ชุมนุม 64 เล่าเรื่องบาดแผลจากสายตาของทีมแพทย์อาสา

#ตำรวจกระทืบหมอ เป็นแฮชแท็กที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ทวีตถึงมากที่สุดในคืนวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 หลังจากที่หนึ่งในอาสาสมัครทีม DNA บุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครถูกตำรวจทำร้ายร่างกาย นับแต่นั้นสังคมเริ่มสนใจติดตามการทำงานและความปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์และพยาบาลอาสาในพื้นที่ชุมนุมมากขึ้น

รสิตา โรจนกุลกร ทีม DNA เล่าว่า การทำหน้าที่อาสาพยาบาลเริ่มจากเข้ามาในที่ชุมนุมและเห็นว่า ทำไมไม่มีทีมแพทย์เลยจึงชวนกับพี่สาวสองคนไปซื้อกระเป๋าและอุปกรณ์ทางการแพทย์ มาในที่ชุมนุมและไปเจอพี่ที่ทำงานการแพทย์ก็เลยรวมตัวกันในช่วงกลางปี 2563 จากนั้นก็รวมตัวกันเรื่อยๆ จนเป็นทีม DNA ซึ่งเป็นรูปร่างในเดือนตุลาคม 2563 จากนั้นการลงพื้นที่แต่ละครั้งก็ไม่ได้เลือกว่า จะต้องเป็นการชุมนุมใหญ่หรือเล็ก ถ้าหากรู้ข่าวก็จะพยายามไปให้ได้

การอยู่ในพื้นที่ชุมนุมและรับมือกับผู้บาดเจ็บจำนวนมากตลอดกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา เธอจึงสะท้อนภาพบาดแผลและการเผชิญหน้ากันในที่ชุมนุมออกมาได้เป็นอย่างดี

ข้อมูลสำคัญคือ ยิ่งนานวันเข้าบาดแผลที่เกิดจากการชุมนุมก็ยิ่งร้ายแรงมากขึ้น เช่น กรณีของกระสุนยาง ตำรวจมีการใช้ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จากนั้นมามีการรายงานการใช้งานอย่างผิดหลักสากลเรื่อยมา และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยรุนแรงที่สุดในสายตาของรสิตาคือ การยิงใน #ม็อบ14พฤศจิกา64 บริเวณหน้าสถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ

#ม็อบ17พฤศจิกา เปิดฉากความรุนแรงตำรวจสลายชุมนุมราษฎร เสื้อเหลืองผสมโรงปะทะที่เกียกกาย

รสิตาเล่าว่า การชุมนุมครั้งแรกๆ ที่เธอมองว่า มีการใช้กำลังรุนแรงคือ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 คณะราษฎรนัดหมายชุมนุมที่บริเวณรัฐสภา เกียกกายเพื่อติดตามการลงมติร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ตามนัดหมายกิจกรรมจะเริ่มในช่วงเย็น ทีมของเธอเลยนัดหมายกันว่า จะเข้าพื้นที่ในเวลา 15.00 น. แต่สถานการณ์จริงไม่เป็นเช่นนั้นเมื่อการปะทะเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 14.00 น. เธอบอกว่า ครั้งนี้เป็นการปะทะกันจริงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจฉีดน้ำและแก๊สน้ำตาใส่ แต่ผู้ชุมนุมก็เดินหน้าฝ่าแนวตำรวจต่อ

วันดังกล่าวตำรวจฉีดน้ำผสมสารเคมี ทีมแพทย์และอาสาสมัครก็ช่วยกันล้างด้วยน้ำเกลือ ซึ่งเตรียมไปพอสมควรแล้ว แต่ไม่พอจึงต้องไปหาเข้ามาเติม ภายหลังเหตุการณ์มีรายงานว่า ผู้ที่โดนน้ำดังกล่าวมีอาการแพ้และเป็นแผลพุพองหลายกรณี วันดังกล่าวมีการปะทะระหว่างฝ่ายราษฎรและคนเสื้อเหลืองบริเวณแยกเกียกกายด้วย มีกรณีการถูกปาก้อนหินจนศีรษะแตก ไหล่แตกและเข่าแตกประมาณ 10 คนได้ ในช่วงค่ำมีการยิงด้วยกระสุนจริง พบคนที่บาดเจ็บจากกระสุนจริงหลายคน ส่วนใหญ่จะโดนที่แขนและขา

รสิตาเล่าว่า บริเวณแยกเกียกกายนั้นอาจจะมีฝ่ายเสื้อเหลืองมาอยู่ด้วย ตามปกติแล้วเวลามีผู้ได้รับบาดเจ็บ ทีมแพทย์จะต้องขอถ่ายรูปบัตรประชาชนและเบอร์โทรศัพท์ เนื่องจากกรณีที่จะต้องนำส่งโรงพยาบาลจะสามารถติดต่อญาติได้ แต่ผู้ได้รับบาดเจ็บคนหนึ่งที่ไม่ได้สวมเสื้อเหลืองกลับแสดงท่าทีลำบากใจและไม่ยินยอมจะให้ข้อมูลส่วนตัวกับเธอ เธอจึงอธิบายว่า เรารักษาทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เราจะไม่บอกใครว่า พี่มาจากไหน ท้ายสุดเมื่อปฐมพยาบาลพบว่า เข่าแตก แผลเปิดต้องเย็บ จึงนำส่งโรงพยาบาล ทั้งที่ไม่ได้ข้อมูลส่วนตัวใดๆ นอกจากนี้ในวันดังกล่าวยังมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบได้รับบาดเจ็บด้วย ทีมแพทย์ก็ทำการปฐมพยาบาลให้

อ่านลำดับเหตุการณ์ #ม็อบ17พฤศจิกา

#ม็อบ13กุมภา ตำรวจกระทืบอาสา DNA จนสลบ อ้างไม่ใช่หมอ

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 ราษฎรนัดหมายรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและเคลื่อนขบวนไปที่ศาลหลักเมือง หลังแกนนำประกาศยุติการชุมนุมแล้วยังคงมีผู้ชุมนุมที่ไม่ยอมเลิกชุมนุม ขว้างปาสิ่งของเข้าไปที่แนวของตำรวจ จนกระทั่งตำรวจประกาศให้เวลา 30 นาทีและจะดำเนินการสลายการชุมนุม ทว่าผ่านไปเพียง 5 นาที ตำรวจเริ่มต้นเดินเท้าออกมาจากแนวกั้นบริเวณศาลฎีกา  จากนั้นวิ่งไล่จับกุมและทำร้ายร่างกายผู้ที่อยู่บริเวณดังกล่าว

วันดังกล่าว นิว-ปุรพล วงศ์เจียก อายุ 19 ปีหนึ่งในทีมอาสาสมัครของทีม DNA ถูกตำรวจรุมทำร้ายร่างกาย ทั้งที่ใส่เสื้อสีเขียวสะท้อนแสง แสดงตัวว่า เป็นทีมแพทย์และพยาบาลอาสาแล้ว รสิตาเล่าว่า ก่อนหน้าการรุมทำร้าย ตำรวจที่วิ่งเข้ามาไม่ถามใดๆ ทั้งสิ้น กระทืบอาสาสมัครของทีม DNA จนสลบไป

“เราทั้งทีมทำถูกต้องตามหลักสากล เราไม่เข้าใจว่า วันนั้นเกิดอะไรขึ้นและเจ้าหน้าที่ทำไมถึงทำกับน้องแบบนั้น ทั้งที่น้องเป็นคนที่มาบ่อยมาก น้องใส่ชุดอย่างชัดเจนและสะพายกระเป๋าอย่างชัดเจน มันเห็นอยู่แล้วว่า คือทีมแพทย์ ทั้งที่เจ้าหน้าที่ที่เดินมาถึงก่อนกลุ่มที่กระทืบก็เห็นว่า น้องคือทีมแพทย์และบอกให้น้องคร่อมรถไว้ เพราะว่าเดี๋ยวจะให้ออกไป แต่ให้รอแป๊บนึง แต่ว่าคนที่มาข้างหลังคือ ไม่ดูเลยและไม่สอบถาม ไม่พิจารณาว่า น้องเป็นใครมาทำอะไรที่ตรงนี้มาถึงปุ๊บก็กระทืบน้องเลย”

หลังเกิดเหตุนิวถูกตำรวจคุมตัวไป เธอตามหานิวตาม สน.ต่างๆ แต่ไม่พบจนทราบในภายหลังว่า ตำรวจนำตัวนิวไปที่กองบัญชาการตํารวจตระเวนชายแดนภาค 1 และมีการต่อรองขอให้ไม่ฟ้องตำรวจ แต่เธอและนิวตัดสินใจที่จะฟ้อง ทำให้ท้ายที่สุดนิวถูกดำเนินคดีไปด้วย จนถึงวันนี้นิวยังไม่เคยได้รับการขอโทษจากเจ้าหน้าที่นายใด

“เรื่องนี้ยังไม่จบ เรายังให้น้องฟ้องเพราะเรารู้สึกว่า มันไม่ยุติธรรมกับน้องเลย ตอนที่น้องโดนทำร้ายร่างกาย น้องปฏิบัติหน้าที่อย่างชัดเจน ไม่เคยออกนอกกรอบเลยแม้แต่ครั้งเดียว ไม่เคยมีวันไหนที่น้องเดินไปข้างหน้าและโวยวาย ขว้างปาของ สิ่งที่น้องโดนมันแย่มาก…มาถึงก็ทำร้ายร่างกายน้องจนสลบไปและยังออกมาพูดอีกว่า น้องไม่ใช่หมอ ซึ่งน้องเป็นอาสาสมัคร ไม่ได้ทำแค่ในม็อบอย่างเดียว”

“ทุกวันนี้ยังไม่มีใครมาขอโทษน้อง ตำรวจที่คุยกัน เขาก็เห็นว่า เราปฏิบัติหน้าที่เท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย เขารู้สึกว่า มันไม่ได้แฟร์กับเราเหมือนเรา แต่เขาไม่ได้มียศใหญ่ๆโตๆที่จะไปพูดได้ ตอนนี้น้องบอกว่า ถ้ามาขอโทษ ขอไม่รับคำขอโทษเป็นคำพูด แต่ขอรับเป็นเวชภัณฑ์ในการช่วยเหลือคนต่อไป”

หลังเหตุการณ์นี้ทีมงานได้ทำการชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ว่า ที่ผ่านมาการทำงานของทีมทำอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ “ทุกครั้งที่เราปฏิบัติหน้าที่ เราจะให้น้องที่เป็นตากล้องคนหนึ่งคอยถ่ายรูปไว้ เรามีรูปตอนที่ปฐมพยาบาลเจ้าหน้าที่ ซึ่งปกติแล้วเราจะไม่ค่อยได้ถ่ายตอนที่เราปฐมพยาบาลเจ้าหน้าที่เพราะเราจะรู้สึกว่า เขาจะไม่อยากให้เราถ่ายหรือเปล่า แต่โชคดีที่มีภาพไว้ ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันเลยว่า เราดูแลทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน” จากนั้นมีการพูดคุยทำความเข้าใจว่า ทีมแพทย์ปฏิบัติงานแบบไหนในพื้นที่ชุมนุม

แม้จะมีการทำความเข้าใจแล้ว แต่เธอมองว่า การทำงานของทีมแพทย์ยังคงมีความเสี่ยงอยู่เพราะจังหวะที่สลายการชุมนุมแนวตำรวจจะเคลื่อนไวมากหรือบางครั้งอยู่ดีๆ แนวปะทะก็อาจจะมาปรากฏข้างหลัง ทำให้เสี่ยงจะโดนกระสุนยางและแก๊สน้ำตา “จริงๆ มันไม่ควรเป็นเรื่องปกติ แต่หลายครั้งก็โดนกันจนปกติไปแล้ว” ส่วนใหญ่ทีมจะโดนกระสุนยางแบบที่เกิดรอยช้ำ เช่น ที่แขน หลังแขนและหลัง ซึ่งมักจะเป็นจังหวะหันหลัง

อ่านลำดับเหตุการณ์ #ม็อบ13กุมภา

#ม็อบ28กุมภา กระสุนยางรอบแรก ตำรวจบุกเข้าเซฟโซนทีมแพทย์

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 รีเด็มนัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมุ่งหน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ราบ 1) เป็นวันที่ตำรวจนำกระสุนยางมาใช้สลายการชุมนุมครั้งแรก นับตั้งแต่การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 รสิตาบอกว่า วันนั้นเธอและทีมตั้งจุดปฐมพยาบาลและวางให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยหรือเซฟโซนที่บริเวณสวนหย่อมหลังป้ายรถเมล์โรงพยาบาลทหารผ่านศึก ขณะที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เดินผ่านไปที่หน้าราบ 1 ฝั่งปั๊มปตท.แล้ว

“ช่วงแรกๆ เราจะมีเซฟโซนที่อยู่ไกลจากจุดปะทะตามหลักสากลที่คุยกันไว้ แต่เซฟโซนมักจะถูกเจ้าหน้าที่ดันมาให้ไม่เป็นเซฟโซนเสมอๆ บางครั้งเมื่อเราตั้งจุดเซฟโซนไกลจากจุดปะทะแต่ไม่นานพอปะทะ เจ้าหน้าที่จะขยับร่นมาใกล้ๆ เรา ทำให้เราต้องถอยออกไปเรื่อยๆ หรือบางครั้งมันจะมีกรณีที่ว่า เราตั้งเซฟโซนไกลจากจุดปะทะมากแล้ว แต่ก็จะมีเจ้าหน้าที่ที่วนมาด้านหลังเพื่อมาตั้งแนวด้านหลังของเรา ซึ่งจะทำให้เราไม่เซฟ อันนี้จะเป็นอยู่บ่อยครั้ง คือความเสี่ยงและเป็นสิ่งที่เราต้องตัดสินใจให้เร็วที่สุดบริเวณหน้างานว่า เราควรจะเปลี่ยนเซฟโซนไหม และจะเปลี่ยนไปที่ไหน”

“วันนั้นมันรุนแรงมาก เจ้าหน้าที่ทั้งฉีดน้ำ ใช้แก๊สน้ำตาและยิงกระสุนยาง ทีมต้องรับผู้บาดเจ็บที่เป็นเคสหัวแตกและโดนยิงเยอะมาก ตอนนั้นคนยังไม่ค่อยโดนกระสุนยางเขาเลยยังไม่รู้ว่า เขาจะต้องปฏิบัติตนเองยังไง เขารู้สึกว่า การโดนยิงกระสุนยางเป็นเรื่องร้ายแรงสำหรับวันนั้น มันเลยเกิดเคสเยอะมาก”

รสิตาบอกว่า เธอตัดสินใจย้ายเซฟโซน แต่เป็นการตัดสินใจที่ต้องกลับมานั่งย้อนคิดว่า เราคิดถูกแล้วใช่ไหม รู้สึกเสียใจ  แต่ที่ต้องทำเพราะตำรวจเริ่มประกบแนวปิดทั้งทางฝั่งแยกดินแดงและฝั่งปั๊มปตท. ตอนที่เธอกำลังจะพาทีมข้ามถนน พบว่าเจ้าหน้าที่ปะทะกับผู้ชุมนุมในแบบที่รุนแรงมาก “ทั้งกระสุนยางยิงรัว ทั้งแก๊สน้ำตา ทั้งฉีดน้ำ รวมถึงผู้ชุมนุมก็มีขว้างปาสิ่งของบ้าง ทำให้ตอนนั้นต้องพาทุกคนไปหมอบตรงเกาะกลางถนนและมีน้องอาสาที่เขาแพนิค คือเขากลัวมากและเขาก็ร้องไห้ ทำอะไรไม่ถูก ทุกคนก้มลงที่เกาะกลาง เราหันไปเห็นแล้วคิดว่า เราคิดถูกใช่ไหมที่พาทุกคนข้ามมา”

จากนั้นจึงเข้าไปในปั๊มเชลล์ฝั่งตรงข้ามราบ 1 ตั้งจุดเซฟโซนที่นั่น ซึ่งก็ตามธรรมชาติผู้ชุมนุมเวลาเห็นว่า มีทีมแพทย์อยู่ตรงไหน เขาก็จะอยู่ด้วยเพราะเขารู้สึกปลอดภัย ตำรวจก็คงเห็นผู้ชุมนุมอยู่ในปั๊มจึงมีการประกาศ แต่เธอไม่ได้ยินเลยเพราะว่า มันไกลมาก หลังประกาศเสร็จตำรวจก็ยิงแก๊สน้ำตาเข้ามาในปั๊ม

“เขาประกาศเสร็จปุ๊บ เขายิงแก๊สน้ำตาเข้ามาในปั๊ม ซึ่งมันมีประกายไฟและยิงแบบผ่านหัวพวกเราตอนที่นั่งอยู่ เรานั่งหมอบอยู่ เขายิงผ่านหัวไปเลยและยิงกระสุนยางโดนน้องในทีม เสร็จปุ๊บเขาวิ่งมาและเข้ามาจับผู้ชุมนุมที่อยู่ในเซฟโซนของทีมแพทย์ ก็เลยเดินไปคุยกับเขาว่า ขอเวลาได้ไหม ขอเวลาอีก 20 นาทีเพื่อเก็บของขึ้นรถและเคลียร์คนไข้ ขอขึ้นรถก่อน ตอนนี้รถพยาบาลกำลังเข้ามารับคนไข้ เขาบอกว่า 20 นาทีมันนานเกินไป เขาให้สิบนาที”

จากนั้นทุกคนก็รีบเก็บของ พาผู้บาดเจ็บขึ้นรถและพาทุกคนออกนอกพื้นที่ “วันนั้นเป็นการมูฟทีมที่อุตลุดและทรหดมาก เพราะมันมูฟแล้วมูฟอีก เมื่อก่อนจะไม่ค่อยให้คนในทีมเอารถเข้ามาในพื้นที่ถ้าไม่จำเป็น เราก็ต้องขึ้นหลังกระบะคันเดียวกันไปและยืนเกาะข้างรถ”

อ่านลำดับเหตุการณ์ #ม็อบ28กุมภา

ชุมนุมดินแดง ผู้ชุมนุมถูกทำร้าย มีเหตุยิงด้วยกระสุนจริง

จากการลงพื้นที่ รสิตาพบว่า การชุมนุมที่ดินแดงมีผู้ชุมนุมถูกกระสุนยางเยอะมาก ผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมจะเกิดจากการที่วิ่งหนีไม่ทันและโดนเจ้าหน้าที่ทำร้ายด้วยการทุบตี อย่างกรณีวันที่ 13 สิงหาคม 2564 “มันจะมีเคสที่เขากลัวมาก กลัวแบบแพนิคเลยว่า พี่ผมจะตายไหม เหมือนผมจะตายเลยเมื่อกี้เหมือนผมจะตายอยู่แล้ว” สภาพของผู้ชุมนุมรายนี้คือ ถูกทำร้ายจนมีบาดแผลที่ศีรษะ วันดังกล่าวมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก

อีกวันหนึ่งที่มีผู้บาดเจ็บเยอะคือ วันที่ 29 สิงหาคม 2564 เคสส่วนใหญ่วันนั้นคือ มือถลอก ขาถลอก เลือดไหลตามตัวและมือ มีผู้ถูกจับกุมที่ปวดท้องจากการโดนแฮนด์รถกระแทก คือระหว่างที่ออกจากพื้นที่รถจักรยานยนต์เกี่ยวกัน จนล้มและคันที่ตามหลังมาก็ล้มตาม

เธอเล่าถึงกรณีที่ตำรวจถูกยิงด้วยกระสุนจริง วันที่ 10 สิงหาคม 2564 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดคาร์ม็อบจากราชประสงค์ มีปลายทางที่คิงพาวเวอร์ ซอยรางน้ำ เวลา 16.26 น. ระหว่างที่ขบวนเคลื่อนผ่านแยกดินแดง ผู้ชุมุนมอิสระสังเกตเห็นตำรวจตั้งแถวแสดงกำลังจึงเริ่มทำการขว้างปาสิ่งของ ต่อมาเวลา 17.06 น. แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมกลับมาที่แยกดินแดงอีกครั้ง และตำรวจเริ่มสลายการชุมนุมด้วยการเดินแถวพร้อมรถฉีดน้ำดันผู้ชุมนุมไปที่แยกสามเหลี่ยมดินแดง

เวลา 18.54 – 18.55 น. ระหว่างปะทะกันมีตำรวจคนหนึ่งล้มลงและถูกพาตัวย้อนกลับมาหลังแนว จากนั้นตำรวจประกาศว่า ตำรวจนายดังกล่าวถูกยิงด้วย “กระสุนจริง” กรณีนี้ รสิตายืนยันว่า ตำรวจนายนี้ถูกยิงด้วยกระสุนจริง ส่วนกรณีอื่นๆ เธอไม่สามารถยืนยันข้อมูลได้ เนื่องจากไม่อยู่ในเหตุการณ์

นอกจากกรณีของตำรวจแล้วยังมีผู้ชุมนุมที่ถูกยิงจากบุคคลไม่ทราบฝ่ายที่หน้า สน.ดินแดงจนเสียชีวิตคือ วาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 15 ปีที่ถูกยิงด้านหน้า สน.ดินแดงในการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 เขาเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 และมีผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บระหว่างการสลายการชุมนุมจนตาบอดสองคนคือ ลูกนัท-ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย และธนกร ผ่านพินิจ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564

อ่านลำดับเหตุการณ์ #ม็อบ10สิงหา

อ่านการ ชุมนุมที่แยกดินแดงเพิ่มเติม

#ม็อบ14พฤศจิกา64 ใช้กระสุนยางร้ายแรง ผู้ชุมนุมเฉียดตาย

เมื่อถามว่า การใช้กระสุนยางครั้งใดที่มองว่าร้ายแรงที่สุด รสิตาตอบว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยและแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ นัดหมายชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อจะเดินขบวนไปยังสนามหลวง แต่ก่อนถึงเวลานัดตำรวจได้วางแนวตู้คอนเทนเนอร์ ปิดการจราจร ตั้งรั้วเหล็กตรวจค้นการเข้าสู่พื้นที่โดยรอบ ผู้ชุมนุมจึงประกาศย้ายสถานที่ชุมนุมไปยังสี่แยกปทุมวัน ก่อนประกาศเดินขบวนไปยังสถานทูตเยอรมนี เวลาประมาณ 17.11 น. ระหว่างที่ขบวนเคลื่อนผ่านแยกเฉลิมเผ่าแล้ว หัวขบวนมาถึงบริเวณหน้าสถาบันนิติเวช ซึ่งยังมีแถวตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) พร้อมโล่สีดำในมืออยู่ มีผู้ชุมนุมบางคนพยายามเดินเข้าไปกดดัน คฝ. ที่ตั้งแถวอยู่ แถวตำรวจค่อยๆ ล่าถอย และระหว่างที่ คฝ. กำลังจะถอยเข้าไปในประตูของสถาบันนิติเวช มีคนพยายามจะวิ่งเข้าไปหาตำรวจจึงมีการยิงออกมา โดยผู้สังเกตการณ์เห็นว่า มีผู้ที่ยิง 3 นายเป็นการยิงใส่ในระยะประชิด มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 2 คน คนหนึ่งล้มลงกับพื้นและมีเลือดออกบริเวณหน้าอกและไหปลาร้า ผู้สังเกตการณ์พบปลอกกระสุนบริเวณที่เกิดเหตุ เป็นปลอกสีเขียวหัวสีทอง มีตัวอักษรเขียนว่า 3.2g คาดว่าเป็นกระสุนยาง หลังจากนั้นประมาณ 10 นาที กลุ่มการ์ดเข้าเจรจากับตำรวจ และตั้งแถวใหม่บริเวณหน้าสถาบันนิติเวช ตำรวจไม่เคลื่อนกำลังออกมาอีก และผู้ชุมนุมก็เคลื่อนขบวนต่อไปยังเป้าหมายสถานทูตเยอรมนี รสิตาเล่าเหตุการณ์หลังจากที่ผู้ชุมนุมถูกยิงว่า “หนึ่งคนถูกยิงเข้าช่องท้องทะลุเข้าไปข้างในไปโดนปอดทำให้ปอดฉีก ตอนที่ปฐมพยาบาลเบื้องต้นข้างหน้า มันเป็นจังหวะที่พอปอดเป็นรู มันก็ผุดแล้วเป็นลมเอาเลือดออกมา อันนี้ก็เป็นเคสที่ร้ายแรงมากสำหรับกระสุนยาง กับอีกเคสหนึ่งคือ โดนกระสุนยางเข้าไหปลาร้าจนไหปลาร้าหัก โชคดีมากที่วันนั้นมีหมอศัลยแพทย์มาด้วยคนหนึ่ง หมอก็สามารถทำอะไรได้บ้างบนรถก่อนจะนำส่ง ถ้าสมมติว่า วันนั้นไม่มีหมอศัลย์ฯ มา น้อง[รายที่ถูกยิงทะลุปอด] มีสิทธิเสียชีวิตได้”

อ่านรายละเอียด #ม็อบ14พฤศจิกา64