1794 1626 1967 1887 1492 1765 1364 1284 1410 1137 1543 1367 1621 1270 1814 1800 1454 1324 1532 1135 1281 1939 1254 1175 1474 1811 1337 1578 1347 1931 1627 1769 1155 1502 1304 1712 1537 1232 1874 1456 1720 1365 1445 1013 1791 1954 1674 1498 1815 1516 1638 1706 1879 1967 1344 1098 1690 1120 1406 1927 1077 1613 1602 1580 1111 1536 1324 1924 1178 1955 1314 1587 1517 1138 1841 1119 1945 1670 1844 1963 1347 1704 1739 1875 1518 1441 1882 1836 1735 1321 1038 1494 1172 1529 1415 1971 1990 1433 1302 หมู่บ้านทะลุฟ้า: เมื่อสลายการชุมนุมไม่ชอบธรรมประชาชนจึงต้องอารยะขัดขืน | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

หมู่บ้านทะลุฟ้า: เมื่อสลายการชุมนุมไม่ชอบธรรมประชาชนจึงต้องอารยะขัดขืน

 
 
28 มีนาคม 2564  เวลา 05.57 น. ตำรวจควบคุมฝูงชนนำกำลังเข้าสลายการชุมนุม #หมู่บ้านทะลุฟ้าV2 ที่ถนนพระราม 5 ข้างศาลกรมหลวงชุมพรฯ โดยอ้างว่า ผู้ชุมนุมกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และก่อนการสลายการชุมนุม ตำรวจได้ประกาศให้เวลาชาวหมู่บ้านเก็บของเพียง 3 นาที หลังจากนั้นจึงเข้าคุมตัวบุคคลไม่น้อยกว่า 67 คน บางส่วนขึ้นรถผู้ต้องขังไปที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาคที่ 1 ปทุมธานี (ตชด.ภาค 1) ขณะที่พระ 2 รูปที่จำวัดภายในหมู่บ้านถูกพาไปบังคับลาสิกขาที่วัดเบญจมบพิตร ซึ่งการกระทำดังกล่าวนับว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐเพื่อจำกัดอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะแม้จะอ้างเรื่องการป้องกันโรคระบาด แต่หมู่บ้านทะลุฟ้าก็มีการดำเนินการตามมาตรการของรัฐ อาทิ ให้คนสวมใส่หน้ากากอนามัย มีการตรวจวัดอุณหภูมิ ดังนั้น เหตุในการสลายการชุมนุมจึงไม่ชอบธรรมและไม่เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน
 
 
1731
 
 
ต่อมาเวลา 15.00 น. ชาวหมู่บ้านบางส่วนที่ไม่ถูกจับกุมได้กลับมารวมตัวเพื่อชุมนุมบริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐใกล้กับหมู่บ้านทะลุฟ้าเดิม โดยมี เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หนึ่งในแกนนำหมู่บ้านทะลุฟ้า ประกาศว่า ที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐจะเป็นหมู่บ้านแห่งใหม่ ให้ทุกคนดูแลตัวเองและขอให้ตำรวจไม่ต้องนำกำลังมาล้อม พร้อมเรียกร้องว่า ตำรวจจะต้องปล่อยผู้ถูกคุมตัวทั้งหมดวันนี้ ไม่อย่างนั้นเราจะปักหลักตั้งหมู่บ้านอีกครั้ง จากนั้นตำรวจเข้าสลายการชุมนุมเป็นครั้งที่สองของวัน ตำรวจมีการปิดถนนทุกแยกที่มุ่งหน้าแยกพาณิชยการในเวลา 18.04 น. ก่อนใช้ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเข้าสลายการชุมนุมด้วยการจับกุมในเวลา 18.20 น. และมีผู้ถูกจับกุมรอบนี้ไม่น้อยกว่า 32 คน โดยผู้ที่ถูกจับกุมล้วนเป็นผู้ที่ต้องการแสดงเจคจำนง “อารยะขัดขืน” ต่อการใช้อำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพที่ไม่ชอบธรรมและไม่ได้สัดส่วนของรัฐ เพราะผู้ชุมนุมมาชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งต้องได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
 
 
 
ทั้งนี้ การชุมนุมของชาวหมู่บ้านทะลุฟ้า V2 เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2564 นำโดยเลิศศักดิ์ จากเครือข่ายพีเพิ้ลโก ทั้งนี้ ก่อนการตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้า มีการส่งหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อหัวหน้าสถานีตำรวจนางเลิ้งระบุว่า จะชุมนุมตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2564 "ไปจนกว่าประยุทธ์จะออกไปและได้ประชาธิปไตยคืนมา" มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ต่อสาธารณะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและแก้ไขปัญหาการคุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ท้ายที่สุดจบลงในวันที่ 28 มีนาคม 2564 เป็นเวลา 15 วันที่พลเอกประยุทธ์ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปและมีผู้ถูกจับกุมไปไม่น้อยกว่า 99 คน
 

 

แม้อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ประชาชนยังชุมนุมได้

 
 
แม้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ 2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ)จะกำหนดว่า ไม่ให้ใช้บังคับการชุมนุมสาธารณะในช่วงเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ตามข้อกำหนดของพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ฉบับที่ 13 (ประกาศใช้เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563) ก็ยังรับรองสิทธิในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายไว้ ทำให้ประชาชนที่ต้องการจัดการชุมนุมสามารถกระทำได้ภายใต้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และตำรวจก็ได้หยิบยกบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาใช้บังคับ ยกตัวอย่างเช่น
 
 
1732
 
 
๐ กลุ่มไทยภักดี-การเมืองภาคประชาชน แจ้งการชุมนุม
 
 
16 พฤศจิกายน 2563 พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 มีการชุมนุม 3 กลุ่มคือ  ไทยภักดีแจ้งการชุมนุมวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ตั้งแต่เวลา 9.00-14.00 น. (วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำได้แจ้งว่า จะทำกิจกรรมเสร็จสิ้นไม่เกินเวลา 12.00 น. ),  การเมืองภาคประชาชนแจ้งชุมนุม 2 วันคือวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2563 เวลา  9.00-22.00 น. ของทั้งสองวัน และราษฎรที่ยังไม่มีการแจ้งการชุมนุม
 
 
โดย 2 กลุ่มแรกที่แจ้งการชุมนุมแล้วตำรวจได้ออกเงื่อนไขตามมาตรา 14-16 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และถ้าการชุมนุม 2 กลุ่มแรกมาจนเต็มพื้นที่แล้วก็จะให้ไปที่ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญสาย 1 หรือถนนสามเสนตั้งแต่แยกวชิระ ซึ่งจะต้องห่างไกลกันสักนิด ...ผู้ใดที่ยื่นการชุมนุมสาธารณะก็น่าจะได้สิทธิก่อน
 
 
๐ ตำรวจ สน.ลุมพินี สั่งเลิกการชุมนุมของทนายอานนท์
 
 
17 พฤศจิกายน 2563 พ.ต.อ. นิติวัฒน์ แสนสิ่ง ผู้กำกับการสน.ลุมพินีออกคำสั่งเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ สน. ลุมพินี ที่ 2/2563 ให้เลิกการชุมนุมสาธารณะ ระบุว่า การนัดหมายชุมนุมของอานนท์ นำภา ที่แยกราชประสงค์นั้นไม่มีการแจ้งการชุมนุมก่อนล่วงหน้าเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ถือเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้เลิกการชุมนุม
 
 
๐ รองโฆษก สตช. ยืนยันการชุมนุมต้องแจ้งตามกฎหมาย
 
 
24 พฤศจิกายน 2563  พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า คณะราษฎรและเยาวชนปลดแอกยังไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่รับผิดชอบ การชุมนุมเป็นสิทธิตามกฎหมายแต่ต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยเฉพาะพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เจ้าหน้าที่จะกำหนดเงื่อนไขกลับไป การแจ้งต้องไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง
 
 
1738
 
1740
 
 
นอกจากที่กล่าวมาแล้วยังมีมาตราสำคัญที่บังคับใช้อย่างคงเส้นคงวาคือ มาตรา 7 เรื่องการห้ามชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน ดังกล่าวมาจึงพอจะเห็นเส้นแนวปฏิบัติของรัฐที่มีการชุมนุมสาธารณะภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
 
 

ตำรวจสลายหมู่บ้านทะลุฟ้าบนความไม่ชัดเจนของกฎหมาย

 
 
เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 นายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 18 โดยกำหนดว่า กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และให้ใช้มาตรการตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 16 ซึ่งข้อกำหนดฉบับดังกล่าว กำหนดว่า "ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค" ดังนั้น การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมจึงจำเป็นต้องพิจารณาว่าผู้จัดการชุมนุมมีมาตรการการป้องกันโรคระบาดมากน้อยแค่ไหนเป็นหลัก แต่ทว่าในความเป็นจริงตำรวจกลับเลือกจำกัดการชุมนุมก่อน
 
1733
 
 
ยกตัวอย่างเช่น กรณีการสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้า เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้เข้าสลายการชุมนุมโดยไม่คำนึงถึงเรื่องมาตรการป้องกันโรค อีกทั้ง 'เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์' หนึ่งในแกนนำหมู่บ้านทะลุฟ้า ได้ออกมาชี้แจงว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่มีการจดแจ้งการชุมนุมตามกฎหมาย แต่ทว่าตำรวจกับสลายการชุมนุมโดยไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ยกตัวอย่างเช่น การร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้เลิกการชุมนุม นอกจากนี้ในการชุมนุมของชาวหมู่บ้านทะลุฟ้าตลอดทั้ง 15 วัน ก็ไม่ปรากฏการออกคำสั่งให้แก้ไขการชุมนุมที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย,เลิกการชุมนุมของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะและไม่ปรากฏว่า มีคำสั่งของศาลแพ่งเพื่อให้ขอให้เปิดพิจารณาไต่สวนและออกคำสั่งให้เลิกการชุมนุมในกรณีที่การชุมนุมนั้นไม่ชอบตามกฎหมาย 
 
 
 
อย่างไรก็ดี ตอนช่วงเช้าของวันที่ 28 มีนาคม 2564 หลังการสลายการชุมนุม เลิศศักดิ์ ในฐานะผู้แจ้งการชุมนุมสาธารณะได้สอบถามถึงความถูกต้องชอบธรรมของขั้นตอนการสลายการชุมนุมต่อ พ.ต.อ. นิมิตร นูโพนทอง ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ซึ่งพ.ต.อ.นิมิตรระบุว่า ศาลได้มีการวินิจฉัยแล้ว เมื่อเลิศศักดิ์ถามถึงเอกสารคำวินิจฉัยของศาล ไม่ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ และจากการสอบถามไม่ปรากฏว่า ที่ผ่านมาศาลแพ่งได้มีหมายเรียกให้ผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไปไต่สวนการชุมนุม
 
 
 
ตามปกติแล้วการชุมนุมแบบแฟลชม็อบนั้นเกิดขึ้นและจบลงในเวลารวดเร็วไม่ข้ามคืน การไปร้องขอต่อศาลแพ่งให้เปิดไต่สวนและออกคำสั่งให้แก้ไขหรือเลิกการชุมนุมเป็นเรื่องที่ไม่สอดคล้องต่อสภาพความเป็นจริง เนื่องจากเมื่อเปิดการไต่สวนการชุมนุมก็เสร็จสิ้นไปแล้ว จึงเห็นสภาพการณ์ของการบังคับใช้กฎหมายระหว่างการชุมนุมในเหตุที่อ้างว่า เป็นความผิดซึ่งหน้า การสลายการชุมนุมในทันทีที่เจ้าหน้าที่รัฐมองว่า ผู้ชุมนุมกำลังละเมิดกฎหมายที่สำคัญและการดำเนินคดีตามหลัง
 
 
 
กรณีการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้าใช้เวลายาวนาน 15 วันและพักแรมอยู่กับที่ไม่เคลื่อนย้ายไปไหน หากรัฐมองว่า ผู้ชุมนุมละเมิดกฎหมายหลายบทตามที่กล่าวในแถลงข่าว ไม่ว่าการใช้น้ำประปาและไฟฟ้าของราชการ, การทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในคลองสาธารณะและไปจนถึงการมีสารเสพติดที่ละเมิดต่อกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐมีกฎหมายและกลไกอื่นๆ ในการจัดการโดยไม่ต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยเด็ดขาด หรือในกรณีที่เชื่อว่า มีการใช้สารเสพติดต้องห้ามตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่จำต้องคัดแยกผู้กระทำการนั้นออกจากผู้ชุมนุมอย่างสงบ มิอาจเหมารวมการกระทำของปัจเจกเป็นการกระทำของทุกคนในการชุมนุมได้
 
 

การสลายการชุมนุมและใจที่ไม่ยอมของประชาชน

 
1735
 
วันที่ 28 มีนาคม 2564 ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนได้เข้าสลายการชุมนุมและจับกุมบุคคลไปไม่น้อยกว่า 67 คน เพจเฟซบุ๊ก  UNME of Anarchy รายงานสดในเวลา 05.57 น. เป็นภาพของเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนวางกำลังเต็มด้านหน้าหมู่บ้านทะลุฟ้าและมีตำรวจประกาศว่า ตอนนี้อยู่ภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องเปิดพื้นผิวการจราจร ให้เวลาเก็บของ 3 นาทีและพาตัวขึ้นรถผู้ต้องขัง มีรายงานต่อมาด้วยว่า ผู้หญิงบางคนยังไม่มีเวลาที่จะสวมเสื้อชั้นในให้เรียบร้อยด้วยซ้ำ
 
 
การสลายการชุมนุมเกิดขึ้นอย่างทันด่วนและไม่คาดคิดว่า จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น เนื่องจากแต่ละวันมีตำรวจมาประจำการในพื้นที่ แต่ไม่มีการแจ้งเตือนใดๆตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ มีเพียงการประกาศปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวของกทม.เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 แม้จะถูกสลายการชุมนุมแต่พวกเขายังสู้และยืนยันต่อเสรีภาพในการแสดงออก ดังนี้
 
 
๐ ไม่กล่าวคำสึก
 
 
จากจำนวน 67 คนที่ถูกจับกุมในช่วงเช้ามืดนั้นมีพระสงฆ์ 2 รูปคือ พระประนมกร ปราณีตและ พระวิรัช แซ่คู ที่ถูกพาตัวไปลาสิกขาบทที่วัดเบญจมบพิตรฯ จากบทสัมภาษณ์ของวอยซ์ทีวี พระประนมกรระบุว่า เจ้าหน้าที่จากสำนักพุทธฯมาสอบสวนและบอกว่า ตามกฎของมหาเถรสมาคมไม่ให้พระยุ่งการเมือง เมื่อติดต่อไปที่วัดต้นสังกัด วัดดังกล่าวปฏิเสธการเข้าสังกัด จากนั้นจึงกราบพระพุทธรูป แต่ไม่ยอมกล่าวคำสึกและจึงนำตัวไปที่ตชด. ภาค 1
 
 
๐ จัดชุมนุมต่อ - ชู 3 นิ้วรอให้จับ
 
 
ระหว่างที่ชาวทะลุฟ้า 67 คนถูกคุมตัวที่ตชด.ภาค 1 นักกิจกรรมที่เหลือก็ประกาศรวมตัวอีกครั้งในเวลา 15.00 น. บริเวณป้อมจราจร ถนนพระราม 5 ข้างศาลกรมหลวงชุมพรฯ ท่ามกลางการวางกำลังของตำรวจชุดควบคุมฝูงชนอย่างหนาแน่น โดยครั้งนี้ตัวแทนไม่แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เนื่องจากเป็นการชุมนุมแบบฉับพลัน กิจกรรมเริ่มขึ้นได้ประมาณ 2 ชั่วโมง เวลา 17.22 น. เลิศศักดิ์ ประกาศว่า เจ้าหน้าที่เตรียมเข้าสลายการชุมนุมรอบที่ 2 ของวัน โดยวางกำลังเริ่มแรกไว้ 3 ด้านคือ ถนนพิษณุโลก หน้าสำนักงานก.พ.ร., ถนนพระราม 5 ด้านหลังพื้นที่ชุมนุม และแยกวัดเบญจฯ เปิดทางออกด้านเดียวคือ แยกนางเลิ้งฝั่งมุ่งหน้าแยกยมราช
 
1736
 
เลิศศักดิ์ประกาศว่า ใครพร้อมที่ถูกจับให้มาอยู่บนผ้าใบสีฟ้าเป็นนัยถึงการยินยอมให้จับกุมเพื่อยืนยันเสรีภาพในการแสดงออก  โดยตกลงว่า หากตำรวจเข้ามาให้นั่งลง ชู 3 นิ้ว ไม่ตอบโต้ ไม่ปะทะ และไม่ยั่วยุ  มีคนที่ใจไม่ยอมไม่น้อยกว่า 30 คน จากนั้นเวลา 18.04 น.เมื่อตำรวจปิดการจราจรทุกทางที่มุ่งหน้าแยกพาณิชยการ ผู้ชุมนุมยกผ้าใบสีฟ้าไปที่วางกลางสะพานชมัยมรุเชฐและชูโปสเตอร์ปล่อยเพื่อนเรา ซึ่งเป็นภาพของนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังระหว่างการดำเนินคดี
 
 
ตำรวจเว้นระยะจนกระทั่งเวลา 18.20 น. จึงเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ที่อยู่บนผ้าใบสีฟ้าทั้งหมด ทั้งหมดนอนรอและชู 3 นิ้วให้ตำรวจมาอุ้มขึ้นรถผู้ต้องขัง ระหว่างนั้นมีการตะโกนบอกเล่าเหตุผลที่ต้องออกมาต่อสู้และส่งเสียงบทกวีของวิสา คัญทัพ
 
 
๐ หลากรูปแบบของความไม่จำยอม
 
เวลา 18.20 น. ตำรวจคุมตัวประชาชน 32 คนไปที่สโมสรตำรวจและมีการประกาศให้ยุติกิจกรรมแล้ว แต่ยังมีผู้ชุมนุมอีกไม่น้อยกว่า 100 อยู่ที่หน้าแนวตำรวจและแสดงออก ดังนี้
 
  • นำเก้าอี้ไปนั่ง
  • เล่นสเก็ตบอร์ดและปั่นจักรยาน
  • รถไอติมขับวนขวา
  • ชูป้ายข้อความ "ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรม"
  • อ่านข้อความอย่างสงบ
  • เดินแบบหน้าแนวตำรวจ
 
1737
 
อย่างไรก็ตามหลังจากตำรวจควบคุมฝูงชนเดินแนวมาถึงแยกนางเลิ้งมีเหตุการขว้างปาวัตถุที่ก่อให้เกิดเสียง 1 ครั้งในเวลา 20.12 น. โดยตำรวจประกาศว่า มีการถ่ายภาพเป็นหลักฐานไว้หมดแล้ว จากนั้นตำรวจควบคุมฝูงชนได้ขยับไปตั้งแนวที่แยกยมราชและอุรุพงษ์ตามลำดับ ก่อนที่สถานการณ์จะเป็นปกติในเวลา 21.00 น.
 
 
 

 

ลำดับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้า วันที่ 28 มีนาคม 2564

 
05.57 น. เพจเฟซบุ๊ก  UNME of Anarchy รายงานสดในเวลา 05.57 น. เป็นภาพของเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนวางกำลังเต็มด้านหน้าหมู่บ้านทะลุฟ้าและมีตำรวจประกาศว่า ตอนนี้อยู่ภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องเปิดพื้นผิวการจราจร ให้เวลาเก็บของ 3 นาที ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่บางคนเริ่มเก็บสิ่งกีดขวางที่อยู่หน้าทางเข้าหมู่บ้าน เช่น กองฟางและแผงเหล็กกั้น
 
06.00 น. เจ้าหน้าที่ประกาศให้ประชาชนนั่งรวมตัวกัน ใครขัดขืนจำเป็นต้องถูกควบคุมตัวและให้ยุติการรายงานสด
 
06.55 น. มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ยึดอุปกรณ์สื่อสารของชาวบ้านทะลุฟ้าไปด้วย ผู้ถูกจับกุมมีทั้งเยาวชน พระสงฆ์และบุคคลทั่วไป
 
08.08 น. ตำรวจควบคุมฝูงชนวางกำลังปิดทางเข้าสะพานอรทัย และมีการปิดแยกนางเลิ้ง ขาเข้าแยกพาณิชยการ โดยตำรวจแจ้งว่า ปิดถนนเพราะมีการสลายการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล
 
08.13 น. ที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ข้างศาลกรมหลวงชุมพรฯ มีตำรวจควบคุมฝูงชนวางกำลังด้านหน้า เจ้าหน้ากองพิสูจน์หลักฐานกำลังเข้าตรวจสอบพื้นที่
 
08.19 น. เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์แจ้งว่า ตนเป็นผู้แจ้งการชุมนุม ขอเข้าไปด้านในหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่บอกให้รอก่อน 
 
08.22 น. เลิศศักดิ์ถามอีกครั้ง เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนยังไม่ให้เข้าจึงนั่งรอที่หน้าแนว ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบถ่ายภาพและวิดีโออย่างต่อเนื่อง
 
08.44 น. ผู้ชุมนุมวางป้ายข้อความ "What is happening in Thailand"
 
08.46 น. วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหารโพสต์เฟซบุ๊กโดยสรุปว่า การสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้า เกิดขึ้นก่อนการถ่ายภาพรวมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ในวันที่ 30 มีนาคม 2564 มีรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่า หากไม่เคลียร์พื้นที่อาจจะมีเสียงผู้ชุมนุมตะโกนไล่และหวั่นว่า จะมีการขว้างปาสิ่งของ ทั้งยังมีรายงานว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสั่งให้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว 
 
อ้างอิง : https://www.facebook.com/WassanaJournalist/posts/3952819454776483
 
09.07 น. แซม-พรชัย ยวนยี, สหายไดโน่-นวพล ต้นงามและชายอีก 1 คนถูกจับแต่ตำรวจให้มารอเป็นพยานตรวจหมู่บ้าน ทั้ง 3 เลยยังไม่ถูกคุมตัวไปไหน
 
09.17 น. แซม-พรชัย ยวนยี, สหายไดโน่-นวพล ต้นงามและชายอีก 1 คนถูกพาตัวไปตชด.  
 
09.49 น. ตำรวจควบคุมฝูงชนวางกำลังที่ด้านหน้าหมู่บ้านหนาแน่นขึ้นเป็น 2 แถว บางส่วนเตรียมสายรัดข้อมือสำหรับการจับกุมไว้ ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่กทม.ได้เก็บของไปเรื่อยๆ ที่หน้าเวทีมีเส้นหลอดไฟที่ตกแต่งอยู่ เจ้าหน้าที่ปล่อยลงมาที่พื้นที่ ทำให้หลอดไฟบางส่วนกระแทกพื้นแตก ชาวหมู่บ้านจึงไปถามว่า ทำไมไม่เก็บให้ดีๆ ทำแบบนี้เป็นการทำให้เสียทรัพย์ เมื่อถูกต่อว่า เจ้าหน้าที่จึงเก็บดีขึ้น
 
รายการของที่ยึดขึ้นรถเช่น
 
1. ลำโพงใหญ่
2. บันไดอลูมิเนียม
3. โต๊ะหน้าเรียบขาว 
4. มุ้งและเตนท์
5. เครื่องเสียง
6. หลอดไฟ
7. สิ่งของที่เก็บไว้ในตู้คอนเทนเนอร์ ใส่กล่องกระดาษจำนวนมากกว่า 15 กล่อง
8. เตนท์
9. เชือกฟาง
10. หมวกกันน็อค
11. เครื่องปั่นไฟ
12. กล่องบริจาคอะครีลิค
13. สี
14. ห้องน้ำตู้
 
09.57 น. ตำรวจควบคุมฝูงชนถอยออกจากแผงเหล็กทั้งหมดและกล่าวสั่งการว่า หากดันแผงมาก็จับ ขณะที่เลิศศักดิ์ตั้งคำถามความโปร่งใสของการตรวจสอบพื้นที่ที่ไม่เปิดให้บุคคลที่ 3 ร่วมตรวจสอบ แม้จะอ้างว่า มีผู้ต้องหา 3 คนรอเป็นพยาน แต่ระหว่างที่ตรวจค้น ทั้ง 3 คนไม่ได้เดินตามตรวจสอบทีละจุด เขาย้ำว่า หมู่บ้านนี้ไม่มีความรุนแรง ถ้าจะมีคือ มือที่ 3 และหากไม่ปล่อยพี่น้องเราในวันนี้เราจะตั้งหมู่บ้านใหม่ในวันนี้
 
09.59 น. เจ้าหน้าที่บช.ตชด.พร้อมอุปกรณ์กีดขวางเช่น รั้วอลูมิเนียมและแผงเหล็กเข้าพื้นที่ประตู 2 ทำเนียบรัฐบาล
 
10.00 น. พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวถึงการสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้าว่า การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลเมื่อเช้านี้ เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า มีผู้ชุมนุมปักหลักที่ถนนพระราม 5 ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย นอกจากเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมายแล้ว ยังได้มีการรุกล้ำหรือบุกรุกพื้นที่สาธารณะ มีการบุกรุกสถานที่ราชการบางส่วน มีการลักทรัพย์ซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางราชการ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าหรือน้ำประปา มีการทุบทำลายสิ่งของทางราชการก่อให้เกิดความเสียหาย มีการต่อท่อสิ่งโสโครกหรือสิ่งปฏิกูลลงพื้นที่คลอง ก่อให้เกิดความสกปรกในพื้นที่โดยรวม มีการกีดขวางเส้นทางจราจร 
 
กองบัญชาการตำรวจนครบาลมีตำรวจจับกุม 70 คน นำส่งตชด. ในข้อหาชุมนุมมั่วสุมผิดกฎหมายตามมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกอบกับพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ทั้ง 2 กรณีตำรวจนครบาล 1 และสน.นางเลิ้งได้แจ้งเตือนผู้ชุมนุมมาตลอดตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2564 นอกจากนี้ตำรวจได้พบยาเสพติดเป็นกัญชาแท่งจำนวนหนึ่ง ส่วนความผิดอื่นๆอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน ส่วนการแพร่คลิปว่า ตำรวจไม่ให้สื่อมวลชนหรือไม่มีตัวแทนของผู้ต้องหาร่วมตรวจค้น ตำรวจขอเรียนว่า ปฏิบัติโดยเคร่งครัด มีตัวแทนผู้ต้องหาและสื่อมวลชนเป็นตัวแทนตรวจค้นตลอด ผู้ที่ส่งข้อความ คลิปขอให้หยุดการกระทำ หากส่งข้อความต่อไปอาจจะมีความผิดตามพ.ร.บ.คอมฯ และดำเนินคดีตามกฎหมายได้
 
11.30 น. ชาวหมู่บ้านสังเกตเห็นว่า ของบางส่วนที่ไม่ได้ถูกยึด มีการส่งออกมาให้ประชาชนที่อยู่ภายในศาลกรมหลวงชุมพรฯ จึงไปขอคืน ประชาชนยอมคืน เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครแจ้งว่า ทรัพย์สินที่ยึดไปจะนำไปไว้ที่สน.นางเลิ้ง สามารถติดต่อรับคืนได้ มีสิ่งของบางส่วนไม่ถูกยึดไปเช่น ข้าวสารและขนม 
 
11.35 น. ผู้ชุมนุมแจ้งปากต่อปากว่า ตำรวจนำตัวเยาวชนมาที่สน.นางเลิ้ง
 
12.40 น. เครือข่ายพีเพิ้ลโกนัดชุมนุมที่หมู่บ้านทะลุฟ้าอีกครั้งระบุว่า ร่วมกันทวงคืนหมู่บ้านทะลุฟ้าเพื่อร่วมกันประณามการสลายและจับกุมที่ไม่เป็นธรรม เรียกร้องให้ปล่อยชาวหมู่บ้านทะลุฟ้าทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไขทันที
 
13.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น กลุ่มแนวร่วมประชาชนอีสานเพื่อประชาธิปไตย (นปป.) อ่านแถลงการณ์กรณีสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้า
 
13.06 น. ห้องน้ำตู้บางส่วนถูกนำขึ้นรถเขตดุสิต
 
13.32 น. รถตำรวจมาจอดที่ถนนพระราม 5 ไม่น้อยกว่า 8 คัน มีตำรวจควบคุมฝูงชนบางส่วนวางกำลังที่ประตู 2 ทำเนียบรัฐบาล เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ
 
15.00 น. เริ่มกิจกรรม
 
15.17 น. นันทพงศ์ ปานมาศ นักกิจกรรมกล่าวว่า ผู้ชุมนุมมาจัดกิจกรรมโดยสงบ ขอให้ตำรวจถอยแนวแผงเหล็กด้านหลังเวทีลงไป เพื่อความปลอดภัยของผู้ชุมนุมและผู้สื่อข่าวในพื้นที่  จากนั้นจึงถอยแผงเหล็กลงไปประมาณ 10 เมตร ตำรวจไม่ได้ว่าอะไร
 
15.22 น. เลิศศักดิ์ประกาศว่า บริเวณนี้เป็นหมู่บ้านแห่งใหม่ ให้ทุกคนดูแลตัวเองและไม่ต้องนำกำลังมาล้อม พร้อมเรียกร้องว่า ตำรวจจะต้องปล่อยผู้ถูกคุมตัวทั้งหมดวันนี้ ไม่อย่างนั้นเราจะตั้งหมู่บ้านปักหลักอีกครั้ง รัฐอ้างโรคโควิด 19 และใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หากสงสัยว่า หมู่บ้านเราเป็นแหล่งแพร่ระบาดโควิด 19 หรือไม่ก็ให้มาตรวจเลย
 
15.30 น. ชุมาภรณ์ แต่งเกลี้ยงเดินเข้าไปภายในหมู่บ้านทะลุฟ้าเดิมและหยิบคันธงของกลุ่มเฟเมนิสต์คืน จังหวะเดินออกตำรวจยื้อธงไว้ ผู้ชุมนุมโห่ร้องจึงยอมคืน จากนั้นผู้ชุมนุมต่างบอกเล่าว่า เมื่อเช้านี้ตำรวจยึดอะไรไปบ้าง เช่น ไก่, ถุงยางรณรงค์ของเฟมินิสต์ปลดแอก, พัดลม และเครื่องปั่นไฟ
 
15.45 น. ตำรวจและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่ทราบสังกัดประจำทำเนียบรัฐบาลมาสำรวจพื้นที่ที่ด้านหลังแนวตำรวจศาลกรมหลวงชุมพรฯ ขณะที่รถตู้ตำรวจทยอยเข้ามาจอดภายในถนนพระราม 5 และวัดเบญจฯ ต่อเนื่อง บรรยากาศไม่ตึงเครียด
 
16.09 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เยาวชนจำนวน 6 คนที่ถูกจับกุม กำลังเดินทางจาก ตชด.ภาค1  ไปศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเพื่อตรวจสอบการจับกุม   โดยขณะนี้ยอดผู้ถูกจับกุมจากการสลายหมู่บ้านทะลุฟ้า สรุปที่ 67 คน เป็นผู้ใหญ่ 61 คน และเยาวชน 6 คน
 
16.36 น. ตัวแทนนักกิจกรรมหลายกลุ่มเริ่มพูดคุยในประเด็นการร่วมเคลื่อนไหวกับชาวหมู่บ้านทะลุฟ้า ซึ่งที่ผ่านมาเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับการพูดคุยในประเด็นสังคมต่างๆ เช่น ภาคี saveบางกลอย ในเรื่องการกลับใจแผ่นดินของชางบ้านบางกลอยและประชาชนเบียร์ เรื่องการผลักดันการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์
 
16.57 น. ตำรวจควบคุมฝูงชนตั้งแนวห่างจากเวทีผู้ชุมนุมประมาณ 5 เมตร ไม่มีการเผชิญหน้า ขณะที่กำลังตำรวจเตรียมพร้อมอยู่ถนนพระราม 5 ข้างคลองเปรมประชากร บางส่วนอยู่บริเวณวัดเบญจฯ
 
17.13 น. ตำรวจควบคุมฝูงชนวางกำลังภายในสำนักงานก.พ.ร.
 
17.19 น. ด้านหน้าสำนักงานก.พ.ร. มีรถบัสกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชนมาจอดไม่น้อยกว่า 4 คัน
 
17.20 น. ภายในสำนักงานก.พ.ร. ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเริ่มตั้งแถว
 
17.22 น. เลิศศักดิ์ประกาศว่า เจ้าหน้าที่เตรียมเข้าสลายการชุมนุมรอบที่ 2 ของวัน ใครพร้อมที่ถูกจับให้มาอยู่บนผ้าใบสีฟ้าเป็นนัยถึงการยินยอมให้จับกุมเพื่อยืนยันเสรีภาพในการแสดงออก  โดยตกลงว่า หากตำรวจเข้ามาให้นั่งลง ชู 3 นิ้ว ไม่ตอบโต้ ไม่ปะทะ และไม่ยั่วยุ  มีคนที่นั่งอยู่ไม่น้อยกว่า 30 คน
 
17.22 น. ด้านหน้าสำนักงานก.พ.ร. มีรถกระบะตำรวจมาเพิ่มไม่ต่ำกว่า 10 คัน ด้านหลังมีอุปกรณ์ป้องกันเช่น โล่
 
17.40 น. แยกวัดเบญจฯ ตำรวจตั้งแผงเหล็กปิดถนนขาเข้าแยกพาณิชยการ (สะพานชมัยมรุเชฐ) แยกนางเลิ้งยังไม่ปิดการจราจร
 
17.42 น. ปิดการจราจรมุ่งหน้าสะพานชมัยมรุเชฐ จากแยกสวนมิสกวัน, วัดเบญจฯ และนางเลิ้ง
 
17.43 น. ที่สะพานชมัยมรุเชฐ ฝั่งประตู 2 ของทำเนียบรัฐบาล เบนจา อะปัญและนักกิจกรรม จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมชูป้ายข้อความว่า "สลายบ้านทะลุฟ้า  By ชาติหมาทะลุนรก" จากนั้นเลิศศักดิ์ประกาศว่า ใครเห็นด้วยกับแนวทางของชาวทะลุฟ้าให้ไปร่วมกันนั่งที่หน้าหมู่บ้าน ฝั่งศาลกรมหลวงชุมพรฯ นักกิจกรรมเดินตามไป บางส่วนติดป้ายผ้าไว้ที่แผงเหล็กหน้าประตู 2 ของทำเนียบรัฐบาล ด้านในมีตำรวจชุดกากีวางกำลังประมาณ 10 นาย
 
17.47 น. ตำรวจควบคุมฝูงชนมาเพิ่มบริเวณหลังเวทีทะลุฟ้าเรียงแถวปิดทั้งถนน พร้อมโล่เสื้อเกราะและหมวก ขณะอาเล็กยังคงร้องเพลง
 
17.49 น. ตำรวจปล่อยรถจากแยกนางเลิ้งเข้ามาที่แยกพาณิชยการ
 
17.54 น. เลิศศักดิ์ประกาศว่า ถ้าพี่น้องไม่พร้อม พี่น้องไม่ต้องรู้สึกผิดเพราะพี่น้องเป็นกำลังใจให้หมู่บ้านทะลุฟ้ามาถึง 14 วันแล้ว และยังคงย้ำว่าจะใช้วิธีเดียวในการตอบรับการสลายการชุมนุมคือการนั่งเฉยๆ
 
17.59 น. ตำรวจควบคุมฝูงชนตั้งแนวเดินมาจากหน้าพิพิธภัณฑฺ์ต้านโกง ขณะที่ด้านข้างศาลกรมหลวงชุมพรฯ ผู้ชุมนุมที่เตรียมพร้อมการจับนั่งอยู่บนผ้าใบและชูโปสเตอร์ #ปล่อยเพื่อนเรา
 
18.00 น. ที่แยกนางเลิ้ง ตำรวจนำแผงเหล็กปิดการจราจรขาเข้าแยกพาณิชยการ
 
18.02 น. ผู้กำกับการสน.นางเลิ้งอ่านประกาศข้อกฎหมายและให้เวลาผู้ชุมนุม 15 นาที
 
18.04 น. ตำรวจควบคุมฝูงชนตั้งแนวบริเวณป้ายรถเมล์ หน้าสำนักงาน ก.พ.ร. ตำรวจประกาศว่า ขอให้สื่อมวลชนออกซ้ายขวา เราต้องการแบ่งประชาชนและสื่อมวลชวน ส่วนใครต้องการออกจากพื้นที่ให้ออกทางแยกนางเลิ้ง หากฝ่าฝืนจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย
 
18.05 น. เลิศศักดิ์ประกาศว่า พี่น้องที่พร้อมยืนยันเสรีภาพและให้จับกุมให้ยกผ้าใบน้ำเงินมาปูและนั่งกลางสะพานชมัยมรุเชฐ และเราจะกลับมาใหม่
 
18.07 น. ผู้ชุมนุมนำผ้าใบสีฟ้ามาปูบนสะพานชมัยมรุเชฐ ตำรวจประกาศต่อเนื่องว่า หากไม่ยินยอมเลิกการชุมนุมเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย ตำรวจหลังแนวเวทีทะลุฟ้า ถนนพระราม 5 วางกำลังพร้อมยังไม่ขยับ ตำรวจบริเวณนี้มีอุปกรณ์ป้องกัน ไม่พบอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนอื่นๆ เช่น ปืนยาว ด้านหลังไม่มีรถผู้ต้องขังจอดเตรียมพร้อมคุมตัว
 
18.08 น. ที่แนวป้ายรถเมล์ หน้าสำนักงานก.พ.ร. ตำรวจสั่งหน้าเดินเข้าหาผู้ชุมนุมบนสะพานชมัยมรุเชฐ ขณะที่ผู้ชุมนุมยังคงถือโปสเตอร์ปล่อยเพื่อนเราและชู 3 นิ้ว 
 
18.10 น. ตำรวจควบคุมฝูงชนเดินถึงธนาคารกรุงเทพและเจ้าหน้าที่บางนายมีปืนยาวและเครื่องช็อตไฟฟ้า ด้านหลังมีรถผู้ต้องขังใหญ่ขับตาม ขณะที่มีกำลังเดินมาสมทบจากถนนนครปฐม ข้างสำนักงานก.พ.ร.
 
18.11 น. ตำรวจประกาศว่า สื่อมวลชนที่อยู่บนผิวจราจร หากไม่ให้ความร่วมมือ เราจำเป็นต้องควบคุมตัวถือว่า ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่
 
18.12 น. รถผู้ต้องขังใหญ่เตรียมพร้อมถอยหลังเข้าหาแนวตำรวจที่หน้าทำเนียบรัฐบาลประตู 2 ขณะที่ตำรวจประกาศว่า เหลือเวลาอีก 8 นาที ขอความร่วมมือให้เดินทางกลับบ้านทางแยกนางเลิ้งและสื่อมวลชนให้อยู่บนทางเท้า หากฝ่าฝืนจะดำเนินคดีตามกฎหมาย
 
18.18 น. ตำรวจควบคุมฝูงชนข้างศาลกรมหลวงชุมพรฯ ขยับแนวมาที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐฯ ตอนนี้มีการวางกำลัง 3 จุดคือ ถนนพิษณุโลก ประตู 2 ทำเนียบรัฐบาล, ถนนนครปฐม ด้านข้างสำนักงานก.พ.ร.และถนนนครปฐม ด้านข้างศาลกรมหลวงชุมพรฯ  ตำรวจประกาศว่า เหลือเวลาอีก 2 นาทีให้ยุติกิจกรรม ตำรวจจำเป็นต้องควบคุมสถานการณ์ การกระทำเช่นนี้เป็นความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประกาศควบคุมโรคตามพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และพ.ร.บ.จราจรฯ
 
18.20 น. ตำรวจประกาศอีกครั้งว่า จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย สื่อมวลชนให้ขึ้นทางเท้า
 
18.22 น. ตำรวจควบคุมฝูงชนเดินหน้าไปที่สะพานชมัยมรุเชฐ ขณะที่รถผู้ต้องขังใหญ่เข้ามาทางแยกวัดเบญจฯ 1 คัน 
 
18.24 น. แนวตำรวจประชิดผู้ชุมนุมบนสะพานชมัยมรุเชฐ และก้าวข้ามผู้ชุมนุมที่นอนรอการจับกุมไปที่ทางเชิงสะพานชมัยมรุเชฐฝั่งศาลกรมหลวงชุมพรฯ และหยุดตรึงกำลัง ขณะที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนและกองร้อยน้ำหวานจากหน้าก.พ.ร.เริ่มจับกุมผู้ชุมนุมโดยใครที่นอนลงจะหิ้วตัวตามยุทธวิธี ใครที่ยืนจะล้อมตัวไปขึ้นรถผู้ต้องขัง มีการล้อมกั้นไม่ให้ผู้สื่อข่าวและประชาชนให้อยู่บนทางเท้า
 
18.26 น. ตำรวจสั่งกำลังบนสะพานชมัยมรุเชฐถอยแนวลง 10 ก้าว อยู่ประมาณกลางสะพานชมัยมรุเชฐ
 
18.28 น. ที่หน้าโรงเรียนราชวินิต มีกลุ่มรถมอเตอร์ไซด์มาบีบแตร ตำรวจประกาศถึงกลุ่มมอเตอร์ไซด์และบีบแตรว่า "ประชาสัมพันธ์ท่านที่ป่วนเมืองอยู่ หากท่านไม่หยุด...." (พูดไม่จบประโยค)
 
18.30 น. ตำรวจควบคุมฝูงชนดันมาถึงแยกพาณิชยการและหยุดรักษาแนว มีการประกาศให้เปิดช่องออกทางแยกนางเลิ้ง
 
18.32 น. ตำรวจประกาศให้ประชาชนที่ข้างรร.ราชวินิต แยกย้ายเดินทางกลับ หากไม่กลับจะบังคับใช้กฎหมาย อธิบายว่า ละเมิดพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯและพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
 
18.34 น. ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ กล่าวว่า เพื่อนของเรา 30-40 คนนั่งอยู่บนผ้าปูสีฟ้าแสดงเจตจำนงยอมให้จับ เพื่อยืนยันเสรีภาพการชุมนุมและการแสดงออก 
 
18.37 น. ตำรวจควบคุมฝูงชนบนสะพานชมัยมรุเชฐถอยหลัง 5 ก้าว ที่แยกนางเลิ้ง ตำรวจเปิดการจราจรขาเข้าแยกพาณิชยการ
 
18.39 น. ยิ่งชีพประกาศยุติกิจกรรมและให้ประชาชนเดินทางกลับบ้าน แต่ยังมีผู้ที่ไม่ยินยอมออกนอกพื้นที่ไม่น้อยกว่า 100 คน
 
18.44 น. ตำรวจประกาศให้ผู้ที่อยู่บนพื้นผิวการจราจรแยกย้าย การทำกิจกรรมวันนี้ไม่มีแล้ว ประชาชนโห่
 
18.46 น. ตำรวจสั่งกำลังที่แนวสะพานชมัยมรุเชฐตั้งโล่ลงพื้น
 
18.48 น. ตำรวจควบคุมฝูงชนบนสะพานชมัยมรุเชฐขยับแนวเข้ามาที่แยกพาณิชยการอีกครั้ง มีการประกาศให้สื่อมวลชนไปอยู่ที่หน้าโรงเรียนราชวินิต ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบตามถ่ายภาพผู้ที่อยู่หน้าแนวทีละคน
 
18.58 น. ตำรวจประกาศอีกครั้งว่า หากไม่แยกย้าย เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย ท่านไม่ใช่เจ้าพนักงานการจราจรที่จะปิดถนนได้  ผู้ชุมนุมประกาศว่า มาเลย
 
จากนั้นประชาชนจำนวนมากไปแสดงออกที่หน้าแนวตำรวจ
 
1. นำเก้าอี้ไปนั่งด้านหน้า
2. เล่นสเก็ตบอร์ดและปั่นจักรยาน
3. รถไอติมขับวนขวา
4. ชูป้ายข้อความ "ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรม" 
5. อ่านข้อความอย่างสงบ
 
19.10 น. ตำรวจประกาศให้สื่อมวลชนและประชาชนที่อยู่บริเวณป้อมตำรวจแยกพาณิชยการฝั่งพระราม 5 ออกไปอยู่ทางฝั่งโรงเรียนราชวินิต ตอนนี้ตำรวจตั้งแนวมา 3 ฝั่งคือ แนวสะพานชมัยมรุเชฐ, แนวศาลกรมหลวงชุมพรฯ และฝั่งพระราม 5 ทางวัดเบญจฯ
 
19.15 น. ตำรวจประกาศอีกครั้งว่า ขอความเห็นใจและให้กลับบ้าน เจ้าหน้าที่ไม่ต้องการจับกุม แต่หากไม่กลับเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องควบคุมตัว เราไม่ต้องการจับกุมใคร เรามาดูแลความเรียบร้อย ค่ำมืดแล้วอาจเป็นอันตรายได้
 
19.16 น. ตำรวจประกาศต่อว่า หากจะต้องขอคืนพื้นที่อีกครั้ง เราจำเป็นจำต้องคุมตัว ผู้ชุมนุมไม่น้อยกว่า 100 คนยังอยู่บริเวณแยกพาณิชยการ ฝั่งแยกนางเลิ้ง บางคนที่มีมอเตอร์ไซค์บีบแตรใส่
 
19.18 น. ตำรวจแจ้งเตือนว่า รถขายของที่อยู่บริเวณนี้ หากแจ้งเตือนแล้วท่านไม่ขยับเราจำเป็นต้องคุมตัว
 
19.19 น. เพชร นักกิจกรรมเยาวชนไปเดินแบบที่หน้าแนวตำรวจ
 
19.21 น. ตำรวจควบคุมฝูงชนบนสะพานชมัยมรุเชฐดันแนวมาอีกครั้ง ตำรวจอีกนายหนึ่งประกาศว่า มีความจำเป็นต้องขอคนพื้นที่ ขณะที่แนวตำรวจอีก 2 ฝั่งไม่ขยับ ให้สื่อมวลชนขึ้นทางเท้า เพื่อเตรียมพร้อมการปฏิบัติการรอบใหม่ ตอนนี้มีประชาชนเหลืออยู่ประมาณ 50 คน
 
19.24 น. ตำรวจมีท่าทีเตรียมพร้อม ตำรวจฝั่งวัดเบญจฯ ขยับมาใกล้ผู้ชุมนุมมากขึ้น
 
19.30 น. รถที่มาจากแยกนางเลิ้งมุ่งหน้าแยกพาณิชยการต้องเลี้ยวกลับไปที่แยกนางเลิ้ง โดยตรงไปที่ถนนพิษณุโลกหรือเลี้ยวขวาไปแยกวัดเบญจฯไม่ได้เนื่องจากแนวตำรวจที่กั้นผู้ชุมนุมไว้
 
19.41 น. ผู้ชุมนุมนำแผงเหล็กมากั้นแนวบริเวณแยกพาณิชยการขาออกมุ่งหน้าแยกนางเลิ้ง แต่ยังเปิดช่องทางให้รถที่ต้องการกลับรถไปที่แยกนางเลิ้งกลับรถได้อยู่
 
19.50 น. ผู้ชุมนุม 1 คนไปยืนอ่านข้อความอย่างสงบที่หน้าแนวตำรวจ
 
19.57 น. ผู้ชุมนุมตะโกนว่า ตำรวจควบคุมฝูงชนมาจากแยกนางเลิ้ง ฝั่งมุ่งหน้าทำเนียบฯ จากนั้นจึงวิ่งกรูออกไปทางแยกนางเลิ้ง ฝั่งโรงเรียนราขวินิต ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนที่อยู่แยกพาณิชยการไม่ดันแนวตาม
 
20.01 น. ตำรวจสั่งให้ชุดคุมฝูงชนเฉพาะบนสะพานชมัยมรุเชฐเดินหน้าไปที่แยกนางเลิ้ง  ส่วนฝั่งพระราม 5 ให้อยู่กับที่ และเรื่มเดินเคลียร์พื้นที่
 
20.02 น. ผู้ชุมนุมอยู่หน้าโรงเรียนราชวินิต นำแนวรั้วเหล็กมาขวางถนนและประกาศว่า ยิงกูดิ
 
20.05 น. ตำรวจเดินหน้ามาถึงหน้าป้ายรถเมล์ราชวินิต และสั่งให้สื่อมวลชนและประชาชนลงจากสะพานลอย. ขอให้ยืนบนทางเท้า แต่เมื่อลงมาที่ทางเท้า มีตำรวจควบคุมฝูงชนถือโล่สีดำวิ่งเหยาะตามและตะโกนกลับบ้านไปๆ
 
20.09 น. ตำรวจควบคุมฝูงชนเดินหน้าต่อเนื่องถึงสะพานลอยหน้าราชวินิตฯ โดยเดินแนวสองฝั่งถนนขาเข้าขาออกแยกนางเลิ้ง และมีการประกาศว่า เมื่อเคลียร์พื้นที่แล้วจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
 
20.11 น. ตำรวจประกาศว่า เตรียมตัวปล่อยม้าและจับกุมทั้งหมด
 
20.12 น. มีเสียงดังปัง 1 ครั้ง ตำรวจประกาศว่า "เสื้อขาวที่ปามาเราบันทึกภาพไว้แล้ว หนีได้หนีไป แยกยมราชมีคฝ.อยู่แล้ว คฝ.ยมราช ตั้งแนว ขอให้โชคดีนะครับ"
 
20.14 น. ตำรวจดันแนวจากสะพานชมัยมรุเชฐถึงแยกนางเลิ้ง ด้านหลังมีรถผู้ต้อง ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนบางนายมีการถือปืนยาวเดินแนวเลี้ยวไปทางถนนนครสวรรค์ ที่ถนนนครสวรรค์ ตำรวจเดินแนวจากสะพานแยกเทวกรรมมาที่แยกนางเลิ้ง 
 
20.18 น. ที่แยกยมราช ไม่มีแนวตำรวจ
 
20.18 น. ตำรวจประกาศว่า คฝ.ทั้งหมดขึ้นทางเท้าเปิดทางจราจร ตำรวจจากสะพานชมัยฯ บนถนนพิษณุโลกขึ้นฟุตบาทแล้ว แต่ตำรวจจากแยกเทวกรรม ถนนนครสวรรค์ยังปิดแยกนางเลิ้งอยู่
 
20.19 น. กลุ่มมอเตอร์ไซด์กลับมาบีบแตรและบอกว่า "กลับไปได้แล้วอีสัส"
 
20.23 น. ตำรวจประกาศว่า มอเตอร์ไซด์วินหากท่านปักหลักอยู่เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องคุมตัว ทำให้วินมอเตอร์ไซด์ที่ข้ามแยกนางเลิ้งมาแล้วและจอดอยู่ไหล่ทางต้องออกจากพื้นที่ไป 
 
20.25 น. ตำรวจควบคุมฝูงชนประมาณ 5 นายถือปืนยาววิ่งมาจากหน้าโรงเรียนราชวินิตมาที่แยกนางเลิ้ง กลุ่มมอเตอร์ไซด์ขับหนี
 
20.26 น. พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแถลงเรื่องการสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้าว่า วันนี้มีการบังคับใช้กฎหมายใน 2 วาระคือ เวลา 06.00 น. มีการจับกุมประชาชน 67 คนและช่วงบ่ายที่ผู้ชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้า นำโดยเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ โดยกลุ่มนี้สร้างความเดือดร้อน นำผ้าใบมาปูบนพื้นและนอนกีดขวางการจราจร ทั้งที่ตำรวจมีการแจ้งเตือนเป็นระยะ ทั้งนี้จากการข่าวที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ว่า อาจจะมีการก่อเหตุที่จะนำไปสู่ความไม่ความสงบเรียบร้อย จึงทำการจับกุมไป 32 คน เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมถึงสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้าในช่วงเช้ามืด พล.ต.ต.ปิยะตอบว่า พระอาทิตย์ขึ้นแล้ว เป็นเวลากลางวันแล้ว
 
20.27 น. ตำรวจเปิดการจราจรแยกนางเลิ้งและเตรียมจัดขบวนรถตำรวจมุ่งหน้าไปยมราช โดยให้ตำรวจควบคุมฝูงชนขึ้นกระบะไป
 
20.30 น. ตำรวจควบคุมฝูงชนตั้งขบวนมาตั้งแนวที่แยกยมราช โดยมีบางส่วนไม่ใส่ผ้าพันคอและถือปืนยาว
 
20.35 น. ตำรวจควบคุมฝูงชนตั้งขบวนจากแยกยมราชมาที่แยกอุรุพงษ์
 
20.40 น. ตำรวจควบคุมฝูงชนตั้งแนวที่แยกอุรุพงษ์ บริเวณสะพานลอยก่อนข้ามไปทางแยกบรรทัดทอง
 
20.44 น. ตำรวจควบคุมฝูงชนถอนกำลังจากแยกอุรุพงษ์
 
20.55 น. แยกนางเลิ้งขาเข้าและขาออกแยกพาณิชยการเปิดการจราจร  
 
21.01 น. ที่แยกอุรุพงษ์ สถานการณ์ปกติ ทีมพยาบาลออกจากพื้นที่

 

Article type: