1326 1305 1208 1428 1232 1431 1961 1371 1967 1535 1478 1808 1843 1049 1946 1707 1426 1281 1673 1439 1764 1812 1465 1904 1303 1488 1066 1231 1631 1338 1279 1848 1056 1338 1839 1634 1647 1326 1629 1544 1669 1714 1327 1644 1225 1534 1026 1209 1511 1813 1325 1953 1892 1084 1509 1452 1659 1913 1110 1945 1538 1840 1861 1649 1597 1723 1907 1895 1954 1319 1606 1640 1938 1252 1108 1383 1676 1211 1272 1910 1321 1792 1306 1026 1665 1723 1117 1536 1914 1102 1985 1668 1709 1196 1740 1851 1738 1289 1329 ประวัติศาสตร์-ความมั่นคง ข้อแก้ตัวประจำของไทยในเวทีโลกเรื่องมาตรา 112 | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ประวัติศาสตร์-ความมั่นคง ข้อแก้ตัวประจำของไทยในเวทีโลกเรื่องมาตรา 112

2073

 

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ (lèse-majesté law) กลายเป็นที่จับตาในเวทีนานาชาติ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ไทยเข้าสู่กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review หรือ UPR) ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งของสหประชาชาติที่เปิดให้ประเทศต่างๆ ร่วมกันเสนอข้อแนะนำเพื่อปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของชาติที่ถูกทบทวนได้ โดยมาตรา 112 ก็เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาโดยต่างชาติ อย่างไรก็ดี ผู้แทนไทยก็ตอบกลับว่ามาตรา 112 เป็นภาพสะท้อนสังคมและประวัติศาสตร์ของไทยให้ความเคารพต่อสถาบันกษัตริย์ ดังนั้น กฎหมายจึงมีไว้เพื่อปกป้องสถาบันและความมั่นคงของชาติ ส่วนการแก้ไขทบทวนกฎหมายนั้นขึ้นอยู่กับประชาชนผ่านกลไกรัฐสภา

 

การกล่าวของผู้แทนไทยต่อชาติสมาชิกสหประชาชาติในครั้งนี้กลับกลายเป็นภาพที่ย้อนแย้งกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในประเทศ เพราะในช่วงเดียวกับที่ผู้แทนไทยกำลังแถลงนั้น ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำตัดสินออกมาว่า การเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีการเสนอยกเลิกมาตรา 112 เป็นส่วนหนึ่งด้วย ถือว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 

 

กระบวนการ UPR รอบที่สามนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้แทนไทยถูกต่างชาติท้วงติงและแนะนำให้แก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ในช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ไทยถูกนานาชาติและตัวแทนขององค์กรระหว่างประเทศวิพากษ์วิจารณ์เรื่องมาตรา 112 อย่างน้อย 22 ครั้ง ผ่านทั้งช่องทางของเอกราชทูตประจำประเทศไทย กลไกระหว่างประเทศ ไปจนถึงการออกแถลงการณ์แสดงความเป็นห่วงกับการใช้กฎหมายฉบับนี้ และในกระบวนการ UPR สองครั้งที่ผ่านมา ไทยปฏิเสธที่จะแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ทุกครั้ง จึงไม่น่าแปลกใจนักหากรัฐบาลไทยจะปฏิเสธข้อเสนอแนะใดๆ ที่เกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์อีกครั้งในรอบที่สามนี้

 

จากการติดตามท่าทีของผู้แทนไทยเมื่อต้องเจอกับข้อครหาในเวทีโลก ข้ออ้างที่ผู้แทนไทยใช้ซ้ำๆ จนเชี่ยวชาญเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์สามารถแบ่งออกเป็นสองข้ออ้างหลัก ซึ่งในบางกรณีก็ดูเหมือนจะขัดแย้งกันเองอีกด้วย

 

ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของไทย ไม่เหมือนใคร

 

ข้ออ้างแรก คือ การอ้างถึงความพิเศษของสังคมไทย โดยเฉพาะสายสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและกษัตริย์ไทยที่ไม่เหมือนที่ใดในโลก ข้ออ้างเช่นนี้ตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่าประเทศที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเป็นของตนเองอย่างไทยนั้นมีลักษณะบางอย่างที่ไม่เหมือนใคร ดังนั้นหลักสากลหรือบรรทัดฐานที่ได้รับการยอมรับในสังคมระหว่างประเทศจึงต้องมีข้อจำกัดหรือยกเว้นเมื่อถูกนำมาปรับใช้กับสังคมไทย โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง

 

ในจดหมายตอบกลับผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่ถามเกี่ยวกับการดำเนินคดีมาตรา 112 กับสมยศ พฤกษาเกษมสุข เมื่อปี 2554 ลงชื่อโดยพิษณุ จันทร์วิทัน เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ร้อยเรียงตรรกะที่แสดงให้เห็นถึงความพิเศษและที่ทางของมาตรา 112 ในสังคมไทยได้อย่างชัดเจน

 

จดหมายเริ่มจากการกล่าวว่า สถาบันกษัตริย์ไทยมีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีต ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์ไทยกับสังคมไทยนั้น “แตกต่างจากกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอื่นๆ” ซึ่งเป็นผลมาจากบทบาทของกษัตริย์ในการสร้างชาติไทย จดหมายยังเล่าถึงการอุทิศตนเองอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของรัชกาลที่ 9 ให้กับคนไทย ความสัมพันธ์พิเศษระหว่างกษัตริย์กับประชาชนเกิดขึ้นในทุกๆ ที่ที่ทรงเสด็จไป อีกทั้งโครงการหลวงกว่า 4,000 โครงการยังมีส่วนอย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล

 

การทรงงานอย่างหนักของกษัตริย์ตลอด 60 ปีนั้นทำให้คนไทยไม่ถือว่ากษัตริย์เป็นเพียงประมุขแห่งรัฐเท่านั้น แต่ยังเป็น “ศูนย์รวมจิตใจของชาติ” (Soul of the Nation) อีกด้วย จดหมายโดยผู้แทนไทยสรุปว่าดังนั้นจึงไม่ใช่แค่ตัวกษัตริย์เท่านั้นแต่ยังรวมถึงความรู้สึกของประชาชนต่อกษัตริย์ด้วยที่นับว่าเป็นความมั่นคงของชาติ การโจมตีกษัตริย์สำหรับคนไทยแล้วเปรียบเสมือนพ่อแม่ของตนเองโดนเช่นเดียวกัน การแสดงออกถึงสถาบันกษัตริย์โดยไม่รับผิดชอบอาจจะทำให้ประเทศแตกเป็นฝักฝ่ายได้ และเป็นภัยอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคง

 

กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือมาตรา 112 จึงดำรงอยู่ได้ด้วยฉันทามติของคนไทย การดูหมิ่นกษัตริย์ไม่เพียงแต่มีผลกระทบถึงตัวกษัตริย์เท่านั้น แต่ยังเป็นการดูหมิ่น “คนทั้งสังคม” อีกด้วย รัฐบาลจึงจะไม่แก้ไขหรือทบทวนมาตรา 112 เพราะไม่ใช่ความต้องการของประชาชน

 

จะเห็นได้ว่าการเน้นถึงอุดมการณ์ของรัฐ และการผูกเรื่องของสถาบันกษัตริย์และความมั่นคงของชาติรวมไปถึงจิตใจของคนไทยไว้ด้วยกันได้กลายเป็นข้ออ้างที่สำคัญให้ผู้แทนไทยตั้งธงถึงความพิเศษของไทยที่ต่างจากที่อื่น ซึ่งทำให้การคงอยู่ของมาตรา 112 เป็นเรื่องที่รับได้ในบริบทไทย ข้ออ้างเช่นนี้ถูกใช้ในเวทีนานชาติหลายครั้ง คำตอบของผู้แทนไทยที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ให้ความเคารพกษัตริย์ใน UPR รอบสามนั้นจึงเป็นการเดินตามแนวการตอบคำถามแบบเดิมที่ใช้กันมาเนิ่นนานแล้ว

 

ประเทศอื่นก็มี เสรีภาพจำกัดได้เพื่อความมั่นคง

 

อย่างไรก็ตาม คงจะเป็นการง่ายเกินไปที่รัฐทุกรัฐอ้างถึงแต่ความพิเศษของตนเอง เพราะหากเป็นเช่นนี้แล้ว ไม่ว่ารัฐไหนก็สามารถปรุงแต่งข้ออ้างแล้วบอกว่าเป็นความชอบธรรมได้ทั้งสิ้น อีกทั้งการเกาะอยู่กับความไม่เหมือนใครก็ตนเองยังไม่ได้โต้แย้งปัญหาของตัวกฎหมายหรือสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น นัยยะที่ได้จากข้ออ้างเช่นนี้ดูจะเป็นการเพิกเฉยต่อปัญหาเพราะตนเองพิเศษมากกว่า

 

ตัวแทนรัฐไทยจึงต้องพยายามรังสรรค์หาคำอธิบายให้มาตรา 112 อย่างน้อยดูยังไปด้วยกันได้กับหลักสากลบ้าง

 

ข้ออ้างที่สอง จึงเป็นการอ้างถึงความเป็นสากลของมาตรา 112 ว่าสอดคล้องกับหลักสากลและพันธกรณีระหว่างประเทศแล้ว ฟังดูเผินๆ แล้วอาจจะให้ความรู้สึกขัดแย้งกับข้ออ้างก่อนหน้านี้ เนื่องจากหากไทยพิเศษกว่าที่อื่นจริงก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ต้องอ้างถึงหลักสากล แต่ในความเป็นจริง ตัวแทนของไทยมักจะใช้ข้ออ้างทั้งสองข้อนี้พร้อมกันในการชี้แจงข้อครหาที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112

 

พันธกรณีระหว่างประเทศที่ผู้แทนไทยหยิบยกขึ้นมาบ่อยครั้งก็คือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ข้อ 19 ซึ่งแม้ว่าจะให้การรับรองเสรีภาพในการแสดงออกไว้ แต่ก็ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่าสามารถจำกัดได้ด้วยกฎหมายและความจำเป็นเพื่อปกป้องสิทธิหรือชื่อเสียงของผู้อื่น หรือปกป้องความมั่นคงของชาติ โดยผู้แทนไทยก็จะใช้ข้อความนี้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับมาตรา 112 ซึ่งอ้างว่ามีไว้เพื่อปกป้องชื่อเสียงของกษัตริย์ นอกจากนี้ อีกหนึ่งข้ออ้างถึงความเป็นสากลของมาตรา 112 ที่ผู้แทนไทยมักใช้ก็คือ หลายประเทศที่ยังคงมีกษัตริย์อยู่ก็มีกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์เช่นเดียวกัน ดังนั้นการที่ไทยมีมาตรา 112 จึงไม่ใช่เรื่องผิดแผกแต่อย่างใด

 

การอ้างถึงความสอดคล้องระหว่างมาตรา 112 และ ICCPR ข้อ 19 ปรากฏอยู่ในเอกสารของทางการไทยอยู่บ่อยครั้ง ในจดหมายตอบกลับผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติซึ่งสอบถามเกี่ยวกับการดำเนินคดีมาตรา 112 กับจตุภัทร์ บุญภัทรรักษาจากกรณีแชร์ข่าวจากบีบีซี เมื่อปี 2560 ธานี ทองภักดี ซึ่งในขณะนั้นเป็นเอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ก็อ้างถึงข้อยกเว้นใน ICCPR ข้อ 19 เรื่องการปกป้องชื่อเสียงและสิทธิของผู้อื่นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับมาตรา 112

 

หรือในกรณีการตัดสินจำคุก อำพล ตั้งนพกุล หรือ “อากง” เมื่อปี 2555 จากกรณีการส่งเอสเอ็มเอสที่มีข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์ ผู้แทนไทยก็ย้ำว่ามาตรา 112 สอดคล้องกับ ICCPR ข้อ 19 อีกทั้งการลงโทษจำคุกกรรมละห้าปี ผู้แทนไทยก็เห็นว่าได้สัดส่วนแล้ว เนื่องจากมากกว่าโทษขึ้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดมาเพียงสองปีเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม การอ้าง ICCPR ข้อ 19 ของผู้แทนไทยเป็นเพียงการอ่านกติการะหว่างประเทศแต่เพียงผิวเผิน เนื่องจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ออกเอกสารตีความข้อ 19 นี้ใน UN General Comment No. 34 เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐต่าง ๆ ฉวยเอาข้อยกเว้นไปใช้ละเมิดสิทธิเสรีภาพได้ โดยเอกสารฉบับนี้ได้วางหลักกฎหมายที่จะจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกได้ตามข้อ 19 ว่า ต้องระบุการจำกัดสิทธิไว้อย่างชัดเจน เป็นไปตามหลักความจำเป็น (necessary) และชอบธรรมด้วยกฎหมาย (legitimate) รวมถึงการจำกัดสิทธินั้นต้องได้สัดส่วน (proportionality) และต้องไม่เป็นไปอย่างกว้างขวาง

 

เมื่อพิจารณาถึงมาตรา 112 ของไทยแล้วก็เป็นการยากที่จะอธิบายว่ากฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ของไทยสอดคล้องกับ ICCPR ข้อ 19 ทั้งนิยามไม่ชัดเจน การจำกัดสิทธิที่กว้างขวางนั้นก็ไม่ได้มีความจำเป็น ซ้ำร้ายยังทำให้เกิด Chilling Effect หรือภาวะที่กฎหมายมีความกว้างขวางและคลุมเครือมากจนคนไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็น อีกทั้งโทษ 3-15 ปีซึ่งเท่ากับการฆ่าคนตายโดยประมาทก็สูงเกินไปจนไม่ได้สัดส่วนใดกับความผิดที่เกิดจากการแสดงออก

 

การเปรียบเทียบกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ไทยกับกฎหมายในประเทศอื่น โดยอ้างว่า หลายประเทศที่มีกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญก็ยังคงมีกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ของตนเอง ไม่อาจหลอกสายตาชาวโลกได้ เพราะประเทศเหล่านั้นก็ทราบดีว่า กฎหมายของไทยแตกต่างไปจากชาวโลกอย่างมากทั้งในเชิงเนื้อหาและการบังคับใช้จนไม่อาจจะเทียบกันได้ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของเดนมาร์ก การหมิ่นประมาทกษัตริย์จะต้องรับโทษเพิ่มจากหมิ่นประมาทคนธรรมดาสองเท่าเป็นโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินสี่ปี ซึ่งนับว่าน้อยกว่ามาตรา 112 ของไทยมาก นอกจากนี้ ยังแทบไม่เคยมีการนำกฎหมายมาใช้เลยในประวัติศาสตร์เดนมาร์ก ส่วนคนที่เคยโดนกฎหมายนี้เล่นงานนั้นศาลก็มีแนวโน้มจะยกฟ้องด้วย ยังไม่รวมถึงประเทศที่มีกษัตริย์อื่นๆ อย่างอังกฤษหรือญี่ปุ่นที่ไม่มีกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์อยู่เลยด้วย

 

ตลอดเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา ผู้แทนไทยก็ยังใช้ข้ออ้างทั้งสองข้อนี้เมื่อต้องตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ต่อนานาชาติอยู่เสมอ แนวทางการตอบทั้งสองแบบนี้กลายเป็นสูตรสำเร็จที่สามารถหยิบมาใช้ได้อย่างสะดวก คำตอบของผู้แทนไทยใน UPR รอบที่สามเป็นตัวอย่างสำคัญอีกครั้งหนึ่งที่เน้นย้ำถึงการใช้ข้ออ้างเดิมๆ ของไทยอย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง

Article type: