ข้อหาละเมิดอำนาจศาลพุ่งตลอดปี 2564 เมื่อศาลถูกลากมายังใจกลางความขัดแย้ง

หลังกระแสการชุมนุมทางการเมืองพุ่งขึ้นสูงในปี 2563 พร้อมกับข้อเรียกร้อง “ทะลุเพดาน” การดำเนินคดีเพื่อกดปราบการแสดงออกของประชาชนก็ตามมาอย่างใหญ่หลวง และในปี 2564 คดีความทั้งหลายก็เข้าสู่มือของศาล แม้สถานการณ์โควิดจะทำให้การพิจารณาคดีส่วนใหญ่เลื่อนออกไป จึงยังไม่ปรากฏผลคำพิพากษาให้เห็นมากนักในปีนี้ แต่คำถามที่ศาลต้องเผชิญก่อน คือ คำขอประกันตัวในระหว่างการพิจารณาคดี และการตัดสินใจปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานในหลายกรณีก็ทำให้สถาบันตุลาการเข้ามาอยู่ในใจกลางความขัดแย้งแบบเต็มตัว
ตลอดปี 2564 มีการจัดการชุมนุมในลักษณะที่เป็นการส่งข้อเรียกร้องต่อศาลโดยตรงจำนวนมาก ทั้งรูปแบบการ “ยืนหยุดขัง” ซึ่งเป็นการชุมนุมขนาดเล็กที่มีขึ้นต่อเนื่องกันหลายเดือนในหลายพื้นที่ การรวมตัวกันประท้วงบริเวณบันไดทางขึ้นอาคารศาล และการชุมนุมขนาดใหญ่ที่มุ่งเป้าโจมตีไปยังผู้พิพากษาเป็นรายบุคคล ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นความท้าทายใหม่ที่สถาบันตุลาการไม่เคยเผชิญหน้ามาก่อน และสถาบันแห่งนี้ก็เลือกที่จะ “ไม่ปรับตัว” ให้โอนอ่อนตามบรรยากาศ แต่ตอบโต้ด้วยคดีความ ข้อหา “ละเมิดอำนาจศาล” และ “ดูหมิ่นศาล” จึงถูกนำมาใช้บ่อยครั้งอย่างไม่เคยพบเห็นมาก่อน
ตลอดปี 2564 มีคดีในข้อหาละเมิดอำนาจศาลขึ้นสู่การพิจารณา 14 คดี มีผู้ถูกกล่าวหา 27 คน ทุกคดีศาลเปิดการไต่สวนเสร็จแล้วมีคำสั่งว่าผู้ถูกกล่าวหา “มีความผิด” มีทั้งคำสั่งให้รอการกำหนดโทษ ให้มีโทษจำคุกแต่รอลงอาญา และกำหนดโทษปรับ โดยมีคดีที่ศาลสั่งให้จำคุกหรือกักขังโดยไม่รอลงอาญา 7 คดี นอกจากนี้ยังมีคดีในข้อหา “ดูหมิ่นศาล” ซึ่งเป็นการดำเนินคดีซ้ำซ้อนกันจากกรณีที่มีคำสั่งฐานละเมิดอำนาจศาลไปแล้วอีก 5 คดี ยังไม่มีคำพิพากษา

ปี 2563 ผู้ชุมนุมยังไม่ “ปะทะตรง” กับศาล มีตัวอย่างเพียงคดีเดียว

แม้ในปี 2563 ศาลจะเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีทางการเมืองอยู่บ้าง เช่น กรณีศาลจังหวัดธัญบุรีไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์ ชิวารักษ์หรือเพนกวิน ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุลหรือรุ้ง และณัฐชนน ไพโรจน์ สามนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากกรณีจัดการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิตในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 หรือกรณีที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวทนายอานนท์ นำภา และประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ที่ถูกดำเนินคดีจากการจัดการชุมนุมที่ประตูท่าแพในวันที่ 9 สิงหาคม 2563 แต่กระแสการชุมนุมมุ่งเป้าไปที่รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นหลัก การชุมนุมเพื่อส่งข้อเรียกร้องต่อศาลก็มีบ้าง  ยังไม่มีลักษณะเป็นการ “ปะทะตรง” กับสถาบันตุลาการ และในเวลาต่อมาไม่นานพวกเขาก็ได้ประกันตัว
ปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้ศาลยังไม่เป็นเป้าถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยตรงในปี 2563 น่าจะเป็นเพราะปริมาณคดีจากการแสดงออกยังไม่สูงมาก และคดีส่วนใหญ่ตำรวจไม่ควบคุมตัว ไม่ขอฝากขัง จึงยังไม่ไปถึงมือศาล เท่าที่มีข้อมูล ในปี 2563 ไม่มีกรณีใดที่ศาลมีคำสั่งให้ลงโทษจำคุกบุคคลในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจากการแสดงออกทางการเมืองหรือวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของศาล
อย่างไรก็ตามในเดือนตุลาคม 2563 มีหนึ่งกรณีที่ศาลอาญาตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาลกับพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน จากกรณีที่เขาตะโกนปราศรัยและถ่ายทอดสดการชุมนุมที่หน้าบันไดทางขึ้นศาลอาญาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2563 ผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ โดยที่ในวันดังกล่าวศาลมีกำหนดพิจารณาคำร้องฝากขังทนายอานนท์ และ ไมค์ ภาณุพงศ์จากการชุมนุมในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ก่อนที่ท้ายที่สุดศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวทั้งสองโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ 
ศาลอาญานัดไต่สวนข้อหาละเมิดอำนาจศาลในวันที่ 28 ตุลาคม 2563 พริษฐ์ยอมรับว่าเขากล่าวถ้อยคำตามที่ถูกกล่าวหาจริง เขายอมรับว่าได้กระทำการไปโดยไม่ทันตรึกตรอง แต่ไม่ได้มีเจตนามุ่งขัดขวางการพิจารณาคดี และจะขอแถลงขอโทษแสดงความรู้สึกเสียใจต่อศาล หลังพริษฐ์แถลงเช่นนี้ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการศาลอาญาจึงแถลงว่า ไม่ติดใจจะดำเนินคดีกับพริษฐ์อีก ศาลจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเพราะเห็นว่าพริษฐ์มีความสำนึกว่าได้กระทำการในลักษณะที่ไม่เหมาะสมไป แต่ได้ทำการตักเตือนพริษฐ์และให้พริษฐ์ปฏิญาณตนว่าจะไม่กระทำการลักษณะเดียวกันอีก 

ทวงสิทธิการประกันตัวให้เพื่อน มูลเหตุสำคัญคดีละเมิดอำนาจศาลในปี 2564

ปี 2564 คดีมาตรา 112 ทยอยเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล โดยคดีสำคัญที่อยู่ในความสนใจของสาธารณะชนได้แก่คดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ซึ่งมีจำเลยถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 เป็นข้อหาหลัก 7 คน หลังฟ้องคดี จำเลยที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งเจ็ดคนไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว หลังจากนั้นผู้ต้องหาและจำเลยคดีมาตรา 112 คดีอื่นๆ ก็ถูกปฏิเสธสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มีผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีมาตรา 112 ที่ต้องเข้าเรือนจำเพราะไม่ได้ประกันตัวรวมอย่างน้อย 17 คน 
การที่ศาลปฏิเสธสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาและจำเคยคดีมาตรา 112 ในเวลาไล่เลี่ยกันทำให้ศาลเริ่มถูกจับตาโดยสาธารณชน เริ่มมีการชุมนุมเรียกร้องสิทธิประกันตัวเป็นการทั่วไป โดยคนหลากหลายกลุ่ม มีกิจกรรม #ยืนหยุดขัง หน้าศาลในหลายจังหวัด ขณะที่คนในเรือนจำหลายคนใช้วิธีการ “อดอาหาร” เพื่อประท้วงความไม่เป็นธรรม และสุขภาพของคนที่อดอาหารก็ยิ่งเป็นปัจจัยเร่งให้การเคลื่อนไหวเข้มข้นมากขึ้น โดยการชุมนุมครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นที่หน้าศาลในปี 2564 ได้แก่ 
1. การชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่หน้าบันไดทางขึ้นอาคารศาลอาญาในวันที่ 29 และ 30 เมษายน โดยช่วงเวลาที่เกิดเหตุมีการยื่นคำร้องขอประกันตัว หลังมีข่าวว่า เพนกวิน กำลังอดอาหาจนเริ่มมีปัญหาสุขภาพ 
การชุมนุมที่หน้าศาลอาญาในวันที่ 29 เมษายน 2564 มีเหตุการณ์สำคัญ คือ การอ่านบทกวีถึงมหาตุลาการที่แต่งโดยทนายอานนท์ นำภา โดยเบนจา อะปัญ พร้อมกับโปรยรายชื่อของประชาชนราว 20,000 คน ที่ร่วมลงชื่อเรียกร้องสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลยคดีมาตรา 112 บนบันไดศาลเนื่องจากในวันนั้นผู้พิพากษาไม่มารับรายชื่อจากผู้ชุมนุม การชุมนุมมีต่อเนื่องไปถึงช่วงค่ำ ชินวัตร จันทร์กระจ่างและณัฐชนน ไพโรจน์สลับกันปราศรัยที่หน้ารั้วศาล ส่งผลให้มีนักกิจกรรมถูกดำเนินคดีรวมหกคน 
การชุมนุมวันที่ 30 เมษายน 2564 มีเหตุการณ์สำคัญ คือ การอ่านแถลงการณ์ที่หน้าศาลอาญาโดยเบนจา ขณะที่ณัฐชนนเข้าไปปราศรัยในบริเวณศาลและในวันเดียวกันนี้แม่ของพริษฐ์ยังโกนศีรษะเพื่อประท้วงการที่ศาลไม่ให้การปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์ด้วย หลังเหตุการณ์ดังกล่าวมีนักกิจกรรมรวมสองคนถูกตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาล 
2. การชุมนุมของกลุ่ม Redem ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 ที่จัดคาราวานจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเคลื่อนขบวนมายังศาลอาญาเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัว โดยผู้ชุมนุมยังพุ่งเป้าการวิพากษ์วิจารณ์ไปที่ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ ผู้พิพากษาที่ลงนามในคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวหลายครั้ง 
ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 มีเหตุการณ์สำคัญ คือ การจัดคาราวานรถแห่พร้อมเปิดเสียงที่พูดถึงประวัติครอบครัวของชนาธิป เหมือนพะวงศ์ วนไปวนมาหลายรอบ เมื่อขบวนมาถึงที่หน้าศาลอาญาผู้ชุมนุมก็นำไข่ มะเขือเทศ และของเหลวสีแดงมาแจกจ่ายให้ผู้ชุมนุมบางส่วนปาใส่ป้ายศาลอาญา เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีนักกิจกรรมรวมห้าคนถูกดำเนินคดีในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล 
นอกจากนั้นก็มีกรณีที่ตัวจำเลยถูกดำเนินคดีเพราะแสดงออกต่อศาลเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวของตัวเองอีกอย่างน้อยสองกรณี ได้แก่ กรณีที่ของพริษฐ์ ชิวารักษ์หรือเพนกวินที่ลุกขึ้นประกาศอดอาหารและแถลงความอึดอัดต่อกรณีที่ศาลไม่อนุญาตให้เขาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ระหว่างที่ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ในวันที่ 15 มีนาคม 2564 การลุกขึ้นแถลงของพริษฐ์ทำให้เกิดความตึงเครียดในห้องพิจารณาคดี และพริษฐ์ได้ปีนเก้าอี้ขึ้นไปอ่านแถลงการณ์จนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ต้องควบคุมตัวเขาออกจากห้องพิจารณาคดีเพื่อไปสงบสติอารมณ์ก่อนจะมีการตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาลเขาในภายหลัง  ต่อมาศาลพิพากษาให้กักขัง 14 วัน พริษฐ์รับโทษครบแล้ว
กรณีที่ศาลจังหวัดธัญบุรีตั้งเรื่องละเมิดกับนักกิจกรรมเก้าคนรวม เช่น พริษฐ์ ไมค์ ภาณุพงศ์ และพรหมศร วีระธรรมจารี หรือฟ้า รวมอยู่ด้วย โดยทั้งเก้าคนถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลจากเหตุการณ์ในวันที่ 9 สิงหาคม 2564  ขณะที่ทั้งเก้าถูกควบคุมตัวระหว่างรอคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวในคดีการชุมนุมสาดสีที่หน้ากองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1   โดยระหว่างที่ถูกควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งเก้าคนถ่ายทอดสดเหตุการณ์ในบริเวณศาลทางเฟซบุ๊กเพจ ทะลุฟ้า รวมทั้งยังมีการเขียนข้อความด้วยถ้อยคำบนฝาผนังในห้องที่ถูกควบคุมตัวไว้ด้วย ซึ่งต่อมาศาลพิพากษาให้กักขัง 10 วัน และผู้ถูกกล่าวหายื่นอุทธรณ์

ศาลลงหนัก จากการชุมนุมที่บันไดศาล 29 เมษายน

กรณีของเบนจา ซึ่งเป็นผู้ปราศรัย อ่านแถลงการณ์ และโปรยใบปลิวที่บันไดศาลอาญในวันที่ 29 เมษายน 2564 ศาลมีคำสั่งลงโทษจำคุกในอัตราโทษสูงสุดของข้อหาละเมิดอำนาจศาล คือ ให้จำคุก 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ ในคำสั่งตอนหนึ่งระบุว่า “ถ้อยคำที่ผู้ถูกกล่าวหากล่าวและอ่านบทกลอนที่มีเนื้อหาที่ประณามใส่ร้ายและดูหมิ่นต่อการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาตุลาการ อันมีลักษณะก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา จึงเข้าข่ายไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 50 (3) – [บุคคลมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด] และ 50 (6) [บุคคลมีหน้าที่เคารพสิทธิเสรีภาพของคนอื่นและไม่สร้างความแตกแยกเกลียดชัง] และเป็นการละเมิดข้อกำหนดของศาลอาญาข้อ 1 และข้อ 6 อันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล” 
ศาลยังให้เหตุผลที่ไม่รอการลงโทษด้วยว่า ผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้ว่าการกระทำของตนไม่เป็นความผิด อันเป็นการแสดงว่าผู้ถูกกล่าวหามิได้สำนึกถึงการกระทำ จึงไม่มีเหตุให้บรรเทาโทษ
คดีของชินวัตร ศาลมีคำสั่งลงโทษจำคุกเขาเป็นเวลา 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา โดยให้เหตุผลตอนหนึ่งว่า ชินวัตรกล่าวคำว่า “ศาลเป็นฆาตกร” พร้อมทั้งข้อความอื่นๆที่เป็นถ้อยคำหยาบคาย ก้าวร้าว เป็นการดูหมิ่นศาลอาญาและผู้พิพากษาศาลอาญาอย่างรุนแรง เป็นการกระทำที่ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย 
คดีของณัฐชนน ศาลมีคำสั่งลงโทษจำคุกเขาเป็นเวลา 4 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ โดยให้เหตุผลตอนหนึ่งว่า ที่ผู้ถูกกล่าวหา กล่าวว่า “ผมขอไม่นับว่าท่านจบที่ธรรมศาสตร์ที่เดียวกับผมเพราะท่านไม่เคยรักประชาชนเหมือนที่มหาลัยสอน คุณมันไร้กระดูกสันหลัง ถ้าคุณไร้กระดูกสันหลังคุณก็ไม่ได้ตั้งตรงเหมือนกับคนทั่วไป” และตะโกนว่า “ชนาธิปออกมารับหนังสือ” หลายครั้ง เห็นว่า ข้อความที่ผู้ถูกกล่าวหาพูดเป็นการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสิทธิในการประกันตัว เป็นการแสดงความคิดเห็นต่างจากดุลพินิจศาล ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่การที่ผู้ถูกกล่าวหาร่วมการชุมนุมและตะโกนด้วยพฤติการณ์ก้าวร้าว เอะอะ โวยวาย ส่งเสียงโห่ร้อง กล่าวถ้อยคำก้าวร้าว ตะโกน “ปล่อยเพื่อนเรา” ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นตามปกติตามระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นการใช้มวลชนมากดดันศาล กระทบต่อความเป็นอิสระในการพิจารณาคดีของศาลซึ่งถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 
ส่วนคดีของพิสิฏฐ์กุล  ภัทรพงศ์ และ เอลียร์  ซึ่งเข้าร่วมการชุมนุมในวันดังกล่าว และไม่ได้เป็นผู้กล่าวปราศรัย ศาลมีคำสั่งว่า การตะโกนด่าตำรวจเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ให้รอการกำหนดโทษเป็นเวลาสองปี และกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติห้ามแสดงพฤติการณ์ไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล 

ขว้างสีเข้าไปในศาล ไม่ใช่เสรีภาพ ต้องคุ้มครองไม่ให้ศาลถูกข่มขู่

คดีการชุมนุมของกลุ่ม Redem เมื่อวันที่ 2 พฤษาคม 2564 มีผู้ถูกกล่าวหาห้าคน ได้แก่ ศุภกิจ บุญมหิทานนท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่ง, วีรภาพ วงษ์สมาน ผู้ถูกกล่าวหาที่สอง, พัชรวัฒน์ โกมลประเสริฐกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่สาม, จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่สี่ และ ศรัณย์ อนุรักษ์ปราการ ผู้ถูกกล่าวหาที่ห้า โดยในวันเกิดเหตุ ผู้ชุมนุมกลุ่ม Redem นําสิ่งของประกอบด้วย มะเขือเทศ ไข่ไก่ ขวดน้ำบรรจุ ของเหลวสีแดงและวัตถุอื่นๆ ขว้างปาข้ามรั้วของศาลอาญา เข้าไปในบริเวณศาลอาญา ในคำสั่งของศาลระบุข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่ง ขว้างไม้และถุงบรรจุสีแดงเข้าไปในบริเวณศาล ผู้ถูกกล่าวหาที่สอง, สาม และห้า ขว้างถุงบรรจุสีแดงเข้าไปในบริเวณศาล ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่สี่ แม้ไม่ได้ขว้างปาสี แต่ได้ทำการช่วยยกสิ่งของอันเป็นการสนับสนุนการกระทำของผู้ชุมนุม
ศาลสั่งลงโทษ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึง 3 ให้จำคุก 3 เดือน แต่เนื่องจากบุคคลทั้งสามมีอายุไม่เกิน 20 ปี จึงมีเหตุลดโทษให้หนึ่งในสาม และการนำสืบมีประโยชน์จึงลดโทษให้อีกหนึ่งในสาม เหลือโทษจำคุก 40 วัน แต่เพื่อไม่ให้มีประวัติลงโทษจำคุก ศาลจึงสั่งกักขัง ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 จำคุก 3 เดือน ปรับ 480 บาท แต่การนำสืบมีประโยชน์จึงลดโทษให้อีกหนึ่งในสาม เหลือโทษจำคุก 2 เดือน ปรับ 320 บาท แต่เนื่องจากพฤติการณ์ไม่รุนแรง จึงให้รอการลงโทษ 2 ปี และให้คุมประพฤติ 1 ปี พร้อมกับต้องทำงานบำเพ็ญประโยชน์ 12 ชั่วโมง และลงโทษผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 จำคุก 3 เดือน แต่การนำสืบมีประโยชน์จึงลดโทษให้อีกหนึ่งในสาม เหลือโทษจำคุก 2 เดือน แต่เพื่อไม่ให้มีประวัติลงโทษจำคุก ศาลจึงสั่งกักขัง
แม้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าคนจะให้การว่า การกระทำของตนเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญกำหนดให้จำกัดการใช้เสรีภาพดังกล่าวได้ตามกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย ประกอบกับความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองความเป็นอิสระของศาลไม่ให้ถูกข่มขู่คุกคาม การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้า จึงไม่ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่ากระทำการนอกเวลาราชการ ไม่ได้รบกวนการพิจารณาคดีของศาล ฟังไม่ขึ้นเพราะกฎหมายละเมิดอำนาจศาลมุ่งคุ้มครองความเป็นอิสระของศาลที่ต้องกระทำอยู่ตลอดเวลา 
นอกจากการชุมนุมทั้งสามกรณีแล้ว ยังมีการแสดงออกเพื่อเรียกร้องสิทธิการปล่อยตัวชั่วคราวในกรณีอื่นๆ ที่ทำให้นักกิจกรรมถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลด้วย เช่น
สำหรับคำสั่งคดีละเมิดอำนาจศาลอื่นๆ ที่น่าสนใจก็มีคดีของเลิดศักดิ์และนวพล หรือ ไดโน่ ทะลุฟ้า จากกรณีชุมนุมหน้าศาลอาญเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 เรียกร้องสิทธิประกันตัวให้กับจำเลยหลายคนที่ถูกส่งฟ้องในวันนั้น ศาลมีคำสั่งจำคุกทั้งสองเป็นเวลาหนึ่งเดือนและปรับคนละ 500 บาท โดยให้เหตุผลตอนหนึ่งว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองคนจัดการชุมนุมและใช้เครื่องขยายเสียง แม้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะแจ้งให้ยุติการกระทำดังกล่าว แต่นวพล ก็ไม่ปฏิบัติตาม และเลิศศักดิ์ ก็ยังคงปราศรัย โดยมีใจความว่า จะรอดูความยุติธรรมจากศาล มาดูใจศาล เห็นว่า พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการปลุกเร้าผู้ชุมนุมและมีผลต่อการกระบวนการพิจารณาคดี ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต 
กรณีของอดิศักดิ์ จำเลยในคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร จากเหตุการณ์เมื่อเขาเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีของเขาในวันที่ 8 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่บรรยากาศในห้องพิจารณาคดีตึงเครียด อดิศักดิ์เล่าว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ยืนบังทำให้เขามองไม่เห็น เขาจึงลุกไป “สะกิด” ไหล่ให้หลบ แต่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์รู้สึกว่าถูกทำร้ายขณะปฏิบัติหน้าที่ จึงแจ้งต่อผู้อำนวยการศาลให้ดำเนินคดี เมื่อขึ้นสู่การพิจารณามีการกล่าวขอโทษกัน ศาลมีคำสั่งว่ามีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ให้ปรับ 500 บาทและตักเตือนไม่ให้กระทำอีก 
อีกหนึ่งกรณีที่น่าสนใจคือกรณีของของกฤษพล หรือโจเซฟ ระหว่างที่เขาเข้าฟังการพิจารณาคดีในนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีการชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนีซึ่งเขาเป็นจำเลย เมื่อผู้พิพากษาในคดีของเขาขึ้นบัลลังก์โจเซฟลุกขึ้นใช้มีดกรีดแขนตัวเองพร้อมทั้งแถลงขอให้ศาลให้สิทธิการปล่อยตัวชั่วคราวกับทนายอานนท์ นำภา และ เบนจา อะปัญ  กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดีและตัว “โจเซฟ” ก็เพียงแต่กรีดแขนตัวเองโดยไม่ได้กระทำการข่มขู่คุกคามบุคคลอื่น ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีก็อาจมีดุลพินิจใช้วิธีเชิญตัว “โจเซฟ” ออกนอกห้องพิจารณาคดีเป็นการชั่วคราวเพื่อระงับเหตุโดยไม่สั่งลงโทษจำเลยก็ได้ แต่สุดท้ายก็มีดุลพินิจตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาลก่อนจะมีคำสั่งลงโทษจำคุกเขาเป็นเวลาสองเดือนและปรับเงิน 500 บาท แต่ลดโทษลงกึ่งหนึ่งเหลือจำคุกหนึ่งเดือนและปรับ 250 บาท เพราะผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพและรอการลงโทษจำคุกไว้ 6 เดือน 
เท่าที่มีข้อมูล คดีละเมิดอำนาจศาลที่เกิดขึ้นในปี 2564 โดยมีมูลเหตุจากการแสดงออกในบริเวณศาลหรือรอบศาล ไม่มีคดีใดเลยที่เมื่อไต่สวน รับฟังพยานหลักฐานของฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ศาลจะมีคำสั่งว่า “ไม่เป็นความผิด” แม้ในชั้นไต่สวนศาลจะย้ำว่าจะเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ แต่ในขั้นตอนเขียนคำสั่งศาลมีคำสั่งว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการกระทำความผิดทุกคดี โดยมีอย่างน้อย 4 กรณีที่ศาลสั่งลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหาโดยไม่รอการลงโทษให้

ห้ามจด ห้ามรายงาน ข้อกำหนดในห้องพิจารณาคดีละเมิดอำนาจศาลที่ปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลของสาธารณะ

แม้ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจะไม่ได้เป็นความผิดที่มีอัตราโทษสูงมาก คือมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 500 บาท และประเด็นที่ศาลจะทำการไต่สวนจะจำกัดอยู่เพียงว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำการไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลหรือไม่ ซึ่งน่าจะไม่ใช่ประเด็นที่กระทบต่อความมั่นคง แต่ปรากฎว่าการไต่สวนละเมิดอำนาจศาลในบางคดีศาลกลับมีความเข้มงวดเสียยิ่งกว่าการพิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เสียอีก ทั้งที่คดีละเมิดอำนาจศาลควรพิจารณาโดยเปิดเผยเพื่อเป็นหลักประกันความยุติธรรมให้กับผู้ถูกกล่าวหา เนื่องจากเป็นคดีที่ผู้เสียหาย ผู้กล่าวหา และผู้ตัดสิน เป็นคนเดียวกัน คือ ศาล
ระหว่างการพิจารณาคดีละเมิดอำนาจศาลของ นวพล หรือไดโน่ ทะลุฟ้า และเลิศศักดิ์ ศาลแจ้งข้อกำหนดกับผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณา ห้ามถ่ายภาพ บันทึกเสียง รวมถึงห้ามบันทึกบทสนทนาระหว่างผู้พิพากษาและทนายความ หากฝ่าฝืนอาจถือเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล  
คดีละเมิดอำนาจศาลของเบนจาจากเหตุการณ์วันที่ 29 เมษายน 2564 ในนัดไต่สวนวันที่ 21 มิถุนายน 2564  ศาลสั่งจำกัดจำนวนผู้เข้าฟังการไต่สวน โดยอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ไอลอว์และเจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ไม่ใช่ทนายของเบนจาอยู่ในห้องพิจารณาคดีได้เพียงองค์กรละคน นอกจากนั้นศาลยังวางข้อกำหนดห้ามบันทึกภาพและเสียง บันทึกข้อความคำพูดของผู้พิพากษา พยาน ทนายความ รายละเอียดคำเบิกความพยานด้วย ส่วนนัดฟังคำสั่งศาลวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ศาลไม่ได้มีคำสั่งพิจารณาคดีลับ แต่ไม่อนุญาตให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีเข้าห้องพิจารณาคดีโดยอ้างเหตุการแพร่ระบาดของโควิด19 
คดีละเมิดอำนาจศาลของณัฐชนน ไพโรจน์ และพิสิษฐ์กุลที่เข้าร่วมการชุมนุมในวันที่ 29 เมษายน 2564  แม้จะไม่ได้มีการจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณา เช่นเดียวกับคดีของเบนจา แต่ก็มีการวางข้อกำหนดในลักษณะเดียวกัน คือ ห้าม บันทึกภาพและเสียง หรือทั้งภาพและเสียงไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหว ถ่ายทอดสดเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น บันทึกข้อความคำพูดของผู้พิพากษา พยาน ทนายความ รายละเอียดคำเบิกความพยาน 
อย่างไรก็ตาม ข้อห้ามเหล่านี้ไม่ได้ปรากฎในทุกคดี เพราะระหว่างการพิจารณาคดีของชินวัตร  และคดีของภัทรพงศ์ หรือสมาร์ท  ศาลไม่ได้วางข้อกำหนดหรือข้อห้ามใดๆเป็นพิเศษรวมทั้งไม่ได้มีการประกาศจำกัดจำนวนผู้เข้าห้องพิจารณาคดีหรือสอบถามว่าคนที่เข้าฟังมาฟังการพิจารณาคดีว่าเป็นใครหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีอย่างไร โดยปัจจัยที่ศาลวางแนวปฏิบัติในการเข้าถึงห้องพิจารณาคดีและการรายงานเรื่องราวในห้องพิจารณาคดีแตกต่างกันอาจมาจากทั้งการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษาแต่ละคนและจากความสนใจต่อสาธารณะที่อาจมีต่อคดีนั้นๆ รวมถึงพฤติการณ์ในคดีว่ามีความร้ายแรงในความเห็นของศาลว่ามากน้อยเพียงใดร 

พื้นที่ ที่ยังพอมีอยู่บ้าง

หากพิจารณาจากตัวอย่างอาจเห็นว่าการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าศาล โดยเรียกร้องต่อการใช้ดุลพินิจของศาล เป็นสิ่งที่ทำได้ยากและมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกดำเนินคดีฐานละเมิดอำนาจศาล แต่ก็ไม่ใช่ว่าการชุมนุมหรือแสดงออกที่หน้าศาลทุกครั้งจะนำไปสู่การดำเนินคดีฐานละเมิดอำนาจศาลเสมอไป ในปี 2564 เคยมีกรณีการแสดงออกที่หน้าศาลที่ไม่มีการดำเนินคดีเช่นกัน ตัวอย่างเช่น 
วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 People Go Network จัดกิจกรรม “เปิดไฟให้ดาว LightUp Justice” ที่ริมถนนหน้าศาลอาญา โดยชวนผู้ชุมนุมมา “ยืนเฉยๆ” เป็นเวลา 1.12 ชั่วโมง และเปิดไฟจากมือถือส่องผ่านรูปดาวไปยังศาล เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัว ไม่มีการดำเนินคดีตามหลัง 
วันที่ 16 สิงหาคม 2564 กลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรมยืนหยุดขังหน้าศาลอาญา โดยใช้เสียงจากลำโพงขนาดเล็กช่วงเวลาสั้นๆ ก็ไม่มีการดำเนินคดีตามหลัง  
วันที่ 25 ตุลาคม 2564  กลุ่มทะลุฟ้าจัดการชุมนุมหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ ในวันที่ศาลมีกำหนดนัดพิจารณาคดีมาตรา 112 ซึ่งในวันนั้นผู้ร่วมกิจกรรมบางส่วนแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าศาลด้วยการกรีดแขนตัวเองและยังนำสีแดงมาราดตัวเองเพื่อตั้งคำถามว่าประชาชนต้องเสียเลือดให้กระบวนการยุติธรรมอีกเท่าไหร่ ไม่มีการดำเนินคดีตามหลัง 
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 การชุมนุมรวมพลังมวลชน ปฏิรูปไม่เท่ากับล้มล้างเมื่อ ซึ่งจัดโดยกลุ่มราษฎรเอ้ย ที่หน้าศาลอาญา หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคดีการปราศรัยล้มล้างการปกครอง ในวันนั้นผู้ชุมนุมมีการใช้เครื่องขยายเสียงลำโพงลากในการชุมนุมด้วยแต่ก็ไม่มีการดำเนินคดีตามหลัง 
มีความน่าสนใจว่าหากศาลเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการยุติธรรม เช่น เปิดห้องพิจารณาคดีขนาดใหญ่เพื่อรองรับคดีที่คนสนใจให้เข้าไปฟังได้ ความอึดอัดคับข้องใจและความตึงเครียดในห้องพิจารณาคดีก็จะลดลง ดังเช่น ในช่วงปลายปี การพิจารณาคดีสำคัญอย่างคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ศาลอาญาเปิดห้องพิจารณาขนาดใหญ่ให้ประชาชนเข้าฟังได้ ก็ไม่ปรากฎว่าระหว่างเวลาการพิจารณาคดีดังกล่าวจะมีคนรวมตัวมาชุมนุม และไม่มีเหตุวุ่นวายใดๆ ในห้องพิจารณาคดี