ปรากฎการณ์การใช้มาตรา 112 ต่อการเผา – ทำลาย ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ

พระบรมฉายาลักษณ์และซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ถูกประดับประดาให้พบเห็นได้ตามถนนเส้นสำคัญ สถานที่สาธารณะ อาคารหน่วยงานราชการ รวมถึงพื้นที่ของเอกชนที่เปิดให้สาธารณะเข้าใช้บริการอีกหลายๆ แห่ง การเผาหรือทำลายซุ้มเฉลิมพระเกียรติโดยตัวเองเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว หากเป็นการ “ทำลายทรัพย์สิน” ของบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินของเอกชน หรือทรัพย์สินของทางราชการ รวมถึงหากหากใช้ “ไฟ” ก็จะมีข้อกล่าวหา “วางเพลิงเผาทรัพย์” ด้วย อย่างไรก็ตามการดำเนินคดีต่อผู้ที่ทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ไม่ได้หยุดอยู่แค่ประเด็นการทำลายทรัพย์สินเพราะมีมิติของอุดมการณ์แห่งรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง 
เท่าที่มีข้อมูล ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือข้อหา “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ” ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับที่กับคนที่ เผา หรือทำลาย หรือขีดเขียนพระบรมฉายาลักษณ์และซุ้มเฉลิมพระเกียรติ เป็นครั้งแรกในยุคคสช. อย่างน้อยสองกรณี ได้แก่ กรณีของสมัคร ผู้ป่วยทางจิตที่ถูกนำข้อกล่าวหานี้มาใช้กับการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ หรือซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่ติดตั้งอยู่บนถนนหน้าบ้านในจังหวัดเชียงราย และกรณีการเผาทำลายซุ้มเฉลิมพระเกียรติหลายครั้งที่จังหวัดขอนแก่น
หลังจากนั้นก็ไม่มีการดำเนินคดีลักษณะนี้อีกจนกระทั่งเดือนกันยายน 2563 ระหว่างการชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่สนามหลวง มีนักกิจกรรมคนหนึ่งนำสติกเกอร์ไปติดคาดพระเนตรของพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบที่ติดตั้งอยู่ใกล้สนามหลวงซึ่งเป็นพื้นที่การชุมนุม จนกระทั่งมาถึงปี 2564 ตำรวจเริ่มใช้กำลังสลายการชุมนุมที่จัดขึ้นโดนสงบปราศจากอาวุธ การดำเนินการบางอย่างกับพระบรมฉายาลักษณ์หรือซุ้มเฉลิมพระเกียรติ เริ่มเกิดขึ้นถี่และยกระดับปฏิบัติการจากแค่การติดกระดาษหรือสติกเกอร์เขียนข้อความ เป็นพ่นสี ทุบทำลาย รวมถึงเผาทำลาย หลายกรณีเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ในเวลาไม่นาน
รวมข้อมูลระหว่างปี 2563-2564 พบว่า มีคดีจากการเผา หรือทำลาย หรือแสดงออกต่อ พระบรมฉายาลักษณ์ 17 คดี มีผู้ต้องหา 21 คน มีกรณีเดียวที่เกิดเหตุขึ้นแล้วยังจับตัวผู้ต้องสงสัยไม่ได้ เป็นกรณีที่เกิดเหตุขึ้นระหว่างการชุมนุม 7 คดี เกิดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 8 คดี จังหวัดอื่นๆ 9 คดี สามารถแบ่งการกระทำออกได้เป็น การเผา 9 คดี การทำลายด้วยวิธีอื่น 2 คดี การฉีดสีสเปรย์ 4 คดี และการติดป้ายข้อความ 3 คดี

คดีสืบเนื่องจากการทำลายซุ้มเฉลิมพระเกียรติหรือพระบรมฉายาลักษณ์ในยุค คสช.

ในยุค คสช. มีกรณีการเผาหรือทำเลยซุ้มเฉลิมพระเกียรติเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 กรณี ได้แก่ 
กรณีของสมัคร ผู้ป่วยจิตเวชชาวจังหวัดเชียงราย เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2557 มีผู้พบเห็นสมัครดึงภาพพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่เก้าลงมากองบนพื้นจนเหลือแต่โครง ผู้ประสบเหตุในขณะนั้นแจ้งเหตุกับตำรวจ และตำรวจได้ทำการจับกุมสมัครในที่เกิดเหตุ เนื่องจากขณะเกิดเหตุคดีของสมัครมีประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 ให้เอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร เบื้องต้นสมัครให้การปฏิเสธโดยให้การต่อศาลทหารว่าเขาจำไม่ได้ว่าขณะนั้นเกิดอะไรขึ้น เพราะเสพสุรามึนเมา การสืบพยานที่ศาลทหารเชียงรายมีความล่าช้า เพราะพยานโจทก์ไม่มาศาล สมัครถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำประมาณหนึ่งปี ก็ตัดสินใจเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ เพื่อให้คดีจบ ศาลทหารเชียงรายพิพากษาลงโทษสมัครเป็นเวลาสิบปี ก่อนจะลดโทษเหลือห้าปีเพราะคำรับสารภาพ สมัครถูกคุมขังจนถึงเดือนเมษายน 2560 จึงได้รับการปล่อยตัว รวมถูกคุมขังสองปีเก้าเดือน 
คดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่จังหวัดขอนแก่น เกิดขึ้นช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2560 เริ่มจากเหตุเพลิงไหม้ซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่อำเภอบ้านไผ่ หนึ่งจุด และซุ้มเฉลิมพระเกียรติอีกสองจุดในพื้นที่อำเภอชนบท จากการสืบสวนเจ้าหน้าที่จับกุมบุคคลรวมทั้งหมด 11 คน 7 คนเป็นบุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี ต่อมาทั้ง 11 คน ถูกแยกฟ้องเป็นเจ็ดคดี โดยมีข้อหาร้ายแรงได้แก่  ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ วางเพลิงเผาทรัพย์ อั้งยี่ ซ่องโจร แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์  เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 209, 210, 217 และ 358
เยาวชนอายุ 14 ถูกแยกไปดำเนินคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวขอนแก่น กลุ่มบุคคลอายุต่ำว่า 20 ปี อีกหกคนถูกดำเนินคดีจากการร่วมกันก่อเหตุวางเพลิงสองคดี อัยการรวมสำนวนคดีทั้งสองเข้าด้วยกันและฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดพล จำเลยทั้งหกให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในเดือนมกราคม 2561 พิพากษาลงโทษจำเลยในทุกข้อหาและลงโทษจำคุกจำเลยแตกต่างกันไปตามพฤติการณ์ของแต่ละคน อย่างไรก็ตามในเดือนกันยายน 2561 พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหกในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะเห็นว่าจำเลยเพียงมีเจตนาวางเพลิงเผาทรัพย์และทำลายทรัพย์สินเท่านั้นแต่ไม่ได้มีเจตนาจะแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ 
ในส่วนของปรีชากับสาโรจน์ จำเลยที่ถูกดำเนินคดีจากการเผาซุ้มในพื้นที่แยกเป็นสามคดี ศาลจังหวัดพลมีคำพิพากษาในเดือนมิถุนายน 2561 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดตามข้อหาทั้งหมดที่ถูกฟ้อง ยกเว้นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สำหรับจำเลยอีกสองคนคือหนูผิณและฉัตรชัย ศาลพิพากษาว่าทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย 

คดีการทำลายซุ้มเฉลิมพระเกียรติหรือพระบรมฉายาลักษณ์ในปี 2563

หลังการปราศรัยของทนายอานนท์ นำภา ในการชุมนุม เสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตย เมื่อ 3 สิงหาคม 2563 การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผยปรากฎให้เห็นมากขึ้น ทั้งผ่านข้อความบนป้ายในที่ชุมนุมรวมถึงข้อความบนโลกออนไลน์ต่างๆ ที่เริ่มเขียนถึงพระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา หรือบางครั้งก็มีการเอ่ยพระนามออกมาตรงๆ การแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์หรือซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่สะท้อนถึงความขัดแย้งทางการเมือง ความเปลี่ยนแปลงของสถานะความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับพระมหากษัตริย์ จึงเริ่มปรากฎเด่นชัดขึ้นหลังเดือนสิงหาคม 2563 ได้แก่

คดีติดสติกเกอร์ ‘กูKult’ คาดพระเนตร ที่หน้าศาลฎีกา

นรินทร์เข้าร่วมการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 ระหว่างนั้นมีคนนำสติกเกอร์ ‘กูKult’ ไปติดบนพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบบริเวณหน้าศาลฎีกาซึ่งเป็นพื้นที่การชุมนุมในลักษณะเอาสติกเกอร์ปิดคาดทับพระเนตร จากการสอบถามนรินทร์ระบุว่าในวันที่ 20 กันยายน 2563 ระหว่างที่เขากำลังเดินทางกลับบ้านจากพื้นที่การชุมนุมทางตรอกข้าวสาร มีคนเข้ามาล้อมอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาขอดูหน้าตาและจดชื่อที่อยู่เขาไปโดยที่ไม่ได้แจ้งว่าเขาทำความผิดใด
นรินทร์ถูกออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในเดือนธันวาคม 2563 โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นคนติดสติ๊กเกอร์ดังกล่าว นรินทร์ให้การปฏิเสธและพนักงานสอบสวนปล่อยตัวเขาโดยไม่ขออำนาจศาลฝากขัง ขณะนี้คดีอยู่ในชั้นศาลแล้วโดยศาลอาญานัดสืบพยานในวันที่ 22-25 กุมภาพันธ์ และ 1-2 มีนาคม 2565 
วันที่ 16 ตุลาคม 2563 ตำรวจควบคุมฝูงชนใช้กำลังสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน โดยใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารระคายเคือง การสลายการชุมนุมครั้งนี้นับเป็นการสลายการชุมนุมครั้งแรกในปี 2563 ที่มีการนำอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนมาใช้ การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนบางส่วน จนอาจเป็นมูลเหตุให้เกิดการแสดงออกบางประการต่อพระบรมฉายาลักษณ์หรือซุ้มเฉลิมพระเกียรติ อย่างน้อยสองกรณี ได้แก่ 

คดีฉีดสเปรย์พระบรมฉายาลักษณ์ที่พัทยา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า พนิดา พนักงานขายของในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ถูกดำเนินคดีในข้อหา “ทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย” โดยถูกกล่าวหาว่า ฉีดพ่นข้อความด้วยสีสเปรย์ที่ใต้ฐานพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 10 ที่พัทยากลาง 1 จุด และ พัทยาใต้ 1 จุด ในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 โดยเบื้องต้นยังไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเปลี่ยนนโยบายภายหลังการนำมาตรา 112 มาใช้ดำเนินคดีผู้แสดงออกทางการเมืองอีกครั้ง ตำรวจก็แจ้งข้อหามาตรา 112 เพิ่มเติม 
ในเดือนกรกฎาคม 2564 อัยการฟ้องคดีพนิดาต่อศาลจังหวัดพัทยา โดยอัยการบรรยายฟ้องโดยสรุปได้ว่าจำเลยฉีดพ่นข้อความว่า “กษัตริย์” และมีถ้อยคำอื่นที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายต่อท้ายบนป้ายทั้งสอง ระหว่างการต่อสู้คดีพนิดาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยศาลจังหวัดพัทยานัดสืบพยานระหว่างวันที่ 27 – 29 กันยายน 2565  

คดีทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ที่ม.ธรรมศาสตร์ ลำปาง

สืบเนื่องจากการสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ในวันที่ 17 ตุลาคม 2563 กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ลำปางจัดการชุมนุมที่ถนนทางเข้าหน้าหอพักนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เพื่อประท้วงการใช้กำลังสลายการชุมนุม โดยมีนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมประมาณ 300 คน ในเวลาไล่เลี่ยกับที่มีการจัดการชุมนุมปรากฎว่ามีกลุ่มบุคคลปลดพระบรมฉายาลักษณ์ที่ติดตั้งอยู่บริเวณทางเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ลำปางออกจนทำให้ได้รับความเสียหายขาดเป็น 4 ชิ้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวตอนหนึ่งว่า
“ตามที่ปรากฏเหตุการณ์จากการนัดประชุมแฟลชม็อบของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เมื่อช่วงค่ำวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อทุกภาคส่วนในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความกังวล และไม่สบายใจ
“เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ไม่ควรเกิดขึ้น และเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม มหาวิทยาลัยจะดำเนินการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก”
ในเวลาต่อมาลัลนานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับเพื่อนอีกหนึ่งคนถูกเรียกไปพบผู้บริหาร เมื่อไปถึงปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและตำรวจอยู่ในห้องประชุมด้วย เบื้องต้นตำรวจแจ้งข้อกล่าวหากับนักศึกษาทั้งสองคนว่าทำความผิดฐานทำลายทรัพย์สินสาธารณะ แต่ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์พนักงานสอบสวนสภ.ห้างฉัตรออกหมายเรียกให้ลัลนากับเพื่อนขอเธอไปรับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 เพิ่มเติม อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดลำปางตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 แต่เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด19 ศาลจึงเลื่อนนัดสอบคำให้การคดีนี้ออกไปเป็นวันที่ 16 ธันวาคม 2564  

คดีการทำลายซุ้มเฉลิมพระเกียรติหรือพระบรมฉายาลักษณ์ในปี 2564

ในปี 2564 เจ้าหน้าที่ยกระดับการใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุม กระสุนยางและแก๊สน้ำตา ถูกนำมาใช้บ่อยครั้งจนเกือบจะเป็นเรื่องปกติโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสลายการชุมนุมของผู้ชุมนุมกลุ่ม “ทะลุแก๊ส” ที่แยกดินแดง การยกระดับการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ส่งผลให้มีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งเลือกที่จะแสดงออกโดยตรงต่อพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่สิบ โดยการแสดงออกมีตั้งแต่การแปะกระดาษ เขียนข้อความด้วยสีสเปรย์ ไปจนถึงเผาทำลาย 

คดีพ่นสเปรย์ใส่ซุ้มเฉลิมพระเกียรติพระบรมวงศานุวงศ์

กลางดึกวันที่ 13 มกราคม 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายสิบนายนำกำลังเข้าจับกุมสิริชัยหรือ ฮิวโก้ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมด้วย 
สิริชัย ชาวจังหวัดนครปฐมถูกเจ้าหน้าที่บุกจับกุมเพราะเจ้าหน้าที่เชื่อว่า เป็นผู้พ่นข้อความบนพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต จากคำบอกเล่าของสิริชัย เขาถูกเจ้าหน้าที่ดักจับในช่วงค่ำ ระหว่างที่ขี่รถจักรยานยนต์ออกจากที่พักของเพื่อนเพื่อไปรับประทานอาหาร  มีเจ้าหน้าที่มากกว่าสิบนายปิดล้อมซอย ในการจับกุม สิริชัยไม่ได้รับอนุญาตติดต่อผู้ใกล้ชิดหรือทนายความในทันทีและเขาถูกยึดโทรศัพท์มือถือ ตำรวจยังมีพฤติการณ์ปิดบังที่อยู่ของสิริชัยทำให้เกิดความเป็นห่วงถึงความปลอดภัยและเป็นกระแส #saveนิว ในช่วงดึกของคืนนั้น สิริชัยมามีโอกาสติดต่อทนายความช่วงสั้นๆ หลังเจ้าหน้าที่ทำบันทึกจับกุมเสร็จแล้ว  
ในวันที่ 7 เมษายน 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีสิริชัยต่อศาลจังหวัดธัญบุรีแล้ว โดยในส่วนของความผิดตามมาตรา 112 สิริชัยถูกกล่าวหาว่าฉีดพ่นข้อความ “ภาษีกู” และ “ยกเลิก 112” ลงบนพระฉายาลักษณ์ของพระราชินีในรัชกาลที่เก้ารวมสามจุด พระรูปของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ หนึ่งจุด บนป้ายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝั่งถนนพหลโยธินขาออกหนึ่งจุด และใต้พระฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่เก้ากับสมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่เก้าอีกหนึ่งจุด รวมหกจุด ศาลกำหนดสืบพยานจำเลยนัดที่เหลือในเดือนมกราคม 2565

คดีเผาทำลายพระบรมฉายาลักษณ์หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เวลากลางคืน เกิดเหตุเพลิงไหม้พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบซึ่งติดตั้งอยู่ที่หน้าเรือนจำกลางคลองเปรม และคลิปวิดีโอเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าวถูกเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตบนเฟซบุ๊กเพจ The Bottom Blues หลังเกิดเหตุดังกล่าวตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานก่อนขอศาลอนุมัติหมายจับไชยอมร แก้ววิบูลพันธ์ หรือแอมมี่ จากนั้นในช่วงดึกวันที่ 3 มีนาคม 2564 เจ้าหน้าที่จึงนำกำลังเข้าจับกุมไชยอมรจากที่พักแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไชยอมรถูกฝากขังในชั้นสอบสวนตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2564 โดยศาลอาญาไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว กระทั่งไชยอมรแถลงยอมรับเงื่อนไขว่าจะไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ ไม่เข้าร่วมการชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ศาลจึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 นอกจากไชยอมรแล้ว ในคดีนี้เจ้าหน้าที่ยังดำเนินคดีกับธนพัฒน์ หรือ ปูน ทะลุฟ้า ซึ่งขณะเกิดเหตุอายุ 18 ปี ด้วย โดยธนพัฒน์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี 
อัยการฟ้องคดีในส่วนของไชยอมรเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 และฟ้องคดีต่อธนพัฒน์ในวันที่ 2 มิถุนายน 2564 อัยการบรรยายฟ้องคดีนี้ไว้โดยสรุปได้ว่า พระบรมฉายาลักษณ์ที่ถูกทำลาย เรือนจำกลางคลองเปรมจัดทำขึ้นพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย การกระทําของจําเลยกับพวก เป็นการแสดงออกว่าจะทําให้เสียหายในทางใดๆ ไม่ว่าจะเป็นภยันตรายแก่ร่างกาย ทรัพย์สิน สิทธิ เสรีภาพหรือชื่อเสียงเกียรติคุณ ไม่ใช่การใช้สิทธิตามปกตินิยม เป็นการแสดงอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ ทําให้พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติ และมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ศาลอาญากำหนดวันนัดสืบพยาน 1 – 4 และ 8 – 11 มีนาคม 2565 รวมคดีของทั้งสองคนเข้าด้วยกัน 

กรณีการฉีดสเปรย์ทับพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่เก้า เชียงใหม่

เดือนมีนาคม 2564 มีบุคคลใช้สีสเปรย์ฉีดพ่นเขียนข้อความหยาบคายทับพระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่เก้า ที่หน้าตึกคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้จัดการออนไลน์คาดว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงความไม่พอใจที่ รศ.อัศว์นีย์ หวานจริง คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ ให้เจ้าหน้าที่รื้อถอนและเก็บผลงานศิลปะ ที่วางอยู่ภายในลานหน้าหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม ซึ่งคณะวิจิตรศิลป์ ชี้แจงว่า จำเป็นต้องดำเนินการดังกล่าว เพราะขณะเข้าพื้นที่เพื่อจัดเตรียมแสดงงานนิทรรศการศิลปนิพนธ์ พบผลงานชิ้นหนึ่งที่สุ่มเสี่ยงจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย คือ ผลงานธงชาติไทยที่ถูกดัดแปลงและเขียนทับด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม ทั้งนี้จากการสืบค้นยังไม่พบว่ามีบุคคลใดถูกดำเนินคดีจากการฉีดพ่นพระบรมสาธิสลักษณ์ดังกล่าว

คดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติบนถนนบายพาสขอนแก่น

ระหว่างวันที่ 10 – 11 มีนาคม 2564 เกิดเหตุเพลิงไหม้ซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่ติดตั้งอยู่บริเวณถนนบายพาส ตำบลศิลา อำเภอเมืองขอนแก่น จนได้รับความเสียหายมีรอยไหม้สองจุด เหตุการณ์ผ่านไปโดยไม่มีความเคลื่อนไหวจนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2564 อิศเรษฐ์ เจริญคง หรือ บอส นักกิจกรรมและพ่อค้าขายพวงมาลัยชาวจังหวัดขอนแก่น ทราบว่าตัวเองถูกออกหมายจับ จึงประสานงานกับตำรวจเพื่อขอเข้ามอบตัวในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 
เมื่อไปถึงสภ.ขอนแก่น เจ้าหน้าที่แสดงหมายจับศาลจังหวัดขอนแก่น ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 โดยหมายจับดังกล่าวระบุว่า อิศเรษฐ์ต้องหาว่ากระทําความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และวางเพลิงเผาทรัพย์ อิศเรษฐ์รับว่าเขาเป็นบุคคลตามหมายจับแต่จริงแต่เขาประสงค์จะให้การปฏิเสธและประสงค์จะให้การในชั้นศาลเท่านั้น พนักงานสอบสวนพาอิศเรษฐ์ไปขออำนาจศาลฝากขังในวันเดียวกัน ศาลจังหวัดขอนแก่นอนุญาตให้อิศเรษฐ์ปล่อยตัวชั่วคราวโดยวางเงินประกัน 35,000 บาท และนัดผู้ต้องหารายงานตัวทางโทรศัพท์ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 

คดีติดป้ายกระดาษบนพระบรมฉายาลักษณ์ ที่สนามหลวง

ในวันที่ 22 มีนาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายจับศาลอาญาเข้าจับกุมเข้าทำการจับกุมชูเกียรติหรือ “จัสติน” นักกิจกรรมชาวจังหวัดสมุทรปราการที่บ้าน ก่อนที่จะมีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำตามข้อกล่าวหาว่า ในวันที่ 20 มีนาคม 2564 ซึ่งกลุ่ม REDEM นัดชุมนุมที่สนามหลวง ชูเกียรติซึ่งเข้าร่วมชุมนุมด้วยนำกระดาษเขียนข้อความว่า “ที่ทิ้งขยะ” ไปติดบนพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบนอกรั้วศาลฎีกาซึ่งเป็นพื้นที่การชุมนุม 
หลังถูกจับกุมชูเกียรติถูกฝากขังในคดีนี้ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2564 จนถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2564 จึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว อัยการยื่นฟ้องชูเกียรติในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ชูเกียรติให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาพร้อมทั้งปฏิเสธว่าเขาไม่ได้เป็นผู้เขียนและนำกระดาษดังกล่าวไปติดที่พระบรมฉายาลักษณ์ การสืบพยานคดีนี้จะเกิดขึ้นในวันที่  22-25 มีนาคม และ 19-21 เมษายน 2565 

คดีฉีดสเปรย์ แปะกระดาษพระบรมฉายาลักษณ์ ระหว่างการชุมนุม  “ทวงคืนประเทศไทย ขับไล่ปรสิต”

วันที่ 24 กรกฎาคม 2564 “สายน้ำ” เยาวชนอายุ 17 ปี เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้ง ตามที่มีหมายจับศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเขาถูกกล่าวหาว่า หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ด้วยการพ่นสี แปะกระดาษเขียนข้อความทับบนภาพพระบรมฉายาลักษณ์ นอกจากนั้นยังเผาทำลายเครื่องประดับภาพประบรมฉายาลักษณ์จนได้รับความเสียหายด้วย โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการชุมนุม “ทวงคืนประเทศไทย ขับไล่ปรสิต” ที่จัดโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก – Free Youth เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 เดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล
ในเดือนตุลาคม 2564 อัยการฟ้องคดี “สายน้ำ” ต่อศาล ก่อนที่ศาลจะนัดสอบคำให้การสายน้ำในเดือนพฤศจิกายน 2564 “สายน้ำ” ให้การปฏิเสธ สำหรับคำฟ้องของอัยการพอสรุปได้ว่า สายน้ำใช้กระดาษที่มีข้อความว่า “CANCLE LAW 112” หนึ่งแผ่น ข้อความ “เอาช่วงเวลาชีวิตพวกกูคืนมา” หนึ่งแผ่น แปะทับบนพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบ ซึ่งติดตั้งอยู่ที่หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร นอกจากนั้นยังใช้สเปรย์สีดำพ่นข้อความหยาบคายทับข้อความ “ทรงพระเจริญ” การกระทำของจำเลยจึงเป็นการไม่สมควร เป็นการแสดงออกที่เป็นภยันตรายแก่ร่างกาย ทรัพย์สิน สิทธิ เสรีภาพ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณที่ไม่ใช่การใช้สิทธิตามปกตินิยม เป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์  

คดีเผาทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ใกล้แยกนางเลิ้ง

นอกจากกรณีของ “สายน้ำ” แล้ว ในเหตุการณ์ชุมนุมวันเดียวกันยังมีกรณีการเผาทำลายซุ้มเฉลิมพระเกียรติเกิดขึ้นอีกกรณีหนึ่ง คือกรณีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่สิบบริเวณถนนราชดำเนินนอก กรณีนี้ในวันที่ 19 กรกฎาคม ตำรวจนำหมายจับศาลอาญาเข้าทำการจับกุมสิทธิโชค หนึ่งในผู้ชุมนุมที่บ้านพักย่านรังสิตในช่วงกลางดึก ซึ่งสิทธิโชคประกอบอาชีพเป็นไรเดอร์ส่งอาหาร ปรากฏคลิปวิดีโอผู้ชุมนุมคนหนึ่งขับขี่รถจักรยานยนต์ที่มีกล่องเก็บอาหารของบริษัทฟู้ดแพนด้าและกล่าวหาว่าบุคคลในคลิปวิดีโอมีความพยายามที่จะเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ
สำหรับสิทธิโชคหลังถูกจับกุม พนักงานสอบสวนนำตัวเขาไปฝากขังต่อศาลในวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ศาลนัดสอบคำให้การ 29 พฤศจิกายน 2564 ก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยตีราคาประกัน 100,000 บาท  ทั้งนี้แฟนของสิทธิโชคให้ข้อมูลกับ The Satndard ว่า สิทธิโชคเพียงแต่เข้าไปส่งอาหารในพื้นที่การชุมนุม ส่วนภาพที่ปรากฎบุคคลคล้ายสิทธิโชคเข้าไปใกล้ซุ้มเฉลิมพระเกียรติก็เป็นภาพที่เขาพยายามจะนำน้ำไปดับไฟซึ่งไหม้มาก่อนแล้วเท่านั้น และตำรวจยังตะโกนบอกให้สิทธิโชคถอยออกมา และหลังเกิดเหตุสิทธิโชคก็กลับไปใช้ชีวิตทำงานตามปกติ ไม่ได้หลบหนี 

คดีเผาทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ที่จังหวัดอุดรธานี

วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่สิบ เกิดเหตุเพลิงไหม้พระบรมฉายาลักษณ์ที่ติดตั้งอยู่ใกล้หน่วยงานราชการแห่งหนึ่งในอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี จากนั้นในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่นำกำลังไปตรวจค้นหอพักแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองจังหวัดอุดรธานีโดยไม่แสดงหมายค้น และยึดรถจักรยานยนต์ของพิชยุตม์ ลูกจ้างบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานีไป ต่อมาเมื่อพิชยุตม์จะเดินทางกลับบ้านที่อำเภอหนองหานในเวลา 18.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจก็แสดงตัวเข้าทำการจับกุมพิชยุตม์โดยไม่แสดงหมายจับ 
เบื้องต้นตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นต่อพิชยุตม์และนำตัวเขาไปฝากขังที่ศาลจังหวัดอุดรธานี ซึ่งศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพิชยุตม์โดยใช้หลักทรัพย์ 70,000 บาท และต้องติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ต่อมาตำรวจโทรไปหาพิชยุตม์แจ้งให้มาพบพนักงานสอบสวน และพนักงานสอบสวนแจ้งพิชยุตม์ว่าอัยการจังหวัดอุดรธานีมีคำสั่งให้แจ้งข้อกล่าวตามมาตรา 112 กับพิชยุตม์เพิ่มเติม โดยพิชยุตม์ระบุด้วยว่าก่อนหน้านี้ตำรวจเคยบอกกับเขาและครอบครัวว่าจะไม่ดำเนินคดีมาตรา 112 จึงขอให้เขารับสารภาพ ขอตรวจดีเอ็นเอ และขอพาสต์เวิร์ดเข้าไปตรวจสอบการใช้งานโทรศัพท์ของเขา และขอให้เขารับสารภาพโดยไม่มีทนายความโดยระบุว่าจะทำให้เรื่องจบเงียบๆ อย่างไรก็ตามเมื่อตำรวจแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 เพิ่มเติม เขาก็เห็นว่าไม่สามารถไว้ใจเจ้าหน้าที่ได้แล้วจึงตัดสินใจเปิดเผยเรื่องต่อสาธารณะ 

คดีการวางเพลิงซุ้มเฉลิมพระเกียรติบนทางด่วนดินแดง

วันที่ 12 กันยายน 2564 เวลา 19.30 น. ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊ซ เกิดเพลิงลุกไหม้ซุ้มเฉลิมพระเกียรติบนทางด่วนดินแดง 
จากนั้นในช่วงกลางดึกเวลาประมาณ 23.50 น. ก็เกิดเหตุเพลิงไหม้ซุ้มเฉลิมพระเกียรติอีกจุดหนึ่ง ในเวลาต่อมาศูนย์ความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าในวันที่ 14 กันยายน 2564 เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบนำกำลังเข้าจับกุม “นัท” เยาวชนอายุ 14 ปี ระหว่างเล่นฟุตบอกลกับเพื่อนที่สนามใกล้บ้านพักย่านพระรามสอง จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดของเจ้าหน้าที่ พบบุคคลที่คล้ายกับ “นัท” ราดของเหลวลงบริเวณเสาของซุ้มเฉลิมพระเกียรติจนทำให้เกิดเพลิงไหม้ “นัท” ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนโดยในขั้นตอนดังกล่าวมีที่ปรึกษากฎหมายที่ตำรวจจัดหามา แม่ของ “นัท” รวมถึงนักจิตวิทยาอยู่ร่วมในกระบวนการด้วย
พนักงานสอบสวนส่งตัว “นัท” ไปศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในวันที่ 16 กันยายน 2564 พร้อมคัดค้านการประกันตัว แต่ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว”นัท” โดยวางเงินประกัน 10,000 บาท  

คดีเผาพระบรมฉายาลักษณ์หน้าโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น

วันที่ 13 กันยายน 2564 เวลาประมาณ 2.00 น. ตำรวจสภ.ขอนแก่นได้รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบซึ่งติดตั้งอยู่ที่หน้าโรงพยาบาลศรีนครินทร์ หลังเกิดเหตุตำรวจที่จังหวัดขอนแก่นทำการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานจนพบว่ามีผู้ก่อเหตุสองคน จากนั้นในช่วงเช้าวันที่ 17 กันยายน 2564 ตำรวจขออนุมัติหมายจับจากศาลจังหวัดขอนแก่นเข้าทำการจับกุมผู้นักศึกษาสองคนได้แก่ ‘บอส’ ภาณุพงศ์ อายุ 20 ปี และ ‘เจมส์’ เรืองศักดิ์ อายุ 22 ปี นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ประมาณ 30 นายพยายามปีนเข้าไปจับกุมตัวทั้งสองในที่พัก เจ้าหน้าที่ยังขออนุมัติหมายค้นและทำการตรวจค้นที่พักของทั้งสองเพื่อหาสิ่งผิดกฎหมายรวมถึงได้ทำการยึดรถยนต์ที่เจ้าหน้าที่เชื่อว่าทั้งสองใช้ในการก่อเหตุไปด้วย
พนักงานสอบสวนตั้งข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 โดยไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ด้วย  จากนั้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองต่อศาลจังหวัดขอนแก่น หลังเข้ารายงานตัวภาณุพงศ์และเรืองศักดิ์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นศาล ไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกันโดยศาลแต่งตั้งให้ผ.ศ.กฤษฎา วงศ์คำจันทร์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้กำกับดูแลภาณุพงศ์และเรืองศักดิ์ในชั้นพิจารณาคดี ศาลนัดจำเลยทั้งสองสอบคำให้การในวันที่ 7 ธันวาคม 2564

คดีวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์ที่หน้ากระทรวงแรงงาน

วันที่ 14 กันยายน 2564 เวลาประมาณ 23.00 น. เกิดเหตุเพลงไหม้พระบรมฉายาลักษณ์ที่ติดตั้งอยู่หน้ากระทรวงแรงงาน ต่อมาในวันที่ 17 กันยายนช่วงค่ำถึงดึก เจ้าหน้าที่จับกุมวัยรุ่นสามคนและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี หนึ่งคนด้วยหมายจับศาลอาญาและหมายจับศาลเยาวชนที่ออกในวันเดียวกัน ตามรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน บุคคลที่ถูกจับกุม ได้แก่ “กันต์” เยาวชนอายุ 17 ปี สมาชิกกลุ่มปฏิวัติการศึกษาไทย ถูกจับกุมที่บ้านพักและได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่าจะพาไปสอบสวนที่สน.ดินแดง เมื่อทนายความไปให้ความช่วยเหลือ จึงได้พบว่ามีบุคคลถูกควบคุมตัวมาอีกสองคนจากเหตุเดียวกัน ได้แก่ ณรงศักดิ์ อายุ 23 ปี และณัฐพล อายุ 18 ปี ทั้งสองถูกจับจากที่พักตั้งแต่เวลาประมาณ 19.00 น.ของวันที่ 17 กันยายน 
ในวันที่ 18 กันยายนณรงศักดิ์และณัฐพลถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลอาญา พนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญาอนุญาตให้ปล่อยตัวทั้งสองโดยต้องติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวหรือ EM พร้อมทั้งกำหนดห้ามทั้งสองออกจากบ้านระหว่างเวลา 15.00 น. – 6.00 น. ของวันถัดไป ส่วน “กันต์” เยาวชนอายุ 17 ปี ถูกส่งตัวไปดำเนินคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศาลเยาวชนฯอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว “กันต์” ในชั้นสอบสวนโดยตีราคาประกัน 30000 บาท 
ในวันเดียวกันกับที่ณรงค์ศักดิ์ ณัฐพลและ “กันต์” ได้รับการปล่อยตัว อธิคุณซึ่งพักอาศัยอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาก็ถูกเจ้าหน้าที่นำกำลังเข้าจับกุมตัวจากกรณีเดียวกันที่บ้านในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และถูกนำตัวมาควบคุมไว้ที่สน.พหลโยธินเป็นเวลาสองคืนก่อนที่เจ้าหน้าที่จะนำตัวเขาไปขออำนาจศาลฝากขังในวันที่ 20 กันยายน 2564 ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอธิคุณในเวลาต่อมาโดยคดียังอยู่ในชั้นสอบสวน   

คดีวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์หน้าวิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น

ในวันที่ 17 กันยายน 2564 เวลาหลังเที่ยงคืน เกิดเหตุเพลิงไหม้พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบซึ่งติดตั้งอยู่ที่หน้าหน้าวิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น โดย สิทธิศักดิ์ ชำปฏิ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคขอนแก่นเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้มีการดำเนินคดี “เทพ” ให้ข้อมูลกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในภายหลังว่า ประมาณ 4 – 5 วันหลังวันเกิดเหตุ มีบุคคลที่เขาไม่รู้จักทักมาทางกล่องสนทนาเฟซบุ๊กของเขาว่า ให้หลบหนีไปเนื่องจากตำรวจจะเข้าทำการควบคุมตัวเขา ขณะเดียวกัน “มิ้นท์” เพื่อนสนิทของ “เทพ” ก็ได้รับแจ้งจากเพื่อนร่วมหอพักว่า มีเจ้าหน้ารที่ตำรวจนำกำลังมาตรวจค้นที่หอพักโดยขณะนั้นมิ้นท์ไม่อยู่ที่ห้องพัก ขณะที่”เทพ”ตัดสินใจเข้าแสดงตัวกับพนักงานสอบสวนในวันที่ 25 กันยายน 2564 โดยเมื่อไปถึงสถานีตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนสภ.เมืองขอนแก่นได้แสดงหมายจับศาลจังหวัดขอนแก่นลงวันที่ 24 กันยายน 2564 “เทพ” ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการสอบสวน
ในการแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนเพียงแต่แจ้งข้อกล่าวหา “วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น และทำให้เสียทรัพย์” โดยไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 เพิ่มเติมด้วย พนักงานสอบสวนขออำนาจศาลฝากขัง จากนั้นศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว “เทพ” โดยวางเงินประกัน 35,000 บาท 

คดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่สะพานลอยโรงเรียนราชวินิตมัธยม

วันที่ 19 กันยายน 2564 “บัง” นักศึกษามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช วัย 22 ปี เข้าร่วมกิจกรรม คาร์ม็อบที่นัดหมายเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบรัฐบาลโดย “บัง” ขี่รถจักรยานยนต์ไปจอดที่แยกนางเลิ้ง  ในเวลา 19.14 น. มีชายคนหนึ่งใช้วัตถุบางอย่างขว้างขึ้นไปยังซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่มีพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบและสมเด็จพระราชินีที่ติดตั้งอยู่บนสะพานลอยคนข้ามหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยม เป็นเหตุให้ซุ้มเฉลิมพระเกียรติได้รับความเสียหาย จากนั้นชายคนดังกล่าวได้วิ่งไปขึ้นซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของ “บัง” ก่อนที่รถคันดังกล่าวจะขับหลบหนีออกจากที่เกิดเหตุ
ต่อมาในวันที่ 8 ตุลาคม 2564 “บัง” ได้รับหมายเรียกจากสน.นางเลิ้งให้ในไปรับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 โดยที่บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาไม่ได้มีรายละเอียดที่ชัดเจนว่า “บัง” เป็นผู้ทำลายหรือเผาพระบรมฉายาลักษณ์แต่อย่างใด ได้แต่บรรยายพฤติการณ์กว้างๆ ของวันเกิดเหตุไว้ “บัง” ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เขายอมรับว่าเข้าร่วมการชุมนุมแต่ปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้นกับเหตุการเผาทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ ในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนปล่อยตัว “บัง” หลังเข้ารับทราบข้อกล่าวหา 

คดีทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ที่อำเภอตระการพืชผล อุบลราชธานี

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2564 มีรายงานว่าช่วงเวลาประมาณ 11.00 น. มีผู้รื้อทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่สิบ ซึ่งติดตั้งอยู่บนเกาะกลางถนนในอำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี  จากนั้นในช่วงเย็นวันเดียวกันก็มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดได้แล้ว โดยติดตามตัวจนไปพบ “แต้ม” อดีตทหารเกณฑ์ อยู่ใกล้ๆ พระบรมฉายาลักษณ์ที่ติดตั้งอยู่ใกล้เคียงกับสถานีขนส่งอำเภอตระการพืชผล จึงจับกุมตัว เบื้องต้น “แต้ม” ยอมรับว่าเขาเป็นผู้ทำลายพระบรมฉายาลักษณ์รวมสามจุด ได้แก่ บริเวณเกาะกลางถนนด้านหน้าโรงเรียนมัธยมตระการพืชผล, บริเวณเกาะกลางถนนหน้าปั้มน้ำมันคาลเท็กซ์ และหน้าสถานีขนส่งผู้โดยสารอําเภอตระการพืชผล ส่วนเจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาทำให้เสียทรัพย์กับ “แต้ม” โดยยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 
แม่ของแต้มให้ข้อมูลว่าหลังไปเกณฑ์ทหารแต้มเริ่มมีอาการป่วยทางจิตจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและแพทย์จะคอยจ่ายยามาให้ตลอดเวลา ทนายของ “แต้ม” เปิดเผยว่า ก่อนเกิดเหตุเขามีอาการป่วยโดยเขาได้ยินเสียงแว่วในหูจากเบื้องบนว่าให้ทำลายป้ายที่เห็น เขาจึงกระทำไปโดยไม่รู้ตัวแต่ก็มารู้สึกผิดในภายหลัง ผู้ใหญ่บ้านระบุว่าหาก “แต้ม”มีอาการป่วยทางจิต หากทานยาเขาจะเป็นคนสุภาพเรียบร้อย แต่หากหยุดยาจะมีอาการหยุดหงิด ใครพูดอะไรก็จะไม่ฟัง 
ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 พนักงานสอบสวนพาตัว “แต้ม” ไปฝากขังที่ศาลแขวงอุบลราชธานี แต่ระหว่างที่กำลังดำเนินการขอปล่อยตัวชั่วคราว ปรากฎว่ามีรถของสภ.ตระกาลพืชผลมารับตัว “แต้ม” กลับไปโดยระบุว่าอัยการมีความเห็นให้แจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 ทว่าท้ายที่สุดพนักงานสอบสวนยังไม่แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 เพิ่มเติมและปล่อยตัว “แต้ม” กลับบ้านโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์พร้อมนัดหมายแต้มมารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 

การเผา – ทำลาย พระบรมฉายาลักษณ์ในมิติทางกฎหมาย

ข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ซึ่งกำหนดว่าผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่ 10,000 – 140,000 บาท 
หากซุ้มเฉลิมพระเกียรติหรือพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าวจัดทำโดยหน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ก็จะเป็นความผิดฐานทำลายทรัพย์สินสาธารณะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 360 ซึ่งกำหนดว่า ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากเป็นการเผาทำลายซุ้มหรือป้ายที่เอกชนเป็นผู้จัดสร้างความผิดในส่วนของการทำให้เสียทรัพย์จะบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา 358 ซึ่งกำหนดว่าผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับการทำลายซุ้มเฉลิมพระเกียรติด้วยวิธีการอื่นนอกจากจะมีความผิดฐานทำลายทรัพย์สินสาธารณะแล้ว ก็อาจจะมีความผิดในข้อกล่าวหาอื่นๆ ประกอบด้วย ได้แก่ ในกรณีที่ผู้ต้องหาใช้สีฉีดพ่นบนซุ้มเฉลิมพระเกียรติหรือพระบรมฉายาลักษณ์ ที่เป็นของทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจก็จะเป็นความผิดฐานทำให้เกิดความเสียหายต่อป้ายหรือสิ่งอื่นใดที่ราชการหรือรัฐวิสาหกิจจัดทำไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์ ตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง มาตรา 35 ที่กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ ให้โคมไฟ ป้ายศาลาที่พัก ม้านั่ง ส้วม หรือสิ่งอื่นใด ที่ราชการส่วนท้องถิ่น ราชการส่วนอื่นหรือรัฐวิสาหกิจได้จัดทำไว้เพื่อสาธารณชน เกิดความเสียหายหรือใช้ประโยชน์ไม่ได้ โดยผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท 
ส่วนการนำสติกเกอร์หรือกระดาษเขียนข้อความต่างๆไปติดทับพระบรมฉายาลักษณ์หรือซุ้มเฉลิมพระเกียรติก็อาจถูกตีความว่าเป็นความผิดฐานปิดป้ายโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่งของพ.ร.บ.ความสะอาดฯ ซึ่งกำหนดห้ามการปิด ทิ้ง หรือโปรยแผ่นประกาศหรือใบปลิวในที่สาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ด้วย
ในส่วนของมาตรา 112 ที่เกิดจากการเผาหรือทำลายซุ้มเฉลิมพระเกียรติ เคยมีคดีที่ศาลทหารเชียงราย ศาลมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 แม้ทนายความจะพยายามนำสืบต่อสู้ในประเด็นสภาพจิตใจที่ป่วยเป็นจิตเภท แต่เนื่องจากจำเลยถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีและกระบวนพิจารณาคดียืดเยื้อยาวนาน จำเลยจึงตัดสินใจให้การรับสารภาพเพื่อให้คดีจบและถูกศาลพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 5 ปี (ลดจากโทษเต็ม 10 ปีเพราะจำเลยรับสารภาพ) ขณะที่ชุดคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่ศาลจังหวัดพล ขอนแก่น ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำเลยเฉพาะความผิดฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น และฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และให้ยกฟ้องจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เพราะเห็นว่าจำเลยเพียงแต่มีเจตนาทำลายทรัพย์สินเท่านั้น 
สำหรับการกระทำต่อซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่เกิดขึ้นในปี 2563 และ 2564 ทั้งพนักงานสอบสวนและอัยการต่างตั้งข้อกล่าวผู้ต้องหาและจำเลยที่แสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์ด้วยข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 เป็นส่วนใหญ่ ทั้งกรณีที่มีการแสดงออกด้วยการติดสติกเกอร์ ติดป้ายเขียนข้อความหรือพ่นสี ไปจนถึงการวางเพลิง อย่างไรก็ตามก็มีความน่าสนใจว่า คดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นทั้งพนักงานสอบสวนและอัยการต่างตั้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาหรือจำเลยด้วยข้อหา “วางเพลิงเผาทรัพย์” และข้อหา “ทำให้เสียทรัพย์” ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่น่าจะตรงกับรูปแบบการกระทำความผิดที่สุดเท่านั้น ไม่ตั้งข้อกลว่าหามาตรา 112 ต่างจากกรณีการกระทำในพื้นที่อื่นๆ
นอกจากนี้ก็มีกรณีของจังหวัดอุบลราชธานีที่พนักงานสอบสวนจะตั้งข้อกล่าวหาต่อจำเลยที่กระทำการเพราะมีอาการทางจิตเฉพาะข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับการทำลายทรัพย์สิน แต่ดูเหมือนจะมีความพยายามจากศาลและอัยการที่จะให้ดำเนินคดีในความผิดตามมาตรา 112 เพิ่มเติม 

ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม ส่งผลโดยตรงต่อแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์

หากไม่นับกรณีการทำลายซุ้มเฉลิมพระเกียรติของสมัครและ “แต้ม” ซึ่งเป็นผู้ป่วยจิตเภท การแสดงออกด้วยการเผาทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ส่วนใหญ่ล้วนเกิดขึ้นโดยมีความสัมพันธ์กับการใช้ความรุนแรงทางการเมืองที่เจ้าหน้าที่กระทำต่อผู้ชุมนุมหรือเกี่ยวพันกับสถานการณ์ทางการเมือง
การเผาทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ที่หน้าเรือนจำคลองเปรม ตามที่ไชยอมร ผู้ต้องหา โพสเฟซบุ๊กต่อสาธารณะอธิบายว่า เป็นการแสดงออกซึ่งความไม่พอใจต่อการคุมขังผู้ต้องหาและจำเลยคดีการเมืองโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว
การฉีดสเปรย์พระบรมฉายาลักษณ์ที่พัทยาและการปลดพระบรมฉายาลักษณ์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลำปาง เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 เป็นผลสืบเนื่องโดยตรงกับการสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน กรุงเทพ  ขณะที่กรณีของชูเกียรติหรือจัสตินที่ถูกกล่าวหาว่านำกระดาษเขียนข้อความไปติดที่พระบรมฉายาลักษณ์หน้าศาลฎีกาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 ก็เกิดขึ้นในวันที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังสลายการชุมนุมกลุ่ม REDEM ที่สนามหลวงด้วยเช่นกัน 
นอกจากนั้นการเผาทำลายซุ้มเฉลิมเพราะเกียรติที่เกิดขึ้นทั้งบนทางด่วนดินแดง และที่หน้ากระทรวงแรงงาน ล้วนเกิดขึ้นในช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊ส ขณะที่การชุมนุมในวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ในโอกาสครบรอบ 1 ปี การชุมนุมเยาวชนปลดแอก ที่จบลงด้วยการใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยกระสุนยางและแก๊สน้ำตาก็เป็นอีกครั้งที่เกิดเหตุเผาทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ในพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่การชุมนุม คือ บนสะพานลอยคนข้ามหน้าโรงเรียนราชวินิตใกล้ทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งมีกรณีพ่นสเปรย์และติดป้ายเขียนข้อความบนพระบรมฉายาลักษณ์ที่อยู่บริเวณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครซึ่งอยู่ไม่ห่างจากทำเนียบรัฐบาลเช่นกัน
ขณะที่การชุมนุมในบางกรณี อาทิชุมนุม Car Mob 19 กันยายน 2564 แม้จะไม่ได้มีเหตุรุนแรง แต่ก็ยังมีการแสดงออกด้วยการเผาทำซุ้มเฉลิมพระเกียรติเกิดขึ้น ส่วนกรณีเหตุที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัดอย่างในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ไม่มีความชัดเจนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับสถานการณ์ทางการเมืองที่กรุงเทพหรือไม่ แต่มีอย่างน้อยหนึ่งกรณีคือกรณีของอิศเรษฐ์ ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้วางเพลิงซุ้มเฉลิมพระเกียรติ เคยทำกิจกรรมทางการเมืองในพื้นที่และถูกดำเนินคดีในการร่วมชุมนุมมาก่อนหน้านี้
สิรินัย นาถึง หรือฮิวโก หนึ่งในจำเลยคดีมาตรา 112 ที่ถูกกล่าวหาว่าฉีดพ่นข้อความบนซุ้มเฉลิมพระเกียรติให้ความเห็นว่า เหตุที่การแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์หรือซุ้มเฉลิมพระเกียรติเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจเป็นเพราะคนไม่มีช่องทางแสดงออก เมื่อการแสดงความคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับสถาบันอย่างเปิดเผยด้วยเหตุด้วยผลถูกปิดตาย การแสดงออกด้วยการเผาหรือการกระทำโดยตรงต่อพระบรมฉายาลักษณ์ จึงเป็นหนึ่งในการแสดงออกที่คนบางส่วนเลือกใช้เพื่อตอบโต้การปิดกั้นของรัฐ เมื่อเริ่มมีคนทำก็เลยมีคนเลือกใช้วิธีการนี้เป็นการแสดงความไม่พอใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองในภาพรวม