Photo essay : ส่องอุปกรณ์คุมม็อบตำรวจไทย

เท่าที่สามารถสืบค้นจากราชกิจจานุเบกษา มีประกาศเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้การควบคุมฝูงชนหนึ่งฉบับคือ ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง เครื่องมือควบคุมฝูงชนในการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ลงนามโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในยุคคสช. 1 ประกาศฉบับนี้เป็นประกาศที่ออกตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ที่ตราขึ้นในยุคคสช. 1 เช่นเดียวกัน โดยกำหนดให้เจ้าพนักงานชุมนุมสาธารณะหรือตำรวจเลือกใช้อุปกรณ์ทั้งหมด 48 รายการ แบ่งเป็นประเภทหลักๆ ดังนี้

  • อุปกรณ์ป้องกันของเจ้าหน้าที่ควบคุมการชุมนุม ได้แก่ หมวกปราบจราจล หรือหมวกกันกระสุน, โล่ใสหรือโล่กันกระสุน, ชุดป้องกันสะเก็ด (สนับแข้ง สนับเข่า สนับศอก), หน้ากากป้องกันแก๊สพิษ, เสื้อเกราะอ่อนป้องกันกระสุน
  • อุปกรณ์สำหรับการป้องกันสถานที่ ได้แก่ แผงกั้นเหล็ก, กรวยยาง, แท่นปูน หรืออุปกรณ์ป้องกันสถานที่, ลวดหนามหีบเพลงและอุปกรณ์การตรวจหาอาวุธบุคคลและพาหนะ
  • อุปกรณ์สำหรับใช้ควบคุมและสลายการชุมนุม ได้แก่ รถฉีดน้ำแรงดันสูงและรถบรรทุกน้ำ, เครื่องส่งคลื่นเสียงรบกวนระยะไกล, แก๊สน้ำตาผสมน้ำชนิดเผาไหม้, ปืนยิงแก๊สน้ำตาพร้อมอุปกรณ์, ลูกขว้างแก๊สน้ำตา, ลูกขว้างแบบควัน, ลูกขว้างแบบแสง-เสียง,  สีผสมน้ำ, ระเบิดควัน, กระบองยาง, ปืนลูกซองสำหรับกระสุนยางหรือแก๊สน้ำตา, ปืนช็อตไฟฟ้า, ปืนยิงตาข่ายและสปอตไลท์ส่องสว่าง
  • อุปกรณ์สำหรับการสืบสวนหาข่าว ได้แก่ กล้องถ่ายภาพและวิดีโอ, เครื่องบันทึกเสียงและเครื่องวัดระดับเสียง

ในการชุมนุมที่ผ่านมาอุปกรณ์ดังกล่าวถูกนำมาใช้เกือบทั้งหมดแล้ว เว้นแต่ปืนช็อตไฟฟ้าที่ใช้พกในระหว่างการสลายการชุมนุมเท่านั้นและปืนตาข่ายที่ไม่ได้นำมาใช้เลย ระยะหลังในช่วงการชุมนุมที่แยกดินแดง ตำรวจเริ่มใช้อุปกรณ์ชนิดใหม่ คือ ปืน FN – 303 ซึ่งในต่างประเทศมีข้อครหาเรื่องความอันตรายของอุปกรณ์ชนิดดังกล่าว

สำหรับการใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชน เดิมทีตำรวจไม่ได้เตรียมอุปกรณ์อย่างครบครันในทุกการชุมนุม แต่มักจะนำมาใช้ในการชุมนุมขนาดใหญ่และการชุมนุมที่มีเป้าหมายในพื้นที่หวงห้ามปกป้องเท่านั้น อย่างไรก็ตามหลังการสลายการชุมนุมของผู้ชุมนุมอิสระเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ที่แฟลตดินแดง ตำรวจมีแนวโน้มเตรียมอุปกรณ์ครบมือมากขึ้นแม้ในการชุมนุมขนาดเล็ก นอกพื้นที่หวงห้าม รวมทั้งการชุมนุมที่ไม่ได้มีเป้าหมายทางการเมือง ทั้งนี้ อุปกรณ์ที่เห็นได้ชินตาไปแล้วคือ ปืนลูกซองและปืน FN-303 รวมทั้งปืนพกสั้น ซึ่งเดิมทีตำรวจจะไม่พกปืนดังกล่าวในที่ชุมนุม

รถฉีดน้ำแรงดันสูง 

หลังการสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 รถฉีดน้ำแรงดันสูงหรือรถจีโน่เป็นที่จับตาของชาวม็อบที่คอยจับภาพและทวีตโลเคชั่นของรถจีโน่เวลาบนท้องถนนเพื่อเตือนความปลอดภัยของผู้ชุมนุมอยู่เสมอ รถจีโน่มีหลายคันสีที่เห็นบ่อยๆ คือ สีน้ำเงิน และอีกสีคือ สีกรมท่า จากการสังเกตการณ์การใช้รถฉีดน้ำในการสลายการชุมนุมจะต้องมีมาตรการอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น การแสดงกำลังของตำรวจจำนวนมากพอที่จะป้องกันรถฉีดน้ำและเจ้าหน้าที่ภายในรถได้ และมาตรการแจ้งเตือนบ้างหรือบ่อยครั้งก็ไม่แจ้งเตือนเลย ดังนั้นกรณีที่มีรถฉีดน้ำขับผ่านเข้ามาใกล้บริเวณที่ชุมนุมก็ไม่ได้หมายความว่า ตำรวจจะเริ่มการสลายการชุมนุมแล้วเสมอไป ส่วนหนึ่งอาจเป็นการดำเนินการทั่วไปหรือมาตรการทางจิตวิทยาเพื่อกดดันผู้ชุมนุม

รถฉีดน้ำจะฉีดน้ำออกมาได้สามแบบหลักคือ น้ำเปล่า, น้ำผสมแก๊สน้ำตา และน้ำผสมสี บางครั้งตำรวจอาจประกาศเป็นลำดับขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก คือ เริ่มจากน้ำเปล่าและตามด้วยน้ำที่ผสมแก๊สน้ำตาหรือสีที่ใช้สำหรับระบุตัวผู้ชุมนุม แต่บางครั้งไม่ได้ประกาศและอาจจะเริ่มจากน้ำผสมแก๊สน้ำตาเลย นอกจากนี้ในช่วงการชุมนุมที่แยกดินแดง ตำรวจใช้น้ำผสมสีม่วงฉีดใส่ผู้ชุมนุม ผู้สังเกตการณ์ที่ถูกฉีดน้ำผสมสีม่วงดังกล่าวเล่าว่า น้ำผสมสีม่วงก่อให้เกิดอาการระคายเคืองมากกว่าน้ำผสมแก๊สน้ำตาด้วยซ้ำไป การปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ล้างหรือล้างด้วยน้ำเปล่าไม่ทำให้อาการระคายเคืองหายไปเอง ต้องล้างด้วยน้ำเกลือเท่านั้น นอกจากจะฉีดน้ำได้แล้ว ด้านบนของรถฉีดน้ำยังมีเครื่องส่งคลื่นเสียงรบกวนระยะไกล หรือ LRAD ที่ปล่อยคลื่นเสียงรบกวนออกมา แต่ใช้ไม่ค่อยได้ผลนักในการสลายการชุมนุม

ตามหลักสากลอุปกรณ์ฉีดน้ำแรงดันสูงไม่ควรใช้ฉีดใส่บุคคลจากระดับสูง ในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บระดับสอง (Secondary Injury) ความเสี่ยงอื่นๆ รวมถึง อาการช็อคเพราะอุณหภูมิร่างกายต่ำลงจากน้ำเย็นในภาวะที่อากาศหนาว และความเสี่ยงจากการลื่นล้ม หรือการถูกฉีดอัดกับกำแพง การฉีดน้ำนั้นต้องให้ผลที่ไม่เฉพาะเจาะจง ไม่สามารถใช้แบบเล็งไปที่ตัวบุคคลโดยเฉพาะได้ อย่างไรก็ตามในวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดเข้ากลุ่มผู้ชุมนุมและสื่อมวลชนที่อยู่เกาะกลางถนนพระรามหนึ่ง ลักษณะการฉีดนั้นพุ่งไปที่ตัวบุคคลและเสี่ยงต่อการที่จะทำให้อุปกรณ์ของสื่อเกิดความเสียหายได้

ปืนลูกซองสำหรับใช้ยิงกระสุนยาง

ปืนลูกซองสำหรับใช้ยิงกระสุนยางจะเป็นปืนยาว บางครั้งอาจมีข้อความติดที่ตัวปืน เช่น คฝ. 1 และภาพที่เห็นบ่อยๆ คือ การติดสติ๊กเกอร์สีเขียวสะท้อนแสงหรือเป็นลวดลายต่างๆ หรืออาจจะไม่มีเลย ซึ่งไม่แน่ชัดถึงความหมายของสติ๊กเกอร์และข้อความแต่ละแบบ ส่วนลูกกระสุนยางนั้น จากการสังเกตการณ์ตำรวจมีการใช้แบบลูกกระสุนยางที่มีหางควบคุมทิศทางและกระสุนยางแบบปลอกมีทั้งสีขาว, ดำ, น้ำเงิน และเขียว

ในการเตรียมพร้อมเรื่องความปลอดภัยว่า จะสังเกตว่า ตำรวจจะมีการยิงกระสุนยางหรือไม่ ให้ฟังการแจ้งเตือนที่อาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ ตามแต่อำเภอใจของตำรวจ หรืออาจสังเกตได้จากลักษณะของโล่ที่ตำรวจนำมาใช้ โดยหลักแล้วในการควบคุมการชุมนุมตำรวจจะใช้โล่สองแบบคือ โล่ใสและโล่กันกระสุนสีดำทึบหรือโล่ที่มีผ้าสีดำคลุมทับ

การชุมนุมขนาดใหญ่ที่ตำรวจมีการวางกำลังเตรียมพร้อม ตำรวจที่อยู่แถวหน้าสุดจะใช้โล่ใส ซึ่งตำรวจชุดนี้มักจะไม่มีปืนลูกซองสำหรับกระสุนยาง อาจมีอุปกรณ์ชนิดอื่นๆ เช่น ระเบิดควัน จุดสังเกตว่า เริ่มมีตำรวจชุดปฏิบัติที่จะใช้กระสุนยาง คือเมื่อสังเกตเห็นว่า มีตำรวจที่ถือโล่สีดำมาวางกำลัง ไม่ว่าจะเป็นโล่ดำทึบหรือโล่ที่มีการคลุมด้วยผ้าสีดำทึบก็สามารถคาดการณ์ได้ว่า ตำรวจที่อยู่หลังโล่ดังกล่าวจะมีกระสุนยาง แต่ในระยะหลังก็อาจจะไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เนื่องจากการชุมนุมที่ดินแดง มีบ่อยครั้งที่ตำรวจที่ใช้กระสุนยางอยู่ด้านหลังของตำรวจที่ใช้โล่ใส

โดยตำรวจที่ทำหน้าที่ยิงกระสุนยางมักจะทำงานกันเป็นกลุ่มแบ่งหน้าที่กัน คือ ตำรวจที่ถือโล่อยู่แนวหน้าป้องกัน, ตำรวจที่เป็นผู้ยิงและตำรวจที่เป็นคนคอยชี้เป้าหมายให้ผู้ยิง ซึ่งในเวลากลางคืนอาจนำเลเซอร์มาใช้ชี้เป้าหมายร่วมด้วย เมื่อจะทำการยิงตำรวจที่ถือโล่ป้องกันจะเปิดแนวโล่ออกให้ยิง กรณีที่อยู่ในพื้นที่โล่งอาจมีตำรวจที่ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยด้านข้างด้วย

จากการสัมภาษณ์ตำรวจระดับปฏิบัติในพื้นที่ ระบุว่า การใช้กระสุนยางนั้น ตำรวจจะมีการสอนมาตรฐานสากลของสหประชาชาติ ตำรวจระดับปฏิบัติจึงรับทราบดีว่า กระสุนยางมีอันตราย หากใช้ยิงในระยะประชิดหรือยิงเหนือเอวก็จะเป็นอันตราย จึงต้องใช้ยิงต่ำกว่าเอวลงมาเท่านั้น เขาบอกว่า จุดที่แน่นอนที่สุดควรจะเป็นบริเวณขาเพราะไม่มีอวัยวะสำคัญ เท่าที่เขาฝึกมาองค์ประกอบของการใช้คือ การชุมนุมจะต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้หรือควบคุมลำบากแล้ว

“การใช้กระสุนยาง ถ้าใช้อาวุธจะต้องประทับบ่า ตั้งฉากให้อาวุธเรามั่นคง เวลายิงจะต้องกดหัว[ปลายปืน]ลง ให้ยิงต่ำกว่าเอวลงมา ตัดสินใจให้เล็งเลยคือขาเพราะชัวร์ที่สุด ไม่มีอวัยวะสำคัญ”

อย่างไรก็ตามการใช้กระสุนยางของตำรวจได้รับการวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งเรื่องการใช้ไม่ได้หลักความจำเป็นและขัดหลักสากล คือ ยิงไปที่บริเวณร่างกายส่วนบนและเล็งยิงในบริเวณที่เป็นอันตราย เช่น ศีรษะ อ่านเพิ่มเติมบทความเรื่องการบาดเจ็บและหลักสากล

กระบองยาง

กระบองยางถือเป็นอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนที่พบเห็นได้บ่อยที่สุด เรียกได้ว่า แทบจะอยู่ติดตัวตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเลย โดยทั่วไปแล้วกระบองถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับบุคคลที่ทั้งจะทำร้ายหรือขู่ว่าจะทำร้ายเจ้าหน้าที่หรือประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่ควรใช้กระบองบริเวณแขนหรือขาของบุคคลดังกล่าว ความเสี่ยงอันเกิดจากการใช้กระบองคือการใช้กระบองฟาดไปยังบริเวณกระดูกหรือข้อต่อมีความเสี่ยงที่จะส่งผลให้เกิดภาวะข้อเคลื่อนและกระดูกหัก โดยควรหลีกเลี่ยงการใช้กระบองกระทุ้งหรือกระแทกไปบริเวณทรวงอก คอ หรือศีรษะ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บและอาจทำให้อวัยวะสำคัญฉีกขาด ไม่ควรใช้กระบองรัดคอ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่ผู้ถูกรัดคอจะถึงแก่ความตาย

ที่ผ่านมามีรายงานการใช้กระบองกับผู้ชุมนุม เช่น ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Baipat Nopnom เผยแพร่คลิปวิดีโอเหตุการณ์วันที่ 20 มีนาคม 2564 ระหว่างการสลายการชุมนุมบริเวณสะพานวันชาติ ตำรวจเข้าจับกุมมีการกระทืบผู้ชุมนุมรายที่ 1 จนล้มลง จากนั้นมีการเตะและใช้กระบองตีซ้ำๆ อีกครั้งแม้ผู้ชุมนุมจะลงไปนอนหมอบแล้วก็ตาม และมีการใช้เท้าเตะและกระบองตีผู้ชุมนุมที่นอนหมอบกับพื้นซ้ำๆ อีก 1 ราย

วันที่ 6 กันยายน 2564 ที่บริเวณกรมดุริยางค์ทหารบก ตำรวจมีการยิงกระสุนยางเข้าใส่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ จากนั้นตำรวจหลายนายวิ่งเข้าไปที่รถคันดังกล่าว ตำรวจไม่น้อยกว่าห้านายเข้าล้อมและพาตัวชายผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ลงมาจากรถ ต่อมาตำรวจสี่นายกดตัวชายผู้ถูกคุมตัวลงที่พื้นถนน แม้เขายอมลดตัวลงไปที่พื้นแต่โดยดีไม่ได้มีท่าทีต่อสู้ แต่ตำรวจอีกนายใช้กระบองยางฟาดเข้าที่ท้ายทอยชายคนดังกล่าวอย่างแรง

วอยซ์ทีวีรายงานว่า วันที่ 11 กันยายน 2564 มีรายงานเกี่ยวกับการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ต่อประชาชนผู้ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม เป็นผู้หญิงสองคนที่ขับรถจักรยานยนต์กลับจากที่ทำงาน เมื่อมาถึงบริเวณใกล้กับพื้นที่ชุมนุมแยกดินแดงทั้งสองถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล รายหนึ่งมีอาการแขนบวม ศีรษะบวม ส่วนอีกรายศีรษะแตกเป็นแผลลึก หลังเข้ารับการรักษาทั้งสองคน เปิดเผยว่า ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย โดยอาวุธที่เจ้าหน้าที่ใช้ทำร้ายร่างกายทั้งสองมีกระบองตำรวจรวมอยู่ด้วย

แก๊สน้ำตาแบบยิง

แก๊สน้ำตาที่นำมาใช้การปราบปรามผู้ชุมนุมมีสามรูปแบบคือ แก๊สน้ำตาแบบผสมน้ำที่ฉีดด้วยรถฉีดน้ำแรงดันสูง, แก๊สน้ำตาแบบลูกขว้าง และแก๊สน้ำตาแบบยิง กรณีที่เป็นที่วิจารณ์มากที่สุดคือ การยิงแก๊สน้ำตาลงมาจากทางด่วนเข้าใส่ผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณแยกดินแดง โดยวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ลูกนัท-ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย ถูกวัตถุกระแทกเข้าที่ดวงตาด้านขวาเลือดอาบ หลังเข้ารับการรักษาแพทย์วินิจฉัยว่า ตาด้านขวาของลูกนัทบอด มีพยานที่เห็นเหตุการณ์ระบุว่า วัตถุที่ลอยมากระแทกลูกนัทจนเป็นเหตุให้สูญเสียตาขวา คือ ปลอกแก๊สน้ำตาที่ถูกยิงมาจากบนทางด่วน

ต่อมาวันที่ 17 สิงหาคม 2564 พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในขณะนั้นอธิบายว่า การยิงแก๊สน้ำตา ปลอกแก๊สน้ำตา (กระบอกโลหะ) จะค้างในลำกล้อง แต่จะมีตัวนำแก๊สไปหาเป้าหมาย ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่สไลด์ออกปลอกแก๊สน้ำตาที่เป็นโลหะจะอยู่ในอาวุธปืน กรณีที่จะพุ่งออกไปทั้งปลอกแก๊สน้ำตา (กระบอกโลหะ) จึงเป็นไปไม่ได้ ขณะที่ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในขณะนั้นกล่าวว่า กรณีที่มีการเผยแพร่ภาพตามสื่อสังคมออนไลน์ว่า ตำรวจใช้เครื่องยิงกระสุนแก๊สน้ำตาและไปถูกผู้ชุมนุมบางคนเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บ เป็นเพียงปลอกแก๊สน้ำตาเท่านั้น อุปกรณ์ตัวนี้ไม่ได้ลอยไปในอากาศ จึงเป็นการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ

ในการสาธิตการใช้แก๊สน้ำตาชนิดยิง ตำรวจ อคฝ. อธิบายว่า น้ำหนักทั้งลูกคือ 151 กรัม เมื่อใส่ปืนแล้วยิงออกมาจะเป็นแท่งสีน้ำเงินน้ำหนักประมาณ 102 กรัม เมื่อลอยไปจะเกิดการเผาไหม้และเกิดควันในเวลาไม่เกินหนึ่งนาที ส่วนปลอกเมื่อยิงแล้วจะอยู่ในปืนไม่ลอยไปด้วย ปืนสามารถยิงได้หลักๆ สามระยะคือ 50 เมตร, 100 เมตร และ 150 เมตร โดยทำการสาธิตว่า แท่งแก๊สน้ำตามันจะทำอันตรายได้หรือไม่ หลังจากสาธิตแล้วจะเห็นได้ว่า มันเป็นเพียงพลาสติกเท่านั้นเองไม่ใช่โลหะ

ข้อเท็จจริงดังกล่าวค้านกับข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ได้จากการสังเกตการณ์ เฉพาะบริเวณแยกดินแดง ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2564 พบตัวนำแก๊สน้ำตาที่มีลักษณะเป็นปลอกโลหะต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่ลูกนัทได้รับบาดเจ็บจากการมีวัตถุกระแทกเข้าที่เบ้าตา และวันที่ 8 กันยายน 2564 ก็ยังพบตัวนำแก๊สน้ำตาแบบโลหะอยู่

ตู้คอนเทนเนอร์-แคปซูลน้ำมัน

จากจำนวนอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนทั้งหมด 48 รายการ ไม่ปรากฏว่า มีการอนุญาตให้ใช้ตู้คอนเทนเนอร์ มีเพียงข้อความโดยกว้างคือ อุปกรณ์ป้องกันสถานที่

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 หากผู้ชุมนุมต้องการชุมนุมหรือเคลื่อนขบวนไปบริเวณพื้นที่หวงห้าม เช่น พระบรมมหาราชวังและทำเนียบรัฐบาล ตำรวจมักจะปิดกั้นพื้นที่ด้วยแผงเหล็กและใช้กำลังตำรวจตั้งแถวปิดกั้น ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2563 ผู้ชุมนุมใช้กลยุทธ์ ‘เปิดแผล’ นัดหมายชุมนุมตามพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ นับแต่นั้น ตำรวจเริ่มใช้ตู้คอนเทนเนอร์ในการปิดกั้นเส้นทางเคลื่อนขบวน วันแรกๆ ที่พบว่า มีการใช้ตู้คอนเทนเนอร์คือ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ราษฎรประกาศจะเคลื่อนขบวนไปยังสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ นำไปสู่การวางแนวตู้คอนเทนเนอร์ปิดเส้นทางโดยรอบและวางกำลังของตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจำนวนมาก ทำให้ผู้ชุมนุมต้องย้ายไปชุมนุมที่หน้าสำนักงานใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์แทน

การชุมนุมในปี 2564 ตำรวจปิดกั้นพื้นที่โดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์ต่อเนื่อง เช่น สนามหลวง, ทำเนียบรัฐบาล, กรมทหารราบ 1 และแยกดินแดง มีอย่างน้อยสองครั้งที่ความพยายามเลื่อนเปิดแนวตู้คอนเทนเนอร์กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสลายการชุมนุมคือ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 และวันที่ 20 มีนาคม 2564 ซึ่งเป็นการชุมนุมของรีเด็มทั้งสองครั้ง

ตู้คอนเทนเนอร์กลายเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ในการแสดงออกของผู้ชุมนุม เดือนธันวาคม 2564 ผู้ชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นปักหลักชุมนุมที่หน้าแนวตู้คอนเทนเนอร์บนสะพานชมัยมรุเชฐ กลุ่มศิลปินทำการพ่นสีบนตู้คอนเทนเนอร์เป็นภาพของผู้หญิงสวมฮิญาบและข้อความ #savechana ภาพและข้อความบนตู้คอนเทนเนอร์ตามแต่ละการชุมนุมกลายเป็นความสะท้อนของข้อเรียกร้องที่ผู้ชุมนุมมีต่อผู้กุมอำนาจในประเทศนี้ เช่นข้อความ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” , “We are all human” และ “กูขอสันติมึงให้สงคราม”

นอกจากตู้คอนเทนเนอร์แล้ว ระยะหลังตำรวจยังนำแคปซูลน้ำมันมาวางปิดกั้นพื้นที่ประกอบด้วย โดยแคปซูลน้ำมันก็ไม่ได้อยู่ในรายการอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เหตุการณ์แรกๆ ที่มีการนำแคปซูลน้ำมันมาใช้คือ วันที่ 7 สิงหาคม 2564 ต่อมาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการนำตู้สินค้ารถไฟไปใช้เป็นแนวสิ่งกีดขวาง แสดงความกังวลว่า หากมีผู้ไม่หวังดีนำวัตถุอันตรายไปใส่ไว้ โดยเฉพาะแคปซูลน้ำมันจะเกิดอันตรายและความสูญเสีย ไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย พร้อมย้ำว่า การเคลื่อนไหวของประชาชนอย่างสงบ สันติและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญและหลักการระหว่างประเทศคุ้มครอง