โฟล์ค, สหรัฐ: 112 คดีเปลี่ยนชีวิตของอดีตสามเณร

“…ขอให้พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายโปรดจดจำว่าข้าเป็นคอมมิวนิสต์”
คือตอนหนึ่งของคำขอสึกที่ “โฟล์ค” สหรัฐ สุขคำหล้า อดีตสามเณรที่เคยออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มราษฎร กล่าวต่อพระอาจารย์ ระหว่างทำพิธีลาสิกขาบทที่วัดม่วงชุม ในอำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ปิดฉากเวลา 11 ปี 8 เดือน ที่เขาอยู่ในสมณเพศ 
ในช่วงปี 2563 ซึ่งการเมืองบนท้องถนนมีความเข้มข้น พระภิกษุสงฆ์และสามเณร เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ออกมาร่วมชุมนุมกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ คนเสื้อแดง และคนกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่พอใจต่อการบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โฟล์คเองซึ่งในปี 2563 ยังครองสมณเพศเป็นสามเณรอยู่ก็มาร่วมชุมนุมด้วย โดยเขาไปร่วมการชุมนุมทั้งที่มหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งเขากำลังศึกษาในระดับปริญญาตรีอยู่ และการชุมนุมที่จัดในพื้นที่สาธารณะอื่นๆ อาทิ การชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 โฟล์คไปร่วมการชุมนุมของคณะราษฎรอีสานซึ่งเข้าไปยึดพื้นที่บริเวณใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่13 ตุลาคม 2563 และถูกตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม ในวันนั้นผู้ชุมนุมใช้สีน้ำเงินสาดใส่เจ้าหน้าที่เพื่อตอบโต้ โฟล์คซึ่งอยู่ในพื้นที่การชุมนุมถูกสีสาดไปด้วยจนจีวรของเขาชุ่มไปด้วยสีน้ำเงิน
ภาพจากเฟซบุ๊กของ Folk Saharat
หลังไปร่วมการชุมนุมในวันที่ 13 ตุลาคม ได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ ในวันที่ 21 ตุลาคม 2563 สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีหนังสือถึงเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม ให้ตรวจสอบสามเณรรูปหนึ่งที่เข้าร่วมชุมนุมกับคณะราษฎร ซึ่งอาจเป็นการขัดคำสั่งมหาเถรสมาคมเรื่องห้ามภิกษุสามเณรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง นับจากนั้นโฟล์คต้องเผชิญกับแรงกดดันจากพุทธจักร จนกระทั่งในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2563 กลุ่มนักเรียนเลวจัดการชุมนุม #บ๊ายบายไดโนเสาร์ ที่ใต้สถานีรถไฟฟ้าสยาม โฟล์คได้ไปร่วมชุมนุมด้วย ครั้งนั้นเขาได้ขึ้นปราศรัยด้วยโดยตอนหนึ่งของการปราศรัย โฟล์คพูดกรณีที่นายกรัฐมนตรีเคยพูดว่าพระมหากษัตริย์เคยตรัสว่าให้เลิกใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมทั้งตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคำกล่าวที่ว่า “กษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ” คำปราศรัยของโฟล์คเป็นเหตุให้ รัฐธนภักษ์ สุวรรณรัตน์ ซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีในความผิดตามมาตรา 112 แม้ในขณะที่คดีดำเนินไปโฟล์คจะไม่ถูกคุมขัง แต่การถูกดำเนินคดีก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยที่ทำให้โฟล์คตัดสินใจสึกจากความเป็นสามเณรและทิ้งชีวิตสมณเพศไว้ข้างหลัง

ปัญหาเศรษฐกิจทำให้ต้องบวช เพื่อจะได้เรียนต่อ

โฟล์คเล่าว่า ตัวเขาเป็นชาวจังหวัดพะเยา บ้านของเขาไม่ได้อยู่ในตัวเมืองแต่อยู่บริเวณตะเข็บชายแดนไทย – ลาว ในสมัยที่เขาเป็นเด็ก โฟล์คอาศัยอยู่กับปู่ย่าและน้องสาวอีกหนึ่งคน ส่วนพ่อเสียชีวิตไปตั้งแต่สมัยเขายังอายุไม่ถึงห้าขวบ ช่วงประมาณปี 2544 ที่บ้านของโฟล์คเคยกู้เงินก้อนหนึ่งเพื่อทำธุรกิจส่วนตัวซึ่งในช่วงแรกก็ไปได้ด้วยดี จนกระทั่งปี 2549 ครอบครัวของโฟล์คต้องเผชิญกับพายุลูกใหญ่ การรัฐประหาร 2549 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทำให้ธุรกิจของครอบครัวได้รับผลกระทบ ในปีเดียวกันนั้นเองคุณปู่ของโฟล์คก็ล้มป่วยจนไม่สามารถทำงานได้ แม่ของโฟล์คซึ่งประกอบอาชีพขายอาหารอยู่ที่กรุงเทพจึงต้องรับบทหนักในการหารายได้เข้าบ้าน จนสุดท้ายแม่ก็ต้องบอกข่าวร้ายกับโฟล์คว่าจะมีกำลังส่งลูกเรียนหนังสือได้เพียงคนเดียว ในวันที่ 10 เมษายน 2553 วันเดียวกับที่มีการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่กรุงเทพ โฟล์คที่ขณะนั้นมีอายุได้ 12 ปี จึงต้องบรรพชาเป็นสามเณรเพื่อที่ตัวเองจะได้มีโอกาสศึกษาต่อ ส่วนน้องของโฟล์คก็เป็นหน้าที่ของแม่ที่จะต้องส่งเสียต่อไป 
เมื่อถูกถามว่าตัวโฟล์คเองเคยผ่านประสบการณ์ทั้งการอยู่ในครอบครัวที่พอมีฐานะ มาจนถึงช่วงเวลาที่ครอบครัวประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ประสบการณ์เหล่านั้นสอนอะไรโฟล์คบ้าง โฟล์คตอบว่า
“มันทำให้ผมเข้าใจปัญหาและหัวอกของชนชั้นล่างมากขึ้น มันทำให้ผมเห็นว่าเด็กในชนบทไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะฝันถึงอนาคตของตัวเอง พวกเขาต้องทำงานหนักเพื่อให้ได้เรียน เพื่อช่วยดูแลพ่อแม่ อย่างตัวผมกับเพื่อนบางคนต้องยอมไปบวชเพียงเพื่อจะเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ส่วนเด็กผู้หญิงบางส่วนก็ต้องยอมขายตัวเพื่อแลกกับเงินมาจุนเจือตัวเองและครอบครัว” อย่างไรก็ตามโฟล์คก็คิดว่าจริงๆ แล้วเรื่องความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมมันไม่ใช่แค่ปัญหาระหว่างคนชนบทหรือคนเมือง แต่เป็นปัญหาที่มีอยู่ทั่วไปในสังคมไทย
“เอาจริงๆ มันไม่ใช่แค่เรื่องของชนบทหรือเมืองนะ ความเหลื่อมล้ำในประเทศนี้มันมีอยู่ทั่วไป ไม่ต้องเปรียบเทียบโรงเรียนที่พะเยากับที่กรุงเทพหรอก เอาแค่จังหวัดใกล้ๆ อย่างนครปฐมหรืออยุธยาคุณภาพของโรงเรียนก็คงยากจะสู้กับโรงเรียนในกรุงเทพหรือแม้แต่ในกรุงเทพเองคุณภาพของโรงเรียนก็มีความเหลื่อมล้ำอยู่ไม่น้อย”

คนชั้นล่างใต้ร่มกาสาวพัสตร์

โฟล์คยอมรับว่าก่อนที่จะบวชตัวเขาเองไม่ได้ศรัทธาในศาสนาหรือคิดที่จะบวช แต่เงื่อนไขด้านเศรษฐกิจและโอกาสในการศึกษาคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาต้องเลือกครองสมณเพศ ซึ่งนอกจากตัวเขาแล้วก็มีเพื่อนๆ สามเณรอีกหลายรูปที่ต้องออกบวชด้วยเหตุผลเดียวกัน
“ตัวผมเองสมัยเด็กๆ ก็ไม่ได้อินอะไรกับเรื่องพุทธศาสนานักหรอก ผมเคยไปโบสถ์คริสต์อยู่ช่วงหนึ่งด้วย บราเธอส์ของโบสถ์เอาช็อกโกแลตมาให้ผมกิน น่าจะเป็นของเฮอร์ชีส์ ครั้งนั้นน่าจะเป็นครั้งแรกที่ผมได้กินช็อกโกแลตที่ไม่ใช่ปักกิ่ง ผมรู้สึกว่าศาสนาคริสต์มันไม่ได้มีแค่นักบวช หรือพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ แต่มันมีเรื่องของการให้และการมีส่วนร่วมอยู่ด้วย อย่างเด็กๆ ที่ไปโบสถ์ก็ยังได้ร้องเพลง ได้เล่นเครื่องดนตรี มีสอนภาษาอังกฤษ ผมไปโบสถ์ได้ไม่กี่ครั้งก็ต้องเลิกไปเพราะคุณย่าไม่สบายใจ แล้วถ้าคุณย่ารู้ว่าผมยังไปโบสถ์อยู่อีกก็คงจะถูกตี ส่วนคุณย่าก็เริ่มพาผมไปฝากไว้กับหลวงพ่อที่วัดแถวบ้าน ผมเลยได้เริ่มเข้าไปเป็นเด็กวัดก่อนที่จะเข้าไปบวช”
เมื่อถามว่าหากมี “ชาวพุทธ” บางส่วนมาตำหนิว่าเขาหาประโยชน์จากศาสนาเพราะไม่ได้บวชด้วยความศรัทธาในศาสนาหรือบวชเพราะปรารถนาจะหลุดพ้นจากสังสารวัฏตามคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่บวชเพราะเหตุผลหรือความจำเป็นอื่นเขาจะว่าอย่างไร โฟล์ค บอกว่า การมองในลักษณะดังกล่าวเป็นการมองมาจากจุดยืนของผู้มีอันจะกิน แต่หากมองจากมุมของชนชั้นล่าง การที่พวกเขาต้องบวชเพื่อเข้าถึงการศึกษาก็เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้จำกัดเสรีภาพในการเลือกทางเดินหรือการใช้ชีวิตของชนชั้นล่าง
“ถ้าคุณบอกว่าการบวชต้องเป็นไปเพื่อการหลุดพ้นเท่านั้น ผมคิดว่ามุมมองของคุณเป็นมุมมองจากชนชั้นบนที่สามารถเข้าถึงปัจจัยหรือทรัพยากรต่างๆ พวกคุณอาจมีเวลาหรือมีกำลังที่จะเข้าถึงพระไตรปิฎก แต่พระหรือเณรในชนบทอย่างผมไม่ได้มีเวลาที่จะไปอ่านพระไตรปิฎก อย่างมากเราก็ได้แค่ฟังพระเทศน์ตามโอกาสเท่านั้น และการที่คนชั้นล่างบางส่วนต้องบวชเพื่อโอกาสเข้าถึงการศึกษา มันก็แสดงให้เห็นว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจมันได้จำกัดเสรีภาพของเราที่จะเลือกทางเดินหรือวิถีชีวิตของเราเอง”

พระที่ยุ่งการเมืองคือพระที่ไม่สยบยอม

โฟล์คยอมรับว่าช่วงที่บวชอยู่ที่จังหวัดพะเยาเขาเป็นคนที่มีแนวความคิดแบบอนุรักษ์นิยม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการหล่อหลอมกล่อมเกลาภายในสถาบันสงฆ์ไทยที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมและยอมรับโดยไม่ตั้งคำถามต่อผู้มีอำนาจรัฐ ในมุมมองของโฟลค์ อาณาจักรและศาสนจักรไม่เฉพาะของไทย แต่รวมถึงในระดับสากลมักแสดงบทบาทในลักษณะสยบยอมต่อผู้มีอำนาจฝ่ายอาณาจักรเพื่อความมั่นคงของตัวเอง
“ผู้นำฝ่ายอาณาจักรไม่สามารถอยู่ได้ด้วยการใช้ Hard Power เพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยการรับรองจากศาสนจักรที่เป็น Soft Power ด้วย ถ้าไปดูเหตุการณ์ในยุโรปเราก็เห็นว่าในหน้าประวัติศาสตร์มีช่วงเวลาที่โป๊ป ในฐานะประมุขของศาสนจักรเป็นผู้สวมมงกุฎให้กับกษัตริย์องค์ต่างๆ ของยุโรป ขณะเดียวกันฝ่ายศาสนจักรก็หวังจะได้รับความคุ้มครองหรือสิทธิพิเศษต่างๆ จากการที่ให้การสนับสนุนต่อฝ่ายอาณาจักร เราจึงเห็นปรากฏการณ์ที่ในทางหนึ่งพระเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการฝ่ายอาณาจักร เช่น มาเจิมรถถังหรือเครื่องบิน เราเห็นพระเทศน์เรื่องให้คนจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือหนักหน่อยก็เคยมีกรณีที่บอกว่าฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป ตัวอย่างที่ยกมาล้วนมีความเกี่ยวข้อกับการเมืองหรือเป็นการกระทำทางการเมืองบางอย่าง แต่กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ จากฝ่ายศาสนจักร ในทางกลับกันเมื่อมีพระหรือสามเณรแสดงออกในลักษณะขัดกับผู้มีอำนาจรัฐพวกเขาจะถูกจัดการอย่างรวดเร็ว”
“ผมเองก่อนจะถูกดำเนินคดี ม.112 ผมก็เคยถูกตรวจสอบเป็นการภายในว่าไปดูหมิ่นสมเด็จพระสังฆราช จากการที่ผมวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่พระไปเจิมรถถังหรืออาวุธต่างๆ เอาจริงๆ ระบบกฎหมายบ้านเรามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการจำกัดการแสดงออกของพระภิกษุสามเณร คือ ตามกฎหมายไทยพระสงฆ์ที่ไม่มีวัดให้จำพรรษาเป็นเวลาเกิน 15 วันจะถือว่าเป็นพระเถื่อนและต้องถูกจับสึก ขณะเดียวกันพระภิกษุหรือสามเณรที่แสดงความคิดเห็นในลักษณะขัดกับผู้มีอำนาจตั้งแต่ระดับผู้มีอำนาจในวัดหรือผู้มีอำนาจระดับสูงกว่านั้นก็มีโอกาสที่จะถูกขับออกจากวัดเพราะไม่เชื่อฟังเจ้าอาวาส พระสงฆ์ที่แสดงความคิดเห็นในลักษณะที่ขัดกับผู้มีอำนาจจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกขับออกจากวัดและเมื่อไม่มีวัดใดยอมรับให้ไปสังกัดก็เสี่ยงที่จะเป็นพระเถื่อนและถูกจับสึก ท้ายที่สุดพระบางส่วนจึงเลือกที่จะไม่พูดเรื่องการเมือง ซึ่งไม่ได้หมายถึงการไม่พูดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะ แต่หมายถึงการไม่พูดในสิ่งที่ผู้มีอำนาจไม่อยากได้ยิน”

โปรดจดจำข้าพเจ้าในฐานะคอมมิวนิสต์

ตลอดบทสนทนา คำศัพท์ที่ใช้กันในหมู่ฝ่ายซ้ายอย่าง วัตถุนิยม, ความขัดแย้งทางชนชั้น, นายทุน หรือกงล้อประวัติศาสตร์ จะถูกพูดออกมาจากปากโฟล์คอยู่เป็นระยะ โฟล์คพูดโดยเปิดเผยและย้ำอยู่หลายครั้งว่า เขาเชื่อว่าแนวคิดแบบมาร์กซิสและระบบการเมือง เศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์จะเป็นทางออกสุดท้ายของปัญหาต่างๆ ที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเหลื่อมล้ำ ซึ่งความคิดที่ตกผลึกนี้ได้สะท้อนอยู่ในคำขอลาสิกขาที่กล่าวไว้ตอนต้น
“ผมเริ่มมาศึกษาเรื่องปรัชญาและแนวคิดทางการเมืองมากขึ้นช่วงที่เตรียมจะเข้าเรียนที่วิทยาลัยศาสนศึกษา มหิดล คือตอนนั้นผมรู้ตัวว่าตัวเองเป็นเด็กต่างจังหวัด เลยรู้สึกว่าต้องรีบหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อให้เรียนทันเพื่อน มีเพื่อนแนะนำให้ผมดูคลิปงานเสวนาที่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นวิทยากร ซึ่งคลิปนั้นเปิดโลกทางการเมืองให้กับผมและทำให้ผมสนใจการเมืองมากขึ้น แล้วพอเริ่มมาเข้าเรียนปีหนึ่งก็มีเพื่อนซื้อหนังสือทฤษฎีการเมืองมาร์กซิสให้ผมอ่าน หนังสือเล่มนั้นเป็นตัวจุดประกายที่ทำให้ผมศึกษาแนวคิดมาร์กซิสอย่างจริงจังและเริ่มมองเห็นความเหลื่อมล้ำในประเทศนี้ว่าเป็นปัญหาโดยตรงของระบบทุนนิยม”
“ไม่ใช่แค่เรื่องความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาของระบบทุน ความสัมพันธ์ทางการผลิตภายใต้ระบบทุนนิยมมันยังทำให้ปัจเจกชนแต่ละคนสนใจเฉพาะสินค้าหรือผลผลิตที่อยู่ตรงหน้า จนละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า กว่าจะมีผลิตภัณฑ์หนึ่งชิ้นเกิดขึ้น มันมีการกดขี่ขูดรีด หรือมีความไม่เป็นธรรมระหว่างนายทุนเจ้าของโรงงานกับคนในสายพานการผลิตอย่างไรบ้าง และไอ้การละเลยเรื่องอื่นสนใจแต่เรื่องของตัวเองตรงนั้นสุดท้ายก็ทำให้ระบบเผด็จการคงอยู่ได้อย่างมั่นคง เพราะคนในสังคมเลือกที่จะเพิกเฉยต่อการกดขี่ที่เกิดขึ้นภายใต้ระบอบเผด็จการ”
“สมัยที่ผมบวช วัดของเราเคยช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ด้วยการแบ่งปันอาหารบางส่วนให้ ตอนแรกผมก็ไม่ได้คิดอะไรเพราะเห็นว่าการแบ่งปันเป็นเรื่องดี แต่ไปๆ มาๆ ผมก็เริ่มตั้งคำถามว่าทำไมคนถึงไม่มีกิน ผมก็ถูกหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ผมก็แบบเฮ้ยทำไมตั้งคำถามเรื่องนี้ถึงกลายเป็นคอมมิวนิสต์ การที่วัดแจกอาหารชาวบ้านมันคือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่พอตั้งคำถามไปที่ต้นเหตุว่าคนไม่มีกินเกิดจากอะไรผมกลับถูกเรียกว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นพวกตัวอันตราย เป็นปีศาจ”
“ยิ่งถูกตีตรา ผมยิ่งศึกษาแนวคิดมาร์กซิสหนักขึ้น จนได้เห็นปัญหาของระบบทุนนิยมมากขึ้น ได้เห็นว่าการที่ผมต้องมาบวชเพื่อแลกกับโอกาสในการเรียนหนังสือ มันคือสิ่งที่อยู่ในคำอธิบายของมาร์กซเลยว่าภายใต้ระบบทุนมนุษย์ไม่มีอิสรภาพ เพราะเราถูกจำกัดทางเลือกด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ แล้วมันก็สะท้อนด้วยว่าระบบรัฐในปัจจุบันมันรับใช้ระบบทุน แทนที่รัฐจะเอาทรัพยากรมาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ชนชั้นล่างอย่างผมกลับถูกผลักภาระให้ไปแก้ปัญหาเอง”
“สำหรับคำถามที่ว่ามาร์กซ์มองว่าศาสนาคือยาฝิ่น แล้วตัวผมเองครั้งหนึ่งเคยเป็นนักบวชในศาสนามันดูจะไม่ขัดแย้งกันเองหรือ สำหรับผมฝิ่นแม้ทางหนึ่งมันจะเป็นยาเสพติดที่มอมเมาคน แต่ขณะเดียวกันฝิ่นก็ถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตมอร์ฟีนที่ใช้ทางการแพทย์ สำหรับผมมันอยู่ที่ว่าศาสนาจะถูกนำไปตีความและใช้ไปในทางไหน เพื่อปลดปล่อยผู้คนหรือเพื่อมอมเมาให้ผู้คนยอมจำนนต่อระบบ แต่ผมก็ไม่ปฏิเสธนะว่าสิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้ดูเหมือนมันจะถูกใช้ไปแบบข้อหลังมากกว่า”

จากสามเณรนักเคลื่อนไหว สู่จำเลยคดีมาตรา 112

เมื่อถามถึงที่ทางของเขาในขบวนการเคลื่อนไหวช่วงปี 2563 – 2564 โฟล์คระบุว่าแม้เขาจะไปร่วมชุมนุมอยู่เป็นระยะ ทั้งการชุมนุมในรั้วมหาวิทยาลัยมหิดลที่เขาศึกษาอยู่และการชุมนุมใหญ่ในพื้นที่สาธารณะนอกรั้วมหาวิทยาลัย แต่โฟล์คก็ไม่ได้มีบทบาทเป็นนักปราศรัยหรือแนวหน้า เขาเพียงหวังจะช่วยผู้ชุมนุมคนอื่นเท่าที่ช่วยได้เท่านั้น อย่างช่วงที่เจ้าหน้าที่ใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมตัวเขาเองก็จะคอยใช้น้ำล้างหน้าให้ผู้ชุมนุม ส่วนวันที่ 13 ตุลาคม 2563 เขาก็ไปยืนเป็นหนึ่งในกำแพงมนุษย์ล้อมรถเวทีเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปอุ้มตัวแกนนำที่กำลังปราศรัยบนเวที อย่างไรก็ตามเมื่อคนที่มีบทบาทนำถูกจับกุมมากขึ้นๆ โฟล์คก็ตัดสินใจว่าคงถึงเวลาที่เขาจะต้องขึ้นเวทีบ้างแล้ว
“ก่อนจะถึงการชุมนุมของนักเรียนเลว (การชุมนุม บ๊ายบายไดโนเสาร์ ที่สถานีรถไฟฟ้าสยาม 21 พฤศจิกายน 2563) ผมน่าจะเคยขึ้นปราศรัยแค่ที่ศาลายากับที่ห้าแยกลาดพร้าว ประเด็นที่พูดถึงก็จะเป็นเรื่องปัญหาในวงการสงฆ์ ที่เหลือผมมักไปร่วมชุมนุมในฐานะมวลชนธรรมดาคนหนึ่ง บางทีอาจไปช่วยผู้จัดบ้างแต่ก็จะจำกัดบทบาทตัวเองไว้ในฐานะคนสนับสนุนแนวหลังมากกว่า พอถึงช่วงเดือนตุลาคมมีการกวาดจับคนที่มีบทบาทนำไม่ว่าจะเป็นเพนกวิน รุ้ง หรือทนายอานนท์ ผมรู้สึกว่าไม่อยากให้พวกเขาต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว เมื่อพวกเขาถูกเอาตัวไปขังผมก็รู้สึกว่ามันคงถึงเวลาที่ผมจะต้องพูดอะไรสักอย่าง ในการชุมนุมของนักเรียนเลวสิ่งที่ผมปราศรัยคือการตั้งคำถามต่อคำพูดที่ว่ากษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ โดยบริบทที่ทำให้ผมตั้งคำถามคือการนำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กลับมาใช้อีกครั้งทั้งที่ก่อนหน้านี้คุณประยุทธ์เองเคยบอกว่า ที่ ม.112 ไม่ถูกใช้เป็นเพราะในหลวงทรงขอให้งดใช้ หลังการปราศรัยก็มีใครไม่รู้ไปแจ้งความกับตำรวจจนผมถูกดำเนินคดีไปอีกคน” (คดีมาตรา 112 ของโฟล์คเป็นหนึ่งใน 82 คดีที่ประชาชนเป็นผู้ริเริ่มคดี จากจำนวนคดีมาตรา 112 ทั้งหมดอย่างน้อย 172 คดี – ข้อมูลเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่ารัฐธนภักษ์ สุวรรณรัตน์ เป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้)
“การถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ทำให้ผมได้เห็นว่าเอาเข้าจริงแล้วเผด็จการจะอยู่ไม่ได้เลยหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากชนชั้นล่างที่ช่วยเหลือเพื่อหวังผลประโยชน์เฉพาะหน้าบางอย่าง มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมถูกติดตามเพื่อเอาตัวมาสึก ก็มีพระสงฆ์ธรรมดารูปหนึ่งที่ผมเคยให้ความนับถือเป็นคนเอาภาพจากกล้องวงจรปิดของวัดไปให้ทางการดูว่าผมอยู่ที่ไหน ผมก็ไม่รู้ว่าพระรูปนั้นท่านหวังอะไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับผมมันก็สะท้อนภาพใหญ่ของสังคมว่าชนชั้นล่างบางส่วนพยายามจะขยับฐานะตัวเองด้วยการสนับสนุนการใช้อำนาจของชนชั้นนำ โดยไม่สนใจว่าตัวเองก็อยู่ภายใต้โครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมของชนชั้นนำเช่นกัน”  
“หลังถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ผมถูกกดดันหนักขึ้นจากสำนักพุทธฯ ที่จะเอาผมสึกให้ได้ เพื่อนผมที่เป็นพระพยายามช่วยเหลือผมโดยให้ผมอาศัยอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งกับเขา พร้อมกับขอให้ผมงดไปบิณฑบาตเพื่อไม่ให้คนรู้ว่าผมอยู่ที่ไหนแล้วตัวเขาจะคอยแบ่งอาหารที่บิณฑบาตมาได้ให้ผมฉัน แต่ผมทบทวนดูแล้วว่าหากอยู่ในสมณเพศต่อไปผมก็คงไม่สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างที่ควรจะเป็น ผมเลยตัดสินใจสึกออกจากสมณเพศและใช้ชีวิตต่อไปในฐานะฆารวาส”
“อย่างที่เล่าไปตอนต้นว่าบ้านผมอยู่ในเขตชนบท ความรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรา 112 ที่นั่นไม่เหมือนที่กรุงเทพหรือในเมือง  ตอนแรกที่ย่ารู้ว่าผมโดนคดีนี้ก็ถึงกับเป็นลมไปเลย ขณะที่เพื่อนบ้านก็มีท่าทีที่ไม่เข้าใจสักเท่าไหร่ แต่พอมันมีคนโดนคดีเยอะขึ้นเป็นหลักร้อยความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรา 112 มันก็เลยมีมากขึ้นซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่ามันเป็นเรื่องดีไหม”
“เอาจริงๆ ที่บ้านเคยถามผมเหมือนกันนะ ว่ามาโดนแบบนี้มันคุ้มไหม และขอให้ผมเพลาการเคลื่อนไหวลง แต่พูดเรื่องคุ้มไม่คุ้ม หรือราคาที่ต้องจ่ายผมกลับคิดว่าหลายคนที่ออกมาเคลื่อนไหวมีราคาที่ต้องจ่ายมากกว่าผมนะ อย่างเบนจาเรียนวิศวะ ค่าเทอมสูงกว่าผมหลายเท่าตัว เพนกวินก็เรียนเก่งกว่าผมมาก หรือทนายอานนท์ก็มีลูกแล้ว แต่ตัวผมเองยังตัวคนเดียว ถ้าผมไม่ขึ้นปราศรัยในวันนั้นผมก็คิดว่าตัวเองคงจะเห็นแก่ตัวเกินไป”

ขอจบปริญญา แม้ไม่มีคนคอยประเคนอาหารให้

หลังสึกออกมาโฟล์คยังคงศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยศาสนศึกษาเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือสถานะทางสังคม เขาจำเป็นต้องย้ายออกจากหอพักเดิมซึ่งเป็นเขตธรณีสงฆ์ เขาต้องเริ่มคิดเรื่องการทำงานจากเดิมที่เพียงแต่บิณฑบาตเพื่อเลี้ยงชีพ แต่โฟล์คก็ยอมรับความเปลี่ยนแปลงและยืนยันว่าความเปลี่ยนแปลงในชีวิตไม่ใช่อุปสรรคที่จะทำให้เขาหยุดเคลื่อนไหวทางการเมือง
“การสึกออกมาทำให้ผมต้องคิดมากขึ้นในเรื่องการอยู่รอด จากเดิมที่พอถึงเวลาฉันอาหารก็มีคนคอยประเคน มาตอนนี้ต้องคิดเรื่องการหารายได้เพื่อเลี้ยงตัวเอง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความมุ่งมั่นที่ผมอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อชนชั้นล่างเปลี่ยนไป ผมเคยคิดถึงขั้นว่าอยากไปทำงานกับคนเก็บขยะคนกวาดถนนของ กทม. เพราะจะได้ถือโอกาสทำงานจัดตั้งทางการเมืองกับพวกเขา แต่แผนการนี้ผมคงต้องพับไว้ก่อนเพราะเฉพาะหน้านี้ผมอยากจะเรียนให้จบเอาปริญญากลับไปฝากย่าของผมเสียก่อน ย่าผมหวังจะได้เห็นใบปริญญาของผมซึ่งจะเป็นใบแรกของครอบครัวและย่าผมก็อายุมากแล้ว ถ้าทำเรื่องนี้ได้ผมก็จะหมดห่วงและจะทำตามฝันของตัวเองต่อไป”
“ถามว่าสึกออกมาแล้ว ผมเรียนจบด้านศาสนวิทยาจะเอาไปทำงานอะไร ผมคิดว่าคำถามนี้เป็นโจทย์ใหญ่ของสังคมไทยเพราะประเทศเราให้ความสำคัญกับการทำงานด้านวิชาชีพ ด้านเทคนิค แต่ไม่ให้ความสำคัญกับการทำงานด้านความคิดหรือไม่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับมิติทางสังคม ผมเคยได้ยินคนรู้จักที่เป็นหมอบอกกับคนงานตัดอ้อยที่ประสบอุบัติเหตุนิ้วขาดว่าเลิกตัดอ้อยได้ไหม ถ้าหมอมีความนึกคิดด้านสังคมเขาคงไม่ถามคนไข้แบบนั้น เพราะนั่นเป็นวิถีชีวิตของเขา ถ้าไม่ตัดอ้อยจะเอาอะไรกิน เอาอะไรเลี้ยงครอบครัว การแก้ปัญหามันไม่ง่ายแค่การเปลี่ยนอาชีพหรือวิถีชีวิต ผมเลยคิดว่าสิ่งที่ผมเรียนสุดท้ายมันจะสามารถเอาไปปรับ ไปต่อยอดได้”