ชูเกียรติ ‘Justin Thailand’: การต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลงคือภารกิจร่วมของสังคม

ย่ำรุ่งวันที่ 20 กันยายน 2563 ผู้ชุมนุมที่สนามหลวงเตรียมทำพิธีปักหมุดคณะราษฎร 63 ในบรรดานักกิจกรรมที่ยืนล้อมหมุดอยู่บนเวที มีชายสวมแว่นในชุดเสื้อกล้ามเอวลอยสีขาว นุ่งกางเกงวอร์มสีแดงรวมอยู่ด้วย ชายคนดังกล่าวเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้ชุมนุมว่า “จัสติน” จากการที่เขามักมาร่วมชุมนุมในชุดเสื้อเอวลอยกางเกงวอร์ม แบบเดียวกับที่จัสติน บีเบอร์ ศิลปินชาวแคนาดาสวมในภาพถ่ายที่ถูกแชร์กันแพร่หลายในโลกออนไลน์ 
ชูเกียรติซึ่งมีชื่อเล่นจริงๆ ว่านุ๊ก เป็นชาวสมุทรปราการ เขาไม่ได้เป็นคนที่มีพื้นฐานเป็นนักกิจกรรมหรือเคยเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อนในสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องคือหนึ่งในปัจจัยที่ผลักดันให้เขาออกมาร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองในปี 2563 ช่วงกลางวันนุ๊กประกอบอาชีพเป็นช่างสัก ส่วนช่วงกลางคืนเขาหารายได้เสริมด้วยการเล่นดนตรีเป็นมือกลองในวงดนตรีที่เล่นตามร้านอาหาร เมื่อรัฐบาลใช้มาตรการปิดสถานที่เสี่ยงเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเดือนมีนาคม 2563 ร้านอาหารและสถานบันเทิงคือสถานที่แรกๆ ที่ถูกสั่งปิด นักดนตรีจึงเป็นหนึ่งในอาชีพที่ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มต้นๆและได้รับการอนุญาตให้กลับมาประกอบอาชีพเป็นอันดับท้ายๆ ตามมาตรการควบคุมโรค ในเดือนกรกฎาคม 2563 เมื่อมีการจัดชุมนุมที่หอชมเมืองสมุทรปราการ นุ๊กจึงไปร่วมชุมนุมด้วยและได้ขึ้นปราศรัยเรื่องความเดือดร้อนของนักดนตรี 
หลังไปร่วมชุมนุมและขึ้นปราศรัยครั้งแรกที่จังหวัดสมุทรปราการ นุ๊กก็ไปร่วมการชุมนุมในที่อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร การชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิตซึ่งมีการอ่านสิบข้อเรียกร้องเพื่อการปฏิรูปสถาบันเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้นุ๊กตัดสินใจจัดการชุมนุมที่จังหวัดสมุทรปราการด้วยตัวเองในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม 2563 และเขาได้เชิญนักปราศรัยอย่างรุ้ง ปนัสยาและไมค์ ภาณุพงศ์ ให้ไปปราศรัยที่จังหวัดสมุทรปราการด้วย 
ครั้งนั้นนุ๊กซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งคนจัด พิธีกร และคนปราศรัย ปรากฏกายในชุดคร็อปท็อปจนเรียกเสียงฮือฮาจากคนที่ร่วมชุมนุมและหลังจากนั้นเขาก็เป็นที่รู้จักในนาม “จัสติน ไทยแลนด์” หลังจากนั้นนุ๊กก็ร่วมชุมนุมและมีบทบาทเป็นผู้ปราศรัยในการชุมนุมหลายๆ ครั้งจนถูกดำเนินคดีทั้งมาตรา 112 และข้อหาอื่นๆ ก่อนที่เขาจะมาถูกคุมขังเป็นเวลา 72 วัน ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงมิถุนายน 2564 นุ๊กถูกจับกุมเพราะเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเขาเป็นผู้นำกระดาษเขียนข้อความที่อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไปติดที่พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบบริเวณหน้าศาลฎีการะหว่างการชุมนุมของกลุ่ม Redem เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 หลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีเงื่อนไขในเดือนมิถุนายน 2564 นุ๊กตัดสินใจลดบทบาทในการเคลื่อนไหวทั้งด้วยปัญหาสุขภาพและตัวเขาเองก็ตกผลึกบางอย่างหลังเข้าร่วมการชุมนุมซึ่งการเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย มีราคาต้องจ่ายด้วยอิสรภาพของตัวเอง

จังหวะชีวิตในวัยเยาว์

นุ๊กเป็นชาวจังหวัดสมุทรปราการ พ่อของเขาประกอบอาชีพหลายอย่างตั้งแต่เป็นช่างซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ก่อนจะเริ่มผันตัวมาทำธุรกิจรับซื้อของเก่าเพื่อการรีไซเคิลและค่อยๆ สร้างฐานะของตัวเองขึ้นตามลำดับก่อนจะกลายเป็นที่รู้จักในหมู่นักการเมืองท้องถิ่นในภายหลัง ขณะที่แม่ของเขาเคยทำงานในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง ในช่วงที่ให้สัมภาษณ์ (มกราคม 2565) แม่ของนุ๊กเสียชีวิตไปแล้วประมาณสามปี นุ๊กเล่าว่าพ่อกับแม่ของเขาแยกทางกันตั้งแต่เขายังเล็ก ในช่วงที่เป็นเด็กเขาจึงไม่ได้อยู่ที่ใดที่หนึ่งแบบนานๆ ย้ายไปอยู่กับพ่อบ้าง กับยายบ้าง และยังเคยถูกส่งไปเรียนที่อีสานเพราะความ “ดื้อ” ของเขาด้วย
“พ่อกับแม่ของผมแยกทางกันตั้งแต่ผมยังเล็ก ตอนเด็กๆผมเลยต้องอยู่กับยายที่จังหวัดสมุทรปราการ บ้านของยายอยู่ในย่านชุมชนแออัดที่คล้ายๆ สลัมคลองเตย ตั้งแต่เด็กผมเลยได้เห็นอะไรหลายๆ อย่าง เห็นทั้งคนในชุมชนที่ใช้ยาเสพติด เห็นทั้งคนที่พยายามขวนขวายเพื่อสร้างฐานะของตัวเอง เห็นปัญหาความยากจนและอะไรๆ อีกหลายอย่าง แต่เอาจริงๆ ผมก็ไม่ได้อยู่กับยายตลอดหรอกนะ บางช่วงก็ไปอยู่กับพ่อ สลับๆ กันไป”
“อาจจะเพราะด้วยสภาพแวดล้อมในชุมชนที่ผมอยู่ ช่วงที่เรียนอยู่ ม.1 ผมเคยลองใช้ยาอยู่เหมือนกันคือตอนนั้นมันเป็นช่วงที่ผมเป็นวัยรุ่นแล้วก็ติดเพื่อน แต่ผมก็ไม่ได้ลองยาจนถึงขั้นติดนะ ทีนี้ที่บ้านคงเห็นว่าผมดื้อแล้วก็ติดเพื่อน ผมยังไม่ทันเรียนจบ ม.3 พ่อก็ส่งผมไปอยู่กับปู่ที่จังหวัดนครพนม แล้วตอนหลังผมก็ได้ไปเรียนเทคนิคที่นั่น รวมๆ แล้วก็อยู่ที่อีสานประมาณสามปีก่อนจะกลับมาสมุทรปราการ” 
“ถ้าให้นิยามตัวเอง สมัยเด็กๆ ก็ยอมรับว่าผมดื้อแล้วก็เกเรระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่เกเรจนเสียผู้เสียคน คือไอ้เรื่องการเรียนหรือวิชาการผมก็ไม่ได้เก่งอะไร แต่ผมสนใจทำกิจกรรมมากกว่า โดยเฉพาะกิจกรรมด้านดนตรี ตอนที่เรียน ม.ต้น ผมเคยไปเล่นดนตรีไทยเป็นคนตีฉาบกับตีกลองแขก นอกจากเล่นดนตรีไทยผมก็เคยไปเล่นวงโยฯด้วย ไม่รู้สิ ผมเป็นคนที่รักดนตรี รู้สึกว่าเวลาเล่นดนตรีแล้วมันผ่อนคลาย จากนั้นผมก็ไปเรียนมหาวิทยาลัยที่ราชภัฏจันทรเกษม ผมเลือกเรียนวิชาดนตรีในภาคพิเศษ ช่วงที่เรียนมหาลัยผมก็เริ่มตีกลองชุดแล้วตอนหลังผมเอาทักษะการตีกลองชุดของผมไปหารายได้พิเศษด้วยการเล่นดนตรีกับเพื่อนๆ ตามร้านอาหารหารายได้พิเศษ จนสุดท้ายพอมีโควิดแล้วรัฐบาลสั่งปิดร้านอาหารกับผับ ผมกับเพื่อนร่วมอาชีพก็เดือดร้อนเพราะขาดรายได้ การขึ้นปราศรัยครั้งแรกของผมก็เป็นการพูดถึงความเดือดร้อนของนักดนตรีและเรียกร้องให้มีการเยียวยา”

จากสักประชดพ่อสู่ตัวตนและอาชีพ

นอกจากการแต่งตัวไปร่วมการชุมนุมในลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว สิ่งหนึ่งที่น่าจะทำให้ผู้คนจดจำนุ๊กได้คงไม่พ้นรอยสักบนตัวเขาที่มีอยู่หลายจุดและรอยสักบางรอยก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจ อย่างรอยสักรูปใบหน้าผู้หญิงคนหนึ่งที่อยู่บนแขนขวาของเขาซึ่งนุ๊กระบุว่าคนที่ได้พบเห็นมักถามเขาเป็นประจำว่าคนในรอยสักคือใคร เป็นแฟนเขาใช่หรือไม่ 
นุ๊กเล่าว่าเอาเข้าจริงตัวเขาเองก็ไม่เคยคิดว่าสุดท้ายจะมาประกอบอาชีพเป็นช่างสัก ตอนแรกเขาแค่ได้ไปคลุกคลีกับเพื่อนที่สักลายและตัดสินใจสักเพื่อประชดพ่อเท่านั้น แต่หลังจากคลุกคลีกับเพื่อนบ่อยเข้าเขาก็ตัดสินใจขอลองเป็นคนสักเองและพบว่าตัวเขาทำได้ดี สุดท้ายเขาเลยค่อยๆ ฝึกปรือฝีมือตัวเองจนยึดอาชีพช่างสักเป็นอาชีพเรื่อยมา
“อย่างที่เล่าให้ฟังว่าสมัยวัยรุ่นผมค่อนข้างเกเร ทีนี้มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมทะเลาะกับพ่อก็เลยสักลายประชดพ่อไปเสียเลย ตอนแรกผมก็ไม่ได้คิดว่าจะเอาดีทางนี้หรอก แต่พอเราไปคลุกคลีกับเพื่อนที่เขาทำงานสักอยู่บ่อยๆ เราก็เลยอยากลองบ้าง ตอนแรกๆ ก็ไปเป็นแบบให้เขาสัก หลังๆ ก็ขอลองเป็นสักคนอื่นบ้าง อาจจะเพราะผมเองมีหัวทางศิลปะผมก็เลยเรียนรู้การทำงานสักได้เร็ว ทำไปสักพักผมก็รู้สึกชอบนะเพราะการทำงานสักมันเหมือนผมได้อยู่กับตัวเอง เวลาทำงานสักใจผมจะสงบและนิ่งเป็นพิเศษ”
“ลายที่น่าจะมีคนถามเข้ามาเยอะคงเป็นลายใบหน้าผู้หญิงบนแขนขวาผมเนี่ย คนชอบถามผมว่าแฟนเหรอ ซึ่งไม่ใช่นะ เธอคนนี้เป็นเพื่อนของผมสมัยเรียนมัธยม เอาจริงๆ ผมก็แอบปลื้มเธออยู่แต่ก็ไม่เคยได้บอกความในใจไป แล้วตอนหลังเราก็แยกย้ายกันไป”
“ผมเพิ่งได้เจอกับเธอเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ตอนหลังเธอมีครอบครัวไปแล้ว ได้แฟนเป็นคนออสเตรเลียแล้วก็ย้ายไปอยู่เมืองนอก ครั้งหนึ่งเธอกลับมาเมืองไทยแล้วมาสักกับผม ผมถึงได้เล่าให้เธอฟังว่าสมัยเรียนผมแอบปลื้มเธออยู่แล้วผมก็ขอสักรูปใบหน้าเธอเอาไว้ เพราะสมัยที่เรียนอยู่ด้วยกัน เธอมักจะคอยให้คำปรึกษา ให้กำลังใจผมในวันที่ผมแย่ ผมเลยขอสักหน้าเธอไว้แทนความรู้สึกดีๆ แล้วก็เป็นเครื่องระลึกถึงว่าในช่วงที่ผมแย่เธอคนนี้เป็นคนที่คอยฉุดผมขึ้นมา”
“ถ้านับถึงตอนนี้ (มกราคม 2565) ผมก็ทำอาชีพสักมาได้ประมาณสี่ปีแล้ว ก่อนที่จะมีโควิดผมคิดว่าเฉพาะงานสักนี่ผมก็มีรายได้ดีพอตัว บางสัปดาห์ได้เงินประมาณห้าถึงหกพันบาท บางทีมากกว่านั้น ยิ่งรวมกับที่ผมเล่นดนตรีตอนกลางคืนกับเพื่อนรวมๆ กันผมก็เคยได้ถึงเดือนละประมาณสามหมื่นอยู่นะ แต่พอโควิดมาเศรษฐกิจแย่ ลูกค้าก็หดหาย ยิ่งผมมีคดีการเมืองหลายคดีต้องไปโรงพัก ไปศาล เสียโอกาสทำมาหากินไปก็ไม่น้อย”

จากปัญหาปากท้องสู่ประเด็นโครงสร้าง กว่าจะเป็น “จัสตินไทยแลนด์” 

ในช่วงต้นของบทสนทนา วิถีชีวิตของนุ๊กดูจะแตกต่างจากนักกิจกรรมอีกหลายๆ คนที่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงปี 2563 ถึง 2564 ที่บางคนสนใจการเมืองตั้งแต่ช่วงที่ศึกษาระดับปริญญาตรีหรือบางคนเริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่ศึกษาในระดับมัธยมปลาย นุ๊กเพิ่งมาสนใจการเมืองหลังเรียนจบและเป็นคนทำงานแล้ว นอกจากนั้นเขาเองก็ไม่ได้สนใจประเด็นการเมืองเชิงโครงสร้างมาก่อน ทว่าสิ่งที่ผลักดันให้เขาออกมาเคลื่อนไหวเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาล
“ผมไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองมาก่อนนะ อย่างเรื่องปัญหาเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์นี่ผมก็ไม่เคยสนใจมาก่อน จะเสื้อแดงเสื้อเหลืองอะไรผมก็ไม่เคยสนใจ ถ้าจะมีเรื่องที่ผมไม่เห็นด้วยหรือไม่พอใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองก็คงเป็นเรื่องการใช้กำลังสลายการชุมนุมในปี 2553 ซึ่งตัวผมในตอนนั้นแม้จะไม่ได้สนใจการเมือง ไม่รู้อะไรคือเสื้อเหลืองเสื้อแดง แต่ผมก็ไม่พอใจการใช้กำลังฆ่าฟันกัน ผมไม่เข้าใจว่าทำไมการที่คนออกมาเรียกร้องอะไรบางอย่างจะต้องเป็นเหตุให้ถูกทำร้ายจนถึงแก่ชีวิต”
“ช่วงหลังปี 2557 หรือ 2558 จำไม่ได้แล้วว่าปีไหน พ่อผมที่เริ่มสร้างฐานะจากการเป็นช่างซ่อมรถ มาจับธุรกิจรับซื้อของเก่า เริ่มเป็นที่รู้จักของนักการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดสมุทรปราการ นักการเมืองพวกนี้จะแวะมาคุยกับพ่อของผมเป็นระยะ จนสุดท้ายพ่อผมก็เริ่มสนใจการเมืองท้องถิ่น พอผมไปหาแกที่บ้านแกก็มักจะชวนคุยเรื่องที่แกคุยกับคนนั้นคนนี้จนผมซึมซับความสนใจการเมืองโดยไม่รู้ตัว”
“พอมาถึงปี 2563 เริ่มมีการชุมนุมหลังยุบพรรคอนาคตใหม่ ช่วงแรกผมก็ยังไม่ได้ออกมาร่วม กระทั่งช่วงหลังมีการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกในเดือนกรกฎาคม แล้วก็มีการจัดการชุมนุมกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ รวมทั้งที่สมุทรปราการ ผมเลยออกมาร่วมชุมนุมที่หอชมเมืองสมุทรปราการเป็นครั้งแรก แล้วก็ได้ขึ้นปราศรัยเลย พอดีตอนนั้นคนจัดชุมนุมเขาเปิดให้ใครขึ้นไปปราศรัยอะไรก็ได้ ผมเห็นว่าตอนนั้นไม่มีใครพูดเรื่องความเดือดร้อนของนักดนตรีก็เลยขอขึ้นไปพูด อารมณ์ตอนนั้นเหมือนเราแบกความหวังของหมู่บ้าน ของเพื่อนร่วมอาชีพขึ้นไปพูด”
“หลังไปร่วมชุมนุมครั้งแรกที่สมุทรปราการ ผมก็เริ่มไปร่วมชุมนุมที่อื่นต่ออีกหลายๆ ครั้ง จนได้รู้จักกับแกนนำหลายๆ คน คนแรกที่ผมสนิทด้วยคือไมค์ ภาณุพงศ์ ทีนี้พอถึงเดือนสิงหาคม (2563) ก็มีการชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์ที่มีการปราศรัยทะลุเพดานผมก็ไปร่วม และหลังจากนั้นก็รู้สึกว่าอยากจัดม็อบเอง สุดท้ายผมเลยคุยกับรุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) เพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) และพี่สมยศ (สมยศ พฤกษาเกษมสุข) อยากให้เขามาขึ้นเวทีที่สมุทรปราการ”
“ผมมาจัดม็อบเองครั้งแรกในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคมปี 2563 ผมทำแทบจะทุกอย่างด้วยตัวเอง ตั้งแต่หาคนมาพูด เป็นพิธีกร รันเวที ปราศรัย รวมถึงติดต่อหาเครื่องเสียงต่างๆ ถ้าถามว่าจัดม็อบเองยากไหม ผมคิดว่าไม่เท่าไหร่นะ เพราะหลายๆ คนก็พร้อมมาพูดหรือมาช่วยทำเรื่องอื่นๆ ส่วนเรื่องเครื่องเสียงอย่างที่บอกไปตอนต้นว่าพ่อผมเขาเริ่มสนใจจะเล่นการเมืองท้องถิ่น ผมเลยพอรู้จักคนทำรถเครื่องเสียงอยู่บ้าง  ตอนจัดม็อบครั้งนั้นหนึ่งในความตั้งใจของผมคือทำให้คนกล้าพูด กล้าแสดงออกในเรื่องที่มันเคยถูกปิดไว้มาก่อน ช่วงนั้นกระแส “จัสติน” มันกำลังดัง ผมเลยเตรียมชุดคล้ายๆ ชุดที่จัสตินบีเบอร์ใส่ไปขึ้นเวที คนก็ฮือฮากันใหญ่ว่าจัสตินๆ แล้วหลังจากนั้นก็กลายเป็นว่ามีแต่คนเรียกผมว่าจัสตินแทนที่จะเรียกชื่อเล่นจริงๆ ของผม”   
“ผมคิดว่าการตัดสินใจแต่งตัวเป็นจัสตินครั้งนั้นมันประสบความสำเร็จนะ เพราะคนเอาไปพูดต่อกัน สำหรับบางคนการพูดถึงคนที่แต่งตัวคล้ายๆ จัสติน บีเบอร์โดยตรงอาจเป็นเรื่องยาก แต่พอให้พูดถึงจัสตินทุกคนก็พูดกันได้อย่างเต็มที่และไม่กลัว”

สิ้นอิสรภาพ

หลังนุ๊กเริ่มแต่งตัวเป็น จัสติน บีเบอร์ เขากลายเป็นที่รู้จักในหมู่สาธารณชนมากขึ้น และต้องขึ้นปราศรัยในเวทีใหญ่บ่อยขึ้น บทบาทในขบวนที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้นุ๊กถูกจับตาจากเจ้าหน้าที่มากขึ้นเช่นกัน จนสุดท้ายเขาเริ่มถูกดำเนินคดีเหมือนแกนนำคนอื่นๆ ด้วยลีลาการปราศรัยที่เผ็ดร้อนและเรียกเสียงฮือฮาได้เป็นระยะ นุ๊กถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการพูดพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์รวมสี่คดี ได้แก่ คดีการปราศรัยที่สถานีรถไฟฟ้าท่าพระ คดีการปราศรัยที่วงเวียนใหญ่ คดีการปราศรัยที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคดีติดป้ายกระดาษเอสี่ที่พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่สิบที่หน้าอาคารศาลฏีกา นอกจากนั้นเขายังถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอื่นๆ ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จากการร่วมชุมนุมครั้งอื่นๆ ด้วย อาทิ การชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร 
ในการออกมาเคลื่อนไหว นุ๊กไม่เพียงต้องจ่ายราคาเป็นการถูกดำเนินคดี อิสรภาพเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เขาต้องจ่ายไป หลังเขาไปร่วมชุมนุมกับกลุ่ม Re-Dem ที่สนามหลวงในเดือนมีนาคม 2564 ได้เพียงสามวัน เขาก็ถูกจับกุมตัวและคุมขังหลังถูกกล่าวหาว่านำกระดาษที่เขียนข้อความเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 ไปติดที่พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบหน้าศาลฏีกา
“หลังผมเคลื่อนไหวจริงจังมากขึ้นผมก็ได้รู้จักน้องๆ ที่เป็นแกนนำหลายคน ไม่ว่าจะเป็นรุ้ง เพนกวิน หรือคนอื่นๆ พวกเราเองก็เคยมีการพูดคุยแซวกันเล่นๆ เหมือนกันนะว่าใครจะโดนก่อน ผมเองก็ไม่ได้คิดว่าใครจะโดนคดีจริงๆ หรอกนะ เพราะผมคิดว่าพวกเราไม่ได้ทำอะไรผิด ถ้าพูดกันในบริบทโลกยุคปัจจุบัน ไปดูประเทศอื่นๆ อย่างอังกฤษหรืออย่างสเปนที่มีพระมหากษัตริย์จะเห็นได้ว่าที่นั่นไม่ว่าจะเป็นการวิจารณ์ เสียดสี หรือกระทั่งการล้อเลียน ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่ผมคงมองโลกในแง่ดีเกินไป”
“ก่อนที่ผมจะขึ้นปราศรัย ผมก็รู้อยู่ว่ามันมีมาตรา 112 แต่หลังจากอ่านและหาข้อมูลเรื่องต่างๆ มากขึ้นผมก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมเราต้องกลัวมาตรา 112 เพราะ 112 มันเป็นแค่กฎหมายที่ใช้คุ้มครองบุคคลหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ผมก็เลยเลือกที่จะพูดสิ่งที่เชื่อว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี แต่สุดท้ายก็กลายเป็นว่าผมถูกดำเนินคดีจนถึงขั้นต้องติดคุก”
“วันที่ถูกจับผมเพิ่งไลฟ์เฟซบุ๊กพูดเรื่องการเมืองที่คอนโดเก่าของผม พอไลฟ์เสร็จผมก็กะว่าเดี๋ยวจะลงไปหาอะไรกิน พอลงจากคอนโดก็เกมเลย ตำรวจมารอแล้ว เอาจริงๆ คนที่มาจับผม ผมก็คุ้นหน้าเขานะเพราะตำรวจบางคนก็เคยมาคุยหรือมาเตะฟุตบอลกับพ่อของผม ก็ตามสเต็ปตำรวจบอกว่าเข้าใจกันนะ พี่ทำตามหน้าที่”
“ผมถูกเอาตัวขึ้นรถโดยที่ยังไม่ได้กินข้าว หลังถูกจับผมก็รีบโพสต์บนเฟซบุ๊กบอกคนอื่นๆ ว่าผมเกมแล้ว กำลังถูกพาไปที่ สน.ชนะสงคราม พอตำรวจรู้ว่าผมโพสต์ข้อความไปเขาก็เถียงกันเองว่าทำไมไม่ยึดโทรศัพท์ผม เสร็จแล้วเขาก็คุยกับนายแล้วก็เปลี่ยนจุดหมายปลายทางพาผมไปที่ สน.ห้วยขวางแทน” 
“พอไปถึง สน. ผมก็เถียงกับตำรวจ พวกตำรวจพยายามกล่อมให้ผมใช้ทนายที่เขาเตรียมไว้ให้ ผมก็บอกเขาไปว่าเฮ้ยทำอย่างงี้ไม่ได้ ผมมีสิทธิเลือกทนายเอง ตำรวจก็พูดทำนองว่าใช้ทนายของพวกเขาไปก่อนเพราะยังไงๆ ผมก็คงให้การปฏิเสธอยู่แล้ว แต่ผมก็ยืนยันไปว่าผมไม่เอา สุดท้ายคืนนั้นตำรวจเลยยังไม่ได้สอบสวน ตัวผมเองก็ถูกเอาไปไว้ในห้องขัง”
“มันโดดเดี่ยวนะ เพราะตอนแรกตำรวจพาผมมาที่สน.ห้วยขวางตำรวจไม่ให้โอกาสผมติดต่อญาติหรือทนาย แต่ช่วงประมาณตีหนึ่งผมได้ยินเสียงคนร้องเพลง ผมก็เริ่มอุ่นใจว่าคนข้างนอกตามตัวผมเจอแล้ว พอรุ่งเช้าส.ส.เบญจา (เบญจา แสงจันทร์) ก็มาเพื่อช่วยเดินเรื่องประกันตัว แต่สุดท้ายผมก็ไม่ได้ประกันตัว”

เข้าเรือนจำ ติดโควิด 

หลังถูกจับกุมตัวในวันที่ 22 มีนาคม 2564 นุ๊กก็ไม่มีโอกาสได้รับอิสรภาพอีกเลย จนกระทั่งมาได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในวันที่ 2 มิถุนายน 2564 รวมระยะเวลาถูกคุมขัง 72 วัน หรือสองเดือนเศษ สำหรับคนปกติ ระยะเวลาสองเดือนอาจจะดูเป็นเวลาที่ไม่นานนัก ยิ่งหากเป็นคนที่มีหน้าที่การงานรัดตัว เวลาในแต่ละวันอาจจะผ่านไปอย่างรวดเร็วจนรู้สึกว่าไม่สามารถจัดการภารกิจการงานได้ทัน แต่สำหรับคนที่ถูกคุมขังในเรือนจำกว่าที่เวลาจะผ่านไปแต่ละนาทีมันดูจะนานเป็นสองเท่าจากเวลาข้างนอก นุ๊กยอมรับว่าสองเดือนในเรือนจำถือเป็นช่วงเวลาที่ตกต่ำที่สุดในชีวิตของเขา ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่การสูญเสียอิสรภาพหรือเสียโอกาสทำมาหากิน แต่การที่เขาติดโควิดระหว่างถูกคุมขังยังทำให้เขาถูกแยกตัวไปขังเดี่ยวจนอาการป่วยด้วยโรคซึมเศร้าได้หวนกลับมาทำร้ายเขาอีกครั้ง    
“ชีวิตในเรือนจำมันเป็นประสบการณ์ที่แย่มาก ห้องขังจะเปิดไฟไว้ทั้งคืนทำให้ผมนอนไม่ค่อยหลับ เรื่องอาหารการกินไม่ต้องพูดถึงก็เป็นไปตามสภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณไม่มีเงิน ไม่มีญาติ ข้าวจะแข็ง ผักจะเหม็นเขียว คุณก็ต้องกินไป ช่วงก่อนป่วยโควิดสถานการณ์ของผมยังไม่ถือว่าเลวร้ายจนเกินไปเพราะยังถูกขังรวมกับเพื่อนๆ ในห้องขังก็ยังมีทีวีดูทำให้พอมีอะไรฆ่าเวลาไปบ้าง ตอนนั้นผมถูกขังห้องเดียวกับทนายอานนท์ (อานนท์ นำภา) พี่สมยศ (สมยศ พฤกษาเกษมสุข) แอมมี (ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์) ไผ่ (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) แล้วก็นักโทษการเมืองคนอื่นๆ ทีนี้พอถึงช่วงเดือนเมษายนผมเริ่มมีอาการป่วย มีไข้ ตัวร้อน พี่สมยศก็บอกผมว่าอาจจะเป็นไข้คุก” 
“คือในเรือนจำมันก็มีวัดไข้เพื่อการคัดกรองอาการเบื้องต้นอยู่หรอก แต่เพราะอากาศในเรือนจำมันร้อน บางทีผู้ช่วยผู้คุมซึ่งก็เป็นนักโทษเขาก็ให้คนที่วัดไข้ด้วยวิธียิงหน้าผากแล้วไม่ผ่าน อุณหภูมิสูงเกินเกณฑ์ไปเอาน้ำลูบหน้าแล้วมาวัดไข้ใหม่ มันก็คงยากที่จะคัดกรองอะไรได้ จนคำ่วันหนึ่งอาการผมหนักขึ้นทนายอานนท์ก็ถามว่าไหวไหม พอผมบอกว่าไม่ไหวเขาก็กดออดเรียกผู้คุมช่วงกลางคืนเลย ผมได้ไปเจอหมอ หมอก็บอกว่าน่าจะเป็นไข้ฝีเพราะตอนนั้นผมมีฝีขึ้นที่หลัง แล้วหมอก็ให้ยามากิน ผมก็ไม่ดีขึ้น ทีนี้ลิ้นผมเริ่มไม่รู้รส ผมลองเอาน้ำพริกเผ็ดๆมากินก็ปรากฎว่าไม่มีรสชาติเลย แล้วจมูกก็ไม่ได้กลิ่น ผมถึงได้ไปตรวจโควิดแล้วก็เกมเลย วันที่ผมได้รับการยืนยันว่าเป็นโควิดคือหนึ่งวันหลังจากที่ไผ่และพี่สมยศได้รับการปล่อยตัวออกไป”
“หลังผมได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อผมก็ถูกแยกไปขังที่อื่น ช่วงนั้นโรงพยาบาลสนามยังสร้างไม่เสร็จ นักโทษที่ติดโควิดทั้งหมดจะถูกเอาตัวไปขังในห้องขังเดี่ยว ช่วงนั้นเป็นช่วงที่แย่มาก ห้องขังเดี่ยวมันเป็นห้องขนาดเล็กประมาณสามถึงสี่ตารางเมตร ผนังด้านข้างห้องเป็นผนังทึบ หลังห้องมีช่องระบายอากาศเล็กๆ หน้าห้องเป็นประตูลูกกรง ผมต้องอยู่ในห้องนั้นตลอด 24 ชั่วโมง ในห้องขังไม่มีอะไรนอกจากพัดลม ไม่มีทีวีดู การต้องอยู่ในสภาพแบบนั้นประมาณเกือบๆ สามอาทิตย์มันทำให้ผมแทบเป็นบ้าจนเคยคิดฆ่าตัวตายหลายครั้ง จนสุดท้ายผมต้องขอกระดาษจากผู้คุมมาเขียนหนังสือร้องเรียนไปถึงผู้บัญชาการเรือนจำ จนสุดท้ายเขาก็ส่งนักจิตวิทยามาพูดคุยกับผมเป็นระยะและรองผู้บัญชาการเรือนจำก็มาเยี่ยมผม ผมอยู่ที่ห้องขังเดี่ยวนี้จนกระทั่งได้รับการประกันตัวออกจากเรือนจำ”
“สำหรับเรื่องการยอมรับเงื่อนไขประกัน เป็นการพูดคุยร่วมกันในหมู่พวกเรา เพราะปกติเวลาจะยื่นประกันทนายความก็จะยื่นเป็นเซตพร้อมๆ กันอยู่แล้ว ตอนแรกที่มีเรื่องเงื่อนไขเข้ามาทุกคนก็ยังไม่ได้ตัดสินใจอะไรกัน แต่พอพี่สมยศออก ไผ่ออก คนอื่นๆ ก็เลยทยอยยอมรับเงื่อนไขแล้วออกตามกันไปเพราะถ้าไม่รับยังไงพวกเราก็คงไม่ได้ออก อีกอย่างการติดอยู่ในเรือนจำมันไม่มีประโยชน์อะไรเลยนอกจากเสียเวลา ถ้าพวกเรายอมรับเงื่อนไขบางอย่างแล้วออกไปเราก็คงยังพอทำอะไรได้บ้าง ทุกคนเลยตัดสินใจรับเงื่อนไขกัน”

ความคิดที่ตกผลึก

แม้นุ๊กจะได้รับการปล่อยตัวออกมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 แล้ว แต่เวลาสองเดือนในเรือนจำก็เปลี่ยนชีวิตเขาไปจนยากที่จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม ประการแรก แม้จะไม่ถูกคุมขังแต่เขาก็กลายเป็นบุคคลที่ถูกฝ่ายรัฐหมายหัวไปแล้วและมักมีคนแปลกหน้าไปติดตามเขาที่บ้านเป็นระยะโดยเฉพาะช่วงใกล้มีม็อบ สุดท้ายนุ๊กจำใจต้องย้ายที่อยู่ ประการต่อมา แม้เขาจะถูกคุมขังเพียงสองเดือนซึ่งยังถือเป็นเวลาที่สั้นเมื่อเทียบกับจำเลยคนอื่นๆ เช่น ทนายอานนท์ และ เพนกิน ที่ถูกคุมขังอีกครั้งในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 และอยู่ในเรือนจำยาวมาจนถึงปัจจุบัน (มกราคม 2565) แต่ระยะเวลาเท่านั้นก็พอแล้วที่จะเปลี่ยนชีวิตนุ๊กไปตลอด อาการป่วยด้วยโรคซึมเศร้าของเขากำเริบอีกครั้งหลังต้องเข้าไปพบกับสภาพที่เลวร้ายในเรือนจำ ไม่เพียงเท่านั้นจำนวนคดีที่รุมเร้าก็ทำให้เขาต้องสูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพและรายได้ เรื่องราวทั้งหลายทำให้นุ๊กตกผลึกอะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับตำแหน่งแห่งที่ของเขาในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย
“หลังผมได้ประกันตัว มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปคุกคามผมที่คอนโดเก่าเป็นระยะ ครั้งหนึ่งคือช่วงก่อนมีม็อบอะไรสักอย่างเขาเข้าไปค้นห้องผม หนึ่งวันก่อนหน้าที่ตำรวจจะมามีคนแต่งตัวชุดช่างประปาคนหนึ่งมาเคาะห้องบอกว่าจะขอเข้ามาดูน้ำรั่ว ผมก็ไม่ให้เข้าเพราะปกติถ้าเป็นช่างของคอนโด นิติจะต้องโทรมาบอกก่อน ไม่ใช่ให้ช่างดุ่มๆ มาเคาะห้องเลย แล้วพอผมถามนิติ ที่แรกเขาก็บอกว่าไม่รู้เรื่อง ก่อนที่นิติจะมาบอกผมตอนหลังว่าคนที่มาเคาะห้องเป็นช่างใหม่ยังไม่ได้รับการอบรมเรื่องการทำงานซึ่งผมก็โวยไปว่ามันไม่ใช่ สุดท้ายวันรุ่งขึ้นตำรวจก็มา ผมเดาว่าคนที่บอกว่าตัวเองเป็นช่างจริงๆ ก็เป็นพวกนอกเครื่องแบบนั่นแหละ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ผมตัดสินใจย้ายคอนโดเก่าเพราะคิดว่าทางคอนโดไม่มีความพยายามที่จะรักษาความปลอดภัยหรือสิทธิในความเป็นส่วนตัวของผมมากพอ”
“ชีวิตผมหลังออกจากคุกเปลี่ยนไปเยอะเลยนะ ในช่วงที่ผมออกมาเคลื่อนไหวหนักๆปี 63 ถีง 64 ก่อนติดคุก ผมเอาเงินเก็บมาใช้ในการเคลื่อนไหวเยอะมาก คือมันมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมไปม็อบถี่ๆ แล้วโดนเจ้าหน้าที่ตาม ผมกังวลเรื่องความปลอดภัยเลยเช่าโรงแรมนอนแล้วย้ายไปเรื่อยๆ ไม่ได้กลับบ้าน แล้วก็ยังเดินทางไปช่วยม็อบตามต่างจังหวัดบ้างบางโอกาส ตรงนั้นก็ใช้เงินไปพอสมควร พอออกจากเรือนจำเงินที่เคยเก็บได้หายไปเยอะ แล้วสภาพเศรษฐกิจก็ไม่ดีเพราะการบริหารที่ล้มเหลวของรัฐทำให้คนไม่มีกำลังซื้อ ลูกค้าผมเลยหายไปเยอะ”
“ช่วงนี้คดีของผมหลายคดีก็ทยอยเข้าสู่ศาล บางอาทิตย์ต้องเวียนไปตำรวจ อัยการ ศาล ทั้งอาทิตย์จนไม่สามารถรับลูกค้าได้ ลูกค้าบางคนติดต่อมาผมก็ต้องปฏิเสธ หรือบางคนนัดไว้แล้วอัยการหรือทนายโทรตามด่วนผมก็ต้องโทรไปยกเลิกเขา”
“คนจะมาสักมันก็เหมือนคุณกำเงินไปซื้อของอย่างหนึ่งอาจจะเป็นกางเกง ถ้าวันนั้นคุณตั้งใจจะไปซื้อแล้วร้านแรกที่คุณไปมันไม่มีคุณก็ไม่รอของมาหรอก คุณไปหาร้านอื่น คนจะสักก็เหมือนกัน ถ้าผมปฏิเสธลูกค้าว่าผมไม่ว่างเขาก็แค่ย้ายไปสักเจ้าอื่น ทั้งนัดศาล ทั้งกำลังซื้อของลูกค้าที่ลดลง ผมคิดว่ารายได้ของผมตอนนี้เหลือไม่ถึงครึ่งของที่ผมเคยหาได้ก่อนเข้าคุก ตึงมือไปหมด โชคยังดีที่สุดท้ายพ่อผมยังมีธุรกิจครอบครัว ถ้าเดือดร้อนจริงๆ ก็ยังไปของานพ่อทำได้ แต่ถ้าเป็นคนอื่นที่ออกมาเคลื่อนไหวแล้วเจออย่างผมคงลำบาก”
“จากนี้ไปผมคงต้องทบทวนบทบาทของตัวเองในการเคลื่อนไหวใหม่ ไม่ใช่ผมหมดศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่ผมคิดว่าจากนี้ผมอาจจะต้องทบทวนบทบาทของตัวเองใหม่ ต้องให้เวลากับตัวเองมากขึ้นโดยเฉพาะเวลารักษาสุขภาพตัวเองหลังจากภูมิแพ้และโรคซึมเศร้ากำเริบช่วงติดคุก”
“วันที่ผมหยิบชุดจัสตินมาสวม ผมหวังอย่างเดียวว่ามันจะทำให้คนที่ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ได้มีโอกาสพูดอะไรบางอย่างออกมา ซึ่งผมคิดว่าวันนั้น “จัสติน” ได้ทำหน้าที่ของมันไปแล้ว คนฮือฮา คนเอาไปพูดต่อ คนแชร์กันต่อๆ ไป แต่มาวันนี้ถ้าผมจะเอาชุดจัสตินมาสวมอีกมันก็คงจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแล้ว คนอาจจะพูดจะแซวกัน เฮกันแล้วจบแค่นั้น”
“คนที่เคยเป็นแกนนำหลายคนทุ่มอะไรหลายๆ อย่างไปกับการต่อสู้ครั้งนี้เพราะเขาหวังจะเห็นความเปลี่ยนแปลง หลายๆ คนก็มีราคาที่ต้องจ่าย ทนายอานนท์ ต้องติดคุก ไม่ได้ทำหน้าที่ทนายช่วยเหลือคน ไม่ได้ดูแลลูกดูแลแม่ของเขา ไมค์ก็ต้องติดคุกไม่ได้อยู่ดูแลแม่ เพนกวิน เบนจา รุ้ง ก็ยังมีภาระการเรียน ทุกคนมีภาระ มีหน้าที่ส่วนตัว แต่พวกเขาก็ออกมาพูด เพราะหวังจะจุดประกายให้คนอื่นๆ ออกมาพูดต่อๆ กันไป ถ้าคนยิ่งออกมาพูดเยอะ ออกมาแสดงความคิดเห็นเยอะ คนที่ถูกหมายหัวว่าเป็นแกนนำก็จะปลอดภัยมากขึ้น”
“ผมไม่อยากให้ทุกคนรอแค่พวกเราให้ออกไปพูดเพียงไม่กี่คน ผมเชื่อว่าถ้าทุกคนมีความกล้าและกล้าที่จะพูดเหมือนพวกเรา สิ่งที่พวกเราฝันไว้ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม ชัยชนะจะเป็นของประชาชนอย่างเราโดยสมบูรณ์แบบแน่นอน อย่าปล่อยให้เพื่อนเรา ต้องทำอยู่ฝ่ายเดียวเราจงออกมายืนเคียงข้างกันปกป้องกันและสู้ไปด้วยกัน ผมเชื่อว่าทุกคนทำได้เหมือนกับพวกเราที่กล้าออกมาพูดถึงความจริงและเรียกร้องถึงอนาคตของเรา ทุกการต่อสู้มันคือการรับผิดชอบร่วมกันไม่ใช่แค่เพียงคนกลุ่มใดกลุ่มนึงแต่มันเป็นของทุกคนที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันเพราะเสียงของเรามันเท่ากัน”