บอย: “ผมแค่อยากจะเห็นอีสานที่ดีขึ้น และส่งประเทศที่ดีขึ้นให้คนรุ่นถัดไป”

พงศธรณ์ ตันเจริญ หรือ สหายบอย เป็นนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิทยาลัยการเมืองการปกครอง สาขาวิชาการเมืองการปกครอง ชั้นปีที่ 3 สหายบอยเป็นแกนนำแนวร่วมนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามเพื่อประชาธิปไตย โดยเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 สหายบอยได้มีนัดหมายฟังคำสั่งฟ้องข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เหตุจากคดีการชุมนุม #25พฤศจิกาไปSCB เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ที่กลุ่มราษฎรนัดหมายชุมนุมบริเวณหน้าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แต่ในการชุมนุมดังกล่าวมีการนำตู้คอนเทนเนอร์และลวดหนาม พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนจำนวนมากมาวางกำลังจึงทำให้กลุ่มราษฎรต้องเปลี่ยนแปลงสถานที่ไปเป็นบริเวณธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ถนนรัชดาภิเษก โดยในวันนั้นสหายบอยได้ปราศรัยเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
สหายบอย เล่าว่าในวันดังกล่าวเขาได้ปราศรัยอยู่สองประเด็น ประเด็นแรกคือความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ที่ผ่านมากลุ่มเสื้อเหลืองเป็นฉนวนเหตุสำคัญที่ทำให้สังคมเกิดความไม่เท่าเทียมกัน ในขณะที่เสื้อเหลืองออกมาเคลื่อนไหวได้ เรียกรัฐประหารออกมาได้ แต่คนอีกกลุ่มนึงที่ไม่ใช่คนเสื้อเหลือง ไม่ได้ชูป้ายรักสถาบันพระมหากษัตริย์ กลับถูกกระทำย่ำยีอยู่ฝ่ายเดียว ส่วนอีกประเด็นคือการถูกกล่าวหาว่าล้มเจ้าเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยสหายบอยย้ำว่า พวกเราล้มเจ้าไม่ได้หรอกเราไม่ได้มีอาวุธไม่ได้มีกำลัง ล้มได้ก็แต่เจ้ามือในวงไพ่เท่านั้นแหละ
โดยปกติแล้ว สหายบอยจะทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อีสานเป็นส่วนใหญ่ เพราะเขาเป็นแกนนำหลักของแนวร่วมนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามเพื่อประชาธิปไตย พื้นที่เคลื่อนไหวส่วนใหญ่จึงอยู่ในจังหวัดมหาสารคามเป็นส่วนใหญ่ แต่ในบางครั้งเขาก็มาร่วมกิจกรรมในกรุงเทพบ้างเป็นครั้งคราวตามวาระโอกาส บางครั้งก็จะมาช่วยเพื่อนที่ธรรมศาสตร์บ้างเพราะสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกันโดยเฉพาะในช่วงที่มีการชุมนุมใหญ่

สร้างการเมืองดี เพื่อส่งไม้ต่อให้คนรุ่นถัดไป

สหายบอยเล่าถึงสาเหตุที่ทำให้เขาหันมาสนใจการเมืองว่า “เป็นเพราะบรรยากาศในครอบครัวที่ชอบติดตามข่าวการเมืองผ่านทางโทรทัศน์เราเลยซึมซับมาตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในปี 2553 ที่มีคนตายจำนวนมาก แล้วจำนวนนึงในนั้นก็เป็นคนอีสาน มันเป็นเรื่องน่าสะเทือนใจมาก ๆ สำหรับผม ผมก็ตั้งคำถามกับตัวเองมาตั้งแต่วันนั้นว่าทำไมถึงมีความรุนแรงทั้งที่ในการชุมนุมแต่ละครั้งมันก็ไม่ได้ดูมีอะไรรุนแรง และบรรยากาศในการชุมนุมก็ดูสนุกสนานด้วย พอเราเห็นแบบนั้นเราจึงเริ่มหาข้อมูล ศึกษาเรื่องการเมืองมากขึ้น ซึ่งตอนนั้นเราก็ใช้วิธีหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต พอมาช่วงมัธยมต้นผมก็เริ่มติดตามข่าวในสภา ตอนนั้นมันจะมีข่าว พ.ร.บ.เงินกู้ฯ ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพื่อนำไปทำรถไฟฟ้า ตอนนั้นผมดูผมก็รู้สึกมีความหวังนะ ชีวิตเราอาจจะดีขึ้น เพราะเราเป็นคนต่างจังหวัดเวลาจะเดินทางมากรุงเทพมันลำบากมาก”
เขามีความเชื่อในเรื่องการเคลื่อนไหวว่า “ ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่เขาออกมาเรียกร้อง มันเป็นสิ่งที่ประชาชนออกมาแสดงเจตจำนงของตัวเองในฐานะที่เป็นเจ้าของประเทศว่า เรามีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การที่คนออกมาม็อบแสดงให้เห็นว่าสังคมกำลังมีปัญหานะ ถึงผมไม่ออกมามันก็จะมีคนอื่น ๆ ออกมาอยู่ดี คนใหม่ ๆ ก็จะออกมาเรื่อย ๆ ผมเชื่อแบบนั้น ถึงแม้การชุมนุมอาจจะไม่ได้ทำให้เกิดการแก้ไขแบบทันควัน อาจจะไม่ได้เร็วขนาดนั้น แต่อย่างน้อยมันเป็นเครื่องที่จะติดตาคนในสังคมไปว่าถ้ายังมีการม็อบอยู่ แสดงว่าสังคมยังมีปัญหา มันยังต้องการการแก้ไขอยู่ ผู้คนที่เกิดมารุ่นหลัง ๆ เมื่อเขาได้เห็นม็อบเขาก็จะตั้งคำถามเหมือนกับผมในวัยเด็กว่า พอเกิดการชุมนุม มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมคนถึงออกมาชุมนุม ก็จะเกิดเป็นคำถามต่อ ๆ กันไป และมันก็จะนำไปสู่คำถามที่ว่าแล้วเราจะแก้ไขมันได้อย่างไรบ้าง ”
“หลายคนใช้คำว่า ‘ให้มันจบในรุ่นเรา’ ผมเองก็อยากให้มันจบในรุ่นเรา แต่ผมมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่ามันอาจจะไม่เร็วขนาดนั้น มันอาจจะไปจบที่รุ่นอื่น แต่อย่างน้อยคนรุ่นหลัง ๆ ที่เติบโตขึ้นมา เขาก็จะได้รับไม้ต่อ การต่อสู้จากคนรุ่นนี้และที่เราทำมามันจะไม่สูญเปล่า ถึงแม้ว่าอาจจะไม่สำเร็จในตอนนี้ แต่อย่างน้อยเราก็ได้แสดงเจตจำนงว่าเราต้องการให้สังคมเป็นในแบบที่เราคิดว่าดี อยากให้ประเทศชาติเกิดการเดินหน้า เพราะเห็นว่าประเทศใช้เวลาแบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว ผมเชื่อว่าสักวันหนึ่งต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงแน่นอน ถึงไม่รู้ว่าวันไหนแต่ก็ภูมิใจในฐานะพลเมืองคนหนึ่งที่ได้ต่อสู้เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของคนรุ่นหลัง ๆ ต่อไป ”

ฝันให้อีสานบ้านเกิดกำหนดอนาคตตัวเอง

สหายบอยได้พูดถึงความฝันของตัวเอง ว่า ความฝันของเขาคือเขาอยากกลับไปยังบ้านเกิดที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ไปทำงานการเมืองเกี่ยวกับอะไรก็ได้ที่มันจะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนที่นั่นได้ เขาอยากใช้การเมืองในการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่
“ผมอยากเห็นอีสานที่ดีกว่านี้ ในความหมายของผมคือ อย่างน้อยเราไม่ต้องไปทำงานที่เมืองหลวงอีกต่อไป มันจะเป็นไปได้มั้ยที่คนอีสานจะไม่จำเป็นต้องไปขายแรงงานในกรุงเทพ อยากเห็นอีสานที่พัฒนามากกว่านี้ ผู้คนทำงานกันในหมู่บ้านหรือในเมืองที่อยู่ในจังหวัดของตนเองหรือข้ามเขตจังหวัดกันในภูมิภาค ไม่ต้องหอบสังขารหอบลูกหอบเมียไปทำงานก่อสร้างที่กรุงเทพ”
“อยากเห็นอีสานที่การรักษาพยาบาลเข้าถึงในพื้นที่ชุมชน ไม่ต้องหอบกันไปทั้งบ้าน ไปโรงพยาบาลที่ห่างไกล รวมทั้งสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวก การเดินทาง การขนส่ง ไปมาหาสู่กันได้สะดวก ผมอยากจะเห็นการร่วมกันกำหนดอนาคตของบ้านเมืองตนเองได้ อยากเห็นการกระจายอำนาจ เพราะที่ผ่านมาเราถูกรวมศูนย์อำนาจไว้ที่กรุงเทพทั้งหมด ถ้าทางกรุงเทพไม่สั่งไม่อนุมัติมันก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่เกิดการพัฒนา”
“ผู้นำท้องถิ่นควรจะมีอำนาจมากขึ้นในการบริหารจัดการพื้นที่ของตนเอง จะเป็นไปได้ไหมที่คนในท้องถิ่นจะได้ขึ้นมาเป็นผู้นำ เป็นนักการเมืองในระดับท้องถิ่นที่มีอำนาจมากขึ้น มีโอกาสมากขึ้นที่จะจัดการบริหารทรัพยากรร่วมกันกับคนในท้องถิ่นและปูทางนำไปสู่การทำการเมืองในพื้นที่ที่จะให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรในอีสาน ผมอยากจะเห็นอีสานที่คนอีสานสามารถกำหนดอนาคตของบ้านตัวเองได้จริง ๆ ไม่ใช่อีสานที่คนอีสานต้องไปเป็นนักการเมืองอยู่แต่ที่กรุงเทพ”

แรงสนับสนุนจากเพื่อนและครอบครัว

สหายบอยเล่าว่า “ต้นทุนในการมาชุมนุมแต่ละครั้ง ผมจะเป็นคนจ่ายเอง แต่ส่วนใหญ่ก็จะมีเพื่อนคอยช่วยเหลือค่าเดินทาง ส่วนค่าใช้จ่ายเวลาที่ถูกดำเนินคดี ผมจะมีสำรองเงินเองบางส่วน ส่วนหนึ่งก็จะเป็นเงินที่เพื่อนช่วยรวมกันมาให้ผมนำไปใช้ต่อสู้คดี ซึ่งมีทั้งเพื่อนที่อยู่ในกรุงเทพด้วยและก็เพื่อนที่อยู่ที่มหาสารคาม ผมเลยมีต้นทุนส่วนหนึ่งในการต่อสู้คดี แต่ผมก็คิดว่าหากเป็นคนที่ไม่ได้มีโอกาสแบบผม มันก็คงลำบากน่าดู ขนาดตัวผมที่ยังพอมีต้นทุนเองก็ค่อนข้างลำบากเหมือนกัน”
“หลังจากที่โดนแจ้ง ม.112 มันก็กระทบกับตัวเราแน่ ๆ ส่วนหนึ่งคือตารางเวลาที่เราต้องเดินทางไปกรุงเทพบางครั้งก็เดือนละครั้ง บ้างก็สองเดือนครั้ง ซึ่งการเดินทางแต่ละครั้งมันก็เอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้ เพราะบางครั้งก็ถูกเลื่อน  เช่น ครั้งหนึ่งก็เคยถูกอัยการขอเลื่อน”
“ผมเริ่มรู้สึกว่าเวลาในชีวิตผมไม่แน่นอน มันก็เกิดเป็นความไม่มั่นคงในชีวิต ผมก็พยายามจะสร้างเส้นทางในชีวิตให้ตัวเองมากขึ้น เพราะผมไม่รู้เลยว่าวันไหนจะโดนอะไรบ้าง เพื่อจะไม่ทำให้มันเป็นภาระมาก เช่น เรื่องเรียน ผมก็คุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาทุกวันเกี่ยวกับเรื่องคดีว่าถ้ามันเกิดกรณีที่เลวร้ายจริง ๆ ก็ขอให้อาจารย์ช่วยในเรื่องพักการเรียนให้”
“สำหรับครอบครัวผมกับการที่เห็นผมโดนแจ้ง ม.112 เขาก็มองว่ามันไม่เป็นธรรม มันเป็นเสรีภาพทางการพูด ไม่ควรจะถูกนำมาเป็นความผิดร้ายแรงถึงขั้นอาญาแผ่นดิน อะไรที่เขาพอจะช่วยได้ เขาก็จะช่วย เขาจะพยายามถามไถ่ผมตลอด ผมก็ตอบเขาว่าตอนนี้ก็ไม่ได้แย่เท่าตอนช่วงตอนก่อนรัฐประหารปี 2557 ถ้าผมโดนในช่วงนั้นคงเป็นเรื่องร้ายแรงมาก เพราะคนจะมองว่าผมแปลก จะมองว่าผมเป็นคนที่ล้มเจ้า”