ตำรวจยึดมือถือได้หรือไม่ บังคับเอาพาสเวิร์ดได้หรือไม่

ในการจับกุมตัวผู้ต้องหาเพื่อดำเนินคดีในคดีอาญาทั่วไป ตำรวจจะต้องแสวงหาพยานหลักฐานที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้นๆ ประกอบด้วยเสมอ อย่างไรก็ดี ในกรณีส่วนใหญ่ตำรวจจะไม่ขอยึดโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหา หรือผู้ถูกจับกุม ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นจริงๆ แต่ในการจับกุมตัวผู้ต้องหาเพื่อดำเนินคดีทางการเมือง หลายครั้งตำรวจไม่ต้องการให้ผู้ถูกจับกุมบันทึกภาพหรือวิดีโอระหว่างการจับกุม หรืออาจต้องการข้อมูลอื่นๆ ประกอบเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง จึงใช้อำนาจ “ยึด” โทรศัพท์มือถือของผู้ถูกจับกุม ทั้งการใช้กำลังเข้ายึด และการบอกให้ส่งมอบโทรศัพท์มือถือให้
และหลายกรณีเมื่อตำรวจจับกุมตัวผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อต้องการหาข้อมูลการเคลื่อนไหว ก็จะบังคับให้ผู้ถูกจับยอมใส่รหัสผ่านให้ตำรวจเข้าถึงข้อมูลและเข้าใช้โทรศัพท์มือถือเครื่องนั้นๆ เพื่อขยายวงหาข้อมูลเชื่อมโยงไปยังคนที่อาจมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมทางการเมืองคนอื่นๆ ต่อไป
อำนาจการแสวงหาพยานหลักฐานของตำรวจจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ ไอแพด เครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อื่นในลักษณะเดียวกัน มีกฎหมายให้อำนาจตำรวจสามารถทำได้ แต่ต้องทำอย่างระมัดระวังเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนด้วย โดยที่ตำรวจสามารถค้น ยึด และเข้าถึงข้อมูลได้ภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ ดังนี้

ถ้ามือถืออยู่กับตัวคนถูกจับ ยึดได้ และต้องทำอย่างสุภาพ

การยึดสิ่งของต่างๆ จากผู้ถูกจับกุม มีหลักเกณฑ์เขียนไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 ดังนี้
มาตรา 85 เจ้าพนักงานผู้จับหรือรับตัวผู้ถูกจับไว้ มีอำนาจค้นตัวผู้ต้องหาและยึดสิ่งของต่างๆ ที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ 
การค้นนั้นจักต้องทำโดยสุภาพ ถ้าค้นผู้หญิงต้องให้หญิงอื่นเป็นผู้ค้น
สิ่งของใดที่ยึดไว้เจ้าพนักงานมีอำนาจยึดไว้จนกว่าคดีถึงที่สุด เมื่อเสร็จคดีแล้วก็ให้คืนแก่ผู้ต้องหาหรือแก่ผู้อื่น ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของนั้น เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น
ในกรณีที่มีการจับกุมตัวบุคคลโดยตำรวจที่มีอำนาจจับได้ตามกฎหมาย กล่าวคือ เป็นการจับโดยมีหมายจับจากศาล หรือจากการกระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับ เมื่อจับกุมแล้วตำรวจมีอำนาจค้นตัวคนที่ถูกจับเพื่อหาและยึดสิ่งของต่างๆ ที่อยู่กับตัวได้ การให้อำนาจตำรวจค้นตัวนี้มีขึ้นเพื่อความปลอดภัยในกรณีที่ผู้ต้องหาอาจมีอาวุธ หรือมีอุปกรณ์ที่ช่วยให้หลบหนีติดตัวอยู่ด้วย แต่ถ้าหากยังไม่มีการจับกุม หรือตำรวจไม่มีอำนาจจับกุมตัวผู้ต้องหาตามอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตำรวจก็จะเข้าค้นตัวและยึดสิ่งของไปก่อนไม่ได้ 
การค้นตัวและยึดสิ่งของตามมาตรา 85 จะสามารถทำได้ต่อเมื่อสิ่งของที่จะยึดอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้เท่านั้น ตัวอย่างเช่น โทรศัพท์มือถืออาจเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดีเกี่ยวกับการโพสข้อความออนไลน์ แต่ไม่ใช่พยานหลักฐานในคดีเกี่ยวกับการกีดขวางการจราจร หรือคดีในข้อหาชุมนุมในพื้นที่ต้องห้าม ดังนั้น ตำรวจจะมีอำนาจยึดโทรศัพท์มือถือได้เฉพาะในกรณีที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานตามข้อกล่าวหาได้เท่านั้น ไม่ใช่ทุกกรณีที่ตำรวจสามารถตรวจค้นเพื่อยึดโทรศัพท์มือถือได้ทั้งหมด
และตามมาตรา 85 วรรคสอง การค้นต้องทำโดยสุภาพ ไม่ใช่การใช้กำลังหรือบังคับเพื่อยึดเอาสิ่งของนั้นมา ถ้าหากคนที่ถูกจับยังมีข้อโต้แย้ง ยังไม่ยินยอมให้จับ และตำรวจใช้กำลังบังคับเพื่อจับกุมและยึดโทรศัพท์มือถือ ย่อมเป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อมาตรา 85 วรรคสอง  โดยตำรวจมีหน้าที่จะต้องอธิบายข้อกฎหมายและดำเนินกระบวนการจับกุมให้เสร็จเรียบร้อยก่อน ส่วนการค้นตัวและยึดสิ่งของต้องทำในภายหลังการจับกุมเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยไม่ใช้กำลังบังคับ

ถ้ามือถือไม่อยู่กับตัวคนถูกจับ ต้องมีหมายศาลเท่านั้น และยึดไว้นานไม่ได้

การยึดสิ่งของที่ไม่ได้อยู่กับตัวคนที่ถูกจับกุม เช่น อยู่ที่บ้าน อยู่ในรถ อยู่กับบุคคลอื่น ไม่สามารถทำได้ เว้นแต่มีหมายค้นของศาล โดยหมายค้นของศาลที่จะทำให้ตำรวจมีอำนาจยึดโทรศัพท์มือถือได้นั้น จะต้องระบุสถานที่ที่จะตรวจค้นให้ชัดเจน เช่น ที่อยู่ใดบ้านเลขที่เท่าไร รถคันใดหมายเลขทะเบียนอะไร และต้องระบุเหตุในการค้นให้ชัดเจนว่า ต้องการหาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องในข้อหาใด และต้องการยึดสิ่งของประเภทใดบ้าง 
กรณีการยึดโทรศัพท์มือถือหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 18 และ 19 ดังนี้
มาตรา 18 ภายใต้บังคับมาตรา 19 เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวนในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือในกรณีที่มีการร้องขอตามวรรคสองให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ เฉพาะที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดและหาตัวผู้กระทำความผิด
(4) ทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์จากระบบคอมพิวเตอร์ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิด ในกรณีที่ระบบคอมพิวเตอร์นั้นยังมิได้อยู่ในความครอบครองของพนักงานเจ้าหน้าที่
(7) ถอดรหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด หรือสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเข้ารหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ ทำการถอดรหัสลับ หรือให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการถอดรหัสลับดังกล่าว
(8) ยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์เท่าที่จำเป็นเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการทราบรายละเอียดแห่งความผิดและผู้กระทำความผิด
มาตรา 19 การใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 18 (4) (5) (6) (7) และ (8) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามคำร้อง  ทั้งนี้ คำร้องต้องระบุเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลใดกระทำหรือกำลังจะกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นความผิด เหตุที่ต้องใช้อำนาจ ลักษณะของการกระทำความผิด รายละเอียดเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการกระทำความผิดและผู้กระทำความผิด เท่าที่สามารถจะระบุได้ ประกอบคำร้องด้วย ในการพิจารณาคำร้องให้ศาลพิจารณาคำร้องดังกล่าวโดยเร็ว
เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้ว ก่อนดำเนินการตามคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งสำเนาบันทึกเหตุอันควรเชื่อที่ทำให้ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 18 (4) (5) (6) (7) และ (8) มอบให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์นั้นไว้เป็นหลักฐาน แต่ถ้าไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ ณ ที่นั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งมอบสำเนาบันทึกนั้นให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองดังกล่าวในทันทีที่กระทำได้
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้เป็นหัวหน้าในการดำเนินการตามมาตรา 18 (4) (5) (6) (7) และ (8) ส่งสำเนาบันทึกรายละเอียดการดำเนินการและเหตุผลแห่งการดำเนินการให้ศาลที่มีเขตอำนาจภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาลงมือดำเนินการ เพื่อเป็นหลักฐาน
การทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 18 (4)  ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิด และต้องไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินกิจการของเจ้าของหรือผู้ครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเกินความจำเป็น
การยึดหรืออายัดตามมาตรา 18 (8) นอกจากจะต้องส่งมอบสำเนาหนังสือแสดงการยึดหรืออายัดมอบให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์นั้นไว้เป็นหลักฐานแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งยึดหรืออายัดไว้เกินสามสิบวันมิได้ ในกรณีจำเป็นที่ต้องยึดหรืออายัดไว้นานกว่านั้น ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อขอขยายเวลายึดหรืออายัดได้ แต่ศาลจะอนุญาตให้ขยายเวลาครั้งเดียวหรือหลายครั้งรวมกันได้อีกไม่เกินหกสิบวัน เมื่อหมดความจำเป็นที่จะยึดหรืออายัดหรือครบกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องส่งคืนระบบคอมพิวเตอร์ที่ยึดหรือถอนการอายัดโดยพลัน
หนังสือแสดงการยึดหรืออายัดตามวรรคห้าให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ตำรวจจะมีอำนาจสั่งให้ผู้ต้องหาส่งมอบตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ให้กับตำรวจ ได้ต่อเมื่อมีหมายจากศาลเท่านั้น ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 18(8) และมาตรา 19 วรรคแรก โดยในการยื่นคำร้องขอออกหมายต่อศาล ทางตำรวจต้องระบุเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลใดกระทำหรือกำลังจะกระทำความผิด, เหตุที่ต้องใช้อำนาจ, ลักษณะของการกระทำความผิด, รายละเอียดเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการกระทำความผิด และเมื่อเข้ายึดแล้วก็ต้องทำสำเนาเอกสารระบุเหตุอันควรเชื่อว่ามีการกระทำความผิดมอบให้เจ้าของเครื่องไว้ด้วย
เมื่อตำรวจต้องการจะยึดตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ ในมาตรา 19 ก็กำหนดขั้นตอนให้ตำรวจต้องปฏิบัติอย่างระมัดระวัง ดังนี้
1. ต้องส่งสำเนาเอกสารระบุเหตุอันควรเชื่อให้ตำรวจต้องทำสำเนาข้อมูลให้ไว้กับเจ้าของเครื่อง
2. ต้องส่งสำเนาหนังสือแสดงการยึดมอบให้เจ้าของเครื่องเก็บไว้เป็นหลักฐาน
3. ตำรวจที่เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการต้องส่งบันทึกรายละเอียดการดำเนินการ และเหตุผลให้ศาล ภายใน 48 ชั่วโมง
4. ตำรวจจะยึดไว้นานเกินกว่า 30 วันไม่ได้ ถ้านานกว่านั้นต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอขยายระยะเวลา แต่ศาลจะให้ขยายได้ไม่เกิน 60 วัน 
อย่างไรก็ตาม บางกรณีตำรวจอาจไม่ต้องการเอาตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ไปเก็บไว้เอง แต่ต้องการเพียงข้อมูลที่อยู่ในนั้น ตำรวจก็อาจเลือกวิธีการทำสำเนาข้อมูลทั้งหมดในตัวเครื่องไปก็ได้ ซึ่งเป็นกรณีตามมาตรา 18(4) ที่ต้องอาศัยหมายจากศาลตามมาตรา 19 วรรคแรกอีกเช่นกัน กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนักเพราะการเอาตัวเครื่องไปอาจสะดวกกับตำรวจที่ทำการจับกุมมากกว่า 
เมื่อตำรวจต้องการจะทำสำเนา มาตรา 19 ก็กำหนดขั้นตอนให้ตำรวจต้องปฏิบัติอย่างระมัดระวังเช่นเดียวกัน ดังนี้
1. การทำสำเนาต้องทำเฉพาะกรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีการกระทำความผิด และต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อเจ้าของเครื่องเกินจำเป็น
2. ต้องส่งสำเนาเอกสารระบุเหตุอันควรเชื่อให้ตำรวจต้องทำสำเนาข้อมูลให้ไว้กับเจ้าของเครื่อง
3. ให้ตำรวจที่เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการส่งบันทึกรายละเอียดการดำเนินการ และเหตุผลให้ศาล ภายใน 48 ชั่วโมง

บังคับเอาพาสเวิร์ดได้ เมื่อมีหมายศาลเท่านั้น

แม้การยึดโทรศัพท์มือถือที่อยู่กับตัวผู้ถูกจับจะสามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องมีหมายศาลเพื่อค้นหรือยึดเป็นการเฉพาะ แต่ตำรวจมีอำนาจเพียงยึดตัวเครื่องไปเท่านั้น ไม่มีอำนาจที่จะเปิดเครื่องและเข้าไปใช้งานได้ถ้าเจ้าของไม่อนุญาต โดยเฉพาะเมื่อมีการใส่รหัสลับ (Password) สำหรับการเข้าถึงเอาไว้
การจะเข้าไปใช้งานโทรศัพท์มือถือหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ยึดมาได้ ต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 18 (7) โดยตำรวจมีอำนาจที่จะถอดรหัสลับ หรือ “แกะพาสเวิร์ด” หรือสั่งให้เจ้าของใส่พาสเวิร์ดให้ หรือให้บอกพาสเวิร์ดแก่ตำรวจได้ต่อเมื่อมีหมายศาลตามมาตรา 19 เท่านั้น ถ้าไม่มีหมายศาล ผู้ถูกจับกุมก็มีสิทธิปฏิเสธไม่ยินยอมบอกพาสเวิร์ดก็ได้จนกว่าตำรวจจะนำหมายศาลมาแสดงให้ถูกต้อง 
หากตำรวจถอดรหัสลับไปเองโดยไม่มีหมายจากศาลมาแสดงก่อน จะมีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 5 ฐานเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่ถ้าหากผู้ถูกจับกุมคนใดยินยอมที่จะบอกพาสเวิร์ดไปเพื่อแสดงความบริสุทธ์ใจ และยินยอมให้ตำรวจเข้าถึงข้อมูลในตัวเครื่อง โดยตำรวจไม่ได้ใช้กำลังบังคับขู่เข็ญ ก็เป็นอำนาจของเจ้าของเครื่องนั้นที่จะให้ความยินยอมโดยสมัครใจได้ โดยตำรวจไม่มีความผิด