีแรกในรอบ 3 ปี
 
หลังอัยการยื่นฟ้องคดี ผู้ต้องหาทั้งสี่คนจึงถูกควบคุมตัวอยู่ในอำนาจของศาล และยื่นคำขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้เงินสดคนละ 200,000 บาท เป็นหลักทรัพย์ประกันตัว ศาลมีคำสั่งในเวลาประมาณ 17.50 น.ไม่ให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า 
 
"พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า คดีมีอัตราโทษสูงพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง อีกทั้งการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆ ต่างกรรมต่างวาระ ตามข้อกล่าวหาเดิมหลายครั้งหลายครา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ให้ยกคำร้อง แจ้งคำสั่งให้ทราบ และคืนหลักประกัน"
 
ทั้งสี่คนจึงถูกส่งตัวไปคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ซึ่งในระหว่างการคุมขังทั้งสี่คนมีสิทธิยื่นขอประกันตัวได้อีกทุกเมื่อ แต่ศาลอาจจะสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้ หรือจำเลยจะใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวต่อศาลอุทธรณ์ก็ได้ 
 
ในคดีที่ถูกฟ้องจากการร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 อัยการเขียนคำฟ้องยาวกว่า 30 หน้า ยื่นฟ้อง พริษฐ์ เป็นจำเลยที่ 1, อานนท์ เป็นจำเลยที่ 2, ปติวัฒน์ เป็นจำเลยที่ 3 และสมยศ เป็นจำเลยที่ 4 พร้อมอ้างข้อกฎหมายจำนวนมาก สรุปได้ดังนี้ 
 
จำเลยทั้งสี่กับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้บังอาจร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ
 
1. นายกรัฐมนตรีออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 26 มีนาคม 2563  เพื่อป้องกันการระบาดการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 และขยายเวลาต่อเนื่องมาและได้ออกข้อกำหนดตามมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1 ข้อ 5 ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และได้ออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงกำหนดห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ณ ที่ใดๆทั่วราชอาณาจักร เว้นแต่เป็นการทำกิจกรรมภายในครอบครัวที่อยู่ในเคหสถานของตัวเอง หรือกิจกรรมของทางราชการ ต่อมานายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดฉบับที่ 5 ข้อ 2(2) ห้ามมิให้ผู้ใดจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย เว้นแต่เป็นการจัดโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่และต้องเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างผู้ร่วมกิจกรรมอย่างน้อย 1 เมตร และข้อกำหนดฉบับที่ 13 ข้อ1 การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มหรือการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใดๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ตามหลักเกณฑ์กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ และข้อ 5 ให้เจ้าของหรือผู้ดูแลรับผิดชอบกิจกรรมจัดให้มีมาตรการป้องกันโรคและให้ผู้ร่วมกิจกรรมสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามราชการกำหนด เข้าระบบแอพลิเคชั่นไทยชนะ และผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ มาตรา 35(1)ประกอบข้อกำหนด ข้อ 13 กำหนดให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคและจำเลยทั้งสี่ได้ทราบประกาศดังกล่าวแล้ว
.
จำเลยที่ 1, 2 และ 4 ซึ่งเป็นแกนนำหรือเป็นผู้จัดหรือผู้ดูแลรับผิดชอบให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางเฟซบุ๊กที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้หลายบัญชีได้แก่ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม - United Front of Thammasart Demonstration” “เพนกวิ้น พริษฐ์ ชีวารักษ์ Parit Chiwarak” ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำดูแล “อานนท์ นำภา” ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดทำดูแล ข้อความอันมีสาระสำคัญประกาศชักชวนให้ประชาชนโดยทั่วไปออกมาร่วมการชุมนุม “19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎรครั้งใหญ่” ในวันเสาร์ที่ 19 กันยายน 2563 และโพสต์รูปภาพของจำเลยที่ 1, 2 และ 4 กับพวกจะขึ้นโฆษณาปราศรัยแก่ประชาชน จำเลยที่ 1, 2 และ 4 กับพวกได้ร่วมกันให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนสำนักต่างๆ ประกาศชักชวนให้ประชาชนโดยทั่วไปออกมาร่วมชุมนุม
.
ครั้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 จำเลยที่ 1, 2 และ 4 กับพวกได้บังอาจเข้าร่วมกิจกรรมการรวมกลุ่มซึ่งมีประชาชนทั่วไปประมาณ 20,000 คน เข้าร่วมกิจกรรมการรวมกลุ่มอันเป็นการมั่วสุมกัน ณ สถานที่ใดๆ ที่แออัดและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคโดยจำเลยที่ 1, 2 และ 4 ไม่ได้จำกัดทางเข้า-ออก ในการเข้าร่วมการรวมกลุ่มและไม่จัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าและไม่จัดให้มีการเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตรเพื่อป้องกันการติดต่อสัมผัสหรือแพร่เชื้อโรคทางฝอยละอองน้ำลาย อันเป็นการจัดกิจกรรมโดยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันไวรัสโคโรน่า2019 โดยจำเลยที่ 1, 2 และ 4 ได้ใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้ากล่าวปราศรัยบนเวทีแก่ประชาชนทั่วไป บริเวณถนนหน้าพระธาตุ บริเวณภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายในท้องสนามหลวง บริเวณถนนราชดำเนินใน อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยและไม่ได้กระทำภายในขอบเขตการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและไม่ได้แจ้งให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามมาตรา 16 แห่งพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 
 
 
2. ก่อนเกิดเหตุ จำเลยที่ 1, 2 และ 4 ได้บังอาจร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยจัดงานใช้ชื่อว่า “19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎรครั้งใหญ่” และกล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาล เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีลักษณะเป็นการชุมนุมเรียกร้องในที่สาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง 
 
 
3. ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศร บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 1 บัญญัติว่า “ประเทศไทยเป็นอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้” มาตรา 2 บัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และมาตรา 3 บัญญัติว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล” 
.
เมื่อถึงวันนัดชุมนุมจำเลยที่ 1, 2 และ 4 ในฐานะผู้จัดการชุมนุมและจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ร่วมชุมนุม และผู้ร่วมชุมนุมอีกประมาณ 20,000 คน จะต้องดำเนินการชุมนุมสาธารณะโดยสงบและปราศจากอาวุธภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายการจัดชุมนุมภายในรัศมี 50 เมตรรอบรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาลจะกระทำมิได้ ต้องไม่กีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้สถานที่ทำการของหน่วยงานรัฐไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่ใช้พื้นที่สาธารณะ ไม่บุกรุกหรือทำให้เสียหายซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น และไม่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุม และต้องขออนุญาตใช้เครื่องเสียงให้ถูกต้องและต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ.2522 และพ.ร.บ.ความสะอาดฯ 
.
พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐ์บรรณการ ผู้กำกับสน.ชนะสงคราม ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสี่กับพวกชุมนุมอยู่ในกรอบของกฎหมายให้อยู่บนทางเท้าและรักษามาตรการโรคโควิดและให้ผู้ชุมนุมเดินทางกลับและยุติการชุมนุมเนื่องจากไม่ได้แจ้งการชุมนุม แต่จำเลยทั้งสี่กับพวกไม่ยุติการชุมนุมได้บังอาจร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เนื่องจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยสำหรับการขุมนุม จำเลยได้ทราบแล้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปิดล็อคประตู โดยล็อคแม่กุญแจฝั่งถนนพระธาตุและปิดประตูฝั่งท่าพระจันทร์มีการปิดล็อคและคล้องโซ่ ตั้งแผงเหล็กจราจรกั้น แต่จำเลยและพวกใช้เครื่องขยายเสียงประกาศโฆษณาขู่เข็ญให้เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเปิดประตูและสั่งการให้ผู้ชุมนุมก่อความวุ่นวายขึ้น ผู้ร่วมชุมนุมใช้กำลังประทุษร้าย เขย่า ผลักดัน ทำลายประตูเข้าออกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝั่งถนนพระธาตุจนแม่กุญแจที่คล้องประตูหลุดขาดออกได้รับความเสียหาย พวกของจำเลยร่วมกันพังเปิดประตูดังกล่าวและพากลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนหลายร้อยคนบุกรุกและกรูกันเข้าไปภายในสนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อันเป็นการยุยง ปลุกปั่นให้ประชาชนเกิดความกระด้างกระเดื่อง 
.
กลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้กำลังประทุษร้ายโดยใช้คีมขนาดใหญ่ตัดทำลายแม่กุญแจและโซ่ซึ่งคล้องประตูรั้วฝั่งท่าพระจันทร์จนขาดหลุดออกได้รับความเสียหายเพื่อให้จำเลยที่ 1 พร้อมกลุ่มผู้ชุมนุมบุกรุกและกรูกันเข้าไปภายในสนามฟุตบอล
.
จากนั้น พวกของจำเลยได้ชักชวนโดยใช้เครื่องขยายเสียงให้กลุ่มชุมนุมที่อยู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคลื่อนย้ายไปชุมนุมยังบริเวณท้องสนามหลวงแทน ในการเคลื่อนย้ายจำเลยทั้งสี่กับพวกเดินล้ำเข้าไปในช่องทางจราจร ซึ่งเป็นถนนสาธารณะที่ประชาชนใช้สัญจร ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ทางสาธารณะ และทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเกินที่พึงคาดหมายได้ และไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุม
.
เจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมได้ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงและปิดประกาศเป็นหนังสือเพื่อให้จำเลยทราบว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมายจึงให้ยุติหรือเลิกการชุมนุมและจำเลยได้ทราบคำสั่งดังกล่าวแล้ว บังอาจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยไม่ยอมเลิกการชุมนุมและเลิกมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป 
.
ต่อมาผู้ร่วมชุมนุมได้ก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองด้วยการร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายทำลายทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร ใช้กำลังและของแข็งไม่ทราบชนิดพังรั้วเหล็ก จนเป็นเหตุให้รั้วเหล็กจำนวนหนึ่งอันได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงิน 264 บาท และพวกของจำเลยร่วมกันใช้คีมตัดแม่กุญแจที่ปิดล็อครั้วเหล็กรอบสนามหลวงจนแม่กุญแจจำนวน 90 ตัว ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงิน 13,500 บาท เพื่อเคลื่อนย้ายขบวนพากลุ่มผู้ชุมนุมไปยังท้องสนามหลวง 
.
จำเลยทั้งสี่และพวกได้บังอาจร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโฆษณากล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาล เรียกร้องนายกรัฐมนตรีลาออก เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และกระทำจาบจ้วงหมิ่นประมาท ดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ มีเจตนาบิดเบือนใส่ร้ายพระมหากษัตริย์และบิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เป็นการทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชังอันเป็นการปลุกปั่น ยุยง ส่งเสริมประชาชนเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องและเมื่อประชาชนได้รับฟังข้อความปราศรัยดังกล่าวก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถึงขนาดที่จะไปชุมนุม ประท้วง ขู่เข็ญ หรือบังคับ กดดันให้รัฐบาลและรัฐสภา และขู่เข็ญหรือบังคับให้พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้ประชาชนอันจะก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร และทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพ สักการะอันเป็นความผิดต่อพระมหากษัตริย์ อีกทั้งประชาชนได้รับฟังข้อความคำปราศรัยดังกล่าวได้มีการแสดงความคิดเห็นกับจำเลย ด้วยการตะโกน ตอบโต้ โห่ร้อง ปรบมือ สนับสนุน อันเป็นการทำให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน 
 
 
4. จำเลยที่ 4 ได้บังอาจหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์ด้วยการกล่าวปราศรัยแก่ประชาชน ถึงประเด็นว่า ประมุขของรัฐต้องได้รับคำวิจารณ์ เพราะมีเงินรายได้ประจำปีสามหมื่นล้านบาท และสนับสนุนข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ โดยกล่าวด้วยว่า “เราเพียงแต่อยากให้พระองค์ประทับอยู่ในเมืองไทยเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย (iLaw สรุป) อันเป็นความเท็จเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์โดยมีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้
 
 
5. จำเลยที่ 3 ได้บังอาจหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์ด้วยการกล่าวปราศรัยแก่ประชาชน  
กล่าวถึง การดำเนินคดีคุกคามประชาชน พูดถึงผลกระทบและความเจ็บปวดในฐานะนักโทษการเมืองที่รับโทษครบแล้ว โดยกล่าวด้วยว่า “ไม่มีประเทศไหนที่ประมุขของรัฐแจ้งความลากคนในรัฐใต้ปกครองตัวเองเข้าไปในคุก” “ลิ่วล้อของเค้านั้นได้สร้างความฉิบหายอย่างใหญ่หลวงครับท่าน มันไม่ได้เป็นผลดีต่อราชวงศ์ของท่าน ไม่ได้เป็นผลดีต่อครอบครัวของท่าน” โดยยังปราศรัยเสนอเรื่องพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมด้วย (iLaw สรุป) อันเป็นความเท็จเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์โดยมีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้
 
 
6. จำเลยที่ 2 ได้บังอาจหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์ด้วยการกล่าวปราศรัยแก่ประชาชนกล่าวถึงประวัติศาสตร์การเมือง เมื่อปี 2549 ประเด็นการพระราชทานข้อสังเกตให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 รวมถึงการจัดสรรงบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ (iLaw สรุป) อันเป็นความเท็จเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์โดยมีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้
 
 
7. จำเลยที่ 1  ได้บังอาจหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์ด้วยการกล่าวปราศรัยแก่ประชาชน
รณรงค์ให้แบนธนาคารไทยพาณิชย์ และพูดถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์ในการลงพระประมาภิไธยแต่งตังหัวหน้าคณะรัฐประหาร รวมทั้งการที่รัฐบาลเผด็จการสยบยอมอยู่ใต้เงาของพระมหากษัตริย์และแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อหาผลประโยชน์เข้าตัวเอง (iLaw สรุป) อันเป็นความเท็จเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์โดยมีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ 
 
 
8. ตามมาตรา 7 แห่งพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 อธิบดีกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานทุ่งพระเมรุ (สนามหลวง) ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา การใช้พื้นที่ท้องสนามหลวงจึงถือเป็นสถานที่สำคัญและยังเป็นพื้นที่ซึ่งใช้จัดงานราชพิธี งานรัฐพิธี งานประเพณีสำคัญของชาติ และการขออนุญาตจัดงานจะต้องไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองตามระเบียบกรุงเทพมหานคร
.
เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563 จำเลยที่ 1 และ 2 ร่วมกันแก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ทำลายโบราณสถานหรือส่วนต่างของโบราณสถานหรือขุดค้นสิ่งใดภายในบริเวณโบราณสถานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีโดยจำเลยที่ 1 และ 2 กับพวกร่วมกันใช้เครื่องมืออุปกรณ์ขุดเจาะพื้นคอนกรีตเป็นช่องสี่เหลี่ยมลึกประมาณ 2.5 เซนติเมตร กว้าง  40 เซนติเมตร ยาว 44 เซนติเมตร และร่วมกันวางแผ่นโลหะทรงกลมแบนสีเหลืองเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 เซนติเมตร หนาประมาณ 2.5 เซนติเมตร และร่วมกันเทปูซีเมนต์รอบๆ แผ่นโลหะดังกล่าวเป็นเหตุให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวได้รับความเสียหาย เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ กรุงเทพมหานครต้องทำการซ่อมแซมพื้นที่กว้าง 5 เมตร ยาว 5 เมตร คิดเป็นพื้นที่ทั้งหมด 25 ตารางเมตรและต้องขัดพื้นที่ด้วยน้ำยากันซึมเพื่อให้กลับมาเป็นสภาพเดิมประเมินราคาเป็นจำนวนเงิน 16,781.62 บาท 
 
 
9. จำเลยที่ 1 และ 2 กับพวก ร่วมกันวาง ตั้ง หรือกองวัตถุใดๆบนถนนอันมีลักษณะเป็นการกีดขวางทางจราจรสาธารณะ โดยการนำโครงรถถังจำลองสีเขียวจำนวนหนึ่งคัน และโครงรถยนต์แบบจำลองสีม่วงหนึ่งคันมาวางไว้บนถนนราชดำเนินใน จนเต็มพื้นที่ทางจราจรช่องทางเดินรถช่องที่สาม นับจากฝั่งสนามหลวงเป็นเหตุให้รถยนต์และประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้ถนนสัญจรได้ตามปกติ จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวางหรือทอดสิ่งของโดยไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย
 
 
10. จำเลยกับพวกได้ร่วมกันโฆษณา ปราศรัย บอกกล่าว แสดงความคิดเห็นต่อประชาชน โดยการใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
 
 
ภายหลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานจับกุมตัวจำเลยทั้งสี่ได้และได้รับการปล่อยตัวไป พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยทั้งสี่แล้ว ชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แผ่นโลหะทรงกลมสีเหลืองของกลางเจ้าพนักงานได้ทำการรักษาเก็บไว้ 
 
 
จำเลยที่ 3 เคยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกตามมาตรา 112  และกระทำความผิดอีกภายในเวลา 5  ปีนับแต่พ้นโทษขอให้ศาลเพิ่มโทษแก่จำเลยที่สามหนึ่งในสาม จำเลยที่ 4  เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษตามมาตรา 112 ได้กลับมากระทำความผิดซ้ำภายในเวลา 3 ปี ขอให้ศาลเพิ่มโทษจำเลยที่ 4 กึ่งหนึ่งสำหรับความผิดตามฟ้องข้อ 4 และเพิ่มโทษหนึ่งในสามสำหรับความผิดตามฟ้องข้อ 1 และข้อ 3 
 
หากจำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ขอให้อยู่ในดุลพินิจของศาล 
////////////
 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สรุปไว้ว่า คำฟ้องคดีนี้มีข้อหาตามกฎหมายทั้งหมด 11 ข้อหา 
โดยมีอานนท์และพริษฐ์ที่ถูกฟ้องใน 11 ข้อกล่าวหา ได้แก่
 
(1) ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการควบคุมโรคโควิด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ
(2) “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
(3) “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
(4) ไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง ก่อนเริ่มการการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชม. ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ
(5) ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ
(6) กีดขวางการจราจร ตามพ.ร.บ.การจราจรทางบกฯ
(7) พ.ร.บ.ความสะอาดฯ
(8) ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215
(9) บุกรุกโบราณสถาน ตามพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504
(10) ทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358
(11) กีดขวางทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385
 
โดยทั้งสี่คนถูกตั้งข้อกล่าวหาไม่เท่ากัน จำเลยที่ 1 พริษฐ์ จำเลยที่ 2 อานนท์ ถูกกล่าวหาว่าเป็น "แกนนำ" จึงถูกตั้งข้อกล่าวหาทั้งหมดทุกข้อ ส่วนจำเลยที่ 4 สมยศ ถูกกล่าวหาว่าเป็น "แกนนำ" เช่นกัน แต่ไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับโบราณสถานและกีดขวางการจราจร ส่วนปติวัฒน์ ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้เข้าร่วมการชุมนุม และถูกตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 มาตรา 116 และพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง
 
1633
Article type: