“บุญลือ” : ชีวิตที่ไม่อาจเดินตามความฝันเพราะคดี 112

บุญลือ (นามสมมติ) เป็นบัณฑิตจบใหม่จากคณะนิติศาสตร์ เขามีความฝันที่อยากจะทำงานเป็นข้าราชการเพราะต้องการที่จะทำให้คนในครอบครัวของเขามีชีวิตที่สบาย แต่แล้วทุกสิ่งก็เปลี่ยนไปเมื่อเขาถูกแจ้งความดำเนินคดีหมิ่นพระมหากษัตริย์ เขาได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาจากการคอมเมนต์ในเพจเฟสบุ๊กเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสถาบันกษัตริย์ เขาถูกกล่าวหาแจ้งความดำเนินคดีที่จังหวัดพังงา โดยเขาต้องเดินทางจากจังหวัดสุโขทัยเพื่อไปรับทราบข้อกล่าวหาเป็นระยะทางกว่า 1,185 กิโลเมตร จากนี้ไปคือความเป็นมาของตน, ที่มาของการดำเนินคดี รวมไปถึงชีวิตความเป็นอยู่หลังจากตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาคดีหมิ่นพระมหากษัตริย์

ชีวิตนักเรียนกฎหมายที่สนใจการเมือง

บุญลือ เป็นคนจังหวัดสุโขทัย อายุ 25 ปี เขาเล่าว่า เขาเรียนจบคณะนิติศาสตร์ เป็นคนที่สนใจเรื่องการเมือง เป็นคนที่ติดตามการเมืองอยู่ตลอด เขาบอกว่าอนาคตของเราขึ้นอยู่กับการเมือง ถ้าเราละเลยไม่ใส่ใจ คนที่มีอำนาจก็จะใช้อำนาจตามอำเภอใจ แล้วก็ใช้อำนาจตามอำเภอใจมากขึ้นเรื่อยๆ
ก่อนเขาเรียนนิติศาสตร์ชอบเล่นกีฬา เขาว่า “ตอนเเรกผมเล่นกีฬา จะไปเรียนทางด้านเกี่ยวกับกีฬา เป็นครูพละ เเต่พอผมมองอนาคต ถ้าสมมติเราไปเล่นกีฬาเเล้วเราแขนหัก ขาหัก บาดเจ็บขึ้นมา เราก็จะทำหน้าที่นี้ต่อไม่ได้ ผมเลยศึกษาว่าจะเรียนทางไหนต่อได้ ทีเเรกผมจะไปสอบตำรวจ และลงเรียนคณะนิติศาสตร์เอาไว้ด้วย เเต่พอเรียนนิติศาสตร์ไปเรียนเเล้วรู้สึกสนุกขึ้นมาก็เลยเรียนจนจบครับ”
“ส่วนความฝันสูงสุดของผมคืออยากสอบเป็นอัยการ รองลงมาก็เป็นทนาย ถ้าทั้งสองอย่างไม่ได้ก็เป็นพนักงานเอกชนทั่วไป” บุญลือ กล่าว
หลังเรียนจบมา บุญลือ เข้ารับเกณฑ์ทหาร และเพิ่งปลดจากทหาร เขาก็เริ่มหางานสอบนิติกรตามที่ตัวเองร่ำเรียนมา แต่ยังไม่ทันได้ทำงานก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เมื่อเขาถูกแจ้งความคดี 112

3 คอมเมนต์ในเฟสบุ๊กนำไปสู่การถูกดำเนินคดี

บุญลือ เล่าว่า เขาเป็นคนชอบแสดงความเห็นในโลกออนไลน์ ชอบโต้เถียง ชอบหาข้อมูลหาเหตุผล จนนำไปสู่จุดเริ่มต้นของการถูกดำเนินคดี 112 ซึ่งเกิดจากการที่เขาไปแสดงความคิดเห็นในเพจเฟซบุ๊กหนึ่ง ซึ่งโพสต์เกี่ยวกับการชุมนมวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่สนามหลวง
เขาเล่าเพิ่มเติมว่า เขาแสดงความคิดเห็นไปทั้งหมดสามคอมเมนต์เกี่ยวกับวิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐบาลปัจจุบันและสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งระหว่างที่โต้เถียงกับผู้ใช้งานเฟสบุ๊กคนอื่น ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษเข้ามาเห็นคอมเมนต์ของเขา
“เขามาด่าผมด้วยคำที่หยาบคายมาก ผมโมโหเลยเรียกเขาว่า “ป้า” ทีนี้เขาโมโห เขาเลยบอกว่า ต้องการอย่างงี้ใช่ไหม เดี๋ยวเจอกัน เดี๋ยวไปเเจ้งความก่อน อยู่ใกล้สถานีตำรวจพอดี” บุญลือ กล่าว
บุญลือ เล่าเพิ่มเติมว่า คนที่แจ้งความเป็นข้าราชการที่ทำงานอยู่ที่ อบต. แห่งหนึ่ง ในจังหวัดพังงา หลังจากการโต้เถียงกันในช่องคอมเมนต์ประมาณ 15 นาที คนที่ร้องทุกข์กล่าวโทษเขาส่งหลักฐานที่เเจ้งความ, เบอร์โทรของสารวัตรสอบสวน มาทางช่องข้อความส่วนตัว หลังจากเขาได้รับข้อความ เขาได้โทรไปหาสารวัตรสอบสวนตามเบอร์ที่เขาได้รับมาจากผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ซึ่งสารวัตรสอบสวนบอกกับ บุญลือ ว่าคนที่ร้องทุกข์กล่าวโทษได้เเจ้งความไปเเล้ว ซึ่งไม่สามารถถอนเเจ้งความได้เพราะเป็นคดีอาญาแผ่นดินทำให้ยอมความไม่ได้ โดยทางสารวัตรสอบสวนจะส่งหมายเรียกให้มาที่ สภ. เพื่อสอบปากคำ
บุญลือ เล่าว่า เขาไปเจรจากับผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษว่า ตัวเขาจะต้องสอบ ถ้าเขาโดนคดีจะไม่สามารถสอบเพื่อเป็นข้าราชการได้ โดยเขาจะลบคอนเมนต์ที่เคยแสดงความคิดเห็นให้ทั้งหมด ซึ่งผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษบอกว่าตัวเธอนั้นให้อภัย เเต่เธอเเจ้งความไปเเล้ว เขาจะต้องไปคุยกับตำรวจเองว่าจะต้องทำยังไงต่อ
หลังจากที่เจรจากับผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งหมายเรียกมาที่ผู้ใหญ่บ้านเเละผู้ใหญ่บ้านนำมาให้เขา โดยหมายเรียกระบุว่า บุญลือ ต้องไปให้ปากคำที่พังงา

เดินทางไปรายงานตัวจากเมืองศรีสัชนาลัยสู่ถิ่นแร่ดีบุก

บุญลือ เล่าว่า ญาติของเขาที่รู้จักกันไปติดต่อทนายให้ไปช่วยเจรจา ซึ่งเขาต้องเสียค่าเดินทางให้ทนายเป็นจำนวนมาก เมื่อเดินทางไปถึงจังหวัดพังงา ทางทนายก็เจรจากันกับทางตำรวจ โดยทางตำรวจกล่าวว่า เขาไม่สามารถช่วยได้เพราะหัวหน้าของเขาสั่งมา
ระหว่างที่รอการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ บุญลือ บวชอยู่ที่จังหวัดสุโขทัย หลังจากนั้นประมาณหนึ่งอาทิตย์ เขาก็สึกออกมาและไปอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งระหว่างนั้นเขาทำงานขับรถเดลิเวอรี่ หลังจากนั้นไม่นานสารวัตรสอบสวนก็โทรมาเเจ้งกับเขาว่า เขาต้องไปที่สำนักงานอัยการ
เขาเล่าว่า เขาติดต่อทนายที่รู้จักตอนเขาฝึกงานที่พิษณุโลก แต่ทนายคนนั้นบอกว่าเขาไม่ถนัดเรื่องนี้เลยเเนะนำให้ติดต่อไปที่เพจของศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อติดต่อไปแล้วเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายฯ ให้ทนายที่ประจำอยู่จังหวัดตรังมากับเขา
ภายหลังจากนั้นหนึ่งเดือน บุญลือ ต้องไปที่ศาลจังหวัดพังงาเพื่อฝากขัง หลักจากไปถึงที่ศาลจังหวัดพังงา เจ้าหน้าที่ให้เขาเข้าไปในห้องขัง บุญลือ เล่าว่า เขาอยู่ในห้องขังประมาณหกชั่วโมง ซึ่งระหว่างนั้นทนายได้ยื่นเรื่องขอประกันตัวออกมา ผลคือเขาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยวางหลักทรัพย์ 300,000 บาทจากกองทุนราษฎรประสงค์ หลังจากนั้นผู้พิพากษาได้เรียกเขาเข้าไปในห้องพิจารณา ก่อนจะอ่านเอกสารตามคำให้การว่า ประสงค์ที่จะสู้คดี

สรุปแล้วผมโดนมาตรา 112 กับมาตรา 14 (3) ของ พรบ. คอมพิวเตอร์” บุญลือ กล่าว

เขาเล่าเพิ่มเติมว่าศาลได้นัดไกล่เกลี่ย โดยผู้พิพากษากล่าวกับเขาว่า โทษในคดีนี้สูง ถ้ารับสารภาพจะได้รับโทษเพียงกึ่งหนึ่งและถ้าไม่ได้กระทำผิดก็จะเปลี่ยนเป็นรอการกำหนดโทษ โดยทางผู้พิพากษากล่าวว่า เขาเองก็ไม่ทราบว่าจะได้รอการกำหนดโทษหรือจะถูกจำคุก เพราะต้องรอการประชุมอีกรอบ ซึ่ง บุญลือ ไม่ได้รับสารภาพโดยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
บุญลือ เล่าว่า หลังจากการไกล่เกลี่ย ศาลได้นัดสอบคำให้การ, เตรียมพยานหลักฐาน แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ศาลได้เลื่อนวันนัดไปเรื่อยๆ จนได้วันที่แน่นอนคือวันที่ 20 ธันวาคม 2564

ชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังโดนคดี 112

บุญลือ เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์หลังจากที่เขารู้ว่ามีผู้ไปแจ้งความดำเนินคดี 112 กับเขา ชีวิตเขาเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ตอนครอบครัวของเขาเห็นหมายเรียก เเม่ของเขาร้องไห้เเละพ่อของเขาหน้าเเดง
เขาเล่าเพิ่มเติมว่า ก่อนที่จะโดนคดี 112 เขาจะได้ทำงานเป็นเจ้าพนักงานสินเชื่อที่ปทุมธานี บริษัทที่จังหวัดปทุมธานีโทรมาว่าให้เตรียมตัวไปที่ปทุมธานี ซึ่งในวันเดียวกันนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจก็โทรมาว่ามีคนเเจ้งความ ทำให้เขาไม่สามารถไปได้ ซึ่งเเม่ของเขาก็ไปปรึกษากับญาติที่อยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เขาก็บอกว่าถ้าตอนนี้ยังไม่มีอะไรทำ ก็ให้มาขับเดริเวอรี่ก่อน
“จากที่ผมอยู่บ้านอ่านหนังสือ ตอนนี้ผมก็ไม่ได้อยู่บ้าน ต้องห่างพ่อห่างเเม่ ต้องมาอยู่คนเดียวเเละก็ต้องขับรถส่งอาหาร เลิกงานดึกครับ คือผมไม่ได้เหยียดอาชีพนะ เเต่ผมอยากทำงานที่มันต้องใช้ทักษะที่เราเรียนมาครับ ปกติหนึ่งทุ่มผมก็อยู่ในห้องนอนละ แม้จะมีเงินจากกองทุน (ราษฎรประสงค์) สนับสนุน แต่ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่ากิน ค่าอยู่ แค่ผมต้องขึ้นเครื่องไปค่าใช้จ่ายก็ไม่ใช่ถูกแล้ว” บุญลือ กล่าว
บุญลือ ให้ความเห็นว่า เขารู้สึกเหมือนถูกกลั่นเเกล้ง เพราะผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษมีพฤติการณ์ที่จ้องจะดำเนินคดีอยู่เเล้ว ตอนที่เเฟนของเขาเข้าไปดูเฟสบุ๊กของผู้แจ้งความต่อเขา มีโพสหนึ่งระบุว่า “ยังไม่จบใช่ไหม” เเละมีผู้ใช้เฟสบุ๊กมาแสดงความเห็นว่า “พร้อมเเจ้งความไหม พี่พร้อมประทับรับฟ้อง”
เขาเล่าว่า เขาก็ไม่รู้ว่าคดีนี้จะจบยังไง ซึ่งมันเป็นช่วงที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว ตั้งความหวังไว้ว่าอยากทำงานประจำ สร้างตัวให้พ่อเเม่อยู่สบาย แต่ตอนที่เขารู้ว่าโดนดำเนินคดีคือเขารู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่ มันหมดความหวังเเล้ว ยิ่งเขาเห็นน้ำตาพ่อเเม่ คือหมดเเรงสู้ต่อเลย
เขาเล่าเพิ่มเติมว่า หลังจากคนรอบข้างทราบข่าว ทุกคนรอบตัวเขาให้กำลังใจ เพื่อนของเขาเป็นคนรุ่นใหม่หมด ทุกคนรู้ว่ามาตรา 112 เป็นยังไงและก็ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ ทั้งแฟนของเขา พ่อแม่ของเขาให้กำลังใจว่า “ไม่เป็นไร มันก็ผ่านไปแล้ว สู้กันต่อไป เราแค่ไปคอมเมนต์ในความคิดของเรา เราไม่ได้ไปฆ่าใครตาย” ซึ่งทนายผมก็บอกว่า “สู้ๆ สักวันความยุติธรรมมันจะต้องเกิดขึ้น”
“แต่พูดตรงๆ เลยคือผมก็ไม่รู้ว่าความยุติธรรมจะเกิดตอนไหน” บุญลือ กล่าวปิดท้าย