1863 1808 1259 1943 1295 1026 1731 1121 1756 1607 1022 1692 1019 1134 1864 1814 1652 1690 1662 1871 1132 1819 1367 1860 1847 1843 1902 1635 1236 1046 1073 1825 1482 1636 1147 1101 1404 1143 1861 1894 1469 1575 1270 1291 1980 1606 1198 1778 1946 1825 1921 1373 1846 1095 1520 1413 1726 1359 1198 1503 1989 1230 1539 1868 1421 1578 1617 1667 1468 1169 1753 1977 1571 1474 1988 1947 1085 1163 1184 1109 1722 1948 1638 1803 1377 1093 1555 1608 1406 1896 1059 1370 1017 1769 1565 1808 1565 1626 1370 คุยกับปกรณ์ พึ่งเนตร: ประกาศคุมสื่อของคสช.มีธงและใช้ไม่ได้จริง | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

คุยกับปกรณ์ พึ่งเนตร: ประกาศคุมสื่อของคสช.มีธงและใช้ไม่ได้จริง

การขับรถถังไปจอดตามสถานีกระจายสัญญาณวิทยุและโทรทัศน์ดูจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการคุมสื่อของคณะรัฐประหารไทยแทบทุกชุดไปเสียแล้ว แต่ในยุคที่การนำเสนอข้อมูลข่าวไม่ได้ถูกผูกขาดโดยสถานีโทรทัศน์และวิทยุเช่นในปัจจุบัน การใช้รถถังดูจะเป็นได้แค่ 'มาตรการเชิงสัญลักษณ์' เท่านั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงต้องออกประกาศคสช.อย่างน้อยแปดฉบับและคำสั่งหัวหน้าคสช.อีกอย่างน้อยหนึ่งฉบับเพื่อควบคุมการนำเสนอข่าวของทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์
 
สำหรับเจ้าของกิจการและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ประกาศคำสั่งที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานมากที่สุดน่าจะเป็นประกาศฉบับที่ 97 และ 103 ซึ่งกำหนดลักษณะเนื้อหาที่ห้ามสื่อนำเสนอไว้อย่างกว้างๆและคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 41/2559 ซึ่งกำหนดให้ลักษณะเนื้อหาที่ขัดต่อประกาศสองฉบับข้างต้นเป็นความผิดตามพ.ร.บ.กสทช.ฯ มาตรา 37และให้กสทช.มีอำนาจลงโทษปรับหรือสั่งปิดสถานีที่ฝ่าฝืนได้โดยที่เจ้าหน้าที่กสทช.ที่ใช้อำนาจตามคำสั่งนี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง อาญา่ หรือทางวินัย
 
อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ ปกรณ์ พึ่งเนตร บรรณาธิการข่าวการเมืองและอาชญากรรมของนาว 26 และบรรณาธิการศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศราผู้ติดตามและรายงานข่าวเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้และประเด็นความเป็นไปได้ของการทุจริตในการซื้อเรือดำน้ำผู้ถูกเจ้าหน้าที่ทหาร'เชิญ'ไปพูดคุยหลายครั้งจากการทำหน้าที่กลับมองว่าประกาศคำสั่งดังกล่าวถูกออกมาเพื่อบังคับใช้กับสื่อบางสื่อและในทางปฏิบัติคสช.หรือฝ่ายความมั่นคงก็มักส่งสัญญาณความ"ไม่สบายใจ"ต่อสื่ออย่างไม่เป็นทางการมากกว่าอ้างอิงอำนาจตามประกาศคำสั่งฉบับดังกล่าว
 

"มาช่วยดูแลความปลอดภัย ไม่มีอะไร"

 
ปกรณ์เล่าว่าช่วงที่เกิดการรัฐประหารเขาทำงานกับสื่อสองสำนัก ได้แก่สำนักข่าวอิศราในฐานะบรรณาธิการศูนย์ข่าวภาคใต้และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจควบคู่กับสถานีโทรทัศน์ดาวเทียวกรุงเทพธุรกิจซึ่งต่อมากลายเป็นทีวีดิจิทัลช่องนาว 26 ซึ่งอยู่ในเครือเนชัน ปกรณ์เล่าว่าก่อนการรัฐประหารเขาเคยรายงานข่าวเชิงวิเคราะห์เกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่มกปปส.ทางนาวซึ่งก็สามารถทำงานได้อย่างเป็นอิสระโดยที่ไม่เคยถูกจำกัดการทำหน้าที่ด้วยอำนาจตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.กสทช. แม้ในช่วงวันก่อนการรัฐประหารซึ่งมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรแล้วก็ยังสามารถทำรายการเชิงวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ 
 
ปกรณ์เล่าต่อว่าหลังการรัฐประหารมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาประจำการที่สถานี และสถานีก็ระงับการออกอากาศตามปกติไปช่วงหนึ่งตามที่คสช.มีคำสั่งก่อนจะกลับมาออกอากาศตามปกติพร้อมกับสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลช่องอื่นๆ เครือเนชันเป็นสื่อที่ทำงานมาอย่างยาวนานและผ่านประสบการณ์การรัฐประหารมาหลายครั้ง จึงสามารถปรับตัวรับกับสถานการณ์ได้ เนื่องจากการรัฐประหารครั้งนี้ในช่วงต้นกระแสสังคมไม่ได้ต่อต้านมากนัก ประกอบกับคนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองบางส่วนก็เลือกที่จะอยู่เฉยๆขณะที่บางส่วนก็หนีไป การนำเสนอข่าวในช่วงแรกจึงไม่ค่อยมีข่าวเชิงลบกับคสช.แต่เป็นลักษณะนำเสนอว่าคสช.จะประกาศอะไร ซึ่งปกรณ์รับว่าลำพังเพียงแค่มอนิเตอร์ประกาศคำสั่งคสช.ก็เหนื่อยมากแล้วเพราะมีออกมาเยอะมากในช่วงนั้น ปกรณ์ยังแสดงความเห็นด้วยว่า ถ้ามองทิศทางทางการเมืองในขณะนั้นจะเห็นว่าเครือเนชันที่เขาทำงานอยู่ไม่ใช่สื่อที่เป็นเป้าหมายของคสช. เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งมามอนิเตอร์ที่สถานีก็ปฏิบัติกับทางสถานีอย่างให้เกียรติ โดยมีเจ้าหน้าที่มาบอกทำนองว่า "มาช่วยดูแลความปลอดภัย ไม่มีอะไร" และไม่มากดดันการทำงานแต่อย่างใด   
 

801

ปกรณ์ พึ่งเนตร

การรายงานเรื่องความรุนแรงในภาคใต้ ที่มาของบทสนทนาระหว่างปกรณ์กับชายชุดเขียว

 
ปกรณ์เล่าต่อว่าตัวเขามาถูกทหารเชิญไปพูดคุยจริงๆจังๆก็ในช่วงปี 58' แม้ว่าในภาพรวมช่วงนั้นยังต้องถือว่าคสช. 'เนื้อหอม' อยู่ แต่ก็มีบางประเด็นที่คสช.จะรู้สึกอ่อนไหวมากเมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้แก่เรื่องความรุนแรงในภาคใต้และปัญหาความมั่นคง ในฐานะบก.ศูนย์ข่าวภาคใต้ของสำนักข่าวอิศรา ปกรณ์รายงานประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้บ่อยครั้งจนทำให้เขาถูกเชิญไปคุยอยู่เนืองๆ ในปี 2558 ปกรณ์ย้ายมาทำงานกับช่องพีพีทีวีช่วงสั้นๆ ระหว่างนั้นเขาได้รับข้อมูลมาว่าทางการไทยจะรับตัวผู้เห็นต่างจากฝั่งมาเลเซียเข้ามาพูดคุยสันติสุขในดินแดนไทยจึงส่งผู้สื่อข่าวเข้าไปในเวทีและรายงานข่าวผ่านทางช่องพีพีทีวี การทำหน้าที่ครั้งนั้นทำให้เขาและผู้บริหารช่องพีพีทีวีถูกกสทช.เรียกเข้าไปชี้แจง 
 
ปกรณ์ระบุว่าการดำเนินการของกสทช.ครั้งนั้นได้รับการประสานจากฝ่ายคสช. อย่างไรก็ตามในการเข้าชี้แจงครั้งนี้ตัวเขาและทางช่องเพียงแต่ถูกตักเตือน ไม่ได้ถูกลงโทษปรับหรือสั่งพักใบอนุญาตแต่อย่างใด โดยทางกสทช.ระบุข้อกังวลว่า การรายงานของปกรณ์อาจเป็นการให้พื้นที่สื่อกับ 'พวกแบ่งแยกดินแดน' ซึ่งไม่เหมาะสมและเป็นเรื่องอ่อนไหว หลังการพูดคุยครั้งนั้นทางผู้บริหารข่องไม่ได้มีการจำกัดขอบเขตการทำงานของปกรณ์แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าเขาต้องเพิ่มความระมัดระวังในการรายงานข่าวให้มากขึ้น
 
หลังร่วมงานกับพีพีทีวีเป็นระยะเวลาสั้นๆปกรณ์ก็กลับมาอยู่กับช่องนาวซึ่งหลังจากกลับมาเขาก็ถูก 'เชิญไปคุย' เพราะการทำหน้าที่อีกประมาณสิบครั้งทั้งในบทบาทบก.ข่าวการเมืองและอาชญากรรมของช่องนาว และในบทบาทบก.ข่าวภาคใต้ของสำนักข่าวอิศรา โดยลักษณะการเชิญมักจะเป็นการโทรมาชวนไปคุยแบบไม่เป็นทางการ  
 
ปกรณ์เล่าว่าการเข้าพูดคุยแต่ละครั้งจะกินเวลาหลายชั่วโมง บางครั้งเจ้าหน้าที่จะปรินท์บทความที่เขาเขียนพร้อมกับขีดไฮไลท์จุดที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าไม่ถูกต้องมาแสดงด้วย ปกรณ์ยังเคยถูกของร้องเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวเรื่องภาคใต้ในลักษณะเช่น "ใต้จะสงบแล้วหลังจากนี้ขอบวกได้มั้ย ตอนนี้เหลืออยู่สื่อสองสื่ีอที่ยังด่าอยู่" หรือบางครั้งพอลงไปในพื้นที่เจ้าหน้าที่ที่ขับรถมารับก็พูดทำนองว่าเคยมาหาดใหญ่ไหม พอบอกว่าเคยเพราะเรียนที่นี่ก็จะพูดต่อทำนองว่า "ถ้าปล่อยลงตรงนี้ก็ไม่หลงสิ" 
 
ปกรณ์ระบุว่าการเสนอข่าวเรื่องภาคใต้ทำให้เขาเรียกไปคุยทั้งในพื้นที่และคุยที่กรุงเทพ โดยเขาจะรู้สึกปลอดภัยในการพูดคุยที่กรุงเทพมากกว่าเพราะจะเป็นการคุยในสถานที่สาธารณะเช่นในโรงแรมแต่ในพื้นที่สามจังหวัดจะคุยในค่ายทหารซึ่งหากคู่สนทนาเป็นนายทหารที่เขาไม่คุ้นเคยก็อาจจะรู้สึกกังวลอยู่บ้าง 
 

จากเชิญคุยถึงไอโอ วิวัฒนาการการ'กำกับเนื้อหา' ในประสบการณ์ของปกรณ์   

 
เมื่อถามว่าทางช่องนาวทีวีเคยถูกกสทช.หรือคสช.ส่งหนังสือเรียกจากการนำเสนอเรื่องราวของปกรณ์อย่างเป็นทางการเหมือนเมื่อครั้งที่ถูกกสทช.เชิญไปชี้แจงเหมือนเมื่อครั้งอยู่ที่พีพีทีวีหรือไม่ ปกรณ์ระบุว่าในกรณีของนาวเนื้อหาที่เกี่ยวกับการเมืองหรือความมั่นคงจะอยู่ในส่วนของรายการ 'ล่าความจริง' ที่เขาเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็ทราบอยู่แล้วว่าเป็นรายการในส่วนความรับผิดชอบของเขา หากเจ้าหน้าที่ 'ไม่สบายใจ' กับเนื้อหาที่นำเสนอในรายการก็จะต่อสายตรงถึงเขาโดยไม่ผ่านทางช่องหรือผู้บริหาร ซึ่งเนื้อหาหนึ่งที่ทำให้เขาถูกจับจ้องมากหลังลาออกจากพีพีทีวีกลับมาที่ช่องนาวอีกครั้งได้แก่รายงานเรื่องเรือดำน้ำซึ่งปกรณ์ติดตามมาตั้งแต่ประเด็นดังกล่าวยังไม่เป็นที่สนใจอย่างแพร่หลาย รวมทั้งประเด็นภาคใต้ที่ปกรณ์ยังคงติดตามอย่างต่อเนื่อง
 
ปกรณ์ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าในการจัดการกับเนื้อหาที่เจ้าหน้าที่ 'ไม่สบายใจ' โดยเฉพาะในกรณีของเขา เจ้าหน้าที่มีการเปลี่ยนเทคนิคไปเรื่อย เช่น เบื้องต้นก็มีการเรียกไปคุยเกือบจะทันทีที่มีการเผยแพร่เนื้อหา ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นการเรียกโดยเว้นระยะให้สาธารณะชนคลายความสนใจจากประเด็นดังกล่าวไปก่อนจึงค่อยเชิญไปคุย ต่อมาเจ้าหน้าที่ก็เปลี่ยนวิธีเป็นการแถลงข่าวเพื่อชี้แจงโดยเชิญสื่อไปทั้งหมดซึ่งแม้ว่าในการแถลงข่าวจะไม่มีการเอ่ยชื่อปกรณ์โดยตรงแต่ประเด็นที่มีการชี้แจงก็เป็นประเด็นที่มีเขาเพียงคนเดียวที่นำเสนอในขณะนั้น 
 
ในเวลาต่อมาก็มีกลุ่มคนใช้สื่อสังคมออนไลน์ทำลายความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่เขานำเสนอ เช่น ระหว่างที่รายการของเขาออกอากาศผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ก็มีคนเข้ามาคอมเมนท์สดในทำนองว่า "คุณคิดว่าผู้ประกาศสองคนนี้รู้เรื่องเรือดำน้ำดีกว่าทหารเรือเหรอ?" และมีกรณีที่มีการทำภาพเผยแพร่บนเฟซบุ๊กกล่าวหาว่าปกรณ์เป็นหนึ่งในแอดมินของเฟซบุ๊กเพจที่มีเนื้อหาโจมตีรัฐบาลในเรื่องภาคใต้โดปกรณ์ให้ความเห็นว่าการใช้สื่อสังคมออนไลน์ทำลายความน่าเชื่อถือข้อมูลของเขาไม่น่าจะเป็นการแสดงความเห็นของคนโดยทั่วไปแต่น่าจะเป็นการทำที่เป็นระบบและมีลักษณะเป็นการ 'จัดตั้ง' คล้ายกับปฏิบัติการณ์ข้อมูลข่าวสาร  
 

ประกาศคุมสื่อ ใช้ไม่ได้จริง ใช้อย่างมีธง   

 
ในส่วนของการถูกจำกัดเนื้อหาในการทำงานด้วยประกาศคำสั่งคสช. ปกรณ์สรุปว่าเขาไม่เคยถูกจำกัดการทำงานด้วยอำนาจดังกล่าวและไม่เคยได้ยินว่ามีคนในสถานีถูกจำกัดการทำงานด้วยกฎหมายนี้ ปกรณ์มองว่าในระยะแรกที่มีการออกประกาศคำสั่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่สื่อต่างๆจะเป็นกังวลเพราะคณะรัฐประหารมีอำนาจที่จะยึดหรือปิดสื่อได้ ผู้บริหารอาจจะกลัวการถูกปิดส่วนตัวนักข่าวก็อาจกลัวถูกเรียกไปคุยหรือคุมตัวเจ็ดวัน ในกรณีของนาวและเครือเนชันระยะแรกหลังการรัฐประหารก็มีการพูดคุยกันว่าจะพอนำเสนอข่าวได้อย่างไรบ้างและก็ให้นักข่าวสายความมั่นคงหรือสายทหารไปช่วยเช็คความชัดเจนว่าเนื้อหาแบบไหนนำเสนอได้แบบไหนไม่ได้ เนื่องจากตัวประกาศคำสั่งต่างๆก็ไม่มีความชัดเจน  
 
อย่างไรก็ตามปกรณ์ก็มองว่าประกาศคำสั่งเหล่านี้ถูกออกโดย 'มีเป้า' อยู่แล้ว จะเห็นได้จากกรณีที่มีสื่อแค่จำนวนหนึ่งซึ่งตกเป็นเป้าหมาย มีสื่อบางสำนักที่อาจจะวิพากวิจารณ์ในลักษณะรุนแรงจนเข้าข่ายตามประกาศแต่เป้าของการวิพากษ์วิจารณ์เป็นฝ่ายตรงข้ามกับคสช. ก็กลายเป็นทำได้ ซึ่งประกาศคำสั่งต่างๆหากไม่ได้ออกมาบังคับใช้อย่างตรงไปตรงมามันก็ไม่ศักดิ์สิทธิ ปกรณ์ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าหากย้อนกลับไปดูก็แทบไม่เห็นว่าการใช้อำนาจตามมาตรา 44 จะแก้ปัญหาอะไรได้สำเร็จ ถ้าลองย้อนกลับไปดูมีซักกี่ฉบับที่แก้ปัญหาสำเร็จจริงๆ เห็นจะมีก็แต่ฉบับที่ออกมาแก้คำผิด

(หมายเหตุ - บทสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2560 ตำแหน่งของปกรณ์ที่เอ่ยถึงในบทสัมภาษณ์นี้หมายถึงตำแหน่งขณะที่เขาให้สัมภาษณ์)
ชนิดบทความ: